กรมแพทย์ทหารบก
กรมแพทย์ทหารบก เป็นหน่วยงานในประเทศไทย ที่ศึกษาวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรเหล่าทหารแพทย์ ในการให้บริการแก่ กำลังพลของกองทัพบก และครอบครัว รวมถึงประชาชน โดยให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก จำนวน 37 แห่ง
กรมแพทย์ทหารบก/โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก | |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
รูปแบบ | กองทัพบก |
กองบัญชาการ | กองบัญชาการกรมแพทย์ทหารบก ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
สมญา | เหล่าทหารแพทย์ |
คำขวัญ | เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน อนุรักษ์กำลังรบและครอบครัว |
สีหน่วย | เขียว-แดง |
เพลงหน่วย | มาร์ชทหารเหล่าแพทย์ |
วันสถาปนา | 7 มกราคม พ.ศ. 2444 |
ปฏิบัติการสำคัญ | ภารกิจสหประชาชาติในเซาท์ซูดาน[1] |
ผู้บังคับบัญชา | |
เจ้ากรม | พลโท เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์[2] |
เริ่มก่อตั้งเป็นกองกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ และโรงพยาบาลกลางกรมทหารบก บริเวณฝั่งทิศเหนือปากคลองหลอด ในปี พ.ศ. 2443 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมแพทย์ทหารบก ในปี พ.ศ. 2485 เปลี่ยนชื่อเป็น กรมเสนารักษ์ทหารบก และต่อมายกระดับเป็น กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ 1 และกรมเสนารักษ์ ในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายกลับมาปากคลองหลอด และ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมแพทย์ทหารบก อีกครั้งนับแต่นั้นมา ในปี พ.ศ. 2495 ได้ก่อตั้งโรงเรียนเสนารักษ์
กรมแพทย์ทหารบกเป็นหนึ่งใน 3 กรมแพทย์ของกองทัพไทย และ เป็นหนึ่งใน 9 กรมฝ่ายยุทธบริการ ของกองทัพบกไทย กรมแพทย์ทหารบกมีหน้าที่วางแผนอำนวยการประสานงาน แนะนำกำกับการดำเนินการวิจัย และ พัฒนาเกี่ยวกับการผลิต, จัดหา, ส่งกำลัง, ซ่อมบำรุง, บริการ, พยาธิวิทยา, เวชกรรมป้องกัน, ทันตกรรมและการรักษาพยาบาล กำหนดหลักนิยม และ ทำตำรา ตลอดทั้งการฝึกศึกษา ทั้งนี้เกี่ยวกับกิจการ และ สิ่งอุปกรณ์ของเหล่าทหารแพทย์
กรมแพทย์ทหารบกตั้งอยู่บนถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร[3]ปัจจุบัน (1 ตุลาคม 2567) พลโท เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ เป็น เจ้ากรมแพทย์ทหารบก พลตรี โชคชัย ขวัญพิชิต [4] และ พลตรี ธวัชชัย ศิลปีโยดม เป็น รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก[5]
ด้วยค่านิยม "อนุรักษ์กำลังรบ"
ปัจจุบันมีศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) บริเวณชั้น 4 อาคารกองบัญชาการ กรมแพทย์ทหารบก เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน อาทิ ห้องประชุมทางไกลผ่านระบบจอภาพ ห้องปฏิบัติงานของฝ่ายเลขานุการสำนักงานของประเทศสมาชิกทั้ง 18 ชาติ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมทางด้านการแพทย์ทหารอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังจะสร้างการยอมรับในฐานะที่ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือ เพื่อความมั่นคงและความผาสุกของประชาชนในภูมิภาค รวมทั้งจะเป็นช่องทางที่ขยายผลสู่ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 - 11 กันยายน พ.ศ. 2559 ประเทศสมาชิกทั้ง 18 ชาติจะเข้าร่วมการฝึกร่วมผสมเน้นการบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ประเทศไทย
ประวัติ
แก้กรมแพทย์ทหารบก
แก้ตั้งแต่เป็นสยามประเทศ หลายร้อยปีมาแล้ว หมอหรือแพทย์ดูจะเป็น ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญคู่กับสังคมมานานช้าไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ทวยทหาร หรือไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยแพทย์ด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งในยามศึกสงครามด้วยแล้วไพร่พลที่บาดเจ็บย่อมมีมากขึ้นตามสถานการณ์ จึงสันนิษฐานได้ว่ากิจการแพทย์ทหารน่าจะมีคู่กับกองทัพมาทุกยุคสมัย อย่างไรก็ดี ไม่สามารถค้นหาหลักฐาน จุดเริ่มต้นได้ชัดเจน จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบัญชีกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองพระตะบอง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา) เมื่อเดือนยี่ ปีกุน เอกศก จุลศักราช 1201 ร.ศ. 58 (ตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2382) ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวณในประชุมพงศาวดารภาคที่ 67 กล่าวไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 อัตรากองทัพมีหน่วยหมอขนาดกรม ทั้งหมด 6 กรม คือ
- 1. กรมหมอยา ทำการรักษาด้วยยาไทย
- 2. กรมหมอนวด ทำการรักษาด้วยการบีบนวด จับเส้นสาย ตามตำราหมอนวดไทยโบราณ
- 3. กรมหมอประสาน ทำการรักษาจัดกระดูก ประสานกระดูกที่หักให้เข้าที่
- 4. กรมหมอยาตา รักษาโรคตาทั้งหลาย
- 5. กรมหมอฝรั่ง
- 6. กรมหมอฝี ทำการรักษาโรคหนองฝี ทั้งโดยยาและการบ่ง ผ่าฝี (น่าจะเทียบได้กับการผ่าตัดในปัจจุบัน)
ความสำคัญของแพทย์ทหารในสมัยนั้นมีความสำคัญอยู่ที่โรคทางยาเป็นหลัก เพราะการเดินทัพยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก มักเกิดโรคต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น ไข้หวัด ไข้จับสั่น (มาเลเรีย) โรคอุจจาระร่วง ฯลฯ การจัดอัตรากำลังในกรมหมอยาจึงจัดให้มีมากกว่ากรมอื่น
สำหรับกรมหมอฝรั่งนั้นเป็นข้อยืนยันว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 หมอฝรั่งเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาลทหารด้วยแล้ว จนถึงกับตั้งเป็นกรมหนึ่งและไทยเราใช้แพทย์ฝรั่งการแพทย์แผนปัจจุบันในราชการทหารมานานกว่า 165 ปีแล้ว
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2414 และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งแพทย์ประจำกรมขึ้นด้วยตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพตรวจ และ รักษาโรคให้กับทหาร และ ได้พระราชทานแพทย์ประจำพระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำกรมทหารนี้
ขณะนั้นมีแพทย์ไทยคนหนึ่งได้รับทุนของมิชชันนารีเพรสไบทีเรียน ไปศึกษาวิชาแพทย์ปริญญาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กจบกลับมา คือ นายแพทย์เทียนฮี้[6] หมอเฮาส์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เคยสอนนายแพทย์เทียนฮี้ และเป็นผู้ส่งนายแพทย์เทียนฮี้ไปอเมริกา ได้พานายแพทย์เทียนฮี้ไปฝากกับจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ (เจิม แสงชูโต) นายพันโทผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กฯ
ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กฯ ได้พานายแพทย์เทียนฮี้เข้าถวายตัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยนายแพทย์ รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2415 เป็นต้นมา นับได้ว่านายแพทย์เทียนฮี้ เป็นแพทย์ไทยที่เป็นแพทย์ปริญญาและจบวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันคนแรกที่เข้ารับราชการทหาร
ต่อมาปี พ.ศ. 2422 จมื่นสราภัยสฤษดิ์การ ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารหน้า ครองบรรดาศักดิ์เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้ทูลขอนายแพทย์เทียนฮี้ ซึ่งขณะนั้นมียศนายร้อยเอก มาเป็นนายแพทย์ประจำกรมทหารหน้าด้วย
สรุปได้ว่า ในช่วงเวลานั้นตำแหน่งนายแพทย์ประจำกรมทหารเริ่มเป็นตำแหน่งที่มีอัตราบรรจุชัดเจนตามกรมทหารต่างๆ แต่คงเป็นแพทย์แผนโบราณเสียทั้งสิ้น นอกจากที่กรมทหารหน้าเท่านั้นมี นายร้อยเอกเทียนฮี้ นายแพทย์ประจำกรม เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน
ที่กรมทหารหน้านี้ นายร้อยเอกเทียนฮี้ได้ริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลแก่บรรดาข้าราชการทหาร นับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลทหารแห่งแรกของประเทศไทย มีที่ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนตรีเพชร ข้างสถานีตำรวจนครบาลพาหุรัด (ปัจจุบันคือกองตำรวจจราจร) เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง มีแพทย์แผนโบราณเป็นผู้ช่วย
ระหว่างปี พ.ศ. 2428 - 2433 เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้รับพระบรมราชโองการฯ ให้เป็นแม่ทัพไปปราบจีนฮ่อที่รุกรานเข้ามาทางหลวงพระบางที่ทุ่งหลวงเชียงคำสองครั้ง นายร้อยเอกเทียนฮี้ได้ไปราชการสงครามสองครั้งนี้ด้วย ได้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์สนาม ตรากตรำดูแลกำลังพลที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เมื่อกลับจากสงคราม เจ้าหมื่นไวยวรนาถ แม่ทัพได้รับพระราชทานเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายพลโทพระยาสุรศักดิ์มนตรี นายร้อยเอกเทียนฮี้ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายพันตรี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ 5 และ เหรียญปราบฮ่อเป็นบำเหน็จ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งอัตราที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่โดยที่ยังมิได้มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์และงานสายแพทย์ขึ้น ให้นายแพทย์ใหญ่ขึ้นตรงกับกรมยกกระบัตรทหารบกใหญ่ ตามพระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการปี พ.ศ. 2433 จึงนับได้ว่านายพันตรีเทียนฮี้เป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบกคนแรก อย่างไรก็ดี ผลจากการไปราชการสงครามเป็นเวลานานทำให้กิจการโรงพยาบาลทหารหน้าไม่มีผู้ดูแล จึงเสื่อมความนิยมและเลิกล้มไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บังคับบัญชาเก่าของนายพันตรีเทียนฮี้ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ขอโอนย้ายนายพันตรีเทียนฮี้ไปเป็นล่ามประจำกระทรวง และในปีเดียวกันนี้ นายพันตรีเทียนฮี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงดำรงแพทยาคุณ ต่อมาท่านได้ย้ายไปรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระมนตรีพจนกิจ ในปี พ.ศ. 2443 ในปี พ.ศ. 2444 ได้ขอลาออกจากราชการด้วยสุขภาพไม่สมบูรณ์ แต่ยังช่วยเหลือราชการด้วยดีตลอดมา จึงได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท ในปี พ.ศ. 2454 และ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ในปี พ.ศ. 2460 ตามลำดับ
ตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบกว่างอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2437 จนเมื่อหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ บุตรชายคนโตของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (อดีตนายแพทย์ประจำพระองค์ และอดีตนายแพทย์ประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์) สำเร็จวิชาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอเรอ ประเทศอังกฤษ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สุวพรรณเป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบก มียศนายพันตรี
ปี พ.ศ. 2440 นายพันตรีหม่อมราชวงศ์สุวพรรณกราบถวายบังคมลาออก ด้วยเหตุผลการปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างมิค่อยราบรื่นมากนัก ด้วยเหตุที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ และความเชื่อของการแพทย์แผนโบราณประกอบกับที่ไม่มีกิจราชการอะไรให้ทำสมแก่เงินเดือนที่ทรงพระราชทาน หลังจากนั้นก็ไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก จนปี พ.ศ. 2443 จึงยุบอัตราโดยกรมยุทธนาธิการ[7] ใช้วิธีจัดแพทย์จากกรมกองต่าง ๆ หมุนเวียนกันไปเป็นแพทย์เวรประจำศาลายุทธนาธิการสำหรับคอยช่วยเหลือทหารตามหน่วยต่าง ๆ ด้านการรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการตามแต่หน่วยนั้น ๆ จะขอมา ส่วนผู้ที่ป่วยเจ็บเกินความสามารถ ก็จัดส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลพลเรือน เช่น ศิริราชพยาบาล และ โรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดง
สำหรับยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในยามปกติต้องเบิกจากกรมยกกระบัตรฯ แต่เนื่องจากปัญหาความล่าช้าและยาเก่าทำให้มีผู้ร้องเรียนกันมาก จนทางกรมยกกระบัตรเปลี่ยนมาจัดงบสรรยาและเวชภัณฑ์ให้หน่วยทหารระดับกรมในอัตรา 1 ชั่งต่อเดือน
กิจการแพทย์ของทหารเริ่มมีผู้เห็นความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมียุทธการเกิดขึ้น เช่น สงครามปราบเงี้ยว ณ มณฑลพายัพ ระหว่างปี พ.ศ. 2440 ถึง พ.ศ. 2443 ทหารที่ไปรบนอกจากที่บาดเจ็บจากการสงครามแล้ว ยังมีทหารที่ป่วยเป็นไข้จับสั่นและเกิดโรคไข้ทรพิษระบาดในหน่วยทหารบางหน่วยอีกด้วย แพทย์ที่ไปในกองทัพต้องมีภารกิจในการรักษาพยาบาล และปลูกฝีให้ทั้งทหารฝ่ายไทยและเชลยเงี้ยว
กรมยุทธนาธิการเห็นความสำคัญในกิจการสายแพทย์ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ขอจัดตั้ง “กองแพทย์” ขึ้นให้เป็นหน่วยในอัตราของกรมยุทธนาธิการ โดยในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามคำกราบทูลปรึกษาแนะนำของ นายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ปลัดทัพบก เพื่อจัดให้มีกองแพทย์พยาบาลขึ้นไว้ในกรมยุทธนาธิการ และจัดศาลายุทธนาธิการให้เป็นโรงพยาบาลกลางสัก 1 แห่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบลงมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ว่าทรงเห็นด้วยที่จะให้จัดมีกองแพทย์ขึ้นอีกกองหนึ่งสำหรับตรวจตราและทำการรักษาพยาบาลทหารบกทั่วไป มีตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่เป็นหัวหน้า และให้มีตำแหน่งนายแพทย์เอก โท ตรี ขึ้นในกองแพทย์กลางนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้งกองแพทย์กลางขึ้นแล้วก็ยังหาแพทย์ปริญญามาบรรจุในตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ไม่ได้ อัตราดังกล่าวจึงว่างอยู่ จนต่อมาในปี พ.ศ. 2443 นายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้มีหนังสือที่ 3/1020 ลงวันที่ 13 มิถุนายน ร.ศ.119 (ตรงกับ พ.ศ. 2443) กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองแพทย์กรมกลางขึ้นตามอัตรา และให้หม่อมเจ้ากำมสิทธิ์ แพทย์แผนโบราณ ดำรงตำแหน่งนายแพทย์เอก และมีหน้าที่กำกับดูแลบังคับบัญชากองแพทย์นี้ไปพลางก่อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสเห็นชอบ และโปรดเกล้าฯ ตามเสนอ
ระหว่างนั้น นายพันโท พระยาพหลพลพยุหเสนา ยกกระบัตรทหารบก ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลกลางของกองแพทย์กรมยุทธนาธิการขึ้นจนเป็นที่เรียบร้อย โดยตั้งอยู่ที่วังเก่าของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ประทานให้แก่พระองค์เจ้าวิไลวรวิลาศและพระองค์เจ้าไชยรัตนวโรภาส ณ บริเวณฝั่งทิศเหนือของคลองหลอด ซึ่งทางราชการทหารจัดซื้อไว้สำหรับเป็นโรงทหารของกรมทหารบกราบที่ 3 และ ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2443 (ก่อน พ.ศ. 2484 ประเทศสยามถือว่าเดือนเมษายนเป็นต้นปี และเดือนมีนาคมเป็นปลายปี) ได้มีพิธีเปิดโรงพยาบาลทหารบกแห่งแรก โดยนายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการเป็นองค์ประธาน และหม่อมเจ้ากำมสิทธิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้ากองแพทย์ เป็นผู้ถวายรายงาน มีทหารป่วยรับรักษาไว้ในโรงพยาบาลกลางในวันพิธีเปิดรวม 20 คน กับที่ต้องดูแลรักษาในกรมกองทหารต่าง ๆ อีกรวมเป็นจำนวน 153 คน นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์และมีอัตรากำลังอย่างเป็นทางการ
- หม่อมเจ้ากำมสิทธิ์รักษาการในตำแหน่งแพทย์ใหญ่ทหารบกอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2444 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายแพทย์ทรัมป์ แพทย์ชาวเยอรมัน ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2444
- ตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก เป็นตำแหน่งที่มีมาก่อนการจัดตั้งหน่วยแพทย์
- หน่วยแพทย์ที่มีการจัดตั้งและมีอัตรากำลังอย่างเป็นทางการก็คือ กองแพทย์กรมยุทธนาธิการ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นกรมแพทย์ทหารบกในปัจจุบัน
- ต่อมาทางราชการได้ถือว่าวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2443 (ซึ่งเป็นเพียงวันเปิดโรงพยาบาลทหารบก ในการกำกับดูแลของกองแพทย์กรมยุทธนาธิการ) เป็นวันสถาปนากรมแพทย์ทหารบก[8] และยกย่องว่า นายแพทย์เทียนฮี้ ซึ่งเป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบกท่านแรกในขณะที่ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์นั้น เป็นผู้บังคับบัญชาสายแพทย์ท่านแรก
ปี พ.ศ. 2559 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) ที่กรมแพทย์ทหารบก โดยมีนายเล เลือง มินห์ (H.E. Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน รวมทั้งผู้บัญชาการระดับสูงของเหล่าทัพและผู้เกี่ยวข้อง ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้แทนรัสเซีย ในฐานะประเทศคู่เจรจาที่ให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว และนางสาวภาสพร สังฆสุบรรณ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง การเปิดศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนอย่างเป็นทางการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านการแพทย์ทหารในภูมิภาคอาเซียน แสดงบทบาทเชิงรุกและความพร้อมของไทยในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้สามารถสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการทุ่นระเบิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านการแพทย์ทหารในอาเซียน
การจัดหน่วย กรมแพทย์ทหารบก
แก้หน่วยขึ้นตรง กองบัญชาการกรมแพทย์ทหารบก
แก้- กองกำลังพล
- กองยุทธการและการข่าว
- กองส่งกำลังบำรุง
- กองกิจการพลเรือน
- กองโครงการและงบประมาณ
- กองคลังแพทย์
- กองทันตแพทย์
- กองวิทยาการ
- กองส่งเสริมสุขภาพและเวชกรรมป้องกัน
- สำนักยุทธศาสตร์
- แผนกประชาสัมพันธ์
- กองบริการ
- สำนักงานการเงิน
- ฝ่ายพระธรรมนูญ
- โรงเรียนเสนารักษ์
หน่วยขึ้นตรง
แก้- ศูนย์อํานวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- สถาบันพยาธิวิทยา
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร
- โรงพยาบาลอานันทมหิดล
หน่วยฝากการบังคับบัญชา
แก้หน่วยเวชกรรมป้องกัน กองทัพบก
ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM)
แก้- ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน
รายนามเจ้ากรมแพทย์ทหารบก/ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก
แก้ลำดับ | ยศ ชื่อ สกุล | ตำแหน่ง | ครองตำแหน่ง |
---|---|---|---|
หัวน่ากรมแพทย์ทหารบก |
พ.ศ. 2447 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2451 | ||
เจ้ากรมแพทย์ศุขาภิบาลทหารบก นายแพทย์ใหญ่ทหารบก |
19 เมษายน พ.ศ. 2457 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 - 18 กันยายน พ.ศ. 2460 | ||
นายแพทย์ใหญ่ทหาร |
11 มกราคม พ.ศ. 2474 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 | ||
นายแพทย์ใหญ่ทหารบก ผู้อำนวยการเสนารักส์ทหานบก |
15 เมษายน พ.ศ. 2479 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2485 31 ธันวาคม พ.ศ. 2485 - 29 มกราคม พ.ศ. 2486 และ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 - 1 กันยายน พ.ศ. 2487 | ||
นายแพทย์ใหญ่ทหารบก |
1 มกราคม 2489 - 3 พฤศจิกายน 2493 | ||
เจ้ากรมแพทย์ทหารบก |
17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 - 30 กันยายน พ.ศ. 2511 | ||
อ้างอิง
แก้- ↑ ผบ.ทหารสูงสุดห่วงทหารไทยในซูดานหลังเกิดรัฐประหาร - โพสต์ทูเดย์
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ สมุดบันทึกข้อความ พบ.ประจำปี 2554
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ ประวัติพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สาระสิน)
- ↑ กรมยุทธการทหารบก (ปัจจุบัน) กรมยุทธนาธิการ เก็บถาวร 2011-08-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานวันสถาปนากรมแพทย์ทหารบก 113 ปี 7 มกราคม 2556[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอน ๒๑๒ ง พิเศษ หน้า ๒๐ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอน 59 ง พิเศษ หน้า 6 วันที่ 15 มีนาคม 2563
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอน 218 ง พิเศษ หน้า 20 วันที่ 14 กันยายน 2564
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ เก็บถาวร 2022-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอน 218 ง พิเศษ หน้า 20 วันที่ 14 กันยายน 2564
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 209 ง พิเศษ หน้า 20 วันที่ 30 สิงหาคม 2566
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- http://www.amed.go.th/ เก็บถาวร 2014-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- https://www.facebook.com/rtamed
- กองวิทยาการ กรมแพทย์ทหารบก เก็บถาวร 2011-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- 100 ปี กรมแพทย์ทหารบก ISBN 974-7634-01-5
- ไม่ทราบผู้เขียน. 90 ปี กรมแพทย์ทหารบก. กรุงเทพฯ : บันเทิงการพิมพ์, 2532.
- http://www.tnamcot.com/content/441857
- http://www.mfa.go.th/asean/th/news/2374/66154-พิธีเปิดศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนอย่างเป็นทางการ.html เก็บถาวร 2020-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน