เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว (ลาว: ອິສະຣິຍາພອນລ້ານຊ້າງຮົ່ມຂາວ อิดสะริยาพอนล้านซ้างฮ่มขาว, อังกฤษ: Order of the Million Elephants and the White Parasol, ฝรั่งเศส: L'Ordre royal du Million d’Éléphants et du Parasol blanc) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแห่งราชอาณาจักรลาว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ล้านช้างร่มขาว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว ชั้นประถมาภรณ์
ประเภท6
วันสถาปนา1 พฤษภาคม ค.ศ. 1909
ประเทศ ลาว
สถานะยกเลิกเนื่องจากราชอาณาจักรสิ้นสภาพ
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
ประธานพระมหากษัตริย์ลาว
ล้มเลิกค.ศ. 1975
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าไม่มี
รองมาเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎขัตติยาภรณ์

ประวัติ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว สถาปนาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1909 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์[1] เดิมจำกัดการพระราชทานไว้สำหรับชาวลาวเท่านั้น ต่อมาได้มีการประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1923 แก้ไขให้สามารถพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้แก่ผู้ที่ปฏิบัติราชการในฝ่ายทหารหรือฝ่ายพลเรือนเป็นเวลา 10 ปี ในประเทศฝรั่งเศส อินโดจีนของฝรั่งเศส และบรรดาอาณานิคมอื่นของประเทศฝรั่งเศสได้ โดยข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนฝรั่งเศสหรือเรสิดังต์สุเปริเยร์แห่งลาวเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อผู้สมควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[2]

เมื่อประเทศลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1954 แล้ว ก็ยังคงมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อเกิดการล้มล้างรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวและสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขึ้นแทนที่ในปลายปี ค.ศ. 1975 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้จึงถูกล้มเลิกและไม่มีการพระราชทานอีกต่อไป

ลักษณะและชั้นตรา แก้

ดวงตราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว ประกอบด้วยรูปเศียรช้างสามเศียรสีขาว (ช้างเอราวัณ) มีปกกระพองสีแดงที่ศีรษะ เบื้องล่างมีลวดลายหางนกยูงลงยาสีเขียวล้อมรอบด้วยลายช่อสีทอง เหนือศีรษะช้างสามเศียรมีรูปเศวตฉัตรเจ็ดช้นรองรับด้วยรูปโล่เขนสี่อัน เหนือเศวตฉัตรเป็นรูปแพรแถบสีแดงขอบสีทอง ชายแพรแถบม้วนเป็นลายเกลียวสีทอง บรรจุข้อความ "ล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง" (ລ້ານຊ້າງຮົ່ມຂາວຫຼວງພຼະບາງ)

แพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว เป็นแพรแถบพื้นสีแดง ขอบแพรแถบเป็นแถบสีเหลือง 2 ริ้ว ถัดจากแถบสีเหลืองชั้นในเป็นลวดลายเรขาคณิตสีเหลืองต่อเนื่องกันตามแนวยาว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาวแบ่งเป็นหกชั้น มีลำดับเกียรติตามลำดับชั้นสูงสุดถึงต่ำสุดดังนี้ :

ชั้นประถมาภรณ์พร้อมสายสร้อย

เป็นชั้นตราลำดับสูงสุด สำหรับองค์พระเจ้ามหาชีวิตและประมุขรัฐต่างประเทศ ประกอบด้วยดวงตรา สายสะพาย สายสร้อย และดารา สายสะพายใช้สะพายจากบ่าขวาลงมาทางซ้าย ดาราใช้ประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

ชั้นประถมาภรณ์ (ປະຖະມາພອນ ปะถะมาพอน)

ประกอบด้วยดวงตรา สายสะพาย และดารา สายสะพายใช้สะพายจากบ่าขวาลงมาทางซ้าย ดาราใช้ประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

ชั้นทุติยาภรณ์ (ທຸຕິຍາພອນ ทุติยาพอน)

ประกอบด้วยดวงตราพร้อมแพรแถบสำหรับห้อยคอเสื้อ และดาราสำหรับประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

ชั้นตริตาภรณ์ (ຕະຕິຍາພອນ ตะติยาพอน)

ลักษณะเช่นเดียวกับชั้นทุติยาภรณ์ แต่ไม่มีดาราประดับอกเสื้อ

ชั้นจตุรถาภรณ์ (ຈະຕູດຖາພອນ จะตุดถาพอน)

ประกอบด้วยดวงตรากับแพรแถบขนาดย่อม กลางแพรแถบติดแพรดอกกุหลาบลวดลายเดียวกับแพรแถบห้อยดวงตรา ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

ชั้นเบญจมาภรณ์ (ປັນຈະມາພອນ ปันจะมาพอน)

ประกอบด้วยดวงตรากับแพรแถบขนาดย่อม ไม่ติดแพรดอกกุหลาบ ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

แพรแถบย่อ
 
ประถมาภรณ์
 
ทุติยาภรณ์
 
ตริตาภรณ์
 
จตุรถาภรณ์
 
เบญจมาภรณ์

สมาชิกราชอิสริยาภรณ์และคนไทยที่ได้พระราชทาน แก้

สมาชิกราชอิสริยาภรณ์ แก้

คนไทยที่ได้พระราชทาน แก้

ชั้นประถมาภรณ์ แก้

  1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
  2. จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
  3. จอมพล ผิน ชุณหะวัณ
  4. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
  5. จอมพล ถนอม กิตติขจร
  6. จอมพล ประภาส จารุเสถียร
  7. จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล
  8. พล.อ. ไสว ไสวแสนยากร
  9. พล.อ. เดช เดชประดิยุทธ
  10. พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์
  11. พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์

ชั้นทุติยาภรณ์ แก้

  1. พล.ร.อ. ถวิล รายนานนท์
  2. ม.จ.วงษ์มหิป ชยางกูร
  3. พล.อ. บุญชัย บำรุงพงศ์
  4. พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ
  5. พล.อ. สายหยุด เกิดผล
  6. พล.อ. สุรกิจ มัยลาภ
  7. พล.อ.อ. บุญชู จันทรุเบกษา

ชั้นตริตาภรณ์ แก้

  1. พล.ท. บุศรินทร์ ภักดีกุล
  2. ศ. ม.ล.ปิ่น มาลากุล

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้