โรงเรียนทวีธาภิเศก

โรงเรียนทวีธาภิเศก (อังกฤษ: Taweethapisek School; อักษรย่อ : ท.ภ. / T.P.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทชายล้วน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 505/5 ซอยอิสรภาพ 42 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 11 ไร่ อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีอิสรภาพ โรงเรียนทวีธาภิเศกก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชสมบัตินานเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช[1]

โรงเรียนทวีธาภิเศก
Taweethapisek School
แผนที่
พิกัด13°44′43″N 100°28′58″E / 13.745255°N 100.482752°E / 13.745255; 100.482752
ข้อมูล
ชื่ออื่นท.ภ. / T.P.
ชื่อเดิมโรงเรียนวัดอรุณราชวราราม
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล
สถาปนาพ.ศ. 2428 (139 ปี)[a]
19 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 (126 ปี)[b]
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เขตการศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1
ผู้อำนวยการดร.วีระเชษฐ์ ฮาดวิเศษ
ระดับชั้นม.1 - ม.6
เพศชายล้วน
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนสามัญทางเลือก
ห้องเรียน72 ห้องเรียน
พื้นที่11 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา
สี   เขียวขาว
คำขวัญลูกทวีธา มีศักดิ์ศรี มีน้ำใจ มีคุณธรรม
เพลงมาร์ชทวีธาภิเศก
มาร์ชศิษย์เก่าทวีธา
ทวีธาลำลึก
ทวีธาอาลัย
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดอกไม้แก้ว
เว็บไซต์taweethapisek.ac.th
ทวีธาภิเศกตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ทวีธาภิเศก
ทวีธาภิเศก
ทวีธาภิเศก (กรุงเทพมหานคร)

ประวัติ

แก้

โรงเรียนทวีธาภิเศกเป็นโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัดธนบุรี (โรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัดธนบุรีคือ โรงเรียนศึกษานารี) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานก่อตั้ง เนื่องในโอกาสที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยกาธิราช

โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม ไม่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาที่แน่ชัด โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในรายงานโรงเรียนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันจันทร์ เดือน 9 ขึ้น 7 ค่ำ ปีระกา สัปตศก จ.ศ. 1247 (2 สิงหาคม พ.ศ. 2428) ระบุว่า "นักเรียนโรงเรียนวัดอรุณราชวราราม มีความรู้ชั้นมูลบทบรรพกิจ เดือน ๘ บุรพาสาธ ๓๔ คน เดือน ๘ อุตราสาธ ๔๕ คน" ซึ่งคาดว่าโรงเรียนอาจจะเปิดทำการสอนตั้งแต่เดือน 8 บุรพาสาธ จ.ศ. 1247 (ไม่ทราบวันที่ ตกระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2428) เป็นอย่างน้อย โดยเปิดทำการสอนครั้งแรก ณ กุฏิพระศรีสมโพธิ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย)) ภายในวัดอรุณราชวราราม

ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2438) ปีมะแม โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม ที่ได้เปิดทำการสอนอยู่แล้ว ณ ศาลาต้นจันทน์ ภายในวัดอรุณราชวราราม โดยมีพระครูธรรมรักขิต (สัมฤทธิ์ ลอยเพชร) เป็นครูใหญ่ ทำการสอนตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 4 มีจำนวน 5 ห้องเรียนคือชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ชั้น 4 ก และชั้น 4 ข มีนักเรียนทั้งสิ้น 162 คน ครู 6 คน[2] ได้เกิดเพลิงไหม้เรือนชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดแล้วลุกลามมาถึงกุฏิภายในวัด เกือบไหม้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องเสด็จมาทรงบัญชาการดับไฟด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเกรงว่าไฟจะลุกลามไหม้ไปถึงพระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสรีรางคารของสมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้าของพระองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ) ขยายตัวทางด้านการศึกษา จัดให้มีโรงเรียนมากขึ้น โดยเห็นว่ากระทรวงธรรมการ ได้จัดการเรียนการสอนบริเวณศาลาต้นจันทร์ วัดอรุณราชวรารามอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ประจวบกับเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำรงสิริราชสมบัติมาเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเษกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2441

ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเศกนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ได้ทรงร่วมบริจาคทรัพย์บูชาธรรมเทศนาเพื่อการปฏิสังขรณ์และสถาปนาถาวรวัตถุในวัดแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างโรงเรียนตรงกุฏิสงฆ์ด้านทิศเหนือโรงเรียนวัดอรุณราชวรารามเดิมมาเป็นตึกใหญ่ และพระราชทานนามโรงเรียนว่า ทวีธาภิเศก โดยทรงมีพระราชปรารภในการสร้างโรงเรียนว่า

"กุฎีแถวเหล่านี้ไม่มีประโยชน์แล้ว ทิ้งไว้ก็สำหรับจะทรุดโทรมไปเท่านั้น ควรแปลงให้เปนโรงเรียนสำหรับอารามนี้สักแห่งหนึ่ง"

แต่ต่อมากรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้สิ้นพระชนม์ก่อนที่อาคารจะเสร็จ จึงโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดารับเป็นแม่กอง และต่อมาได้โปรดเกล้าให้พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นแม่กอง จนการก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ 2445

เฉพาะผู้บริจาคมีรายนามของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงบริจาคเงินร่วมในการนี้ มีพระนามร่วมบริจาคทั้งสิ้น 47 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 33,484 บาท 30 อัฐ เช่น

โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงการก่อสร้างโรงเรียนว่า[3]

"โรงเรียนที่จะสร้างใช้เงินรายที่จะได้ช่วยงานครั้งนี้ น่าที่จะพอ ถ้าไม่พอฉันจะออกเงินเพิ่มเติมให้ เปนโรงเรียนของถวาย เรียกว่า โรงเรียนทวิธาภิเศก[c] อามน่าบรรโรง ใช้อย่างเหรียญครั้งนี้ก็จะงามดี จะเปนที่พอใจของผู้ที่ได้ออกเงิน เพราะได้เหนเปนสถานที่ถาวรแลเกิดประโยชน์"

ในปี พ.ศ. 2445 เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนเสร็จสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้จัดพิธีฉลองอาคารนี้รวม 2 วัน และได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีด้วยพระองค์เอง และในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และทรงเสด็จมาเยี่ยมโรงเรียนมีนักเรียนเข้าแถวรับเสด็จ 150 คน โดยมีพระครูธรรมรักขิต ครูใหญ่ท่านแรกอ่านคำโคลงยอพระเกียรติ และในปีเดียวกันนี้ กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งสามัคยาจารย์สโมสรสถาน (ปัจจุบันคือ คุรุสภา) เพื่อใช้เป็นที่ประชุมอบรมและสอนครูขึ้น ณ โรงเรียนทวีธาภิเศก ก่อนที่จะย้ายที่ประชุมไปยังโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[4]

เนื่องในโอกาสเพื่อเป็นที่ระลึกในวันสำคัญยิ่ง ได้มีการสร้างเหรียญที่ระลึกแจกพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเป็นที่ระลึก ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนทวีธาภิเศก จึงถือวันที่ 5 กันยายน ของทุกปีเป็น "วันทวีธาภิเศก" และใช้สัญลักษณ์ภาพเหมือนรูปเหรียญ ทวีธาภิเศก เป็นตราประจำโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2494 นายวรสิทธิ์ อินทาปัจ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้ง ณ บริเวณวัดนาคกลางวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบันนี้ โดยย้ายนักเรียนชั้นมัธยมปลายบางส่วนมาเรียน ในปีพ.ศ. 2503 เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนเสร็จสมบูรณ์ จึงได้ย้ายนักเรียนทั้งหมดมาเรียน ส่วนอาคารเรียนหลังเดิม ณ วัดอรุณราชวราราม กรมสามัญศึกษา ได้ทำการเปิดสอนในระดับประถมศึกษาชื่อว่า โรงเรียนประถมทวีธาภิเศก

ในปี พ.ศ. 2512 นายเรวัต ชื่นสำราญ เป็นอาจารย์ใหญ่ ได้งบประมาณสร้างตึก 4 ชั้น 18 ห้องเรียน เป็นเงินทั้งสิ้นสองล้านบาท ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา) เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีและได้ประทานนามตึกนี้ว่า ตึกพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งก็คือ อาคาร 1 ของโรงเรียนและเปิดใช้มาจนปัจจุบัน

ระบบการเรียน

แก้
  • แบบห้องเรียนปกติ
  • แบบโครงการห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม (SMTE)
  • แบบโครงการห้องเรียนพิเศษ Mini English Program (MEP)

สถานที่สำคัญในโรงเรียน

แก้
 
อาคารพิทยลาภพฤฒิธาดา

อาคารพิทยลาภพฤฒิธาดา

แก้

อาคารพิทยลาภพฤฒิธาดา ตั้งชื่อตามราชทินนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2512–2515 โดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จเป็นประธานเปิดพิธีอาคารเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 พร้อมประทานนามอาคารตามราชทินนามของพระบิดาของพระองค์ เดิมมีกำหนดจะให้ใช้ชื่อว่า ตึกรัชดา ตามพระราชพิธีรัชดาภิเษกในรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียน ประกอบไปด้วย ห้องเรียน 14 ห้องเรียน ห้องเรียนชั้น ม.1-2 ห้องกิจกรรมรักษาดินแดน ห้องลูกเสือ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องไร้พรมแดน ห้องพัสดุ ห้องคอมพิวเตอร์ ร้านสวัสดิการร้านค้า และโรงอาหาร[5]

อาคารสุรชัยรณรงค์

แก้
  • ตั้งชื่อตามราชทินนามของขุนสุรชัยรณรงค์ ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2518-2520 ประกอบไปด้วย ห้องฝ่ายบริหาร ห้องสมุดอาทร สังขะวัฒนะ คลินิกหมอภาษา ห้องแนะแนว ห้องเรียนสังคมศึกษา ห้องเรียนภาษาไทย ห้องคอมพิวเตอร์นวมินทรานุสรณ์ ห้องเรียน MEP ห้องเรียนชั้น ม.2-3 ศูนย์ปฏิบัติธรรมเทพสิทธินายก ห้องเรียน
 
บรรยากาศภายในโรงเรียน

อาคารปราบปรปักษ์

แก้

อาคารเทพสิทธินายก

แก้
  • ตั้งชื่อตามราชทินนามของพระเทพสิทธินายก (เหรียง อินฺทสโร) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523-2525 ประกอบไปด้วย ห้องเพชรดอกแก้ว (ห้องโสตทัศนศึกษา) และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงห้องเรียนพิเศษ SMTE ห้องเรียนพิเศษ MEP-Sci ห้องเรียนต้นแบบการประหยัดพลังงาน ห้องเรียนคณิตศาสตร์ และห้องเรียนการงานอาชีพ

อาคารหอประชุมพลเอก สุจินดา คราประยูร

แก้
  • ตั้งชื่อตามชื่อของพลเอกสุจินดา คราประยูร​ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ประกอบไปด้วย ห้องฝ่ายบริหาร ห้องเรียนภาษาต่างประเทศ และหอประชุม พลเอก สุจินดา คราประยูร ที่อยู่ชั้นบนสุดของอาคาร

อาคาร 100 ปี ทวีธาภิเศก โดย พลเอก สุจินดา คราประยูร

แก้
  • ชั้นล่างเป็นธนาคารโรงเรียน
  • พิพิธภัณฑ์โรงเรียนทวีธาภิเศก

เปิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เป็นอาคาร 4 ชั้น (พิพิธภัณฑ์อยู่ชั้น 2) ติดกับตึก 3 ตึกเอนกประสงค์ ภายในแสดงวัตถุประเภทครุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ และของใช้ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้แก่โรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ นาฬิกาตั้งยอดพระเกี้ยว เป็นนาฬิกาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้โรงเรียน ด้านบนประดิษฐานพระจุลมงกุฎจำหลักไม้ที่ประณีตงดงามมาก ตู้พระราชทาน และโต๊ะเก้าอี้พระราชทาน เป็นต้น

รางวัลที่ได้รับ

แก้
  • โรงเรียนรางวัลพระราชทาน พ.ศ.2548
  • โรงเรียนมัธยมศึกษาดีเด่นของกรมสามัญศึกษา พ.ศ.2533

ทำเนียบผู้อำนวยการโรงเรียนทวีธาภิเศก

แก้
 
ขุนอุปการศิลปเสรฐ (สัมฤทธิ์ ลอยเพ็ชร) ครูใหญ่คนแรก ขณะยังเป็นพระภิกษุ
โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม
ลำดับ รายนาม ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 นายศุขเปรียญ พ.ศ. 2428 – 2431 (ประมาณ 3 ปี)
2 นายเพื่อน พ.ศ. 2432 – 2435 (ประมาณ 3 ปี)
3 พระปลัดเรือน พ.ศ. 2436 (ไม่ถึง 1 ปี)
4 พระสมุห์โหมด พ.ศ. 2441 (ไม่ถึง 1 ปี)
โรงเรียนทวีธาภิเศก
ลำดับ รายนาม ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 ขุนอุปการศิลปะเศรฐ (สัมฤทธิ์ ลอยเพ็ชร) พ.ศ. 2441 – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450 (ประมาณ 9 ปี)
2 ขุนพร้อมพิทยคุณ (พร้อม เผื่อนพงษ์) 21 มิถุนายน พ.ศ. 2450 – พ.ศ. 2454 (ประมาณ 3 ปี)
3 พระบรรเจิดวิชาชาญ (ชม บุณยาคม) พ.ศ. 2454 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 (ไม่ถึง 1 ปี)
4 ขุนดรุณวิทย์วรเสษฐ (ยง ศิลปคุปต์) 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2459 (4 ปี 353 วัน)
5 ขุนวิสิษฐ์ดรุณกาล (บุบผา พลายสุต) 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 – มิถุนายน พ.ศ. 2492 (ประมาณ 32 ปี)
6 นายวรสิทธิ์ อินทาปัจ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 – 30 กันยายน พ.ศ. 2508 (16 ปี 90 วัน)
7 นายเรวัต ชื่นสำราญ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 (8 ปี 242 วัน)
8 นายสำเริง นิลประดิษฐ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2517 – 30 กันยายน พ.ศ. 2522 (4 ปี 364 วัน)
9 นายจงกล เมธาจารย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 (5 ปี 32 วัน)
10 นายสุชาติ ไชยมะโน 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2531 (3 ปี 238 วัน)
11 นายสำราญ รัตนวิทย์ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2531 – 30 กันยายน พ.ศ. 2532 (1 ปี 93 วัน)
12 นายกนก จันทร์ขจร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 – 30 กันยายน พ.ศ. 2538 (5 ปี 364 วัน)​
13 นายประสาร อุตมางคบวร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2538 – 30 กันยายน พ.ศ. 2541 (2 ปี 364 วัน)
14 นายสุธน จุลโมกข์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 – 30 กันยายน พ.ศ. 2544 (2 ปี 365 วัน)
15 นายสุวัฒน์ อ้นใจกล้า 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 – 30 กันยายน พ.ศ. 2547 (2 ปี 364 วัน)
16 นางสุกัญญา ภู่พันธาภักดิ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 (4 ปี 28 วัน)
17 นางสุมนมาศ วุฒิสง่าธรรม 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – 30 กันยายน พ.ศ. 2553 (1 ปี 335 วัน)
18 นายสมเกียรติ เจริญฉิม 26 มกราคม พ.ศ. 2554 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 (2 ปี 299 วัน)
19 นายชัยอนันต์ แก่นดี 23 มกราคม พ.ศ. 2557 – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 (0 ปี 288 วัน)
20 นายชัยสิทธิ์ ดอนท้วม 9 มกราคม พ.ศ. 2558 – 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (1 ปี 291 วัน)
21 นายณรงค์ คงสมปราชญ์ 25 มกราคม พ.ศ. 2560 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (2 ปี 301 วัน)
22 นายประจวบ อินทรโชติ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565 (2 ปี 312 วัน)
23 ดร.วีระเชษฐ์ ฮาดวิเศษ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน (2 ปี 117 วัน)

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

ศิษย์เก่าเกียรติยศ

แก้

บุคคลสำคัญระดับประเทศ

แก้

นักการเมือง นักเคลื่อนไหว

แก้

นักวิชาการ

แก้

ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียน

แก้

ด้านกีฬา

แก้

โรงเรียนในเครือ

แก้

โรงเรียนคู่พัฒนา[6]

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. ตามเอกสารที่ปรากฏ แต่ในประวัติที่โรงเรียนยึดถือจะเป็นปี พ.ศ. 2438 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเพลิงไหม้จนต้องสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่
  2. วันที่ประกอบพระราชพิธีทวีธาภิเษก
  3. สะกดตามอย่างในพระราชหัตถเลขา

อ้างอิง

แก้
  1. "Home". โรงเรียนทวีธาภิเศก | Taweethapisek School. 2024-11-28.
  2. โรงเรียนทวีธาภิเศก. ประวัติโรงเรียน
  3. พวกเราชาวทวีธาภิเศก. เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.1
  4. สำนักเลขาธิการคุรุสภา. ประวัติคุรุสภา
  5. พวกเราชาวทวีธาภิเศก. เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.2
  6. "รายชื่อโรงเรียนคู่พัฒนา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′43″N 100°28′58″E / 13.745253°N 100.482700°E / 13.745253; 100.482700{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้