เหรียญปราบฮ่อ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อเมื่อปี พ.ศ. 2427 เหรียญดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "เหรียญปราบฮ่อ" ลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพักตร์เสี้ยว ผินพระพักตร์ไปทางซ้าย มีพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนเป็นแถวอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ "จุฬาลงกรณ บรมราชาธิราช" ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว มีควาญอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง รองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้นมีอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ "ปราบฮ่อ ๑๒๓๙ ๑๒๔๗ ๑๒๔๙" เหรียญนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบสีดำริมสีเหลือง ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ที่แพรแถบประดับเข็มบอกปีจุลศักราชที่มีการปราบฮ่อ ได้แก่ "๑๒๓๙" (พ.ศ. 2420) "๑๒๔๗" (พ.ศ. 2428) และ "๑๒๔๙" (พ.ศ. 2430) ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย เข็มปีจุลศักราชที่ประดับบนแพรแถบจะประดับให้สำหรับผู้ที่ไปราชการสงครามปราบฮ่อแต่ละคราวๆ ไป เหรียญนี้ไม่มีการกำหนดอัตราการพระราชทาน ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้จะไม่ได้รับประกาศนียบัตรกำกับ แต่จะได้รับการประกาศชื่อลงในราชกิจจานุเบกษา ปัจจุบันเหรียญนี้พ้นสมัยการพระราชทานแล้ว[1]
เหรียญปราบฮ่อ | |
---|---|
![]() ![]() | |
อักษรย่อ | ร.ป.ฮ. |
ประเภท | เหรียญราชอิสริยาภรณ์ประเภทบำเหน็จความกล้าหาญ |
วันสถาปนา | พ.ศ.2427 |
ประเทศ | ![]() |
ผู้สมควรได้รับ | ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อ |
สถานะ | พ้นสมัยพระราชทานแล้ว |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประธาน | พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เหรียญราชนิยม |
รองมา | เหรียญงานพระราชสงครามยุโรป |
รัฐบาลสยามได้ว่าจ้างให้บริษัทบีกริมแอนด์โกผลิตเหรียญปราบฮ่อที่ประเทศเยอรมนี โดยมีจำนวนผลิตเพียง 500 เหรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2436 และได้จัดส่งมายังประเทศสยามในปีถัดมา และได้เริ่มพระราชทานแจกเป็นระยะๆ โดยเริ่มพระราชทานครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2441 จำนวน 49 คน[2]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ NECTEC. "เหรียญปราบฮ่อ The Haw Campaign Medal". NECTEC's Web based Learning. สืบค้นเมื่อ 2009-02-06.
- ↑ ไตรเทพ ไกรงู. ""เหรียญ ร.๕" เรื่องของ...ค่านิยมกับความนิยม". คมชัดลึกออนไลน์ คอลัมน์พระเครื่อง. สืบค้นเมื่อ 2009-02-06.