จังหวัดหนองคาย

จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก หนองคาย)

หนองคาย เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดเลย และยังมีชายแดนติดต่อกับแขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซของประเทศลาว จังหวัดหนองคายมีพื้นที่แคบแต่ยาว และมีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการชมบั้งไฟพญานาคในเทศกาลวันออกพรรษา

จังหวัดหนองคาย
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันChangwat Nong Khai
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
คำขวัญ: 
วีรกรรมปราบฮ่อ หลวงพ่อพระใส สะพานไทย-ลาว[1]
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดหนองคายเน้นสีแดงประเทศมาเลเซียประเทศพม่าประเทศลาวประเทศเวียดนามประเทศกัมพูชาจังหวัดนราธิวาสจังหวัดยะลาจังหวัดปัตตานีจังหวัดสงขลาจังหวัดสตูลจังหวัดตรังจังหวัดพัทลุงจังหวัดกระบี่จังหวัดภูเก็ตจังหวัดพังงาจังหวัดนครศรีธรรมราชจังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดระนองจังหวัดชุมพรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จังหวัดเพชรบุรีจังหวัดราชบุรีจังหวัดสมุทรสงครามจังหวัดสมุทรสาครกรุงเทพมหานครจังหวัดสมุทรปราการจังหวัดฉะเชิงเทราจังหวัดชลบุรีจังหวัดระยองจังหวัดจันทบุรีจังหวัดตราดจังหวัดสระแก้วจังหวัดปราจีนบุรีจังหวัดนครนายกจังหวัดปทุมธานีจังหวัดนนทบุรีจังหวัดนครปฐมจังหวัดกาญจนบุรีจังหวัดสุพรรณบุรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจังหวัดอ่างทองจังหวัดสิงห์บุรีจังหวัดสระบุรีจังหวัดลพบุรีจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดสุรินทร์จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดอุบลราชธานีจังหวัดอุทัยธานีจังหวัดชัยนาทจังหวัดอำนาจเจริญจังหวัดยโสธรจังหวัดร้อยเอ็ดจังหวัดมหาสารคามจังหวัดขอนแก่นจังหวัดชัยภูมิจังหวัดเพชรบูรณ์จังหวัดนครสวรรค์จังหวัดพิจิตรจังหวัดกำแพงเพชรจังหวัดตากจังหวัดมุกดาหารจังหวัดกาฬสินธุ์จังหวัดเลยจังหวัดหนองบัวลำภูจังหวัดหนองคายจังหวัดอุดรธานีจังหวัดบึงกาฬจังหวัดสกลนครจังหวัดนครพนมจังหวัดพิษณุโลกจังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดสุโขทัยจังหวัดน่านจังหวัดพะเยาจังหวัดแพร่จังหวัดเชียงรายจังหวัดลำปางจังหวัดลำพูนจังหวัดเชียงใหม่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดหนองคายเน้นสีแดง
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดหนองคายเน้นสีแดง
ประเทศ ไทย
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการ สมภพ สมิตะสิริ[2]
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2567)
พื้นที่[3]
 • ทั้งหมด3,027.280 ตร.กม. (1,168.839 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่อันดับที่ 61
ประชากร
 (พ.ศ. 2566)[4]
 • ทั้งหมด514,021 คน
 • อันดับอันดับที่ 51
 • ความหนาแน่น169.79 คน/ตร.กม. (439.8 คน/ตร.ไมล์)
 • อันดับความหนาแน่นอันดับที่ 20
รหัส ISO 3166TH-43
ชื่อไทยอื่น ๆหนองค่าย, บ้านไผ่, หนองหมากคาย
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
 • ต้นไม้ชิงชัน
 • ดอกไม้ชิงชัน
 • สัตว์น้ำปลายี่สก
ศาลากลางจังหวัด
 • ที่ตั้งภายในศูนย์ราชการจังหวัดหนองคาย ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 43000
 • โทรศัพท์0 4241 2678
เว็บไซต์http://www.nongkhai.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ประวัติศาสตร์

แก้
 
การแสดง แสง เสียง สงครามปราบฮ่อในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
 
กองทัพสยามขณะปราบฮ่อ พ.ศ. 2418

เมืองหนองคายมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารล้านช้างตลอดยุคสมัย ดังเช่นปรากฏเป็นชื่อเมืองเวียงคุก เมืองปะโค เมืองปากห้วยหลวง (อำเภอโพนพิสัยในปัจจุบัน) และนอกจากนี้ยังปรากฏในศิลาจารึกจำนวนมากที่กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ได้สร้างไว้ในบริเวณจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะเมืองปากห้วยหลวงเป็นเมืองลูกหลวง นอกจากนี้ในรัชสมัยพระเจ้าวรรัตนธรรมประโชติฯ พระราชโอรสในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดมุจลินทรอารามอยู่ที่เมืองห้วยหลวง และยังพบจารึกที่วัดจอมมณี ลงศักราช พ.ศ. 2098 จารึกวัดศรีเมือง พ.ศ. 2109 จารึกวัดศรีบุญเรือง พ.ศ. 2151 เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอิทธิพลล้านช้างจำนวนมาก เช่น พระธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะพระธาตุบังพวน สร้างก่อน พ.ศ. 2106 จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา (อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) ลงศักราช พ.ศ. 2106 กล่าวถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้อุทิศข้าทาสและที่ดินแก่วัดถ้ำสุวรรณคูหา และได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่พระธาตุบังพวนอีกด้วย และบริเวณที่ตั้งเมืองหนองคายหรือจังหวัดหนองคาย ในยุคก่อนจะตั้งเมืองหนองคายขึ้น แต่เดิม บริเวณพื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ นามว่า บ้านไผ่หรือบ้านหนองไผ่ ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่นักและขึ้นตรงกับนครหลวงเวียงจันทน์

ต่อมาจะกล่าวถึงที่มาของดินแดนแถบนี้ที่ถูกขนานนามว่า "เมืองปากห้วยหลวง 3 กษัตริย์" บริเวณที่ตั้งอำเภอโพนพิสัยปัจจุบัน เป็นเมืองเก่าตามพงศาวดารล้านช้างเรียกว่า "เมืองปากห้วยหลวง" พ.ศ. 1901 พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช เริ่มก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง และตีเมืองนี้ได้ และมีฐานะเป็น "เมืองหลวง" ซึ่งส่งเจ้าชายในราชวงศ์ล้านช้างมาครองเป็น "พญาปากห้วยหลวง" บางพระองค์ได้มีโอกาสไปครองราชย์ที่ นครเชียงทอง ถึง 2 พระองค์ด้วยกัน คือ หลังจากพระเจ้าสามแสนไทสวรรคต พ.ศ. 1958 แล้ว พระเจ้าล้านคำแดงโอรสได้ครองราชย์ต่อถึง พ.ศ. 1970 จึงสวรรคตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่โบราณราชประเพณีไทย-ลาว สตรีจะครองราชย์ไม่ได้ เจ้าคำเต็ม พญาปากห้วยหลวง พระสวามีเจ้าหญิงจึงครองแทนพักหนึ่ง แล้วหนีกลับเมืองปากห้วยหลวงดังเดิม นางแก้วพิมพาซึ่งมีอำนาจมากในราชสำนักได้เชิญเจ้านายในราชวงศ์ครองราชย์ต่อหลายพระองค์ ระหว่าง พ.ศ. 1971-1980 ครั้นจุบรรลุพระราชนิติภาวะก็มีเหตุสวรรคตติด ๆ กันถึง 5-6 พระองค์ จนมาเชิญ เจ้าคำเกิด โอรสพญาปากห้วยหลวง (คาดว่าเป็นโอรสพระเจ้าคำเต็มจากชายาอื่น) ไปครองราชย์อีกและสวรรคต พ.ศ. 1983 อีก คราวนี้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีทนไม่ไหว จับพระนางแก้วพิมพาถ่วงแม่น้ำคาน ทางเหนือนครหลวงพระบางเสียและเชิญเจ้าไชยครองราชย์ พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว สืบมา

เมืองปากห้วยหลวง เกิดช้างเผือกอีกเชือกหนึ่ง เมื่อหลังสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช พ.ศ. 2114 พระเจ้าบุเรงนองผู้ชนะสิบทิศพิชิตเวียงจันทน์ ได้นำพระหน่อแก้วกุมาร ราชโอรสไปเมืองหงสาวดีเป็นตัวประกัน พระชันษาเพียง 5 ปี แล้วให้ตาสำเร็จราชการ"อาณาจักร์ล้านช้าง"แทน จารึกว่าพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้าสุมังโดอัยโกโพธิสัตว์ อดีตพระยาปากห้วยหลวง พงศาวดารว่าท่านเป็นบุตรกวานบ้านฝั่งขวา (ผู้ใหญ่บ้าน) รับราชการทหาร รบเก่งและคงถวายบุตรสาวเป็นสนมด้วย ดังนั้นที่ชาวหนองคายเชื่อกันมาจึงมิใช่เรื่องเหลวไหล โดยนางสนม (ไม่ทราบ) อาจมีพระราชธิดาโอรส 4 พระองค์ คือ "พระสุก พระเสริม พระใส" ซึ่งสร้างฉลองพระองค์ ส่วนองค์สุดท้ายคือพระราชโอรสชันษา 5 ปี พระหน่อแก้วกุมาร พม่าจึงต้องให้ตาสำเร็จราชการให้หลานจึงมี "อัยโก" (ตา) ต่อท้าย นับว่าพญาปากห้วยหลวงเป็นกษัตริย์ล้านช้าง (หลวงพระบาง) 2 พระองค์ และผู้สำเร็จราชการ (เวียงจันทน์) อีก 1 ท่าน รวม 3 กษัตริย์

พ.ศ. 2103 เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช ถอยทัพหนีพม่าล่องมาจากเชียงใหม่ และหลวงพระบาง หลังจากนั้นเมืองปากห้วยหลวงก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง คาดว่าเพราะการวิวาทกันภายในราชวงศ์ล้านช้าง ตั้งแต่พระบรมราชาแห่งนครพนม พระราชโอรส พระเจ้านันทราชกรีพาทัพมาปราบ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 พ.ศ. 2241 ถึงเมืองคุกชายฟอง (เวียงคุก-บ้านทรายฟอง) และกวาดต้อนผู้คนกลับ และต่อมาบริเวณจังหวัดหนองคาย ได้มีกลุ่มผู้คนอพยพมาตั้งชุมชนและเมืองขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ๆและสำคัญอยู่ 2 กลุ่ม กล่าวคือ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ พ.ศ. 2250 สมเด็จเจ้าราชครูวัดโพนสเม็ก (ญาคูขี้หอม) อพยพคนไปซ่อมพระธาตุพนมครั้งที่ 4 ล่องไปจนตั้งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เมื่อญาคูขี้หอมอพยพผู้คนไปภาคใต้นั้น ศิษย์เอกสำคัญท่านหนึ่ง คือ จารย์แก้ว หรือ เจ้าแก้วมงคล(เจ้าแก้วบูลม บูฮม) ได้ตั้ง '"เมืองทุ่ง"' (ท่ง) หรือ เมืองสุวรรณภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) เป็นเมืองด่านหน้ายันกับเวียงจันทน์ เชื้อสายของท่านได้แยกย้ายสร้างบ้านแปงเมืองหรือปกครองเมืองมากมาย เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น เป็นต้น และภายหลังกลุ่มพระวอ และพระตา ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักเวียงจันทน์ มีความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร ด้วยสาเหตุไม่แจ้งชัด ได้พาเอาไพร่พลกองครัวญาติพี่น้อง อพยพหนีจากเวียงจันทน์ไปตั้งเมืองอยู่ที่หนองบัวลำภู และถอยร่นลงไปยังดอนมดแดงและตั้งเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ เป็นต้น ที่กล่าวถึงกลุ่มเจ้าจารย์แก้วและกลุ่มพระวอพระตา เนื่องจากทั้ง2กลุ่มล้วนมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างเมืองต่างๆภายในจังหวัดหนองคายในปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2322 กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ชัยชนะกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์แล้ว พื้นที่บริเวณเมืองหนองคายยังอยู่ใต้ความควบคุมของนครหลวงเวียงจันทน์เช่นเดิม รวมถึงเมืองปากห้วยหลวงเดิมด้วย

ครั้น พ.ศ. 2369 – 2370 พระเจ้าไชยเชยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์) แห่งเวียงจันทน์ แข็งเมืองบุกมาถึงนครราชสีมา และถูกยันทัพกลับไปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพหลวง พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ่ต่อมาได้รับการพระราชทานอวยยศเป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก เป็นแม่ทัพหน้าปราบเวียงจันทน์ได้ครั้งที่ 1 แต่เจ้าอนุวงศ์หนีไปได้ ต่อมาล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงดาบอาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาราชสุภาวดี อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก ต่อมาได้รับการพระราชทานราชทินนามเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพยกทัพปราบครั้ง 2 ตั้งทัพอยู่ค่ายพานพร้าว (บริเวณ นปข.ปัจจุบัน) และถูกหลอกล่อจนค่ายแตกหนีไปเมืองยโสธร คู่อริต่อเวียงจันทน์ดั้งเดิมจึงตามมาสมทบ เช่น บุตรหลานพระวอ-พระตา แห่งอุบลราชธานี และบุตรหลานจารย์แก้วแห่งสุวรรณภูมิ ช่วยเจ้าคุณสมุหนายกถล่มเวียงจันทน์จน "ฮ้างดังโนนขี้หมาจอก" หน่วยโสถิ่ม (กล้าตาย) นำโดย ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) อุปฮาดยโสธร หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ ฝ่ายกรุงเทพฯ มีนโยบายอพยพผู้คนมาฝั่งภาคอีสานจึงยุบเมืองเวียงจันทน์ปล่อยให้เป็นเมืองร้าง ชาวเมืองเวียงจันทน์บางส่วนก็อพยพมาภาคกลางและบางส่วนก็อยู่ที่บริเวณเมืองเวียงคุก เมืองปะโค (อำเภอเมืองหนองคายในปัจจุบัน) เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านไผ่หรือบ้านหนองไผ่ ขึ้นเป็นเมืองหนองค่าย(คำว่า "หนองคาย" ถูกเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "หนองค่าย" ซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า "หนองน้ำบริเวณที่ตั้งของค่ายทหาร" ซึ่งคำว่าหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็น"หนองคาย"ใน สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่นั้นมา)[5] ต่อมาโปรดเกล้าให้ ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) เป็น พระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 แห่งเมืองหนองคาย ต้นตระกูล ณ หนองคาย และ ท้าวตาดี บุตร พระยาขัติยวงษา (สีลัง) แห่งเมืองร้อยเอ็ด เชื้อสายเจ้าจารย์แก้ว ได้เป็นเจ้าเมืองโพนพิสัยคนแรก จากความดีความชอบที่ได้รับบัญชาจากเจ้าคุณแม่ทัพมาสกัดเจ้าอนุวงศ์ เพื่อมิให้หนีไปญวนอีก โดยตั้งทัพอยู่บ้านโพนแพง จึงเรียกกันว่า "เจ้าโพนแพง" ครั้นเสร็จศึกจึงยกเป็น "เมืองโพนแพง" ท้าวตาดีได้เป็น พระยาพิสัยสรเดช เจ้าเมืองคนแรก ต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน เมื่อ พ.ศ. 2373 ต้นตระกูล พิสัยพันธ์,สิงคศิริ,สิมะสิงห์,สิริสิงห์ สืบมาจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ชัดแจ้ง พระพิสัยสรเดช (ตาดี) ได้ย้ายที่ตั้งเมืองจากโพนแพงมาอยู่ ณ เมืองปากห้วยหลวงเก่า ซึ่งคงจะร้างในสมัยนั้น และเอาชื่อเมืองโพนพิสัยมาตั้งที่นี่ พื้นที่ตำบลโพนแพงก็ห่างไกล จึงขอยก " บ้านหนองแก้ว" ขึ้นเป็น"เมืองรัตนวาปี" อีกเมืองหนึ่ง หลังจากเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์และก่อตั้งเมืองหนองคายได้ไม่นาน เมืองหนองคายได้รับฐานะเป็นเมืองประเทศราช โดยยุบเมืองเวียงจันทน์(ร้าง)ซึ่งพึ่งถูกทัพสยามทำลายไปให้มาขึ้นกับเมืองหนองคาย และ ณ. ขณะนั้น ทั้งเมืองหนองคาย และ เมืองโพนพิสัย ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน แต่ล้วนเป็นเมืองเอกขึ้นกับกรุงเทพทั้งคู่ โดยเมืองโพนพิสัยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ อำเภอโพนพิสัย,อำเภอรัตนวาปี,อำเภอเฝ้าไร่ ของจังหวัดหนองคาย อำเภอเพ็ญ,อำเภอสร้างคอม ของจังหวัดอุดรธานี และ อำเภอโซ่พิสัย,อำเภอปากคาด ของจังหวัดบึงกาฬในปัจจุบัน[6][7]

ต่อมาเมืองหนองคาย มีเจ้าเมืองอีก 2 คน คือ พระปทุมเทวาภิบาล (เคน ณ หนองคาย) ผู้เป็นบุตรและพระยาปทุมเทวาภิบาล (เสือ ณ หนองคาย) ผู้เป็นหลาน

พ.ศ. 2380 พระประทุมเทวาภิบาล (ท้าวสุวอ) ผู้เป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมอุปฮาด (เคน) ได้เป็นเจ้าเมืองหนองคาย ในปี พ.ศ. 2383 และมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมเทวาภิบาลเหมือนกัน

ทางฝั่งเมืองโพนพิสัย ในปีพ.ศ. 2389 วันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พระยาขัติยวงษาสีลัง เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ป่วยและถึงแก่กรรม อุปฮาดสิงห์ ราชวงศ์อินบุตร จึงพาเจ้าเพี้ยลงมากรุงเทพฯ พบกับพระยาพิสัยสรเดช(ท้าวตาดี)เจ้าเมืองโพนพิสัย ซึ่งเป็นพี่ชายของพระขัติยวงษาอินทร์และอุปฮาดสิงห์ และเป็นบุตรของพระยาขัติยวงษาสีลัง พระยาพิสัยสรเดชจึงพาอุปฮาดราชวงศ์ท้าวเพี้ย กรมการเมืองร้อยเอ็ด ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดชเจ้าเมืองโพนพิสัย กลับไปรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด พระยาพิสัยสรเดชจึงให้บุตรหลานรักษาการเมืองโพนพิสัยแทน ครั้นพระยาพิสัยสรเดชลงไปถึงเมืองร้อยเอ็ด จัดการเผาศพพระยาขัติยวงษาสีลังพระบิดาเสร็จแล้ว คืนวันหนึ่งอุปฮาดสิงห์ผู้เป็นน้องชายได้ตั้งบ่อนโป นัดให้พระยาพิสัยสรเดชกับพวกนักเลงมาเล่นที่หอนั่งบ้านพระยาขัติยวงษา ครั้นเวลาดึกมีคนมาลอบแทงพระยาพิสัยสรเดชถูกที่สีข้างซ้าย ถึงแก่กรรม ได้ความว่าอุปฮาดสิงห์เกี่ยวข้องในคดีนี้ ครั้นความทราบถึงกรุงเทพฯ จึงมีตราโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุวรรณภูมิส่งตัวอุปฮาดสิงห์และบรรดาบุตรหลานของพระยาขัติยวงษา ลงมากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ตุลาการชำระคดี อุปฮาดสิงห์ พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่าอุปฮาดสิงห์เป็นผู้ใช้ให้จีนจั้นมาแทงพระยาพิสัยสรเดช อุปฮาดสิงห์เลยต้องถูกจำคุกตายอยู่ในที่คุมขัง พระยาพิสัยสรเดชซึ่งป็นพี่ชายต่างมารดากับอุปฮาดสิงห์และราชวงศ์อินทร์ ราชวงศอินทร์ภายหลังเป็นพระยาขัติยวงษา(อินทร์ ธนสีลังกูร)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านที่ 3 อีกทั้งพระยาพิสัยสรเดช(ท้าวตาดี)ยังเป็นน้องร่วมมารดากับญาแม่ปทุมมา ซึ่งเป็นย่าของพระเจริญราชเดช (ท้าวอุ่น ภวภูตานนท์) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 3 ต่อมาได้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่พึงเชื่อถือได้แน่นอน ปรากฏว่าอุปฮาดสิงห์หาได้เป็นผู้วางแผนฆ่าพระยาพิสัยฯ ตามที่เล่ามานั้นไม่ เมื่อพิจารณาจากเหตุผลจากสิ่งแวดล้อมต่างๆแล้ว เห็นว่ามีอยู่หลายกรณีที่อ้างอิงประกอบได้ เช่น คราวที่พระยาพิสัยฯ พร้อมอุปฮาดสิงห์ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลข่าวการอสัญกรรมของพระยาขัติยวงษาสีลังผู้บิดานั้น อุปฮาดสิงห์ก็ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนพี่ชายเป็นอย่างดี จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดชกลับมารับราชการเมืองร้อยเอ็ด และโดยปกติสองพี่น้องนี้มีความรักใคร่ปรองดองกันดีมาก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจีนจั้นผู้แทงพระยาพิสัยฯ ก็เคยมีอริวิวาทกันกับพระยาพิสัยฯ มาช้านาน อนึ่งตามเนื้อเรื่องที่ว่า “พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่าอุปฮาดสิงห์ ได้ให้จีนจั้นแทงพระยาพิสัยฯ และอุปฮาดสิงห์เลยต้องจำตายอยู่ในที่คุมขัง” จากข้อเท็จจริงโดยคำยืนยันของพระเจริญราชเดช (อุ่น) หลานญาแม่ปทุมมาซึ่งเป็นพี่สาวของพระยาพิสัยฯ เอง ได้ความชัดว่าอุปฮาดสิงห์ได้ดื่มยาพิษถึงแก่กรรมในระหว่างทางก่อนจะถึงกรุงเทพฯ ใกล้เมืองนครราชสีมา และญาติได้ค้นพบจดหมายลาตาย ถึงภรรยาว่า “เราไม่เคยคิดขบถต่อเจ้าพี่โพนแพงเลย ตายเองดีกว่าที่จะถูกคนอื่นประหาร เลี้ยงลูกใหดีจนได้ไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก” ส่วนจีนจั้นนั้นรับสารภาพและไม่มีการซัดทอดผู้ใดเลย เป็นอันว่าอุปฮาดสิงห์เป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการพิจารณาคดีของสยามหรือไทยในสมัยก่อนที่ยังมีข้อบกพร่องในการหาหลักฐานและความไม่ชัดเจนในการตัดสินคดีอยู่พอสมควร[8]

มาทางฝั่งเมืองหนองคาย ในสมัยที่พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองนี้เองก็เกิดศึกสำคัญขึ้นเรียกกันว่าศึกฮ่อ ครั้งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2420 แต่ในระยะนี้พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) ไม่ได้อยู่ในหนองคายมีราชการต้องมาต้อนรับพระยามหาอำมาตย์เสียที่เมืองอุบลราชธานีและได้มอบกิจการบ้านเมืองให้ท้าวจันทรศรีสุราช (ชื่น) รักษาราชการแทน พวกฮ่อได้ตีหัวเมืองลายทางเรื่อยมาจนเข้ายึดเอาเวียงจันทร์ไว้ได้ พวกกรมการเมืองหนองคายแทนที่จะหาทางป้องกันข้าศึกกับคิดอพยพหนีพวกฮ่อ โดยท้าวจันทรศรีสุราชกับครอบครัวหนีไปอยู่บ้านพรานพร้าวอุดรธานี เมื่อตัวนายไม่คิดสู้พวกราษฎร์ก็พลอยขวัญเสียอพยพออกจากเมืองบางเหตุการณ์ในตอนนี้ถึงกับทำให้เมืองหนองคายตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างนอกนี้เมืองใกล้ ๆ กัน คือเมืองโพนพิสัยก็พลอยไม่คิดสู้ขี้นมาอีก พระพิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองอพยพครอบครัวหนีไปอยู่บึงกาฬ ส่วน ราชวงศ์เมืองหนองคาย ซึ่งถูกส่งมารักษาการแทนกับพระพิสัยสรเดช (หนู) ถูกพวกฮ่อฆ่าตาย ทางกรุงเทพจึงได้มีพระบรมราชองค์การให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ซึ่งไปราชการ ณ เมืองอุบลราชธานี นั้น เกณฑ์ทัพเข้าปราบฮ่อกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ได้ยกเข้ามาตั้งพักอยู่ที่เมืองหนองคายแล้วก็สั่งให้จับเอาเท้าจันทรศรีสุราชและพระยาพิไสยสรเดช(หนู)ไปประหารชีวิตเสียทั้งคู่เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบต่อไปจากนี้ก็เกณฑ์คนในเมืองต่าง ๆ คือ นครพนม มุกดาหาร เขมราฐ อุบลและร้อยเอ็ด เข้าสมทบกับกองทัพเมืองหนองคาย รวมพลได้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน แล้วยกออกไปตีเมืองเวียงจันทร์ซึ่งพวกฮ่อสู้ไม่ได้แตกและทิ้งกรุงเวียงจันทร์ไป กองทัพของพระยามหาอำมาตย์ก็กลับมาพักที่หนองคายจัดกิจกรรมบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็กลับกรุงเทพฯ ครั้งนี้พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายได้ติดตามลงมากรุงเทพฯ ด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2428 เกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่สองในบริเวณทุ่งไหหิน (ทุ่งเชียงคำ) พวกฮ่อกำเริบตีมาจนถึงเวียงจันทน์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกฮ่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมขณะดำรงพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพปราบฮ่อครั้งนั้นจนพวกฮ่อแตกหนี และสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อไว้ที่เมืองหนองคาย

ส่วนทางฝั่งเมืองโพนพิสัย หลังเสร็จศึกปราบฮ่อ ท้าวคำสิงห์ ซึ่งขณะนั้นมีราชทินนามเป็น พระศรีสุรศักดิ์สุนทร เจ้าเมืองรัตนวาปี อดีตเจ้าเมืองประชุมพนาลัย (เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว) ขึ้นเเขวงเมืองโพนพิสัย ซึ่งเป็นบุตรหลานของพระพิสัยสรเดชท่านแรก (ท้าวตาดี) ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระรัตนเขตรักษา" เจ้าเมืองโพนพิสัยแทนเจ้าเมืองเดิมสืบต่อมา ซึ่งท่านได้แสดงความกล้าหาญรบพุ่งกับฮ่อหลายครั้ง จนได้ราชทินนามเป็น พระยาพิสัยสรเดช (คำสิงห์ สิงหศิริ) เป็นต้นตระกูล สิงหศิริ จึงเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดศึกและเกิดเหตุข้าศึกศัตรูเข้ามารุกราน ทั้งเมืองหนองคายและเมืองโพนพิสัยล้วนเป็นพันธมิตรร่วมกันต่อสู้ เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาโดยตลอด

เมื่อ พ.ศ. 2429 ต่อมาใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลลาวพวน (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร) ได้ตั้งที่ทำการที่เมืองหนองคาย โดย ก่อน พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) เมืองหนองคายเป็นเมืองเอกมี เมืองโท ตรี จัตวา ขึ้นตรง ได้แก่ เมืองเวียงจันทน์(ขณะนั้นร้างและไม่มีสภาพความเป็นเมือง), เชียงคาน, พานพร้าว, ธุรคมสิงห์สถิตย์, กุมภวาปี(ถูกโอนพื้นที่มาจากเมืองหนองหานซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก), รัตนวาปี ส่วนเมืองโพนพิสัย มีฐานะเป็นเมืองเอก แต่ไม่มีเมืองขึ้น ครั้นเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือในปี พ.ศ. 2436 ไทยถูกกำหนดเขตปลอดทหารภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากชายแดน จึงย้ายกองบัญชาการมลฑลลาวพวนมาตั้งที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี[9]

พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นที่บ้านหมากแข้ง เป็นศูนย์กลางของมณฑลอุดร ครอบคลุม จังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหารในสมัยนั้น ซึ่ง มณฑลอุดร แบ่งการปกครองเป็น 5 บริเวณ คือ บริเวณหมากแข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณภาชี และบริเวณน้ำเหือง ในปีเดียวกัน ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยรวมเมืองต่าง ๆ ในบริเวณบ้านหมากแข้งตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า "เมืองอุดรธานี" ส่วนเมืองในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ ได้แก่ เมืองหนองคาย เมืองกมุทธาสัย(หนองบัวลำภู) เมืองกุมภวาปี เมืองหนองหาน เมืองโพนพิสัย เมืองรัตนวาปี เป็น อำเภอหนองคาย อำเภอหนองบัวลำภู อำเภอกุมภวาปี อำเภอหนองหาน อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี ขึ้นกับเมืองอุดรธานี สังกัดมณฑลอุดร

พ.ศ. 2457 มีการปรับปรุงเขตอำเภอสำหรับการปกครองในมณฑลอุดรได้กล่าวถึง อำเภอไชยบุรี สังกัดเมืองนครพนม ให้ตัดท้องที่ของอำเภอโพนพิสัยบางส่วน ของเมืองอุดรธานี ไปรวมกับท้องที่อำเภอไชยบุรี และให้ย้ายที่ว่าการอำเภอไชยบุรีมาตั้งที่บ้านบึงกาญจน์จรดริมแม่น้ำของ(โขง)ฝั่งตรงข้ามเมืองบริคันฑ์ แขวงเวียงจันทน์ เพราะเป็นศูนย์กลางเหมาะแก่การปกครองท้องที่อำเภอ และอำเภอไชยบุรีก็ยังคงขึ้นเมืองนครพนมตามเดิม[10]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองพื้นที่ขึ้นโดยให้ยกเลิกระบอบเจ้าปกครองทั่วประเทศ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ 2458 กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งสถาปนาเมืองข้าหลวงปกครอง ซึ่งต่อมาเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด แยกอำเภอหนองคายออกมาจากเมืองอุดรธานี ตั้งเป็นจังหวัดหนองคาย และโอนอำเภอโพนพิสัย ของเมืองอุดรธานี และยุบอำเภอรัตนวาปีเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอโพนพิสัย แล้วจึงโอนมาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย(ขณะนั้นมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นจังหวัดและอำเภอแล้วแต่ยังไม่มีการบังคับใช้และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย) แรกเริ่มจังหวัดหนองคายมีอำเภอขึ้นตรง ดังนี้คือ อ.โพนพิสัย อ.สังคม อ.บ้านผือ อ.ท่าบ่อ อ.พานพร้าว และอ.น้ำโมง และมีการปรับยุบเมืองที่เคยเป็นอำเภอลดฐานะลงเป็นตำบลแทน เช่น อำเภอมีชัย เมืองหนองคาย เป็น "ตำบลมีชัย" อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นต้น

ครั้นในปีต่อมา พ.ศ. 2459 โอนอำเภอไชยบุรีของจังหวัดนครพนม มาขึ้นจังหวัดหนองคาย เนื่องจาก มีท้องที่และระยะทางห่างไกลจากจังหวัดนครพนมมาก ลำบากต่อการเดินทาง และทั้งไม่เหมาะแก่การปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 เปลี่ยนชื่ออำเภอไชยบุรีเป็น "อำเภอบึงกาญจน์ [11]

และในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภออย่างเป็นทางการ หนองคายจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการ[12]

ในปี พ.ศ. 2554 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554[13] มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 โดยให้แยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย ไปตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ

ภูมิศาสตร์

แก้

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ 3,026.534 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,891,583 ไร่ (นับเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคอีสาน โดยพื้นที่ทั้งหมดก่อนที่จังหวัดบึงกาฬจะแยกตัวไป มีประมาณ 7,332 ตารางกิโลเมตร[14]) ลักษณะเป็นรูปยาวเรียงทอดไปตามลำน้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนกับประเทศลาว มีความยาวทั้งสิ้น 195 กิโลเมตร ความกว้างของพื้นที่ที่ทอดขนานไปตาม ลำน้ำโขงโดยเฉลี่ย 20 - 25 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินสาย 2 (มิตรภาพ) ประมาณ 615 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

แก้

สภาพภูมิประเทศของจังหวัดหนองคายมีลักษณะทอดยาวตามลำน้ำโขง จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีอาณาเขตติดกับกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนที่มีเอกลักษณ์พิเศษโดยมีพื้นที่ทอดขนานยาวไปตามลำน้ำโขง ความกว้างของพื้นที่ทอดขนานไปตามลำน้ำโขงโดยเฉลี่ยประมาณ 20 – 25 กิโลเมตร ช่วงที่กว้างที่สุดอยู่ที่อำเภอเฝ้าไร่ และช่วงที่แคบที่สุดอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายมีอำเภอที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง 6 อำเภอ คือ อำเภอสังคม อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอเมือง อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี และมีอาณาเขตติดต่อกับ ประเทศลาว คือ แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซ

จังหวัดหนองคายมีจุดผ่านแดนไป ประเทศลาว รวม 6 จุด เป็นจุดผ่านแดนถาวร 2 จุด และจุดผ่อนปรน 4 จุด จุดผ่านแดนที่สำคัญและเป็นสากล คือ ด่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลีย-ไทย-ประเทศลาว ร่วมมือกันสร้างและเป็นประตูไปสู่อินโดจีน

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง แยกได้เป็น 4 บริเวณ คือ

  • พื้นที่ค่อนข้างราบ ได้แก่ เขตอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ และอำเภอศรีเชียงใหม่ ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำนา และปลูกพืชบริเวณริมน้ำโขง
  • พื้นที่เป็นคลื่นลอนลาด กระจายอยู่ทุกอำเภอเป็นหย่อมๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ทำนาและปลูกพืชไร่ พืชสวนและป่าธรรมชาติ
  • พื้นที่เป็นคลื่นลอนชันและเป็นเขาเป็นป่าธรรมชาติ เช่น ป่าไม้เต็งรัง เบญจพรรณ พบในเขตอำเภอสังคม
  • สภาพพื้นที่เป็นภูเขาที่มีความสูงชัน จากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตร เป็นบริเวณเทือกเขาต่างๆ ทางทิศตะวันตกในเขตอำเภอสังคม[15]

เนื่องจากแม่น้ำโขงไหลผ่านอำเภอต่างๆ เกือบทุกอำเภอ จึงก่อให้เกิดประโยชน์ในการเกษตรกรรม ราษฎรได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง จะได้รับประโยชน์มากกว่าราษฎรที่อยู่ลึกเข้าไปจากแม่น้ำโขง นอกจากนี้สำนักงานพลังงานแห่งชาติได้จัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในพื้นที่ 9 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 82 สถานี เพื่อทำการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงและแหล่งน้ำอื่น ๆ ขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรกรรม

ลักษณะอากาศจัดอยู่ในจำพวกฝนแถบร้อนและแห้งแล้ง (ธ.ค. - ม.ค.) ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะเริ่มลดในเดือนพฤศจิกายนและต่ำสุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคม และร้อนจัดในเดือนเมษายน ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (มิ.ย.- ก.ค.) อุณหภูมิโดยทั่วไปจะลดลง และในเดือนตุลาคมอุณหภูมิจะเริ่มลดลงจนอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำสุดรายปีอยู่ที่ 9.50 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดรายปีอยู่ที่ 40.60 องศาเซลเซียสเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 26.46 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนทั้งปีอยู่ที่ 1,843.6 มิลลิเมตรต่อปี[16][15]

ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดหนองคาย
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 29.3
(84.7)
31.6
(88.9)
34.3
(93.7)
35.7
(96.3)
33.7
(92.7)
32.5
(90.5)
32.0
(89.6)
31.4
(88.5)
31.6
(88.9)
31.3
(88.3)
30.1
(86.2)
28.6
(83.5)
31.84
(89.32)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 16.2
(61.2)
18.6
(65.5)
21.4
(70.5)
23.8
(74.8)
24.3
(75.7)
24.7
(76.5)
24.5
(76.1)
24.3
(75.7)
24.0
(75.2)
22.7
(72.9)
19.4
(66.9)
15.9
(60.6)
21.65
(70.97)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 7.0
(0.276)
10.5
(0.413)
30.7
(1.209)
89.5
(3.524)
240.3
(9.461)
278.5
(10.965)
249.3
(9.815)
336.7
(13.256)
275.6
(10.85)
76.6
(3.016)
12.2
(0.48)
3.3
(0.13)
1,610.2
(63.394)
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย 2 3 5 8 17 19 20 22 18 9 2 1 126
แหล่งที่มา: Thai Meteorological Department

การเมืองการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 62 ตำบล 678 หมู่บ้าน มีรายชื่ออำเภอตามหมายเลขในแผนที่ดังนี้

แผนที่
 
หมาย
เลข
ชื่ออำเภอ จำนวน
ตำบล
ประชากร
(พ.ศ. 2563)
พื้นที่
(ตร.กม.)
ความหนาแน่น
(คน/ตร.กม.)
1 อำเภอเมืองหนองคาย 16 150,438 607.5 247.64
2 อำเภอท่าบ่อ 10 82,368 355.3 231.83
3 อำเภอโพนพิสัย 11 98,281 642.7 152.92
4 อำเภอศรีเชียงใหม่ 4 30,072 198.0 151.88
5 อำเภอสังคม 5 25,548 449.7 56.81
6 อำเภอสระใคร 3 26,541 210.9 143.50
7 อำเภอเฝ้าไร่ 5 50,912 255.9 198.95
8 อำเภอรัตนวาปี 5 37,990 204.007 186.22
9 อำเภอโพธิ์ตาก 3 15,284 102.5 149.11
รวม 62 517,434 3,027.280 170.92

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนองคาย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง 66 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาล 19 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลเมือง 2 แห่ง (ซึ่งคือเทศบาลเมืองหนองคาย และเทศบาลเมืองท่าบ่อ) และเทศบาลตำบล 17 แห่ง ที่เหลือเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 48 แห่ง[17] โดยเทศบาลทั้งหมดแบ่งตามอำเภอในจังหวัดหนองคาย มีดังนี้

รายชื่อเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการ

แก้

ประชากร

แก้
สถิติประชากร
ตามทะเบียนราษฎร
จังหวัดหนองคาย
ปีประชากร±%
2549 899,580—    
2550 902,618+0.3%
2551 906,877+0.5%
2552 907,250+0.0%
2553 912,937+0.6%
2554 *509,870—    
2555 512,439—    
2556 514,943+0.5%
2557 517,260+0.4%
2558 519,580+0.4%
2559 520,363+0.2%
2560 521,886+0.3%
* ปี พ.ศ. 2554 ประชากรจังหวัดหนองคายลดลงเนื่องจากการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ [18]
ที่มา: สำนักบริหารการทะเบียน[19]

กลุ่มชาติพันธุ์

แก้

เนื่องจากจังหวัดหนองคายมีชายแดนติดต่อกับประเทศลาวกว่า 200.82 กิโลเมตร และเป็นเมืองหน้าด่านในการทำสงครามในสมัยก่อน จึงทำให้มีการกวาดต้อนอพยพผู้คนจากทั้งฝั่งประเทศลาวและไทย (ในปัจจุบัน) ข้ามไปมา จึงทำให้มีกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ในจังหวัดหนองคาย แต่อย่างไรก็ตามในบันทึกทางประวัติศาสตร์ ได้บ่งบอกว่ามีกลุ่มคนที่อาศัยเป็นเมืองอยู่ในบริเวณนี้อยู่เดิม ได้แก่ เมืองพานพร้าว (อำเภอศรีเชียงใหม่) และเมืองปากห้วยหลวง (อำเภอโพนพิสัย) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณาจักรล้านช้าง

การอพยพครั้งที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้

ในปัจจุบันกลุ่มคนที่อพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย ได้มีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กลมกลืนกับชาวพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมจนแทบไม่เห็นความแตกต่าง ทั้งการแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ประเพณีต่าง ๆ จะสังเกตได้เฉพาะสำเนียงของภาษาพูด ที่ยังคงเหลือเค้าให้ทราบว่า เดิมเป็นชนเผ่าไหน ซึ่งพอจำแนก ได้ดังนี้

  • กลุ่มชาวลาวเวียงจันทน์ เนื่องจากมีอาณาเขตที่ใกล้เคียงกับเวียงจันทร์ จึงน่าจะเรียกว่าชาวเวียงจันทน์ ถือว่าเป็นกลุ่มชนที่มากที่สุดในจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะท้องที่อำเภอ อำเภอเมืองหนองคาย, อำเภอท่าบ่อ, อำเภอศรีเชียงใหม่, อำเภอโพธิ์ตาก และอำเภอโพนพิสัย
  • กลุ่มชาวไทอีสาน/ลาวอีสาน เนื่องจากเดิมเป็นอาณาจักรล้านช้างจึงนับเป็นกลุ่มลาวล้านช้างด้วยแต่ถึงอย่างไร หน้าตา ผิวพรรณ สำเนียงการพูด ก็แตกต่างจากชาวลาวเวียงจันทน์
  • กลุ่มไทพวน มีถิ่นฐานเดิมจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว อาศัยอยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่
  • กลุ่มไทลื้อ/ไทด่าน/ไทเหนือ เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางและอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอสังคมและอำเภอโพธิ์ตาก
  • กลุ่มคนญวน อพยพมาในสมัยสงครามอินโดจีน พร้อมๆ กับเจ้าเมืองจันทบุรี มาอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ

ตามประวัติศาสตร์เดิม มีกลุ่มคนที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ อพยพมาที่จังหวัดหนองคายมากกว่านี้ แต่ปัจจุบัน ไม่สามารถหาหลักฐาน หรือ สิ่งบอกเหตุว่าเป็นชนกลุ่มนั้นๆ หรือไม่ เนื่องจากมีการกลมกลืนกันเป็นไทอีสาน เกือบหมดแล้ว และมีบางส่วนที่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากจังหวัดอื่นๆ มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอรัตนวาปี และอำเภอโพนพิสัย ซึ่งเรียกว่า ไทครัว เพราะในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะมาจากหลากหลายจังหวัดและไม่สามารถสืบสานชาติพันธุ์ได้และปัจจุบันก็กลมกลืนกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมเกือบหมดแล้ว

การศึกษา

แก้

จังหวัดหนองคาย มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยแบ่งเป็นระดับประถมศึกษา ทั้งหมด 2 เขต และมัธยมศึกษาอีก 1 เขต ซึ่งครอบคลุมโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดหนองคายทั้งหมด 31 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคายอีก 1 แห่ง

สถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ปัจจุบันอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรรมการการอาชีวศึกษาทั้งหมด ส่วนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ศูนย์หนองคาย, สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1, มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย

สาธารณสุข

แก้

เศรษฐกิจ

แก้

เกษตรกรรม

แก้

ประชากรโดยส่วนมากจะประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เพื่อการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 57.29 ของพื้นที่จังหวัด หรือ 2,625,441 ไร่ ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว (นาปี) และยางพารา

นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงปศุสัตว์และการทำประมง โดยปศุสัตว์ที่มีมูลค่าผลผลิตมากที่สุด คือ ไก่ไข่ สุกร โคพื้นเมือง เป็ดไข่ ไก่เนื้อ กระบือ เป็ดเนื้อ และโคพันธุ์ ส่วนด้านการประมงนั้น มีทั้งการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ กระชัง การจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง และการจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำอื่นๆ[20][21]

อุตสาหกรรม

แก้

ทางด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย คือ โรงสีข้าว อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมแปรูปไม้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ คือ อัดเศษโลหะ อัดเศษกระดาษและบดย่อยพลาสติก ซ่อมรถยนต์ ทำน้ำแข็งก้อนเล็ก ห้องเย็นทำวงกบประตูหน้าต่าง และเครื่องเรือนเครื่องใช้จากไม้ และในอนาคต จังหวัดหนองคายยังได้ถูกให้พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมนั้นเจริญเติบโตมากขึ้น[22]

การขนส่ง

แก้

ทางถนน

แก้
รถยนต์

จากกรุงเทพมหานคร ใช้ถนนพหลโยธินจนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แล้วแยกขวาเข้าถนนมิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา} จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี จนไปถึงจังหวัดหนองคาย

รถโดยสารประจำทาง

สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดหนองคาย มีบริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถโดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ทั้งรถที่มาจากกรุงเทพฯ และจากหนองคายไปยังจังหวัดต่างๆ ผู้ให้บริการรถโดยสารที่สำคัญ อาทิ ชาญทัวร์, แอร์อุดร, เชิดชัยทัวร์, 407 พัฒนา, บุษราคัมทัวร์, รุ่งประเสริฐทัวร์, ชัยภูมิจงเจริญขนส่ง และนครชัยแอร์ นอกจากนี้ บริษัท ขนส่ง จำกัด ยังให้บริการรถโดยสารระหว่างประเทศอยู่สองเส้นทาง ดังนี้

ในปัจจุบัน จังหวัดหนองคายมีสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่

  • สถานีขนส่งผู้โดยสารเทศบาลเมืองหนองคาย ตั้งอยู่ที่ถนนประจักษ์ศิลปาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย
  • สถานีขนส่งผู้โดยสารเทศบาลตำบลโพนพิสัย ตั้งอยู่ที่ถนนภิรมยาราม ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย

การขนส่งในตัวจังหวัดหนองคาย ประกอบไปด้วย รถสองแถวกับรถสามล้อเครื่อง (รถเหมา) ซึ่งคิดค่าโดยสารตามระยะทาง และแท็กซี่ ซึ่งคิดค่าโดยสารตามระยะทางบนมิเตอร์

ทางราง

แก้

การรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการขบวนรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังสถานีรถไฟหนองคายทุกวัน โดยขบวนรถไฟที่มีศักย์สูงที่สุดคือรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา ซึ่งเป็นรถไฟกลางคืนที่ให้บริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559

ทางอากาศ

แก้

จังหวัดหนองคายไม่มีท่าอากาศยาน โดยท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีเป็นท่าอากาศยานที่อยู่ใกล้กับตัวจังหวัดที่สุด ห่างจากตัวจังหวัดหนองคายเป็นระยะทาง 51 กิโลเมตร

วัฒนธรรม

แก้

ประชาชนชาวจังหวัดหนองคาย ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนคนไทยทั่วไปในภาคอีสาน คือ ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นแนวทางการดำรงชีวิตซึ่งทำให้แดนอีสานอยู่กันด้วยความผาสุก ร่มเย็นตลอดมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับปีฮีดสิบสอง ดังนี้ เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม เดือนยี่บุญคูณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญพระเวส เดือนห้าบุญสรงน้ำหรือบุญตรุษสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญชำฮะ เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา และเดือนสิบสองบุญกฐิน

เทศกาลและงานประเพณีที่สำคัญ ได้แก่

  • ประเพณีสงกรานต์ จัดขึ้นที่วัดโพธิ์ชัย ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
  • งานนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ จัดขึ้นที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ อำเภอท่าบ่อ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
  • งานอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ จัดประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ที่บริเวณอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
  • ประเพณีบุญบั้งไฟ จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 (พฤษภาคม) และวันเพ็ญเดือน 7 (มิถุนายน) ของทุกปี
  • งานแห่เทียนเข้าพรรษา จัดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษา หรือวันอาสาฬบูชา ของทุกปี
  • ประเพณีแข่งเรือ จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษา โดยมีการแข่งเรือยาวในลำน้ำโขง ประชาชนได้จัดเรือแข่งจากอำเภอต่าง ๆ และบางปีก็มีเรือจากประเทศลาวมาร่วมการแข่งขันด้วย
  • ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จัดให้มีขึ้นควบคู่กันกับงานแข่งเรือ เพื่อนมัสการพระธาตุหล้าหนอง
  • วันออกพรรษา เป็นวันทำบุญประจำของท้องถิ่น โดยมีการตักบาตรเทโวภายในเขตอำเภอเมือง
  • ประเพณีลอยเรือไฟบูชาพญานาค จัดขึ้นในคืนวันเพ็ญ เดือน 11 หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้วัดสิริมหากัจจายน์ (วัดธาตุ)

บุคคลที่มีชื่อเสียง

แก้

พระสงฆ์

นักการเมือง

นักกีฬา

นักพัฒนาชุมชน

ศิลปินแห่งชาติ

นักร้อง

นักแสดง

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย. "ลักษณะประจำจังหวัด."[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:[1] เก็บถาวร 2022-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 24 ตุลาคม 2565.
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
  3. ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
  4. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2565.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-31. สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-27.
  7. https://www.facebook.com/722488218128250/posts/1578154679228262/
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-28.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-28.
  10. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31 หน้า 48 ลงวันที่ 12 เมษายน 2457
  11. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 320 – 321 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2459
  12. พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2011-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ราชกิจจานุเบกษา 128 (18 ก): 1. 22 มีนาคม 2554.
  13. ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554
  14. "The Money Drop ไทยแลนด์ 3 พ.ค.58 3/3". ช่อง 7. 3 May 2015. สืบค้นเมื่อ 4 May 2015.
  15. 15.0 15.1 15.2 กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดหนองคาย, บรรยายสรุปจังหวัดหนองคาย เก็บถาวร 2012-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. "กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปลักษณะอากาศรายปี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-13. สืบค้นเมื่อ 2012-03-19.
  17. ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแยกรายจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
  18. ฉลองการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ
  19. สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "จำนวนประชากรและบ้าน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [2] 2560. สืบค้น 31 ธันวาคม 2560.
  20. "รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดหนองคาย ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555 ณ เดือนกันยายน 2554". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-14. สืบค้นเมื่อ 2012-03-19.
  21. กระทรวงพลังงาน, ฐานข้อมูลพลังงาน จ.หนองคาย เก็บถาวร 2012-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

17°53′N 102°44′E / 17.88°N 102.74°E / 17.88; 102.74