ค่ายโพธิ์สามต้น

ค่ายโพธิ์สามต้น เป็นโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ประเภทค่ายทัพโบราณสมัยอยุธยา ตั้งค่ายเมื่อปี พ.ศ. 2309 ปัจจุบันยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ค่ายโพธิ์สามต้นตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ค่ายโพธิ์สามต้นแยกออกเป็นค่ายฝั่งตะวันตกและตะวันออก ค่ายฝั่งตะวันตกยังหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์อยู่มากมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนค่ายฝั่งตะวันออกแนวคูค่ายส่วนใหญ่ถูกทำลายไปเกือบหมด เหลือเป็นแนวกำแพงค่ายยาว ประมาณ 150 เมตร

พม่าได้ตั้งค่ายในพื้นที่ห่างจากวัดโพธิ์หอม หรือห่างจากต้นโพธิ์ทั้งสาม ไปทางตะวันตก ตามลำน้ำลพบุรีเก่าประมาณ 800 เมตร[1]

ประวัติ

แก้

ภูมิหลัง

แก้

เส้นทางในการเดินทัพระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ปรากฏหลักฐานในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ คราวสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (พ.ศ. 2091) พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นำทัพหลวง เสด็จยกทัพมาตั้งค่ายหลวง ณ ทุ่งพุทเลา ได้นำกำลังกองหลวงข้ามโพธิ์สามต้น มาตามทุ่งเพนียดเสด็จยืนช้าง ณ วัดสามวิหาร เตรียมเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

พอในสมัยพระเจ้าอลองพญา ปี พ.ศ. 2303 พระองค์ได้นำทัพเข้าตีค่ายไทยที่ทุ่งตาลาน ให้ทัพหลวงตั้งอยู่ที่บ้านกุ่ม ทัพหน้ามังระราชบุตรกับมังฆ้องนรธาเข้าตั้งที่โพธิ์สามต้น ฝ่ายไทย นำโดยหลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน หาพวกจีนบ้านนายก่ายประมาณ 2,000 คน มาขออาสาตีค่ายข้าศึกที่โพธิ์สามต้น แต่ฝ่ายไทยและจีนเสียคนเป็นจำนวนมาก มังระเห็นได้ที ให้มังฆ้องนรธาเป็นกองระวังหน้าเคลื่อนที่เข้ามาตั้งค่ายที่วัดสามวิหาร แต่ก็ต้องถอยทัพไปเนื่องจากพระเจ้าอลองพญาทรงถูกตีแตกที่วัดหน้าพระเมรุ

ตั้งค่าย

แก้
 
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

พม่ากลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2309 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ส่งแม่ทัพ คือ เนเมียวสีหบดี และ มังมหานรธาเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุก ๆ ด้าน โดยส่งกองทัพของเนเมียวสีหบดีมาตั้งค่ายใหญ่ที่โพธิ์สามต้น ส่วนกองทัพมังมหานรธาตั้งค่ายที่บ้านสีกุก[2] โดยรื้อเอาอิฐวิหาร โบสถ์ มาก่อกำแพงล้อมเป็นค่าย แต่เมื่อมังมหานรธาตายที่ค่ายสีกุก เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพใหญ่ และยังได้กองทัพพม่าทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้สมทบกันเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาทุก ๆ ด้าน ตีจนกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าได้รวบริบทรัพย์จับผู้คน จับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยภิกษุสามเณรไปเมืองพม่าโดยพวกที่ประชวรก็ถูกคุมขังอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น และมีกองทัพพม่า รวม 3,000 คน ตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ทำหน้าที่ดูแลกรุงศรีอยุธยาคอยรวบรวมผู้คนและทรัพย์สิ่งของส่งไปพม่า

ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมกำลังคน ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจากเมืองจันทบุรี เมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินทรงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากสินตามพม่าถึงโพธิ์สามต้น สั่งให้ทหารระดมตีค่ายโพธิ์สามต้น ต้นข้างฟากตะวันออก พอได้ค่ายโพธิ์สามต้นข้างฟากตะวันออก พระเจ้าตากสินจึงให้เข้าตั้งรักษาค่าย ทำบันไดปืนค่ายข้างฟากตะวันตก จากนั้นตีค่ายสุกี้ ข้างฟากตะวันตก กองทัพพระเจ้าตากสินเข้าค่ายโพธิ์สามต้นข้างฟากตะวันตกได้ ฆ่าสุกี้แม่ทัพพม่าตาย พระเจ้าตากสินมหาราชมีชัยชนะพม่าเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310[3] และตั้งพักกองทัพอยู่ที่ค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ยังได้รวบรวมทรัพย์สมบัติที่ยังมิได้ส่งไปพม่า รวบรวมเก็บรักษาไว้ในค่ายแม่ทัพที่โพธิ์สามต้น ยังจับเจ้านายพม่าได้อีก

ปัจจุบัน

แก้

ค่ายโพธิ์สามต้นแยกออกเป็น ค่ายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนค่ายฝั่งตะวันออก แนวคูค่ายส่วนใหญ่ถูกทำลายไปเกือบหมดสิ้น ค่ายฝั่งตะวันตกมีหลักฐานที่หลงเหลือเป็นสิ่งก่อสร้างซึ่งมีดินทับถมอยู่อย่างชัดเจน ส่วนฐานของแนวกำแพงซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 6.60 เมตร แนวผนังก่ออิฐทั้งสองข้างหนาด้านละ 0.90 เมตรก่อขึ้นรูปผนัง แกนกลางเป็นดินถมผสมเศษอิฐหักอัดแน่น แนวอิฐก่อผนังทั้งหมดถูกก่อเรียงอย่างเป็นระเบียบก่อสอด้วยดิน ค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันออกเหลืออยู่ประมาณ 150 เมตร สูงประมาณ 1.00 เมตร คาดว่าหลงเหลือเป็นแนวกำแพงเพียงร้อยละ 10 จากของเดิม[4]

ปัจจุบันยังมีการตั้งศาลพระเจ้าตากสิน[5]

ผลสืบเนื่อง

แก้

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้ไปนำอิฐที่ค่ายโพธิ์สามต้นมาทำเป็นกำแพงเมืองธนบุรี[6] นอกจากนั้นในช่วงหลังสงครามโลก ทางราชการที่กรุงเทพต้องการอิฐโบราณจำนวนมาก จึงมีการรื้อถอนและขนอิฐไปขายเป็นจำนวนมาก[4]

ในกรุงเทพมหานคร มีชื่อซอยที่แยกจากถนนอิสรภาพ ในซอยนี้ยังมีตลาดชื่อโพธิ์สามต้น โดยบริเวณตลาดมีโพธิ์ต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่งและมีศาลเจ้าอยู่ด้วย ที่ตั้งชื่อโพธิ์สามต้น สันนิษฐานได้หลายกรณี เช่น เดิมมีต้นโพธิ์อยู่สามต้น ตายไปสองต้น อีกสมมติฐานคือ ตั้งชื่อโพธิ์สามต้นเพื่อเป็นเกียรติและประวัติที่พระเจ้าตากสินได้เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น[1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "สงครามกู้อิสรภาพจากพม่า".
  2. ""ค่ายโพธิ์สามต้น" ยุทธภูมิอังวะ "ล้างบาง" กรุงศรีฯ". ช่อง 3.
  3. "ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : 'ค่ายโพธิ์สามต้น' สมรภูมิพระยาตาก(สิน)รบกู้ชาติ". แนวหน้า. 4 พฤศจิกายน 2561.
  4. 4.0 4.1 "โบราณสถานค่ายโพธิ์สามต้น".[ลิงก์เสีย]
  5. "ชาวบางปะหันเดินหน้าฟื้นค่ายโพธิ์สามต้น หวังเป็นอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย". มติชน.
  6. "ลักษณะและขนาดของกำแพงเมืองธนบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.