บั้งไฟพญานาค

ปรากฎการณ์ในแม่น้ำโขง

บั้งไฟพญานาค หรือก่อน พ.ศ. 2529 เรียก บั้งไฟผี[1] เป็นลูกไฟที่ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น และไม่มีควัน ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในสองฝั่งแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับลาวต่างก็เชื่อกันว่า ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง[2] บั้งไฟพญานาคเกิดช่วงวันออกพรรษาทุกปี

ภาพถ่ายกระสุนส่องวิถีเปิดหน้ากล้องนาน 30 วินาที ในคืนวันออกพรรษา พ.ศ. 2555 ที่อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย

ใน พ.ศ. 2555 ผู้จัดการออนไลน์ ลงข่าวที่มีช่างภาพไปถ่ายภาพบั้งไฟพญานาค ช่างภาพเล่าว่า จากสายตาพวกเขาเห็นตรงกันว่าลูกไฟนั้นขึ้นจากน้ำ แต่ภาพที่บันทึกด้วยการเปิดหน้ากล้อง 5–30 วินาทีเป็นภาพต่อเนื่องเหมือนเลเซอร์ซึ่งมีจุดเริ่มอยู่บนบกของฝั่งลาวที่ห่างจากไทยประมาณ 1 กิโลเมตร ช่างภาพอีกคนว่า บริเวณที่จัดไว้ให้ชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนั้นมืดมาก[1]

ลักษณะ

แก้

ลักษณะบั้งไฟพญานาคเป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1–30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50–150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5–10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อย ๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ[3]

นายวินิจ พลพิทักษ์ หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดหนองคาย อธิบายว่า ทั่วจังหวัดหนองคายมีตำแหน่งที่มักปรากฏบั้งไฟพญานาคประมาณ 20 จุด โดยพบที่อำเภอโพนพิสัยมากที่สุด บั้งไฟพญานาคยังขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ บ่อน้ำ ลำห้วย ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำน้ำโขงราว 500 เมตร ก็มีผู้พบเห็น สำหรับระยะเวลาในการขึ้นของบั้งไฟพญานาคนั้นจะขึ้น ระหว่างตะวันตกดินถึงประมาณ 23.00 น.[3]

คำอธิบาย

แก้

ปรากฏการณ์ธรรมชาติ

แก้

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือ แก๊สมีเทน-ไนโตรเจนเกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55–13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ 16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียสทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีแก๊สมีเทนจากการหมัก 3–4 ชั่วโมง มากพอให้เกิดความดันก๊าชในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้[4]

น.พ.มนัส กนกศิลป์ กล่าวในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ว่า "บั้งไฟพญานาคน่าจะเป็นสสาร และจะต้องมีมวล เพราะแหวกนํ้าขึ้นมาได้ จึงน่าจะเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เอง และต้องเบากว่าอากาศ"[4] เขายังพบว่าความเป็นกรดด่างของน้ำในแม่น้ำโขงสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ที่จะเกิดการหมักมีเทน ซึ่งเขาเคยไปวางทุ่นดักก๊าซในแม่น้ำโขง และพบว่าก๊าซที่ดักได้ในแม่น้ำโขงสามารถนำไปจุดติดไฟ จะเกิดการพุ่งวูบขึ้นมีสีออกเป็นแดงอมชมพู ส่วนคำถามที่ว่าทำไมบั้งไฟพญานาคถึงเกิดขึ้นในคืนวันออกพรรษา เขาบอกว่าในคืนนั้นมีอ็อกซิเจน ก๊าซที่ช่วยให้ติดไฟสูงสุดในรอบปี ซึ่งก็เกิดจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงพลังงานรังสีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก[5]

มีคำอธิบายที่คล้ายกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงในฟิสิกส์พลาสมา (plasma physics) โดยเป็นลูกพลาสมาลอยอิสระซึ่งสร้างจากไฟฟ้าสถิต (เช่น จากตัวเก็บประจุ) ถูกปล่อยสู่สารละลาย[6] ทว่า การทดลองบอลพลาสมาส่วนใหญ่กระทำโดยใช้ตัวเก็บประจุค่าแรงดันสูง ตัวกำเนิดสัญญาณไมโครเวฟหรือเตาอบไมโครเวฟ มิใช่ภาวะธรรมชาติ

การกระทำของมนุษย์

แก้

สารคดีของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีใน พ.ศ. 2545 แสดงทหารลาวยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นฟ้า และมีเสียงเฮที่ดังมาจากฝั่งไทยที่มารอชมบั้งไฟพญานาค[7]

ปิ่น บุตรี ได้เขียนบทความลงในผู้จัดการออนไลน์ ใน พ.ศ. 2556 ว่า สกู๊ป (ของไอทีวี) ที่ว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากการยิงปืนของทหารลาวนั้นถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ และยังถูกคนจับผิดและหาข้อมาหักล้าง ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของการยิงปืนที่ต้องมีเสียง ควัน และมีวิถีการพุ่งที่เร็วมากแถมสีก็แตกต่างกับลูกไฟประหลาดที่พวยพุ่งขึ้นมา พุ่งช้ากว่า ไม่มีควัน เสียงไม่ดังเท่า นอกจากนี้ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคยังมีบันทึกว่าเกิดขึ้นมานับร้อย ๆ ปี มาก่อนการยิงปืนของทหารนานแล้ว[8]

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 มีข่าวว่าเพจ "พิสูจน์บั้งไฟพญานาค" ยื่นหนังสือเป็นรายชื่อหมู่บ้านจากฝั่งลาวที่ยิงกระสุนส่องแสงหลอกว่าเป็นบั้งไฟพญานาค พร้อมทั้งหลักฐานภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้กับสถานทูตลาวเพื่อช่วยตรวจสอบ[9]

ความเชื่อ

แก้

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับลาวต่างก็เชื่อกันว่า เกิดจากการกระทำของพญานาค และยังระบุอีกว่า ตราบเท่าที่ความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านเกี่ยวกับพญานาคยังคงอยู่ คนอื่น ๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ก็ควรยึดหลัก "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่"[10]

เศรษฐกิจ

แก้

ใน พ.ศ. 2558 นายอนุชิต สกุลคู ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดหนองคายกว่า 3 แสนคน หากคิดว่าใช้จ่ายคนละ 500 บาท จะทำให้มีเงินสะพัดกว่า 150 ล้านบาท นอกจากนี้ จังหวัดหนองคายยังเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว[11]

วัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

มีการนำเรื่องข้อสงสัยที่มาของบั้งไฟพญานาค มาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 โดย จิระ มะลิกุล ออกฉายเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งเรื่องราวเนื้อหาในภาพยนตร์นั้น บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ""เปิดหน้ากล้อง" พิสูจน์ "บั้งไฟพญานาค" มาจากฝั่งลาว". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  2. Let there be lights! เก็บถาวร 2010-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Nation, retrieved on 2008-12-11
  3. 3.0 3.1 "เลาะริมโขง รู้จักจุดชม"บั้งไฟพญานาค"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-14. สืบค้นเมื่อ 2007-10-22.
  4. 4.0 4.1 พิสูจน์ปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” กับหลักวิทยาศาสตร์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์, 28 ตุลาคม 2547
  5. "บั้งไฟพญานาค: ปฏิกิริยาเคมีในลำโขง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-14. สืบค้นเมื่อ 2007-10-22.
  6. "Free Floating Plasma Orb". American Physical Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-13. สืบค้นเมื่อ 2015-11-01.
  7. "เบื้องหลังบั้งไฟพญานาค", ถอดรหัส, ไม่ทราบสตูดิโอ, 2545. [1]
  8. ปิ่น บุตรี. "ออกพรรษาได้เวลา "บั้งไฟพญานาค"...ปรากฏการณ์มหัศจรรย์แห่งลำน้ำโขง". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  9. "แอดมินเพจ "พิสูจน์บั้งไฟพญานาค" ยื่นเอกสารสถานทูตลาว สืบความจริงบั้งไฟพญานาคปมยิงกระสุนส่องแสง". สยามรัฐ. 25 October 2021. สืบค้นเมื่อ 25 October 2021.
  10. "เล่าขานตำนานบั้งไฟพญานาค". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-24. สืบค้นเมื่อ 2007-10-22.
  11. "มนต์บั้งไฟพญานาคหนองคาย เงินสะพัด150ล้านบาท!". ประชาชาติธุรกิจ.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้