พระยาเชียงใหม่น้อยธรรม[2][3] หรือ พระยาธรรมลังกา[4] (พระญาธัมมลังกา) (ไทยถิ่นเหนือ: ) (พ.ศ. 2289 - 2365)[5] เป็นพระยาเชียงใหม่องค์ที่ 2 ในราชวงศ์ทิพย์จักร และเป็นราชบุตรในเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว โดยพระองค์ได้ร่วมกับพระเชษฐา และพระอนุชาในการต่อสู้อริราชศัตรูจนได้รับสมัญญานามว่า "เจ้าเจ็ดตน"

พระยาธรรมลังกา
พระยาเชียงใหม่
ครองราชย์พ.ศ. 2359 - พ.ศ. 2365
รัชสมัย6 ปี[1]
ราชาภิเษก26 พฤษภาคม พ.ศ. 2359
ก่อนหน้าพระเจ้ากาวิละ
ถัดไปพระยาคำฟั่น
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
อุปราชพระยาคำฟั่น
พระยาอุปราชนครเชียงใหม่
ดำรงพระยศพ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2358
ถัดไปพระยาคำฟั่น
เจ้าหลวงพระเจ้ากาวิละ
ประสูติพ.ศ. 2289
พิราลัย28 มิถุนายน พ.ศ. 2365 (77 ปี)
ราชเทวีแม่เจ้าจันฟอง
พระนามเต็ม
เสตหัตถีสุวัณณประทุมราชาเจ้าช้างเผือก
พระบุตร17 องค์
ราชสกุลณ เชียงใหม่
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระบิดาเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว
พระมารดาแม่เจ้าจันทาราชเทวี
ศาสนาเถรวาท

พระราชประวัติ

พระยาธรรมลังกาเป็นเจ้าราชโอรสองค์ที่ 3 ในเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้ครองนครลำปาง กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นเจ้าราชนัดดา (หลานปู่) ในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) (พระญาสุละวะฤๅไชยสงคราม) กับ แม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์ "ราชวงศ์ทิพย์จักร"

พระยาธรรมลังกา เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากาวิละมีพระเชษฏาพระอนุชาและพระขนิษฐา รวม 10 องค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

  1. พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (นับเป็น "พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 3" ใน "ราชวงศ์ทิพย์จักร")
  2. พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4
  3. พระยาธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2
  4. พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 5
  5. เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
  6. เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่พิราลัยแต่เยาว์)
  7. พระยาอุปราชหมูล่า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง
  8. พระยาคำฟั่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1
  9. เจ้าหญิงสรีบุญทัน (พิราลัยแต่เยาว์)
  10. พระเจ้าบุญมา พระเจ้านครลำพูน องค์ที่ 2

ในปี พ.ศ. 2317 เมื่อพระเจ้ากาวิละ ร่วมมือกับพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปลดปล่อยล้านนาจากอำนาจของพม่าได้สำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้สถาปนาพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละเป็นพระยานครลำปาง และแต่งตั้งเจ้าธรรมลังกาเป็นพระยาราชวงศ์เมืองนครลำปาง[6] และได้เลื่อนอิสริยยศเป็น "พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่" ในปี พ.ศ. 2348

หลังจากพระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัย (พ.ศ. 2358) ในปี พ.ศ. 2359 พระยาอุปราชน้อยธรรมได้ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเพื่อถวายช้างพลายเผือกเอก จึงทรงตั้งเป็นพระยาเชียงใหม่[7][8] เมื่อกลับถึงเชียงใหม่จึงรับราชาภิเษกในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2359) มีพระนามว่าเสตหัตถีสุวัณณประทุมราชาเจ้าช้างเผือก[9] และเนื่องจากได้ถวายช้างเผือกจึงได้รับสมัญญาว่าพระเป็นเจ้าช้างเผือก[10] (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) หรือ พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก[3] (พงศาวดารโยนก)

พระยาธรรมลังกา ประชวรจนถึงแก่อนิจกรรมในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (ตรงกับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2365) สิริอายุได้ 77 ปี[11] ทรงปกครองนครเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 7 ปี

ราชโอรส ราชธิดา

พระยาธรรมลังกา มีเจ้าราชโอรสและราชธิดา รวม 17 องค์ ดังนี้

  1. เจ้าบุญทา
  2. เจ้าน้อยคำแสน
  3. เจ้าอุปราช (หน่อคำ) เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ - เจ้าปู่ใน "เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่)" ซึ่ง "เจ้าไชยสงครามฯ" เป็นเจ้าปู่ของธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่, อดีตรัฐมนตรีฯ" และเป็นเจ้าตาทวดของทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
  4. เจ้าน้อยพรหมา
  5. เจ้าหนานอินตา
  6. เจ้าน้อยมหาพรหม
  7. เจ้าสุธรรมมา
  8. เจ้าปทุมมา
  9. เจ้าคำทิพย์ - ชายาเจ้าน้อยจักรคำ ณ เชียงใหม่ ราชโอรสในพระยาคำฟั่น ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3
  10. เจ้าบัวคำ - รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมใน ร.3 (ไม่มีพระราชโอรส พระราชธิดา) [12]
  11. เจ้าองค์ทิพย์
  12. เจ้ากาบแก้ว
  13. เจ้าบุญปั๋น - เจ้ามารดาใน "เจ้าหลวงมหาวงศ์ ณ เชียงใหม่, พระยามหิทธิวงศา เจ้าเมืองฝาง"
  14. เจ้าเกี๋ยงคำ ตุงคนาคร - ชายา "เจ้าราชภาติกวงษ์ น้อยดวงทิพย์ ตุงคนาคร, เจ้าราชภาติกวงษ์นครลำพูน" เจ้านายราชวงศ์มังราย จากเมืองเชียงตุง ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่นครเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2348 ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก ร. 6
  15. แม่เจ้าแก้วยวงคำ, เทวีใน เจ้าหลวงหนานสุยะ, พระยารัตนอาณาเขต เจ้าเมืองเชียงราย
  16. เจ้าจันทร์เป็ง ณ เชียงใหม่

พระราชกรณียกิจ

เจ้าหลวงเชียงใหม่แห่ง
ราชวงศ์ทิพย์จักร
 พระเจ้ากาวิละ
 พระยาธรรมลังกา
 พระยาคำฟั่น
 พระยาพุทธวงศ์
 พระเจ้ามโหตรประเทศ
 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
 พระเจ้าอินทวิชยานนท์
 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
 เจ้าแก้วนวรัฐ

การศาสนา

ในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกับเจ้าน้อยธรรมลังกา และขุนนางไพร่ฟ้าในการสร้างวิหารในวัดอินทขีลที่เวียงป่าซาง และวิหารวัดอินทขีล ในกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2337 ต่อมาในปี พ.ศ. 2360 เจ้าหลวงธรรมลังกา เห็นว่ากู่ลาย วัดพระสิงห์ ได้ทรุดโทรมลงไปมาก จึงดำรให้มีการซ่อมแซมและขุดแต่งพระเจดีย์ดังกล่าว และได้พบของมีค่าเป็นอันมาก ซึ่งก็ให้บรรจุไว้ในที่เดิมแล้วปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นั้นต่อจนเสร็จแล้วจึงมีการฉลองใหญ่ และในปีเดียวกันก็ได้สร้างวิหารจตุรมุขของวัดพระธาตุศรีจอมทองขึ้นใหม่ โดยทำการยกเสาเมื่อเดือนหกเหนือ ขึ้น 13 ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดี พร้อมกันนั้นได้สร้างมณฑปของเสาอินทขีล ที่บริเวณวัดเจดีย์หลวง และยังเริ่มก่อสร้างสถูปในที่ท่ามกลางอุโบสถภิกขุนีในวัดพระสิงห์ และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเดือนแปดเหนือ ขึ้น 10 ค่ำ ปี พ.ศ. 2361

ในปี พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงได้ดำริให้มีการฉลองใหญ่ในวัดอุโมงค์ วัดดวงดี วัดสะเพา และวัดพันเท่า ในงานนี้มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ และในเดือนแปดเหนือ ได้ดำริให้ยกเสาวิหารวัดป้านพิง วัดดอกคำ วัดเชียงยืน และวัดบุพผาราม อีกทั้งได้มีการก่อสร้างกำแพงวัดพระธาตุศรีจอมทองด้วย

ในปี พ.ศ. 2363 เจ้าหลวงธรรมลังกา ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยและได้สร้างวิหารคร่อมรอยพระพุทธบาทนั้น ในเดือนหกเหนือแรม 8 ค่ำ และจากนั้นจึงได้ไปนมัสการพระบาทเจ้าข่วงเพา และสร้างพระพุทรูปขนาดใหญ่ในวัดพระสิงห์

ในปี พ.ศ. 2365 ได้ทำบุญฉลองพระอุโบสถวัดเจดีย์หลวง และในปีเดียวกันนี้เจ้าหลวงธรรมลังกา ได้ทรงผนวชที่วัดเชียงมั่นด้วย ในปีถัดมาได้ทรงดำริให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญที่อยู่ในวัดร้างนอกเขตกำแพงเมือง เข้ามาไว้ในตัวเมือง เช่น พระเจ้าแฅ่งฅม ไว้ที่วัดศรีเกิด

การขุดเหมือง

เมื่อปี พ.ศ. 2360 ได้ทรงดำริให้เสนาข้าราชการและประชาชนขุดเหมือง 3 สาย โดยเริ่มที่จุดรับน้ำจากแจ่งหัวลินไปทางแจ่งสรีภูมิ แล้ววนไปทางแจ่งคะท้ำ สายที่สองไปตามถนนหลวงหน้าวัดดับภัยและวัดพระสิงห์ลงไป สายที่สามเลียบตามเชิงเทินทิศตะวันตกไปทางใต้ ผ่านด้านเหนือของ "หอคำ" แล้วเลี้ยวออกท่อที่แจ่งคะท้ำหน้าวัดซานมูน (วัดทรายมูลพม่า ในปัจจุบัน) โดยให้ก่ออิฐทั้งสองข้างของลำเหมืองทุกสาย ประชาชนในตัวเมืองได้ใช้ประโยชน์จากลำเหมืองทั้งสามสาย

การบูรณะกำแพงเมือง

ในยุคของเจ้าหลวงธรรมลังกา ได้มีการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2361 ซึ่งกำแพงดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2339) โดยการบูรณะกำแพงเมือง เริ่มการขุดลอกคูเมืองตั้งแต่แจ่งกูเรืองไปจนถึงประตูไหยา มีความยาว 606 วา จนถึงปี พ.ศ. 2363 ได้เริ่มก่อสร้างกำแพงเมือง โดยเริ่มก่อสร้างในเวลารุ่งเช้า มีการยิงปืนใหญ่สามนัด นิมนต์ครูบาสมเด็จวัดผ้าขาว ครูบาจันทรังสี วัดพระสิงห์ และพระสงฆ์อีก 19 รูป สวดมนต์ โปรยน้ำโปรยทราย และเริ่มก่อสร้างจากแจ่งสรีภูมิเวียนไปทางซ้าย

ฐานันดรศักดิ์และพระอิสริยยศ

  • พ.ศ. 2289 - 2317: เจ้าน้อยธัมมลังกา ณ ลำปาง
  • พ.ศ. 2317 - 2325: พระยาราชวงศ์เมืองนครลำปาง
  • พ.ศ. 2325 - 2359: พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2359 - 2365: พระยาเชียงใหม่

ราชตระกูล

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม. ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโกาสได้ศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  2. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 97
  3. 3.0 3.1 พงศาวดารโยนก, หน้า 449
  4. วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่, บรรณาธิการ, เจ้าหลวงเชียงใหม่ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2539, เชียงใหม่ : คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่
  5. หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2546
  6. เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, หน้า 4
  7. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 96
  8. พงศาวดารโยนก, หน้า 448
  9. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 209
  10. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 210
  11. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 214
  12. พิเชษ ตันตินามชัย. "เจ้าหญิงเชียงใหม่" ศิลปวัฒนธรรม 26 : 2 ธันวาคม 2547.
บรรณานุกรม
  • ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. 320 หน้า. ISBN 974-8150-62-3
  • ประชากิจกรจักร, พระยาพงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. 496 หน้า. ISBN 978-616-7146-62-1
  • มหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ), พระยา. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505. 35 หน้า. [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพิจิตรโอสถ (รอด สุตันตานนท์)]
  • วรชาติ มีชูบท. เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2556. 428 หน้า. ISBN 978-616-220-054-0
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543. 220 หน้า. ISBN 9747047683
ก่อนหน้า พระยาธรรมลังกา ถัดไป
พระเจ้ากาวิละ   เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
(พ.ศ. 2359 — พ.ศ. 2365)
  พระยาคำฟั่น