พระยานครราชสีมา (ขำ ณ ราชสีมา)

พระยานครราชสีมา นามเดิมว่า ขำ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำรงตำแหน่งเป็น พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา ผู้รักษากรุงเก่าอยุธยาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่ทัพในสงครามอานัมสยามยุทธ

พระยานครราชสีมา
(ขำ ณ ราชสีมา)
เจ้าเมืองนครราชสีมา
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2394 – ?
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)
ถัดไปพระยานครราชสีมา (แก้ว สิงหเสนี)
ข้อมูลส่วนบุคคล
บุพการี

พระยานครราชสีมา หรือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (ขำ) เป็นบุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)[1] มารดาไม่ปรากฏชัดเจน อาจจะคือท่านผู้หญิงบุนนาค ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) และเป็นน้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) พระยานครราชสีมา (ขำ) มีพี่น้องร่วมมารดาและต่างมารดารวมกันทั้งสิ้น 50 คน[1] ยกตัวอย่างเช่น นายศัลวิชัยหุ้มแพร (ทองคำ) พระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา) พระยามหาณรงค์ (พลาย มหาณรงค์ ณ ราชสีมา) พระยาสุริยเดช (คง ณ ราชสีมา) พระยาสุริยเดช (โสฬส อินทโสฬส ณ ราชสีมา) ฯลฯ[1]

พระยานครราชสีมา (ขำ) ปรากฏครั้งแรกรับราชการในตำแหน่งพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ในสงครามอานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระมหาเทพ (ป้อม อมาตยกุล) และพระราชวรินทร์ (ขำ) ยกทัพไปทางภาคอีสานเพื่อไปโจมตีอาณาจักรเมืองพวนและเมืองล่าน้ำหรือจังหวัดเหงะอานของเวียดนาม[2] พระราชวรินทร์ (ขำ) ยกทัพไปถึงเมืองหนองคาย พระราชวรินทร์และพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายยกทัพจากหนองคายไปยังเมืองพวน ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมเจ้าสานเมืองพวนให้หันมาเข้ากับฝ่ายสยาม เจ้าสานเมืองพวนยินยอมมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยาม และให้การต้อนรับพระราชวรินทร์ซึ่งยกทัพเข้าครองเมืองพวนได้โดยสวัสดิภาพ[2]

ต่อมาพระราชวรินทร์ (ขำ) ได้เลื่อนเป็นพระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา จากนั้นในปีพ.ศ. 2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ) ไปสำรวจสำมะโนประชากรทำบัญชีเลกไพร่พลที่หัวเมืองลาวภาคอีสานและเขมรป่าดง พระพิเรนทรเทพ (ขำ) รับผิดชอบเดินทางไปทำบัญชีไพร่พลเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง และเมืองปากเหือง[2]

พระยานครราชสีมา (ขำ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระพิเรนทรเทพ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่โพธิ์สามต้น ต่อมาได้รับชื่อว่าวัดใหม่พิเรนทร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่

ในพ.ศ. 2383 บรรดาเจ้าเมืองกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนามราชวงศ์เหงียนนั้น ก่อกบฏลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของญวน เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ) ติดตามเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ไปในการยกทัพเข้าโจมตีเมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มอบหมายให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ) และพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) ยกทัพจากเมืองพระตะบองเข้าตีเมืองโพธิสัตว์[2] ในเวลานั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ผู้เป็นบิดาของพระพิเรนทรเทพ (ขำ) ล้มป่วยลง เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2388 พระพิเรนทรเทพ (ขำ) และญาติพี่น้องได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่โพธิ์สามต้นในพ.ศ. 2384 ซึ่งต่อมาวัดนี้ได้รับชื่อว่าวัดใหม่พิเรนทร์

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พระพิเรนทรเทพ (ขำ) ได้เลื่อนเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชสุรชาติเสนาบดี[3] ผู้รักษากรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2394 ทรงแต่งตั้งพระยาไชยวิชิตฯ (ขำ) ขึ้นเป็นพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 จดหมายเหตุนครราชราชสีมา. กรมศิลปากร, พ.ศ. 2497
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  3. ทำเนียบผู้ว่าราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. Link
  4. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค) ณวัดประยูรวงศาวาส. พระนคร ท่าพระจันทร์:โรงพิมพ์พระจันทร์. วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗.