พระอภิเนาว์นิเวศน์
พระอภิเนาว์นิเวศน์ เป็นพระราชมณเฑียร (เรือนหลวง) ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงเลือกบริเวณที่เรียกว่า "สวนขวา" เป็นที่จัดสร้างพระราชมนเทียรขึ้นใหม่ สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตก ทั้งนี้เพื่อจะใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมื่อและเป็นที่แสดงเครื่องบรรณาการที่ประเทศแถบยุโรปส่งมาถวาย และเป็นพระเกียรติยศของพระองค์อีกประการหนึ่ง
พระอภิเนาว์นิเวศน์ | |
---|---|
หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | ถูกรื้อถอน |
ประเภท | หมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศสยาม |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2397 |
รื้อถอน | สมัยรัชกาลที่ 5 |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชมนเทียรแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากใช้เป็นที่ประทับ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของพระองค์ ประกอบด้วย พระที่นั่ง 8 องค์ และหอ 3 หอ รวมทั้งหมด 11 หลัง แต่การตั้งนามพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ นั้น ได้รวมเอานามพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทและพระที่นั่งไชยชุมพลเข้ามาเป็นหมู่พระที่นั่งเดียวกันด้วย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ประทับ ณ หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ประกอบกับพระราชมนเทียรแห่งนี้สร้างด้วยเครื่องไม้ประกอบอิฐ ปูนเป็นหลัก เมื่อเวลาผ่านไปจึงผุกร่อนจนต้องรื้อลงเกือบทั้งหมดและปรับพื้นที่เป็นสวนดังเช่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นามของพระที่นั่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์บางองค์ก็นำไปใช้เป็นนามพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ ในภายหลัง เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม ภายในพระราชวังดุสิต พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น
ประวัติ
แก้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช่วงเวลาที่มีการติดต่อทั้งในด้านการค้าขาย และการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกมากขึ้น จึงมีการทูลเกล้าฯ สิ่งของจากชาติตะวันตกที่ไม่เคยมีภายในประเทศมาก่อน โดยการที่จะนำสิ่งของเหล่านั้นไปประดับไว้ที่พระที่นั่งที่มีสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ก็อาจจะขัดกับสถานที่ ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างพระราชมณเฑียรแห่งใหม่ขึ้น โดยสร้างในสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง พร้อมทั้งเก็บรักษาสิ่งของที่ได้รับการทูลเกล้าฯ จากชาวตะวันตกด้วย นอกจากนี้ ยังเพื่อเป็นพระเกียรติยศของพระองค์ ดังเช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระที่นั่งมหิศรปราสาท พุทธมนเทียร และโรงช้างเผือกทั้ง 4 เป็นพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
โดยสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างพระราชมนเทียรแห่งใหม่นี้ทรงเลือกบริเวณ “สวนขวา” ที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเดิมเป็นราชอุทยานสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จประพาส โดยพระองค์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกนั้น พระองค์ทรงกั้นพื้นที่ไว้เป็นวัดในวัง ขนานนามว่า “พระพุทธนิเวศน์” และส่วนที่เหลือโปรดให้สร้างพระราชมนเทียรขึ้น พระราชทานนามว่า “พระอภิเนาว์นิเวศน์”
พระอภิเนาว์นิเวศน์ เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2397 พระองค์โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กอง ต่อมา เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติถึงแก่พิราลัย จึงโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองแทน นอกจากนี้ ยังมีพระยาเพชรพิไชยและพระยาสามภพพ่ายเป็นนายงาน กรมขุนราชสีหวิกรมเป็นนายช่าง สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2402[2]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอภิเนาว์นิเวศน์ชำรุดทรุดโทรมมากยากที่จะซ่อมแซมได้ จึงจำเป็นต้องรื้อหมู่พระที่นั่งลงทั้งหมด และไม่ได้มีการสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นอีก เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกนามพระที่นั่งบางองค์ภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์มาตั้งเป็นนามพระที่นั่งภายในพระราชวังดุสิตด้วย[3]
สถาปัตยกรรม
แก้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะใช้พระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นสถานที่รับแขกบ้านแขกเมือง รวมทั้งจัดแสดงเครื่องบรรณาการที่ประเทศแถบยุโรปส่งมาถวาย ดังนั้น พระองค์จึงทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเป็นหลัก และมีการตกแต่งบางส่วนด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยและแบบจีน อย่างไรก็ตาม พระอภิเนาว์นิเวศน์นั้น ได้ถูกรื้อลงไปตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น สถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์นั้นจึงอาศัยภาพถ่ายเพื่ออธิบายรูปแบบสถาปัตยกรรมเท่านั้น
สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปนั้น คือ รูปทรงของอาคารต่าง ๆ หลังคาจะแบนและล้อมด้วยลูกกรงประดับด้วยโคมไฟที่หัวเสาระเบียงโดยรอบ นอกจากนี้ หลังคายังเป็นแบบหน้าอุด กล่าวคือ ไม่มีการยื่นชายคาออกมาบังแดดบังฝนให้กับพระบัญชร (หน้าต่าง) ในตอนล่าง[4] ส่วนสถาปัตยกรรมแบบจีนนั้นสามารถพบได้บริเวณหลังคา ซึ่งจะใช้กระเบื้องจีนและใช้วิธีการปั้นปูนเป็นทางยาวเชื่อมกันระหว่างแผ่นกระเบื้องและยกสันหลังคาให้สูง พร้อมทั้งเขียนลายคล้ายลายจีนด้วย และสถาปัตยกรรมแบบไทยนั้นพบได้บริเวณซุ้มพระทวาร (ประตู) และพระบัญชร (หน้าต่าง) ของพระที่นั่งอนันตสมาคม[5]
นายเอ.บี.กริสโวลด์ ได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์ว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักก่อสร้างที่สำคัญ พระองค์โปรดดัดแปลงสถาปัตยกรรมแบบยุโรปให้เข้ากับความต้องการของชาวไทย ที่โปรดมาก คือ อาคารปูนปั้นชั้นเดียวที่เย็นสบาย มีหลังคาเป็นริ้วและมีแนวสันอยู่ด้านหน้า อาคารแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมแบบกรีกรุ่นหลังในแคว้นคาโรไลนาตอนใต้ (South Carolina) และแคว้นหลุยเซียนา (Louisiana) ในสหรัฐอเมริกา แต่มีรูปร่างเรียบ ๆ กว่า สถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตกแต่งด้วยลวดลายเครื่องประดับแบบจีนอย่างงดงาม ลวดลายแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในรัชกาลก่อน การผสมกันเช่นนี้ได้สัดส่วนและสวยงาม ไม่สู้แปลกประหลาดเหมือนดังที่อาจคาดคิด ทั้งนั้นเพราะส่วนผสมก็เป็นเช่นเดียวกับชิปเป็นเดล (Chippendale) คือ เครื่องเรือนของประเทศอังกฤษในพุทธศตวรรษที่ 23 แสดงการผสมของศิลปะหลายแบบนั่นเอง"[6]
หมู่พระที่นั่งและหอในพระอภิเนาว์นิเวศน์
แก้พระอภิเนาว์นิเวศน์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ประกอบด้วย พระที่นั่ง 8 องค์ และหอ 3 หอ รวมทั้งหมด 11 หลัง แต่การตั้งนามพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ นั้น ได้รวมเอานามพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทและพระที่นั่งไชยชุมพลเข้ามาเป็นหมู่พระที่นั่งเดียวกันด้วย นอกจากนี้ นามของหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์นั้นยังได้ตั้งให้สอดคล้องกัน ดังนี้ ไชยชุมพล ภูวดลทัศไนย สุทไธสวรรย์ฯ อนันตสมาคม บรมพิมาน นงคราญสโมสร จันทรทิพโยภาส ภานุมาศจำรูญ มูลมนเทียร เสถียรธรรมปริตร ราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ โภชนลีลาศ และ ประพาสพิพิธภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดของพระที่นั่งและหอแต่ละแห่ง มีดังนี้
พระที่นั่งไชยชุมพล
แก้พระที่นั่งไชยชุมพล เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นบนกำแพงพระราชวัง ตรงกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝั่งถนนสนามไชย เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว หันไปทางถนนกัลยาณไมตรีอันเป็นทางตรงไปสู่เสาชิงช้า เพื่อใช้เป็นที่ประทับในการทอดพระเนตรกระบวนแห่พระยาชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย และเพื่อทอดพระเนตรตรวจตราการฝึกทหารด้วย[7] ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์นั้น พระองค์ได้นำเอานามของพระที่นั่งแห่งนี้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิเนาว์นิเวศน์ด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งไชยชุมพลเคยใช้เป็นที่สังเวยพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งองค์นี้ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน[8]
พระที่นั่งภูวดลทัศไนย
แก้พระที่นั่งภูวดลทัศไนย ตั้งอยู่หน้าในสวนหน้าพระพุทธนิเวศน์ เป็นพระที่นั่งมีความสูง 5 ชั้น โดยด้านบนสุดมีนาฬิกาติดอยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกเวลามาตรฐาน ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 306, พ.ศ. 2411 ว่า
"...จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว..."
โดยพระองค์ทรงกำหนดเส้นแวง 100 องศา 29 ลิปดา 50 พิลิปดา ตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย พร้อมทั้ง จัดให้มีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ พระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[9]
หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างก่อนหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (บิกเบน) ที่อังกฤษถึง 2 ปี[ต้องการอ้างอิง] และเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ทวิภพ[ต้องการอ้างอิง]
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
แก้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นพลับพลาโถง หลังคาไม่มียอด เป็นเครื่องไม้ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธีสระสนานใหญ่ หรือ การสวนสนามจตุรงคเสนา ซึ่งเป็นริ้วขบวน ประกอบด้วย พลเดินเท้า กระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนรถ เดินขบวนผ่านหน้าที่ประทับ ในการรับประพรมน้ำมนต์เพื่อชัยมงคล นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสถานที่ทอดพระเนตรการฝึกช้างด้วย[10] โดยมีการสันนิษฐานว่าคงสร้างตามแบบอย่างของพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ที่สร้างขึ้นบนกำแพงภายในพระราชวังหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา[11]
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ แล้วสร้างขึ้นใหม่โดยการก่ออิฐ พร้อมทั้งมีการยกยอดปราสาทขึ้น และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" ซึ่งการเปลี่ยนนามพระที่นั่งในครั้งนี้มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" ภายในพระราชวังบวรสถานมงคลใหม่เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" เพื่อให้ชื่อพระที่นั่งแตกต่างออกไป[12] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี[13]
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะซ่อมแซม[14] และพระราชทานนามพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งสุทไธสวรรย์" พร้อมทั้งทรงนำนามพระที่นั่งองค์นี้เข้าเป็นหนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระที่นั่งองค์นี้ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
พระที่นั่งอนันตสมาคม (เดิม)
แก้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น โดยมีมุข 3 มุข ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มุขกลางยาว 3 ห้อง ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จว่าราชการ และประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ มุขเหนือและมุขใต้เป็นโถงห้องเดียว ใช้เป็นที่เฝ้าของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ
พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้ใช้เป็นสถานที่ในการออกรับคณะทูตที่เดินทางมาทำหนังสือเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งถ้ารับแบบเต็มยศจะเรียกว่า "ออกใหญ่" แต่ถ้ารับแบบครึ่งยศจะเรียกว่า "ออกกลาง" ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ต้นรัชกาล
นอกจากนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตนั้น พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่รอเฝ้าฟังพระอาการประชวรของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และยังเป็นสถานที่ที่ใช้ประชุมหารือกันในการถวายสิริราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ และแต่งตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกด้วย
ต่อมา ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในสภาพชำรุดผุพังเป็นอันมาก ไม่เหมาะสมกับการใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีเพราะเกรงว่าจะพังลงมา และการบูรณะซ่อมแซมนั้นก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น จึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ลง แต่พระองค์ก็โปรดให้นำนามพระที่นั่งองค์นี้ไปเป็นนามพระที่นั่งที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณพระราชวังดุสิต นั่นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในปัจจุบัน [15]
พระที่นั่งบรมพิมาน
แก้พระที่นั่งบรมพิมาน เป็นพระที่นั่งสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระที่นั่งนงคราญสโมสร เป็นพระที่นั่งที่มีความสูงมากกว่าพระที่นั่งอื่น ๆ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยชั้นล่างเป็นส่วนที่ยกพื้น หรือที่เรียกว่า ใต้ถุนชั้นที่ 2 นั้นเป็นส่วนท้องพระโรงซึ่งใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นการส่วนพระองค์ส่วนชั้นที่ 3 เป็นพระวิมานที่บรรทมภายใต้พระมหาเศวตฉัตรซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามที่พระองค์มีพระราชดำริไว้ ตราบจนหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้าง "พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ" ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคตเสียก่อน จึงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงครองสิริราชสมบัติแล้วได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ" เป็น พระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อเชิดชูพระเกียรติคุณพระบรมอัยกาธิราช [16]
พระที่นั่งนงคราญสโมสร
แก้พระที่นั่งนงคราญสโมสร เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น อยู่ถัดจากพระที่นั่งบรมพิมาน โดยใช้เป็นท้องพระโรงฝ่ายใน และเป็นที่เสวย ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้เรียกได้ว่าเป็นที่ส่วนพระองค์โดยเฉพาะ มักใช้ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็เริ่มต้นที่พระที่นั่งองค์นี้ อย่างไรก็ตาม พระที่นั่งองค์นี้ก็ได้ถูกรื้อลงในภายหลัง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างท้องพระโรงขึ้นในบริเวณสวนสุนันทา เมื่อปี พ.ศ. 2467 ซึ่งใช้เป็นท้องพระโรงส่วนกลาง พระราชทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งนงคราญสโมสร" ดังนั้น นามพระที่นั่งนงคราญสโมสรจึงมาปรากฏ ณ สวนสุนันทา[17] โดยพระที่นั่งองค์นี้ใช้สำหรับพระราชวงศ์พระองค์ใดก็ตาม จะทรงใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลหรือจัดงานรื่นเริง ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของกรมการปกครอง[18][19]
พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส
แก้พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส เป็นพระที่นั่งมีความสูง 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นส่วนยกพื้นเช่นเดียวกันกับพระที่นั่งบรมพิมาน หลังคาแบน มีทางขึ้นไปยังหอพระบรมอัฐิ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงได้รับลมประจำในฤดูร้อน เดิมใช้เป็นที่ประทับของพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่อมาพระองค์ได้ย้ายประทับที่ "พระตำหนักหอ" พระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้น โดยใช้นามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส ซึ่งเป็นนามพระที่นั่งเดิมที่อยู่ฝ่ายใน แต่เนื่องจากพระที่นั่งองค์ใหม่นี้สร้างในที่ตั้งเดิมของพระที่นั่งราชฤดี ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งจันทรทิพโยภาสเป็น พระที่นั่งราชฤดี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักแบบไทยภายในพระราชวังพญาไท พระราชทานว่า พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส เพื่อให้ตรงกับนามพระที่นั่งองค์เดิมที่เคยตั้งอยู่ฝ่ายใน[20]
พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ
แก้พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น มีลักษณะเด่นเช่นเดียวกับพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส คือ มีหลังคาที่แบน และมีทางขึ้นไปยังหอพระเจ้า ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทรงบูชา และชั้นบนเป็นพระวิมานที่บรรทม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งจะได้รับลมประจำในปลายฤดูฝนและต้นฤดูหนาว โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ ต่อมา พระที่นั่งองค์นี้ก็ได้ถูกรื้อลง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ได้นำชื่อ "พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ" มาตั้งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์นี้ ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่เป็น พระที่นั่งบรมพิมาน ดังเช่นปัจจุบัน[16]
พระที่นั่งมูลมนเทียร
แก้พระที่นั่งมูลมนเทียร เป็นพระตำหนักเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เคยประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์โปรดให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้มาสร้างขึ้นใหม่ภายในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยเปลี่ยนจากตำหนักไม้มาเป็นพระที่นั่งตึก มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยสองหลังแฝดก่ออิฐฉาบปูน ทาสีขาว[21] ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญกับพระพุทธนิเวศน์
เมื่อ พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระที่นั่ง แล้วนำมาปลูกไว้ที่วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี สำหรับใช้เป็นสถานที่เรียนและนับเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นห้องสมุดประชาชนของวัดเขมาภิรตาราม[22]
หอเสถียรธรรมปริตร
แก้หอเสถียรธรรมปริตร ตั้งอยู่ริมกำแพงพระอภิเนาว์นิเวศน์ ณ มุมตะวันออกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นตามธรรมเนียมในการสร้างพระราชมนเทียร เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์รามัญทำพิธีสวดพุทธมนต์พระปริตรคาถา เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับถวายสรงและประพรมโดยรอบพระราชมนเทียร
หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์
แก้หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ ตั้งอยู่ต่อจากหอเสถียรธรรมปริตรทางด้านตะวันตก สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอเก็บเครื่องพิชัยสงคราม
หอโภชนลีลาศ
แก้หอโภชนลีลาศ ตั้งอยู่บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงพระราชทาน โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับแนวคิดมาจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ที่มีสถานที่จัดเลี้ยงต้อนรับแขกเมืองเช่นกัน
พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์
แก้พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคม ใกล้ ๆ กับหอโภชนลีลาศ โดยมีสวนคั่นระหว่างกลาง เป็นพระที่นั่งสำหรับเก็บเครื่องราชบรรณาการจากประเทศต่าง ๆ ที่นำมาทูลเกล้าฯ ถวายและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้เมื่อครั้งผนวชโดยถือเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ หรือ “รอยัล มิวเซียม” (Royal Museum) มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม[23][24] และอาจจะถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศ[25] ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในสภาพชำรุดมาก จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อลง และได้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นในตำแหน่งเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2421 พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท"[26]
อ้างอิง
แก้- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 96
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 95
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ กระแสพระบรมราชโองการ ซึ่งบรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์พระที่นั่งอนันตสมาคม, เล่ม ๒๕, ตอน ๓๕, ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑, หน้า ๙๓๔
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 112
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 113
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 111
- ↑ พระบรมมหาราชวัง ตอน พระที่นั่งไชยชุมพล จาก สนุกดอตคอม
- ↑ "หอมรดกไทย : พระบรมมหาราชวัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21.
- ↑ "Bangkok mean time เวลามาตรฐานชาติแรกของโลก ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-07-11. สืบค้นเมื่อ 2005-07-11.
- ↑ สิ่งที่สำคัญในพระบรมมหาราชวังมีอะไรบ้าง เก็บถาวร 2008-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 2
- ↑ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ จาก เว็บไซต์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ↑ สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย วัด วัง ถนน, หน้า 367-8
- ↑ "พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-11. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงวัง ให้เรียกนามพระนั่ง ซึ่งจะสร้างขึ้นใหม่ที่วังสวนดุสิตว่าพระที่นั่งอนันตสมาคม, เล่ม ๒๔, ตอน ๔๙, วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐, หน้า ๑๓๒๑
- ↑ 16.0 16.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เปลี่ยนพระนามพระที่นั่ง (พระที่นั่งภาณุมาทจำรูญ เป็น พระที่นั่งบรมพิมาน), เล่ม ๔๑, ตอน ๐ก, วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗, หน้า ๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามพระที่นั่ง, เล่ม ๔๑, ตอน ๐ง, ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗, หน้า ๓๒๒๑
- ↑ "สถานที่ท่องเที่ยว : พระที่นั่งนงคราญ วังสวนสุนันทา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-15. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21.
- ↑ วังสวนสุนันทา
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ นามพระที่นั่ง (เปลี่ยนพระนามพระที่นั่งราชฤดี เป็น ศาลาสำราญมุขมาตยา พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ เป็นศาลาวรสภาภิรมย์ และพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส เป็น พระที่นั่งราชฤดี), เล่ม ๔๐, ตอน ๐ก, ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖, หน้า ๔
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย วัด วัง ถนน หน้า 276
- ↑ ประวัติโรงเรียนกลาโหมอุทิศ เก็บถาวร 2008-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์โรงเรียนกลาโหมอุทิศ
- ↑ วันนี้ในอดีต : 19 กันยายน[ลิงก์เสีย] จาก เว็บไซต์ นิตยสาร สารคดี
- ↑ ปถพีรดี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (๑)[ลิงก์เสีย], สกุลไทย, ฉบับที่ 2527, ปีที่ 49, ประจำวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2546
- ↑ ปถพีรดี, พิพิธภัณฑ์ไทย เก็บถาวร 2008-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2476, ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 2 เมษายน 2545
- ↑ พระที่นั่งบริเวณสวนศิวาลัย เก็บถาวร 2008-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์หอมรดกไทย
หนังสือ
แก้- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549 ISBN 974-323-641-4
- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525