วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
วัดพระธาตุหริภุญชัย (ไทยถิ่นเหนือ: ) ในอดีตนิยมเรียก วัดเจดีย์หลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร[1] ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 28 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา[2]
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร | |
---|---|
พระบรมธาตุหริภุญชัย | |
ชื่อสามัญ | วัดพระธาตุหริภุญชัย |
ที่ตั้ง | ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร |
นิกาย | เถรวาท |
ความพิเศษ | พระธาตุประจำปีเกิดปีระกา |
เว็บไซต์ | www.hariphunchaitemple.org |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระธาตุหริภุญชัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478[3]
ประวัติ
แก้ตำนานมูลศาสนาและตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย กล่าวว่า ครั้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตในหมู่บ้านของเหล่าเม็งคบุตร แล้วเสด็จเลียบลำน้ำแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) พวกเม็งตามเสด็จมาถึงที่สถานที่หนึ่งทางทิศตะวันตกของแม่น้ำ พระพุทธเจ้าปรารถจะนั่ง ก็มีแท่นหินก้อนหนึ่งผุดขึ้นมาจากพื้นดิน พระพุทธเจ้าจึงทรงวางบาตรและประทับเหนือแท่นหินนั้น ชมพูนาคราชและพญากาเผือกออกมาอุปัฏฐากพระองค์ ลัวะผู้หนึ่งได้ถวายหมากสมอ เมื่อพระพุทธเจ้าฉันเสร็จได้ซัดเมล็ดสมอลงเหนือพื้นดิน เมล็ดสมอหมุนเวียน 3 รอบ แล้วจึงได้ฝังพระเกศาแล้วเอาผลสมอทับไว้ มีพุทธพยากรณ์ว่า ในภายภาคหน้าเมื่อพระเจ้าอาทิตยราชเสวยราชย์ สถานที่นี้จะเป็นที่ตั้งของมหานครใหญ่ชื่อ "หริภุญชัย" เพราะพระพุทธเจ้าได้มาฉันหมากสมอที่นี้ ที่พระพุทธเจ้านั่งจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีธาตุกระดูกพระเศียร ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้ว และธาตุย่อย รวม 1 บาตรเต็ม ณ มหานครแห่งนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว พญากาเผือกเมื่อได้ยินพุทธพยากรณ์ก็จำได้สิ้น เมื่อบินกลับถึงป่าหิมพานต์จึงเรียกกาดำผู้เป็นหลานมาเล่าพุทธพยากรณ์ พร้อมให้กาดำอยู่เฝ้ารักษาสถานที่ เหล่าเทวดา อสูร ฤๅษี พากันมาบูชาแท่นหินนั้นเป็นนิตย์ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยว่าแท่นหินนั้นจมลงไปในดินตามเดิม ภายหลังพระยาศรีธรรมาโศกราชได้นำพระธาตุใส่ในกระบอกไม้รวก แล้วใส่ในโกศแก้วลูกใหญ่ 3 กำ บรรจุใต้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งฉันหมากสมอ
เมื่อพระเจ้าอาทิตยราชแห่งอาณาจักรหริภุญชัยเสวยราชสมบัติ (ตำนานแต่ละเล่มกล่าวไม่ตรงกัน ตำนานมูลศาสนาว่าตรงกับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 1,008 ปี ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยว่า พ.ศ. 1420 จามเทวีวงศ์ว่า พ.ศ. 1586 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พ.ศ. 1590) พระเจ้าอาทิตยราชเป็นกษัตริย์ที่มีพระบรมเดชานุภาพ พระสติปัญญาเป็นเลิศ ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา บ้านเมืองรุ่งเรือง คราวหนึ่ง พระเจ้าอาทิตยราชโปรดฯ ให้สร้างพระราชเรือนหลวงเป็นที่ประทับ พร้อมสร้างหอจัณฑาคารที่ลงพระบังคน แต่บังเอิญหอนั้นไปสร้างตรงกับที่พระพุทธเจ้าเคยประทับและพยากรณ์ เมื่อพระองค์จะเสด็จไปสู่วลัญชนฐาน (ห้องน้ำ) คราวใด กาที่เฝ้ารักษาก็จะบินผ่านมาแล้วปล่อยอาจมให้ต้องพระองค์ทุกครั้ง พระองค์จึงเสด็จไปเข้าวลัญชนฐานแห่งอื่น แต่กาก็ยังคงบินร่อนข้างบนและโฉบลงเหนือเศียรพระองค์ เป็นเช่นนี้ 2-3 ครั้ง จนพระเจ้าอาทิตยราชกริ้วและสั่งให้พวกอำมาตย์ไล่จับกา เทวดาบันดาลให้กาติดบ่วง พระเจ้าอาทิตยราชจะให้ฆ่ากาเสีย อำมาตย์ได้ทูลทัดทานไว้และให้หาโหรมาทำนาย โหรทำนายว่าประโยชน์อันยิ่งใหญ่จะบังเกิดแก่พระเจ้าอาทิตยราช ตกกลางคืนเทวดาผู้รักษาพระบรมสารีริกธาตุก็มาทูลพระเจ้าอาทิตยราชในฝัน แนะให้นำกุมารเกิดได้ 7 วันมาอยู่กับกา 7 วัน สลับกับอยู่กับคน 7 วัน จนครบ 7 ปี กุมารจะสามารถผู้ภาษากาได้ พระองค์ก็จะแจ้งมูลเหตุแห่งการกระทำของกา พระเจ้าอาทิตยราชก็ทรงทำตาม พอครบ 7 ปี พระเจ้าอาทิตยราชให้พากุมารและกามาสอบถาม กาจึงเล่าเรื่องผ่านกุมารถึงพุทธพยากรณ์และอาสาไปตามพญากาเผือกมายืนยัน เมื่อพญากาเผือกพร้อมด้วยบริวารมาถึงก็ทูลเล่าเรื่องพุทธพยากรณ์อีกครั้ง
พระเจ้าอาทิตยราชจึงทรงเกิดปีติยินดียิ่งนัก สั่งให้เสนาอำมาตย์รื้อถอนวลัญชนฐาน แล้วกลบถมที่ให้ราบเสมอดีแล้ว นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตตมงคลภายในพระราชสำนัก ตกกลางคืนพระเกศาธาตุได้เปล่งฉัพพรรณรังสีเกิดแสงสว่างโชติช่วงทั่วทั้งเมือง โกศแก้วที่บรรจุในกระบอกไม้รวกได้ลอยขึ้นท่ามกลางนั้นจนปรากฏให้เห็นทั่วหน้าและลอยกลับมาที่เดิม พระองค์จึงสั่งให้รื้อถอนปราสาทราชมณเฑียรออกไปตั้งที่อื่น โปรดให้ทำราชวัติโดยรอบ ตกแต่งประดับประดาด้วยเงินทอง ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอมเป็นพุทธบูชา ประกาศให้ชาวหริภุญชัยมาสักการบูชาสรงน้ำพระบรมธาตุ จัดงานสมโภชพระบรมธาตุ 7 วัน 7 คืน พระเจ้าอาทิตยราชพร้อมพระราชเทวี นางสนม พราหมณ์ เสนาบดี และประชาชนหริภุญชัย ทรงนำการสรงน้ำโดยยกพระเต้าสุวรรณภิงคารขึ้นบนพระเศียน และสระสรงสถานที่ที่จะบังเกิดพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นถวายดอกไม้เครื่องหอมนมัสการแล้ว ทรงอธิษฐานอาราธนาให้พระบรมสารีริกธาตุแสดงออกมาเป็นที่ประจักษ์ ผอบทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก็ลอยขึ้นมาเปล่งแสงสว่างเป็นแก้ว 7 ประการ ผอบรูปร่างเหมือนปลีกล้วย
ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยกล่าวว่า พระเจ้าอาทิตยราชสั่งให้ช่างทองทำโกศหนักสามพัน สูง 3 ศอก ประดับแก้ว 7 ชนิด สวมโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ตำนานมูลศาสนาว่า พระเจ้าอาทิตยราชให้ทำโกศทองคำ โกศทองเหลือง โกศงา โกศไม้จันทน์ ให้ใหญ่กว่าเป็นลำดับ เอาโกศไม้จันทน์ไว้ภายนอก โกศงาไว้ภายในโกศไม้จันทน์ เอาโกศทองเหลืองซ้อนภายในโกศงา แล้วเอาโกศเงินไว้ภายในโกศทองเหลือง จากนั้นนำโกศทองคำที่บรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในสุด นำหินหนาประมาณ 1 ศอก กว้างยาวประมาณ 2 ศอกคืบ เมื่อก่อพระเจดีย์ พระเจ้าอาทิตยราชก็ทรงแบกหินนั้นมาก่อตรงกลาง เพื่อให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รองโกศพระธาตุ แล้วให้ช่างก่อปราสาทหลังหนึ่ง มีเสา 4 ต้น สูง 12 ศอก ลักษณะเป็นเรือนธาตุโปร่งเปิดให้เห็นทั้ง 4 ด้าน มีประตูโค้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยดิน อิฐ เงินทอง แก้ว 7 ชนิด เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โปรดฯ ให้ฉลองพระเจดีย์พร้อมทั้งถวายเครื่องสักการะ 7 วัน โปรดฯ ให้สร้างโบสถ์วิหาร ศาลาใหญ่น้อย ให้เป็นพระอารามหลักนครหริภุญชัย สร้างบำเพ็ญพระราชกุศลนานานัปการ (ปีที่สร้างพระเจดีย์นี้ พงศาวดารโยนกว่า พ.ศ. 1527 จามเทวีวงศ์ว่า พ.ศ. 1440 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า 1607)[4]
สมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (พระเจ้าสววาธิสิทธิ) พระราชนัดดาของพระเจ้าอาทิตยราช ขณะมีพระชนมายุได้ 19 ปี ทรงให้สร้างโกศทองคำสูง 4 ศอก หนัก 1,500 คำ ประดับแก้ว 7 ประการ ครอบโกศทองคำที่พระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้าง แล้วให้เอาหินมาก่อครอบปราสาทสูง 24 ศอก (พงศาวดารโยนกระบุว่าบูรณะเมื่อ พ.ศ. 1661 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พ.ศ. 1726)
ภายหลังอาณาจักรหริภุญชัยล่มสลายโดยพญามังราย (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่าสามารถยึดเมืองหริภุญชัยได้เมื่อ พ.ศ. 1824 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พ.ศ. 1835)[5] ตำนานมูลศาสนากล่าวว่า มีพวกผ้าขาว (ชีปะขาว) นำทองคำพอกเสาปราสาทพระมหาธาตุ 800 คำ ปิดทองพระบรมธาตุ 800 แผ่น แล้วไปแจ้งให้พระเถระผู้รักษาพระมหาธาตุ 4 รูปให้ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ พระมหาเถรเจ้าและพวกผ้าขาวจึงไปหาพญามังราย พญามังรายโปรดฯ ให้ขุนฟ้า (อ้ายฟ้า) ร่วมกับพระมหาเถรเจ้าทั้ง 4 เป็นแม่กองบูรณะเจดีย์ โดยมีรูปทรงที่ต่างไปจากเดิมคือจากมณฑปปราสาทสี่เหลี่ยมสมัยหริภุญชัยมาเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังล้านนา และเสริมให้สูง 70 ศอก ให้มีข้าวัดรักษาพระธาตุ (ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยว่าบูรณะใน พ.ศ. 1818)
สมัยพญาแสนภู ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปสององค์เพื่อถวายแด่พระนางจามเทวี สร้างธรรมสภาศาลาและบูรณะพอกยอดพระธาตุ ด้วยทองคำหนัก 1 แสน
สมัยพญาคำฟู ได้ให้บัณฑิตชื่อมณีวัง นำเงินและทองคำมาบูรณะพระเจดีย์ ถวายข้าคนไว้กวาดลานมหาเจดีย์และลานมหาโพธิ์ สร้างศาลาฟังธรรมหลังใหญ่หน้าพระมหาธาตุ
สมัยพญาแสนเมืองมา ประมาณ พ.ศ. 1951 โปรดฯ ให้บูรณะบุแผ่นทองจังโกพอกหุ้มมหาธาตุ[6]
สมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. 1990 โปรดฯ ให้บูรณะมหาธาตุครั้งใหญ่ โดยโปรดฯ ให้พระมหาเมธังกรเจ้า พระอุปัชฌาย์ของพระองค์เป็นประธาน ก่อให้สูงขึ้นไปอีก 8 วา รวมเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ฉัตร 9 ชั้น ยอดฉัตรประดับแก้วบุศยใหญ่เท่าดอกบัวน้ำหนัก 230 เฟื้องและแก้วมหานิลใส่ไว้ที่ยอด หุ้มทองจังโกตลอดทั้งองค์ ใช้หินศิลาแลง 473,020 ก้อน ทองจังโก 84,844 แผ่น เอาช้องมือนางจามเทวีใส่รองคอฉัตร ใส่จังโกคำเป็นแผ่นได้ 164 แผ่น ทรงสร้างพระทองคำองค์ใหญ่เหนือแท่นแก้วด้านใต้ หนัก 5,000 คำ ทรงสร้างระเบียงชั้นใน กว้างจากทิศใต้ไปเหนือ 43 วาศอก ยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 70 วา มีประตูโขง 3 แห่ง ด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศเหนือ ก่อปราการชั้นนอก กว้างจากทิศใต้ไปทิศเหนือ 124 วา ยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 183 วา มีประตูโขง 4 ด้าน และทรงกัลปนาที่นาให้ 33,300 นา พร้อมข้าทาสรักษาพระธาตุ และยังทรงสร้างอาคารเสนาสนะศาสนสถานภายในบริเวณวัดอีกมากมาย[7]
สมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ. 2046 โปรดฯ ให้สร้างสัตติบัญชร (ลำเวียงทอง,ระเบียงหอก) ที่เมืองเชียงแสน รวมทั้งหมด 585 แล้วนำมาล้อมรั้วพระธาตุ
พ.ศ. 2051 พระรัตนปัญญาเถระ ผู้แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ พร้อมพระมหาสามีสีระวิสุทธเจ้า วัดต้นแก้ว ได้เรี่ยไรหล่อโคมปราสาทน้ำหนัก 58,000 เพื่อถวายแด่พระมหาธาตุ (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย)[8]
พ.ศ. 2053 พระเมืองแก้วพร้อมพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา สร้างหอธัมม์หลวง (หอพระไตรปิฎก)[9]
พ.ศ. 2055 ทรงบุทองจังโกและลงรักปิดทององค์พระธาตุ และให้สร้างวิหารหลวง
พ.ศ. 2060 พระเมืองแก้วเสด็จไปนมัสการพระธาตุพร้อมพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา ทำให้เกิดวรรณกรรมโคลงนิราศหริภุญชัย ที่พรรณาถึงการเดินทางและสภาพของวัดในสมัยพระเมืองแก้ว[10]
พ.ศ. 2078 ทรงมุงหลังคายกเครื่องบนวิหารหลวง วิหารหลวงกว้าง 10 วา 3 ศอก ยาว 24 วา 3 ศอก มีเสา 40 เล่ม เอาทองฉาบวิหารหลวง 190 แผ่น และโปรดให้สร้างบูรณะเสนาสนะต่างๆ ของวัด
สมัยพระเมืองเกษเกล้า พระมเหสีของพระองค์และโอรส 2 องค์ คือท้าวซายคำและเจ้าจอมเมือง ได้สร้างวิหารด้านใต้ (วิหารพระพุทธ) และนำทองคำมาใส่ที่พระธาตุเจ้า 40,000 คำ
สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระราชโมลีมหาพรหมและมหาสังฆราชารัตนอดุลยอุตตรราชอาราม ร่วมกันชักชวนชาวเมืองสร้างลำเวียงเหล็กล้อมพระธาตุทั้ง 4 ด้าน ชั้นนอกด้านตะวันตกถึงตะวันออกยาว 20 วา 1 ศอก ด้านเหนือถึงด้านใต้ยาว 20 วาถ้วน รวมเป็นรั้วเหล็ก 708 เล่ม[11]
พ.ศ. 2271 เจ้าตนบุญยกฉัตรพระธาตุ[12]
พ.ศ. 2329 พระเจ้ากาวิละ มีพระราชศรัทธาตั้งฉัตรหลวง 4 มุม พร้อมยกฉัตรยอดทองคำขนาดเนื้อเจ็ด ฐานชั้นล่างกว้าง 1 เมตร น้ำหนักทองคำประมาณ 20 บาท และบูรณะแนวรั้วสัตติบัญชร
พ.ศ. 2334 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) เสนาอำมาตย์ สร้างหอยอ 4 ด้านของพระมหาธาตุ และสร้าง (บูรณะ?) พระเจ้าละโว้
สมัยพระเจ้าลำพูนไชย ฟ้าผ่าถูกฉัตรพระธาตุ จึงได้ทำการซ่อมฉัตร
สมัยเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ได้ทำการบูรณะพระวิหารหลวง พายุพัดฉัตรคด จึงได้ทำการซ่อมฉัตร
สมัยเจ้าอินทยงยศโชติ พายุพัดฉัตรคด จึงได้ทำการซ่อมฉัตร
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เวลา 17.00 น. เกิดพายุพัดวิหารหลวงพังทลายลงมา แต่องค์พระธาตุไม่ได้รับความเสียหาย แต่ยอดฉัตรคดงอไป เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ได้ทำการซ่อมแซม สิ้นทองไป 131 บาท 3 สลึง ยกฉัตรเมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เวลา 10.00 น.มีมหรสพสมโภชวันที่ 29-30 มิถุนายน
พ.ศ. 2463 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานการบูรณะซ่อมแซมวิหารหลวง และได้บูรณะซ่อมแซมวิหารพระพุทธ วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพระละโว้
พ.ศ. 2472 เจ้าจักรคําขจรศักดิ์ได้อาราธนาครูบาธรรมชัย วัดประตูป่ามาปรับปรุงพระธาตุใหม่ โดยใช้ปูนซีเมนต์หุ้มเป็นรูปทรงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้หุ้มทองพระธาตุ สร้างสูง 1 เส้น 2 วา
พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล ปิดทองทั้งองค์ งบประมาณ 11 ล้านบาท บูรณะหุ้มทองที่ชำรุดและเสริมใหม่จนถึงปัจจุบัน[13]
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
แก้พระธาตุหริภุญชัย มีลักษณะสถาปัตยกรรมประกอบด้วย
ส่วนฐาน ฐานเขียง 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาอีก 2 ชั้นเป็นฐานเขียงในผังยกเก็จ ถัดมาเป็นฐานบัว 2 ฐานซ้อนกัน และย่อเก็จแบบล้านนา กว้างยาวด้านละ 16 วา 2 ศอก 1 คืบ มุมหนึ่งย่อเก็จ 7 แนว ส่วนยอดของแต่ละแนวประดับด้วยกระดึงทองคล้านรูปสำเภาสามเหลี่ยม
ส่วนกลาง ฐานหน้ากระดานทรงกลมเรียบ 3 ชั้น ตั้งบนฐานบัวย่อเก็จ ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วทรงกลม หรือมาลัยลูกแก้วซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นมีส่วนประกอบของฐานบัวคว่ำบัวหงาย และประดับท้องไม้ด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น จำนวนเท่ากัน แต่ขนาดเล็กลดหลั่นตามรูปทรงของพระเจดีย์ที่สอบขึ้นไปจนถึงฐานองค์ระฆัง ทำให้องค์พระธาตุมีรูปทรงที่ดูสูงเพรียวขึ้นไปมาก หน้ากระดานแต่ละชั้นประดับกระดึงใบเล็กเรียงรายโดยรอบ
องค์ระฆัง (ครรภธาตุ) ทำเป็นทรงกลม ประดับลวดลายดอกประจำยามโดยรอบแปดทิศ เรียกลายกระจังกลีบบัวบาน ระหว่างลายกลีบบัวบานมีการดุนนูนแผ่นทองจังโกเป็นภาพพระพุทธเจ้าแปดทิศรอบองค์ระฆัง เป็นพระลีลา 3 องค์ และประทับยืนปางถวายเนตร 5 องค์ พบจารึกอักษรฝักขามที่พระบาทของพระพุทธรูปองค์ที่ 1,2,6,7 ความว่า เจ้ามหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพญาทั้ง 2 พี่น้อง ผู้เป็นมหาอุบาสิกาแก่ฝูงสงฆ์ทั้งหลาย และพระสุเมธังกรได้สร้างพระพุทธรูปพระองค์นี้ ด้วยความปรารถนา คือ ขอให้มั่นในศีล 5 และ ศีล 8, ชนะแล้วด้วยเบญจสาธารณะ และได้ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นเลิศ[14] นายสุรศักดิ์ ศรีสำอาง, นายเทิม มีเต็ม, ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และดร.ฮันส์ เพนธ์ (Dr.Hans Penth) มีความเห็นว่า ผู้เป็นเจ้ามหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพญาทั้ง 2 พี่น้อง ควรเป็นพระนางจิตราเทวี มเหสีของพญาผายู ผู้เป็นพระราชมารดาของพญากือนาและท้าวมหาพรหม เพราะรูปอักษรเป็นสมัยล้านนาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
ส่วนยอด ประกอบด้วยบัลลังก์ (แท่นแก้ว) ทำเป็นบัลลังก์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 เหนือบัลลังก์มีก้านฉัตรทองฉลุลาย 1 ชั้น ห้อยกระดึงเป็นตุ้งติ้ง เรียกว่าฉัตรคอน้ำ เหนือชั้นระบายฉัตรเป็นปล้องไฉน ประกอบด้วยวงลูกแก้วเส้นกลมหรือบัวลูกแก้วซ้อนจากใหญ่ไปหาเล็ก ส่วนบนสุดคือปลียอก ทำเป็นรูปกรวยลำเพรียวแหลมขึ้นไป ประดับฉัตรทองฉลุลาย 9 ชั้น หนัก 433 บาท 1 สลึง เหนือฉัตร 9 ชั้นประดับลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้าง เป็นจุดยอดสูงสุดของฉัตร[15]
ในโคลงนิราศหริภุญชัย ได้กล่าวบรรยายถึงพระธาตุ ดังนี้
๏ มหาชินธาตุเจ้า | เจดีย์ | |
เหมือนแท่งทิพสิงคี | คู่เพี้ยง | |
ฉัตรคำคาดมณี | ควรค่า เมืองเอ่ | |
เปียวเป่งดินฟ้าเสี้ยง | สว่างเท้าอัมพเร |
๏ เจดีย์พระชินธาตุเจ้า | ศรีสถาน | |
โสภิตพะงาปาน | เกศเกล้า | |
ทศมนมิมีปาน | พอคู่ ครบเอ่ | |
ฤาเลิศไตรทิพเท้า | เท่าเว้นจุดาศรี |
๏ มหาชินธาตุเจ้า | จอมจักร | |
จอมจักรโลกทศลักษณ์ | เลิศหล้า | |
เลิศหล้ามีใครทัก | เทียมแทก ได้เอ่ | |
เทียมแทกวางไว้ฟ้า | ฟากด้าวดาวดึงส์ | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ ได้เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2424-2425 มาเยี่ยมชมวัดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้บรรยายถึงพระธาตุหริภุญชัยในบันทึกการเดินทางว่า
ในลานวัดมีพระเจดีย์องค์หนึ่งสวยงามมาก และเป็นสถานที่น่าสนใจที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมานับแต่ออกจากกรุงเทพฯ ทุกปีจะมีคนไปนมัสการกันนับพัน พระเจดีย์องค์นี้ก็เป็นรูปกรวยอย่างเคย สร้างเป็นรูปวงแหวนซ้อนกันเป็นชั้นๆ ให้ค่อยๆ เล็กลงทีละน้อยๆ ตรงปลายเป็นยอดแหลม ข้าพเจ้ากะว่าสูงประมาณ 80 ฟุต สร้างด้วยหินหุ้มทองเหลือง องค์พระเจดีย์ปิดทองหนาตั้งแต่ฐานจนถึงยอด และบนยอดก็มีฉัตรทองสำริด 5 อัน ปักซ้อนกันเป็นชั้น ขนาดค่อยๆ เล็กลงตามลำดับตั้งแต่อันล่างจนถึงอันบน (ผู้แต่งเข้าใจผิดว่าเป็นฉัตร 5 คัน ความจริงเป็นฉัตรอันเดียว แต่มี 5 ชั้น) ฉัตรนี้เป็นเครื่องแสดงว่าในพระเจดีย์องค์นี้บรรจุของที่ศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ รอบองค์พระเจดีย์ตอนบนแขวนระฆังเล็กๆ โดยใช้ลวดผูกทำให้มีเสียงกรุ๋งกริ๋งน่าฟังเมื่อลมพัด พระเจดีย์องค์นี้มีราวทองเหลือง 2 ชั้น ล้อมรอบ และตามมุมต่างแต่ละด้านมีศาลเล็กๆ ตั้งเทวรูปหินไว้ ข้างในเป็นรูปเทวดาซึ่งมีหน้าที่คอยเฝ้าดูแลรักษา และระหว่างศาลเล็กๆ นี้ยังมีกลดอันใหญ่ปิดทองและติดระบายตามขอบ
— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao
- โกศทรงสถูปประจำมุมทั้ง 4 อยู่บริเวณฐานเขียงชั้นล่างสุดขององค์พระธาตุหริภุญชัยทั้ง 4 มุม หล่อด้วยสำริดปิดทอง มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายกันคือ ฐาน 8 เหลี่ยม ชั้นล่างเจาะทะลุโปร่งเป็นช่องวงโค้งหยักหลายวงในกรอบรูปไข่คล้ายลายเมฆของจีน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวถลาและฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ที่ขยายสัดส่วนจนดูสูง ตัวโกศมีส่วนที่ใช้บรรจุผอบเปิดปิดได้ ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำ-บัวหงายขนาดใหญ่ 8 กลีบ ปลายกลีบบัวกระดกแบบบัวงอน มีเกสรบัวประดับ ส่วนของฝาโกศตกแต่งเป็นรูประฆังคว่ำแบบเรียบง่ายคล้ายทรงกระบอก ยอดเป็นรูปหม้ออามลกะและปลียอดที่ใช้เป็นฝาจับทรงมัณฑ์ ส่วนโกศทางมุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทรงสูง ตั้งบนฐาน 4 เหลี่ยม ตกแต่งลวดลายเหมือนสถูปจำลองทรงกลมซ้อนกลายชั้น อาจทำขึ้นหังโกศทั้ง 3 เล็กน้อย แต่มีอายุอยู่ในสมัยล้านนา
- โคมปราสาทประจำทิศทั้ง 8 สมัยพระเมืองแก้วภายหลังสร้างสัตติบัญชรแล้ว โปรดฯ ให้ประดับปราสาทที่มุมรั้วทั้ง 4 ด้าน ระหว่างปราสาทแต่ละด้านประดับด้วยโคมทองรูปดอกบัวบานตั้งบนเสาทอง ที่มุมทั้ง 4 และแต่ละด้านของลานระเบียง ประดิษฐานโคมปราสาท (โคมป่อง) หล่อด้วยวำริดขนาดเล็ก ตั้งบนฐานเสาสูงทั้งหมด 8 องค์ ทั้งหมดมีรูปทรงรายละเอียดต่างกัน แต่มีองค์ประกอบหลักคือมีฐานเขียง 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานท้องไม้ประดับตกแต่งด้วยรูปช้างค้ำ นกหัสดีลิงค์ สิงห์ รองรับบัวถลาและบัวคว่ำบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นองค์เรือนธาตุ มีทั้ง 4 เหลี่ยมและ 6 เหลี่ยม แต่ละด้านมีซุ้มกระจังประดับลายเครือล้านนากรุติดอยู่ ซุ้มกระจังหลักของทุกโคมเปิดปิดได้ เพื่อใส่ไฟเป็นพุทธบูชา บางโคมฉลุพื้นหลังโปร่งทะลุด้วยลายพรรณพฤกษา ที่มุมเรือนธาตุตกแต่งประติมากรรมรูปเทพนม อารักษ์ถือกระบอง พระพักตร์มนกลม พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา ทรงมกุฎทรงเตี้ยเทริดยอดแหลม ฉลองพระองค์ด้วยพัสตราภรณ์หลายรูปแบบ แต่ไม่มีรายละเอียดมากนัก ถัดจากเรือนธาตุและชั้นหลังคาขึ้นไปเป็นส่วนยอดทำเป็นทรงปราสาทซ้อน 3 ชั้น ลดหลั่นขึ้นไปแบบบัวถลา ที่มุมตกแต่งด้วยนาค หงส์ ตัวเหงา ปลายยอดสุดเป็นดอกบัวตูม
โคมปราสาททางด้านทิศเหนือและใต้ทำเป็นรูปแบบพิเศษ คือตั้งอยู่บนสำเภาสำริด (สุวรรณเภตรา) มีฉัตรขนาดเล็ก 4 ก้านประดับ เรือสำเภาขนาดยาวประมาณ 1 เมตร มีส่วนหัวและท้ายเรือป้าน ที่กราบเรือและโดยรอบบริเวณผนังหัว-ท้านเรือตกแต่งประดับด้วยลวดลายรูปสัตว์ เช่น หงส์ ปลาหัวมังกร หยินหยาง มกร กุ้ง กินนร กินรีในท่าฟ้อนรำ สิงห์ มอม นาคขด กิเลน หน้าเรือสำเภาตกแต่งด้วยครุฑยุดนาคเกี้ยว เรือสำเภาตั้งอยู่บนฐานเหลี่ยมประดับลวดลายระลอกคลื่นสลับกอบัวและสัตว์น้ำพวกหอย ปลาหมึก ปลาหน้าวัว ปลาหัวช้าง เป็นสัญลักษณ์ของเรือสำเภาที่พระพุทธเจ้านำพาสัตว์โลกทั้งหลายข้ามโอฆสงสารไปสู่พระอมตะมหานิพพาน ศ. ดร.สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่าเป็นศิลปกรรมที่ทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4-5 เนื่องจากการวางลวดลายในลักษณะแน่นเบียดแน่นเต็มพื้นที่เช่นนี้มักนิยมทำมากในยุคฟื้นฟูล้านนา ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เชื่อว่าลวดลายบนเรือสำเภาไม่ใช่อัตลักษณ์เฉพาะของศิลปกรรมล้านนา อาจเป็นการรับอิทธิพลจากพม่า สิบสองปันนา หรือจีน รศ. ม.ล. สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ให้ข้อสังเกตว่า งานช่างในลักษณะบุเงินบุทองด้วยเส้นนูนเช่นนี้เป็นความสันทัดของกลุ่มชาวไททางแถบเหนือขึ้นไปของล้านนา คือกลุ่มไทลื้อเมืองยองที่เข้ามามีบทบาทเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในลำพูน
ในบันทึกของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2424ได้กล่าวถึงโคมปราสาและเรือสำเภาสำริดนี้ว่า
รอบๆ รั้วด้านนอกมีตะเกียงทองเหลืองเล็กๆ ทำเป็นรูปโบสถ์จำลอง ตะเกียงลูกหนึ่งทำเป็นรูปเรือสำเภาจีน และมีอักษรจารึกไว้ว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 1,200 ปี พวกพระได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้ตรงบริเวณที่สร้างพระเจดีย์มีโบสถ์เป็นรูปสำเภาจีนทำด้วยทองคำล้วนๆ และตะเกียงรูปเรือสำเภาจีนที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงก็คือรูปจำลองของโบสถ์หลังนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ฝังอยู่ใต้พระเจดีย์ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่ามีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เพื่อให้รู้ว่าสมบัติอันมีค่านั้นฝังอยู่ที่ไหน และเท่าที่เห็นพระเจดีย์องค์นี้ยังได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี สมบัติชิ้นนั้นก็อาจจะยังคงฝังอยู่ข้างในพระเจดีย์
— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao
- สัตติบัญชร (ระเบียงหอก, ลำเวียงทอง) มี 2 ชั้น พระเมืองแก้วโปรดฯ ให้หล่อขึ้นที่เมืองเชียงแสน รวมทั้งหมด 585 เล่ม แล้วนำมารายล้อมองค์พระธาตุหริภุญชัย สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระราชโมลีมหาพรหมและมหาสังฆราชารัตนอดุลยอุตตรราชอาราม ร่วมกันชักชวนชาวเมืองสร้างลำเวียงเหล็กล้อมพระธาตุทั้ง 4 ด้าน ชั้นนอกด้านตะวันตกถึงตะวันออกยาว 20 วา 1 ศอก ด้านเหนือถึงด้านใต้ยาว 20 วาถ้วน รวมเป็นรั้วเหล็ก 708 เล่ม รั้วชั้นนอกนำเหล็กมาตีที่วัดขี้เหล็ก รั้วทั้งหมดวางอยู่บนฐานหินขัด
- หอยอ (วิหารทิศ) สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เพราะมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย พ.ศ. 2334 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น)เสนาอำมาตย์ ได้สร้างหอยอ 4 ด้านของพระมหาธาตุขึ้นใหม่ และบูรณะพระเจ้าละโว้ หอยอมีลักษณะเป็นอาคารเครื่องไม้แบบวิหารโถงขนาดเล็ก ตั้งบนฐานปูนสูงครึ่งรั้ว หลังคาลดมุขหน้า 2 ชั้น ลดด้านข้าง 2 ตับ ตกแต่งด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันตกแต่งแบบขื่อม้าตั่งไหม ยกเว้นหอยอด้านทิศตะวันออกที่ทำหลังคาลดมุข 3 ชั้น และตกแต่งหน้าบันเป็นรูปพญานาคเกี่ยวกระหวัด ภายในหอยอประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยล้านนา ประทับนั่งปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด หอละ 3 องค์ ช่วงเทศกาสรงน้ำพระธาตุ พุทธศาสนิกชนนิยมเดินทักษิณาวัฏรอบองค์พระธาตุ และหยุดตามหอยอเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูปแทนองค์พระธาตุเพราะอยู่ไกลในรั้วระเบียงหอก
- ฉัตรหลวง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ. 2329 พระเจ้ากาวิละ มีพระราชศรัทธาตั้งฉัตรหลวง 4 มุมใหม่ ฉัตรทองจังโกขนาดใหญ่ ลวดลายทาสีแดงสลับเหลืองตั้งแต่ฐานตลอดด้ามฉัตรจนถึงยอด ระบายฉัตรเป็นแผ่นทองชั้นเดียวฉลุลายห้อยตุ้งติ้งฝีมือประณีต เป็นฉัตรทึบทั้ง 3 มุม มีเพียงมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้มุมเดียวที่เป็นฉัตรโปร่งไม่ทึบ
ในโคลงนิราศหริภุญชัย มีการกล่าวถึงสัตติบัญชร, หอยอและฉัตรหลวง ดังนี้
๏ ระวังเวียงแวดชั้น | สมสอง สว่างเอ่ | |
ทุกแจ่งเฉลิมฉัตรทอง | แทบเอื้อม | |
พระหารสี่หลังยอง | ยังเงื่อน งามเอ่ | |
เทียมระวังซ้อนเซื้อม | สี่ด้านเถิงตรู | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญ
แก้ประตูโขง
แก้สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะซ่อมแซมบ่อยครั้งมาก จนแทบไม่เหลือร่องรอยของอิฐและปูนปั้นโบราณเดิม เหลือเพียงลวดลายจางๆ บางส่วนของวัสดุที่ก่อพอกทับใหม่เป็นปูนขาว หลักฐานเท่าที่เหลืออยู่มีจารึกติดไว้ว่าบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2499
ส่วนผนังอาคารเจาะช่องทางเดินเป็นรูปโค้งมน (Arch) เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลตะวันตกผ่านทางศิลปกรรมพุกามเข้าสู่ล้านนาราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เหนือช่องประตูโค้งประดับด้วยแผ่นหน้าบันขนาดใหญ่ ลายปูนปั้นหลุดหายไปเหลือแต่กรอบตัวเหงาที่มีปลายสองข้างเป็นหางวัน ส่วนโค้งด้านบนประดับฝกเพกา สองข้างประตูทางเข้ามีเสาประดับกรอบซุ้มย่อเก็จ 4 ชั้น ตกแต่งหัวเสาด้วยลายบัวคอเสื้อ ประจำยามอก กาบบัวเชิงล่าง ภายในกรอบกระจังกลีบบัวผูกเป็นลายช่อประดิษฐ์ มีดอกเบญจมาส ดอกโบตั๋นผูกรวมเป็นช่อ มีก้านใบแตกแขนงออกมา คล้ายกับลายใบไม้ที่พบในภาพเขียนสีบนภาชนะเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
ส่วนยอดเป็นทรงปราสาทหลายชั้นซ้อนกัน ชั้นแรกเป็นบัวถาตกแต่งบัญชรวงโค้ง ที่มุมมีการย่อเก็จล้อกับผนังอาคารตอนล่าง ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุจำลองและชั้นเชิงบาตรซ้อนกัน ที่ซุ้มบันแถลงตกแต่งด้วยลายช่อ ลายเฟื่องอุบะ แต่ละชั้นที่มุมประดับด้วยสถูปจำลองทรงสี่เหลี่ยม ยอดบนสุดเป็นดอกบัวสี่เหลี่ยม เมื่อพิจารณาจะเห็นว่ารูปทรงของประตูโขงมีลักษณะรูปทรงเดียวกับโขงพระเจ้าภายในอุโบสถพระเจ้าทองทิพย์
ราชสีห์
แก้อยู่หน้าประตูโขง 1 คู่ สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นสิงห์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ยืนอ้าปากกว้างแลบลิ้นยาว ก่ออิฐฉาบปูนระบายสีแดง บางส่วนปิดทองประดับกระจกสี เดิมเคยมีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวราชสีห์ไว้ พร้อมสร้างศาลามีหลังคาคลุม ภายหลัง พ.ศ. 2490 ครูบาอภิชัยขาวปีได้นำไม้จากศาลาไปสร้างเป็นตู้ยาสังเค็ดลายรดน้ำ มีหัวเสืออ้าปากตรงปุ่มเปิดปิด ถวายตามวัดต่างๆ ที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย (พบ 1 ตู้ที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา)
โคลงนิราศหริภุญชัยได้กล่าวถึงราชสีห์คู่นี้ว่า
๏ มิคราชเยี่ยมยื้อเหยียบ | ยังยืน ก็ดี | |
ไขปากปานจักกืนลืน | คาบเคี้ยว | |
คชสารชื่อจักลืน | ลงลวด รักเอ่ | |
เมียงม่ายสองเบื้องเบี้ยว | เบ่นสู้สบายยวย | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
จดหมายเหตุวัดสังฆารามประตูลี้กล่าวว่า พ.ศ. 2397 เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าหลวงลำพูน ได้สร้าง (อาจหมายถึงบูรณะ) สิงห์คู่นี้ และสร้างโรงสิงห์ (ศาลา) คลุมไว้
ในบันทึกของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ เมื่อมาเยี่ยมชมวัดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้กล่าวถึงราชสีห์นี้ว่า
พอเข้าไปในลานวัดก็ได้เห็นราชสีห์ 2 ตัว ยืนอยู่ในท่าเดิม คืออ้าปากกว้าง แลบลิ้นออกมาข้างนอก รูปนี้ทำด้วยอิฐและปูนทาสีแดง บางส่วนปิดทองและประดับกระจกสี มีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวราชสีห์นั้นไวเพื่อป้องกันไม่ให้ชำรุด แล้วเอาไปตั้งไว้ในศาลา
— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao
วิหารหลวง
แก้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2055 โดยพระเมืองแก้ว ต่อมาเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ได้ทำการบูรณะพระวิหาร จากหลักฐานภาพเก่า รูปทรงวิหารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปิดผนังโล่งแบบอาคารโถง (วิหารเปื๋อย) มีแนวผนังระเบียงก่ออิฐฉาบปูนเตี้ยๆ รับกับแนวชายคาด้านนอกสุด โครงสร้างหลังคาเป็นขื่อม้าตั่งไหม หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ลดชั้นซ้อนกัน 3 ชั้น ชายหลังคาอ่อนโค้งห่มคลุมลงมาค่อนข้างมาก หน้าบันแกะไม้ประดับลวดลายปูนปั้นในกรอบช่องลูกฟักแบบล้านนา ปลายป้านลมเป็นรูปตัวเหงา ตกแต่งด้วยการแกะสลักไม้ประดับกระจก ผนังวิหารด้านหลังพระประธานเป็นไม้ ปิดตั้งแต่หน้าจั่วลงมาถึงระดับแผงคอสอง รองรับด้วยเสาไม้กลมหรืออาจเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูนเขียนลายรดน้ำปิดทองลวดลายพรรณพฤกษา บริเวณขื่อ แป กลอน อกไก่ โครงสร้างไม้หลังคาทั้งหมดภายในอาคารเปิดเปลือย เครื่องไม้ทั้งหมดประดับลายคำน้ำแต้ม ส่วนฐานชุกชีรองรับพระพุทธรูปประธานอยู่ในผังสี่เหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูน มีร่องรอยประดับลวดลายพรรณพฤกษาลงรักปิดทอง แต่ไม่ปรากพระประธาน มีเพียงพระอันดับ 2 องค์ มีแท่นบูชาในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีธรรมาสน์ปราสาทสำหรับแสดงธรรม พื้นวิหารฉาบปูน
ในบันทึกของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ เมื่อมาเยี่ยมชมวัดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้กล่าวถึงวิหารหลวงว่า
สถานที่ที่หันหน้าตรงกับทางเข้าคือโบสถ์ (ความจริงคือวิหาร) เป็นตึกสร้างใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ มีพระหลายรูปกำลังช่วยกันทาสี ทาน้ำมัน ปิดทองทั้งด้านนอกด้านใน และฝังกระจกสีตามลวดลายที่แกะสลักไว้ตรงหน้าจั่ว โบสถ์นี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลังเว้นแต่พื้นซึ่งเป็นหิน และมีเสาไม้สักต้นใหญ่รับน้ำหนักหลังคาอันสูงลิ่วไว้ บนแท่นบูชามีพระพุทธรูปสำริดปางต่างๆ ทางด้านซ้ายของโบสถ์มีตึกหลังเล็กใช้เป็นที่เก็บพระธรรม
— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เกิดพายุพัดวิหารหลวงพังทลาย เป็นพายุที่เรียกว่าลมหลวงลำปาง เนื่องจากพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้วิหารหลวงพังทลาย ท่ามกลางซากปรักหักพังของพระพุทธรูปปูนปั้นและหล่อโลหะหลายองค์
พ.ศ. 2463 เจ้าจักรคําขจรศักดิ์ได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานการบูรณะซ่อมแซมวิหารหลวง ครูบาศรีวิชัยไม่ได้สร้างตามแบบเดิม แต่สร้างเป็นวิหารแบบปิดมีผนัง (วิหารมีป๋างเอก) สร้างบนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีการย่อเก็จ ผังพื้นขนาด 5 ห้อง มีการต่อพาไลออกมาจากผนังวิหารด้านนอก สามารถใช้เป็นลานประทักษิณได้ ซึ่งรับอิทธิพลมาจากแผนผังของอุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ และมีมุขระเบียงทางขึ้นทั้งทางด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ฐานล่างวิหารด้านนอกและพื้นทำด้วยหินขัด มีราวระเบียงลูกกรงเป็นทรายล้าง เสาวิหารด้านนอกเป็นเสาสี่เหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูนประดับด้วยปูนหล่อรูปเทพชุมนุม เปลี่ยนโครงสร้างอาคารจากเครื่องไม้มาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กในส่วนโครงสร้างหลักเพื่อความรวดเร็ว ได้ช่างฝีมือจากคุ้มหลวงเข้ามาร่วมทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างช่างพื้นบ้านกับช่างจากคุ้มหลวง คือยังใช้โครงสร้างแบบม้าต่างไหม แต่มีการเปลี่ยนในการลดชั้นหลังคาจากที่เคยชักชายปีกอ่อนช้อยลงต่ำให้แข็งตรงดูอ่อนโค้งน้อยลงเพื่อเน้นความมั่นคงแข็งแรง ฝ้าเพดานปิดทึบประดับลายฉลุปิดทองภาพเทพชุมนุม ผนังวิหารก่ออิฐฉาบปูนไปจนจรดขอบแป ผนังวิหารด้านในประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติ ด้านนอกเขียนภาพพุทธประวัติ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ตกแต่งหน้าบัน (หน้าแหนบ) เป็นแบบผนังหุ้มกลองแทนหน้าบันแบบขื่อม้าต่างไหม เนื่องจากรับอิทธิพลภาคกลาง ลวดลายในกรอบหน้าบันตกแต่งเต็มพื้นที่ ไม่มีการแบ่งช่องเป็นลูกฟัก มีลักษณะผสมผสานระหว่างลวดลายล้านนาเช่นลายสับปะรด ลายเครือเถา และลวดลายพรรณพฤกษา ผสมผสานกับลวดลายที่ได้อิทธิพลจากภาคกลาง เช่น ลายช้างไอยรา 3 เศียร ลายครุฑยุดนาค ลายเทพพนม ลายกระหนกช่อหางโต ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และมีการเพิ่มประดับลวดลายสัตว์ประจำปีเกิด คือเสือ (ขาล) ซึ่งเป็นสัตว์ประจำปีเกิดของครูบาศรีวิชัย วัสดุใช้กระจกแก้วจืนประดับ เสาภายในวิหารใช้เสาเหลี่ยมผสมเสากลม ประดับกระจกแก้วจืนเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบภาคกลาง บริเวณเสา ซุ้มประตู หน้าต่าง หน้าบัน คันทวย มีพัฒนาการในเรื่องเทคนิค โดยใช้วิธีการหล่อแบบพิมพ์ปูนเพื่อความรวดเร็วจากนั้นระบายสีปิดทองและประดับกระจก และได้สร้างพระประธานองค์กลางขนาดใหญ่ภายในวิหาร[18]
พ.ศ. 2525 มีการบูรณะครั้งใหญ่คราวบูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัยในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ซ่อมส่วนใดของวิหารหลวงบ้าง ปรากฏจารึกการเขียนภาพจิตรกรรมประดับผนังด้านหลังพระประธานว่าทำขึ้นใน พ.ศ. 2527 น่าจะเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในปัจจุบัน
วิหารพระพุทธ
แก้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยกล่าวว่าสร้างโดยพระเมืองเกษเกล้า โดยโปรดฯ ให้สร้างวิหารประจำทางทิศใต้ของพระธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ลงรักปิดทองสมัยล้านนา เรียกพระพุทธ จากหลักฐานภาพเก่า วิหารเดิมมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยล้านนา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นชั้นลดซ้อนกัน 2 ตับ มุงกระเบื้องดินขอ ด้านหน้าวิหารมีระเบียงเตี้ยๆ ฉาบปูน
ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างหลังคาขื่อม้าต่างไหม กรุเพดานปิดทึบ ตกแต่งลวดลายบนหน้าบันรูปพรรณพฤกษา มีรูปเสือสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ปีกนก 2 ข้าง ระเบียงมุขด้านหน้าล้อมรอบด้วยลูกกรงหล่อปูนระบายสี เป็นแผ่นฉลุลายคล้ายล้อกระเบื้องกังไสของจีน เสาวิหารด้านหน้าเป็นเสากลมฉาบปูนประดับปูนปั้นรูปหน้ากาลในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก เสาวิหารเป็นเสากลมฉาบปูนประดับกระจก พื้นด้านในปูกระเบื้องลายดอกซึ่งได้รับพระราชทานมาจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในภายหลัง ส่วนบนผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมสีน้ำพลาสติกเรื่องมโหสถชาดก ฝ้าเพดานปิดทองล่องชาด เขียนรูปนางมณีเมขลาและเทพชุมนุม ฐานชุกชี (แท่นแก้ว) ประดับกระจก ด้านหลังมีบันไดขนาดเล็ก 2 ข้าง วิหารพระพุทธได้รับการบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. 2501
วิหารพระเจ้าทันใจ
แก้ตั้งอยูทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตร สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราช เดิมมีพระเจ้าทันจิต เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อยู่คู่กันภายในวิหาร แต่ได้มีการเชิญไปประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 จากภาพเก่าเดิมมีสัญลักษณ์รูปเสือของครูบาศรีวิชัยอยู่ที่หน้าบัน ปัจจุบันยังมีรูปช้างเอราวัณ (เหลือเพียงเศียรเดียว) เนื่องจากมีการซ่อมแซมหลายครั้ง ฐานชุกชีกับกรอบซุ้มประดิษฐานพระเจ้าทันใจประดับด้วยกระจกสี ซุ้มประตูทางเข้าเป็นซุ้มนาคเกี้ยว 3 ชั้น ประดับปูนปั้นรูปดอกไม้
วิหารพระละโว้
แก้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระเจ้าละโว้ ซึ่งตำนานมุขปาฐะของวัดธงสัจจะเล่าว่าพระนางจามเทวีได้อัญเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรมาจากเมืองละโว้ 2 องค์ องค์เล็กประดิษฐานในวัดหลวง (คือวัดพระธาตุหริภุญชัย) แล้วอธิษฐานตุงให้กวัดแกว่งไปทั่วเมือง หากตุงไปติด ณ บริเวณใด จะโปรดฯ ให้สร้างวัดอีกแห่ง ณ บริเวณนั้น เมื่อเสี่ยงทายได้สถานที่แล้วจึงสร้างวัดตุงสัจจะ (วัดธงสัจจะ) พร้อมเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่ไปประดิษฐานในวิหารวัดธงสัจจะ
อย่างไรก็ตาม ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวว่า พ.ศ. 2334 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) เสนาอำมาตย์ สร้างหอยอ 4 ด้านของพระมหาธาตุ และสร้างพระเจ้าละโว้ ซึ่งคำว่าสร้างในที่นี้อาจหมายถึงบูรณะ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาโดยเฉพาะส่วนพระพักตร์ แต่พระวรกายมีลักษณะอวบอ้วนมากเป็นพิเศษ พระหัตถ์-พระบาทอูมนูนคล้ายมือเท้านก การครองจีวรห่มคลุมปิดอังสาทั้ง 2 ข้าง ตกแต่งด้วยวงโค้งหลายวงที่ตั้งใจทำเป็นริ้วผ้าบริเวณรอบวงพระพาหา พระกรและจีบชายสบงเช่นนี้เป็นที่นิยมมากในศิลปกรรมจีนสมัยราชวงศ์ถัง หากเชื่อตามตำนาน อาจมีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหม่ครอบทับองค์เก่าข้างใน
พ.ศ. 2340 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) ได้สร้างวิหารพระเจ้าละโว้ขึ้นใหม่
เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 ได้ทรงกล่าวว่าพบพระเจ้าละโว้ในเมืองลำพูน ทรงตั้งข้อสังเกตว่าพระละโว้องค์ที่เห็นเป็นพระที่สร้างขึ้นในชั้นหลัง อาจพอกทับองค์ข้างในหลายชั้น[19]
ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะวิหารพระละโว้ โดยใช้โครงสร้างเพดานคอนกรีตสมัยใหม่ด้วยเสาแท่งใหญ่ ถอดแม่พิมพ์รูปพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก ค้ำยันหลังคาตกแต่งด้วยรูปหนุมาน
หอธัมม์หลวง (หอพระไตรปิฎก)
แก้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย จารึกหริปุญชปุรีกล่าวว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2053 โดยพระเมืองแก้วกับพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา ทรงให้สร้างพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ พร้อมอรรถกถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้นเป็นคัมภีร์ 420 และพระพุทรูปทองคำ นำมาประดิษฐานในหอธัมม์ที่ทรงสร้างขึ้น ทรงให้เงินทุนเพื่อนำดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายซื้อหมากเหมี้ยงและข้าวบูชาพระธรรม ทรงให้ภาษีนาปีละ 2,000,000 เบี้ยเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ดูแลหอธัมม์ ทรงถวายข้าคน 12 ครอบครัว เพื่อปฏิบัติรักษาหอธัมม์และพระไตรปิฎก ทรงห้ามใช้คนเหล่านี้ทำงานอื่น ตอนท้ายขอบุญกุศลให้พระองค์เจริญด้วยโภคสมบัติ มีความแตกฉานในอรรถธรรม ที่สุดให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง และอุทิศกุศลส่วนหนึ่งให้พระบิดา อัยกา อัยกี อินทร์ พรหม และเทวดาอารักษ์แห่งเมืองหริภุญชัยให้รักษาพระพุทธศาสนาในสถานที่นี้สืบไป[20]
หอธัมม์หลวงเป็นอาคารทรงสูงสองชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดสูง ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ 2 ชั้น มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตลอดทั้งหลังแกะลวดลายฉลุไม้ปิดทองประดับกระจก หลังคาทำลดชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ บนสันหลังคาประดับด้วยบราลี (ปราสาทเฟื้อง) หลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะคล้ายแผ่นดีบุก หน้าบันแกะสลักลวดลายภายในช่องตารางหน้าจั่วแบบขื่อม้าต่างไหม ภายในแกะสลักเป็นรูปหน้ากาล บานทวารแกะสลักเป็นเทวดายืนแท่นถือพระขรรค์ ภายในช่องลูกฟักใต้บานหน้าต่างรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ ตกแต่งผนังอาคารด้วยลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บันไดแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจากพื้นดินสู่ฐานเขียง มีประตูทางเข้าทางเดียว จากนั้นไม่ปรากฏบันได บันไดช่วงที่ 2 ทำเป็นบันไดนาคเล็กๆ จากอาคารปูนสู่อาคารไม้ชั้นบน สันนิษฐานว่าหอธัมม์องค์ปัจจุบันน่าจะได้รับการบูรณะสมัยพระเจ้ากาวิละมาฟื้นฟูเมืองลำพูน และเป็นต้นแบบให้แก่หอธัมม์วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ มีการนำสิงโตจีนคาบแก้วด้วยหินอับเฉามาประดับที่หัวเสาบันไดชั้นล่าง ยุคครูบาศรีวิชัยมีการนำรูปตัวมอมมาประดับไว้ที่ผนังด้านข้างบันได
เขาพระสุเมรุจำลอง
แก้ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย เชื่อว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัย จากร่องรอยของฐานศิลาแลงเตี้ยๆ ที่จมฝังในพื้นคอนกรีต อย่างน้อยสุด ก็มีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า
๏ พระเมรุนวยเนื้อครอบ | เรียมทุกข์ | |
เหมือนเมื่อทำกิตติยุค | ชวดช้าย | |
เจ็ดเขาคันแลงลุก | แดเดือด ตางเอ่ | |
ถมออาสน์อินทร์คล่อมคล้าย | คอบเข้าถูถนอม | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
เขาพระสุเมรุจำลองตั้งอยู่บนพื้นดินไม่มีฐานรองรับ ส่วนล่างก่ออิฐถือปูนเป็นทรงกลมระบายสีชาดแดง ส่วนนี้คือเขาตรีกูฏ ด้านบนหล่อด้วยทองสำริดลดหลั่นขึ้นไปเป็นเขาวงกต 7 ชั้น ลักษณะของการหล่อเป็นการหล่อทีละชิ้นและนำมาประกอบกันภายหลัง ส่วนนี้คือเขาสัตตบริภัณฑ์ ระหว่างเขาแต่ละชั้นนั้นมีเกษียรสมุทรคั่นสลับ แกะสลักเป็นรูปป่าไม้ สัตว์ เทวดา และอสูร ส่วนยอดบนสุดเป็นปราสาทหล่อสำริดปิดทองขนาดเล็ก มีรูปทรงคล้ายโคมปราสาทสำริด แต่ละด้านมีซุ้มประตูโขงเปิดโล่งถึงกันหมด แทนไพชยนต์มหาปราสาทของพระอินทร์
รศ. ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะของเทวดาที่ประดับในกรอบสามเหลี่ยมตามขนดนาคเขาสัตตบริภัณธ์นั้น พระพักตร์ เครื่องประดับ และเครื่องทรงภูษาภรณ์มีรายละเอียดทางศิลปกรรมละม้ายศิลปะขอมโบราณก่อนสมัยนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ร่วมสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ขณะที่ ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เห็นว่าลวดลายที่คล้ายขอมนั้นอาจเป็นการลอกเลียนแบบขึ้นมาใหม่ในยุคหลังประมาณต้นรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้ และมีข้อสังเกตว่าลวดลายศิลปกรรมของสัตตบริภัณฑ์มีฝีมือคล้ายคลึงกับลายประดับกราบเรือสำเภารูปสัตว์หิมพานต์ที่ประดับริมรั้วสัตติบัญชร อาจเป็นงานศิลปกรรมสกุลช่างเดียวกันก็ได้
หอกังสดาล
แก้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระแก้วขาว ซึ่งเป็นอาคารทรงมณฑป เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระเสตังคมณีก่อนถูกอัญเชิญไปยังเชียงใหม่ เมื่อชาวบ้านรื้อที่เก็บกังสดาลและหอพระแก้วขาว ได้พบพระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนาหลายองค์ เมื่อนำมาขัดทำความสะอาดแล้วเหมือนนาก ชาวบ้านจึงเรียกหอพระว่าหอพระนาก (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) ส่วนกังสดาลเดิมแขวนอยู่ข้างหน้าหอพระแก้วขาว มีจารึกว่าสร้างหล่อเมื่อ พ.ศ. 2403 โดยครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรกับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ หล่อที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ และนำมาถวายบูชาพระธาตุหริภุญชัย[21]
พ.ศ. 2481 พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (ครูบาคำฟู เตโช) ได้รื้อหอพระแก้วขาวหรือหอพระนาก สร้างเป็นหอกังสดาลมีรูปแบบปัจจุบัน ใช้เงิน 180 รูปี เป็นอาคารโล่ง สูง 2 ชั้น มีทางขึ้นหันสู่ทิศตะวันตก ชั้นบนแขวนระฆังที่หล่อสมัยเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ชั้นล่างแขวนกังสดาล หอกังสดาลแห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของพระธาตุหริภุญชัย
วิหารพระบาท 4 รอย
แก้ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ สร้างโดยครูบาศรีวิชัย เป็นวิหารโถงขนาดย่อม หน้าบันแกะสลักไม้ระบายสีทองบนพื้นหลังกระจกจืน เป็นรูปเทพนมอยู่ตอนกลาง ท่านกลางลายพรรณพฤกษา ช่อกระหนกหางโต มีหนุมาน (หรมาร) 4 ตัว ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่จำลองมาจากพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
วิหารพระเจ้ากลักเกลือ (พระเจ้าบอกเกลือ, พระเจ้าแดง)
แก้สร้างตามตำนานที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันหมากสมอ ณ ที่นี้ โดยทิ้งกลักเกลือ ณ บริเวณที่ตั้งวิหารนี้ สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า
๏ มนดกเจ้าบ่ | เกื้อกอย กว่าเอ่ | |
สูงใหญ่หย้องเองพอย | เพื่อนหน้า | |
เทียนทุงคู่คบสอย | วอยแว่น เวนเอ่ | |
ผลเผื่อเร็วอย่าช้า | ชาตินี้เนอมุนี | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
ในโคลงกล่าวว่าเป็นมณฑป แต่ปัจจุบันกลายเป็นวิหาร หลังคาวิหารมีการชักชายหลังคาห่มคลุมแบบปีกนกอันเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ผิดแปลกจากวิหารล้านนาทั่วไป ภายในประดิษฐานพระเจ้ากลักเกลือหรือพระเจ้าบอกเกลือ ประทับนั่งปางมารวิชัย เนื่องจากองค์พระระบายสีชาดจึงนิยมเรียกว่าพระเจ้าแดง ผนังเขียนภาพจอมเจดีย์ทั้ง 8 แห่ง ขณะที่ทำการบูรณะพบเม็ดพระศกพระพุทรูปขนาดมหึมาร่วงหล่นหลายชิ้น
วิหารพระไสยาสน์
แก้ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพานในท่าตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาวางแปไม่แนบพระพักตร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า
๏ นบพระไสยาสน์เยื้อน | ปฏิมา | |
วงแวดฝูงขีณา | ใฝ่เฝ้า | |
พระพุทธเปลี่ยนอิริยา | ขูโนส บารา | |
เทียนคู่เคนพระเจ้า | จุ่งได้ปัจจุบัน | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธไสยาสน์ ส่วนพระอรหันต์ล้อมเฝ้าอยู่เป็นวงตามที่กล่าวในโคลงได้หายไป
วิหารพระเจ้าพันตน
แก้ตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก วิหารเป็นทรงอุดทึบแบบมหาอุตม์ มีประตูหน้าต่างเข้าด้านหน้าด้านเดียว เป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูปจำนวนมหาศาลที่ญาติโยมนำมาถวายสักการะพระธาตุ ในช่วงบูรณะเมื่อเปิดประตูมาก็พบพระพุทธรูปเบียดเสียดแน่นขนัด แทบไม่พอบรรจุ พบแม้กระทั่งบริเวณขื่อใต้ชั้นหลังคาทุกซอกทุกมุม สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า
๏ ชินพิมเพาโพธเพี้ยง | พอพัน | |
สองฝ่ายหนเหนือสัน | ฝ่ายใต้ | |
ลาชาแผ่ผายผัน | ผลเผื่อ อวรเอ่ | |
ผลเผื่อเถิงเจ้าได้ | แด่เท้อะทิโพชา | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
สุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์)
แก้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ ชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานมูลศาสนากล่าวว่า พระนางปทุมวดี มเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นภายหลังจากพระเจ้าอาทิตยราชสร้างพระธาตุหริภุญชัยได้ 4 ปี ชาวลำพูนเรียก พระธาตุเหลี่ยม ธาตุเหลี่ยม กล่าวว่าเดิมมีฟ้อนสมโภชในเดือน 4 เหนือ เวลาหลังเก็บเกี่ยวทุกปี แต่ปัจจุบันพิธีนี้ได้สูญหายไป
สุวรณเจดีย์มีรูปทรงลอกแบบมาจากเจดีย์สุวรรณจังโกฏ (กู่กุด) ที่วัดจามเทวี แต่ทรวดทรงสูงเพรียวกว่า ฐานกว้างประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 14 เมตร สร้างด้วยอิฐและศิลาแลงในผังทรงสี่เหลี่ยมซ้อนเหลื่อมกัน 5 ชั้น มีสถูปจำลองที่มุมของเรือนธาตุแต่ละชั้น รายละเอียดหลุดหายไป เรือนธาตุแต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำด้านละ 3 ซุ้ม ชั้นละ 12 ซุ้ม รวมทั้งสิ้น 60 ซุ้ม คูหาซุ้มก่อเป็นสันเหลื่อมตกแต่งเป็นซุ้มหยักคดโค้งสามวง มีบ่าสองข้างมองโดยรวมคล้ายวงโค้งห้าวง ปลายกรอบซุ้มม้วนออกคล้ายตัวเหงา ภายในซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ศิลปะหริภุญชัย ทำด้วยปูนปั้นมีแกนเป็นอิฐ พบร่องรอยการลงรักปิดทองและการบูรณะใหม่ด้วยการพอกปูนปั้นทับในยุคหลัง มีการพยายามแก้ไขพระพักตร์จากรูปสี่เหลี่ยมให้เป็นวงรูปไข่แบบล้านนา แต่ยังพบร่องรอยการทำพระขนงเป็นสันนูนต่อกัน พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระนาสิกแบบใหญ่ พระโอษฐ์หนากว้าง มีไรพระมัสสุ ไรพระศกเป็นแถบเล็กๆ เหนือพระนลาฏมีอูรณากลม เม็ดพระศกขมวดแหลมสูงขนาดเล็ก มีอุษณียะเป็นกรวยเรียบๆ ห่มจีวรคลุมบางเรียบแนบองค์เห็นสายรัดประคด ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบหริภุญชัย ปัจจุบันเหลือพระพุทธรูปปางประทานอภัยเพียงไม่กี่ซุ้ม ส่วนยอดของเจดีย์ทำเป็นกลีบบัวกลุ่มประดับเกสรบัวซ้อนชั้นกันขึ้นไปหลายชั้นสลับกับปล้องไฉนในรูปสี่เหลี่ยม บัวกลุ่มทำด้วยปูนปั้นหุ้มแผ่นทองจังโก ส่วนปลียอดปลายสุดทำเป็นกรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไปในผังสี่เหลี่ยมหุ้มทองจังโก
สุวรรณเจดีย์ถูกเปิดกรุถึงสามครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2474 พระครูบาธรรมวิชัยได้เปิดกรุอย่างเป็นทางการ พบพระเปิมหลายพันองค์ ทางวัดให้เช่าบูชาเพื่อนำเงินมาสมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุและศาลาบาตร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้เปิดกรุโดยขุดฐานพระเจดีย์ลึกเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางและลึกลงไปถึงรากฐานระดับ 1.5 เมตร จนพบโพรงอุโมงค์ที่ถูกอิฐเก่าทับซ้อนหลายชั้น ได้พระเปิมมา 3-4 ตะกร้า จำนวนหลายพันองค์ แจกจ่ายให้หน่วยทหารที่ประจำในจังหวัดลำพูนทั่วทุกคน ที่เหลือได้เอาไปฝังกรุไว้ตามเดิม ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2496 ถูกลักลอบขุดโดยมิจฉาชีพ เชื่อว่าการเปิดกรุทั้ง 3 ครั้งเป็นการนำมาซึ่งการทรุดตัวของพระเจดีย์และการลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปในซุ้มจระนำ
บริเวณเชิงฐานเขียงของสุวรณเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินทราย 3 องค์ ที่ย้ายมาจากวัดดอนแก้ว แม้จะถูกพอกปูนทับแต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างทรวดทรงแล้วพบว่าเป็นฝีมือช่างหริภุญชัยที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยคุปตะ คือประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีชายผ้าทิพย์เป็นรูปครึ่งวงกลม ครองจีวรห่มคลุมบางเรียบแนบลำพระองค์แลเห็นปล้องพระศอ พระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยมแต่ค่อนข้างอูมมน ไม่ปรากฏไรพระศพเหนือพระนลาฏ เม็ดพระศกกลมโตไม่แหลมสูงแบบหริภุญชัยยุคหลัง บางองค์มีแผ่นหลังเป็นกรอบรูปสามเหลี่ยมปลายมน องค์ใหญ่และองค์กลางมีจารึกอักษรล้านนาว่า "เจ้าคุณพระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และเจ้าน้อยประพันธ์ กาญจนกามล เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 50 รูปมาบำเพ็ญปริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2474" ส่วนองค์ย่อมมีคำจารึกว่า "เจ้าคุณพระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 25 รูปบำเพ็ญปริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์สำเร็จและฉลองเมื่อ 29 ธันวาคม 2483"
เจดีย์เชียงยัน (เจดีย์แม่ครัว)
แก้ตั้งอยู่นอกเขตพุทธาวาส ทางทิศเหนือของพระธาตุหริภุญชัย บริเวณคณะเชียงยัน (วัดเชียงยัน) มีตำนานว่าสมัยหริภุญชัยบริเวณนี้เป็นเขตปฏิบัติธรรมของภิกษุณีและอุบาสิกา ที่มาช่วยทำครัวเลี้ยงคณะศรัทธาขณะก่อสร้างพระธาตุหริภุญชัยกับสุวรรณเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จพวกแม่ครัวจึงนำเศษอิฐและวัสดุที่เหลือมาสร้างเจดีย์เชียงยัน จึงมีอีกชื่อว่าเจดีย์แม่ครัว ยังมีสระล้างครัวอยู่หน้าอุโบสถและอุโบสถภิกษุณีเป็นหลักฐานยืนยัน
รูปแบบของเจดีย์เชียงยัน ถือว่าเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอดที่แพร่ไปทั่วล้านนา ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงบนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 5 ชั้น รองรับด้วยฐานปัทม์คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ผนังย่อเก็จตกแต่งด้วยลายบัวคอเสื้อ ประจำยามอก กาบบัวเชิงล่าง ล้อมกรอบในเส้นลวด ซึ่งเป็นงานซ่อมสมัยพระเจ้าติโลกราช ตกแต่งด้วยจระนำซุ้มลดทั้ง 4 ด้าน ประดับลายมกรคายนาคที่กรอบซุ้มจระนำ เคยประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนแบบหุ้มแผลง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอย หลังคาเรือนธาตุเป็นฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น แบบบัวถลารองรับบัวกลุ่มในตำแหน่งของบัวปากระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์จำลองทรงสี่เหลี่ยมตรงมุมทั้งสี่และองค์ระฆังทรงกลม มีการทรงเครื่องด้วยลายประจำยามรัดอกทำด้วยปูนปั้น เป็นรูปลายดอกไม้ 4 กลีบในกรอบขนมเปียกปูน เป็นลักษณะที่นิยมทำมาในศิลปกรรมพุกาม ส่วนลายปูนปั้นประดับที่ฐานองค์ระฆังและเหนือองค์ระฆังขึ้นไปยอดทำเป็นลายบัวกลุ่มชนิดบัวจงกลแบบหริภุญชัยกับหม้ออามลกะ พบร่องรอบการบุทองจังโก ไม่มีการทำบัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอด
พ.ศ. 2548 กรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) ได้ทำการขุดค้นศึกษาชั้นดินใต้รากฐานเจดีย์เชียงยันด้านทิศตะวันตก ขุดลึกประมาณ 3 เมตร หลุมกว้างยาว 3 x 5 เมตร พบฐานชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลง มีเศษภาชนะดินเผาสมัยหริภุญชัยปะปนกับเศษกระดูกสัตว์ประเภทเปลือกหอยขม ก้างปลา กำหนดอายุจากชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาว่าเจดีย์เชียงยันน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัยตอนปลาย และบูรณะครั้งใหญ่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20
พ.ศ. 2550 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์เชียงยัน ได้ขุดตรวจฐานรากโดยรอบ ด้านทิศเหนือลึกลงไปประมาณ 1 เมตร พบกลุ่มประติมากรรมสำริดหลายชิ้น อาทิ เทวดาประณมกร รูปฤๅษีถือหอยสังข์ พระพุทธรูปปางประสูติยืนยกมือชี้ฟ้าดิน (ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหารหลวง) รูปบุคคลไว้เคราสวมเสื้อคล้ายชาวจีนแต่นุ่งผ้าคล้ายเขมรถือตะเกียง ฯลฯ และพบใบหอกห่ออยู๋ในแผ่นจืนดิบ (ตะกั่ว) ประติมากรรมเหล่านี้กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงบูรณะเจดีย์เชียงยันในสมัยล้านนา
อุโบสถ
แก้ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก บริเวณคณะเชียงยัน (วัดเชียงยัน) เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ มีมุขยื่นด้านหน้า หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น มีระเบียงพาไลด้านเหนือ-ใต้ หน้าบันแกะสลักไม้บนพื้นหลังกระจกจืน แกะเป็นรูปช้างเอราวัณใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและลายพรรณพฤกษา ค้ำยันรูปหนุมาน (หรมาน) สู้กัน ซึ่งเป็นรูปแบบการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ภายในมีโขงพระเจ้าประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยสำริดลงรักปิดทอง สร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราช-พญายอดเชียงราย เดิมประดิษฐานอยู่วัดหนองหนาม ต. บ้านแป้น อ. เมือง จ. ลำพูน ซึ่งเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานในอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัยจนถึงปัจจุบัน อุโบสถนี้ใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ในเขตตำบลในเมืองทั้งหมดช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษา
วิหารพระมหากัจจายนะ (พระปุ๋มผญา)
แก้ตั้งอยู่นอกกำแพงวัด บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) หน้าบันแกะสลักไม้เป็นรูปลายสับปะรด อันเป็นผลงานการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานรูปพระมหากัจจายนะ (พระปุ๋มผญา) สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า
๏ นาภีสมสวดสร้าง | กระจาย | |
ปูอาสน์อิงเขนยหลาย | ลูกซ้อน | |
เทียนทุงพี่ถือถวาย | เคนคู่ องค์เอ่ | |
ก็เท่าทิพเจ้าจ้อน | เอกอ้างปณิธา | |
— โคลงนิราศหริภุญชัย |
อุโบสถภิกษุณี
แก้ตั้งอยู่นอกกำแพงวัด บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) ระหว่างวิหารพระมหากัจจายนะกับมณฑปพระอัฏฐารส ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะระหว่าง พ.ศ. 2473-2475 เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตกแต่งลวดลายบนหน้าบันรูปพรรณพฤกษา หน้ากาล นาคเกี่ยวกระหวัด มีรูปเสือสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ปีกนก 2 ข้าง ระเบียงมุขด้านหน้าล้อมรอบด้วยลูกกรงหล่อปูนระบายสี เป็นแผ่นฉลุลายคล้ายล้อกระเบื้องกังไสของจีน เสาวิหารด้านหน้าเป็นเสากลมฉาบปูนประดับปูนปั้นรูปหน้ากาลในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก ซุ้มประตูแบบบันแถลงซ้อนกัน 2 ชั้น มีหน้ากาลที่ยอดซุ้มและเทพนมตอนกลาง บานประตูเขียนรูปเทวดารดน้ำปิดทอง สิ้นเงิน 6,389 รูเปีย 46 สตางค์
มณฑปพระอัฏฐารส
แก้ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) ก่อเป็นทรงมณฑป ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาสูงซ้อนกัน 3 ชั้น ผลงานการบูรณะของครูฐาศรีวิชัย ภายในประดิษฐานพระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน สูง 18 ศอก เดิมเป็นพระพุทธรูปประทับยืนสูง 18 ศอก หุ้มด้วยทองคำเปลวเปล่งปลั่ง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางวัดเกรงจะมีคนมาลักลอบขโมยทองจากพระอัฏฐารสจึงนำปูนหุ้มพอกทับองค์เดิมข้างใน เปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแทน[22]
วิหารสะดือเมือง
แก้ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณคณะสะดือเมือง (วัดสะดือเมือง) ภายในวิหารประดิษฐานเสาสะดือเมืองลำพูนแลพระพุทธรูปศิลปะล้านนาประทับนั่งปางมารวิชัย 3 องค์
วิหารพระไสยาสน์
แก้ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณคณะหลวง (วัดหลวง) ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย
แก้ตั้งอยู่บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งและที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชนกูลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เพื่อคุ้มครองรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติในมณฑลพายัพไม่ให้สูญหาย ครั้งแรกใช้สถานที่บริเวณศาลบาตรมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุและศาลาอีกหลังหนึ่งตรงมุมเดียวกัน เรียกว่า ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน อยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุหริภุญชัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัด จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานนี้และประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
เมื่อกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัยในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2517 แล้วขนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาคและโบราณวัตถุที่ขนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาและจัดแสดงที่วัดพระธาตุหริภุญชัย คือ พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว และอาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ภายในวิหารคต ทั้งหมดของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และ เล่มที่ 96 ตอนที่ 185 ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2522
รายนามเจ้าอาวาส
แก้ลำดับที่ | รายนาม | ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.) |
---|---|---|
1. | พระมหาราชโมฬีสารีบุตร | - |
2. | พระราชโมฬี | - |
3. | พระคัมภีร์ คมฺภีโร | - |
4. | พระวิมลญาณมุนี (สุดใจ) | 2476 - 2486 |
5. | พระครูจักษุธรรมประจิตร (ตา) | 2486 - 2489 |
6. | พระสุเมธมังคลาจารย์ (อมร อมรปญฺโญ) ป.ธ.7 | 2489 - 2533 |
7. | พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ไพบูลย์ ภูริวิปุโล) | 2533 - 2556 |
8. | พระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ) ป.ธ.7 | 2556 - ปัจจุบัน |
รายนามพระราชาคณะวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร (อดีต-ปัจจุบัน)
แก้- พระสุเมธมังคลาจารย์ (อมร อมรปญฺโญ, ปธ.๗) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗
- พระเทพญาณเวที (สุเธียร อคฺคปญฺโญ, ปธ.๔) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗
- พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ไพบูลย์ ภูริวิปุโล) อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน
- พระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ, ปธ.๗) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ,เจ้าคณะจังหวัดลำพูน
- พระศรีธรรมโสภณ (บุญโชติ ปุญฺญโชติ, ปธ.๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง, รองเจ้าคณะจังหวัดลำพูน
คณะ
แก้- คณะหลวง ทิศตะวันออกเฉียงใต้
- คณะเชียงยัน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
- คณะอัฏฐารส ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
- คณะสะดือเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้
อาณาเขตติดต่อ
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง ยกวัดราษฎรเป็นพระอารามหลวง, เล่ม 55, ตอน 0 ง, 8 สิงหาคม 2481, หน้า 1476
- ↑ ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒, หน้า 246
- ↑ ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
- ↑ พระโพธิรังสี . จามเทวีวงษ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย . พิมพ์แจกในการพระกุศลสมโภชพระอัฐิพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ 24 มิถุนายน 2473
- ↑ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม.(2538).ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.
- ↑ พระพุทธกามและพระพุทธญาณ. ตำนานมูลศาสนา. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ 17 ธันวาคม 2518.
- ↑ พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นายกี นิมมาเหมินทร์) 2510.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-13. สืบค้นเมื่อ 2021-07-13.
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2074
- ↑ https://www.matichonweekly.com/column/article_73951
- ↑ สิงฆะ วรรณสัย แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับเดิมที่แต่งไว้เป็นภาษาล้านนาปี พ.ศ. 2109. ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย. ลำพูน : เอกสารโรเนียวแจก, 2515.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. พินิจหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา. เชียงใหม่ : ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559.
- ↑ กรมศิลปากร. พระธาตุหริภุญไชย. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, 2553. ISBN 978-974-417-255-6
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2027
- ↑ กรมศิลปากร. พระธาตุหริภุญไชย. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, 2553. ISBN 978-974-417-255-6
- ↑ เสถียร พันธรังสี และ อัมพร ทีขะระ แปล. ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (เรียบเรียงจาก Temples and elephants ของ Carl Bock). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562
- ↑ เสถียร พันธรังสี และ อัมพร ทีขะระ แปล. ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (เรียบเรียงจาก Temples and elephants ของ Carl Bock). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562
- ↑ สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๒ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. ISBN 978-616-93082-0-1
- ↑ ดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธเจดีย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2074
- ↑ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2023
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-15. สืบค้นเมื่อ 2021-07-15.
- บรรณานุกรม
- กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548. 622 หน้า. หน้า 313-314.