ป้อมเพชร

ป้อมปราการเก่าแก่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ป้อมเพชร เป็นป้อมที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ในตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่บริเวณบางกะจะ จุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี (ปัจจุบัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา) ป้อมเพชร เป็นป้อมสำคัญที่สุดในบรรดา 29 ป้อม ที่ในปัจจุบันหลงเหลืออยู่ 2 ป้อม[1] ทำหน้าที่ป้องกันข้าศึก ที่มาทางน้ำตรงมุมพระนคร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2123

ป้อมเพชร
ป้อมเพชร
ป้อมเพชรตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ป้อมเพชร
ที่ตั้งของป้อมเพชรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ป้อมเพชรตั้งอยู่ในประเทศไทย
ป้อมเพชร
ป้อมเพชร (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทป้อมปราการ
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
ผู้สร้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สร้างพ.ศ. 2123
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 09.00-19.00 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา

กรุงศรีอยุธยา สถาปนาเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 1893 กำแพงเมืองและป้อมเมื่อเริ่มสร้างนั้นทำจากไม้ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ขยายขอบเขตราชธานีไปถึงตลิ่งแม่น้ำ จึงได้มีการสร้างกำแพงด้วยอิฐและศิลาแลงขึ้น โดยใช้อิฐก่ออยู่บนคานไม้ ที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับอยู่ด้านล่าง ป้อมเพชรก่อด้วยอิฐและศิลาแลง หนา 14 เมตร มีเชิงเทินใบเสมารวม 6.50 เมตร มีช่องปืนใหญ่ 8 ช่อง ที่ก่อเป็นรูปโค้งมนครึ่งวงกลม ลักษณะรูปทรงป้อม เป็นแบบ 6 เหลี่ยม ยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมือง

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บรรยายถึงป้อมเพชรไว้ว่า "ป้อมปืนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมั่งคงแข็งแรง สูง 3 วา 2 ศอก ป้อมนี้สูงกว่ากำแพงกรุง 2 ศอก มีชานชาลารอบป้อมกว้าง 3 วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบชานป้อม มีประตูช่องกุฎข้างซ้ายป้อมประตู 1 ข้างขวาป้อมประตู 1 ประตูทั้งสองนั้นเดินออกตามชานป้อมใหญ่ได้รอบป้อม มีปืนแซกตามช่อง 8 กระบอก ชั้นล่างปืนใหญ่รางเกวียนบันจุทุกช่อง 16 กระบอก ป้อมใหญ่นี้มีชื่อ ป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำตะลาดบางกระจะ"[2] ป้อมเพชรมีรูปร่างเหมือนหัวสำเภา คนแต่ก่อนเรียกย่านหัวสาระภา บริเวณนี้ยังเป็นย่านการค้าของชาวจีนตั้งแต่ป้อมเพชร มีตลาดใหญ่ (ย่านในไก่) ต่อเนื่องตลาดน้อย จนถึงวัดสุวรรณดาราราม (วัดทอง) ยังเป็นที่ตั้งหลักแหล่งเดิมของรัชกาลที่ 1 มีบรรพชนชื่อทอง[3]

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ป้อมเพชรยังคงเป็นด่านปราการสำคัญของเมือง พอถึงสมัยรัชกาลที่ 1 สร้างราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้รื้อป้อม กำแพง นำอิฐเหล่านั้นมาสร้างเมืองใหม่ แต่ยังคงเหลือป้อมเพชรไว้ เพราะป้อมเพชรสร้างด้วยศิลาแลง จึงรื้อถอนลำบาก พระยาโบราณราชธานินทร์อธิบายไว้ว่า "จึงยังคงเหลืออยู่แต่ป้อมเพชร์กับป้อมประตูข้าวเปลือกข้างวัดท่าทราย แลเศษกำแพงที่หน้าวัดญาณเสนแห่งหนึ่ง เศษกำแพงมีประตูช่องกุฏิ์ที่ข้างวัดจีนตรงวัดพนัญเชิงข้ามแห่งหนึ่งเท่านั้น ตามสันเชิงเทินรากกำแพงที่รื้ออิฐไปราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำก็ถือเอาเป็นที่หลังบ้านของตนทั่วกัน"[4]

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล ณ ป้อมเพชร์ ให้แก่ พระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ) ขณะประทับแรมที่อ่างศิลา พ.ศ. 2456 ด้วยบรรพบุรุษของพระสมุทบุรานุรักษ์ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณป้อมเพชร[5]

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้