พระนารายณ์ราชนิเวศน์
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชวังฯแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่อีกรั้งเมื่อปี พ.ศ. 2399 เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับ และเป็นราชธานีชั้นใน พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ปัจจุบันพื้นที่พระราชวังฯ บางส่วนยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ โดยชาวเมืองลพบุรีจะนิยมเรียกพระราชวังฯ แห่งนี้กันติดปากว่า "วังนารายณ์"
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ | |
---|---|
ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง | |
ชื่ออื่น | วังนารายณ์ |
ที่มา | สมเด็จพระนารายณ์มหาราช |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | พระราชวัง |
สถาปัตยกรรม | ไทย, ตะวันตก |
ที่ตั้ง | ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี |
เมือง | เมืองลพบุรี |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2209 |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2399 |
เจ้าของ | กรมศิลปากร |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
พื้นที่ | 41 ไร่ |
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ |
ประวัติ
แก้พระนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง พระองค์ทรงประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ประมาณ 8-9 เดือนในช่วงปลายรัชกาลและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์"[1]
สิ่งก่อสร้างภายในพระราชวัง
แก้พื้นที่ทั้งหมดภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น 3 เขตคือหลังสิ้นรัชกาลพระราชวังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมพระราชวังแห่งนี้และโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ปัจจุบัน พระนารายณ์ราชนิเวศน์ได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์
เขตพระราชฐานชั้นนอก
แก้มีอาคารที่สร้าง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก จากบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าระบบการจ่ายทดน้ำ เป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาลี โดยน้ำที่เก็บในถังเป็นน้ำที่ไหลมาจากอ่างซับเหล็ก โดยผ่านมาทางท่อดินเผาที่เชื่อมมาจากอ่างซับเหล็ก เพื่อนำน้ำมาใช้ภายในพระราชวัง
- หมู่ตึกพระคลังศุภรัตน์หรือหมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตั้งอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำและตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมืองมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนผนังประตูและหน้าต่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมจำนวน12ห้องโดยเรียงกันเป็นแถวยาว 2 แถว แถวละ6ห้องมีถนนตัดผ่าตรงกลางระหว่างแถวสันนิษฐานว่าใช้เป็นสถานที่เก็บทรัพย์สมบัติหรือเก็บของ
- ตึกพระเจ้าเหา สันนิษฐานว่าคงเป็นหอพระประจำพระราชวัง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในตึก ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้อาจมีชื่อว่า พระเจ้าเหา จึงเป็นที่มาของชื่อตึกแห่งนี้
- ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง ตั้งอยู่กลางอุทยานทางตอนใต้ของหมู่ตึกพระคลังผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะเป็นตึกชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนผนังเจาะเป็นช่องประตูและหน้าต่างลายโค้งแหลมล้อมรอบด้วยสระน้ำขนาดใหญ่3สระตรงกลางสระมีน้ำพุมากกว่า20จุด สมเด็จพระนารายณ์ฯได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230
- โรงช้างหลวง มีทั้งหมด 10 โรงด้วยกันและช้างที่ยืนโรงอยู่คงเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือเจ้านาย
เขตพระราชฐานชั้นกลาง
แก้มีพระที่นั่งที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2 องค์ และสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
- พระที่นั่งจันทรพิศาล
พระที่นั่งจันทรพิศาลตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นหอประชุมองคมนตรีสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2401 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณที่เดิมเป็นพระที่นั่งสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ใช้เป็นท้องพระโรงด้านหน้ามีมุขเด็จสำหรับออกให้ข้าราชการเฝ้าภายในแบ่งเป็นท้องพระโรงหน้าด้านทิศตะวันออกและท้องพระโรงด้านทิศตะวันตกกั้นด้วยประตูซึ่งกั้นระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งในส่วนท้องพระโรงหลังมีบันไดเข้าออก4ช่องทางนอกจากนั้นยังมีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานมงกุฏ
- พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2209 เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกรับคณะราชทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ที่เป็นการส่วนพระองค์) มียอดแหลมทรงมณฑป ศิลปกรรมแบบไทยผสมผสานกับเปอร์เซีย ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงด้านหน้าทำเป็นรูปโค้งแหลมแบบเปอร์เซีย ส่วนตัวมณฑปด้านหลังทำประตูหน้าและหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์แบบไทย ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร เป็นที่เสด็จออกเพื่อมีปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้าในท้องพระโรงตอนหน้า
ผนังภายในท้องพระโรงประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งโปรดให้คนไปจัดซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส ดาวเพดานเป็นช่องสี่เหลี่ยมประดับลายดอกไม้ทองคำและแก้วผลึก ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่าง เจาะเป็นช่องเล็ก ๆ รูปโค้งแหลมคล้ายบัว สำหรับตั้งตะเกียงในเวลากลางคืน เช่นเดียวกับที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ซึ่งมีช่องสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง
- หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ประกอบไปด้วยอาคารทั้งหมด4หลังโดยด้านหน้าสูง 2 ชั้นด้านหลังมีความสูง3ชั้นส่วนหน้าตรงกลางเป็นบันไดขนาดใหญ่ขนาบด้วยมุขซึ่งยื่นออกมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวาหลังคาเป็นโครงสร้างไม้ทรงปั้นหยายกจั่วสูงชายคาสั้นกุดมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยทับแนวด้วยปูนปั้นแบบจีนผนังเจาะช่องหน้าต่างระหว่างเสาและมีทุกชั้น
- พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ตั้งอยู่ด้านหลังสุดเป็นพระที่นั่ง3ชั้นมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสามารถเข้าออกทางบันไดด้านนอกอาคารที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังโดยไม่ต้องผ่านบันไดใหญ่ด้านหน้าและท้องพระโรงห้องบนสุดเป็นห้องพระบรรทมชั้น2เป็นห้องเสวยหน้าบันเป็นรูปพระราชลัญจกรณ์ประจำรัชกาลที่4รูปพระมหาพิชัยมงกุฎวางบนพาน
- พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงอยู่ด้านหน้าหน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
- พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นห้องเก็บอาวุธตั้งขนาบกับพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยทางทิศใต้
- พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นห้องทรงพระอักษรตั้งขนาบกับพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยทางทิศเหนือ
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2467 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาล เรียกว่าลพบุรีพิพิธภัณฑ์สถาน ต่อมาปี พ.ศ. 2504 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ปัจจุบันมีการขยายห้องจัดแสดงมาถึงพระที่นั่งพิมานมงกุฎ มีสิ่งน่าสนใจดังนี้
- ชั้นที่ 1 จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 3,500-4,000 ปี เช่น ภาชนะดินเผารูปวัว โครงกระดูกมนุษย์ ขวานหิน ขวานสำริด จารึกโบราณ เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย พระพิมพ์ที่พบตามกรุในลพบุรี รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โบราณวัตถุสมัยทวารวดี ฯลฯ
- ชั้นที่ 2 จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในลพบุรี เช่น ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพุทธรูปสมัยลพบุรีแบบต่าง ๆ เครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งของจีน และไทย เป็นต้น
- ชั้นที่ 3 เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงฉลองพระองค์ เครื่องแก้ว และภาชนะที่มีตราประจำพระองค์
- ทิมดาบ
ทิมดาบตั้งอยู่บริเวณด้านข้างประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลางมีจำนวนทั้งสิ้น 2 หลังทางทิศเหนือ1หลังทางทิศใต้1หลังเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน1ชั้นมีช่องวงโค้งหันหน้ามาที่ทางเดินด้านหลังติดกำแพงพระราชวังหลังคามุงกระเบื้องดินเผาเป็นที่ตั้งของทหารรักษาการณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ
เขตพระราชฐานใน
แก้มีพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีอาคารที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้
- พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นพระที่นั่งในเขตพระราชฐานชั้นในเป็นพระที่นั่ง2ชั้นก่ออิฐถือปูนมุงหลังคากระเบื้องเคลือบแบบจีน เป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 โดยทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปบนฐานของพระที่นั่งองค์นี้
- หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่หลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐปูน 2 ชั้น มี 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อพิพาทด้านการบูรณะกำแพงและประตู
แก้ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการบูรณะกำแพงและประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์โดยเริ่มจากกำแพงวังฝั่งตะวันตกฝั่งท่าขุนนาง โดยกรมศิลปากร ลักษณะของการบูรณะโดยการสกัดปูนเก่าที่ฉาบมาแต่เดิมเมื่อ 344 ปีก่อน แล้วทำการโบกปูนใหม่แล้วทาสีขาวทับ
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ทางด้านของภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี เปิดเผยกรณีสำนักศิลปากรที่ 4 ทำการบูรณะกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์อายุ 344 ปี ว่า การบูรณะดังกล่าว ไม่คำนึงถึงหลักวิชาการในการอนุรักษ์โบราณสถาน คือมีการสกัดปูนเก่าลวดลายดั้งเดิมออกทั้งหมด ทุบและโบกปูนสีขาวเกลี้ยงทับเสมือนสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งทางชมรมเห็นว่า กำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ มีคุณค่าด้วยความเป็นโบราณสถานร้าง ดังนั้นการบูรณะควรเป็นแบบรักษาคุณค่าความเก่าแก่มากกว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยการโบกปูนทับ จึงยื่นหนังสือคัดค้านไปหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้เพราะกรมศิลปากรยืนยันว่าบูรณะอย่างถูกต้องแล้ว ตนจึงเห็นว่าเป็นการบูรณะโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากภาคประชาชน นายภูธรยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางชมรมได้ต่อสู้มาจนถึงที่สุดแล้วทั้งส่งหนังสือไปยัง รมว.วัฒนธรรม, อธิบดีกรมศิลปากร, ผู้อำนวยการสำนักกรมศิลปากรที่ 4 และคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีผลต่อการหยุดยั้ง จากนี้ไปจะไม่ดำเนินการใด ๆ อีก เพราะถือว่าสายเกินไปที่จะหยุดการบูรณะซึ่งแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้นายภูธรยังเรียกการกระทำดังกล่าวว่า ความอัปยศใหม่ ไม่ใช่การบูรณะใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องการบูรณะที่ทำกันอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้งบประมาณ พร้อมติติงเรื่องมุมมองการบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร และตั้งคำถามถึงปัญหาด้านจรรยาบรรณทางวิชาชีพ รวมทั้งยกกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนประชาชนว่าอย่าวางใจการบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ และต้องช่วยกันรักและหวงแหนมรดกของประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม[2]
ทางด้านเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่า การบูรณะนั้นเป็นไปตามหลักการและถูกต้อง เนื่องจากภายในกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์มีพิพิธภัณฑ์ จึงจัดว่าเป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต หรือมีประโยชน์ใช้สอยอยู่ การบูรณะจึงต้องทำให้เกิดความมั่นคง แข็งแรงตามหลักฐานที่ปรากฏ ก่อนเริ่มบูรณะได้มีการศึกษารูปแบบ เทคนิค วิธีการสร้าง พร้อมทั้งศึกษาประวัติความเป็นมา จึงทราบว่าโบราณสถานแห่งนี้ได้ถูกซ่อมแซมและบูรณะมาแล้วหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และมีการใช้ปูนซีเมนต์ในการบูรณะกว่าร้อยละ 70 ซึ่งตามหลักการแล้วปูนซีเมนต์ไม่ควรนำมาบูรณะโบราณสถาน เพราะก่อให้เกิดความเค็มและผุกร่อนได้ง่าย จึงต้องมีการสกัดปูนฉาบเก่านั้นออกให้หมด และฉาบด้วยปูนหมักที่มีส่วนผสมของซีเมนต์ กระดาษสา และทราย เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาการผุกร่อน[2]
ส่วนนางสาวนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวลพบุรีได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังผู้ว่าราชการจังหวัด ว่ากำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์มีสภาพทรุดโทรมดังนั้น สำนักศิลปากรจึงได้เริ่มทำการบูรณะ ซึ่งการบูรณะไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องอนุรักษ์โบราณสถานเท่านั้น แต่เพื่อรองรับประโยชน์การใช้สอยในปัจจุบันด้วย เพราะสถานที่ดังกล่าว เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์และสถานที่จัดงานประจำจังหวัด[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
- ↑ 2.0 2.1 "โวยซ่อมมั่ว กำแพงพระนารายณ์สิ้นรูปสมบัติโบราณ". www.igetweb.com สำเนาจากเดลินิวส์. 2010-06-28. สืบค้นเมื่อ 2010-12-22.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รมว.วธ. ตรวจสอบการบูรณะกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี". S! News. 2010-07-04. สืบค้นเมื่อ 2010-12-22.[ลิงก์เสีย]