พระที่นั่งพิมานรัตยา

พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง มีเสาลอยรับหลังคาโดยรอบ พระที่นั่งองค์นี้เชื่อมต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยห้องโถงที่เรียกว่า "มุขกระสัน" ลักษณะเป็นห้องโถงยาวทอดยาวไปทางทิศใต้ เป็นพระที่นั่งยกสูง มีระเบียง 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ตะวันตกและด้านทิศใต้ รอบระเบียงเป็นเสาราย มีหลังคาเป็นชั้นลด 3 ชั้น ทรงไทยมุงด้วย กระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ประดับ หน้าบันจำหลักรูปพระพรหมทรงหงส์ ซุ้มพระทวารเป็นซุ้มเรือนแก้วลายดอกพุดตาน และซุ้มพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบันแถลง ปิดทองประดับกระจก

พระที่นั่งพิมานรัตยา
พระที่นั่งพิมานรัตยา
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
เมืองเขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2332
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เป็นส่วนหนึ่งของหมู่พระมหาปราสาท
เลขอ้างอิง0005574

ประวัติ

แก้

วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีระกา เอกศก จุลศักราช 1151 (พ.ศ. 2332) มีฟ้าผ่าต้องหน้ามุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทแล้วเกิดเป็นเพลิงลุกลามไหม้เครื่องบนและหลังคา แล้วเลยลุกลามไหม้ทั้งองค์พระมหาปราสาท และพระปรัศว์ซ้ายลงหมดสิ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) สมุหนายก เป็นแม่กองรื้อซากพระมหาปราสาทที่ถูกไฟไหม้ออกแล้วสร้างพระมหาปราสาทขึ้นใหม่ แต่ไม่ได้สร้างเหมือนองค์เดิม

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กล่าวถึงลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างระหว่างพระมหาปราสาทองค์เก่าและองค์ใหม่ไว้ดังนี้

...ปราสาทองค์ก่อนนั้นสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท กรุงเก่า มุขหน้ามุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง และมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างใน ยาวไปจดถึงพระปรัศว์ซ้ายพระปรัศว์ขวา พระมหาปราสาทใหม่นี้ ยกออกมาตั้ง ณ ที่ข้างหน้าทั้งสิ้น มุขทั้ง 4 นั้นก็เสมอกันทั้ง 4 ทิศ ใหญ่สูงเท่าพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ กรุงเก่ายกปะราลีเสียมิได้มีเหมือนองค์ก่อน แต่มุขเด็จยอดทั้ง 4 มุมนั้นยกทวยเสีย ใช้รูปครุฑเข้าแทนแล้วให้ฐาปนาพระที่นั่งขึ้นใหม่ข้างใน ต่อมุขหลังเข้าไปอีกหลัง 1 พอเสมอด้วยมุขปราสาทองค์เก่า พระราชทานนามว่า พระที่นั่งพิมานรัตยา แล้วทำพระปรัศว์ซ้ายขึ้นใหม่คงตามเดิม หลังคาปราสาทและมุข กับทั้งพระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ ดาดด้วยดีบุกเหมือนอย่างเก่าทั้งสิ้น ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้ว จึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ว่า "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"..."

— พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1

ธรรมเนียม

แก้

พระที่นั่งพิมานรัตยา เคยเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ในโอกาสที่เสด็จมาประทับยังหมู่มหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเป็นเวลา 1 ปี ในคราวบูรณะหมู่พระมหามณเฑียร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และยังเป็นที่สรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ในพระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ระบุว่า มีการสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ ห้องน้ำเงิน หรือพระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต ก็โปรดเกล้าฯ ให้สรงพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาแห่งนี้

ในปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ได้ใช้เป็นที่สรงพระบรมศพและพระศพ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดเรื่อยมา โดยได้ใช้ประกอบพระราชพิธีสรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′59″N 100°29′26″E / 13.749713°N 100.490559°E / 13.749713; 100.490559