เจ้าจอมนรินทร์ หรือ พระยานรินทรสงคราม (ทองคำ ลาวัณบุตร) เจ้าเมืองสี่มุมหรือเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๒ ปัจจุบันคืออำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ และเจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภูชั่วระยะหนึ่ง ปัจจุบันคือจังหวัดหนองบัวลำภู[1] คนทั่วไปขานนามว่า พระยาโนลิน หรือ พระยานรินทร์ หรือ เจ้าจอมปากซ่องภูเวียง เป็นเจ้านายลาวเวียงจันทน์คนสำคัญที่ร่วมมือกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ในสงครามเจ้าอนุวงศ์ ตรงกับสมัย ร. ๓ ของรัตนโกสินทร์ เอกสารประวัติศาสตร์ของประเทศลาวจำนวนมากยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญที่มีส่วนกอบกู้เอกราชให้ชนชาติลาว

พระยานรินทรสงคราม (ทองคำ ลาวัณบุตร)
เจ้าเมืองสี่มุม (จัตุรัส)
ก่อนหน้าพระนรินทรสงคราม (จารย์คำ ลาวัณบุตร)
ถัดไปพระยานรินทรสงคราม (บุตร ลาวัณบุตร)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดนครหลวงเวียงจันทน์
เสียชีวิตค่ายเมืองหนองบัวลุ่มภู บ้างว่าริมน้ำเซินเมืองชัยภูมิ
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระประวัติ

แก้

ชาติภูมิ

แก้

เจ้าจอมนรินทร์เดิมนามว่า ท้าวทองคำ บิดาตั้งนามให้พร้องกับนามบิดา บรรพบุรุษเป็นลาวเวียงจันทน์ กำเนิดที่นครหลวงเวียงจันทน์ราวสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ (สมเด็จพระเจ้าสิริบุนสาน, ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) แห่งนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นบุตรพระนรินทรสงคราม (ท้าวจารย์คำ) เจ้าเมืองสี่มุมองค์แรกและอดีตกวานบ้านนารายณ์ บิดาอพยพไพร่พลตั้งรกรากที่บ้านนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ท้าวจารย์คำจึงติดตามบิดามาด้วย[2]

ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสี่มุม

แก้

หลังสยามเสียอยุธยาแก่พม่า พระยาตากตั้งตนเป็นเจ้าเมืองธนบุรียกทัพปราบก๊กเจ้าพิมาย (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) ซึ่งร่วมมือกับกรมหมื่นเทพพิพิธราชวงศ์องค์สำคัญจากอยุธยาสถาปนาพิมายเป็นราชธานีใหม่ ท้าวจารย์คำบิดาและราษฎรบ้านนารายณ์ถูกบังคับให้สวามิภักดิ์ต่อพระยาตากและเกณฑ์ราษฎรบ้านนารายณ์ตีด่านจอหอแตก เข้าใจว่าพระยาตากเห็นท้าวจารย์คำฝีมือรบดีมีวิชาความรู้ เมื่อปราบก๊กเจ้าพิมายสำเร็จจึงแต่งตั้งยศเป็นพระนรินทรสงครามเจ้าเมืองสี่มุมองค์แรกขึ้นเมืองนครราชสีมา แต่ปัจจุบันถูกลดฐานะเป็นบ้านสี่มุมในตำบลพลกรัง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตามท้าวจารย์คำอาจเป็นเจ้าเมืองสี่มุมมาก่อนหน้านั้นแล้ว พระนรินทร์สงคราม (จารย์คำ) มีบุตรคือท้าวทองคำเป็นคนมีความรู้เฉลียวฉลาดเช่นบิดาและเป็นกำลังสำคัญช่วยราชการงานเมืองปราบโจรผู้ร้าย เมื่อบิดาอนิจกรรมเวียงจันทน์จึงแต่งตั้งเป็น พระนรินทรสงคราม เจ้าเมืองสี่มุมองค์ที่ ๒ ต่อมาพระนรินทรสงคราม (ทองคำ) เห็นว่าชัยภูมิเมืองไม่เหมาะขยายเป็นเมืองใหญ่จึงปรึกษากรมการเมืองย้ายที่ตั้งห่างจากเมืองเดิมราว ๔๐ กม.[3]

เลื่อนเป็นพระยาและแม่ทัพใหญ่

แก้

พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครหลวงเวียงจันทน์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๔๗-๗๑) ชักชวนเจ้าเมืองหัวเมืองลาวฝั่งขวาร่วมทัพต่อต้านอำนาจปกครองสยาม พระนรินทรสงคราม (ทองคำ) เข้าร่วมสนับสนุนเต็มที่เนื่องจากเป็นลาวด้วยกัน จึงเลื่อนยศสูงขึ้นเป็น พระยานรินทรสงคราม กินตำแหน่งเจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภูและแม่ทัพใหญ่รักษาค่ายหนองบัวลุ่มภู ทัพลาวกวาดต้อนครัวลาวที่ถูกสยามกวาดต้อนจากนครหลวงเวียงจันทน์แต่สมัยธนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๒๑ ให้มาตั้งรกรากที่เมืองสระบุรี นครราชสีมา และหัวเมืองเมืองใกล้เคียงกลับคืนไปฝั่งซ้ายน้ำโขง เมื่อสยามทราบข่าวจึงยกทัพตามไป ลาวถอยทัพตั้งรับ ๒ พื้นที่ ได้แก่

๑. พื้นที่หลักคือบริเวณจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบันโดยตั้งค่ายหลัก ๔ แห่งคือ ค่ายหนองบัวลุ่มภูมีพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) เป็นแม่ทัพ กำลังทหาร ๓,๐๐๐ นาย ค่ายช่องข้าวสารเจ้าอนุวงศ์ควบคุมด้วยพระองค์เอง กำลังทหาร ๒๐,๐๐๐ นาย ค่ายตำบลสนม (ต่อมาตั้งเป็นเมืองนครสนม) พระยาเชียงสาเป็นแม่ทัพ กำลังทหาร ๕,๐๐๐ นาย และค่ายซ่องงัวแตก (ช่องวัวแตก) นายกองคำเป็นแม่ทัพ กำลังทหาร ๔,๐๐๐ นาย รวมพื้นที่หลักมีกำลัง ๓๒,๐๐๐ คน

๒. พื้นที่รองคือพื้นที่ปีกขวาหรือลุ่มน้ำป่าสัก ตั้งทัพอยู่เมืองหล่ม (หล่มศักดิ์) สมเด็จเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) พระราชโอรสเป็นแม่ทัพใหญ่ พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างมี ๒ ค่ายคือ ค่ายเมืองร้อยเอ็ดและค่ายเวียงคุก เมืองยโสธร พื้นที่ลุ่มน้ำมูลเดิมมี ๓ ค่ายคือ ค่ายนอกเมืองโคราช (นครราชสีมา) ค่ายมูลเค็งเมืองพิมาย และค่ายเมืองสุวรรณภูมิ ภายหลังเจ้าอนุวงศ์ถอนกำลังกลับจึงโปรดฯ ให้เผาค่ายนี้

เมื่อทัพสยามทราบว่ากองทัพนครหลวงเวียงจันทน์ถอยจากสระบุรีและนครราชสีมา จึงเริ่มแผนโจมตีโดยแบ่งกำลังเป็น ๓ ทัพ กองทัพหลวงประชุมตั้งที่ท่าเรือพระพุทธบาทเมืองสระบุรีแล้วเดินทัพผ่านดงพระยาไฟและดงพระยากลางมุ่งสู่นครราชสีมา ตีขึ้นเหนือทางเมืองชัยภูมิ ช่องสามหมอเมืองภูเวียง เข้าสู่ค่ายหนองบัวลุ่มภู โดยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพ เมื่อเข้าสู่ค่ายหนองบัวลุ่มภูพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) ต่อสู้กับสยามเป็นสามารถ[4]

วีรกรรมที่มีชื่อเสียง

แก้

เอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุวีรกรรมพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) ตั้งทัพลาวต้านสยามและไม่ยอมเป็นข้าสยามในตอนที่ ๓๔ พระยาราชสุภาวดีตีค่ายเวียงคุกเมืองยโสธรแตก ดังนี้

...ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีตั้งแต่ได้ให้หนังสือลับไปถึงอุปราชแล้ว คอยฟังข่าวก็ไม่เห็นอุปราชตอบมา จึ่งให้คนไปสืบได้ข่าวว่า อุปราชยกไปตั้งอยู่หนองหารแล้ว พระยาราชสุภาวดีก็ยกไปตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธร อุปฮาดราชวงศ์เมืองยโสธรสู้รบแข็งแรง ครั้นพระยาราชสุภาวดีตีค่ายเวียงคุกแตก ก็จับแต่บรรดาครอบครัวอุปฮาดราชวงศ์ซึ่งเข้าด้วยอนุมาคลอกเสียสิ้นประมาณ ๑๐๐ คนเศษ ฝ่ายทัพหลวง โปรดให้ทัพพระยาจ่าแสนยากร พระยากระลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาณรงควิไชย กองเจ้าพระยามหาโยธา ทั้ง ๕ ทัพ กับทัพหม่อมเจ้าขุนเณร คุมคนโทษเป็นกองโจร รวมเป็นคน ๘,๔๐๐ คน ยกล่วงหน้าขึ้นไปตีค่ายหนองบัวลำภูก่อน แล้วทัพเหล่านั้นก็ยกตามเป็นลำดับกันขึ้นไปทางบ้านสามหมอ ครั้นณเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ทัพหลวงก็ยกจากเมืองนครราชสีมาขึ้นไปตั้งอยู่น้ำเชิน ทัพหน้าเข้าตีค่ายหนองบัวลำภูแต่ณวันอังคารเดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พระยานรินทร์แม่ทัพลาวได้สู้รบทัพไทยเป็นสามารถ ทัพไทยตีค่ายหนองบัวลำภูแตกแต่ณวันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ[5] จับได้พระยานรินทร์ส่งมาทัพหลวง รับสั่งให้ถามพระยานรินทร์ว่าจะเลี้ยง จะอยู่หรือไม่อยู่ พระยานรินทร์ไม่สวามิภักดิ์ ก็โปรดให้เอาช้างแทงเสีย ข้างทัพไทยเสียพระยาเกียรติ์นายทัพคนหนึ่ง แต่ผู้น้อยไพร่พลไม่แจ้งว่าเท่าไร ครั้นได้ค่ายหนองบัวลำภูแล้ว เดินทัพขึ้นไปตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งส้มป่อย ๆ ห่างช่องเขาสารประมาณ ๒๕๐ เส้น...[6]

เหตุการณ์สงครามที่หนองบัวลุ่มภูในเอกสารฝ่ายสยาม

แก้

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุเหตุการณ์ที่เมืองหนองบัวลุ่มภูหลายตอน ตอนที่ ๒๘ อนุถอยทัพ ระบุว่า

...ฝ่ายราชวงศ์กวาดต้อนครอบครัวเมืองสระบุรี พอเดินครัวขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาแจ้งความแก่อนุว่า ได้ครัวไทย ๑๐ จีน ๒๐ ครัวลาว ๑๐๐๐๐ คนเศษ เดินครัวออกจากเมืองสระบุรีณวันอังคาร ๓ แรม ๙ ค่ำ ได้ข่าวเล่าลือว่าทัพกรุงยกขึ้นมาทุกทาง อนุจึงปรึกษากันว่าจะตั้งรับกองทัพกรุงอยู่ที่เมืองนครราชสีมาเห็นจะไม่ได้ กลัวจะเป็นศึกขนาบ ต้องแยกย้ายไพร่พลไปสู้รบหลายทาง ถ้าถอยไปตั้งรับหนองบัวลำภูดีกว่าที่นี้ จึงสั่งให้เผาเมืองนครราชสีมาและยุ้งฉางและค่ายของตัวเสียแล้วก็ยกทัพกลับไปเมื่อณเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ให้ราชวงศ์ยกขึ้นไปทางเมืองหล่ม...[7] ตอนที่ ๔๑ งานพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ กล่าวว่า ...ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่สมุหนายก ขึ้นไปถึงเมืองภูเขียวเมื่อเดือน ๘ บูรพาสาธ รวบรวมสะเบียงอาหารผู้คนได้พร้อมกันก็ยกขึ้นไปถึงหนองบัวลำภู จึ่งแต่งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา หลวงสุเรนทรวิชิต คุมไพร่ ๕๐๐ คนยกขึ้นไปตั้งอยู่พันพร้าว พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม จัดคนข้ามฟากไปเมืองเวียงจันท์ ไปหาเพี้ยเมืองจัน ท้าวเพี้ยมาปรึกษาราชการ คนใช้กลับมาแจ้งความว่า ลาวเมืองเวียงจันท์จับเอาตัวคนใช้ไว้ได้ ๗ คน พากันหนีมาหาพระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม ได้ ๓ คน แจ้งว่าที่เมืองเวียงจันท์เห็นพวกลาวถือเครื่องศาตราวุธสับสนวุ่นวายประหลาดอยู่ พระยาราชรองเมืองจึ่งแบ่งคนให้ พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต นายไพร่ ๓๐๐ คน ข้าไปฟังราชการณเมืองเวียงจันท์ พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิตไปตั้งอยู่วัดกลาง...[8] และตอนที่ ๓๕ อนุทิ้งที่สำคัญหนีไปเวียงจันท์ กล่าวว่า ...ฝ่ายทัพเจ้าพระยาอภัยภูธรยกขึ้นไปถึงเมืองหล่ม พอกองทัพพระยาเพ็ชร์พิไชย พระยาไกรโกษามาถึง ก็ตีทัพราชวงศ์แตกไป พาตัวพระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มไปด้วย ก็เข้าหาอนุที่ช่องเขาสาร ฝ่ายอนุตั้งอยู่ที่ช่องเขาสารรู้ว่าค่ายหนองบัวลำภูแตกแล้วก็เสียใจ คิดว่าจะสู้รบมิได้ก็ทิ้งที่สำคัญเสีย ให้พระยาสุโก ชานน นายทัพนายกองอยู่รักษาค่าย แต่อนุนั้นปดว่าจะขึ้นไปจัดเมืองเวียงจันท์ไว้สู้รบ อนุก็รีบขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ เก็บทรัพย์สิ่งของบุตรภรรยาลงบรรทุกเรือ บุตรที่ไปด้วยนั้นชื่อเจ้าราชวงศ์ สุทธิสาร เจ้าไชยสาร เจ้าเสือ เจ้าเถื่อน เจ้าเหมน เจ้าช้าง เจ้าอึงคำ เจ้าขัติยะ เจ้าพุทธชาติ เจ้าดิศพงศ์ เจ้าเต้ เจ้าหนูจีน เจ้าสุพรรณ กับบุตรเจ้าอุปราชชื่อเจ้าเอบ เจ้าปาน เจ้าสุพรหม เจ้าอัง กับมารดาอุปราช แล้วก็สั่งให้ฆ่าพระอนุชิตพิทักษ์ พวกมหาดเล็ก พระสงฆ์ ที่เป็นไทยเสียสิ้น เมื่อเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ อนุก็ล่องน้ำไปขึ้นที่เมืองมหาไชยกองแก้ว เดินบกไปอาศัยอยู่เมืองล่าน้ำ ญวนเรียกว่า แง่อาน...[9]

เจ้าจอมนรินทร์ในเอกสารฝ่ายสยาม

แก้

จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์: ใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑

แก้

จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์พบว่า ฝ่ายสยามออกพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์และพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) อย่างหยาบคายและดูหมิ่นพระเกียรติยศอย่างมาก รายละเอียดในใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑ กล่าวถึงพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) ดังนี้

...วันศุกร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุน นพศก (พ.ศ. ๒๓๗๐) หมื่นชำนาญตำรวจถือหนังสือบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับ ๑ กับคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ลงมาว่า หนังสือพระยาจ่าแสนยากร มาถึงพระยาศรีสหเทพให้นำเอาขึ้นกราบบังคมพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ ด้วยมีพระบัณฑูรโปรดเกล้าฯ ให้บอกลงมาว่า ได้บอกข้อราชการให้สมิงชัยเสนถือลงมาแต่ก่อนแจ้งอยู่แล้ว ครั้นณวันเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ เสด็จยกขึ้นมาถึงค่ายหลวงฟากแม่น้ำปชี กรมหมื่นนเรศร์โยธี นายทัพนายกองปรึกษาพร้อมกันให้หมื่นนรินทร์ชาวเมืองโคราช เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกับอ้ายพระยานรินทร์มาแต่ก่อน เข้าไปพูดกับอ้ายลาวที่หนองบัวลำภู ใกล้ค่ายประมาณ ๙ ศอก ๑๐ ศอกได้พูดกันถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง อ้ายลาวเขียนหนังสือโยนออกมาฉะบับ ๑ กรหมหมื่นนเรศร์โยธีให้อ่านหนังสือยังหาสิ้นข้อความไม่ อ้ายลาวในค่ายระดมกันยิงปืนออกมา ได้ยิงตอบโต้กันแต่เพลาบ่าย ๔ โมงไปจนเพลาพลบค่ำ และทำค่ายตับค่ายวิหลั่นสนามเพลาะเข้าไปชิด ห่างค่าย ๑๐ วาบ้าง ๑๕ วาบ้าง รุ่งขึ้นณวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำเพลาเช้าตรู่อ้ายลาวทิ้งค่ายเสียแตกหนีไป อ้ายลาวตายในที่รบ ๗๐ เศษ พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิชัยราชา พระยาสิทธิอาวุธ ไพร่ ๓ คน จับพระยานรินทร์ ๑ กับไพร่ ๑๒ คน พระยาอุทัยธานี พระยาณรงควิชัย กับนายอ่อนข้ากรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ จับได้ ๑๓ คน เข้ากัน ๒๖ คน กับปืนคาบศิลาคาบชุดดีและชำรุด ๒๕ บอก กองทัพถูกปืนเมื่อรบอ้ายลาว กองมอญตายนาย พระยาเกียรติ์ (บุตร์คนใหญ่ของเจ้าพระยามหาโยธา ทอเรีย คชเสนี) ๑ สมิงสิทธิราชา ๑ ไพร่ ๓ รวม ๕ คน ลำบากสมิงสิทธินายกอง ๑ ปลัดกอง ๓ นายหมวด ๒ คน เข้ากัน ๖ คน กองพระยาพิชัยบุรินทราตายไทย ๑ พะม่า ๑ รวม ๒ คน ลำบาก ๔ คน กองพระยาท้ายน้ำ ไพร่ลำบาก ๑ กองพระยาทศโยธา ไพร่ตาย ๑ ลำบาก ๑ รวม ๒ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ไพร่ลำบาก ๓ กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ไพร่ลำบาก ๑ กองพระเสนาบริรักษ์เมืองโคราชไพร่ตาย ๑ ลำบาก ๕ รวม ๖ คน เข้ากันตายนาย ๒ ไพร่ ๗ รวม ๙ คน ลำบากนาย ๔ ไพร่ ๑๗ รวม ๒๑ คน แต่อ้ายพระยานรินทร์ ๑ กับอ้ายลาว ๑๐ รวม ๑๑ คนนั้น กรมหมื่นนเรศร์โยธี ขอพระราชทานไว้ไล่เลียงถามข้อราชการก่อนจึงจะส่งลงมา แล้วว่าพระยากลาโหมราชเสนา หมื่นณรงค์ ข้ากรมหมื่นนเรศร์โยธี หมื่นฤทธิ์ ข้ากรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ไปติดตามอ้ายลาวพบครัวไทยลาวเมืองโคราช ฉกรรจ์ ๓๐ ชายหญิงใหญ่น้อย ๑๗๙ รวม ๒๐๙ คน แต่ฉกรรจ์นั้น พระยากลาโหมราชเสนาขอพระราชทานไว้ในกองทัพ กำหนดกรมหมื่นนเรศร์โยธีนายทัพนายกองจะได้ยกขึ้นไปตีอ้ายลาวด่านเข้าสารช่องแคบ ณวันเดือน ๖ แรมค่ำ ๑ กรมหมื่นนเรศร์โยธีจึงให้นายขุนทองข้าในกรม คุมอ้ายลาวไพร่ ๑๔ คนปืน ๒๕ บอก กับครัวเมืองโคราช ๑๗๙ คน และคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ลงมาส่ง อนึ่งกองมอญจับอ้ายลาวได้ที่หนองบัวลำภู ๗ คน กับสามเณรบุตรหลวงปลัดเมืองปักธงไชย หลานพระยายกกระบัตรเมืองโคราช หนีอ้ายลาวลงมาแต่บ้านเชียงเพง ๒ รูป.........ถ้ากรมหมื่นนเรศร์โยธี นายทัพนายกองบอกข้อราชการลงมาประการใดจะบอกลงมาครั้งหลัง และครัวชาวเมืองโคราชซึ่งนายทัพนายกองส่งลงมา ๑๗๙ คนนั้น ได้ให้กลับมาอยู่บ้านเรือนตามภูมิลำเนาเดิม แต่อ้ายลาวซึ่งนายทัพนายกองส่งลงมา ๒๑ คนนั้น ขอพระราชทานไว้ไล่เลียงไต่ถามข้อราชการ ๓ คน ส่งลงมากรุงเทพฯ ๑๘ คน แต่ปืนคาบศิลาคาบชุดดีและชำรุด ๒๕ บอก ได้ส่งคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ลงมาด้วยแล้ว.........หนังสือมาณวัน ๖ฯ๘๖ ค่ำ ปีกุนนพศกฯ (พ.ศ. ๒๓๗๐)[10]

จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์: คำให้การอ้ายพระยานรินทร์

แก้

ความอีกตอนหนึ่งในจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์ เรื่องคำให้การอ้ายพระยานรินทร์ ก็มีการออกนามอย่างหยาบคายเช่นเดียวกับใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑ และออกนามเมืองสี่มุมเพี้ยนไป เนื้อความโดยละเอียดระบุว่า

อ้ายพระยานรินทร์ เจ้าเมืองศรีมุม ให้การว่าณเดือนอ้ายปีจอ อัฐศก อ้ายอนุเวียงจันทน์ใช้ให้อ้ายแก้วตำรวจกับไพร่ ๑๓ คน ไปเอาตัวข้าพเจ้ามาหาอ้ายอนุเวียงจันทน์ณบ้านดอนสาร ตำรวจว่าถ้าไม่ไปจะตัดศีร์ษะเสีย ข้าพเจ้ากลัวก็มาหาอ้ายอนุบ้านดอนสาร อ้ายอนุถามข้าพเจ้าว่าจะไปด้วยกันหรือไม่ไป ข้าพเจ้าว่าจะไปแล้วอ้ายอนุพาข้าพเจ้าลงไปเมืองโคราช ประมาณไพร่ซึ่งมากับอ้ายอนุ ๙,๐๐๐ เศษ ครั้นถึงเมืองโคราชอ้ายอนุให้หาพระยายกกระบัตรกรมการมาถามว่า จะไปเมือเมืองเวีงจันทน์ด้วยกันหรือไม่ พระยายกกระบัตรกรมการก็ว่า ถ้าปล่อยจะยอมไปด้วยอ้ายอนุเวียงจันทน์ๆ ให้อ้ายราชวงษ์คุมไพร่ ๖๖๐ คนยกลงไปไล่ครัวเมืองสระบุรี แต่ตัวข้าพเจ้าอ้ายอนุใช้ให้อ้ายศักกะละคอน (สกลนคร) กับไพร่ ๑๐๐ คนคุมกลับไปเมืองศรีมุม ให้ไล่ครัวมาบัญจบกันที่ทางสามม่อจะได้ไปเวียงจันทน์ ข้าพเจ้าตามครัวชายหญิงประมาณ ๑๐๐ เศษออกจากเมืองศรีมุมแต่ณวันแรม ๑๓ ค่ำ ตามครัวมาถึงบ้านแทน อ้ายอนุให้ตำรวจขึ้นมาเร่งให้ข้าพเจ้าตั้งค่ายณบ้านแทน ข้าพเจ้าตั้งค่ายยังหาแล้วไม่ จึงยกกลับขึ้นมา อ้ายอนุบอกข้าพเจ้าว่า ครัวเมืองโคราชซึ่งให้เพี้ยรามพิชัยคุมไพร่ ๒๐๐ คนไปถึงบ้านสัมริด พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเสียหมดแล้ว ให้อ้ายสุทธิสารคุมไพร่ ๒,๐๐๐ คน มีปืน ๒๐๐ บอกยกไปรบกับครัวโคราชณบ้านสัมริด อ้ายสุทธิสารแตกหนีมา พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเป็นอันมาก พออ้ายสุทธิสารหนีมาถึงณบ้านแทน อ้ายสุทธิสารบอกอ้ายอนุว่าครัวฆ่าไพร่ลาวตายเสีย ๖๐๐ เศษ แล้วอ้ายอนุกับอ้ายสุทธิสารข้าพเจ้าก็พากันขึ้นมาถึงบ้านหนองบัวลำภู อ้ายอนุตั้งให้เป็นเจ้าเมืองหนองบัวลำภู[11]

การพระราชทานนามสกุล

แก้

พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นช่วงที่สยามยกเลิกระบบเจ้าเมืองหรืออาญาสี่ของหัวเมืองลาวทั่วอีสาน พระนรินทรสงคราม (ทองดี) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๖ หรือองค์สุดท้ายรับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสมัย ร. ๕ พ.ศ. ๒๔๔๙ พ้นตำแหน่งเจ้าเมืองด้วยเกษียณอายุราชการ ทรงโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอำเภอจัตุรัส พ.ศ. ๒๔๖๐ รองอำมาตย์ตรีแก้ว เสมียนเอกกรมทาง กระทรวงคมนาคม บุตรหลวงอภัยภักดี (ไผ่) นัดดา (หลานปู่) พระนรินทรสงคราม (ทองดี) รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจาก ร. ๖ ว่า ลาวัณบุตร ปรากฏในเอกสารพระราชทานนามสกุลว่า

...ขอให้นามสกุลของ พระนรินทรสงคราม (ทองดี) ปู่ หลวงอภัยภักดี (ไผ่) บิดา กับ ว่าที่รองอำมาตย์ตรี แก้ว เสมียนเอกกรมทาง กระทรวงคมนาคม บุตร ตามที่ขอมานั้นว่า "ลาวัณบุตร" (เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "Lavanaputra") อันเป็นมงคลนาม ขอให้สกุลลาวัณบุตร มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยุ่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน พระที่นั่งพิมานรัถยา วันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๐...[12]

พระนรินทรสงคราม (ทองดี) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๖ หรือองค์สุดท้าย เป็นบุตรพระนรินทรสงคราม (บุญเฮ้า) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๕ เป็นนัดดา (หลานลุง) พระยานรินทรสงคราม (เสา) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๔ และเป็นนัดดา (หลานปู่) พระยานรินทรสงคราม (บุตร) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๓ เป็นปนัดดา (เหลนทวด) พระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) เจ้าเมืองจัตุรัสองค์ที่ ๒ และเจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภู พระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) เป็นบุตรพระนรินทรสงคราม (จารย์คำ) เจ้าเมืองสี่มุมองค์แรกผู้สร้างเมืองสี่มุม (เมืองจัตุรัส) จึงนับว่าพระนรินทรสงคราม (จารย์คำ) และพระยานรินทรสงคราม (ทองคำ) เป็นปฐมบรรพบุรุษตระกูลลาวัณบุตรแห่งอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ในภาคอีสาน[13]

อนุสรณ์

แก้

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

แก้

Baird, Ian G., "The Cult of Phaya Narin Songkhram: Spirit Mediums and Shifting Sociocultural Boundaries in Northeastern Thailand", Journal of Southeast Asian Studies. Vol. ๔๕ No. ๑ (February ๒๐๑๔)ː: ๕๐-๗๓.

อ้างอิง

แก้
  1. "ศาลเจ้าจอมปากช่อง (ปู่จอม)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-17. สืบค้นเมื่อ 2017-06-08.
  2. "ศาลเจ้าจอมปากช่องภูเวียง (ศาลเจ้าจอมนรินทร์) ประวัติพระยานรินทร์ "เจ้าจอมปากช่องภูเวียง"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2017-06-05.
  3. "ศาลเจ้าจอมปากช่องภูเวียง (ศาลเจ้าจอมนรินทร์) ประวัติพระยานรินทร์ "เจ้าจอมปากช่องภูเวียง"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2017-06-05.
  4. "ศาลเจ้าจอมปากช่องภูเวียง (ศาลเจ้าจอมนรินทร์) ประวัติพระยานรินทร์ "เจ้าจอมปากช่องภูเวียง"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2017-06-05.
  5. ตรงกับวันที่ ๔ พฦษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๙
  6. ดูรายละเอียดใน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค): พิมพ์แจกเปนที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณอยุธยา) วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ณเมรุวัดเทพศิรินทราวาส, (กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๘๑).
  7. เรื่องเดียวกัน
  8. เรื่องเดียวกัน
  9. เรื่องเดียวกัน
  10. อำมาตย์โท พระยาสากลกิจประมาญ (ม.ล. แปลก ปาลกะวงศ์), "ใบบอกพระยาจ่าแสนยากรฉะบับที่ ๑", ใน ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์, (กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓), หน้า ๙๙-๑๐๔.
  11. อำมาตย์โท พระยาสากลกิจประมาญ (ม.ล. แปลก ปาลกะวงศ์), "คำให้การอ้ายพระยานรินทร์", ใน ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์, หน้า ๑๐๕-๑๐๙.
  12. ธวัช ปุณโณทก, "นรินทรสงคราม (เจ้าเมืองจัตุรัส), พระยา", ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๕๔๒), หน้า ๒๐๒๓-๒๐๒๖.
  13. เอกสาร การพระราชทานนามสกุล