ชูชัย พระขรรค์ชัย

ชูชัย พระขรรค์ชัย อดีตนักมวยไทยชื่อดังและอดีตนักแสดงชาวไทยที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 เจ้าของฉายา เทพบุตรสังเวียน จากการที่เป็นนักมวยที่มีหน้าตาดี ได้ชื่อว่าเป็นนักมวยที่หมัดหนักโดยเฉพาะ หมัดขวา

ชูชัย พระขรรค์ชัย
เกิดชูชัย ฤทธิลือชัย
21 มีนาคม พ.ศ. 2469

ประวัติ

แก้

ชูชัยเกิดวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดเชียงใหม่ หัดมวยครั้งแรกกับครูปูน พระขรรค์ชัย ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ขึ้นชกครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ที่เวทีราชดำเนิน ด้วยความเป็นมวยคู่ชกประกอบรายการ สามารถประเดิมการชกครั้งแรกได้ด้วยการชนะน็อกในยกที่ 3 ด้วยหมัดขวา จากนั้นก็ได้ขึ้นชกอย่างสม่ำเสมอสั่งสมประสบการณ์และความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นนักมวยที่มีชื่อเสียง

เมื่อไม่มีคู่ชกแล้ว ในปี พ.ศ. 2492 ชูชัยจึงแขวนนวมหันไปทำงานหนังสือพิมพ์สังกัดสยามรัฐ จากการชักชวนของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของและบรรณาธิการ

ชูชัยแขวนนวมเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็กลับมาชกมวยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2494 จากการตามตัวของโปรโมเตอร์ เนื่องจากเสียงเรียกร้องของแฟนมวย จนโปรโมเตอร์ผู้จัดเสนอเงินค่าตัวให้เป็นจำนวนถึง 17,000 บาท เพื่อให้กลับมาชกกับยอดนักมวยไทยอีกรายในยุคเดียวกันนั้น คือ สุข ปราสาทหินพิมาย เจ้าของฉายา ยักษ์สุข หรือ ยักษ์ผีโขมด

การชกกับสุข ปราสาทหินพิมาย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ที่เวทีราชดำเนิน ปรากฏว่าตั้งแต่ยกแรกจนถึงยกที่ 4 ชูชัยเป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้ชมเพราะคิดว่าชูชัยกลัวสุข แต่พอขึ้นยก 5 อันเป็นยกสุดท้าย ชูชัยได้เร่งระดมชกเข้าที่ใบหน้าของสุข จนโอนเอนไปมา จนนั่งพิงเชือก เป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในยกนี้เอง

ซึ่งชูชัยได้กล่าวภายหลังว่า เป็นแผนการชกของตน เพราะเกรงว่าในยกต้น ๆ จะไม่อาจทนแรงบุกของสุข ซึ่งเป็นนักมวยรูปร่างใหญ่ได้ จึงเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว รอโอกาสให้สุขหมดแรงจึงโหมแรงในยกสุดท้าย จนชนะในที่สุด

จากนั้นแล้ว ชูชัยเสมือนว่าได้กลับมาอย่างสง่าในวงการมวยอีกครั้ง จึงมีการประกบคู่ให้พบกับ สุรชัย ลูกสุรินทร์ เจ้าของฉายา เสือสำอางค์ ซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าที่ชูชัยเคยเอาชนะได้แล้ว แต่พอถึงใกล้วันชก การตรวจร่างกายแพทย์สนามพบว่าชูชัยป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรง ห้ามขึ้นชก ชูชัยจึงประกาศแขวนนวมไปในขณะนั้น ซึ่งมีอายุได้เพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น

หลังจากนั้นชื่อเสียงของชูชัยก็ค่อย ๆ เงียบหายไปในวงการมวย แต่อีก 23 ปีต่อมา ชูชัยก็กลับมาสร้างความฮือฮาอีกครั้งเมื่อกลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้ง เมื่ออายุถึง 49 ปีแล้ว โดยถูกประกบคู่ให้ชกกับ ฮิเดโอะ อาซาโน่ นักมวยคาราเต้ชาวญี่ปุ่น ชูชัยแม้จะมีอายุในวัยกลางคนแล้ว แต่สภาพร่างกายยังคงแข็งแรงดีอยู่เนื่องจากดูแลสุขภาพร่างกายมาตลอด การชกปรากฏว่า ชูชัยเป็นฝ่ายชกอาซาโน่อย่างเดียวในยก 2 ถึงกับล้มไป 3 ครั้งในยกเดียว แต่กรรมการก็ไม่จับแพ้ ขณะที่ชูชัยเองก็กำลังจะหมดแรงแล้ว ขึ้นยก 3 ชูชัยจึงเร่งชกอีกครั้ง กรรมการจึงจับอาชาโน่แพ้น็อกไป ขณะที่ชูชัยกำลังจะหมดแรงพอดี และหลังจากนั้นชูชัยก็มิได้หวนกลับมาชกมวยอีกเลย

จากประวัติเหล่านี้ ทำให้ ชูชัย พระขรรค์ชัย ได้รับการขนานนามว่า เป็นนักมวยที่มาแล้วไปพร้อมกับชัยชนะ ซึ่งแตกต่างจากนักมวยรายอื่น ๆ ส่วนใหญ่ เมื่อกลับมาชกมวยอีกครั้งในขณะที่อายุมากขึ้นจะเป็นฝ่ายแพ้อย่างยับเยิน[2]

ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทางเวทีราชดำเนินได้จัดอันดับ 10 ยอดนักมวยเกียรติยศของเวที ก็มีชื่อของชูชัยบรรจุรวมอยู่ด้วย

หลังแขวนนวมแล้ว ชูชัยได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็น ชูชัย ฤทธิลือชัย และย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2525 โดยเปิดร้านอาหารไทย ชีวิตครอบครัวสมรสกับภรรยาชาวไทย ซึ่งเป็นน้องสาวของภรรยา ป. อินทรปาลิต นักเขียนชื่อดัง ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 5 คน

นอกจากนี้แล้ว ระหว่างที่มีชื่อเสียงนั้น ชูชัยถือได้ว่าเป็นนักมวยที่มีหน้าตาดีประกอบกับเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จึงได้มีโอกาสแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ในปี พ.ศ. 2493 กำกับโดย มารุต และอำนวยการสร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และอีกหลายเรื่องต่อมาด้วยกัน เช่น นเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2500, อำนาจกับอำนาจ ในปี พ.ศ. 2501 เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักมวยคนแรกที่แสดงในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ ก่อนจะมีนักมวยที่มีชื่อเสียงในรุ่นหลังแสดงแบบเดียวกันตามมา[3]

การแสดง

แก้

ภาพยนตร์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. สยามทาวน์ยูเอส (Volume 2 Friday, November 27, 2015). "รายงานหน้าหนึ่ง : ผัดไทยข้างถนนของทายาท "ชูชัย พระขรรค์ชัย"". ภาณุพล รักแต่งาม. siamtownus.com/. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. สมิงขาว, รายการคุณว่าใครชนะ F.M.92.25 MHz: จันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554
  3. นักมวยไทยกับภาพยนตร์ไทย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากมูลนิธิหนังไทย

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้