พระราชวังสนามจันทร์
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ห่างจาก พระปฐมเจดีย์ ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา สร้างขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากพระองค์สวรรคต พระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พระราชวังสนามจันทร์ | |
---|---|
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ในพระราชวังสนามจันทร์ | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปลี่ยนสภาพ |
ประเภท | พระราชวัง |
ที่ตั้ง | ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม |
เมือง | นครปฐม |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2450 |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2533 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
พื้นที่ | 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
ผู้พัฒนาโครงการ | พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) |
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 พระราชวังสนามจันทร์ เปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกาย ช่วงเช้า เวลา 5:00 – 9:00 น. และช่วงเย็น เวลา 16:00 – 20:00 น.[1]
ประวัติ
แก้พระราชวังสนามจันทร์ เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า "เนินปราสาท" เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการ พระปฐมเจดีย์ และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤต
พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นแม่งาน และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) "สระน้ำจันทร์" หรือ "สระบัว"
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพินัยกรรมแสดงพระราชประสงค์ยกพระราชวังสนามจันทร์ให้เป็นสถานที่ตั้งของ โรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมีใจความว่า
บรรดาที่ดินตึกรามทั้งใหญ่ น้อย ที่รวมอยู่ในเขตซึ่งเรียกว่า "พระราชวังสนามจันทร์" เป็นสมบัติส่วนตัวของข้าพเจ้าโดยแท้ไม่ได้รับมฤดกมาจาก สมเด็จพระบรมชนกนารถ มิได้ ข้าพเจ้าได้เก็บทุนในตำแหน่งหน้าที่ พระยุพราช และทุนอื่น ๆ สร้างที่สนามจันทร์ และสร้างพระที่นั่งซึ่งเรียกว่า พระพิมานประฐม นั้นขึ้นก่อน ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ราชสมบัติแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เอาเงินพระคลังข้างที่ทำนุบำรุงที่นี้ตลอดมาเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเอาที่พระราชวังสนามจันทร์ไปรวมเข้ากับกองมรดกใหญ่นั้นหาควรไม่ ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ตามกฎหมายเหมือนสามัญชน ที่จะยกที่นี้ให้แก่ผู้ใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นตัวข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าขอยกที่นี้ให้แก่รัฐบาลสยามเป็นสิทธิขาด เพื่อทำเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก
กรมศิลปากร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พระราชวังสนามจันทร์เป็น โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524[3]
แต่เดิม พระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักพระราชวัง โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย รองศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ในขณะนั้น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์แก่สำนักพระราชวัง[4] ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโฉนดที่ดินพระราชวังสนามจันทร์ แก่ กระทรวงมหาดไทย[5] แล้วทางจังหวัดนครปฐม รับมอบต่อจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เพื่อนำมาดำเนินการรับผิดชอบเอง[6]
สิ่งก่อสร้าง
แก้พระที่นั่ง
แก้- พระที่นั่งพิมานปฐม
พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุฉลักเป็นลวดลายตามแบบไทยอย่างประณีตงดงาม พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฏอยู่จวบจนปัจจุบัน คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งงดงามน่าชมมาก
พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับ (โดยเฉพาะก่อนเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลราชย์สมบัติ จนถึง พ.ศ. 2458) ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ มากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักองค์อื่น ๆ ในปัจจุบันบนพระที่นั่งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ตั้งอยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นแบบตะวันตก ประดับลวดลายไม้ฉลุเหมือนกับพระที่นั่งพิมานปฐม โดยมีทางเชื่อมกับพระที่นั่งพิมานปฐม ใช้เป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายในในสมัยนั้น ปัจจุบันพระที่นั่งอภิรมย์ฤดีชั้นบนจัดแสดงห้องพระบรรทม ห้องทรงงาน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในสมัยก่อน ในปัจจุบันบนพระที่นั่งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- พระที่นั่งวัชรีรมยา
พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยแท้วิจิตรงดงามตระการตา หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นหลังคา 2 ชั้นเหมือนกับหลังคาในพระบรมมหาราชวัง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง คันทวย มีมุขเด็จด้านทิศใต้ หน้าบันมุขเด็ดแกะสลักเป็นเข็มวชิราวุธอยู่ภายใต้วงรัศมีมีกรอบล้อมรอบ พร้อมด้วยลายกนกลงรักปิดทอง หน้าพระที่นั่งมีชานชาลาทอดยาวออกมาจรดกับพระที่นั่งพิมานปฐมด้วย พระทวารของบัญชรทั้ง 2 ชั้นของพระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับเรือนแก้ว เป็นบันแถลงเสียบไว้ด้วยยอดวชิราวุธภายในมีเลข 6 อยู่ในลายพิจิตรเลขาเป็นมหามงกุฎ มีลายกนกลงรักปิดทองล้อมรอบบนพื้นที่ประดับตกแต่งไปด้วยกระจกสีน้ำเงิน พื้นเพดานชั้นบนของพระที่นั่งองค์นี้ทาด้วยสีแดงสดเข้ม มีดอกดวงประดับประดาละเอียดอ่อนทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ส่วนชั้นล่างนอกจากจะทาสีแดงและปิดทองแล้วนั้น ชั้นล่างมีความแตกต่างกันตรงที่ลายฉลุนั้นเป็นดาวประดับพระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ประทับเป็นครั้งคราว โดยมากจะใช้เป็นห้องทรงพระอักษรใน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงซ้อมรบเสือป่าที่อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และพระองค์เสด็จกลับมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้เป็นเวลา 1 คืนก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังนันทอุทยาน 1 เดือน และกลับมาที่พระราชวังสนามจันทร์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนกลับ พระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นที่ทำการของศาลาว่าการจังหวัดนครปฐมมาแล้วด้วย
- พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งที่มีส่วนเชื่อมต่อกับใกล้เคียงคือพระที่นั่งวัชรีรมยา หน้าบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์อยู่ทางทิศเหนือ เป็นรูปหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพรประทับอยู่ในปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายทรงประทานพร แวดล้อมด้วยบริวารซึ่งประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ 5 หมู่ ท้องพระโรงยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีอัฒจันทร์ 2 ข้างต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา มีพระทวารเปิดถึงกัน 2 ข้าง ซุ้มพระทวารทั้ง 2 และซุ้มพระบัญชรใกล้ ๆ พระทวารทั้ง 2 ข้างแกะสลักเป็นรูปกีรติ มุขลงรักปิดทองภายในพระที่นั่งโดยรอบ มีเสานางจรัลแบ่งเขตท้องพระโรงกับเฉลียงส่วนที่เป็นเฉลียงลดต่ำลงมา 20 เซนติเมตร เสานางจรัลมีลักษณะเป็นเสาทรง 8 เหลี่ยมเช่นเดียวกับพระที่นั่งวัชรีรมยา ทำเป็นลายกลีบบัวจงกลโดยรอบเสาตลอดทั้งต้น เพดานพระที่นั่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพดานชั้นล่างพระที่นั่งวัชรีรมยา เพดานสีแดงเข้มปิดทองฉลุเป็นลายดาวประดับมีโคมขวดห้อยอย่างงดงาม
พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นสถานที่จัดงานหลายอย่าง เช่น งานสโมสรสันนิบาต เสด็จฯ ออกพบปะขุนนาง เป็นสถานที่ฝึกอบรม กองเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่าง ๆ เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้กว้างขวางและสามารถจุคนเป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า "โรงโขน" ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรมาประดิษฐานไว้ภายในนี้ด้วย
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้ในพระราชพิธีพระราชทานเหรียญตราแก่นายทหาร และทรงประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแก่ทหารรวมทั้งเสือป่า และวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465 มีงานพระราชทานเลี้ยงแก่ พระอินทราณี เนื่องในวันเกิด และให้ร่วมประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการ มีพระราชดำรัสว่าวันนี้พระองค์จะทรงหลั่งพระมหาสังข์แก่พระอินทราณี และทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี (พระยศในขณะนั้น)
- พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย
"...ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ นี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาดึก ๒ ยาม กับ ๕๕ นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งเล่นอยู่ที่เรือนสนามจันท์ มีข้าราชการและมหาดเล็กอยู่ด้วยกันเปนอันมาก ได้เห็นองค์พระปฐมมีรัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์..."
จากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น เป็นหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่า เคยมีเหตุการณ์อันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นกับ "พระปฐมเจดีย์" ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น "ปาฏิหาริย์" ที่เกิดขึ้นกับปูชนียสถานสำคัญแห่งนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ทรงพระอนุสรถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น แม้จะทรง 'พยายาม' หาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ก็มิสามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางดึกคืนนั้นได้ถี่ถ้วน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถงขนาดเล็กขึ้นหลังหนึ่งบนชาลาของพระที่นั่งพิมานปฐม ในจุดที่ทอดพระเนตรเหตุการณ์พระปฐมเจดีย์เปล่งรัศมี พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย
รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระที่นั่ง มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงขนาดเล็ก โครงสร้างเป็นไม้ทั้งสิ้น หลังคาประดับเครื่องลำยองแบบไทยประเพณีมุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล คือพระมหาวชิราวุธบนพานแว่นฟ้า แวดล้อมขวาซ้ายด้วยฉัตรเจ็ดชั้น มีเสาสลักลายปิดทองประดับกระจกสี่ต้นรับชั้นหลังคาหลักกลางพระที่นั่ง และเสาอีกสี่ต้นรับหลังคากันสาดโดยรอบ ดาวเพดานประดิษฐ์ลวดลายอย่างวิจิตร ไม่ซ้ำกันทั้งหมด ๒๔ ดวง ภายในยกเป็นพระแท่นที่ประทับ มีชาลายื่นออกไปทั้งสี่ด้าน
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ย้ายพระที่นั่งองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยศาลาลงสรง ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเช่นเดียวกัน โดยตั้งอยู่ข้างหมู่พระวิมาน ปัจจุบัน พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยอยู่ระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่ ตามพระราชบัญชาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย นับเป็นพระบรมราชานุสรณ์สำคัญซึ่งแสดงถึง "พระบุญญาธิการ" ของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และเป็นมรดกศิลปกรรมชั้นยอดของชาติไทยอีกสถานหนึ่ง
พระตำหนัก
แก้พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2451 โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้านของตัวพระตำหนักทั้ง 2 ชั้น จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอแนซ็องส์ของประเทศฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของประเทศอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมมาตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องบันได อีกด้านหนึ่งเป็นห้องเสวยและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนประกอบด้วยทางเดินกลางแบ่งอาคารเป็น 2 ข้าง แต่ละข้างมีห้องใหญ่เป็นห้องบรรทม และห้องเล็กเป็นห้องทรงพระอักษร ล้อมด้วยระเบียงสามด้านยกเว้นด้านหลัง ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง จุดเด่นของพระตำหนักอยู่ที่ป้อมหรือหอคอยที่มุมอาคาร ยอดหลังคาเป็นกรวยแหลม นอกจากนี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบท ลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรป ด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไปพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์"[7] และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460
แต่เดิมพระตำหนักหลังนี้ชื่อว่า "พระตำหนักเหล" ซึ่งตั้งตามนามของ ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาล
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้องและติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ในราว พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกคล้ายกระท่อมไม้ในชนบททาสีแดง หลังคาทรงปั้นหยายกจั่วสูง ผังอาคารเป็นรูปไม้กางเขนแต่แขนยาวไม่เท่ากัน ภายในแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นล่างด้านตะวันออกเป็นโถงใหญ่โล่งถึงชั้นบน ส่วนแกนเหนือใต้เป็นห้องโถงทางเข้าด้านหนึ่ง และห้องนอนมหาดเล็กชั้นบนมี 4 ห้อง ได้แก่ ห้องโถงทางทิศเหนือมีประตูเปิดสู่ฉนวนน้ำที่เชื่อมกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ห้องทรงพระอักษรอยู่ทางทิศเหนือ ห้องบรรทมอยู่ทางทิศใต้มีประตูออกสู่ระเบียง และห้องสรงอยู่ด้านตะวันตกของห้องพระบรรทม
- พระตำหนักทับแก้ว
พระตำหนักทับแก้ว เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานสุนทรถวาย เป็นที่ประทับในฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่า กองเสนารักษ์ราบเบารักษาพระองค์ระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า รวมทั้งเป็นสถานที่พระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการ และเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระสุธารส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก เป็นตึก 2 ชั้นขนาดเล็กทาสีเขียวอ่อน ภายในมีเตาผิงและหลังคาปล่องไฟตามบ้านของชาวตะวันตก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนที่พักของปลัดจังหวัดนครปฐม จนกระทั่งได้รับการบูรณะใน พ.ศ. 2546
พระตำหนักทับแก้ว เคยเป็นวิทยาลัยทับแก้วของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ชื่อว่า "ม.ทับแก้ว"
สำนักพระราชวังได้อนุญาตให้สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชกรณียกิจด้านกีฬาฟุตบอลของชาติ
พระตำหนักทับขวัญ เป็นหมู่เรือนไทย มีชานเชื่อมต่อกันหมด เช่นหอนอน 2 หอ เรือนโถง เรือนครัว หอนกอยู่ที่มุมของเรือน ใช้วิธีเข้าไม้แบบโบราณ ฝาเรือนทำเป็นฝาไม้ปะกนกรอบลูกฟังเชิงชายและไม้ค้ำยันสลักสวยงาม ออกแบบโดย พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นนายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างรอบ ๆ เรือนปลูกไม้ไทย เช่น นางแย้ม นมแมว ต้นจัน และจำปี และพระตำหนักหลังนี้ได้รับการบูรณะเมื่อครั้ง พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์
เรือน
แก้ในพระราชวังสนามจันทร์มีเรือนต่าง ๆ ดังนี้
- เรือนพระนนทิการ
เดิมเป็นบ้านพักของ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกพื้นใต้ถุนสูง และเคยใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด
- เรือนพระธเนศวร
เดิมเป็นบ้านพักของ พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) ในสมัยรัชกาลที่ 6 และใช้เป็นบ้านพักของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีผู้พิพากษาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง ตั้งอยู่บนเกาะในลำคูพระราชวังสนามจันทร์ด้านทิศเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 250 ตารางเมตร จัดเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ปานกลาง มีศาลาริมน้ำซึ่งมีสะพานเชื่อมกับตัวเรือน มีลวดลายฉลุตกแต่งแบบเรือนขนมปังขิงที่งดงาม
- เรือนทับเจริญ
เดิมเป็นบ้านพักของ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) อธิบดีกรมมหาดเล็ก เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยายกพื้นใต้ถุนสูง
- เรือนพระกรรมสักขี
เดิมเป็นบ้านพักที่ของ พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) และบุตรี เครือแก้ว อภัยวงศ์ (ต่อมาเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี) ครั้งยังทรงพระเยาว์ เป็นเรือนไม้สัก โดยในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการบูรณะเรือนแห่งนี้ใหม่
- เรือนพระสุรภี
เดิมเป็นบ้านพักของ ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ) โดยในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการบูรณะเรือนแห่งนี้ใหม่
- เรือนราชมนู
เดิมเป็นบ้านพักของราชองครักษ์
- เรือนชานเล็ก
เดิมเป็นบ้านพักของข้าราชการกรมมหรสพ
- เรือนพระนนทิเสน
- เรือนสุภรักษ์
- เรือนชาวที่
- เรือนคฤหบดี
- เรือนพระเอกทันต์
- เรือนพระกรรติเกยะ
- เรือนที่พักพระตำรวจหลวง
- คลังแสง
สถานที่อื่น ๆ
แก้- เทวาลัยคเณศร์
ในพระราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น มักปรากฏ "ศาลเทพารักษ์" ประจำเขตพระราชฐาน ตามคติให้เทพยดารักษาอาณาบริเวณมิให้มีภัย ทั้งยังคุ้มครอง "เจ้าของพระราชวัง" แห่งนั้น ๆ ด้วย
สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยขึ้นองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "เทวาลัยคเณศร์" เพื่อประดิษฐานเทวรูปพระคเณศ หรือพระพิฆเนศ พระเป็นเจ้าเหนืออุปสรรคตามคติพราหมณ์ โดยตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของพระราชวัง ทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทรงเคารพบูชานั้น ประดิษฐานในแนวแกนเดียวกันทั้งหมด คือ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานภายในห้องพระเจ้า พระที่นั่งพิมานปฐม, เทวาลัยคเณศร์ เทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ และพระปฐมเจดีย์ ทางทิศตะวันออกของพระราชวัง เสมือนว่าการสักการะเพียงครั้งเดียว สามารถสักการะปูชนียสถานทั้งสามได้โดยพร้อมกัน
เทวาลัยคเณศร์ ถูกกะเกณฑ์การสร้างไว้ตั้งแต่ต้นรัชกาล ด้วยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่ามีพระราชดำริให้สร้างศาลเทพารักษ์แห่งนี้ หากไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด กระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการบวงสรวงสังเวยพระคเณศ ทรงจับสายสูตรเปิดผ้าคลุมเทวรูปเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑
รูปแบบสถาปัตยกรรมของเทวาลัยคเณศร์มีลักษณะแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ ทรงอาคารคล้ายหอสูง ใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นวัสดุที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยระยะหนึ่งแล้ว ส่วนหลังคาและตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกูบช้าง มียอดขนาดเล็กด้านบน ทั้งสี่ด้านเป็นซุ้มโปร่งรูปเกียรติมุข สามารถแลเห็นเทวรูปพระคเณศได้รอบทิศ ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ซึ่งสูงมาก การใช้ฐานสิงห์ยืดขาสิงห์สูงเช่นนี้ ปรากฏในสถาปัตยกรรมยุคหลัง ที่ต้องการความสูงของอาคารมาก เช่น หอระฆังวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นอาทิ
อนึ่ง การสร้างศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวัง เพื่อประดิษฐานเทวรูปพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์องค์นี้ แสดงให้เห็นว่า ทรงนับถือบูชาพระคเณศในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรค และเจ้าแห่งศิลปวิทยา บางคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยกรอง มักขึ้นต้นด้วยบทพระราชนิพนธ์ "ไหว้ครู" ตามขนบการประพันธ์ ซึ่งปรากฏพระนามของ "พระคเณศ" อยู่ด้วยเสมอ
อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยง โดยประดิษฐานไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า เป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ส่วนราชการจังหวัดฯ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้กลางพระราชวังสนามจันทร์ หลังเทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
- ศาลาธรรมมุเทศน์โอฬาร
ศาลาธรรมมุเทศน์โอฬาร ในราชกิจจานุเบกษาใช้ว่า "ศาลาธรรมเทศน์โอฬาร" คือ "ธรรมศาลาสำหรับพระราชวังสนามจันทร์" เป็นศาลาที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมใหญ่และอบรมเสือป่า เนื่องจากเสือป่ามีจำนวนมากขึ้นทุกปี เมื่อมีการประชุมใหญ่พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์จุเสือป่าได้ไม่เพียงพอ แต่จนสิ้นรัชกาลก็ไม่มีการสร้างศาลานี้
- ปราสาทศรีวิไชย
ปราสาทศรีวิไชย เป็นอนุสาวรีย์แห่งพระเจ้ากรุงศรีวิไชย ตั้งอยู่บนเนินปราสาทเก่า อย่างไรก็ดีตลอดจนสิ้นรัชกาลไม่ปรากฏว่าได้สร้างปราสาทศรีวิไชยขึ้น
- พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอลในประเทศไทย ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ใกล้กับ พระตำหนักทับขวัญ[8]
ถนนในพระราชวัง
แก้ในพระราชวังสนามจันทร์มีถนนที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีถนนสายใหญ่ ๆ 2 สาย ดังนี้
- ถนนราชดำเนินใน
- ถนนราชดำริห์ใน
และยังมีถนนสายเล็ก ๆ อีกดังต่อไปนี้
- ถนนไก่ป่า
- ถนนพญามังกร
- ถนนฆรสรณี
- ถนนสีมรกฏ
- ถนนกลดหรูหรา
- ถนนเมฆลาโยนมณี
- ถนนปิติยาลัย
- ถนนไวเวลา
- ถนนฑีฆาภิรมย์
- ถนนอาคมคเชนทร์
- ถนนกระเวนสัญจร
- ถนนกลอนสิบสอง
- ถนนฆ้องปลาศ
- ถนนระนาดประไลย
- ถนนไฟสะดุ้ง
- ถนนรุ่งสว่าง
- ถนนส่างแสง
- ถนนแย่งระบำ
- ถนนดำนฤมิตร
สะพานในพระราชวัง
แก้สะพานในพระราชวังมีสะพานต่าง ๆ ดังนี้
- สะพานรามประเวศน์
- สะพานนเรศวร์จรลี
- สะพานจักรียาตรา
- สะพานสุนทรถวาย
สิ่งก่อสร้างในอดีต
แก้- สถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์
ปัจจุบันย้ายไปประกอบใหม่ ตั้งอยู่ที่ สถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ศาลาลงสรง
เป็นศาลาทรงจตุรมุข สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับทรงลงสรงน้ำ ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อศาลาลงสรงและพระที่นั่งปาฏิหารย์ทัศนัยมาประดิษฐานไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- โรงละคร
เป็นโรงละครที่สร้างขึ้นข้างพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ สร้างขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2461 เป็นโรงละครที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้น โดยโปรดที่จะมาซ้อมละครอยู่ทุกวันและมีการเล่นละครทุก ๆ คืน ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นโรงพยาบาลเรือนจำจังหวัดนครปฐม
- เก๋งรถไฟ
ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นกุฏิพระสงฆ์ วัดเสนหา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
- ศาลาเล็ก
ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นห้องสมุดที่ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศิลปากร
แก้มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่รู้จักในชื่อว่า "ม.ทับแก้ว" ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ใช้เป็นที่ก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยประมาณ 428 ไร่
เป็นที่ตั้งของ คณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทศโนโลยีอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนแบบสหศึกษาแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1–6 และชั้นมัธยมปีที่ 1–6 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการต่าง ๆ
สาเหตุที่เลือกจังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ พระราชวังสนามจันทร์ เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเหตุผลดังนี้[9][10]
- ประการแรก พระราชวังสนามจันทร์เคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในทางโบราณคดีและศิลปะทั้งปวง ทรงเป็นนักโบราณคดีและศิลปินชั้นเยี่ยมโดยเฉพาะทางวรรณศิลป์ ทรงสนับสนุนนาฏศิลป์ตลอดรัชสมัยของพระองค์
- ประการที่สอง บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของเทวาลัยคเณศร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ พระพิฆเนศวรยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของทางมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่แล้ว
- ประการสุดท้าย ที่จังหวัดนครปฐมมีพระปฐมเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญในประเทศไทย ดังนั้นบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
การเดินทาง
แก้ทางรถยนต์
แก้ให้ใช้แยกนครชัยศรีเป็นหลัก ซึ่งถ้าวิ่งมาจากกรุงเทพมหานคร จะสามารถมาได้จากถนนเพชรเกษมและถนนบรมราชชนนีเพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม ทั้งสองเส้นทางด้านบนจะต้องผ่านแยกนครชัยศรี
จากแยกนครชัยศรี ขับตรงไปประมาณ 8.5 กิโลเมตร จะถึงแยกบ้านแพ้ว (ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปบ้านแพ้ว ถ้าตรงไปจะไปนครปฐม) ให้ขับตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร จะพบสะพานไปตัวเมืองนครปฐม ให้ขับขึ้นสะพาน (ถ้าตรงไปจะไปจังหวัดราชบุรี) จากนั้นขับตรงไปอีกประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบ 4 แยกไฟแดง (ถ้าตรงไปก็คือพระปฐมเจดีย์ ถ้าเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังตลาดนครปฐม ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปจังหวัดสุพรรณบุรี) เลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงไปประมาณ 200 เมตร จากนั้นเลี้ยวขวา แล้วขับตรงไปประมาณ 1.9 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาที่ไฟแดง เลี้ยวขวาแล้วให้ขับตรงไปประมาณ 400 เมตร ก็จะถึงพระราชวังสนามจันทร์
ทางรถโดยสารประจำทาง
แก้จากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) หรือสายใต้ใหม่ นั่งรถสายกรุงเทพฯ–สุพรรณบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2 สายเก่า) / กรุงเทพฯ–ดำเนินสะดวก / กรุงเทพฯ–ราชบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2) / กรุงเทพฯ–กาญจนบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2) ไปลงที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จากนั้นเดินเท้าประมาณ 400 เมตร จะถึงพระราชวังสนามจันทร์
ทางรถไฟ
แก้มีขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟกรุงเทพ / สถานีรถไฟธนบุรี ไปยังสถานีรถไฟนครปฐมวันละหลายขบวน จากนั้นต่อรถรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพระราชวังสนามจันทร์ รถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีหลายขบวนหยุดที่ ที่หยุดรถไฟพระราชวังสนามจันทร์ สามารถเข้าพระราชวังสนามจันทร์ผ่านทางด้านมหาวิทยาลัยศิลปากร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1 เม.ย. เปิด'วังสนามจันทร์' ให้ ปชช.ออกกำลังกาย, คมชัดลึก วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561
- ↑ พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา หน้า 352 – 353
- ↑ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๗๗ หน้า ๓๖๗๑ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๔
- ↑ http://www.palaces.thai.net/day/index_sc.htm สำนักพระราชวัง
- ↑ 'ในหลวงร.10'พระราชทานที่ดิน เพื่อประโยชน์ในทางราชการ, เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เวลา 6:59 น.
- ↑ แต่งไทยย้อนยุค เที่ยวชม พระราชวังสนามจันทร์ เต็มรูปแบบ 1 ก.ค. 61 นี้ เก็บถาวร 2019-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เอ็มไทย วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
- ↑ ประกาศพระราชทานนามพระตำหนัก ที่พระราชวังสนามจันทร์ เมืองนครปฐม, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๒ หน้า ๔๑๕ วันที่ ๙ มกราคม ๒๔๕๘
- ↑ มิวเซียมไทยแลนด์ พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม
- ↑ บันทึกเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร เก็บถาวร 2007-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ↑ ประวัติการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม “เหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าได้จดไว้” เก็บถาวร 2013-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พระราชวังสนามจันทร์ จากสำนักพระราชวัง
- พระราชวังสนามจันทร์ เก็บถาวร 2006-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระราชวังสนามจันทร์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์