มหิยังคะ[1] (บาลี: มหิยงฺค) หรือ รัฐเมืองยอง (ไทใหญ่: မိူင်းယွင်း; พม่า: မိုင်းယောင်း; ไทลื้อ: ᩮᨾᩨ᩠ᨦᨿᩬᨦ) เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่งในกลุ่มสหพันธรัฐชาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า[2] มีราชธานีคือเมืองยอง หรือเชียงช้าง ตั้งอยู่บริเวณแคบ ๆ ทางตะวันออกสุดของรัฐเชียงตุงริมฝั่งแม่น้ำโขง ใกล้พรมแดนจีนและลาว[3] เคยมีสถานะเป็นประเทศราชหรือลูกบ้านหางเมืองของอาณาจักรล้านนา[4] ด้วยเป็นรัฐชายขอบ มีสภาพเป็นรัฐเกษตรกรรมขนาดน้อยในหุบเขา มีเทือกเขาล้อมรอบ[5] ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวว้า[6] แต่ในราชธานีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทลื้อ[4] ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของชุมชนชาวไทลื้อเมืองเชียงรุ่ง ส่งสุนันทะราชบุตรมาสร้างเมืองยองด้วยการปราบปรามชาวลัวะแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับใคร[5][7]

เมืองยอง
မိူင်းယွင်
รัฐเจ้าฟ้าของสหพันธรัฐชาน
พุทธศตวรรษที่ 19 – พ.ศ. 2358

ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
พุทธศตวรรษที่ 19
• ถูกผนวกเข้ากับรัฐเชียงตุง
พ.ศ. 2358
ถัดไป
รัฐเชียงตุง

เมืองยองเป็นนครรัฐขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ที่ราบค่อนข้างน้อย และเป็นรัฐเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ รวมทั้งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพของรัฐอื่น ๆ ทำให้เมืองยองต้องเผชิญกับภัยสงครามบ่อยครั้ง[8][9]

ประวัติ แก้

รัฐเมืองยองเดิมเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวว้าหรือลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของแถบนี้ ใน ตำนานเมืองยอง ระบุว่า ชาวละว้าตั้งชุมชนอาศัยเป็นปึกแผ่นเจ็ดหมู่บ้านรอบสระน้ำใหญ่ มีท้าวลกพญาละว้าเป็นหัวหน้า ต่อมาเกิดภัยแล้ง มีชาวละว้าอพยพมาอาศัยในเขตของท้าวลก ซึ่งในจำนวนผู้อพยพนั้น มีละว้ากลุ่มหนึ่งที่ขึ้นกับเจ้าเชียงตุงด้วย เจ้าเมืองเชียงตุงจึงส่งคนมาเจรจาขอละว้ากลุ่มนี้คืนเมืองแต่ท้าวลกพญาละว้าไม่ยอมให้ จึงเกิดการสู้รบกัน กองทัพของท้าวลกยกไปตีหัวเมืองใหญ่น้อยได้ 28 หัวเมือง รวมทั้งเมืองเชียงรุ่งด้วย แต่หลังท้าวลกเสียชีวิต ก็แต่งตั้งพญาวรรณหรือพญางามขึ้นเป็นหัวหน้าแทน ต่อมาเจ้าเมืองเชียงรุ่งคิดอุบายสำคัญ โดยส่งสุนันทราชบุตร พระโอรสลำดับที่สอง นำเครื่องบรรณาการไปฝากตัวรับใช้พญาวรรณ ครั้นถึงเทศกาลสำคัญตามธรรมเนียมละว้า ที่ทุกปีชาวบ้านทั้งเจ็ดหมู่บ้านจะร่วมกันจัดกิจกรรมวิดเอาปลามาทำอาหารเลี้ยงร่วมกัน ซึ่งวันนั้นเอง สุนันทราชบุตรลอบนำยาพิษใส่ในสุราให้พวกหัวหน้าละว้าดื่มทุกคนแล้วตัดศีรษะกับทั้งบริวาร ชาวละว้าทั้งหลายที่สิ้นหัวหน้าก็พากันหลบหนีไปฝั่งล้านช้าง กลายเป็นข่าเผ่าต่าง ๆ[10] สุนันทราชบุตรก็ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นตรงต่อใคร[5][7] จากตำนานดังกล่าว สรัสวดี อ๋องสกุล นักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเมืองยองคงสถาปนาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา[8] เจ้าสุนันทะและเชื้อสายครองเมืองยองได้ห้ารัชกาลก็สูญวงศ์ หาผู้สืบราชบัลลังก์มิได้ เพราะเชื้อสายเจ้าผู้ครองมีศรัทธาพระศาสนาออกผนวชเสียหมด ด้วยเหตุนี้จึงต้องตั้งขุนนางช่วยกันดูแลบ้านเมืองกันเอง เมืองยองว่างกษัตริย์นาน 65 ถึง 67 ปี[8]

พญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาทรงกระทำสงครามปราบปรามเมืองยองสำเร็จ เพราะต้องการให้เมืองยองเป็นเมืองหน้าด่าน คอยป้องกันการโจมตีจากรัฐเชียงตุง เชียงรุ่ง และเมืองแลม เมืองยองยอมอ่อนน้อมต่อล้านนาในฐานะลูกเมือง ให้ทำนุบำรุงพระธาตุหลวงจอมยอง รวมทั้งมีการส่งช่างฟ้อนลงมาบูชากษัตริย์ล้านนา[11] ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชทรงยึดเมืองยองอีกครั้ง ทรงตั้งขุนนางปกครองกันเอง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และกัลปนาผู้คนจากบ้านกอมเป็นข้าพระธาตุจอมยอง แล้วให้ช่างฟ้อนลงมาฟ้อนคารวะกษัตริย์ล้านนาปีละครั้ง[8]

หลังพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา หลังอาณาจักรล้านนาล่มสลาย รัฐเมืองยองก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่หากพม่าอ่อนแอ เมืองยองจะถูกรัฐอื่น ๆ แทรกแซง เช่น เชียงรุ่ง เชียงแขง และเชียงใหม่ ในช่วงสั้น ๆ[9][7]

ต่อมาเมื่อพระยากาวิละฟื้นฟูบ้านเมือง ได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองไปไว้เมืองลำพูนที่ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2348[12] ทำให้เมืองยองแทบเป็นเมืองร้าง[13] สร้างความไม่พอใจแก่เจ้ามหาขนานเมืองเชียงตุง และเจ้าพุทธวงศาเจ้าเมืองยอง ทั้งสองจึงเอาใจออกหากไปเข้าฝ่ายพม่า เพราะมองว่าพม่าไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน และคิดว่าอย่างไรเสียพม่าก็ต้องขึ้นมาปราบเมืองยองอยู่แล้ว เจ้าพุทธวงศารวบรวมผู้คนได้ 150 ครัวเรือนเศษมาตั้งเมืองยองขึ้นใหม่ แล้วขอร่วมสวามิภักดิ์เข้ากับพม่ามาตั้งแต่นั้น[9][7] ที่สุดเมืองยองถูกผนวกเข้ากับรัฐเชียงตุงใน พ.ศ. 2358[14][15]

ประชากรศาสตร์ แก้

ชาติพันธุ์ แก้

จากการครองราชย์ของเจ้าสุนันทะ ทรงนำชาวไทลื้อจากเชียงรุ่งกลุ่มเล็ก ๆ เข้ามาด้วย เมืองยองจึงรับวัฒนธรรมไทลื้อ ชาวลัวะซึ่งเป็นชนพื้นเมืองก็รับวัฒนธรรมไทลื้อไปด้วย เช่น การแต่งกาย[8] ส่วนชาวลื้อเมืองยองเองก็ต้องผสมกลมกลืนไปกับชาวลัวะซึ่งเป็นชนพื้นเมือง[16]

ศาสนา แก้

รัฐเมืองยองรับศาสนาพุทธจากเมืองเชียงรุ่ง ดังปรากฏความใน ตำนานเมืองยอง ความว่า "...สัพพัญญูพระพุทธเจ้าโคตมะแห่งเราเกิดมาโปรดโลกและจรเดินบิณฑบาตข้าวลุกแต่เมืองวิเทหราชลงมารอดเมืองมหิยังคะ..."[8] และ ตำนานพระธาตุหลวงจอมยอง ก็ระบุว่าเมืองยองเพิ่งรับศาสนาพุทธหลังเจ้าสุนันทะสร้างเมืองยอง[17] หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าผู้ครองเองก็มีศรัทธาในศาสนาพุทธ ออกผนวชกันหมดจนสิ้นวงศ์[8] ต่อมามีคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนาเดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่ามีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (หรือ นิกายรามัญ) และนิกายป่าแดง (หรือ นิกายสีหล) สู่เมืองยองตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนาในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก[18]

งานพุทธศิลป์แบบล้านนาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยังคงหลงเหลืออยู่ในเมืองยอง เช่น พระธาตุหลวงจอมยอง และพระเจ้าทิพย์ (องค์ยืน) พระพุทธรูปในวัดพระแก้วเมืองยอง[19]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. "รู้จักประวัติศาสตร์ "ไทยอง" ที่กว่า 80% ของคนลำพูนล้วนสืบเชื้อสายมา". มติชนสุดสัปดาห์. 30 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ตำนานเมืองยอง". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "Gazetteer of Upper Burma and the Shan states"
  4. 4.0 4.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 192
  5. 5.0 5.1 5.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 231
  6. James B. Minahan, Encyclopedia of the Stateless Nations: p. 2024
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 82
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 234-235
  9. 9.0 9.1 9.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 237
  10. 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 242
  11. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 159
  12. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 80
  13. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 99
  14. Shan and Karenni States - World Statesmen
  15. Sanda Simms, The Kingdoms of Laos. p. 207
  16. "ทำไมคนยองเมืองลำพูน จึงไม่เรียกตัวเองว่า "ไทลื้อ"". มติชนสุดสัปดาห์. 19 ธันวาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. พระสกาวุฒิ ยสวฑฺฒโน (ปริวรรต) (31 พฤษภาคม 2562). "ประวัติพระธาตุหลวงจอมยอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองยอง". เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 162
  19. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 95
บรรณานุกรม
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2557. 592 หน้า. ISBN 978-974-315-871-1
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. 660 หน้า. ISBN 978-974-8132-15-0
  • เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. 222 หน้า. ISBN 9789746605694