ส้มเขียวหวาน

(เปลี่ยนทางจาก ส้มบางมด)

ส้มเขียวหวาน เป็นส้มพันธุ์ปลูกหนึ่ง ที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากส้มแมนดาริน (C. reticulata) มีผิวสีเขียวอมเหลืองเมื่อสุกต่างจากส้มแมนดารินเมื่อสุกสีส้มล้วน แหล่งปลูกที่เป็นที่รู้จักคือ บางมด

ประวัติ

แก้

ในประเทศไทยมีผู้สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้าต้นพันธุ์มาจากประเทศจีนเมื่อระยะเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว

แหล่งที่ขึ้นชื่อว่าปลูกส้มเขียวหวานกันมากและมีชื่อเสียงในประเทศไทย คือ ตำบลบางมดในพื้นที่อำเภอราษฎร์บูรณะและอำเภอบางขุนเทียนของจังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือแขวงบางมดในเขตทุ่งครุและแขวงบางมดในเขตจอมทองของกรุงเทพมหานคร) จนได้ชื่อว่า "ส้มบางมด" แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 มีน้ำทะเลได้หนุนเข้ามาทำให้ไม่สามารถปลูกได้ จึงได้เปลี่ยนมาปลูกที่ทุ่งรังสิต โดยเริ่มที่คลองสอง ธัญบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 จึงมาปลูกที่อำเภอหนองเสือ จนได้ชื่อว่า "ส้มรังสิต" แต่ปัจจุบันก็มีการเพาะปลูกน้อยลง รวมถึงในพื้นที่บางมดด้วย[1][2]

ส้มเขียวหวานที่ผลิตในแต่ละปีจะใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท[3]

ชื่อ

แก้

นอกจากนี้แล้ว ส้มเขียวหวานยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกตามพื้นที่ทำการเพาะปลูก เช่น "ส้มแก้วเกลี้ยง", "ส้มจันทบูร", "ส้มแป้นกระดาน", "ส้มแสงทอง", "ส้มแป้นเกลี้ยง", "ส้มจุก" หรือ "ส้มบางมด" เป็นต้น [4]

พันธุ์ย่อย

แก้

เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันทั่วไป ติดผลดกขนาดผลปานกลาง ทรงผลค่อนข้างกลมถึงแป้นเล็กน้อย ผิวผลสีเขียวอมเหลือง แต่เมื่อปลูกทางภาคเหนือผิวผลจะมีสีเหลืองเข้ม ผิวเรียบ ก้นผลราบถึงเว้าเล็กน้อย กลีบแยกออกจากกันง่าย เนื้อผลสีส้ม ชานนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน อมเปรี้ยว

พันธุ์ส้มโชกุน

แก้

ส้มโชกุน เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกทางภาคใต้ รู้จักกันในชื่อ ส้มสายน้ำผึ้ง หรือส้มเพชรยะลา ลักษณะทรงต้นและขนาดต้นใกล้เคียงกับส้มเขียวหวาน แต่ทรงพุ่มค่อนข้างจะหนากว่า กิ่งและใบตั้งขึ้น ใบมีขนาดเล็กกวาส้มเขียวหวาน แต่สีใบเขียวเข้มกว่า[5]

ส้มโชกุนแหลมทอง พื้นที่ปลูกเดิมอยู่ในจังหวัดราชบุรี เป็นส้มที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ออกดอกติดผลค่อนข้างยาก ขนาดผลปานกลาง และมีรสชาติหวานจัด

ลักษณะ

แก้

โดยลักษณะทั่วไปของส้มเขียวหวานมีรูปกลมมน แป้นเล็กน้อย ฐานผลกลมมน ด้านล่างเป็นแอ่งตื้น ๆ ผิวผลเรียบ มีเปลือกบาง เนื้อส้มภายในเป็นสีส้มอมทอง ฉ่ำน้ำ กลีบแยกออกจากกันได้โดยง่าย มีรสชาติอร่อยหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อแกะออกมาแล้วกลิ่นจะติดจมูก ทำให้เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมาก ทั้งในรูปของผลไม้สดและในรูปของน้ำส้มคั้น ซึ่งนอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารสูงแล้ว การบริโภคในลักษณะที่รวมทั้งเส้นใยและกากจะเป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การปลูก

แก้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

แก้

ปกติส้มเขียวหวานไม่ชอบน้ำขัง จึงเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ได้แก่ ดินร่วน ดินร่นปนทราย ดินเหนียวที่ปรับปรุงสภาพให้เหมาะสม เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ ดังนั้นพื้นที่ปลูกจึงควรมีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ[6]

ระยะปลูกและหลุมปลูก

แก้

ส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม ขนาดทรงพุ่มมักจะไม่ใหญ่มากนักควรปลูกกลางร่อง โดยใช้ในระยะระหว่างต้น 3-4 เมตรส่วนส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ดอนส่วนมากจะมีทรงพุ่มค่อนข้างใหญ่และอายุยืน จึงใช้ระยะปลูกระหว่าต้น 4 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร หลุมการปลูกควรขุดให้มีความกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมดินปลูกด้วยปุ๋ยคิกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้วอัตรา 10 กิโลกรัม ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน แล้วกลบลงไปในหลุมจนเต็มปากหลุมทิ้งไว้ในระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่แล้วจึงเติมดินผสมลงไปอีกจนเต็มเสมอปากหลุม [7]

การให้น้ำ

แก้

เมื่อต้นส้มเขียวหวานโตแล้วการให้น้ำก็ยังคงให้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตและสภาพทั่วๆไป เช่น ในระยะก่อนออกดอก จะต้องการน้ำน้อย เพื่อให้มีช่วงเก็บสะสมอาหาร แต่เมื่อติดผลแล้วส้มจะต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงผลแก่ เมื่อผลส้มเข้าสีแล้วถ้าลดปริมาณน้ำลงจากปกติจะช่วยให้ผลส้มแก่เร็วขึ้น และควรงดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยทำให้ส้มมีรสหวานมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าเพิ่มปริมาณน้ำในดินชุ่มชื้นอยู่เสมอจะช่วยชะลอการสุกของผลส้มได้ประมาณ 20 วัน วิธีการให้น้ำส้มเขียวหวานมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น การให้น้ำทางสายยาง การใช้เรือรดน้ำ การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ เป็นต้น ส่วนช่วงเลาการให้น้ำที่เหมาะสมคือ ระหว่างเวลา 08.00-10.00และ 14.00-16.00 น.[8]

การออกดอกติดผล

แก้

ปกติส้มเขียวหวานสามารถออกดอกออกติดผลได้ตั้งแต่ปีแรกของการปลูก แต่ไม่นิยมเก็บไว้ เพราะจะทำให้ต้นโทรม ไม่เจริญเติบโต จึงควรปลิดดอกทิ้งทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อส้มอายุได้ 3ปีจึงให้ติดผลได้ เพราะต้นใหญ่ขึ้นและแข็งแรงพอที่จะให้ติดผลได้ ปัจจุบันสามารถทำให้ส้มเขียวหวานออกนอกฤดูกาลได้โดยการบังคับการให้น้ำ กล่าวคือ หลังจากการให้น้ำแล้วอีกประมาณ 10 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลได้ ดั้งนั้นถ้าต้องการให้ส้มเขียวหวานแก่ในเดือนใดก็จะนับย้อนหลังไปประมาณ 10 เดือนแล้วเริ่มควบคุมการให้น้ำ ก็จะทำให้ส้มเขียวหวานออกดอกออกผลตรงตามเวลาที่ต้องการ[9]

การค้ำกิ่ง

แก้

หลังจากส้มเขียวหวานติดผลควรได้ทำการค้ำกิ่ง เพื่อช่วยป้องกันกิ่งฉีกขาดหรือหัก เนื่องจากน้ำหนักของผลที่ติดอยู่บนต้นมีแรงเหวี่ยงโยนสูงมาก หากมีลมพัดจะยิ่งทำให้ฉีกขาดได้มากขึ้น และยังช่วยยกระดับของผลให้สูงจากพื้นดินเพื่อลดความเสียหายอันเนื่องมาจากโรคและแมลงได้อย่างมาก[10]

โรคและแมลงศัตรู

แก้

โรคและแมลงศัตรูนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นส้มเขียวหวาน ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และเป็นอุปสรรคต่อการผลิตส้มเขียวหวานให้มีคุณภาพดี เนื่องจากโรคและแมลงสามารถเข้าทำลายส้มได้ทุกระยะการเจริญเติบโตและทำลายได้ทุกส่วนของต้นส้ม รวมทั้งผลส้มด้วย ดังนั้นเกษตรกรควรได้ศึกษาและวางแผนควบคุมกำจัดโรคและแมลงศัตรูส้มไว้เสมอ สำหรับโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า โรคกรีนนิ่ง โรคแคงเกอร์ โรคทริสเทซ่า หนอนชอนใบ หนอมแก้วส้ม เพลี้ยไฟ ไรสนิมส้ม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยไก้แจ้ส้ม หนอนเจาะสมอฝ้าย ไรเหลืองส้ม เป็นต้น[11]

การเก็บเกี่ยว

แก้

ผลส้มเขียวหวานจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน นับจากวันออกดอก ผิวส้มจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม และความแข็งของผลลดลง วิธีการเก็บเกี่ยว ให้ใช้กรรไกรคมๆตัดที่ก้านผล ไม่ควรดึงหรือเด็ดเพราะจะทำให้ขั้วผลแยกตัวออกจากส่วนเนื้อ ขั้วผลฉีกเป็นแผล อันเป็นช่องทางให้เกิดโรคผลเน่าภายหลังเก็บเกี่ยวได้ง่าย[11]

โภชนาการ

แก้

ส้มเขียวหวาน มีสรรพคุณทางยาและโภชนาการ ตรงที่ผลนำมารับประทานหรือคั้นน้ำดื่มมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานบรรเทาอาการกระหายน้ำ ป้องกันโรคหวัดและการติดเชื้อแบคทีเรีย ลดปริมาณโคเลสเตอรอลในโลหิต ช่วยระบบย่อยอาหารของร่างกาย ระบายได้มีแก้อาการท้องผูก และมีคุณค่าทางอาหาร ส้มเขียวหวานน้ำหนัก 100 กรัม ให้วิตามินซี 42 มิลลิกรัม

อ้างอิง

แก้
รายการอ้างอิง
  1. พินิจนคร, รายการ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ สายน้ำพระราชทานในรัชกาลที่ 5 เมืองข้าว เมืองนาแห่งราชอาณาจักรสยาม: วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทางไทยพีบีเอส
  2. "ต่อลมหายใจ "ส้มบางมด" อดทนสู้เพื่อคนรักส้ม". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-25. สืบค้นเมื่อ 2011-10-06.
  3. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 55
  4. ส้มเขียวหวาน
  5. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 55
  6. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 57
  7. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 58
  8. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 59
  9. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 62
  10. ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 63
  11. 11.0 11.1 ขจรศักดิ์ พิทักษ์ศรี ไม้ผลเศรษฐกิจ กทม. เกษตรสยาม. 2557 หน้า 64
บรรณานุกรม
  • พิทักษ์ศรี, ขจรศักดิ์ (2014). ไม้ผลเศรษฐกิจ.กรุงเทพมหานคร. ธนธัชการพิมพ์.