คลองบางขุนเทียน

คลองบางขุนเทียน เป็นคลองในพื้นที่เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมต่อคลองสนามชัยกับคลองบางมด มีความกว้างคลองราว 8–15 เมตร มีความยาว 3,650 เมตร[1] บริเวณคลองมีสวนลิ้นจี่โบราณอายุกว่า 100 ปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน[2] ริมคลองบางขุนเทียนเป็นที่ตั้งของวัดตั้งแต่สมัยอยุธยา 3 แห่ง คือ วัดบางขุนเทียนนอก วัดบางขุนเทียนใน และวัดบางขุนเทียนกลาง

คลองบางขุนเทียนบริเวณวัดบางขุนเทียนนอก

ประวัติ

แก้

ชุมชนริมคลองบางขุนเทียนได้มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก่อน พ.ศ. 2065 จะมีความสัมพันธ์กับเส้นทางคลองด่านซึ่งเป็นระบบคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน หลักฐานที่เก่าที่สุดปรากฏอยู่ในกำสรวลสมุทร[3] ปรากฏชื่อ นางนอง ชุมชนย่านนางนองได้รับการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการซ่อมคลองด่านและขุดคลองบางขุนเทียนเมื่อ พ.ศ. 2374[4] เพื่อให้เดินเรือสะดวกยิ่งขึ้นในการค้าขายกับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นผู้ดำเนินการขุด โดยขุดตั้งแต่ด่านวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ริมคลองบางกอกใหญ่ไปถึงวัดกก วัดเลา ความยาว 178.18 เส้น กว้าง 14 วา ลึก 6 ศอก[5]

มีการบันทึกของชาวต่างประเทศ (พ.ศ. 2384–2365) ว่า "เมื่อเรามาถึงคุ้งที่สองในแม่น้ำนั้น สองฝั่งแม่น้ำก็มีแต่สวนหมากเต็มไปหมด คุ้งที่สามก็เต็มไปด้วยสวนผลไม้นับไม่ถ้วน มีกลิ่นหอมหวานของดอกไม้กลบไปหมด ขณะที่เราผ่านมาตามลำน้ำนับเป็นไมล์"[6] แสดงให้เห็นว่าชุมชนคลองบางขุนเทียนจะต้องทำสวนหมากและสวนผลไม้จำนวนมาก

หลังสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อ พ.ศ. 2507 ทำให้คุ้งลิ้นจี่บริเวณคลองบางขุนเทียนซึ่งจากเดิมชาวสวนไม่เคยใช้ปุ๋ยหรือฉีดยาก็ต้องหันมาใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดยาฆ่าแมลง ส่งผลให้กุ้งปลาตายเป็นจำนวนมาก จากพื้นที่สวนจึงเริ่มกลายเป็นโรงสีและโรงเลื่อยโดยเฉพาะช่วงปากคลองดาวคะนอง นอกจากนั้นยังเกิดการอพยพของแรงงานต่างพื้นที่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้การใช้ที่ดินเป็นที่พักอาศัยและการค้ามากขึ้น และหลังจากตัดถนนสายสำคัญอย่าง ถนนพระรามที่ 2 และถนนจอมทอง ยิ่งทำให้บทบาททางสัญจรทางน้ำลดลง[6]

อ้างอิง

แก้
  1. "บัญชีคลองในเขตกรุงเทพมหานคร".[ลิงก์เสีย]
  2. "ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่โบราณย่านบางขุนเทียน". สนุก.คอม.
  3. "นางนอง นองน้ำตา". มิวเซียมไทยแลนด์.
  4. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. "วัดร้างบางบอน? (วิหารหลวงพ่อขาว) วัดนิรนามอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนหลงลืมไปตามเวลา". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. จุมพล สำเภาพล. "วิวัฒน์การบริหารกรุงเทพมหานคร" (PDF). หอสมุดกฎหมายรัฐธรรมนุญ. p. 9.
  6. 6.0 6.1 สมพงษ์ กุลวโรตตมะ. "แนวทางการพัฒนาชุมชนเมืองในพื้นที่สวนเดิมฝั่งธนบุรี : กรณีศึกษาชุมชนเมืองคลองบางขุนเทียน" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.