พรรคไทยรักษาชาติ
พรรคไทยรักษาชาติ (อังกฤษ: Thai Save the Nation Party,ชื่อย่อ: ทษช. ชื่อย่อภาษาอังกฤษ:TSN) เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยขณะนั้นเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กชื่อ พรรครัฐไทย
พรรคไทยรักษาชาติ | |
---|---|
หัวหน้า | ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช |
รองหัวหน้า | ฤภพ ชินวัตร สุณีย์ เหลืองวิจิตร นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล พฤฒิชัย วิริยะโรจน์ |
เลขาธิการ | มิตติ ติยะไพรัช |
รองเลขาธิการ | ต้น ณ ระนอง วิม รุ่งวัฒนจินดา คณาพจน์ โจมฤทธิ์ |
เหรัญญิก | วรรษมล เพ็งดิษฐ์ |
นายทะเบียนสมาชิก | ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ |
โฆษก | พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ |
รองโฆษก | ขัตติยา สวัสดิผล |
ประธานยุทธศาสตร์ | จาตุรนต์ ฉายแสง |
กรรมการบริหาร | จุลพงษ์ โนนศรีชัย |
คำขวัญ | โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน คิดใหม่ ทำใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง |
ก่อตั้ง | พรรครัฐไทย 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พรรคไทยรวมพลัง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 พรรคไทยรักษาชาติ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561 |
ถูกยุบ | 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 (9 ปี 233 วัน) |
แยกจาก | พรรคเพื่อไทย |
ที่ทำการ | 99/385 ถนน แจ้งวัฒนะ, แขวง ทุ่งสองห้อง เขต หลักสี่, กรุงเทพมหานคร |
สี | น้ำเงิน |
เว็บไซต์ | |
https://www.tsn.or.th | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
บทบาททางการเมือง
แก้พรรคไทยรวมพลัง
แก้ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรครัฐไทยครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจาก พรรครัฐไทย เป็น พรรคไทยรวมพลัง พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และภาพเครื่องหมายพรรค[1] โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคไทยรวมพลังได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแต่ไม่ได้ที่นั่งในสภาแม้แต่ที่นั่งเดียว
ใน พ.ศ. 2557 นาย เอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ หัวหน้าพรรคคนแรกได้ลาออกจากตำแหน่งทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ[2] โดยนาย กมล จิรโสภาพันธ์ ในฐานะนายทะเบียนสมาชิกพรรคจึงรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค
พรรคไทยรักษาชาติ
แก้จากนั้นในการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรวมพลังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคอุดมการณ์ของพรรค และนโยบายของพรรค[3] รวมถึงนายกมลได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค[4] โดยมีกระแสข่าวว่าพรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยเพราะมีอดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีของ พรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งได้เตรียมย้ายมาสังกัดและเข้ามาบริหารพรรคไทยรักษาชาติ[5] นอกจากนี้ยังมีการตีความชื่อย่อของทางพรรคในช่วงแรกๆ ว่ามีนัยหมายถึงดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
กระทั่งการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรักษาชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ โรงแรมรามาการ์เดนส์ มีวาระสำคัญในการเลือก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรค และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และนาย มิตติ ติยะไพรัช เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่[6]
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว ด้านหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติให้สัมภาษณ์ว่า "พระองค์ท่านเองทรงมีพระเมตตาตอบรับและให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามในบัญชีนายกฯ ของพรรค"[7]
ต่อมาในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นายรุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรคได้เดินทางมายังสำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งอยากให้เวลากับครอบครัว ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเหลือทั้งสิ้น 13 คน[8]
กรรมการบริหารพรรค
แก้อันดับ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช | หัวหน้าพรรค |
2 | มิตติ ติยะไพรัช | เลขาธิการพรรค |
3 | สุณีย์ เหลืองวิจิตร | รองหัวหน้าพรรค |
4 | นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล | |
5 | พฤฒิชัย วิริยะโรจน์ | |
6 | ฤภพ ชินวัตร | |
7 | คณาพจน์ โจมฤทธิ์ | รองเลขาธิการพรรค |
8 | ต้น ณ ระนอง | |
9 | วิม รุ่งวัฒนจินดา | |
10 | วรรษมล เพ็งดิษฐ์ | เหรัญญิกพรรค |
11 | ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ | นายทะเบียนพรรค |
12 | พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ | โฆษกพรรค |
13 | จุลพงษ์ โนนศรีชัย | กรรมการบริหารพรรค |
14 | รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ ลาออก |
ยุบพรรค
แก้ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 12.30 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. นำโดยพันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในขณะนั้นได้ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 (2) แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามมติในที่ประชุม กกต. เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นทางพรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นเอกสารคำร้องคัดค้านการยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติพร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี[9]
ภายหลังจากการยุบพรรค สมาชิกพรรคกลุ่มหนึ่งย้ายกลับไปยัง พรรคเพื่อไทย อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง, นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ขัตติยา สวัสดิผล เป็นต้น
ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย
แก้หลังการยุบพรรค พรรคไทยรักษาชาติได้แปรสภาพไปเป็นองค์กรการเมืองภาคประชาชนภายใต้ชื่อ "ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย" เพื่อรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่เหลือในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองร่วมดำเนินการ โดยจัดเวทีปราศรัยและสื่อสังคมออนไลน์ในการรณรงค์[10]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค และข้อบังคับพรรครัฐไทย ในรายการชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมาย และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรครัฐไทย
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรวมพลัง
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคไทยรักษาชาติและกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ
- ↑ ""ไทยรักษาชาติ"เป็นพรรคสมบูรณ์แล้ว". คมชัดลึกออนไลน์. 2018-11-05.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ
- ↑ "ครั้งประวัติศาสตร์! ทูลกระหม่อมฯ ตอบรับ ไทยรักษาชาติ ลงชิงนายกฯ". ข่าวสด. 8 Feb 2019. สืบค้นเมื่อ 8 Feb 2019.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ
- ↑ "ยุบ'ไทยรักษาชาติ'! ฐานทำ'สถาบัน'เสื่อม". เดลินิวส์. 7 Mar 2019. สืบค้นเมื่อ 7 Mar 2019.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ แกนนำ ทษช.หันเปิดเพจ'ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย'เปิดเวที 4 ภูมิภาค ขออย่าโนโหวต ให้คะแนนตกน้ำ, Ch3Thailand News.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการของพรรค เก็บถาวร 2019-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พรรคไทยรักษาชาติ ที่เฟซบุ๊ก
- Explaining a Thai Royal’s Aborted Electoral Debut by Patrick Jory