ทุ่งรังสิต
ทุ่งรังสิต หรือเดิมเรียกว่า ทุ่งหลวง เป็นทุ่งขนาดใหญ่ในอดีต ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.5 ล้านไร่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาณาเขตทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและทางตอนใต้ของอยุธยาลงมาจรดกรุงเทพมหานคร พื้นที่ลุ่มผืนนี้ต่อเนื่องไปจนจรดเชิงเขาใหญ่ด้านจังหวัดนครนายกและจังหวัดสระบุรี
ต่อมาเมื่อผู้คนเริ่มอพยพเข้ามามากขึ้นและมีการริเริ่มขุดคลองรังสิตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ระบบนิเวศวิทยาของทุ่งรังสิตก็เปลี่ยนแปลงไป มีคนเข้ามาตั้งรกรากมากขึ้น สัตว์ต่าง ๆ ถอยร่นไปและสูญพันธุ์ไปโดยสิ้นเชิง ทุ่งรังสิตได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่นา[1] จากข้อมูลของสำนักงานโยธาและผังเมือง เมื่อ พ.ศ. 2548 พื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่งรังสิตในปัจจุบันยังมีลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ใช้ที่ดินทางด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ทุ่งรังสิตรวมประมาณ 1.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของพื้นที่ทุ่งรังสิตทั้งหมด หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของพื้นที่เกษตรกรรมในภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด[2]
อาณาบริเวณ
แก้ทุ่งรังสิตครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.5 ล้านไร่ กินพื้นที่เขตอำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เขตหนองจอก และเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[3]
ลักษณะทางธรณีวิทยา
แก้พื้นที่บริเวณทุ่งรังสิตเป็นแอ่งที่เกิดจากการทรุดตัวตามรอยเลื่อนของเปลือกโลกเมื่อราว 65 ล้านปีก่อน ทำให้แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่าน มีกระแสน้ำไหลช้า จึงมีการตกตะกอนมาก เกิดการสะสมของดินตะกอนจนแอ่งกระทะตื้นเขิน กลายเป็นผืนดินในที่ลุ่มต่ำ มีบึงน้ำและพื้นที่ชื้นแฉะกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อถึงฤดูฝนและในช่วงน้ำหลากมาจากทางเหนือ บริเวณทุ่งจะกลายสถาพเป็นทุ่งรับน้ำกว้างใหญ่ ก่อนที่จะไหลออกไปสู่ทะเลตามธรรมชาติสู่แถบคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ[4] เป็นเหตุให้น้ำเหนือไม่ไหลลงสู่พระนคร
บริเวณทุ่งรังสิตก่อนที่จะมีการขุดคลองรังสิต ปรากฏชื่อห้วยหนองคลองบึงปรากฏอยู่กว้างขวาง ได้แก่ ลำบางน้อย ลำอ้ายสัง ลำลาดไทร ลำหนองจิก ลำเรือแตก คลองเชียงรากน้อย คลองเชียงรากใหญ่ คลองบางหวาย คลองบางหลวงหัวป่า ลำลูกกา บึงทองหลาง ลำไทร บึงคอไห หนองเสือ ส่วนบริเวณคลองรังสิตฝั่งใต้ ได้แก่ ลำบางสิง หนองบอน ลำลาดโพ ลำลาดสนุ่น ลำสวาย ลาดจระเข้ บึงคำพลอย ลำสีสะกระบือ ลำสมอกอง ลำอ้อมแก้ว ลำหม้อแตก และคลองชัน เป็นต้น[3]
พืชและสัตว์
แก้พืชพันธุ์นานาชนิดขึ้นรกทึบ ส่วนที่ดอนมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ได้แก่ ยางนา ตะเคียน สลับกับไม้พุ่ม
จากบันทึกในพงศาวดาร พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง เก้ง กวาง เสือโคร่ง เป็นต้น เนื้อสมัน (Shomburgk deer) กวางชนิดหนึ่งซึ่งค้นพบเฉพาะ ที่เมืองไทยเพียงแห่งเดียวในโลก และเคยอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ก็เคยอาศัยอยู่ที่นี่[4]
ป่าบึงแถบรังสิตไปจนจรดทุ่งนครนายก เป็นแหล่งคล้องช้างหลวงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ และยังเป็นแหล่งหากิน สร้างรัง ของนกน้ำขนาดใหญ่ อาทิ นกอ้ายงั่ว นกกระเรียน นกตะกรุม นกกุลา ฯลฯ
อ้างอิง
แก้- ↑ ""ประวัติทุ่งรังสิต" ป่าเขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในอดีต-ชมรมประวัติศาสตร์สยาม". เทศบาลเมืองบึงยี่โถ.[ลิงก์เสีย]
- ↑ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์. "พัฒนาการความเป็นเมืองในทุ่งรังสิต กับพลวัตพื้นที่สีเขียวชานเมืองกรุงเทพฯ" (PDF).
- ↑ 3.0 3.1 "รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตขุด "คลองรังสิต" ในทุ่งหลวงเหนือกรุงเทพฯ ที่มีโขลงช้าง และไข้ป่า". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ 4.0 4.1 "ชีวประวัติของทุ่งรังสิต: จากสมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษาและเหี้ย". พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ.