กองอาสารักษาดินแดน
กองอาสารักษาดินแดน หรือชื่อย่อ อส. (อังกฤษ: Volunteer Defense Corps; VDC) เป็นองค์การของรัฐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ เป็นองค์การกึ่งราชการ มีฐานะเทียบเท่ากองทัพต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม เป็นกองกำลังกึ่งทหาร เป็นกองกำลังประจำถิ่น มีลักษณะคล้ายกับกองกำลังป้องกันชาติ หรือ National Guard ของสหรัฐ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายหรือฝากภารกิจให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกิจการกองอาสารักษาดินแดน โดยมีสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน (สน.อส.) เป็นส่วนราชการสังกัดกรมการปกครอง ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กองทัพบก ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการฝ่ายทหาร
กองอาสารักษาดินแดน | |
---|---|
เครื่องหมายราชการกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน | |
ประเทศ | ไทย |
รูปแบบ | องค์การของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล (กองกำลังกึ่งทหาร) |
กองบัญชาการ | 1277/1 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร |
คำขวัญ | ปวงข้า อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพาราจนสิ้นใจ |
วันสถาปนา | 10 กุมภาพันธ์ (วันประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497) |
ปฏิบัติการสำคัญ | ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[1] |
ผู้บังคับบัญชา | |
ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน | นายกองใหญ่
อนุทิน ชาญวีรกูล[2] (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) |
เครื่องหมายสังกัด | |
ตราหน้าหมวก |
กองอาสารักษาดินแดนมีลักษณะโครงสร้างหน่วยงาน ลำดับการบังคับบัญชาเหมือนกับกองทัพ และมีชั้นยศเหมือนทหาร กล่าวคือ เป็นพลเรือนที่มียศเหมือนทหาร ซึ่งมีภารกิจและบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 คือ รักษาความสงบร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ และการคมนาคม และเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งไว้สำรองที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อมีการร้องขอทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม และตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 7 มาตรา 29 ได้บัญญัติไว้ว่า "เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา" จึงไม่ใช่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานเหมือนอาสาสมัครทั่วไป และไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง แต่เป็นเจ้าพนักงานองค์การของรัฐ ตามกฎหมายจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนนั่นเอง
ประวัติ
แก้ในอดีตเมื่อมีศึกสงครามเข้ามาประชิดขอบขัณฑสีมาสยามประเทศ พระมหากษัตริย์เจ้า ขุนทหาร และราษฎรผู้รักษาชาติบ้านเมือง ก็จะลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาพื้นแผ่นดินให้ลูกหลาน อย่างเช่นเหตุการณ์ของรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหตุการณ์ของเมืองถลาง คุณหญิงจันและนางมุก หรือท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร และเหตุการณ์เมืองนครราชสีมา คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารี เป็นต้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ.112 ขึ้น ทำให้สยามประเทศต้องเสียแผ่นดินฝังซ้ายแม่น้ำโขง หรือประเทศลาวแก่ฝรั่งเศส เนื่องจากสยามมีกำลังทหารและอาวุธไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ เพราะได้มีการเลิกทาสไปแล้ว จึงไม่สามารถเกณฑ์กำลังไพร่พลได้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดาทรงเสียพระทัยมาก และทรงมองเห็นว่า สยามเราไม่มีกำลังพลเพียงพอ และไม่มีกำลังสำรองไว้เพื่อป้องกันประเทศ จากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และเสด็จกลับประเทศ จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อจะใช้ป้องกันประเทศในยามบ้านเมืองมีศึกสงคราม โดยมีแนวคิดมาจากกองทหารอาสาของอังกฤษ แต่ในขณะนั้นอาจจะยังไม่เหมาะแก่การตั้งกองกำลัง จึงทรงให้แปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น เพื่อมิให้ผู้ใดได้เข้าใจความหมาย และในเวลาต่อมาพระองค์ได้เสด็จเสวยราชย์สมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ขึ้น และมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษเสือป่า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศ นายกองใหญ่ และทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกหมายเลข 1 และมีการพระราชทานธงชัยประจำกองเสือป่า คือ ธงศารทูลธวัช ซึ่งการจัดตั้งกองเสือป่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อมีพระราชอำนาจสมบูรณ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงริเริ่มการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นทันที โดยปรากฏหลักฐานในกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ความว่า
การตั้งกองเสือป่าขึ้นด้วยความมุ่งหมายจะให้คนไทยทั่วกันรู้สึกว่าความจงรักภักดีต่อผู้ดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามมติธรรมประเพณีประการ 1 ความรักชาติบ้านเมืองและนับถือศาสนาประการ 1 ความสามัคคีในคณะและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน
โดยก่อนที่จะทรงจัดตั้งกองเสือป่าอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทดลองฝึกหัดทหารมหาดเล็กจำนวนหนึ่งที่วังสราญรมย์ตามแบบอย่างที่มีพระราชประสงค์ ซึ่งการฝึกลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลจากลูกเสือ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยการรบแบบที่พระองค์สนพระทัยอย่างยิ่ง คือ สงครามกองโจรและการซ้อมรบในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นการรบแบบใหม่ในสมัยนั้น นอกจากชื่อกองเสือป่าแล้ว ยังมีการตั้งชื่ออื่นๆ ตามกิจกรรมและความเหมาะสมขึ้น เช่น "กองเสือป่ารักษาพระองค์" หรือ "กองเสือป่าหลวง", "กองเสือป่ารักษาแผ่นดิน" หรือ "กองเสือป่ารักษาดินแดน" ซึ่งอย่างหลังเป็นเสือป่าสำหรับข้าราชการ สามัญชน และพลเรือนทั่วพระนครและตามมณฑล โดยแบ่งเป็น 4 ภาคดูแลตามกลุ่มจังหวัด ถือเป็นต้นแบบของตำรวจตระเวนชายแดนในเวลาต่อมา หลังจากทรงจัดตั้งกองเสือป่าแล้ว ยังมีพระราชดำริว่า ควรมีสถานที่ใช้รวมตัวเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีสโมสรเสือป่าในแต่ละกองสำหรับเป็นที่ชุมนุม ประชุม สังสรรค์ เป็นที่เล่นกีฬาหลากหลายชนิด อีกทั้งเป็นที่อบรมสั่งสอนและปรึกษากิจการเสือป่าด้วย สโมสรเสือป่าจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 บริเวณสนามเสือป่า ปัจจุบันคือ สำนักพระราชวังสนามเสือป่า ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2468 กิจการเสือป่าได้ซบเซาและยุติลงอย่างเงียบๆ โดยไม่เคยมีการประกาศยุบเลิกหน่วยงานอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏหลักฐานการสิ้นสภาพอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482 เพื่อโอนทรัพย์สินของกองเสือป่าไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด คงเหลือแต่เพียงกิจการลูกเสือเท่านั้นที่ดำเนินการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้กิจการเสือป่าได้ล้มเลิกไปแล้วก็ตาม แต่แนวคิดการฝึกราษฏรให้เป็นกำลังสำรองเพื่อช่วยทหารป้องกันประเทศ จึงถือว่า กองเสือป่านั้น เป็นรากเหง้าหรือพื้นฐานของกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน
- ระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2497–ปัจจุบัน
ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ซึ่งกองอาสารักษาดินแดนนั้น สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการจัดโครงสร้าง การบังคับบัญชาเหมือนกองทัพ และชั้นยศเหมือนทหาร โดยมีต้นแบบมาจากกองเสือป่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างธงชัยประจำหน่วย เพื่อเป็นที่หมาย เป็นมิ่งขวัญ และเป็นที่เคารพขึ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีตรึงหมุด ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีพระราชทานธงชัยประจำหน่วย หรือที่เรียกว่า ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2497 จำนวน 1 ธง และในปี 2498 ได้มีการพระราชทานธงประจำกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนครั้งแรก ดังนั้น กองอาสารักษาดินแดนจึงได้ถือเอาวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน คือ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยงาน
ธงชัยประจำกอง
แก้ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน เป็นธงที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด และเป็นเกียรติยศของกองอาสารักษาดินแดน เป็นมิ่งขวัญประจำหน่วยกำลังของหน่วยต่างๆ โดยมีลักษณะ การได้มา และมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยทหาร หรือตำรวจ โดยกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ธงนั้นถือเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อให้กำลังพลทั้งหลาย ได้ยึดเหนี่ยวเคารพเป็นมิ่งขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ รวมถึงเพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือสิ่งแทนพระองค์ในองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม กำลังพลทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยประจำของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยประจำหน่วยจึงเป็นเครื่องหมายนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งกำลังพลทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา และด้วยความที่เป็นธงที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด จำต้องมีระเบียบปฏิบัติโดยเฉพาะ ทั้งการเก็บรักษา การเชิญธงในวาระต่างๆ ดังนั้น โอกาสในการเชิญธงชัยประจำกองนั้น จะต้องเป็นพิธีการสำคัญ เป็นเกียรติยศ เช่น เชิญเข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนาม ในการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย เนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 เชิญเข้าในพิธีชุมชุมกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เป็นต้น
ธงไชย หรือธงประจำกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 72 เซนติเมตร ด้านหน้าของผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อเป็นสีทองขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีทอง ยอดธงเป็นรูปพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีเงินและด้ามพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีทอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำพิธีพุทธาภิเษกแล้ว เรียกว่า "พระยอดธง" และบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และที่ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 34 เซนติเมตร ขอบรอบวงกลมเป็นสีเหลือง มีรูปพระนเรศวรทรงช้างอยู่ภายในดวงกลมและมีความว่า “กองอาสารักษาดินแดน” หรือ "กองอาสารักษาดินแดนจังหวัด" ปักด้วยดิ้นทองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมนั้น ด้านหลังที่ตรงกลางของผืนธงมีรูปช่อชัยพฤกษ์และอุณาโลมอยู่ตรงกลางภายใต้พระมหามงกุฎ ปักด้วยดิ้นทอง มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองข้าง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ด้านอื่นเป็นกรุยสีเหลือง มีสักหลาดสีแดงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง 33 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดที่ 5 เป็นต้นไปเป็นรูปเครื่องหมายตราพระราชสีห์ 29 หมุด โดยหมุดที่ 1 จะอยู่บนสุด และหมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ
โดยความสำคัญของธงประจำกองอาสารักษาดินแดนนี้ ปรากฏในพระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงประจำกองอาสารักษาดินแดน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ความตอนหนึ่งที่ว่า
เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน ทั้งหลาย
ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาร่วมในการสวนสนาม และทำพิธีมอบธงชัยประจำกอง ให้แก่กองอาสารักษาดินแดนในวันนี้ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ดำริจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดนขึ้น ด้วยความมุ่งหมายที่จะอบรมประชาชนพลเมืองให้มีความรู้ในการทำหน้าที่ เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาภัย อันเนื่องจากสงครามและจากภัยธรรมชาติ ช่วยกันรักษาความสงบสุขและความปลอดภัยของประเทศชาติ แบ่งเบาภาระของทหารและตำรวจซึ่งต้องทำหน้าที่อยู่โดยตรงแล้ว ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงมานั้น เป็นความดำริที่ชอบแล้ว ยิ่งเมื่อสถานการณ์ของโลกรอบ ๆ ประเทศ อยู่ในลักษณะดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่มิได้นิ่งนอนใจ รีบดำเนินการในเรื่องนี้ก็เป็นการสมควรยิ่งขึ้น จัดได้ว่าไม่อยู่ในความประมาท ชอบด้วยพุทธวะจะนะแล้ว ข้าพเจ้าขอให้เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ โดยพยายามฝึกสอนอบรมประชาชน ให้เข้าใจกิจการในหน้าที่ของตน ทั้งในส่วนตัวของบุคคล ของครอบครัว ของหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ตลอดจนชาติบ้านเมืองในที่สุด เพื่อได้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันที่ที่จะช่วยป้องกันภัยอันตรายและรักษาความสงบในท้องถิ่นของตน ด้วยความองอาจกล้าหาญ และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อชาติบ้านเมือง และความเป็นเอกราชของเราจะได้วัฒนาถาวร
อันธงประจำกองที่ข้าพเจ้ามอบให้นี้ ย่อมเป็นเครื่องหมายแทนบรรดาศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือ ท่านจงเทิดทูนและรักษาไว้ให้ดี อย่าให้เสียเกียรติได้ และควรพิทักษ์รักษาเกียรติยิ่งกว่าชีวิตของตน ขอธงที่ได้มอบให้นี้จงเป็นเครื่องเตือนใจ ให้กองอาสารักษาดินแดนได้ปฏิบัติหน้าที่สมตามความมุ่งหมายเป็นมิ่งขวัญอันดีของกองอาสารักษาดินแดนสืบไป
ในที่สุด ขอให้บรรดาสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ตลอดท่านที่มาร่วมชุมนุมในงานนี้ จงประสบความสุขความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดในอันจะประกอบกิจในหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ
การแบ่งส่วนงานของกองอาสารักษาดินแดน
แก้กองอาสารักษาดินแดน แบ่งการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
ส่วนกลาง
แก้ส่วนกลาง คือ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) ประกอบด้วย
- ฝ่ายอำนวยการ (ส่วนบังคับบัญชา)
- กองกำลังพล
- กองส่งกำลังบำรุง
- กองยุทธการ
- กองข่าว
- กองปฏิบัติการพิเศษ
- กองสนับสนุน
กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
แก้กองบัญชาการรักษาดินแดน มีโครงสร้าง[3] ดังนี้
- ฝ่ายอำนวยการ
- ฝ่ายอำนวยการปกครอง (ปค.)
- หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (หน.ฝอ.บก.อส.)
- รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (รอง หน.ฝอ.บก.อส.)
- ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ผช.หน.ฝอ.บก.อส.)
- ฝ่ายอำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน (สน.อส.)
- กองกำลังพล
- กองข่าว
- กองยุทธการ
- กองส่งกำลังบำรุง
- กองปฏิบัติการพิเศษ
- กองสนับสนุน
- ฝ่ายอำนวยการปกครอง (ปค.)
- ฝ่ายปฏิบัติการ
- กองร้อยบังคับการและบริการที่ 1 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย.บก.บร.1 บก.อส.) – ฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
- กองร้อยบังคับการและบริการที่ 2 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย.บก.บร.2 บก.อส.) – ตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมกองกำลังประจำถิ่นท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
- กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 1 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย ปพ.1 บก.อส.) – ตั้งอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 2 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย ปพ.2 บก.อส.) – ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 3 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย ปพ.3 บก.อส.) – ตั้งอยู่ที่ฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
- กองร้อยปฏิบัติการการฝึกที่ 1 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย ปฝ.1 บก.อส.) – ตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมกองกำลังประจำถิ่นท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
- กองร้อยปฏิบัติการการฝึกที่ 2 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ร้อย ปฝ.2 บก.อส.) – ตั้งอยู่ที่ค่ายเพชรโยธิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ที่ปรึกษา
- สำนักอำนวยการฝ่ายทหาร – เป็นนายทหารจากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กองทัพบก (ทบ.)
ส่วนภูมิภาค
แก้ส่วนภูมิภาค คือ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) ประกอบด้วย
- ฝ่ายอำนวยการ (ส่วนบังคับบัญชา)
- กองปฏิบัติการ
- กองสนับสนุน
- กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
แก้กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีโครงสร้าง[3] ดังนี้
- ฝ่ายอำนวยการ
- ฝ่ายอำนวยการ ที่ทำการปกครองจังหวัด (ทปค.จ.)
- หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (หน.ฝอ.บก.อส.จ)
- ผู้ชวยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ผช.หน.ฝอ.บก.อส.จ)
- ฝ่ายอำนวยการ กลุ่มงานคนเข้าเมือง (กง.คม.)
- กองปฏิบัติการ
- กองสนับสนุน
- ฝ่ายอำนวยการ ที่ทำการปกครองจังหวัด (ทปค.จ.)
- กองร้อยบังคับการและบริการ (ร้อย บก.บร.)
- กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ร้อย อส.จ.)
- กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (ร้อย อส.อ.)
ตำแหน่งการบังคับบัญชาในกองอาสารักษาดินแดน
แก้สายการบังคับบัญชา (ส่วนกลาง)
- ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
- รองผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
- หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
- รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
- ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
- หัวหน้ากอง และรองหัวหน้ากอง
- หัวหน้าแผนก
- ผู้บังคับกองร้อย
สายการบังคับบัญชา (ส่วนภูมิภาค)
- ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
- รองผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
- ผู้ช่วยผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
- หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
- รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
- ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
- หัวหน้ากอง และรองหัวหน้ากอง
- หัวหน้าแผนก
- ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด
กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
- ผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
- รองผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
- ผู้ช่วยผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
- จ่ากองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ
- ผู้บังคับหมวด และรองผู้บังคับหมวด
สายงานสนับสนุน (ส่วนกลาง)
- ที่ปรึกษากองอาสารักษาดินแดน
- ประจำกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน
สายงานสนับสนุน (ส่วนภูมิภาค)
- ประจำกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
กำลังพลในสังกัดกองอาสารักษาดินแดน
แก้กำลังพลในสังกัดกองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน โดยมีที่มาดังนี้
- โดยตำแหน่ง คือ ข้าราชการการเมือง (รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและรัฐมนตรีช่วย) หรือข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครองบ้างตำแหน่งที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือคำสั่งกองอาสารักษาดินแดน
- โดยแต่งตั้ง คือ ข้าราชการกรมการปกครองบ้างตำแหน่งที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือคำสั่งกองอาสารักษาดินแดน หรือบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านต่าง ๆ
- โดยสอบแข่งขันและคัดเลือก คือ บุคคลผู้มีความประสงค์ขอสมัครเข้ามาบรรจุและสั่งใช้เป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามของพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มาตรา 12 กำหนดไว้
สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
แก้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ตามของพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 1 มาตรา 12 มีประเภท คือ 3
- ประเภทสำรอง คือ สมาชิกที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด
- ประเภทประจำกอง คือ สมาชิกที่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตร และบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง
- ประเภทกองหนุน คือ สมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง
ยศกองอาสารักษาดินแดน
แก้ยศกองอาสารักษาดินแดน เป็นยศที่ต้องมีพระบรมราชโองการพระราชทานยศจากพระมหากษัตริย์ เนื่องจากกำลังพลของกองอาสารักษาดินแดนเป็นกำลังพลกึ่งทหาร ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมในการปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบวินัย จึงได้มีการกำหนดให้มีชั้นยศขึ้นตามพระราชบัญญัติยศ และเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หรือเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยทหาร หรือตำรวจ โดยแบ่งออกเป็นชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนชั้นสัญญาบัตร และชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนชั้นประทวน [4] และการแต่งตั้งผู้ใดให้ว่าที่ยศชั้นใดชั่วคราวตั้งแต่ชั้นนายหมวดตรีขึ้นไป ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจแต่งตั้งผู้นั้นให้ว่าที่ยศชั้นนั้นชั่วคราวได้ จนกว่าจะได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานยศแล้ว สำหรับผู้ที่จะได้รับยศตั้งแต่ชั้นนายหมู่ใหญ่ลงมานั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้บังคับบัญชาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายเป็นผู้แต่งตั้งได้ สำหรับชื่อชั้นยศในภาษาอังกฤษนั้น ยึดถือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเรียกชื่อยศและตำแหน่งในกองอาสารักษาดินแดนเป็นภาษาอังกฤษ พ.ศ. 2511 (ซึ่งในอดีตกำหนดไว้เพื่อพลาง) โดยจำแนกออกเป็นชั้นยศ คือ
- นายกองใหญ่ มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นดาวดอกพิกุล 5 ดาว มีพระมหามงกุฎพร้อมรัศมีและช่อชัยพฤกษ์ ประดับบนอินทรธนูทั้งสองข้าง ให้ยอดพระมหามงกุฎอยู่ทางด้านคอและให้ช่อชัยพฤกษ์โอบดาว เป็นพระยศสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และเป็นยศสำหรับผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตำแหน่ง)
- นายกอง มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นดาวดอกพิกุลจำนวนดาวตามชั้นยศ มีพระมหามงกุฎพร้อมรัศมีและช่อชัยพฤกษ์ ประดับบนอินทรธนูทั้งสองข้าง ให้ยอดพระมหามงกุฎอยู่ทางด้านคอและให้ช่อชัยพฤกษ์โอบดาว
- นายหมวด มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นขีดจำนวนตามชั้นยศ และมีดาวดอกพิกุล 1 ดาว อยู่เหนือขีด ประดับบนอินทรธนูทั้งสองข้าง
- นายหมู่ มีลักษณะเครื่องหมายยศเป็นขีดจำนวนตามชั้นยศ และมีตรากองอาสารักษาดินแดนอยู่เหนือขีด ประดับบนแขวเสื้อด้านขวา
ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่
แก้ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนชั้นสัญญาบัตร และชื่อยศภาษาอังกฤษ (เพื่อพลาง) แบ่งออกเป็น 7 ชั้นยศ ได้แก่
ชั้นยศของสมาชิก
แก้ชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนชั้นประทวน และชื่อยศภาษาอังกฤษ (เพื่อพลาง) แบ่งออกเป็น 4 ชั้นยศ ได้แก่
ชั้นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่มิได้กำหนดเป็นชั้นยศตามพระราชบัญญัติยศ และเครื่องแบบผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 แต่มีสถานะเสมือนชั้นยศตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดลำดับชั้นไว้ 4 ชั้น คือ สมาชิกเอก สมาชิกโท สมาชิกตรี มีลักษณะเครื่องหมายเป็นรูปอาร์มธงชาติไทย มีดาวดอกพิกุลสีทองจำนวนดาวตามลำดับชั้น และสำหรับชั้นสมาชิก มีลักษณะเครื่องหมายเป็นรูปอาร์มธงชาติไทยไม่มีดาว โดยใช้คำเรียกในภาษาอังกฤษ (เพื่อพลาง) ว่า Volunteer Defense Corps Member (VDC Mbr)[5]
บทบาทหน้าที่ ภารกิจ และอำนาจตามกฎหมาย
แก้กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 หมวด 2 มาตรา 16 ดังนี้
- บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และการกระทำของข้าศึก
- ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
- รักษาสถานที่สำคัญ และการคมนาคม
- ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว
- ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก
- เป็นกำลังส่วนหนึ่งไว้สำรองพร้อมที่จะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น
นอกจากนั้นแล้ว ในปัจจุบัน กองอาสารักษาดินแดน หรือ อส. ยังมีภารกิจและบทบาทหน้าที่ในด้านต่าง ๆ อีกมาก ทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกครอง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การปราบปรามการค้ามนุษย์ การป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การจัดระเบียบสังคม การรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงการควบคุมความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การพัฒนาและสร้างมวลชน การบริการประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว บรรเทาภัยด้านความมั่นคง เป็นต้น
ยุทโธปกรณ์
แก้ยานพาหนะภาคพื้นดิน
แก้รุ่น | ภาพ | ประเภท | ที่มา | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
นิสสัน นาวารา (หุ้มเกราะ) | – | รถเกราะ | ญี่ปุ่น | รถกระบะดัดแปลง |
อาวุธเล็ก
แก้ชื่อ | ภาพ | ประเภท | ลำกล้องปืน | ที่มา | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
HK-33 A2 | ปืนเล็กยาวจู่โจม | 5.56×45 มม. นาโต | เยอรมนี ไทย |
กระทรวงมหาดไทยแจกจ่ายให้กองอาสารักษาดินแดน[6] | |
M-16[7] | ปืนเล็กยาวจู่โจม | 5.56×45 มม. นาโต | สหรัฐ | ||
AK-102[8][9] | คาร์บิน | 5.56×45 มม. นาโต | รัสเซีย |
อ้างอิง
แก้- ↑ รัฐทุ่มพันล้านตั้งกรมทหารพราน ส่ง'ปืนยาว'ให้อส.หวังดับไฟใต้ - กรุงเทพธุรกิจ
- ↑ โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เป็นกรณีพิเศษแก่ “อนุทิน-เกรียง-ชาดา”
- ↑ 3.0 3.1 "กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน". www.vdch.go.th.
- ↑ พระราชบัญญัติยศ และเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. ๒๔๙๗
- ↑ "สารครบรอบ 63 ปี วันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2560 หน้า 79". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-11. สืบค้นเมื่อ 2018-10-11.
- ↑ คปต. เห็นชอบจัดหาปืนเอชเค 2,700 กระบอกแจก อส.ชายแดนใต้ - ประชาไท
- ↑ อส.แฉเอง “วงจรจำนำปืน” ท้าตรวจทุกอำเภอเจอหายอื้อ - สำนักข่าวอิศรา
- ↑ เหี้ยม! โจรใต้ดักยิงถล่มใส่ อส.นราธิวาสดับคาที่ 2 นาย ก่อนฉกปืนหนี 4 กระบอก
- ↑ คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ อส.ยะลา เสียชีวิต 2 ก่อนชิงปืนหนี - Workpoint[ลิงก์เสีย]