แผ้ว สนิทวงศ์เสนี
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี (สกุลเดิม สุทธิบูรณ์; 25 ธันวาคม พ.ศ. 2446 – 24 กันยายน พ.ศ. 2543) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นท่ารำใหม่โดยยึดระเบียบแบบแผนตามประเพณีโบราณ และมีความสามารถในการประพันธ์บทโขนละคร[3] เคยเป็นหม่อมในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ถือเป็นหญิงสามัญชนที่ไม่ใช่ลูกหลานขุนนางคนแรกที่ได้เป็นสะใภ้หลวง[1]
แผ้ว สนิทวงศ์เสนี | |
---|---|
ท่านผู้หญิงแผ้วในวัย 17 ปี | |
เกิด | แผ้ว สุทธิบูรณ์ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2446 จังหวัดฉะเชิงเทรา อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | 24 กันยายน พ.ศ. 2543 (96 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ชื่ออื่น | หม่อมแผ้ว นครราชสีมา[1][2] |
คู่สมรส | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2459–2467) หม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์) |
บุตร | หม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์ ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์ |
รางวัล | พ.ศ. 2528 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) |
ท่านผู้หญิงแผ้วได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) เมื่อ พ.ศ. 2528[2][4][5] และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาศิลปะ ด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2529
ประวัติ
แก้ชีวิตช่วงต้น
แก้ท่านผู้หญิงแผ้วเกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่สองจากทั้งหมดสามคนของเฮงและสุทธิ สุทธิบูรณ์ มีพี่สาวชื่อทับทิม คลี่สุวรรณ และน้องชายชื่อสหัส สุทธิบูรณ์ วัยเด็กเธอเคยอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับย่า เนื่องจากคุณย่ามีตำแหน่งเป็นพนักงานฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจึงกลับบ้านเดิมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา[6]
ขณะอายุได้แปดปี บิดามารดาหมายจะให้เธอไปเรียนหนังสือกับเอ็ดนา ซาราห์ โคล หรือแหม่มโคล เพราะในยุคสมัยนั้นผู้หญิงไม่ใคร่มีโอกาสได้ร่ำเรียนดั่งบุรุษเพศ ต่อมามีคนจากวังสวนกุหลาบมาบอกกล่าว ว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาทรงก่อตั้งคณะละครเด็กเล็กในวัง โดยให้เรียนหนังสือและเรียนรำละครด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงแผ้วจึงถวายตัวเข้าพระตำหนักวังสวนกุหลาบ โดยมีท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) เป็นผู้ปกครอง[6] เมื่ออยู่ที่นั่นเธอได้เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งยังแตกฉานสามารถแต่งกลอนได้ดี[7] กอปรกับเป็นหญิงที่มีดวงหน้าสะสวย เพรียบพร้อมด้วยจรรยามารยาท จึงได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่[6]
หลังการถวายตัวเข้าวัง ท่านผู้หญิงแผ้วได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์จากท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 หม่อมแย้มในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หม่อมอึ่งในสมเด็จพระบัณฑูรฯ และหม่อมแก้วในเจ้าพระยาสุรวงษ์ฯ ซึ่งล้วนเป็นนางละครผู้มีชื่อ[6][8] นอกจากวังสวนกุหลาบแล้ว เธอยังมีโอกาสไปฝึกฝนการแสดงที่วังแพร่งนราของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สามารถรับบทเป็นตัวเอกทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่นแสดงเป็น อิเหนาและดรสาจากเรื่อง อิเหนา หรือ สีดา พระพิราพ และทศกัณฐ์ จากเรื่อง รามเกียรติ์[2][6] จนทำให้เธอกลายเป็นนางละครที่มีชื่อเสียงยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] โดยเธอเคยออกแสดงถวายหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้วหลายครั้ง[6][7]
ท่านผู้หญิงแผ้วสำเร็จการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3) จากโรงเรียนประชาพิทยากร[4] นอกจากนี้เธอยังมีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสจากภคินีที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และศึกษาภาษาอังกฤษจากคุณหญิงดอรีส ราชานุประพันธ์ ทั้งมีความรู้ด้านมารยาททางสังคมและการปฏิบัติตน[7]
สะใภ้หลวง
แก้ขณะท่านผู้หญิงแผ้วมีอายุได้ 13 ปี ได้เข้าไปเรียนนาฏศิลป์กับเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 และทำการแสดงที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงคู่กับคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ โดยเธอได้แสดงเป็นเมขลา ส่วนคุณหญิงนัฏกานุรักษ์แสดงเป็นรามสูร ต่อมาได้แสดงเรื่อง อิเหนา รับบทเป็น ดรสา ที่กระโดดกองไฟตายตามระตู เป็นที่ต้องพระหฤทัยของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และทรงขอเธอเข้าเป็นหม่อมห้าม[6] มีนามว่า หม่อมแผ้ว นครราชสีมา[1][2][6] แม้จะเป็นการเสกสมรสกับหญิงสามัญชนแต่ก็ไม่มีผู้ใดขัดพระทัย ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้านายพระองค์นี้เป็นที่ห่วงใยของพระราชชนกชนนีเพราะมีพระพลานามัยไม่สู้สมบูรณ์มานาน[9] เธอเปี่ยมสุขยิ่งในฐานะหม่อมในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งแห่งกรุงสยาม[6] หลังการทิวงคตของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเมื่อ พ.ศ. 2463[10] ต่อมาได้ทรงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับหม่อมแผ้วเข้าเป็นสะใภ้หลวง ถือเป็นหญิงสามัญชนที่ไม่ใช่ลูกหลานขุนนางคนแรกที่ได้เป็นสะใภ้หลวง[1] และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466[11]
ทว่าชีวิตสะใภ้หลวงได้สิ้นสุดลง เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบ ก่อนทิวงคต ณ พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 (ปฏิทินแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2468) สิริพระชนมายุได้ 36 พรรษา ยังความทุกข์เข้าสู่จิตใจของหม่อมแผ้วยิ่งนัก โดยเธอเคยกล่าวเกี่ยวกับความรู้สึกของตนหลังการทิวงคตของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาไว้ว่า "...ตอนนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมายุได้ 36 ปี ฉันอายุได้ 25 ปี ฉันรู้สึกว้าเหว่และเศร้าโศกถึงกับเป็นลมพับไป และรู้สึกว่าโลกนี้ช่างไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น..."[6]
ในปี พ.ศ. 2470 หม่อมแผ้ว ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหม่อมห้ามสะใภ้หลวง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต และได้ถวายคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า ที่ได้รับพระราชทานไว้[12]
สมรสหนที่สองและปัจฉิมวัย
แก้ท่านผู้หญิงแผ้วจึงสมรสใหม่กับ พลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์) พระโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กับหม่อมแจ่ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หม่อมสนิทวงศ์เสนี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2467 เป็นทูตทหารประจำประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษ และประเทศอิตาลี เป็นอัครราชทูตประจำประเทศโปรตุเกส และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ 2491 – 2492)[13] ท่านผู้หญิงแผ้วได้ติดตามสามีซึ่งรับราชการเป็นทูตประเทศต่าง ๆ ทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันจำนวน 4 คน คือ
- หม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์
- ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ สมรสกับพลเอก แสวง เสนาณรงค์
- พันตำรวจเอก (พิเศษ) หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์ สมรสกับโสภี โชติกพุกกณะ
- หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2543 อายุ 96 ปี[13] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
การทำงาน
แก้ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย นายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้เรียนเชิญให้ท่านผู้หญิงช่วยปรับปรุงฟื้นฟู และวางรากฐานด้านการละคร การรำ ให้กับกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้ออกแบบท่ารำ เป็นผู้ฝึกสอน และอำนวยการฝึกซ้อมการแสดงโขน ละคร ฟ้อนรำ ต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2528 และ บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาศิลปะ ด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2529
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[14]
- พ.ศ. 2522 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[15]
- พ.ศ. 2528 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[16]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 วิภา จิรภาไพศาล (14 สิงหาคม 2561). "'สะใภ้เจ้า' กับภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "109 ปี ท่านผู้หญิงแผ้ว นาฏศิลปิน "5 แผ่นดิน"". ไทยรัฐออนไลน์. 16 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ศิลปินแห่งชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-12. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 "ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-17. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "รำลึก 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์คนแรกของประเทศไทย". ไทยรัฐออนไลน์. 17 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 "ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี นาฏยาจารย์ 5 แผ่นดิน ผู้สืบสร้างทางรำไทย" (PDF). ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 8 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 7.0 7.1 7.2 "๑๐๙ ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". ผู้จัดการออนไลน์. 24 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "คำว่า หม่อม ใช้มาแต่เมื่อไหร่? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร??". ศิลปวัฒนธรรม. 31 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 74
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 75
- ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (0ง): 2631. 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 2015-03-27.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ประกาศคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ 13.0 13.1 คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์ (1 สิงหาคม 2560). "พลตรีหม่อมสนิทวงศ์เสนีและท่านผู้หญิงแผ้ว". สยามรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-17. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐, ๑๘ เมษายน ๒๕๒๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐, ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘