ธนิต อยู่โพธิ์
บทความชีวประวัตินี้เขียนเหมือนประวัติสมัครงาน |
ธนิต อยู่โพธิ์ (ชื่อเดิม กี อยู่โพธิ์) เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2450 ที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2475 ขณะมีอายุ 26 ปี พรรษา 6 ภายหลังได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากร จนกระทั่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาการสังคม (ด้านศิลปวัฒนธรรม) เมื่อปี พ.ศ. 2535[1] เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2547[2]
ธนิต อยู่โพธิ์ | |
---|---|
เกิด | กี อยู่โพธิ์ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2450 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 (96 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2477 - 2511 |
คู่สมรส | หวาน อยู่โพธิ์ |
บุตร | กิตติ อยู่โพธิ์ องอาด อยู่โพธิ์ นิธาน อยู่โพธิ์ |
บิดามารดา | เมฆ อยู่โพธิ์ หมาน้อย อยู่โพธิ์ |
ลายมือชื่อ | |
รับราชการ
แก้เริ่มรับราชการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2477 สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนพนักงานชั้นจัตวา แผนกโบราณคดี กองศิลปากร กรมศิลปากร
- 22 เมษายน 2483 สอบชั้นตรี ประจำกองวรรณคดี กรมศิลปากร
- 1 พฤษภาคม 2486 สอบเลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชั้นโท หัวหน้าแผนกค้นคว้า กองวรรณคดี กรมศิลปากร
- 1 พฤษภาคม 2488 สอบเลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชั้นเอก หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร
- 17 พฤษภาคม 2499 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสังคีต กรมศิลปากร
- 15 ตุลาคม 2499 โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และในขณะเดียวกัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร (อธิบดี) ด้วย
เมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงพ้นตำแหน่งหน้าที่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2508 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรและรับราชการอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ประมาณ 12 ปี
ผลงาน
แก้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรนั้น นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้พยายามนำเอาหลักการดำเนินงานของราชบัณฑิตยสภา สมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา และนำหลักการดำเนินงานของกรมศิลปากร สมัยพลตรี หลวงวิจิตรวาทการและสมัยพระยาอนุมานราชธนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร มาศึกษาและดำเนินตามโดยแก้ไขปรับปรุงตามสภาพแวดล้อมสมัยนั้น ผลงานบางส่วนของท่านได้แก่
ด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม
แก้- ฟื้นฟูนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์แบบฉบับของไทย โขน ละคร ฟ้อนรำ และดนตรี ในกรมศิลปากร เวลานั้นเป็่นช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ศิลปะด้านนี้ของไทยเกือบจะดับสูญอยู่แล้ว โรงเรียนนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรต้องปิดและเลิกเรียนไป เนื่องจากถูกกรมสารวัตรทหาร (ส.ห.) เข้าครอบครองสถานที่ นายธนิตเป็นผู้ติดต่อขอโรงเรียนและสถานที่คืน และพยายามปรับปรุงหลักสูตรเพื่อเปิดการสอนนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ในโรงเรียนนาฏศิลป์ขึ้นมาใหม่ จนมีศิลปะผู้สำเร็จการศึกษาทางโขน ละคร ดนตรีไทยจากโรงเรียนนี้เป็นจำนวนมาก และสามารถเล่นโขนละครพร้อมกันได้หลายโรง มีวงดนตรีไทยหลายวงจนสามารถตั้งวงดนตรี 200 คนขึ้นได้ในกรมศิลปากร และเป็นแนวทางขยายการศึกษาบัดนี้ จนกระทั่งเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์
- จัดตั้งโรงเรียนช่างศิลป์ขึ้นในกรมศิลปากร ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยช่างศิลป์
- จัดให้มีการแสดงโขนและละครเป็นประจำฤดูกาลในโรงละครศิลปากรเดิม และเมื่อสร้างโรงละครแห่งชาติเสร็จก็ย้ายมาแสดงที่โรงละครแห่งชาติตลอดมา
- จัดให้มี “ดนตรีสำหรับประชาชน” ณ สังคีตศาลา เป็นการเริ่มแรกตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา ซึ่งได้จัดให้มีการบรรเลงทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล นับว่าเป็นการริเริ่มครั้งแรกและเป็นตัวอย่างให้มีการจัดขึ้น ณ หน่วยงานอื่นๆ ในกาลต่อมาด้วย
- เริ่มแรกให้มี “งานสัปดาห์แห่งวรรณคดี” ขึ้นในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเชิญชวนให้หน่วยราชการ ห้างร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ต่างๆ นำหนังสือร่วมจำหน่ายเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูการอ่านทำนองเสนาะ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และเพื่อชักชวนให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาหาความรู้ ซึ่งเป็นผลต่อมาให้กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ สมัยนั้นปรับปรุงการอ่านทำนองกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ขึ้น โดยติดต่อกับบุคคลที่กรมศิลปากรจัดหามาอ่านทำนองและอัดเทปอัดเสียงไว้เป็นแบบฉบับต่อมา
- ริเริ่มจัดให้มี “งานดนตรีมหกรรม” ขึ้นเป็นประจำในต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นงานกลางแจ้งประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้ชมศิลปะการแสดงแบบต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ศิลปินคณะต่างๆ นำเอาศิลปะพื้นเมืองมาแสดง และเชิญชวนสถานทูต และสำนักวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ ให้นำศิลปะการแสดงประจำชาตินั้นมาร่วมแสดงในงานมหกรรมนั้นด้วย
- ริเริ่มจัดให้มี “โบราณคดีสัญจร” นำชมโบราณวัตถุสถานในจังหวัดต่าง ๆ ด้วยการจำหน่ายบัตร โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรนำอธิบายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
- ริเริ่มให้มี “วรรณคดีสัญจร” เป็นครั้งคราว คือ นำชมสถานที่และภูมิประเทศที่กล่าวไว้ในวรรณคดีสำคัญๆ เช่น ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เพื่อให้เรียนรู้ประวัติและซาบซึ้งในวรรณคดีสำคัญเรื่องนั้นๆ
- จัดตั้งหน่วยศิลปากรขึ้น 9 หน่วย ให้มีหน้าที่ตรวจตราดูแลรักษา ซ่อมแซมบูรณะโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศิลปวัตถุและโบราณสถานในแต่ละหน่วยในท้องที่ของตน
- เสนอแนะให้นำหลักวิชาและฝีมือช่างทางศิลปะมาใช้เป็นหลักร่วมในการพิจารณาอายุ และสมัยของศิลปวัตถุ โบราณวัตถุและโบราณสถาน
- จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ และสร้างขึ้นไว้แล้ว 7 แห่ง คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ รวมทั้งได้ปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและโบราณวัตถุในพระนารายณ์ราชนิเวศน์จังหวัดลพบุรีให้ทันสมัย
- ได้ริเริ่มสำรวจโบราณสถานและขุดค้นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในป่า ในถ้ำ และใต้ดิน ซึ่งพบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งในสมัยประวัติศาสตร์และสมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวของวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และวัฒนธรรมบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
- ได้จัดส่งข้าราชการไทยในกรมศิลปากรไปศึกษาและดูงานด้านพิพิธภัณฑสถานโบราณคดี งานหอสมุดและหอจดหมายเหตุ ณ ประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพิ่มเติม และปรับปรุงบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครขึ้นใหม่ กับทั้งได้ติดต่อกับยูเนสโก ขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและช่วยจัดตั้งแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑสถานสากลจนเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ดำเนินงานซ่อมปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา จนสามารถต่อยอมตามรูปแบบขึ้นไว้ได้ และเริ่มโครงการซ่อมปราสาทหินเขาพนมรุ้งในจังหวัดบุรีรัมย์ในเวลาต่อมา
- ริเริ่มให้มีการสำรวจและศึกษาจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย โดยนำศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ร่วมเดินทางไปสำรวจด้วยตนเอง พบจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างต่าง ๆ ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ในถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา ภายในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งได้ถ่ายรูปสีและขาวดำไว้ และได้จัดออกแสดงเผยแพร่ให้ประชาชนชม พร้อมทั้งได้เขียนคำอธิบายและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
- ริเริ่มจัดให้มีสัมมนาทางโบราณคดีขึ้นเป็นครั้งแรก ที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และต่อมาได้จัดสัมมนาขึ้นที่จังหวัดชัยนาท และนครสวรรค์
- ขยายสถานที่และกิจการหอสมุดแห่งชาติ โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานหอสมุดและหอจดหมายเหตุในต่างประเทศ และสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติขึ้นที่ท่าวาสุกรี แล้วย้ายหอสมุดแห่งชาติจากตึกสังฆิกเสนาสน์ ถาวรวัตถุ ริมถนนหน้าพระธาตุมาจัดตั้ง ณ อาคารหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และได้วางแผนผังกำหนดสร้างหอจดหมายเหตุแห่งชาติไว้บริเวณเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ
- ดำริและเสนอรัฐบาลให้จัดสร้างโรงละครขึ้นใหม่ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ โรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน
- กำหนดและวางโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติและโรงเรียนนาฏศิลป์ในจังหวัดสำคัญ อันเป็นที่รวมศิลปะของภาคนั้น ๆขึ้นไว้ 5 แห่งคือ จังหวัดเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงคลา นครราชสีมา และขอนแก่น แต่เวลาและงบประมาณอีกทั้งบุคลากรไม่อำนวย จึงได้สร้างแต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไว้ในจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่นเท่านั้น
- ริเริ่มฟื้นฟูปรับปรุงแสดงนาฏศิลป์ไทยขึ้นหลายเรื่อง และหลายชุด รวมทั้งปรับปรุงระบำแบบฉบับของไทย สืบทอดการแสดงพื้นเมือง เช่น เต้นกำรำเคียว รำเหย่อย รำเถิดเทิง เซิ้งประติบข้าว
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิจัยเครื่องแต่งกายตามสมัยประวัติศาสตร์และโบราณคดี และประดิษฐ์ขึ้นไว้ พร้อมทั้งประดิษฐ์ท่ารำขึ้นให้สอดคล้องกัน เรียกชุดระบำโบราณคดีมี 5 ชุด คือ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย และจัดแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511
ด้านงานนิพนธ์
แก้นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้แต่งแปล และเรียบเรียง ตรวจแก้และตรวจสอบชำระหนังสือเรื่องต่างๆ ขึ้นไว้ 200 เรื่อง โดยทั่วไปเป็นเรื่องสารคดีทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและศาสนา ส่วนมากพิมพ์เผยแพร่แล้ว เช่น ประวัติเสียดินแดนสยาม 8 ครั้ง เรื่องทางโบราณคดี เช่น สุวรรณภูมิ พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี ฯลฯ เรื่องทางวรรณคดี เช่น ประวัติและโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ วรรณคดีกับชีวิตและการเมือง ฯลฯ เรื่องทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ เช่น โขน ศิลปะละครรำหรือคู่มือนาฏศิลป์ไทย ฯลฯ เรื่องทางศิลปะ เช่น ศิลปะและศีลธรรม ความหมายและจิตวิทยาเกี่ยวกับสี ฯลฯ เรื่องทางศาสนา เช่น ภาวะเศรษฐกิจสมัยพุทธกาล ตำนานเทศน์มหาชาติ ฯลฯ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมไม่ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม แต่ด้วยความปรารถนาที่จะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก ท่านได้ร่วมกับเจ้าคุณพระยาอนุมานราชธนจัดทำหนังสือชุดวัฒนธรรมไทยขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า "Thai Culture Series" ต่อมาได้จัดทำขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อว่า "Thai Culture, New Series" เป็นอนุสารอังกฤษว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการและได้ส่งไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้พิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวมของชาติ จึงติดต่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณก็ได้รับอนุมัติและจัดงบประมาณค่าจัดพิมพ์และเผยแพร่ให้แก่กรมศิลปากรต่อมา
อื่นๆ
แก้1. เมื่อดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ฟื้นฟูปรับปรุงทั้งสถานที่และอาจารย์กับทั้งหลักสูตรให้ได้มาตรฐานตามระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆ กล่าวคือ ปรับปรุงสถานที่เรียนจากโรงไม้เป็นอาคารก่อตึก ปรับปรุงอาจารย์ซึ่งก่อนหน้านั้นมีฐานะเป็นลูกจ้างต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำโดยเสนอพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากรฉบับใหม่ให้ยกฐานะเป็นข้าราชการสืบมาจนบัดนี้ ส่วนหลักสูตรมหาวิทยาลัยศิลปากรก็ปรับปรุงมาโดยลำดับ
2. ดำเนินการขอตั้งงบประมาณประจำ จัดให้มีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นประจำปี
3. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้นำคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ไปแสดงเป็นการเจริญสันถวไมตรีในประเทศต่างๆ
4. ได้เดินทางไปประชุมสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติทั้งในแถบประเทศตะวันตกและตะวันออก ได้รับเชิญไปดูงานในประเทศต่างๆ และรัฐบาลเคยส่งไปดูงานในยุโรปหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น
5. ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสมัยต่างๆ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงต้อนรับประมุขของประเทศต่างๆ และเจ้านายคนสำคัญ ตลอดทั้งพระราชอาคันตุกะอื่นๆ อีกหลายท่านและหลายครั้ง
เป็นที่ทราบกันว่านาฏศิปล์ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว นับวันจะเสื่อมโทรมลงไป เพราะขาดผู้สนใจสนับสนุน ภาระอันหนักจึงตกอยู่กับนายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้ากองการสังคีต ที่ต้องฟื้นฟูปรับปรุงศิลปะด้านนาฏศิลป์ด้วยความลำบากยากเย็นตลอดมา และต้องประสบอุปสรรคนานาประการ แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นในการปรับปรุงฟื้นฟูศิลปะแขนงนี้ให้จงได้ ท่านจึงได้ทุ่มเททำงานนี้อย่างจริงจัง โดยเริ่มปรับปรุงโขนละคร ในตอนแรกท่านยึดโรงเรียนนาฏศิลป์ (ปัจจุบันเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์) เป็นหลัก ท่านเน้นหนักไปในการเรียนวิชาศิลปะโขน ละคร ดนตรีไทย ดนตรีสากล และขับร้อง ได้เชิญศิลปินที่มีฝีมือทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีจากบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นครูฝึกสอนและถ่ายทอดศิลปะให้กับนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ ในระยะแรกๆ มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน ต่อมาค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อนักเรียนเรียนจบแล้ว ท่านหาทางให้มีโอกาสได้แสดงนาฏศิลป์และดนตรีให้ประชาชนชม ในการนี้ท่านได้จัดการซ่อมแซมโรงละครศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กำหนดจัดแสดงโขน ละคร ปีละ 2 เรื่อง จนเป็นที่นิยมของผู้ชมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นอกจากโขน ละครแล้ว ท่านยังสนับสนุนให้เกิดนาฏศิลป์แบบคลาสสิก ทั้งยังให้ครูนาฏศิลป์อนุรักษ์และพัฒนานาฏศิลป์พื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ เช่นการเต้นกำรำเคียวของชาวอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ นำออกแสดงเมื่อ พ.ศ. 2504 การรำเหย่ยจากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นำออกแสดงเมื่อ พ.ศ. 2506
ผลงานด้านนาฏศิลป์ชิ้นเยี่ยม คือ ระบำโบราณคดีซึ่งประกอบด้วยระบำ 5 ชุดคือระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน และระบำสุโขทัย จัดแสดงถวายทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นปฐมฤกษ์ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สภานแห่งชาติพระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2510
ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินทั้งหลายได้รับการเชิดชูสนับสนุนเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการ เป็นถึงข้าราชการชั้นเอก ชั้นพิเศษมากมายหลายคน ส่วนทางด้านศิลปะก็เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในยุคนั้น
นายธนิต อยู่โพธิ์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2511 รวมอยู่ในชีวิตราชการทั้งสิ้น 34 ปี 5 เดือน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้ธนิต อยู่โพธิ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[5]
- พ.ศ. 2502 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
- พ.ศ. 2510 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[7]
- พ.ศ. 2503 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[8]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2500 – เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- พม่า :
- พ.ศ. 2499 – เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสหภาพพม่า ชั้นที่ 4 สิเรสิตู[9]
- ลาว :
- พ.ศ. 2500 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์[10]
- เดนมาร์ก :
- พ.ศ. 2506 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์แดนเนอโบร ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์[11]
- เยอรมนีตะวันตก :
- พ.ศ. 2506 – เครื่องอิสริยาภรณ์เกียรติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชั้นที่ 2 กางเขนมหาเกียรติคุณพร้อมดาราและสายสะพาย (ทวีติยาภรณ์)[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ธนิต อยู่โพธิ์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-12-22. สืบค้นเมื่อ 2012-05-15.
- ↑ ทำเนียบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ของจังหวัดนครสวรรค์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๔๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๖, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๘๐ ง หน้า ๒๔๔๗, ๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๕๘ ง หน้า ๑๘๓๐, ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๑๑ ง หน้า ๓๘๖, ๓๑ มกราคม ๒๔๙๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๕๑ ง หน้า ๑๓๐๗, ๔ มิถุนายน ๒๕๐๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๐ ง หน้า ๒๐๖, ๒๙ มกราคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๑๓๒๔, ๓๐ เมษายน ๒๕๐๖
ก่อนหน้า | ธนิต อยู่โพธิ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พลเอก หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนิทุ) | ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 4 (พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2508) |
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล |