ทุติยจุลจอมเกล้า
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า มีอักษรย่อว่า ท.จ. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานทั้งฝ่ายหน้า (บุรุษ) มีจำนวนจำกัด 250 สำรับ และฝ่ายใน (สตรี) มีจำนวนจำกัด 100 สำรับ จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอันดับที่ 18 ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[1] การพระราชทานจะขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยส่วนพระองค์เท่านั้น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า | |
---|---|
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย | |
อักษรย่อ | ท.จ. |
ประเภท | ฝ่ายหน้า : ดวงตราคล้องคอ ฝ่ายใน : เหรียญตรา |
วันสถาปนา | ฝ่ายหน้า : พ.ศ. 2416 ฝ่ายใน : พ.ศ. 2436 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรไทย |
ภาษิต | เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ |
จำนวนสำรับ | ฝ่ายหน้า : 250 ดวง ฝ่ายใน : 100 ดวง |
แพรแถบ | |
ผู้สมควรได้รับ | พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง และบรรดาผู้สืบสกุลของบุคคลเหล่านั้น (พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย) |
มอบเพื่อ | เป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศ, ระลึกถึงความดีความชอบของบุคคลซึ่งได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อน และผู้ที่ได้ทำนุบำรุงแผ่นดินในปัจจุบัน |
สถานะ | ยังพระราชทานอยู่ |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประธาน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถิติการมอบ | |
รายล่าสุด | ปฏิเวธ ไม้สนธิ์ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ |
รองมา | โยธิน |
หมายเหตุ | ฝ่ายหน้า : มีศักดิ์เสมอพระยาพานทอง พระราชทานสืบตระกูลได้ถึงชั้นบุตรชาย ฝ่ายใน : มีคำนำหน้านาม "คุณหญิง" |
ลักษณะ
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า สามารถแบ่งออกสำหรับพระราชทานให้ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน โดยมีลักษณะดังนี้[2]
ฝ่ายหน้า
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า สำหรับฝ่ายหน้า 1 สำรับ ประกอบด้วย
- ดวงตรา
- ด้านหน้า มีลักษณะเป็นทองคำรัศมี 8 แฉก ลงยาสีชมพู มีรัศมีทองแทรกตามระหว่างแฉก มีใบชัยพฤกษ์สองข้าง ลงยาสีเขียว กลางดวงตรามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอบลงยาสีขาบ มีอักษรทองเขียนว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" เบื้องบนมี พระจุลมงกุฎเปล่งรัศมีลงยาสีเขียว สีแดง สีขาบ สีขาว
- ด้านหลัง มีลักษณะเหมือนด้านหน้า แต่ที่กลางดวงตราเป็นรูปช้างไอราพต ลงยาสีขาว บนหลังช้างเป็นรูปตรีศูล ลงยาสีขาว ที่ขอบมีอักษรทองว่า "ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕" รอบขอบเป็นรูปจักร ลงยาสีขาวพื้นแดง
ดวงตราใช้สำหรับประดับห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง 5 เซนติเมตร ใช้สำหรับสวมคอ
ฝ่ายใน
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า สำหรับฝ่ายใน 1 สำรับ ประกอบด้วย
- ดวงตรา มีลักษณะเหมือนกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายใน แต่ไม่ประดับเพชร ใช้ห้อยกับแพรแถบสีชมพูขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
เครื่องราชอิสริยยศ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า มีบรรดาศักดิ์เสมอขุนนางชั้น พระยาพานทอง จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศประกอบดังนี้
- เสื้อครุยเสนามาตย์ปักอักษร จ.จ.จ. (ฝ่ายหน้า) / ผ้าแพรสะพัก(ฝ่ายใน)
2. กาทองคำ โต๊ะทองคำ
3. คณโททองคำ พร้อมพานรอง
4. พานหมากทองคำ พร้อมเครื่องประกอบ 8สิ่ง (ฝ่ายหน้า) / หีบหมากทองคำ (ฝ่ายใน)
เกียรติยศที่จะได้รับพระราชทานเมื่อเสียชีวิต ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อเสียชีวิตให้ใช้คำว่า ถึงแก่อนิจกรรม
- โกศโถ
- น้ำหลวงอาบศพ
- ฉัตรเบญจา 4 คันตั้งประกอบเกียรติยศข้างโกศศพ และ 10คัน เวลาแห่เวียนเมรุ
- ปี่ไฉน 1 กลองชนะ 10 ประโคม เวลารับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลาแห่โกศศพเวียนเมรุ และ เวลารับพระราชทานเพลิงศพ
- เพลิงหลวง (หากพระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชินีเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ จะทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิง)
(หากผู้วายชนม์มีเกียรติยศเพิ่มจากนี้ ก็อาจได้รับพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศสูงขึ้นได้อีก)
คำนำหน้านาม
แก้สตรีที่ได้รับพระราชานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า สามารถใช้คำนำหน้านามได้ คือ ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" [3]
สำหรับสตรีในราชสกุล ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปให้ใช้คำนำหน้าพระนามตามเดิม ไม่ว่าจะได้รับพระราชทานชั้นใด ส่วนสตรีในราชสกุล ชั้นหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง เมื่อได้รับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า ให้ใช้ฐานันดรศักดิ์เดิม โดยไม่ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" นำหน้า[4]
การสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้านั้น สามารถสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ โดยบุตรชายของผู้ได้รับพระราชทานนั้น จะได้รับพระราชานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ตติยจุลจอมเกล้า สืบตระกูลเมื่อผู้ได้รับพระราชทานล่วงลับไปแล้ว และการสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น[2] หากไม่มีบุตรชาย หรือ บุตรชายไม่สามารถรับได้ ก็สามารถพระราชทานให้ทายาทที่เป็นชายคนอื่นแทนได้ (หากผู้สืบตระกูลเป็นชั้น หลาน หรือ เหลน ให้รับพระราชทาน ตติยานุจุลจอมเกล้า แทน)
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๕๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศการใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๓๙, ตอนพิเศษ ๕๓ง, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕, หน้า ๑
- ↑ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2007-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า เก็บถาวร 2007-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน เก็บถาวร 2007-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี