คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ : Faculty of Law, Chulalongkorn University) เป็นส่วนงานประเภทคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515[2] มีรากฐานมาจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ที่โอนมาเป็นคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2476 แล้วแยกไปเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อปีเดียวกัน ก่อนจะเริ่มสอนนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ในฐานะแผนกหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ ปัจจุบัน เปิดสอนระดับปริญญาตรี โท และเอก

คณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Law,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมแผนกวิชานิติศาสตร์ในคณะรัฐศาสตร์
สถาปนา18 มิถุนายน พ.ศ. 2515; 51 ปีก่อน (2515-06-18)
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์[1]
ที่อยู่
254 อาคารเทพทวาราวดี ซอยจุฬาลงกรณ์ 42 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เพลงนิติศาสตร์เกรียงไกร
สี███ สีขาว
มาสคอต
ตราชูภายใต้พระเกี้ยว
เว็บไซต์law.chula.ac.th

ประวัติ แก้

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2476 กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า นิติศึกษา ณ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมได้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา และมีผลประจักษ์ว่าได้บรรลุถึงขีดวิชาขั้นมหาวิทยาลัยในอารยประเทศแล้ว เป็นการสมควรที่จะบำรุงต่อไปในทำนองมหาวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประสานระเบียบการศึกษานิติศาสตร์เข้ากับมหาวิทยาลัยเป็นคณะวิชาคณะหนึ่ง และได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476[3] จัดตั้งคณะขึ้นมีชื่อเรียกว่า คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2476 หลังจากได้จัดให้มีการเรียนการสอนเพียง 8 เดือน ได้มีประกาศใช้ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476" ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปไปสังกัดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุนี้คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นอันสิ้นสภาพลงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในเวลาต่อมา ได้มีการจัดตั้งแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นใหม่ในคณะรัฐศาสตร์โดยพระราชกฤษฎีกา จัดแบ่งแผนกวิชาในคณะต่าง ๆ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2494 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2494 จึงเป็นอันว่าวิชากฎหมายได้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2501 แผนกวิชานิติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตร และเปิดรับนิสิตเข้าเรียนในแผนกวิชานิติศาสตร์โดยตรง การเรียนการสอนในขณะนั้นก็แยกออกจากแผนกวิชารัฐศาสตร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จึงเป็นอันว่าการเรียนการสอนในแผนกวิชานิติศาสตร์ในยุคหลังได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา การศึกษาวิชากฎหมายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเปิดภาคสมทบขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่จะเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ จึงได้เปิดการสอนภาคสมทบขึ้นในปีการศึกษา 2508

ต่อมาทางมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ และได้เริ่มทำการสอนจนถึงขั้นปริญญาโท ตั้งแต่ปีการศึกษา 2512 เป็นต้นมา สมควรที่จะยกฐานะแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ เพื่อให้การบริหารดำเนินไปได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับเหตุผลสำคัญ คือ ในต่างประเทศถือว่าการศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาสำคัญ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะต้องมีคณะนิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะสำคัญของมหาวิทยาลัย ในที่สุด ได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 เป็นอันว่าคณะนิติศาสตร์ได้รับการจัดตั้งเป็นคณะที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันลงประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และเมื่อ พ.ศ. 2538 นี้ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 เพื่อใช้แทนประกาศของคณะปฏิวัติที่มีมาแต่เดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนัยนี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันจึงจัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 และถือเอาวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสถาปนาคณะนับถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท (เยื้องกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ในพื้นที่บริเวณเดียวกับคณะนิเทศศาสตร์ โดยมีอาคารทำการของคณะสองอาคาร คือ อาคารเทพทวาราวดี เป็นอาคารที่ทำการ นอกจากนี้ยังมี อาคารพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นอาคารเรียนส่วนกลาง ใช้ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์

อนึ่ง นามอาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้ใช้เป็นนามอาคาร ด้วย "พินิตประชานาถ" เป็นพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วน "เทพทวาราวดี" เป็นพระนามกรมของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

การก่อสร้างอาคารเทพทวาราวดีนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงาน "ฬ จุฬาฯ หน้าเดิน" เพื่อหาเงินสมทบทุน ตกแต่งอาคารคณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2543

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระวโรกาสให้คณะผู้บริหารคณะเฝ้ารับพระราชทานทุนประเดิมจัดสร้าง "ห้องระบบสืบค้นข้อมูล เพชรรัตน" ซึ่งปัจจุบันเป็นห้องสมุดกฎหมายที่มีความครบครันและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมาทอดพระเนตรกิจการของคณะนิติศาสตร์และห้องระบบสืบค้นข้อมูลในพระนามของพระองค์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 อีกด้วย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี ในวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 87 ปี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547

หลักสูตร แก้

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ได้มีการมุ่งเน้นให้นิสิตเป็นนิสิตกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาวิชากฎหมายต่าง ๆ ดังนี้การศึกษากฎหมายในระดับปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้มีการแบ่งสาขาวิชาขึ้นเป็นสี่สาขาอันประกอบไปด้วย

  1. สาขากฎหมายระหว่างประเทศ
  2. สาขากฎหมายแพ่ง-อาญา
  3. สาขากฎหมายธุรกิจและภาษีอากร
  4. สาขากฎหมายมหาชน

ทั้งนี้นิสิตสามารถที่จะเลือกสาขาวิชาได้อย่างเสรีตามความถนัดเมื่อถึงชั้นปีที่ 4 เทอม 2

นอกจากนี้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต (ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2563) ยังได้มีการส่งเสริมให้นิสิตเป็นนิสิตกฎหมายที่มีความเป็นสากล สามารถที่จะนำความรู้ทางกฎหมายไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยได้บรรจุวิชาประยุกต์กฎหมาย ผ่านภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ (Language for Academic purpose) ขึ้นเป็นวิชาบังคับให้นิสิตได้เลือกเรียนทั้งหมด 15 หน่วยกิตอีกด้วย

สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการเปิดสอนทั้งในหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ) และในหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเช่นเดียวกัน

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)

  • สาขาวิชานิติศาสตร์ (ภาคปกติ [4]และภาคบัณฑิต [5])
  • สาขาวิชากฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) [6]

หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.)

  • สาขาวิชานิติศาสตร์ [7]
  • สาขาวิชากฎหมายการเงินและภาษีอากร [8]
  • สาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) [9]

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชากฎหมายเศรษฐกิจ [10]

หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (น.ด.)

  • สาขาวิชานิติศาสตร์ [11]

กิจกรรมภายในคณะ แก้

ชมรมดนตรีสากล

ชมรมที่ดูแลน้องดีที่สุดในคณะ มีวงดนตรี Stop sunshine เป็นวงหลักและดีที่สุดในคณะ (เนื่องจากมีวงเดียว) วง Stop sunshine ยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจอีกหลายๆอย่าง เช่นการเล่นเพลงที่ไม่สนใจthemeของงานทำให้คนดูรู้สึกสนใจ การซ้อมเพลงก่อนเล่นงานอย่างรวดเร็ว การเล่นไปเรื่อยๆจนกว่างานจะจบเป็นสิ่งที่พวกเขาถนัดที่สุด และเสื้อของวงพวกเขาที่ไม่ธรรมดา ปัจจุบันได้ออกเสื้อมาสามรุ่นแล้ว แต่ยังไม่ได้ออกอัลบั้ม เพราะไม่มีเงินไปห้องอัด

นอกจากจะไม่มีห้องอัดแล้ว ชมรมดนตรีสากลยังไม่มีห้องซ้อมอีกด้วย ถ้าไม่นับวง Stop Sunshine ชมรมนี้ก็ไม่มีอะไรแล้ว

ขอยืนยันว่านักร้องนำวง Stop Sunshine ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่มีข่าวลือกัน โดยการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนักร้องนำ หรือ นาย ก.(นามสมมติ) ได้กล่าวไว้ว่า "ยาบ้า ยาบ้า ยาสกปรก ยาบ้า ยาบ้า ยานรก โจ้ว โจ้ว"

ALSA Chulalongkorn ชมรม ALSA Chula หรือ Asian Law Students' Association เป็นชมรมที่มุ่งเสริมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้แก่นิสิตคณะนิติศาสตร์ผ่านทางกิจกรรมเชิงวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การศึกษางานดูในต่างประเทศ (study trip) ที่เปิดโอกาศให้นิสิตได้เข้าร่วมตลอดทั้งปี การเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ สหประชาชาติจำลอง (Model United Nations: MUN) ที่จำลองการประชุมระดับสหประชาชาติ หรือแม้กระทั่งการจัดถกวิเคราะห์ประเด็นกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ (legal discussion) ฯลฯ

ชมรม ALSA นั้นมีสมาชิกที่เข้าร่วมเป็นคณะนิติศาสตร์ทั่วทั้งเอเซีย โดยที่ประเทศไทยนั้น คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่แรกที่เข้าร่วมชมรม ALSA ปัจจุบันชมรมอัลซ่าในประเทศไทยประกอบไปด้วย ALSA Chula (นิติ จุฬาฯ) ALSA TU (นิติ มธ.) ALSA ABAC (นิติ ม.เอแบค) และ ALSA CMU (นิติ มช) และเมื่อไม่นานมานี้ก็มี ALSA KASETSART (นิติ เกษตรศาสตร์) เข้าร่วม โดยมีบอร์ด ALSA Thailand เป็นตัวเชื่อม ALSA ทุกมหาลัยเข้าด้วยกัน และติดต่อกับองค์กรกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีนายพชรพล ยิ่งอำพล นิสิตคณะนิติศาสตร์รุ่น 59 เป็นประธานคนล่าสุด

ระบบโต๊ะ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มโต๊ะหรือชุมชนย่อย ๆ ภายในคณะ เพื่อที่จะให้นิสิตได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ รุ่นพี่ปัจจุบัน รุ่นพี่บัณฑิต ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางด้านการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและประโยชน์ทางด้านการช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นสำคัญ

นิสิตใหม่ทุกคนสามารถเลือกโต๊ะได้โดยความสมัครใจ โดยแต่ละโต๊ะจะมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองรวมถึงอุปนิสัยโดยรวมของสมาชิกในโต๊ะที่ค่อนข้างจะโดดเด่นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น โต๊ะนี้จะเป็นโต๊ะที่เด็กตั้งใจเรียนมักจะอยู่กัน หรือโต๊ะนั้นจะเป็นโต๊ะที่นักกิจกรรมมักจะอยู่กัน เป็นต้น

ปัจจุบันคณะนิติศาสตร์มีโต๊ะทั้งหมด 6 โต๊ะด้วยกัน คือ

  1. โต๊ะวอลเลย์ : ก่อตั้งเมื่อปี 1979 โต๊ะที่เก่าแก่ที่สุดในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สมาชิกส่วนใหญ่รักสนุกและชอบการสังสรรค์
  2. โต๊ะวังเทพ : ก่อตั้งเมื่อปี 2007 โต๊ะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ สมาชิกส่วนใหญ่กล้าแสดงออกและชอบความสมบุกสมบัน เป็นโต๊ะที่ผลิตนักกิจกรรมให้กับคณะนิติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
  3. โต๊ะซิง : ก่อตั้งเมื่อปี 2000 โต๊ะที่ผลิตนักกิจกรรมคุณภาพของคณะนิติศาสตร์ ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นโต๊ะตัวแม่ สมาชิกส่วนใหญ่จึงมีแต่ตัวแม่ รักความเฮฮาและมีอารมณ์ขัน
  4. โต๊ะสภาพัฒน์ : ก่อตั้งเมื่อปี 2009 โต๊ะเชิงวิชาการดีเด่น สมาชิกส่วนใหญ่ตั้งใจเรียนและรักสงบ
  5. โต๊ะปิงปอง : ก่อตั้งเมื่อปี 1991 โต๊ะเซเลบฯ สมาชิกส่วนใหญ่ชอบการสังสรรค์และหน้าตาดี มักเป็นบุคคลที่มีหน้ามีตาในสังคม
  6. โต๊ะตึ่งโต๊ะ : ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2020 โต๊ะน้องใหม่ไฟแรง แม้จะมีอายุการก่อตั้งน้อยกว่าโต๊ะอื่นแต่สามารถกวาดคะแนนเสียงจากปี1 ได้อย่างถล่มถลาย สมาชิกส่วนใหญ่มีความตลกเฮฮาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

อนึ่ง ในสมัยก่อนมีการก่อตั้งโต๊ะขึ้นมากมายและได้ยุบตัวลงเช่น โต๊ะจุดเลี้ยว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1993 โต๊ะแห่งความอบอุ่น เนื่องจากไม่มีสมาชิกแล้วจึงยุบตัวลงในปี2018 สมาชิกส่วนใหญ่รักสงบและอารมณ์ดี ในปัจจุบันจึงเหลือเพียง 6 โต๊ะข้างต้น

อย่างไรก็ดี อุปนิสัยทั้งหลายนี้เป็นเพียงแค่อัตลักษณ์ของโต๊ะเท่านั้น นิสิตต่างก็สามารถที่จะสนิทสนมกันภายในรั้วสีขาวอันอบอุ่นหลังนี้ได้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่โต๊ะอะไรก็ตาม

งานนิติวิชาการสานสัมพันธ์ จัดขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตปีที่ 1-4 โดยรูปแบบกิจกรรมจะจัดเป็นค่ายที่ต่างจังหวัด เป็นงานประจำทุกปี

งานนิติสัมพันธ์ จุฬา-ธรรมศาสตร์ เป็นงานเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสองมหาลัยเก่าแก่ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งนิติวิชาของประเทศไทย

ทำเนียบคณบดี แก้

ทำเนียบคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[12]
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง

1. ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล พ.ศ. 2515
2. ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2521
3. ศาสตราจารย์พิเศษ ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล พ.ศ. 2521 – พ.ศ. 2523, พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2531, พ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2535
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุฑา กุลบุศย์ พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2527
5. รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2538
6. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2542
7. รองศาสตราจารย์ ธงทอง จันทรางศุ พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2544
8. รองศาสตราจารย์ ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2552
9. ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ธนิตกุล พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2556
10. ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2560
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะรับตำแหน่ง

ความร่วมมือทางวิชาการ แก้

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 12 แห่งทั่วเอเชีย จัดตั้ง "สถาบันกฎหมายแห่งเอเชีย (Asian Law Institute)" เพื่อเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับเอเชียให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือทางวิชาการกับ โรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิชาการ และนิสิต รวมทั้ง ยังทำข้อตกลง Dual Degree Program ในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ หลักสูตร M.L.I (Master of Legal Institutions) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน โดยนิสิตสามารถโอนหน่วยกิตไประหว่างหลักสูตรได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำข้อตกลงกับอีกหลายสถาบัน เช่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, สถาบันวิจัยกฎหมายแห่งเกาหลี เป็นต้น

เกียรติประวัติ แก้

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างผลงานและชื่อเสียงให้เป็นที่ปรากฏแก่วงการต่าง ๆ เช่น ในฐานะผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นักการทูต อาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมาย นิติกร ประกอบอาชีพธุรกิจเอกชน ฯลฯ

นอกจากนี้ ในการสอบเป็นเนติบัณฑิตของสำนักอบรมเนติบัณฑิตยสภา นับตั้งแต่มีการสอบเนติบัณฑิตตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้สอบเป็นเนติบัณฑิตที่ได้คะแนนถึงระดับ เกียรตินิยม เพียง 5 คน โดย 2 ใน 5 คนสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ และ คุณสุวิชา (อวยชัย) นาควัชระ (อีก 2 คนสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1 คนสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ)

อ้างอิง แก้

  1. รายนามคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515 [มีสถานะเทียบเท่าพระราชกฤษฎีกา แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2486 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2497 ให้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์]" (pdf). ราชกิจจานุเบกษา. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 83 (93): 1. 2515-06-17. สืบค้นเมื่อ 2556-10-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศโอนโรงเรียนกฎหมายไปขึ้นแก่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, เล่ม ๕๐, ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖, หน้า ๑๔๔
  4. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
  5. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ)
  6. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ
  7. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
  8. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายการเงินและภาษีอากร
  9. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายธุรกิจ
  10. เกี่ยวกับหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายเศรษฐกิจ
  11. เกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต
  12. รายนามคณบดี (2551). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2552).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้