พระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย)

พระยาศรีสุริยวงศ์ หรือเจ้าหลวงนครไชยวงศา หรือพระเมืองไชย ในพงศาวดารไทยเรียก พญามังไชย ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 21 ได้รับการสถาปนาจากกษัตริย์พม่าในยุคพม่าปกครอง ภายหลังได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2313 พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งยศตามแบบสยามเป็น “พระยาศรีสุริยวงศ์”[1]

พระยาศรีสุริยวงศ์ (เมืองไชย)

พระเมืองไชย
เจ้าผู้ครองนครแพร่
เจ้าผู้ครองนครแพร่จางวาง
ครองราชย์ก่อน พ.ศ. 2309-2330
จางวาง พ.ศ. 2330-พ.ศ. 2348
รัชกาลถัดไปพระยาแสนซ้าย
พิราลัยพ.ศ. 2348
พระชายาแม่เจ้าบุษบาราชเทวี
พระนามเต็ม
พระบาทศรีสุริยวงศ์
พระบุตรเจ้านางสุชาดา
ราชวงศ์ราชวงศ์เมืองไชย

พระประวัติ แก้

พระเมืองไชย หรือ เจ้ามังไชย (คำว่ามังไชยมาจากตำแหน่งพระเมืองไชย ทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเจ้าเมืองแพร่องค์นี้เป็นพม่า ที่มังมีความหมายว่าเจ้า) ไม่ทราบนามเดิม เชื้อสายและบรรพบุรุษนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีการเสนอว่าพญาเชียงเลือ (เชียงเลอ) ผู้ถูกส่งมาปกครองเมืองแพร่เมื่อ พ.ศ. 2106 เป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นเชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์มังรายแต่อย่างใด เดิมอาจเป็นเพียงขุนนางระดับ “เจ้าเมือง” หรือ “เจ้าพันนา” ที่ปกครองพันนาหนึ่งของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น อีกทั้งในยุคพม่าปกครองมีการสับเปลี่ยนเจ้าเมืองหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ อยู่เสมอเพื่อป้องกันการสั่งสมอำนาจ จึงเป็นไปได้น้อยมากที่พม่าจะปล่อยให้เชื้อสายของพญาเชียงเลือสืบทอดอำนาจกันปกครองเมืองแพร่มาจนถึงพระเมืองไชยกว่า 200 ปี และที่กล่าวว่าพระเมืองไชยเป็นเชื้อสายพม่า แต่จากเอกสารบันทึกฝ่ายสยามระบุว่าพระเมืองไชยเป็น “คนลาว” (คนล้านนา, ไทยวน) อีกทั้งคัมภีร์ใบลานที่จารขึ้นโดยพระเมืองไชยก็เป็นอักษรธรรมล้านนา พระเมืองไชยจึงเป็นขุนนางเชื้อสายไทยวน ที่กษัตริย์พม่าสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2309

สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง แก้

พ.ศ. 2309 พระเมืองไชยได้คุมกองทัพเมืองแพร่ประมาณ 300 เศษ ตามกองทัพพม่ามาทำศึกในคราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้รับมอบหมายให้ตั้งค่ายที่ตำบลโพธิ์งาม เกลี้ยกล่อมคนไทยในแขวงเมืองสิงห์บุรีและยกทัพมาตีค่ายบางระจันด้วย ต่อมาเนเมียวสีหบดีให้นำกองทัพมาตั้งค่าย ณ ค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออก แต่ภายหลังได้หลบหนีกลับเมืองไป พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุเพิ่มเติมว่าพระเมืองไชย "... ให้คนถือหนังสือเข้ามาถึงพระยายมราชว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมมีพระคุณอยู่ จึงมิได้อยู่รบกรุงด้วยพะม่า..."[2]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระในสมัยหลังระบุต่างไปว่า พระเมืองไชยนำทัพหนีกลับทางพระพุทธบาท สระบุรี พม่ายกไปติดตามทันได้รบกันกลางทาง ฝ่ายพม่าตายมากกว่าเลยถอยกลับ และให้ปักหนังสือความว่า "...สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว จะกลับบ้านเมืองของตน..." พวกขุนโขลนข้าพระพุทธบาทเก็บนำบอกส่งเข้ามาถวาย[3] ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ เนื่องจากภายหลังจากการศึก ทางพม่ามิได้นำตัวพระเมืองไชยมาพิจารณาโทษหรือนำตัวมาลงโทษแต่ประการใด ยังคงปล่อยให้พระเมืองไชยเป็นเจ้าเมืองแพร่ตามเดิม

ชุมนุมเจ้าพระฝางและการสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี แก้

ในช่วงสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปรากฏหลักฐานว่าพระเมืองไชยได้เข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพระฝางด้วย ดังโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ของนายสวนมหาดเล็ก กล่าวว่า

๏ ปางสวางคบุเรศร้าย รแวงผิด
พุทธบุตรละพุทธกิจ ก่อแกล้ว
ทุศิลทุจริตอิจ ฉาราช
เสด็จปราบสัตวบาปแผ้ว ฟอกฟื้นสาสนา ฯ
๏ แล้วฉลองพุทธธาตุแท้ สุจริต
สมณะบรรพชิต ใช่น้อย
พระอวยธนอุทิศ ทานทั่ว
มีมหรศพช้อย ชื่นช้อยชนเขษม ฯ
เมืองชัยที่ร่วมร้าย เวียงสวางค์
พ่ายพระเดชคุณปาง ปิ่มม้วย
กลับน้อมศิโรตมางค์ มาเล่า
มาภักดิ์เปนทหารด้วย อยู่ใต้บาทบงสุ์ ฯ
โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี

[4]

พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ขณะตั้งทัพอยู่ที่พระตำหนักหาดทรายฟากตะวันออกของเมืองพิชัย พระเมืองไชยได้นำขุนนางไพร่พลเมืองแพร่ลงมาขอสวามิภักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งยศแบบสยามให้เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ และโปรดเกล้าให้เข้าร่วมกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ด้วย ดังพระราชพงศาวดารระบุว่า

พระเจ้าอยู่หัวทรงพระนาวาธินั่งกราบ เสดจ์โดยทางชลมารรค์ขึ้นไปประทับ ณะพระตำหนักหาดทราย หน้าเมืองพิไชยฟากตวันออก เมืองไชยกับพักพวกล่าวมีชื่อสมักเข้ามาทำราชการ ทรงพระกรรณาตั้งให้เปนพญาศรีสุริวงษ์ แล้วสั่งให้เจ้าพญาจักรี เจ้าพญามหามนตรี อยู่รักษาเรือพระธินั่งแลเรือข้าทูลลอองทั้งปวงณเมืองพิไชย

— พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม

[5]

ในช่วงสงครามอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 หลักฐานไทยได้ระบุว่าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) ได้ถูกพม่าจับตัวไปในคราวนั้น[6] แต่ราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านระบุว่าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) ยังได้คุมทัพเมืองแพร่เข้าร่วมสงครามตีเมืองเชียงแสนใน พ.ศ. 2323 และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมือเชียงแสน คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน และราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านต่างระบุเหมือนกันว่าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) ถูกพม่าจับตัวในช่วงสงครามเก้าทัพ หลักฐานไทยจึงน่าจะคลาดเคลื่อนมากกว่า

สงครามตีเมืองเชียงแสน แก้

พ.ศ. 2323 เจ้าฟ้าเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเชียงราย และเจ้าฟ้าเมืององค์ (เจ้าน้อยไชยสาร) ได้ทำการต่อต้านพม่าแล้วหนีเข้ามาเมืองนครลำปาง พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง พระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) เจ้าเมืองแพร่ และลาวหลวงพระบาง ร่วมกันนำกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพม่าในล้านนา กองทัพได้ตั้งค่ายอยู่บ้านสบกก ทำการสู้รบ 1 เดือนจนสามารถตีเมืองเชียงแสนแตกได้ กวาดต้อนครัวเมืองเชียงแสนลงมาได้ถึงประมาณ 1,767 ครัว

สงครามเก้าทัพ แก้

ในช่วงสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 สะโดศิริมหาอุจนา (Thado Thiri Maha Uzana) เจ้าเมืองตองอู (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก โป่พะครานมินคี) ยกทัพจำนวน 30,000 คน จากเมืองเชียงแสนเข้าล้อมเมืองนครลำปาง และทำการโจมตีเมืองตาก เมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองน่าน และหัวเมืองฝ่ายเหนือ กองทัพพม่าสามารถจับตัวพระยาเชียงเงิน พระยาเถินเฒ่า พระยามงคลยศประเทศราช (เจ้าขนานจันทปโชติ) และพระยาสุริวงศ์ (พระเมืองไชย) ได้[7][8] ราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านระบุต่างไปว่า พระยามงคลยศประเทศราช (เจ้าขนานจันทปโชติ) และพระยาศรีสุริวงศ์ (พระเมืองไชย) ได้ทำการยอมสวามิภักดิ์กับพม่าโดยไม่ได้สู้รบ[9] กองทัพพม่ากวาดต้อนชาวเมืองตาก เถิน แพร่ น่านมาไว้ยังเมืองเชียงแสน ส่วนตัวพระยาศรีสุริวงศ์ (พระเมืองไชย) ถูกนำตัวไปเมืองอังวะ

การสวามิภักดิ์ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ แก้

ขณะที่พระเมืองไชยถูกนำตัวไปเมืองอังวะนั้น คงปฏิบัติตัวให้พม่าไว้เนื้อเชื่อใจ จนสามารถกราบทูลขอและได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปดุง ให้นำครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่หัวป่ง (Hopong) เมื่อ พ.ศ. 2329 ภายหลังไปอยู่เมืองยอง (Mong Yawng) ต่อมาได้ชักชวนให้เจ้าฟ้ากอง เจ้าฟ้าเมืองยองร่วมกันต่อต้านพม่า และนำกองทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนี (Abaya-Kamani หลักฐานไทยเรียก อาประกามะนี พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) เมียวหวุ่นเมืองเชียงแสนหนีไปหาเจ้าฟ้าเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเชียงราย แต่ถูกเจ้าฟ้าเชียงรายจับตัวส่งไปให้พระยากาวิละ เมืองนครลำปาง พระยากาวิละส่งตัวพระเมืองไชย เจ้าฟ้ากอง พระยาเถินเฒ่า และจำธาปะระกามะนีลงไปถวายยังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2330[10] ราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านระบุต่างไปว่า พระเมืองไชยถูกจำขื่อคาขณะลงมา[11] ดังคำให้การของธาปะระกามะนีและพื้นเมืองเชียงราย เชียงแสนว่า

๏ ครั้นเมื่อศักราชได้ ๑๑๔๘ ปี เจ้าอังวะให้ปันยีเวซอ ซุยตองเวยะจอแทง กับไพร่สองพัน จอฆองนอระทา กับไพร่พันห้าร้อย เป็นโปชุกแม่ทัพ ธาปะระกามะนีกับไพร่สามพันเฝ้าเมืองเชียงแสนอยู่ ครั้งนั้น มีตราขึ้นไปให้เข้ากองทัพจอฆองนอระทาโปชุก ได้คนมาเข้ากองทัพแต่ห้าร้อย หนีไปก่อนสองพันห้าร้อย ยกไปตีเมืองฝางได้ แล้วให้ตั้งทำไร่นาอยู่ที่นั้น แต่ธาปะระกามะนีกับไพร่ห้าสิบคน โปชุกนอระทาให้กลับไปจัดแจงบ้านเมืองทำไร่นาอยู่ณเมืองเชียงแสนประมาณหมื่นหนึ่ง พระยาแพร่ พระยายอง ยกกองทัพมาณเมืองเชียงแสน ข้าพเจ้าผู้เป็นธาปะระกามะนีหนีไปหาพระยาเชียงราย ๆ จับข้าพเจ้าได้ ส่งมาเมืองลคร เจ้าเมืองลครส่งมากรุงศรีอยุธยาคุ้งเท่าบัดนี้

— คำให้การชาวอังวะ

สักกราชได้ ๑๑๔๘ ตัว ปีเมืองเม็ด เดือน ๘ ออก ๑๒ ฅ่ำ พระญายองเจ้าฟ้ากองลงมาพร้อมกับพระญาแพ่ มาหลอนเมืองเชียงแสน โมยหวานพะแพหนีไพเพิ่งพระญาเชียงราย ลวดยับไปส่งเมืองใต้

— พื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน

[12]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้แก่พระเมืองไชยและเจ้าฟ้ากอง แต่ยังทรงพระราชดำริแคลงตัวไม่ไว้วางพระทัยพระเมืองไชย เนื่องจากเคยเป็นข้าเก่าผู้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีที่พระองค์เพิ่งได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน และพระเมืองไชยเคยยกกองทัพเมืองแพร่เข้าร่วมกับพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 อีกทั้งพระเมืองไชยพร้อมครอบครัวเคยไปอยู่เมืองอังวะกับกษัตริย์พม่าเป็นเวลานาน จึงให้กักตัวทำราชการในกรุงเทพฯ ส่วนเจ้าฟ้ากองโปรดฯ ให้ขึ้นไปช่วยราชการพระยากาวิละ[13]

ในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานภวิรัตติ พ.ศ. 2342 ซึ่งจารโดยพระเมืองไชย ถวายวัดหลวง (จังหวัดแพร่) เรียกนามตนเองขณะที่อยู่กรุงเทพมหานคร ว่า พระเมืองไชย

ปีกัดเม็ด...ปญติว่าพระเมืองไชยลิขิตยามเมื่อสถิตอยู่ยังกุงเทพพระมหานครใหม่วันนั้นแล

[14]

และคัมภีร์ใบลานเรื่องภิกขุปาฏิโมกข์ พ.ศ. 2343 ซึ่งจารโดยพระเมืองไชย ถวายวัดศรีชุม (จังหวัดแพร่) เรียกนามตนเองขณะที่อยู่กรุงเทพมหานคร ว่า พระยานครไชยวงศา แทนที่ตำแหน่ง พระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้ง

สระเด็จแล้วจุลสักกราชได้พันร้อยหกสิบสองตัว สนำกัมโพชภิไสย ไทภาสาว่าปีกดสัน เดือนสิบเอ็ดใต้ แรมเก้าฅ่ำ พร่ำว่าได้วันอาทิตย์ ยามแตรจักใกล้เที่ยงวัน...ตัวปาฏิโมกข์ผูกนี้สัทธามหาอุปาสักกะพระญาแพล่ ตนนามปญตินครไชยวงสา ได้ส้างเขียนไว้โชตกะวรพุทธสาสนายามเมื่อได้ลงมาสถิตอยู่ในเมืองกุงเทพพระมหานคอรใหม่วันนั้นแล ปิตตามาตาภริยาปุตตาปุตตีญาติกาขัติย์วงสาทังหลายทังมวล ขอได้นังผลอานิสงส์เสมอดั่งตัวข้านี้ชู่ตนชู่ฅนเทอะ

[15]

เป็นไปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งรับรองให้มีตำแหน่งเป็นพระเมืองไชยหรือพระยานครไชยวงศา และอาจได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเมืองแพร่เพื่อเยี่ยมครอบครัวญาติพี่น้องและทำบุญถวายทานคัมภีร์ธรรมที่ได้เขียนจารเองระหว่างอยู่กรุงเทพฯ เป็นครั้งคราว

ภายหลังพระเมืองไชยได้กลับมาอยู่เมืองนครแพร่ประมาณช่วงหลัง พ.ศ. 2343 ถึงก่อน พ.ศ. 2348 ในตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่จางวาง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงได้แต่งตั้งพระยาแสนซ้ายเป็นพระยาแพร่องค์ถัดมาแล้ว[16] พระเมืองไชยยังคงมีพระชนม์ถึงยุคพระยาเทพวงศ์ (เจ้าน้อยอุปเสน) เรียกว่าพระยาแพร่หรือพระยาแพร่เฒ่า ปรากฏชื่อในบัญชีพระแสงปืนต้นจำหน่ายและคง โดยระบุว่าได้รับพระราชทานปืนแบบซ้นทายหอยโข่ง ต้นเลี่ยมเครื่องกาไหล่ ความว่า

เมีองแพร พญาแพร ซ้นทายหอยโขง ตํนเลยีมเครีองกาไล ๑ พรเมีอง กลํมรางคริ่งทอรครำเงิน ๑ (รวม) ๒ พรแพร ตํนเลยีมฝรังเสฎ ๑ เถา ตํนขุดครำครำทองเครีองกาไล ๑ (รวม) ๒ หนอยอุปเสนเปนพญาแพร ฝรังเสฎลายเงิน ๑ ทาวอินท่วิไชบุตรพญาแพ ตํนกลํมยางกลางศรีองกาไลทอง ๑ (รวม) ๖

— บัญชีพระแสงปืนต้นจำหน่ายและคง

[17]

พระเมืองไชยถึงแก่พิราลัยประมาณปี พ.ศ. 2348 จากหลักฐานใบลานวัดหลวงที่แม่เจ้าบุษบาราชเทวีทำบุญในช่วงปี พ.ศ. 2348

ราชโอรส-ธิดา แก้

พระเมืองไชยมีราชเทวีคือแม่เจ้าบุษบา มีราชธิดาปรากฏนามองค์หนึ่งชื่อ "เจ้านางสุชาดา" ต่อมาได้เสกสมรสกับพระยาเทพวงศ์ (เจ้าน้อยอุปเสน) เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 23 และได้รับการสถาปนาเป็นแม่เจ้าสุชาดาราชเทวี

อ้างอิง แก้

  1. จังหวัดแพร่ .เจ้าผู้ครองนคร เจ้ามังไชย(พระยาศรีสุริยวงศ์)
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  3. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2545.
  4. https://vajirayana.org/โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี/โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี
  5. http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?ref=Or_11827[ลิงก์เสีย]
  6. https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๔๖-กรมพระราชวังบวรฯ-เสด็จไปตั้งเมืองเชียงใหม่
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  8. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
  9. https://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0149/mobile/index.html#p=
  10. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  11. https://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0149/mobile/index.html#p=
  12. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  13. https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๔๖-กรมพระราชวังบวรฯ-เสด็จไปตั้งเมืองเชียงใหม่
  14. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล, พ.ศ. 2556.
  15. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล, พ.ศ. 2556.
  16. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล, พ.ศ. 2556.
  17. จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๓ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, ๒๕๓๐.