วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

วัดในจังหวัดหนองคาย

วัดศรีชมภูองค์ตื้อ เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 8 บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มีที่ดินที่ตั้งวัด เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1212 มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ประมาณ 220 เมตร จดที่มีการครอบครอง
  • ทิศตะวันออก ประมาณ 140 เมตร จดลำห้วยโมง
  • ทิศใต้ ประมาณ 270 เมตร จดถนนสาธารณประโยชน์
  • ทิศตะวันตก ประมาณ 121 เมตร จดถนนสาธารณประโยชน์
วัดศรีชมภูองค์ตื้อ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2105 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2105 มีเขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 13 เมตร โบราณวัตถุในวัดที่สามารถพบได้ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

  • 1) หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ
  • 2) พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศิลปะสมัยล้านช้าง
  • 3) เจดีย์หางนกยูง 2 เจดีย์
  • 4) เจดีย์ดอกบัว 1 เจดีย์
  • 5) หลักศิลาจารึกบันทึกเป็นอักษรขอม ในอดีตมี 11 หลัก ปัจจุบันเหลือ 4 หลัก

ประวัติหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ แก้

พระพุทธรูปองค์นี้ได้ก่อสร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใส สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทร์ พระสงฆ์ในวัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ลงมติจะหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในบ้านน้ำโมง (เดิมเรียกว่าบ้านน้ำโหม่ง) เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่อนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ มา เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ชักชวนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเรี่ยไรทองเหลืองบ้าง ทองแดงบ้าง ตามแต่ผู้ที่มีจิตศรัทธาจากท้องที่อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ได้ทองหนักตื้อหนึ่ง (มาตราโบราณภาคอีสานถือว่า 100 ชั่งเป็นหมื่น 10 หมื่นเป็นแสน 10 แสนเป็นล้าน 10 ล้านเป็นโกฏิ 10 โกฏิเป็นหนึ่งกือ 10 กือเป็นหนึ่งตื้อ)

พระสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมกันหล่อ เป็นส่วน ๆ ในวันสุดท้ายเป็นวันหล่อตอนพระเกศ ในตอนเช้าได้ยกเบ้าเทแล้วแต่ไม่ติด เมื่อเอาเบ้าเข้าเตาใหม่ ทองยังไม่ละลายดีก็พอดีเป็นเวลาจวนพระจะฉันเพล พระทั้งหมดจึงทิ้งเบ้าเข้าเตาหรือทิ้งเบ้าไว้ในเตาแล้วก็ขึ้นไปฉันเพลบนกุฏิฉันเพลเสร็จแล้วลงมาหมายจะเทเบ้าที่ค้างไว้กลับปรากฏเป็นว่ามีผู้เทติด และตอนพระเกศสวยงามกว่าที่ตอนจะเป็น เป็นอัศจรรย์สืบถามได้ความว่า (มีชายผู้หนึ่งนุ่งห่มผ้าขาวมายกเบ้านั้นเทจนสำเร็จ) แต่ด้วยเหตุที่เบ้านั้นร้อนเมื่อเทเสร็จแล้ว ชายผู้นั้นจึงวิ่งไปทางเหนือบ้านน้ำโมงมีผู้เห็นยืนโลเลอยู่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วหายไป (หนองน้ำนั้นภายหลังชาวบ้านเรียกว่าหนองโลเลมาจนถึงปัจจุบันนี้ และชายผู้นั้นก็เข้าใจกันว่าเป็นเทวดามาช่วยสร้าง)

เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่หล่อแล้วมาประดิษฐานไว้ในวัด มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองเวียงจันทร์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงสองท่านชื่อว่า ท่านหมื่นจันทร์ กับ ท่านหมื่นราม ทั้งสองท่านนี้ได้เห็นพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสที่จะช่วยเหลือ จึงได้ช่วยกันก่อฐาน และทำราวเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้สร้าง ครั้นเมื่อขุนนางทั้งสองได้กลับถึงเมืองเวียงจันทร์แล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งครองเมืองเวียงจันทร์ในเวลานั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จมาทอดพระเนตรก็ทรงเกิดศรัทธาจึงได้สร้างวิหารประดิษฐานกับแบ่งปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสบริวารของพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้

  • 1 . ทางตะวันออกถึงบ้านมะก่องเชียงขวา( ทางฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย )
  • 2. ทางตะวันตกถึงบ้านหวากเมืองโสม ( อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี)
  • 3. ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ่ออาด ( อยู่ในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี)
  • 4. ทางเหนือไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คาดว่าน่าจะเป็น บ้านพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเมือง “กินายโม้” ส.ป.ป.ลาว ในปัจจุบัน

พลเมืองที่อยู่ในเขตข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยสาอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อ โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใดก็ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมพูองค์ตื้อทั้งสิ้น เช่น ผู้ใดเป็นช่างเหล็กก็ให้นำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ใดทำนาก็ให้นำข้าวมาเสีย ผู้ใดทำนาเกลือก็ให้เอาเกลือมาเสียทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ ที่ด้านหน้าของพระวิหารมีตัวหนังสือไทยน้อยหรือหนังสือลาวเดี๋ยวนี้อยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านไม่ได้ความติดต่อกัน พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกัน นับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระประธานซึ่งสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 3 เมตร 29 เชนติเมตร สูง 4 เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภู องค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เคารพนับถือมาก

ประวัติในหินศิลาจารึกเรื่องหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ แก้

  • 1. สร้างเมื่อพุทธศักราช 105 พระวรรษา
  • 2. พระชัยเชษฐาเป็นลูกเขยพระยาศรีสุวรรณ ภรรยาของพระชัยเชษฐาคือ พระนางศรีสมโพธิ มีลูก 4 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 1 คน
  • 3. พระชัยเชษฐา เกิดที่เมืองเวียงคุก ภรรยาเกิดที่เมืองจำปา ( บ. น้ำโมง ) ในปัจจุบันนี้
  • 4. นามวัด โกศีล สร้างได้ 1ปี 3 เดือน สมภาร ชื่อ พระครูอินทราธิราช อายุ 34 ปี พรรษา 15 มีพระอยู่ด้วย 12 รูป สามเณร 5 รูป
  • 5. ทางวัดโกศีล ทางยาว 1 เส้น 5 วา กว้าง 1 เส้น 10 วา
  • 6. วัดโกศีล เป็นวัดที่สำคัญมากกงจักรเกิดที่วัดนี้ พระชัยเชษฐาจึงเลื่อมใสจึงชักชวนคณะที่มีศรัทธารวม 8 คน สร้างพระพุทธรูปใหญ่หน้าตัก กว้าง3 เมตร สูง 4 เมตร รายนามบุคคลทั้ง8 คือ

พระชัยเชษฐา ท้าวอินทราธิราราช ท้าวเสนากัสสะปะ ท้าวอินทร ท้าวเศษสุวรรณ ท้าวพระยาศรี ท้าวดามแดงทิพย์ ท้าวอินสรไกรยสิทธิ์ รวมเป็นคน 12 ภาษาที่มาร่วมกันสร้าง พระชัยเชษฐาเป็นคนหล่อ

  • 7. พระชัยเชษฐาจึงป่าวร้องบริวาร 500 คนมาช่วยหล่อ เป็นทองเหลือง เงิน และคำผสมกันน้ำหนักได้หนึ่งตื้อ ทำพิธีหล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อเมื่อพระอินทร์และเทพยุดา 108 องค์มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ
  • 8. วัดโกศีล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สร้างอยู่ 7 ปี 7 เดือน จึงสำเร็จเป็นหลวงพ่อองค์ตื้อ
  • 9. เมื่อหล่อแล้ว มีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง 100 อย่าง
  • 10. พระพุทธรูปองค์นี้สิ้นเงิน 105,000 ชั่ง
  • 11. บ้านที่ขึ้นเป็นบริวารมี 13 บ้านคือ เมืองเวียงคุก กองนาง กำพร้า จินายโม้ ปากโค พรานพร้าว ศรีเชียงใหม่หนองคุ้งยางคำ หนองแซงศรี สามขา ท่าบ่อ พร้าว บ่อโอทะนา

การดำเนินงานในวัดศรีชมภูองค์ตื้อ แก้

งานด้านสาธารณูปการ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้บูรณะ ซ่อมแซม ก่อสร้าง เสนาสนะ ถาวัตถุต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ศาลาการเปรียญพระครูสังวรกัลยาณวัตร หอพระไตรปิฎก ศาลาเอนกประสงค์ ศาลากองอำนวยการ ห้องน้ำพระภิกษุสงฆ์ กุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ริมแม่น้ำโมง เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเป็นศูนย์อุทยานแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น และเป็นแหล่งสร้างบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนา

การบริหารการปกครอง วัดศรีชมภูองค์ตื้อ มีการบริหารปกครองเป็นแบบสังฆสภา ประชาธิปไตย โดยยึดหลักธรรมาธิปไตย มีคณะกรรมการบริหาร จัดการ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อยังศรัทธาให้เกิดแก่อุบาสกอุบาสิกา พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งใกล้และไกล ซึ่งมีพระภิกษุจำพรรษา ไม่ต่ำกว่า 15 รูป สามเณรไม่ต่ำกว่า 17 รูป ทุกปี

การศาสนศึกษา วัดศรีชมภูองค์ตื้อ แหล่งการศึกษาของพระภิกษุสามเณร รวมทั้งพุทธศาสนิกชนผู้สนใจทั่วไป เยาวชนนักเรียนนักศึกษา สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้จากวัดได้ทุกโอกาส ซึ่งได้เน้นศาสนศึกษาหลัก ๆ สำหรับพระภิกษุสามเณร คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (ประโยค 1-2, 3, 4,) การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษาสำหรับเยาวชนทั้งหลาย ซึ่งเป็นการปลูกฝังพุทธธรรม คุณธรรมจริยธรรมในจิตใจของเยาวชนของชาติ

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยวิธีการต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการอบรมค่ายพุทธธรรม โครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมต่อต้านยาเสพติด โครงการปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จัดแสดงธรรมในวันธัมมัสสวนะ จัดโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กับคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั่วไป จัดส่งพระวิทยากรดำเนินการอบรม ให้กับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั่วไป อบรม/บรรยายธรรมแก่ชีพราหมณ์ผู้ถือศีลอุโบสถตลอดเทศกาลเข้าพรรษา จัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ จัดพระวิทยากรสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนในเขตอำเภอท่าบ่อและอำเภอใกล้เคียง

การสาธารณสงเคราะห์ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้ให้การสนับสนุนแก่สังคมต่าง ๆ ตามสมควรแก่ฐานะ อาทิเช่น บริจาคที่ดินให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้เรียนดีแต่ยากจน บริจาควัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่โรงเรียน บริจาคปัจจัยสมทุบทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ บริจาคอุปกรณ์คอมพิเตอร์แก่หน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน บริจาคช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

ข้อวินิจฉัยในศิลาจารึก แก้

ในหลักศิลาจารึกข้อที่ 1 ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 105 นั้น ขัดต่อความเป็นจริง เพราะพระพุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 300 ล่วงแล้วเลข พ.ศ. ข้างหน้าที่ลบเลือนนั้นคงจะเป็น พ.ศ. 2150 เพราะในระหว่าง พ.ศ. 2105 อยู่ในระยะรัชสมัยของพระไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นระยะไล่เลี่ยกันกับที่พระไชยเชษฐา ได้ร่วมกับกรุงศรีอยุธยาสร้างเจดีย์ ศรีสองรักษ์ขึ้นที่อำเภอด้านซ้าย ในจังหวัดเลย ปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่พอจะอนุมานได้ว่า ผู้สร้างวัดศรีชมภูองค์ตื้อ คงเป็นพระเจ้าชัยเชษฐาแน่

ในศิลาจารึกข้อที่ 2 ที่ว่าพระชัยเชษฐาเป็นลูกพระยาศรีสุวรรณนั้น ขัดกับพระราชพงศาวดาร เพราะพระชัยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเวียงจันทร์นั้น เป็นบุตรพระยาโพธิสาร ดังแจ้งในพงศาวดาว่าพระยามหาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่พิลาลัยเมื่อ พ.ศ. 2082 พระโอรสทรงนามว่า เจ้าทรายดำ ได้ครองเชียงใหม่อยู่ 3ปีก็ทิวงคต ไม่มีโอรสราชนัดดา สืบสันติวงศ์ เสนาบดีเมืองเชียงใหม่ลงไปเฝ้าพระเจ้าล้านช้าง พระเจ้าล้านช้างพร้อมเจ้าเชษฐาวงศ์ ไปเยี่ยมพระศพถึงเชียงใหม่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2091 เสนาพฤฒามาตย์พร้อมกันยกราชสมบัติให้เจ้าเชษฐวงศ์เป็นเจ้าเชียงใหม่ ทรงพระนามว่าพระชัยเชษฐาธิราช พระยาโพธิสารเสด็จกลับหลวงพระบางได้ 2 ปี ก็ทิวงคตในปี พ.ศ. 2093 พระชัยเชษฐษธิราชจึงกลับไปครองนครล้านช้าง (จากหนังสือฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ข้อนี้ไม่มีหลักฐาน พระยาศรีสุวรรณกัลป์พระยาโพธิสารอาจเป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้

ในศิลาจารึกข้อที่ 3 ว่า พระชัยเชษฐาเกิดที่เมืองเวียงคุก ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพระยาโพธิสารธรรมมิกราชบิดาครองราชย์สมบัติอยู่ที่นครล้านช้าง หลวงพระบาง พระชัยเชษฐาต้องเกิดที่ล้านช้าง ส่วนเวียงคุกนั้นมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นทีหลัง เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เวียงจันทน์แล้ว แล้วที่ว่าภรรยาเกิดที่เมืองจำปาน้ำโมงนั้นไกลความจริงมาก เพราะพระอัครมเหสีของพระเจ้าชัยเชษฐเป็นธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ หรือว่าจะเป็นภรรยาน้อย ข้อนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน

ในศิลาจารึกข้อ 4 ชื่อวัดว่า “วัดโกศีล”นั้นน่าจะเป็นโกสีย์มากกว่า แต่ปัจจุบันนี้ ชื่อวัดศรีชมภูองค์ตื้อ

ในศิลาจารึกข้อ 5 เขตวัดทางยาวและทางกว้างแคบกว่าที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก ทั้งนี้เข้าใจว่า ทางหน้าวัดน้ำเซาะทางทิศเหนือและทิศใต้ให้แคบลง (เมื่อปี พ.ศ. 2489) ได้ตรวจสอบวัดดูปรากฏว่า แคบไม่ตรงกับศิลาจารึกแต่ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ซื้อขยายออกไปมากแล้วทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก

ในศิลาจารึกข้อ 6 ว่า กงจักรเกิดขึ้นนั้น คงมีรูปกงจักรอันเป็นรูปธรรมจักร ซึ่งมีตามวัดเก่า ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้หาดูไม่ได้แล้ว

ในศิลาจารึกข้อ 7 พระชัยเชษฐามีบริวารถึง 500 นี้ ต้องเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นพระชัยเชษฐาผู้ครองนครเวียงจันทน์แน่ การนับน้ำหนักและจำนวนในสมัยก่อนนั้น เขานับ สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน-โกฏิ-ตื้อ แต่ถ้าหมายถึงจำนวน ก็เติมอะสงไขยเข้าไปอีกเป็นอันดับสุดท้าย เพราะฉะนั้น คำว่า ตื้อ จึงเป็นน้ำหนักที่มากที่สุดแล้ว การสร้างพระมานานถึง 7 ปี 7 เดือน เห็นจะรวมน้ำหนักที่แน่นอนไม่ได้ พระก็องค์ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น สร้างก็ยาก หมดเปลืองก็มาก เพื่อให้สมกับความยากลำบากจึงกำหนดเอาว่า สร้างด้วยทองหนัก 1 ตื้อ ซึ่งความจริงสมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ก็ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่า โกฏิและตื้อนั้นมีค่าเท่าใดกันแน่ คงนับกันไปอย่างนั้นเอง การหล่อพระศักดิ์สิทธิ์ มักจะเป็นพระอินทร์หรือตาปะขาวมาช่วยจึงสำเร็จ ทั้งนี้เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรกต้องการจะให้คนนับถือ ประการที่สองสมัยนั้น คนดีมีวิชาอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะจะถูกรังแก จึงแกล้งปกปิดไว้ว่า เป็นเทวดามาหล่อ

ในศิลาจารึกข้อ 8 ว่า วัดโกศีลตั้งอยู่ริมน้ำโขงนั้น เป็นความจริง เพราะตามธรรมดาแม่น้ำย่อมคดเคี้ยว และเกิดมีคุ้งน้ำขึ้น น้ำโขงซึ่งกว้างราว 1 กม.เศษ ไหลผ่านศรีเชียงใหม่ พุ่งไปปะทะ ตอนใต้นครเวียงจันทน์ จินายโม่และบ่อโอทะนา เมื่อปะทะฝั่งลาวแล้ว กระแสน้ำก็กลับพุ่งมาปะทะฝั่งไทยตอนใต้ท่าบ่อ กระแสน้ำจะไหลปะทะสลับฝั่งกันเช่นนี้เรื่อยไป เมื่อถึงหน้าน้ำราว ๆ เดอน 7-9 น้ำจะเต็มฝั่งหรือล้นฝั่ง กระแสน้ำในแม่น้ำโขงจะไหลเชี่ยวเร็วประมาณ 15.20 กม. ทีเดียวฝั่งที่ถูกปะทะก็จะพัง ฝั่งตรงข้ามตอนใต้คุ้งน้ำ น้ำจะไหลค่อยและวน ดินจะตกตะกอนเมื่อน้ำลดก็จะเกิดเป็นดินงอกทุกปี วัดน้ำโมงก็เช่นเดียวกัน เดิมตั้งอยู่ริมโขงจริง แต่อยู่ใต้คุ้งน้ำตรงข้ามกับจินายโม่และบ่อโอทะนา ดินหน้าวัดจึงงอกออกเรื่อยมาเราจึงเห็นกันว่า วัดน้ำโมงจะอยู่ห่างจากตลิ่งแม่โขงไปทุกทีอย่างเช่นทุกวันนี้

ในศิลาจารึกข้อ 9 เมื่อหล่อแล้วมีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง 100 อย่างนั้น ในข้อนี้ ความเชื่อถือของชาวเมืองเชื่อมั่นว่า มีผีหรือเทวดารักษา คนนับถือมาก บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยไปขอน้ำมนต์มากินก็หายได้ คนไม่มีลูกไปขอก็มีได้ อะไรต่อมิอะไรร้อยแปดมากกว่า 100 อย่างเสียอีก

ในศิลาจารึกข้อ 10 ว่า การสร้างสิ้นเงินไปถึง 105,000 ชั่ง แต่ถ้าจะคิดถึงค่าราคาแห่งพระพุทธรูปงามองค์นี้ ในปัจจุบันแล้วมีค่าเหลือที่จะคณานับได้ เมื่อผู้ใดเข้าไปใกล้เฉพาะพระพักตร์แล้ว จะหายทุกข์โศกทันที พระพักตร์อมยิ้มนิด ๆ พระเนตรลืมสนิท พระนลาฏกว้างพระร่างอูม ส่วนพระกายนั่งตรงได้ส่วนสัด ประทับอยู่ในท่าสงบ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทำให้ผู้ได้พบเห็นองค์พระองค์ตื้อ เกิดมโนภาพคล้าย ๆ เข้าไปนั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดความปีติและมีศรัทธาขึ้นทันที อันเป็นธรรมาภินิหารเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้พลเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่ายิ่งกว่าสมบัติใด ๆ ที่ท่านโบราณาจารย์วางราคาไว้ถึง 105,000 ชั่ง ข้าพเจ้าคิดว่ายังถูกไป

ในศิลาจารึกข้อ 11 นั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นวัดซึ่งพระเจ้าชัยเชษฐาเป็นผู้สร้างแน่ เพราะมีบริวารถึง 13 บ้าน วัดที่จะมีบริวารได้ต้องเป็นวัดหลวง ชาวบ้านเหล่านั้นต้องส่งส่วยแก่วัดโดยไม่ต้องกระทำกิจใด ๆ แก่ทางราชการ คงเป็นแต่ข้าของพระองค์ตื้อ เช่นเดียวกับข้าพระธาตุพนม ซึ่งยังคงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ ในวันเทศกาลนมัสการพระองค์ตื้อ ชาวบ้านที่เป็นข้าจะต้องนำเครื่องมาสักการบูชา ถ้ามิฉะนั้น ผีหรือเทวดาผู้รักษาจะลงโทษ


ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม แก้

ในอดีตพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ล้านช้างผู้สร้างพระเจ้าองค์ตื้อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ทรงสถาปนาและทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ มากมาย พุทธศิลป์ในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากล้านนามาก รวมทั้งพระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปทองสำริดขนาดใหญ่ที่วัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์ และวัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

สิทธิพร ณ นครพนม อธิบายไว้ในเอกสารประกอบการสัมมนาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จังหวัดหนองคายว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ” พระพุทธรูปขนาดใหญ่หนัก 1 ตื้อ (ประมาณ 12,000 กิโลกรัม ตื้อเป็นมาตรวัดของคนล้านนา) ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อพ.ศ. 2105 เชื่อกันว่า เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระนางยอดคำทิพย์ พระบรมราชชนนีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทั้งกำหนดเป็นพระราชพิธีที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการ พระเจ้าองค์ตื้อทุกเดือน 4 เสด็จพร้อมขบวนช้าง ม้า มาสักการะจากวัดท่าคกเรือ อำเภอท่าบ่อถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ถนนนี้จึงมีชื่อว่า “จรดลสวรรค์” มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาทินัดดามาศ เสด็จเป็นองค์ประธานยกช่อฟ้าขึ้นสู่วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ (ม.ว.ก.) ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบรรณของวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ และได้ทรงมอบพระนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์จารึกลงในแผ่นศิลาหินอ่อนไว้ด้านหน้าของตัววิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อด้วย


มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในบริเวณวัด แก้

  • 1. อุโบสถ สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน)
  • 2. วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ จำนวน 1 หลัง ทำลายหน้าบรรณ ติดกระจก พร้อมตาข่ายกันนก สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ 30,000,000 บาท

(สามสิบล้านบาทถ้วน)

  • 3. ศาลาการเปรียญ จำนวน 1 หลัง 2 ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ค่าก่อสร้างประมาณ 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
  • 4. กุฏิ จำนวน 7 หลัง 2 ชั้น สร้างด้วยไม้ ก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ 13,000,000 บาท (สิบสามล้านบาทถ้วน)
  • 5. ศาลาเอนกประสงค์ สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ 500,000 บาท

(ห้าแสนบาทถ้วน)

  • 6. ศาลากองอำนวยการ สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ 1,000,000 บาท

(หนึ่งล้านบาทถ้วน)

  • 7. หอพระไตรปิฎก 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุประจำหมู่บ้าน สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ 5,200,000 บาท (ห้าล้านสองแสนบาทถ้วน)
  • 8. ศาลาริมน้ำ (ประรำพิธี) สร้างด้วยเหล็ก 2 ตอน กว้าง 10 เมตร ยาว 100 เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน)9. ถังน้ำประปา จำนวน 1 ชุด สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 30 เมตร บรรจุน้ำได้ 50,000 ลิตร มูลค่าการก่อสร้าง 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) ห้องน้ำ จำนวน 4 หลัง 30 ห้อง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

มูลค่าการก่อสร้าง 853,000 บาท (แปดแสนห้าหมื่นสามพันบาทถ้วน)

  • 9. ซุ้มประตู จำนวน 1 ซุ้ม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 12 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 900,000 บาท (เก้าแสนบาทถ้วน)
  • 10. ป้อมตำรวจ รักษาความปลอดภัยภายในวัด และอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำในตัว มูลค่าก่อสร้าง 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)

ปัจจุบันวัดศรีชมภูองค์ตื้อกำลังพัฒนาถาวรวัตถุดังต่อไปนี้ แก้

ตอกเสาเข็ม เทคานยึดหน้าดิน สร้างที่กั้นริมตลิ่งแม่น้ำโมง สร้างระเบียงริมแม่น้ำโมง ก่ออิฐโบกปูน ปูพื้นด้วยกระเบื้อง กว้าง 3 เมตร ยาว 300 เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 3,000,000 บาท (สามล้านบาทถ้วน)

มีประชาชนบำรุงวัด ประมาณ 100,000 - 200,000 คน และในวัดธรรมสวนะวันอุโบสถ มีประชาชนมาประกอบศาสนกิจเฉลี่ยนครั้งละ ประมาณ 350-400 คน

กิจกรรมพิเศษในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางศาสนา แก้

  • 1 วันมาฆบูชา จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั่วไป และครูอาจารย์นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ประมาณโรงเรียนละ 500 คนไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล บรรยายธรรม เวียนเทียนในตอนเย็น
  • 2 วันเทศกาลนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อประจำปี ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี
  • 3 วันเทศกาลตรุษสงกรานต์ประจำปี ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน ทุกปี
  • 4 วันวิสาขบูชา จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั่วไป และครูอาจารย์นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ประมาณโรงเรียนละ 500 คน มีการไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล บรรยายธรรม เวียนเทียนในตอนเย็น
  • 5 วันอาสาฬหบูชา จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั่วไป และครูอาจารย์นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ประมาณโรงเรียนละ 500 คน มีการไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล บรรยายธรรม เวียนเทียนในตอนเย็น
  • 6 วันเข้าพรรษา จัดให้มีการทำบุญตักบาตรรอบวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ บรรยายธรรม มีประชาชนร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศล ประมาณ 300 - 400 คน
  • 7 วันออกพรรษา จัดให้มีการทำบุญตักบาตรกลางหมู่บ้าน บรรยายธรรม มีประชาชนร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศล ประมาณ 300 - 400 คน
  • 8 โครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช ระหว่าง 4 - 6 ธันวาคม ทุกปี จัดให้นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมบวชชีพราหมณ์ ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกิจกรรมการทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมบรรยาย ปฏิบัติกรรมฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ แยกฐานปฏิบัติเป็นกลุ่ม ๆ
  • 9 วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 31 - 1 มกราคม ทุกปี จัดให้มีการบำเพ็ญบุญกุศล ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมบรรยาย ประชาชนร่วมงานปีละประมาณ 50,000 - 70,000 คน

อ้างอิง แก้

  • จารุวรรณ ธรรมวัตร. แลลอดพงศาวดารลาว. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, [ม.ป.ป.].
  • สงวน รอดบุญ, ผศ. พุทธศิลปลาว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526. 214 หน้า.
  • สิทธิพร ณ นครพนม. เอกสารจากการสัมมนาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหนองคาย. [ม.ป.ป.].