คลองบางมด
คลองบางมด เป็นคลองย่อยในระบบคลองด่านและคลองบางขุนเทียน ไหลผ่านในพื้นที่ของเขตจอมทอง เขตทุ่งครุและเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 15,800 เมตร[1] มีแนวทางน้ำค่อนข้างตรง ต่างจากคลองธรรมชาติบริเวณนี้ที่มีลักษณะคดเคี้ยว จึงคาดว่าเป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อผันน้ำเพื่อการเกษตร มีต้นสายแยกออกจากฝังทิศใต้ของคลองสนามชัยเยื้องกับวัดไทร ไหลลงใต้ มีคลองบางขุนเทียนไหลขนานมาไหลหักศอกเข้ามาจนใกล้คลองบางมดมากบริเวณแยกคลองระแนะน้อย โดยมีคลองข่อยเป็นตัวเชื่อมจนมาเป็นคลองเส้นเดียวกัน ไหลลงใต้มาสุดสิ้นที่บริเวณวัดบัวผัน
ประวัติ
แก้ในอดีตเป็นเส้นทางสัญจรคมนาคมระหว่างบางกอกกับหัวเมืองทางตะวันตกและปักษ์ใต้ การตั้งถิ่นฐานในบริเวณคลองบางมด สันนิษฐานจากการมาตั้งถิ่นฐานของชุมชนย่านบางขุนเทียน ท่าข้าม หัวกระบือ ที่เริ่มมีการตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จึงอาจมีการตั้งถิ่นฐานในแถบบางมดบ้างแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน พอสันนิษฐานได้จากการตั้งวัด เช่น วัดยายร่มในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดโพธิทองสมัยรัชกาลที่ 4 และมัสยิดนูรุ้ลฮุดาในสมัยรัชกาลที่ 6
การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือ การทำสวนส้มบางมด มีชาวจีนในพื้นที่ได้นำกิ่งพันธุ์จากทางบางบน (บางขุนนนท์ ตลิ่งชัน บางกอกน้อย) เริ่มเพาะปลูกในย่านบางมดนี้ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2468 ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่นิยมของทั้งประเทศ จึงเกิดการเคลื่อนย้ายระลอกใหญ่ของผู้คนเพื่อมาบางมดเพื่อบุกเบิกสวนส้ม มีการตั้งตลาดปากคลองศาลเจ้าแม่ทับทิม มีโรงหนังศรีเจริญบางมด (ประมาณ พ.ศ. 2505) มีมัสยิดใหม่ เช่นดาริ้ลหะซัน (สอนสมบูรณ์) ดารุ้ลอิบาดะห์ วัดพุทธใหม่ เช่น วัดพุทธบูชา (พ.ศ. 2497) วัดหลวงพ่อโอภาสี (ประมาณ พ.ศ. 2500) แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2526 และ 2534 ทำให้ชาวบางมดย้ายไปทำสวนที่อื่น อีกทั้งมีการตัดถนนพุทธบูชา ถนนพระรามที่ 2 ถนนท่าข้าม ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ฯลฯ เกิดบ้านจัดสรรหลายโครงการรุกคืบเข้ามาในพื้นที่[2]
ในระยะราว 50 ปีหลัง ได้มีการขยายคลองอันเกิดจากเรือหางยาวขนส้มเข้ามามากจนตลิ่งถูกซัดไป[3] เมื่อ พ.ศ. 2560 มีการสร้างเส้นทางปั่นจักรยานระยะทาง 3 กิโลเมตร เลียบไปกับคลองบางมด[4]
สถานที่ริมคลอง
แก้ริมคลองเป็นที่ตั้งของวัดพุทธบูชา วัดยายร่ม วัดสีสุก มัสยิดดาริลหะซันกับมัสยิดนูรุลหุดา ศาลเจ้าแม่ทับทิม สองฝั่งคลองมีสวนส้ม สวนมะพร้าว มีบ้านเรือนหนาแน่นริมสองฝั่งคลองสลับไปกับที่รกร้าง มีโรงงานอยู่ประปราย ร้านขายของชำที่ส่งสินค้าข้ามคลองมาด้วยตะกร้าชักรอก[5] มีตลาดคลองบางมดซึ่งเปิดในวันเสาร์และอาทิตย์[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ ศิริพันธ์ นันสุนานนท์. "แผนที่ชุมชนและการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร". วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- ↑ "เล่าเรื่อง "ส้มบางมด" ภาพจำอีกแห่งนอกจากส้มธนาธร จากปากชาวสวนท้องที่ของแท้". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "เล่าปูม คลองบางมด". 3C Project.
- ↑ "บางมดเฟส เทศกาลที่จะปลุกวิถีริมคลองบางมดให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง".
- ↑ "เยือนรังมด". เดอะคลาวด์.
- ↑ "คลองบางมด".