เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (The Honourable Order of Rama) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สำหรับบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์ รามาธิบดี | |
---|---|
เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร และแพรแถบย่อ | |
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย | |
ประเภท | สายสะพายพร้อมดารา, ดวงตราพร้อมดารา, ดวงตรา (6 ชั้น) |
วันสถาปนา | พ.ศ. 2461 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรไทย |
จำนวนสำรับ | ไม่จำกัดจำนวน |
ผู้สมควรได้รับ | ข้าราชการทหาร, ผู้มีเกียรติของต่างประเทศ |
มอบเพื่อ | ความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม |
สถานะ | ยังพระราชทานอยู่ |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประธาน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 |
รายล่าสุด | เชษฐา ฐานะจาโร 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า |
รองมา | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก |
หมายเหตุ | ผู้ได้รับพระราชทานจะต้องเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย |
ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยชั้นเสนางคะบดีจัดเป็นชั้นสูงสุด พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย[2] การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดีเฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดี [3]
ประวัติ
แก้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า "ราชการทหารเป็นกิจพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติราชการอย่างนั้นต้องออกกำลังแรงและปัญญาอย่างอุกฤษฐ์ ทั้งต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะสละชีวิตเป็นราชพลีและเพื่อรักษาอิสรภาพบำรุงความรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมือง สมควรจะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบสำหรับผู้ทำดีในราชการแผนกนี้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง" ดังนั้น พระองค์จึงทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อบำเหน็จความชอบแก่ผู้ทำดีในราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยพระราชทานครั้งแรกให้กับ ทหารและอาสาสมัคร ผู้ไปปฏิบัติภารกิจในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยกำหนดให้แบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 4 ชั้น พร้อมด้วยเหรียญราชอิสริยาภรณ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงมุรธาธรเป็นผู้จัดทำ พร้อมกันนี้ โปรดเกล้าฯ ให้มีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย
- คณาธิบดี 1 คน
- เลขาธิการ 1 คน
- ที่ปรึกษา 5 คน
สำหรับเป็นที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1]
คณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีการแต่งตั้งขึ้น 2 ครั้ง โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์มีพระบรมราชโองการให้[4]
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นคณาธิบดี
- พระยาสีหราชเดโชไชย (แย้ม ณ นคร) เป็นเลขาธิการ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นที่ปรึกษา
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นที่ปรึกษา
- พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา
- หม่อมเจ้าพันธุประวัติ เกษมสันต์ เป็นที่ปรึกษา
- พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นที่ปรึกษา
ส่วนคณะที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชุดที่ 2 นั้น แต่งตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระบรมราชโองการให้[5]
- สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นคณาธิบดี
- พระอาษาสงคราม (ต๋อย หัศดิเสวี) เป็นเลขาธิการ
- พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นที่ปรึกษา
- พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เป็นที่ปรึกษา
- หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นที่ปรึกษา
- หม่อมเจ้าอลงกฎ ศุขสวัสดิ์ เป็นที่ปรึกษา
- พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นที่ปรึกษา เป็นที่ปรึกษา
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ก็ได้ระงับไปชั่วคราว จนกระทั่ง มีการตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่ภาวะการปัจจุบัน รวมทั้งได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลงด้วย[6] และมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ขึ้นอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
ประเภท ลำดับชั้น และ ลำดับเกียรติ
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ประกอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นเสนางคะบดี, ชั้นมหาโยธิน, ชั้นโยธิน, ชั้นอัศวิน และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ 2 ชั้น ได้แก่ เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร เหรียญรามมาลา โดยมีลักษณะและลำดับชั้น ดังต่อไปนี้[6]
แพรแถบย่อ | ดุมเสื้อ | ชั้น | ชื่อ | อักษรย่อ | ตำแหน่งการบังคับบัญชาทางทหาร ในราชการสงคราม[1] | ลำดับเกียรติ[7] |
---|---|---|---|---|---|---|
ชั้นที่ 1 | เสนางคะบดี | ส.ร. | 7 | |||
ชั้นที่ 2 | มหาโยธิน | ม.ร. |
|
14 | ||
ชั้นที่ 3 | โยธิน | ย.ร. |
|
19 | ||
ชั้นที่ 4 | อัศวิน | อ.ร. |
|
22 | ||
ไม่มี | ชั้นที่ 5 | เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร | ร.ม.ก. | ผู้ใดแสดงความองอาจส่วนตัวเป็นพิเศษอย่างยิ่งยวด ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อกระทำการให้สำเร็จตามหน้าที่ หรือกระทำการเกินกว่าความจำเป็นในหน้าที่ | 37 | |
ชั้นที่ 6 | เหรียญรามมาลา | ร.ม. | ผู้ใดกระทำการรบเข้มแข็งน่าชมเชย แต่มิอาจกระทำการเช่นนั้นแต่เพียงผู้เดียว ทำพร้อมกันหลาย ๆ คน เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน | 38 |
ลักษณะ
แก้ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 มีชื่อว่า เสนางคะบดี และมีอักษรย่อว่า ส.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดสายสะพาย มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
- ดารา เป็นรูปไข่ทำด้วยทองมีลายแหลมออกสี่ทิศ กลางดาราด้านหน้าเป็นรูปพระปศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะอยู่บนพื้นลงยาสีลูกหว้าอ่อน ด้านหลังเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ร.ร." กับเลข "๖" อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งหมายความถึง "สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ ๖"[1] บนพื้นลงยาสีขาวขอบสีขาบ มีรัศมีเงินใหญ่แปดแฉก รัศมีทองแฉกเล็กแทรกแปดแฉก ใช้สำหรับประดับที่หน้าอกเสื้อด้านซ้าย
- ดวงตรา เป็นรูปไข่ทำด้วยทอง มีลวดลายเดียวกับบริเวณตรงกลางของดารา แต่ไม่มีรัศมี ใช้สำหรับห้อยกับสายสะพายที่เป็นแพรแถบสีดำกว้าง 10 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงกว้าง 2 เซนติเมตร อยู่ใกล้ขอบทั้งสอง ใช้สวมเฉียงจากขวาไปซ้าย
ชั้นที่ 2 มหาโยธิน
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 2 มีชื่อว่า มหาโยธิน และมีอักษรย่อว่า ม.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 14 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
- ดารา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดาราของเสนางคะบดี แต่ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อด้านขวา
- ดวงตรา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดวงตราของเสนางคะบดี แต่ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 45 มิลลิเมตร สีเดียวกับแพรแถบสายสะพายเสนางคะบดี ใช้สำหรับคล้องคอ
ชั้นที่ 3 โยธิน
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 3 มีชื่อว่า โยธิน และมีอักษรย่อว่า ย.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ ไม่มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 19 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
- ดวงตรา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดวงตราของมหาโยธิน ใช้สำหรับคล้องคอ และไม่มีดารา
ชั้นที่ 4 อัศวิน
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 4 มีชื่อว่า อัศวิน และมีอักษรย่อว่า อ.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดประดับหน้าอกเสื้อ มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 22 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
- ดวงตรา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดวงตราของโยธิน แต่มีขนาดเล็กกว่าห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 32 มิลลิเมตร ใช้สำหรับประดับหน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 5 มีชื่อว่า เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร และมีอักษรย่อว่า ร.ม.ก. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับสูงสุดในหมู่เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ[8] มีลักษณะ ดังนี้
- เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร มีลักษณะเป็นรูปไข่ทำด้วยเงิน ด้านหน้าเป็นรูปพระปศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะ ด้านหลังเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ร.ร." กับเลข "๖" อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ สำหรับห้อยกับแพรแถวขนาดกว้าง 32 มิลลิเมตร และมีเครื่องหมายพระวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 6 มีชื่อว่า เหรียญรามมาลา และมีอักษรย่อว่า ร.ม. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติรองจากเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรในหมู่เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ[8] มีลักษณะ ดังนี้
- เหรียญรามมาลา มีลักษณะเช่นเดียวกับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร แต่ไม่มีเครื่องหมายพระวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
การพระราชทาน
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้ทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม หรือผู้มีเกียรติของต่างประเทศ ในอดีตนั้นจะมีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับทำหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1] แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลง และกำหนดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและและเรียกคืนได้ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร แต่ยังคงไว้สำหรับพระราชทานสำหรับผู้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือในยามสงครามดังเช่นที่เคยเป็นมา[6]
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีตั้งแต่ชั้นที่ 4 ขึ้นไปนั้น จะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นที่ 5 และ 6 นั้น จะได้รับการประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา[6] การรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย[2][9]
นอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นพิเศษให้ใช้ประดับที่ธงชัยของกองทหารบกรถยนต์เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษ[10] รวมทั้ง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้น 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร สำหรับประดับธงชัยเฉลิมพล กองพันทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 2 กองพันทหารราบที่ 3 และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[11]
ผู้ได้รับพระราชทาน
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มอบให้แก่ผู้ทำความดีในราชการทหาร โดยพระราชทานให้ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตและผู้วายชนม์ โดยที่ผ่านมานั้นผู้ได้รับพระราชทานจะเป็นบุรุษทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 นั้นจะไม่ได้ระบุว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้แก่บุรุษเท่านั้น[6] อย่างไรก็ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. 2541 นั้น มีการระบุถึงการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเฉพาะบุรุษเท่านั้น[3] ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีมีจำนวนมาก อาทิ[12]
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ (เสนางคะบดี)
- จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เสนางคะบดี)
- จอมพล ถนอม กิตติขจร (เสนางคะบดี)
- จอมพล ประภาส จารุเสถียร (เสนางคะบดี, มหาโยธิน)
- พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (เสนางคะบดี, มหาโยธิน)
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (มหาโยธิน)
- พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร (มหาโยธิน)
- พล.อ. เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ (มหาโยธิน)
- พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก (มหาโยธิน, โยธิน, อัศวิน)
- พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ (มหาโยธิน, อัศวิน)
- พล.อ. อิทธิ สิมารักษ์ (โยธิน, อัศวิน)
- พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช (โยธิน, อัศวิน)
- พล.อ. พิจิตร กุลละวณิชย์ (อัศวิน)
- พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ (อัศวิน)
- พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี (อัศวิน)
- พล.อ. ธวัชชัย สมุทรสาคร (อัศวิน)
- พล.อ. หาญ ลีนานนท์ (อัศวิน)
- พล.อ. หาญ เพไทย (อัศวิน)
ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร
- พล.อ. วิโรจน์ บัวจรูญ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. สุรพันธ์ พวงเพ็ชร์ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. พงษ์เทพ กนิษฐานนท์ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. พอพล มณีรินทร์ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. นพรัตน์ ยอดวิมล (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. สําเร็จ ศรีหร่าย (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
- พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร (เหรียญรามมาลา)
- พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ (เหรียญรามมาลา)
- พล.อ. ปราการ ชลยุทธ (เหรียญรามมาลา)
- พล.อ. วิชัย แชจอหอ (เหรียญรามมาลา)
การประดับ
แก้การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดี (ชั้นเสนางคะบดี) เฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดีเท่านั้น[3] อาทิเช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ส่วนผู้ที่เคยได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรมาก่อนนั้น สามารถประดับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรได้ทุกโอกาสที่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือที่มีกำหนดนัดหมายทางการให้ประดับเหรียญ รวมทั้งมีสิทธิประดับเครื่องหมายเข็มกล้ากลางสมรสอดบนแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตลอดไป แม้จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่สูงขึ้นไปชั้นใดก็ตาม โดยให้ประดับในโอกาสที่มิได้ประดับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ในกรณีที่แต่งเครื่องแบบให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ส่วนในกรณีแต่งสากลให้ประดับที่คอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้ายใต้ดุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์[13]
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ตั้งแต่ชั้นอัศวินขึ้นไปนั้น จะมีเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องหมายที่ใช้เป็นดุมเสื้อเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[14] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากกระเป๋าเสื้อ[15]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๖๙
- ↑ 2.0 2.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เก็บถาวร 2012-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักนายกรัฐมนตรี
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๑, เล่ม ๑๑๕, ตอนพิเศษ ๑๑๘ ง เล่มที่ ๒, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง ตั้งคณาธิบดี เลขาธิการ และที่ปรึกษา สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ ก, ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๘๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งคณาธิบดี เลขาธิการ และที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (ครั้งที่ ๒), ตอน ๔๕, เล่ม ๐ก, ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑, หน้า ๑๖๗
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. ๒๕๐๓, เล่ม ๗๗, ตอน ๖๐ก, ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓, หน้า ๔๗๖
- ↑ "ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2021-07-29.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายรับสั่งสำนักพระราชวัง ๓๐ เมษายน ๒๕๒๕ พระราชพิธีพระราชทานอิสริยภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาและบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทานแก่ผู้ที่เสียชีวิต พุทธศักราช ๒๕๒๕, ตอน ๙๙, เล่ม ๖๔ ง, ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๑๕๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับธงไชยของกองทหารบกรถยนต์ซึ่งไปราชการสงครามข้ามทะเล, เล่ม ๓๖, ตอน ๐, ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒, หน้า ๑๗๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับธงชัยเฉลิมพล เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๐, ตอน ๑๒๕ ง ฉบับพิเศษ, ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖, หน้า ๑๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๑๐๗, ตอน ๕๕ ง, ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓, หน้า ๒๖๕๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และการประดับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเข็มกล้ากลางสมรแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี, ตอน ๙๔, เล่ม ๑๓๓ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า ๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ พ.ศ. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๐ ก, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๕๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๙๖ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เก็บถาวร 2012-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- รายนามผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เก็บถาวร 2005-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์กองทัพบก