วัดสิริมหากัจจายน์

วัดในจังหวัดหนองคาย

วัดสิริมหากัจจายน์ หรือ วัดธาตุ เป็นวัดราษฎร์ นิกายเถรวาท (มหานิกาย) ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

วัดสิริมหากัจจายน์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดธาตุ
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ไทย ประเทศไทย 43000
ประเภทวัดราษฏร์มหานิกาย
นิกายเถรวาท มหานิกาย
จุดสนใจพระธาตุกลางน้ำ (พระธาตุหล้าหนอง)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

พระธาตุหนองคาย หรือ พระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน

ในหนังสืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้ สร้างโดยพระอรหันต์ 5 องค์ ประกอบด้วย พระมหารัตนเถระ, พระจุลรัตนเถระ, พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ, พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ที่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต พระอรหันต์ทั้ง 3 องค์

พระอรหันต์ทั้ง 5 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากประเทศอินเดียมาพร้อมกันและได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้พร้อมกัน 6 แห่ง คือ

 
ภาพวาดพระธาตุหล้าหนอง จากบันทึกการสำรวจแม่น้ำโขงของฟรองซัวส์ การ์นิเยร์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส วาดเมื่อ พ.ศ. 2411

พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์เจดีย์พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งบริเวณวัดธาตุแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พอถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงได้ไหลเชี่ยวกรากจะกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุจนพังทลายหายไป ซึ่งตามพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ ตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร ภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า "ศักราชได้ 209 ปีเมิงมด ... เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำวันศุกร์ ยามแลงใกล้ค่ำมื้อฮับไค้ พระธาตุใหญ่หนองคายเพ (พัง) ลงน้ำของมื้อนั้นแล" คำนวณตามปฏิทินไทยปัจจุบัน ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม นพศก จ.ศ. 1209 ส่วนทางสุริยคติตรงกับวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2390

ฟรองซัวส์ การ์นิเยร์ ชาวฝรั่งเศส หนึ่งในคณะสำรวจอินโดจีนในอาณาจักรล้านช้าง ได้วาดภาพลายเส้นของพระธาตุหล้าหนองนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2411 พร้อมคำบรรยายภาพว่า "ปิรมิด หรือองค์พระธาตุตั้งอยู่บนพื้นที่รูปครึ่งวงกลมที่ถูกตัดขาดจากฝั่งแม่น้ำด้านขวา หรือฝั่งไทย โดยปิรมิดแห่งนี้ถูกน้ำพัดขาดจากที่ตั้งเดิมบนริมฝั่งสิบปีมาแล้วและยังเอียงลงสู่น้ำราวกับเรืออับปางที่พร้อมจะจมลง"

ปัจจุบัน แก้

 
พระธาตุหล้าหนองจำลอง สร้างขึ้นโดยอ้างอิงตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระธาตุหล้าหนององค์เดิมที่พังลงแม่น้ำโขง

ปัจจุบันองค์พระธาตุจมอยู่กลางแม่น้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉาก โดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จต่อขึ้นมาอีก 4 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ต่อด้วยบัวลูกแก้วอีก 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานองค์พระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร

พระธาตุหล้าหนอง เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคาย และชาวบ้านได้จัดงานประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุในทุกปี คือประเพณีบุญบั้งไฟ เดือน 6 เพื่อจุดถวายองค์พระธาตุ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พิธีบวงสรวงองค์พระธาตุ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ถวายปราสาทผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และการแข่งเรือยาววันออกพรรษาทุกปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

การที่องค์พระธาตุจมลงไปในแม่น้ำโขง ทำให้ชาวหนองคายต้องการบำรุงรักษาพุทธสถานแห่งนี้ไว้ จึงร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การสร้างองค์พระธาตุหล้าหนองจำลองขึ้น แล้วบรรจุชิ้นส่วนพระธาตุองค์จริงเข้าไว้ข้างใน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำโขงขึ้น โดยขนาดพระธาตุองค์จำลอง ฐานกว้าง 10x10 เมตร ความสูงประมาณ 15 เมตร พร้อมทั้งการเสริมสร้างเสถียรภาพตลิ่งและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตลอดความยาว 194 เมตร