มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (อังกฤษ: Dhonburi Rajabhat University; อักษรย่อ: มรธ. – DRU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2491

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
ตราพระราชลัญจกร
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อย่อมรธ. / DRU
คติพจน์สิกฺขมยปญฺญา
(ปัญญาเกิดจากการศึกษา)
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา8 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 (76 ปี)
นายกสภาฯอารีย์ วชิรวราการ[1]
อธิการบดียุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง[2]
อธิการบดียุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง[2]
ที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
เลขที่ 172 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ
เลขที่ 59/1 หมู่ที่ 14 ซอยเทศบาลบางปู 119 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
สี   สีเหลือง–สีขาว
เว็บไซต์www.dru.ac.th

ประวัติ

แก้
 
ทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา” เพื่อทำหน้าที่ผลิตครูให้แก่โรงเรียนสังกัดกรมอาชีวศึกษา ขณะนั้นคือโรงเรียนช่างไม้ และโรงเรียนการช่างสตรี ในส่วนภูมิภาค โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาที่ตั้งขึ้นนี้ผลิตครู 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) และระดับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) โดยที่เมื่อแรกตั้งยังไม่มีสถานที่เรียนเป็นของตนเอง นักเรียนสาขาช่างไม้ (ป.ป.) ช่างก่อสร้างและพาณิชยการ (ป.ม.) ฝากเรียนที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย นักเรียนสาขาการช่างสตรี ระดับ ป.ม. ฝากเรียนที่โรงเรียนช่างสตรีพระนครใต้ ส่วนระดับ ป.ป. ฝากเรียนที่โรงเรียนเสาวภา การรับนักเรียนใช้วิธีคัดเลือกเป็นนักเรียนทุน จากโรงเรียนช่างไม้และโรงเรียนการช่างสตรี ในส่วนภูมิภาค เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้กลับไปเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนอาชีวศึกษาส่วนภูมิภาค

พ.ศ. 2495 กรมอาชีวศึกษาได้จัดซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างสองแห่ง คือ วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ที่ตำบลเทเวศร์ พระนคร และบ้านเจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ที่ตำบลวัดกัลยาณ์ ธนบุรี เพื่อให้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาซึ่งยังไม่มีสถานที่เรียนของตนเอง ในปีเดียวกันนี้ กรมอาชีวศึกษาได้จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิค ในจังหวัดพระนคร ขึ้นที่ตำบลทุ่งมหาเมฆ ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ดังนั้นกรมอาชีวศึกษาจึงโอนกิจการฝึกหัดครูระดับ ป.ม. ไปทำการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคแห่งนี้แล้วแยกการฝึกหัดครูอาชีวศึกษาระดับ ป.ป. เป็นสองโรงเรียน คือ ป.ป.ช่างไม้ ใช้ชื่อเดิมว่า โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา ใช้สถานที่วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ที่ตำบลเทเวศร์ พระนคร ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์เทเวศร์ ส่วน ป.ป.การช่างสตรี ใช้ชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษา” ใช้สถานที่บ้านเจ้าพระยาพลเทพฯ ถนนอิสรภาพ ตำบลวัดกัลยาณ์ จังหวัดธนบุรี อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ในปัจจุบัน

พ.ศ. 2496 ดำเนินการสอนวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรประโยคประถมอาชีวศึกษา แผนกช่างสตรี

พ.ศ. 2497 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เป็นผลให้ตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้นวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2497 เพื่อรวบรวมการฝึกหัดครูที่จัดขึ้นในกรมอื่นเข้าด้วยกัน

พ.ศ. 2498 โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษาโอนมาสังกัดกรมการฝึกหัดครูตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังคงทำหน้าที่ผลิตครูอาชีวศึกษา

พ.ศ. 2499 มีการวางหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตร 2 ปีเรียกว่า ฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ) โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษาสอนตามหลักสูตรนี้ แต่ยังคงผลิตครู ป.กศ. (อาชีวศึกษา)

พ.ศ. 2503 เปลี่ยนการสอนเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา รับผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.ศ.3) หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาระยะแรกรับเฉพาะนักเรียนหญิงเข้าเรียน

พ.ศ. 2504 เนื่องจากกรมการฝึกหัดครู มีนโยบายให้โรงเรียนผลิตแต่ครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เช่นเดียวกับโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งอื่น ๆ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกประกาศเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอาชีวศึกษา” มาเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรี” ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 และในวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.48 น. เป็นศุภฤกษ์พิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรี โดยนายบุญถิ่น อัตถากร ซึ่งเป็นอธิบดีกรมการฝึกหัดครูขณะนั้น

พ.ศ. 2509 ใช้เงินบำรุงการศึกษาสร้างอาคารชั้นเดียวเป็นสำนักงานอาจารย์ใหญ่ทางด้านหน้าโรงเรียนเรียกว่าตึก 4

พ.ศ. 2510 เริ่มรับนักศึกษาชายและเปิดสอนแบบสหศึกษา

พ.ศ. 2511 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารวิทยาศาสตร์เป็นตึก 3 ชั้น 1 หลัง แต่บ้านท่านเจ้าพระยาซึ่งนับเป็นตึก 1 อยู่เดิมมีสภาพชำรุดมากจนวิศวกรของกรมการฝึกหัดครูเห็นว่าไม่ปลอดภัยที่จะใช้งานต่อไป กรมการฝึกหัดครูจึงอนุมัติให้รื้อออก อาคารวิทยาศาสตร์ 3 ชั้นที่สร้างเสร็จในปีนี้จึงได้ชื่อว่าตึก 1 แทน และในการรื้อครั้งนี้ได้รื้อศาลาเล็ก และศาลาใหญ่ออกไปด้วยพร้อม ๆ กันเพราะกีดขวางการก่อสร้างอาคารหลังใหม่

พ.ศ. 2512 เปิดสอนภาคนอกเวลาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2513 กรมการฝึกหัดครูประกาศยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรี เป็น “วิทยาลัยครูธนบุรี” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เนื่องจากโรงเรียนฝึกหัดครูธนบุรีได้เปิดสอนระดับอนุปริญญาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง)

พ.ศ. 2514 เปิดรับนักศึกษาภาคปกติและภาคนอกเวลา ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงเป็นครั้งแรก โดยเปิด 4 วิชาเอก คือ สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ทั่วไป และรับนักศึกษาที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ. 5) เข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.)

พ.ศ. 2516 งดรับนักศึกษาระดับ ป.ป.

พ.ศ. 2519 วิทยาลัยครูธนบุรีสามารถผลิตครูได้ถึงระดับปริญญาตรี ตาม “พระราชกฤษฎีกา ยกฐานะสถาบันฝึกหัดครูเป็นวิทยาลัยครู ตาม พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519” ลงวันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2519

พ.ศ. 2521 เปิดสอนระดับปริญญาตรี สายวิชาชีพครู หลักสูตร 2 ปี (ค.บ. 2 ปี) วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไปเป็นครั้งแรกทั้งภาคปกติและภาคนอกเวลา โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาอนุปริญญาหรือ ป.กศ. ชั้นสูงเข้าเรียน สำหรับภาคนอกเวลางดรับบุคคลทั่วไปเข้าเรียน แต่รับครูประจำการและบุคลากรทางการศึกษาเข้าเรียนตามโครงการอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อ.ค.ป.) ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ส่งเข้ารับการอบรม

พ.ศ. 2522 งดรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) แต่ขยายการรับการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) และระดับปริญญาตรีโดยเปิดการสอนวิชาเอกต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากร และให้บริการเกี่ยวกับการสอนวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนที่เป็นสมาชิกของศูนย์

พ.ศ. 2523 เปิดรับนักศึกษาภาคปกติ ระดับปริญญาตรี สายวิชาชีพครู หลักสูตร 4 ปี (ค.บ.4 ปี) โดยเปิดสอนวิชาเอกภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2527 วิทยาลัยครูธนบุรีรวมอยู่ในวิทยาลัยครูกลุ่มที่แปด อันประกอบด้วยวิทยาลัยครูจันทรเกษม วิทยาลัยครูธนบุรี วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยครูพระนคร วิทยาลัยครูสวนดุสิต และวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ตามข้อบังคับของสภาการฝึกหัดครู ว่าด้วยการบริหารกลุ่มวิทยาลัยซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527

พ.ศ. 2528 วิทยาลัยครูธนบุรีซึ่งอยู่ในวิทยาลัยกลุ่มที่แปดเปลี่ยนเป็นอยู่ใน “สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์” ซึ่งเป็นไปตามประกาศข้อบังคับสภาการศึกษาครูว่าด้วยกลุ่มวิทยาลัย พ.ศ. 2528 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ให้วิทยาลัยครูดำเนินงานร่วมกัน เรียกว่า สหวิทยาลัย ในปีนี้ได้งดการสอนในระดับ ป.กศ.ชั้นสูง และขยายหลักสูตรเปิดสอนสาขาวิชาการอื่น โดยเริ่มเปิดสอนระดับอนุปริญญาสายอุตสาหกรรมบริการ วิชาเอกภาษาอังกฤษธุรกิจ เป็นครั้งแรก งดการจัดการสอนตามโครงการอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อ.ป.ค.) แต่เปลี่ยนมาจัดการสอนตามโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) แทน หลังจากนั้นได้ขยายการเปิดสอนวิชาเอกในหลักสูตรสาขาวิชาอื่นระดับอนุปริญญาและระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครูธนบุรีจึงได้นามใหม่ว่า “สถาบันราชภัฏธนบุรี” มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตทั่วไปในสาขาวิชาการศึกษา และสาขาวิชาการอื่นทั้งระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี โดยได้ถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันราชภัฏ” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งคำว่า “ราชภัฏ” ให้ความหมายที่กินใจความว่า “คนของพระราชา…ข้าของแผ่นดิน” และต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ เป็นตราประจำสถาบันราชภัฏ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ เป็นสิ่งที่นำความภาคภูมิใจสูงสุดมาสู่ชาวสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ สถาบันราชภัฏธนบุรีจึงได้อัญเชิญตราพระราชลัญจกร เป็นตราประจำสถาบันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เป็นผลทำให้สถาบันราชภัฏทุกแห่งเปลี่ยนสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคล สถาบันราชภัฏธนบุรี จึงเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี” ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547

พ.ศ. 2548 ได้ขยายการเปิดสอนระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มีความจำเป็นจะต้องขยายวิทยาเขตในการจัดการศึกษามายังจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยสาเหตุต่อไปนี้ 1. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่จำกัดเพียง 5 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา จึงไม่สามารถขยายอาคารเรียนให้เพียงพอกับความต้องการทางการศึกษาและภารกิจของมหาวิทยาลัยได้ 2. จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการกำหนดจากกรมการฝึกหัดครูให้เป็นเขตพื้นที่ให้บริการทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีมาแต่เดิม เป็นระยะเวลาอันยาวนานไม่น้อยกว่า 20 ปี

ดังนั้นในสมัยที่ รศ.ดร.วิชัย เทียนน้อย เป็นอธิการบดี ได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดหาที่ดินในการจัดตั้งเป็นวิทยาเขตและในที่สุดได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2544 ให้ใช้ที่ราชพัสดุจำนวน 268 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ซอยเทศบาลบางปู 119 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์อุดมศึกษาสมุทรปราการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์จะให้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐประจำจังหวัดสมุทรปราการ และเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ห้ามมิให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในส่วนราชการ ดังนั้นศูนย์อุดมศึกษาสมุทรปราการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จึงใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ” จากนั้นมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำผังแม่บททางกายภาพ (Master Plan) และดำเนินการเปิดสอนในปีการศึกษา 2548 เป็นต้นมา

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จึงมี 2 สถานที่จัดการศึกษา คือ

  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพมหานคร
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

แก้

ตราประจำมหาวิทยาลัย

แก้
  • สีน้ำเงิน : แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ”
  • สีเขียว : แทนแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในพื้นที่แหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • สีทอง : แทนความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
  • สีส้ม : แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • สีขาว : แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สีประจำมหาวิทยาลัย

แก้
  • สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเหลือง - ขาว

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

แก้
  • พิกุล - ต้นจัน

สาขาวิชาที่เปิดสอน

แก้

คณะครุศาสตร์

แก้

หลักสูตรปริญญาตรี

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์ [ค.บ.]
  • สาขาวิชาภาษาไทย [ค.บ.]
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ [ค.บ.]
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป [ค.บ.]
  • สาขาวิชาสังคมศึกษา [ค.บ.]
  • สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา [ค.บ.]
  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย [ค.บ.]
  • สาขาวิชาพลศึกษา [ค.บ.]

หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาชีพครู

คณะวิทยาการจัดการ

แก้

หลักสูตรปริญญาตรี

  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์ วิชาเอกวิทยุโทรทัศน์และการผลิตสื่อสตรีมมิง [นศ.บ.]
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์ วิชาเอกการโฆษณาและการสื่อสารดิจิทัล [นศ.บ.]
  • หลักสูตรบัญชีบัณฑิต [บช.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลทางธุรกิจ [บธ.บ.] (ชื่อเดิม : คอมพิวเตอร์ธุรกิจ)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการ [บธ.บ.]
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการทรัพยากรมนุษย์ [บธ.บ.]
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด [บธ.บ.]
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการโลจิสติกส์ [บธ.บ.]
  • สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า [วท.บ.]
  • สาขาวิชาการจัดการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์ [บธ.บ.]
  • สาขาวิชาการจัดการงานบริการสถานพยาบาล [บธ.บ.]
  • สาขาวิชาอุตสาหกรรมบริการ วิชาเอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจการบิน [ศศ.บ.]
  • สาขาวิชาอุตสาหกรรมบริการ วิชาเอกการจัดการโรงแรมและภัตตาคาร [ศศ.บ.]

หลักสูตรปริญญาตรี (เทียบโอน)

  • หลักสูตรบัญชีบัณฑิต [บช.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลทางธุรกิจ [บธ.บ.] (ชื่อเดิม : คอมพิวเตอร์ธุรกิจ)
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการ [บธ.บ.]
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการทรัพยากรมนุษย์ [บธ.บ.]
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด [บธ.บ.]
  • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการโลจิสติกส์ [บธ.บ.]
  • สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า [วท.บ.]
  • สาขาวิชาอุตสาหกรรมบริการ วิชาเอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจการบิน [ศศ.บ.]
  • สาขาวิชาอุตสาหกรรมบริการ วิชาเอกการจัดการโรงแรมและภัตตาคาร [ศศ.บ.]

หลักสูตรปริญญาโท

  • หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Master of Business Administration Program) [M.B.A.]

หลักสูตรปริญญาเอก

  • หลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ (Doctor of Business Administration Program in Business Administration) [D.B.A.]

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

แก้

หลักสูตรปริญญาตรี

  • สาขาวิชาออกแบบทัศนศิลป์ [ศป.บ.]
  • สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์และออกแบบดิจิทัล [ศป.บ.]
  • หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต [น.บ.]
  • หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต [รป.บ.]
  • สาขาวิชาภาษาไทย [ศศ.บ.]
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ [ศศ.บ.]
  • สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร [ศศ.บ.]
  • สาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง [ค.บ.]

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้

หลักสูตรปริญญาตรี

  • สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า [วศ.บ.]
  • สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการระบบราง [วศ.บ.]
  • สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม [วท.บ.]
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ [วท.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล [วท.บ.]
  • สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ [วท.บ.]
  • สาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหาร [วท.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม [ทล.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า [ทล.บ.]

หลักสูตรปริญญาตรี (เทียบโอน)

  • สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการระบบราง [วศ.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม [ทล.บ.]
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า [ทล.บ.]

อ้างอิง

แก้
  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/100/14.PDF | ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/067/4.PDF | ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′02″N 100°29′31″E / 13.733983°N 100.491852°E / 13.733983; 100.491852