สามก๊ก
สามก๊ก (จีนตัวย่อ: 三国演义; จีนตัวเต็ม: 三國演義; พินอิน: Sānguó yǎnyì; อังกฤษ: Romance of the Three Kingdoms) เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก เป็นมรดกทางปัญญาของปราชญ์ชาวตะวันออกที่สุดยอด มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 10 ภาษา[1]และมีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่งขึ้นประมาณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคสมัยราชวงศ์หมิง บทประพันธ์โดยล่อกวนตง (จีน: 羅貫中; พินอิน: Luó Guànzhōng) แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2345 ในรูปแบบสมุดไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ในปี พ.ศ. 2408 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งภายใต้ชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" โดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ในปี พ.ศ. 2471 ปัจจุบันสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้งโดยหลายสำนักพิมพ์ถือเป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มที่ 2 โดยแปลจากไซ่ฮั่นและเก่าแก่ที่สุดในไทย[2]
สามก๊ก | |
---|---|
หน้าหนึ่งของฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2134 | |
ผู้ประพันธ์ | ล่อกวนตง (หลัว กว้านจง) |
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | 三國演義[a] |
ผู้แปล |
|
ประเทศ | จีน |
ภาษา | จีน |
หัวเรื่อง | จีนยุคราชวงศ์ |
ประเภท | จีนอิงประวัติศาสตร์ |
ฉากท้องเรื่อง | จีน ค.ศ. 169–280 |
วันที่พิมพ์ | ศตวรรษที่ 14 |
พิมพ์ในภาษาไทย | ราว พ.ศ. 2345 |
ชนิดสื่อ | สิ่งพิมพ์ |
สามก๊ก | |||||||||||||||||||||||||
ชื่อเรื่องสามก๊ก เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง) | |||||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 三國演義 | ||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 三国演义 | ||||||||||||||||||||||||
ความหมายตามตัวอักษร | นิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊ก | ||||||||||||||||||||||||
|
สามก๊กมีเนื้อหาหลากหลายรสชาติ เต็มไปด้วยเล่ห์กลเพทุบาย กลศึกในการรบ การชิงรักหักเหลี่ยม ความเคียดแค้นชิงชัง ความซื่อสัตย์และการให้อภัย ซึ่งมีเนื้อหาและเรื่องราวในทางที่ดีและร้ายปะปนกัน[3] ภาพโดยรวมของสามก๊กกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก ในปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 โดยจุดเริ่มต้นของสามก๊กเริ่มจากยุคโจรโพกผ้าเหลืองในปี พ.ศ. 726 ที่ออกอาละวาด จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามคือเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย ได้ร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องและร่วมปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลือง รวมทั้งการแย่งและช่วงชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นของก๊กต่าง ๆ อันประกอบด้วยวุยก๊กหรือก๊กเว่ย (魏) จ๊กก๊กหรือก๊กสู่ (蜀) และง่อก๊กหรือก๊กหวู (吳) จนถึงการสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยน รวมระยะเวลาประมาณ 60 ปี นอกจากนี้ สามก๊กยังเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับไซอิ๋ว ซ้องกั๋งและความฝันในหอแดง ซึ่งนักอ่านหนังสือจำนวนมากยกย่องสามก๊กเป็นบทเรียนตำราพิชัยสงครามภาคปฏิบัติ การบริหารและเศรษฐกิจ
ประวัติการประพันธ์
แก้สามก๊ก เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ ที่เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งเนื้อหาโดยรวมเป็นการเล่าแบบบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น
ซึ่งจีนในขณะนั้นบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์วุ่นวายระส่ำระสาย เกิดการแตกแผ่นดินออกเป็นก๊กต่าง ๆ รวมสามก๊กด้วยกัน รวมทั้งมีการทำสงครามอันยาวนานนับ 100 ปี และสุดท้ายจีนที่แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าก็กลับมารวมเป็นจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในสมัยราชวงศ์จิ้นขึ้นปกครองประเทศจีนต่อ ภายหลังได้มีการชำระประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตในยุคนั้น โดยนักปราชญ์ชาวจีนชื่อตันซิ่ว(เฉินโซ่ว/Chen Sou)[4]
บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ในยุคสามก๊กฉบับแรก ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคือ จดหมายเหตุสามก๊ก หรือสามก๊กจี่ หรือซานกั๋วจื้อ (จีน: 三國志) ซึ่งเป็นผลงานการเขียนในลักษณะพงศาวดารโดยตันซิ่วหรือเฉินโซ่ว บัณฑิตแห่งราชวงศ์จิ้น อดีตข้าราชการอาลักษณ์คนหนึ่งของจ๊กก๊กที่ถูกกวาดต้อนมายังวุยก๊กหลังจากพ่ายแพ้ศึกสงคราม โดยเขียนขึ้นตามบัญชาของพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. 1873 - พ.ศ. 1943 หลัว กวั้นจงในขณะที่เขากำลังทำงานเป็นกุนซือให้ก๊กต่อต้านราชวงค์หยวนกลุ่มหนึ่ง(ต่อมาถูกจูหยวนจางโจมตี) เขาได้นำซานกั๋วจื้อมาแต่งใหม่ในรูปแบบนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดนำมาจากซันกั๋วจื้อบ้างและแต่งเพิ่มเติมเองบ้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับซานกั๋วจื้อนั้น พบว่ามาจากซานกั๋วจื้อร้อยละ 70 และแต่งเองร้อยละ 30 โดยประมาณ
สามก๊กในรูปแบบต่าง ๆ
แก้- เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสามก๊ก เคยมีผู้นำมาเล่าเป็นนิทานเล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน และนำมาปรับปรุงเสริมแต่งเพื่อเล่นเป็นงิ้วในเมืองจีน จนกระทั่งหลัว กวั้นจง นักปราชญ์จีนในสมัยยุคราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ. 1911 - พ.ศ. 2186 ได้นำสามก๊กมาเรียบเรียงใหม่อีกครั้งในรูปแบบของหนังสือ ต่อมาภายหลังเม่าจงกังและกิมเสี่ยถ่าง (จิ้นเสิ้งทั่น) ได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนของสามก๊กและนำไปตีพิมพ์ในจีน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ "สามก๊ก" ได้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะที่ได้รับการกล่าวขานและแพร่หลายในจีน รวมทั้งอีกหลาย ๆ ประเทศและได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบภาษาต่าง ๆ หลายภาษา[5]
- วรรณกรรมเรื่อง หงสาจอมราชันย์
- วรรณกรรมเรื่อง จอมราชันย์อหังการ
ซานกั๋วจื้อ
แก้ซานกั๋วจื้อ (จีน: 三國志) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุของตันซิ่ว ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจีนในสมัยของยุคสามก๊กชุดแรก ซึ่งถือว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุด มีความยาว 65 เล่ม ประกอบไปด้วย วุยจี่ (จดหมายเหตุก๊กวุย) จำนวน 30 เล่มสมุด จ๊กจี่ (จดหมายเหตุก๊กจ๊ก) จำนวน 15 เล่มสมุด และง่อจี่ (จดหมายเหตุก๊กง่อ) จำนวน 20 เล่มสมุด มีตัวอักษรรวมทั้งหมดประมาณ 360,000 ตัว ซึ่งในตอนแรกนั้นตันซิ่วไม่ได้ตั้งชื่อบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊กว่า "ซานกั๋วจื้อ" ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ต้าซ่งผู้หนึ่งเป็นผู้ตั้งให้ แต่เนื่องจากตันซิ่วรับราชการเป็นขุนนางของราชวงศ์จิ้นหรือวุยก๊ก ซึ่งทำให้การเขียนจดหมายเหตุสามก๊กนั้นเป็นการเขียนที่ยึดเอาราชวงศ์จิ้นเป็นหลัก ตันซิ่วยกให้วุยก๊กของโจโฉเป็นก๊กที่ปกครองแผ่นดินอย่างถูกต้อง ส่วนจ๊กก๊กของเล่าปี่และง่อก๊กของซุนกวน กลายเป็นเพียงรัฐที่มีการปกครองเพียงบางส่วนของประเทศจีนเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ทำให้มุมมองของตันซิ่วที่มีต่อจ๊กก๊กและง่อก๊กแตกต่างจากสามก๊กของหลัว กวั้นจง ซึ่งนำเอาจดหมายเหตุสามก๊กมาดัดแปลงเพิ่มเติมจนกลายเป็นสามก๊กในปัจจุบัน
ตันซิ่วกล่าวยกย่องจักรพรรดิของวุยก๊กทุกพระองค์ด้วยราชทินนามเช่น เรียกพระเจ้าโจโฉว่า "วุยบู๊เต๊" เรียกพระเจ้าโจผีว่า "วุยบุ๋นเต้" และเรียกพระเจ้าโจยอยว่า "วุยเหม็งเต้" และสำหรับพระเจ้าโจฮอง พระเจ้าโจมอและพระเจ้าโจฮวน ตันซิ่วยกย่องให้เป็นสามจักพรรดิพระองค์น้อย นอกจากนี้ตันซิ่วยังให้คำที่แปลว่าจักรพรรดิของแต่ละก๊กที่แตกต่างกัน โดยคำว่าจักรพรรดิของวุยก๊กใช้คำว่า "จี้" แปลว่าพระราชประวัติ แต่สำหรับจ๊กก๊กและง่อก๊ก ตันซิ่วเลือกใช้เพียงคำว่า "จ้วน" ที่แปลว่าชีวประวัติบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับจักรพรรดิของจ๊กก๊กคือพระเจ้าเล่าปี่ ตันซิ่วยังคงให้เกียรติอยู่บ้างในฐานที่เคยอาศัยในจ๊กก๊ก จึงเรียกพระเจ้าเล่าปี่ว่า "เฉียนจวู่" แปลว่าเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์แรก และเรียกพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่า "โฮ่วจวู่" แปลว่าเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์หลัง แต่สำหรับง่อก๊กนั้นตันซิ่วเลือกใช้คำสามัญธรรมดาด้วยการเรียกชื่อโดยตรงคือซุนเกี๋ยน ซุนกวนและซุนเหลียงเป็นต้น[6]
นอกจากนี้ตันซิ่วยังเปลี่ยนชื่อเรียกขานของจ๊กก๊กจาก "ฮั่น" เป็น "จ๊ก" ด้วยเหตุผลที่ว่าหากตันซิ่วเลือกใช้คำว่า "ฮั่น" ก็จะเท่ากับเป็นการให้เล่าปี่สืบทอดราชสมบัติและราชอาณาจักรต่อจากราชวงศ์ฮั่นอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายวุยก๊ก ตันซิ่วจึงเลือกที่จะลดฐานะของเล่าปี่จากเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเป็นเพียงเจ้าผู้ครองมณฑลเสฉวนหรือจ๊กก๊กเท่านั้น ซึ่งการเลือกใช้คำเรียกเล่าปี่ของตันซิ่วนี้ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่พอใจและตำหนิตันซิ่วที่มีความลำเอียงและเลือกเข้าข้างวุยก๊กและราชวงศ์จิ้น รวมทั้งมีอคติที่ไม่ดีต่อจูกัดเหลียงที่สืบมาจากความเคียดแค้นในเรื่องส่วนตัว แต่ถึงอย่างนั้นนักประวัติศาสตร์จีนก็ให้การยกย่องตันซิ่วที่มีความสามารถในการเขียนประวัติศาสตร์ ที่สามารถเก็บบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด
ซานกั๋วจือผิงฮว่า
แก้ซานกั๋วจือผิงฮว่า (จีน: 三國之評話) เป็นการนำจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเขียนขึ้นใหม่ในรูปของนิทานและบทแสดงของงิ้วโดยนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงประเพณีโบราณของจีนที่ให้ความสำคัญกับความกตัญญู ข้าราชการ เสนาธิการและเหล่าขันทีภายในราชสำนักจะต้องจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื้อหาบางส่วนของจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วที่กล่าวถึงโจโฉที่ใช้อำนาจในการข่มพระเจ้าเหี้ยนเต้ตลอดมานั้น รวมทั้งการที่โจผีบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชสมบัติให้แก่ตน ตามหลักการของลัทธิขงจื๊อถือว่าเป็นบาปเท่ากับกลายเป็นโจรปล้นราชสมบัติ ซันกั๋วจือผิงฮว่าจึงกลายเป็นสามก๊กฉบับชาวบ้านที่เล่าสืบทอดกันมาและมีความแตกต่างจากจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว[7]
ซันกั๋วจือผิงฮว่า เป็นการนำเอาหลักการความเชื่อในด้านศาสนาและลัทธิเต๋าของจีนมาผสมผสานไว้ในเนื้อเรื่อง ผูกโยงร่วมกับนิทานพื้นบ้านของจีนเรื่องไซ่ฮั่น โดยสมมุติเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในซันกั๋วจือผิงฮว่าใหม่ทั้งหมด ซึ่งตัวละครในแต่ละตัวจะพบผลกรรมที่ตนเองได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ในยุคไซ่ฮั่นเช่น มีการแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มเติมว่าฮั่นสินได้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นโจโฉ เล่าปังหรือพระเจ้าฮั่นโกโจ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นพระองค์แรก กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ เนื่องจากในชาติที่แล้ว เล่าปังได้เนรคุณฮั่นสินที่มีบุญคุณต่อตนเองภายหลังจากได้ช่วยให้ครอบครองแผ่นดินได้สำเร็จ เมื่อกลับมาเกิดใหม่เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้จึงถูกฮั่นสินที่กลับมาเกิดเป็นโจโฉกดขี่ข่มเหงและกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา หรือแม้แต่สุมาต๋ง ก็ได้หวนกลับมาเกิดใหม่เป็นสุมาอี้ ผู้วางรากฐานจีนแผ่นดินใหญ่และการรวบรวมก๊กต่าง ๆ ทั้งสามก๊กให้เป็นแผ่นดินเดียวกันได้สำเร็จ
ซันกั๋วจือผิงฮว่า ถูกนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงในรูปแบบของนิทานพื้นบ้านและการแสดงงิ้วของคนจีน จึงพบว่ามีเนื้อหาบางและข้อมูลบางส่วนมีความผิดพลาดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของจีนเช่น การให้เตียวหุยกลายเป็นสุดยอดขุนศึกที่มีความเก่งกาจ สามารถเอาชนะลิโป้ได้อย่างง่ายดายจนต้องหลบหนีเอาตัวรอด หรือแม้แต่เอาชนะจูล่งได้ที่กู่เฉิง บีบคออ้วนซงบุตรชายของอ้วนสุดจนตายคามือ เป็นต้น
เผยซงจือ
แก้สามก๊ก ฉบับเผยซงจือ (จีน: 裴松之) เป็นการนำเอาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเรียบเรียงใหม่ และอธิบายเพิ่มเติมในบางส่วนโดยเผย์ซงจือ นักปราชญ์ที่เกิดและเติบโตในเมืองวิ่นเฉิงหรือมณฑลซานซีในปัจจุบัน เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เผย์ซงจือได้รับราชการเป็นอาลักษณ์ให้แก่ราชวงศ์ซ่งทางตอนใต้ของจีน และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ชำระจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วในสมัยราชวงศ์จิ้น โดยที่เผย์ซงจือชำระจดหมายเหตุสามก๊กเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 972 และมีการกล่าวเพิ่มเติมรวมทั้งให้คำอธิบายในบางส่วนเกี่ยวกับภูมิประเทศและรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างถึงในต้นฉบับเดิม
นอกจากนี้ เผยซงจือยังแก้ไขในเรื่องของระยะเวลาที่มีความขัดแย้งในตัวเองของจดหมายเหตุสามก๊กและเพิ่มเติมความคิดเห็นบางส่วนของตนลงไป โดยที่ไม่ตัดทอนรายละเอียดและเรื่องราวต่าง ๆ ของจดหมายเหตุสามก๊กออกแต่อย่างใด จึงนับได้ว่าการชำระจดหมายเหตุสามก๊กของเผย์ซงจือทำให้ซันกั๋วจือเป็นที่กล่าวขานครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง[8]
ซานกั๋วจือทงสูเหยี่ยนอี้
แก้ซานกั๋วจือทงสูเหยี่ยนนอี้ (จีน: 三國之通俗演義) เป็นสามก๊กฉบับนิยายที่ประพันธ์โดยล่อกวนตง นักปราชญ์ในสมัยราชวงศ์หมิง ผู้เป็นศิษย์เอกของซือไน่อัน หลัว กวั้นจงเป็นผู้นำเอาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเรียบเรียงใหม่ โดยแต่งเสริมเพิ่มเติมในบางส่วนจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตนเอง รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจีนให้กลายเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นการต่อสู้กันเองระหว่างฝ่ายคุณธรรมและฝ่ายอธรรมตามแบบฉบับของงิ้ว ที่จะต้องมีการกำหนดตัวเอกและตัวร้ายอย่างชัดเจนในเนื้อเรื่อง
สามก๊กของล่อกวนตงได้มีการกำหนดให้เล่าปี่เป็นฝ่ายคุณธรรม มีจิตใจโอบอ้อมเมตตาอารีและมีคุณธรรมสูงส่งที่พยายามปราบปรามโจโฉที่เป็นฝ่ายอธรรม ช่วงชิงราชสมบัติและล้มล้างราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติศาสตร์จีน นักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นถึงสามก๊กของล่อกวนตงที่มีใจเอนเอียงไปทางเล่าปี่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีเหตุผลยืนยันความถูกต้องตามประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่[9]
ซานกั๋วเหยี่ยนอี้
แก้ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ (จีน: 三國演義) เป็นสามก๊กที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่โดยเหมาหลุนและเหมาจ้งกัง สองพ่อลูกในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งได้ทำการปรับปรุงสามก๊กในแบบฉบับของล่อกวนตงใหม่อีกครั้ง และมอบหมายให้กิมเสียถ่าง (จิ้นเซิ่งทั่น) เป็นผู้เขียนคำนำเรื่อง โดยที่สามก๊กฉบับที่เหมาหลุนและเหมาจ้งกังช่วยกันปรับปรุงแก้ไข โดยยึดแนวทางการเขียนของล่อกวนตงเป็นต้นแบบคือแบ่งเป็นสองฝ่ายและแย่งชิงอำนาจวาสนากันในสมัยราชวงศ์ฮั่น ให้ฝ่ายเล่าปี่เป็นฝ่ายที่เป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่นที่ถูกต้องของแผ่นดินจีน โจโฉเป็นฝ่ายกบฏที่ทะเยอทะยานในอำนาจของตนเอง[10]
เหมาจ้งกังได้ปรับแก้ไขสำนวนการใช้ภาษาของล่อกวนตงในบางจุด ซึ่งเป็นภาษาพูดและเป็นการใช้สำนวนภาษาแบบยุคราชวงศ์หยวนหรือหงวน ให้กลายเป็นการใช้สำนวนภาษาในแบบภาษาเขียนของราชวงศ์ชิงหรือแมนจู นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับเปลี่ยนลักษณะและบุคลิกของตัวละครในสามก๊กใหม่ทั้งหมดตามแนวความคิดของตนเอง รวมทั้งยังปรับเปลี่ยนชื่อและตำแหน่งขุนนาง สถานที่ของสามก๊กต้นฉบับของล่อกวนตงผิดไปตามชื่อจริงในยุคนั้น ๆ ซึ่งสามก๊กของล่อกวนตงนั้นได้เขียนชื่อตัวละคร ตำแหน่งและสถานที่ค่อนข้างชัดเจนและถูกต้องตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่การปรับปรุงแก้ไขของเหมาหลุนและเหมาจ้งกังช่วยทำให้การดำเนินเรื่องไม่เยิ่นเย้อ เดินเรื่องกระชับ และเป็นการขัดเกลาภาษาทำให้อ่านสนุกน่าติดตาม
อาณาจักรสามก๊ก
แก้ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751
วุยหรือเฉาเว่ย (จีน: 曹魏) จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นราชวงศ์วุยโดยพระเจ้าโจผี จึงได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่[11]
- พระเจ้าโจผี ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 763 - 769
- พระเจ้าโจยอย ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 769 - 782
- พระเจ้าโจฮอง ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 782 - 797
- พระเจ้าโจมอ ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 797 - 803
- พระเจ้าโจฮวน ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 803 - 808
วุยก๊กมีอายุได้แค่เพียง 45 ปีก็ถูกยึดอำนาจโดยครอบครัวขุนนางตระกูลสุมา ต่อมาก็ถูกโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
จ๊กหรือสู่ฮั่น (จีน: 蜀汉) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก มาจากแรงขับเคลื่อนรากฐานของเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่[12]
- พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
- พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806
จ๊กก๊กมีอายุได้แค่เพียง 42 ปีก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก นำทัพโดยสุมาเจียว เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาไร้ความสามารถวัน ๆ เอาแต่เสพสุขของพระเจ้าเล่าเสี้ยน
ง่อหรืออาณาจักรหวูตะวันออก (จีน: 東吳) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวนแล้วได้สถาปนาซุนเกี๋ยนและซุนเซ็กเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซุนอีกสองพระองค์ ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่[13]
- พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
- พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
- พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
- พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823
ง่อก๊กมีอายุยาวนานสุดถึง 58 ปีเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น
เนื้อเรื่องย่อสามก๊ก
แก้ภายหลังพระเจ้าฮั่นโกโจสถาปนาราชวงศ์ฮั่นจนมีอายุกว่าสี่ร้อยปี ในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ ฮ่องเต้ขาดความเฉลียวฉลาด เชื่อแต่คำของเหล่าสิบขันที เหล่าขุนนางถืออำนาจขูดรีดราษฏรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุมปล้นสะดมไปทั่วแผ่นดิน ดังจดหมายเหตุของจีนตอนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า "ขุนนางถือราษฏรดั่งหนึ่งอริราชศัตรู ขูดรีดภาษีอากรโหดร้ายยิ่งกว่าเสือ"[14] เกิดกบฏชาวนานำโดยเตียวก๊ก หัวหน้ากลุ่มโจรโพกผ้าเหลืองออกปล้นชิงเมืองต่าง ๆ จนเกิดความวุ่นวายแตกแยกแผ่นดินเป็นก๊กเป็นเหล่าภายใต้ขุนศึกต่าง ๆ
ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสต่างพระชนนีสองพระองค์ พระเจ้าหองจูเปียนได้สืบทอดราชสมบัติโดยมีโฮเฮาพระชนนีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ในราชสำนักคงเกิดความวุ่นวายจากสิบขันที โฮจิ๋นผู้เป็นพระเชษฐาของโฮเฮาจึงวางอุบายให้ตั๋งโต๊ะมาช่วยกำจัดเหล่าขันที แต่โฮจิ๋นกลับถูกลวงไปฆ่าทำให้เหล่าทหารของโฮจิ๋นยกเข้าวังหลวงเพื่อแก้แค้นจนเกิดจลาจลขึ้น ภายหลังตั๋งโต๊ะยกทัพมาถึงวังหลวงและฉวยโอกาสยึดอำนาจมาเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนและปลงพระชนม์ และสถาปนาพระเจ้าหองจูเหียบขึ้นแทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสถาปนาตนเองเป็นพระมหาอุปราช มีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้
ตั๋งโต๊ะถืออำนาจเป็นใหญ่ในราชสำนัก สั่งประหารชีวิตผู้คัดค้านจนเหล่าขุนนางพากันโกรธแค้น โจโฉพยายามลอบฆ่าตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จต้องหลบหนีออกจากวังหลวงและลอบปลอมแปลงราชโองการ นำกำลังทัพจากสิบแปดหัวเมืองมากำจัดตั๋งโต๊ะ แต่กองทัพหัวเมืองกลับแตกแยกกันเองจึงทำให้การกำจัดตั๋งโต๊ะล้มเหลว อ้องอุ้นจึงวางแผนยกเตียวเสี้ยนบุตรสาวบุญธรรมให้แก่ตั๋งโต๊ะและลิโป้บุตรบุญธรรม จนตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้แค้นและฆ่าตั๋งโต๊ะ หลังจากตั๋งโต๊ะตาย ลิฉุยและกุยกีได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งและฆ่าอ้องอุ้นตาย รวมทั้งบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจ สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้เรียกโจโฉมาช่วยกำจัดลิฉุย กุยกี จากนั้นโจโฉย้ายนครหลวงไปที่เมืองฮูโต๋
โจโฉเข้าปราบปรามกบฏและควบคุมราชสำนัก ทำศึกรบชนะลิโป้ จึงควบคุมหัวเมืองในภาคกลางไว้ได้ ในศึกกับลิโป้ก็ได้เล่าปี่มาเข้าสวามิภักดิ์ ระหว่างนั้นพระเจ้าเหี้ยนเต้มีความระแวงว่าโจโฉจะคิดทะเยอทะยาน ขณะนั้น เล่าปี่ซึ่งอ้างตนเป็นผู้สืบสายราชวงศ์ฮั่น มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระเจ้าอา พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องการปราบโจโฉ จึงใช้พระโลหิตเขียนสาสน์ให้เหล่าขุนนางที่จงรักภักดีให้ช่วยกำจัดโจโฉแต่ถูกจับได้ทำให้เหล่าขุนนางถูกสังหาร แต่เล่าปี่ได้อ้างว่าจะนำทหารไปปราบอ้วนสุดแล้วแยกตัวออกมา จากนั้นก็ลุกฮือต่อต้านโจโฉ แต่ก็พ่ายแพ้ จึงต้องหนีลงไปเกงจิ๋วแล้วไปขอพึ่งพิงเล่าเปียว เตรียมทำศึกกับโจโฉต่อ
ระหว่างนั้น โจโฉทำศึกรวบรวมแผ่นดินภาคเหนือและภาคกลาง รบชนะกองกำลังต่าง ๆ สามารถปราบอ้วนเสี้ยวซึ่งครองภาคเหนือลงได้ จึงเข้าควบคุมจงหยวน หรือบริเวณภาคกลางและภาคเหนือในลุ่มแม่น้ำฮวงโหของจีนได้แทบทั้งหมด
โจโฉต้องการบุกปราบภาคใต้ แต่ฝ่ายเล่าปี่ ก็มีขุนพลทหารเอกที่เก่งกล้าอย่าง กวนอู เตียวหุย จูล่ง แล้วยังได้เชิญจูกัดเหลียง หรือ ขงเบ้ง มาเป็นที่ปรึกษา ระหว่างนั้นขงเบ้งได้เสนอแผนการแบ่งแผ่นดินเป็นสามขึ้นมา แล้วแนะนำให้เล่าปี่จับมือเป็นพันธมิตรกับซุนกวน เจ้าเมืองกังตั๋ง พันธมิตรระหว่าง เล่า-ซุน จึงเกิดขึ้น แล้วซุนกวนก็ได้มอบหมายให้จิวยี่ เป็นแม่ทัพใหญ่ ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันทำศึกกับโจโฉในยุทธการที่ผาแดง แล้วก็ได้รับชัยชนะ ทำให้แผ่นดินจีนเริ่มก่อสภาพเป็นสามขั้วใหญ่ขึ้น
โจโฉ ได้ตั้งหลักที่ภาคกลางและภาคเหนือ บีบบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้แต่งตั้งตนขึ้นเป็นวุยก๋งและเป็นวุยอ๋องตามลำดับ เล่าปี่เข้ายึดครองเกงจิ๋ว แล้วทำศึกเข้ายึดเมืองเสฉวนมาครอง และตั้งตัวอยู่ในภาคตะวันตก ซุนกวนตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในกังตั๋งทางภาคตะวันออก ควบคุมกองทัพเรือที่เข้มแข็ง แต่ก็ไม่สามารถขยายดินแดนได้มากนัก หลังจากเริ่มก่อรูปเป็นสามก๊ก ทั้งสามฝ่ายต่างทำศึกสงครามกันตลอด แต่ก็ไม่อาจเอาชนะซึ่งกันและกันได้อย่างเด็ดขาด
ต่อมา โจโฉได้สิ้นชีพลง โจผีบุตรชายขึ้นครองราชสมบัติแทน สั่งปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหวินตี้ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์วุย เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิสืบทอดราชวงศ์ฮั่น โดยใช้เมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวง ซุนกวนซึ่งไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีหรือเล่าปี่จึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิบ้าง ปกครองเมืองกังตั๋ง
ภายหลัง พระเจ้าโจผี พระเจ้าเล่าปี่ และพระเจ้าซุนกวนสวรรคตไปหมดสิ้น ผู้เชื้อสายต่อมาเริ่มอ่อนแอลง จึงเป็นโอกาสให้ สุมาอี้ ที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของวุยก๊ก ซึ่งเข้ามาทำงานรับใช้สกุลโจตั้งแต่สมัยโจโฉ ได้เริ่มสร้างอำนาจบารมีมากขึ้น สุมาอี้ยังสามารถทำศึกชนะขงเบ้งได้ จึงยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมา สุมาอี้ได้กระทำการชิงอำนาจโจซอง และได้สังหารเชื้อพระวงศ์ของวุย วางรากฐานให้ลูกหลาน
หลังจากสุมาอี้สิ้นแล้ว บุตรชายคือ สุมาเจียว ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชของวุยก๊กต่อมา ก็สามารถส่งทหารรบชนะจ๊กก๊ก ควบคุมตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนมาเป็นเชลยได้สำเร็จ หลังจากสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งแทนและช่วงชิงราชสมบัติของวุยก๊กมาจากพระเจ้าโจฮวนและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสามารถปราบพระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กให้ยินยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ
นับแต่นั้น แผ่นดินจีนที่เคยแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามายาวนาน กลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวได้อีกครั้ง ก่อนที่จะแตกแยกเป็นยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ในเวลาต่อมา[15]
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
แก้พ.ศ. 727 |
|
พ.ศ. 730 |
|
พ.ศ. 732 |
|
พ.ศ. 733 |
|
พ.ศ. 734 |
|
พ.ศ. 735 |
|
พ.ศ. 736 | |
พ.ศ. 737 |
|
พ.ศ. 738 |
|
พ.ศ. 739 |
|
พ.ศ. 740 |
|
พ.ศ. 742 |
|
พ.ศ. 743 |
|
พ.ศ. 744 |
|
พ.ศ. 745 |
|
พ.ศ. 747 |
|
พ.ศ. 750 | |
พ.ศ. 751 |
|
พ.ศ. 752 | |
พ.ศ. 753 | |
พ.ศ. 754 | |
พ.ศ. 755 |
|
พ.ศ. 756 |
|
พ.ศ. 757 |
|
พ.ศ. 758 |
|
พ.ศ. 759 |
|
พ.ศ. 760 | |
พ.ศ. 762 |
|
พ.ศ. 763 |
|
พ.ศ. 764 | |
พ.ศ. 765 |
|
พ.ศ. 766 |
|
พ.ศ. 767 |
|
พ.ศ. 768 |
|
พ.ศ. 769 |
|
พ.ศ. 770 | |
พ.ศ. 771 |
|
พ.ศ. 772 |
|
พ.ศ. 774 |
|
พ.ศ. 777 |
|
พ.ศ. 778 |
|
พ.ศ. 780 |
|
พ.ศ. 783 | |
พ.ศ. 788 |
|
พ.ศ. 792 |
|
พ.ศ. 794 |
|
พ.ศ. 795 |
|
พ.ศ. 797 |
|
พ.ศ. 798 |
|
พ.ศ. 799 |
|
พ.ศ. 801 | |
พ.ศ. 803 |
|
พ.ศ. 804 |
|
พ.ศ. 806 |
|
พ.ศ. 807 |
|
พ.ศ. 808 |
|
พ.ศ. 823 |
|
กลศึกสามก๊ก
แก้ในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก มีการทำศึกสงครามมากมายหลายต่อหลายครั้ง การต่อสู้ทางด้านสติปัญญาและกุศโลบายในการแสดงแสนยานุภาพแก่ศัตรู การปกครองไพร่พลรวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งการนำกำลังไพร่พลทหารในการบุกโจมตีและยึดครองสถานที่ หรือทางการพิชิตชัยชนะทางการทูตในการเจรจาต่อรองผูกสัมพันธ์ไมตรีกับแคว้นอื่น การทหาร การเมือง การเศรษฐกิจ การบริหารปกครองบ้านเมือง การใช้คนอย่างถูกต้อง การโจมตีทางด้านจิตใจรวมทั้งการนำเอาทรัพยากรทุกอย่างที่มี เพื่อนำมาใช้ในการทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ซึ่งกันและกัน[16]
แต่มีบ่อยครั้งที่กำลังทหารที่มีกำลังไพร่พลน้อยกว่ากลับเอาชนะกำลังทหารที่มีกำลังไพร่พลมากกว่าได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์ในด้านยุทธศาสตร์และการชำนาญภูมิศาสตร์สถานที่ในการทำศึกสงคราม[16] ในสามก๊กมีการใช้กลศึกจำนวนมากมายในการหลอกล่อศัตรูเพื่อชัยชนะ การต่อสู้ทางสติปัญญา สุดยอดแห่งกุศโลบายในการแสดงศักยภาพของกองทัพ แม่ทัพที่นำทัพในสนามรบนอกจากจะมีฝีมือในการที่สูงส่งแล้ว จะต้องรู้หลักตำราพิชัยสงคราม เสนาธิการที่ปรึกษาทัพจะต้องรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน รู้แจ้งในกลศึกต่าง ๆ ของศัตรู รู้ถึงจิตใจของทหารใต้บังคับบัญชา และรู้จักฉกฉวยจังหวะสำคัญในการโจมตีจึงจะสามารถเอาชนะศัตรูได้ จูกัดเหลียง จิวยี่ สุมาอี้ ลกซุน ตั๋งโต๊ะ โจโฉ กุยแกและบุคคลอื่นอีกมากมาย ล้วนแต่ชำนาญกลศึกในการทำศึกสงคราม ซึ่งกลศึกสำคัญและเป็นมาตรฐานของการทำสงครามสามก๊ก
สงครามสามก๊ก
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
- โจโฉ ผู้สถาปนาวุยก๊ก
- เล่าปี่ ผู้สถาปนาจ๊กก๊ก
- ซุนกวน ผู้สถาปนาง่อก๊ก
- สุมาเอี๋ยน ผู้สถาปนาราชวงศ์จิ้น
ศิลปะการใช้คน
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ตลอดทั้งเรื่องสามก๊ก เราจะสังเกตเห็นตัวละครทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เล่าปี่ จูกัดเหลียง หรือ โจโฉ ต่างต้องการคนเก่งคนดีมาเข้าร่วมกับฝ่ายนั้น ๆ ซึ่งตัวละครหลักอย่างที่กล่าวมาขั้นต้นจะมีกลวิธีแตกต่างกันไป เช่น ครั้นอุยเอี๋ยนเคยคิดจะทรยศเล่าปี่ จูกัดเหลียงรู้ทันแผนการจึงจะสั่งประหารอุยเอี๋ยนเพราะไม่ต้องการคนที่ไม่มีสัตย์มารับใช้ แค่เล่าปี่รู้ว่าอุยเอี๋ยนแม้จะไม่มีความซื่อสัตย์แต่มีความสามารถ เล่าปี่จึงค้านให้จูกัดเหลียงประหารอุยเอี๋ยน อุยเอี๋ยนสำนึกในบุญคุณและไม่เคยทรยศเล่าปี่หรือจูกัดเหลียงอีกเลย ตลอดทั้งชั่วอายุที่เล่าปี่และจูกัดเหลียงมีชีวิต แต่อย่างไรก็ตามอุยเอี๋ยนคิดกบฏหลังจากที่จูกัดเหลียงเสียชีวิต แต่เราก็นับได้ว่าสัตย์ของอุยเอี๋ยนดังกล่าวนั้นจริง และการซื้อใจคนของเล่าปี่นั้นมีประโยชน์อยู่บ้าง
ในขณะเดียวกัน ครั้นซีชียังอยู่กับเล่าปี่ ซีชีนั้นมีใจรักรับราชการกับเล่าปี่และช่วยเล่าปี่ต่อสู้กับโจโฉ จนโจโฉพ่ายแก่เล่าปี่หลายครั้ง โจโฉจึงคิดจะแผนร้ายหวังให้ซีชีห่างจากเล่าปี่ก็เป็นพอ ไม่ได้คิดจะหากุนซือที่รู้ทันการณ์หรือความสามารถมารับมือกับซีชีเลย โจโฉจึงวางแกล้งแต่งหนังสือถึงซีชีว่าจะจับมารดาซีชีมาเผาทั้งเป็น เมื่อสารถึงมือซีชี ซีชีหลงอุบายแล้วจึงลาเล่าปี่ พร้อมยืนกรานว่าจะภักดีกับเล่าปี่ไม่คิดจะเสนออุบายใด ๆ แก่โจโฉ ซีชีก็ได้เข้ากับโจโฉ แต่ก็เสียมารดาของตนเพราะแค้นใจผูกคอตายที่ลูกหลงกลของโจโฉ อย่างไรก็แม้จะละทิ้งนายอย่างเล่าปี่ไปคุณความดีทีของซีชีก็มีอยู่บ้าง นั่นคือเฉลยว่า มังกรหลับ และ หงส์ดรุณ คือบุคคลใดในปริศนาของสุมาเต๊กโช พร้อมแนะนำศิษย์ร่วมสำนักอย่างขงเบ้งและบังทองแก่เล่าปี่ ไม่ว่าซีชีจะตามโจโฉไปรบที่ใด ซีชีจะปิดปากเงียบ ต่อมาในศึกยุทธการผาแดง ซีชีก็ติดตามโจโฉไปรบ ขงเบ้งและจิวยี่ก็วางแผนจะแตกทัพนาวีของโจโฉ แผนแตกทัพเรือนี้ประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือลมตะวันออกเฉียงใต้ และ นาวีทัพที่เชื่อมติดกัน จูกัดเหลียงจึงส่งบังทองให้ไปแนะโจโฉผูกทัพนาวีทั้งหมดเข้าด้วยกัน โจโฉหลงเชื่อบังทอง ด้วยความเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับจูกัดเหลียงและบังทอง ซีชีรู้ทันแผนการทั้งหมดแต่กลับไม่ห้ามโจโฉ ซ้ำยังปล่อยข่าวลือว่าม้าเท่งแห่งแค้วนเหลียงตะวันตกจะเข้าตีฮูโต๋ว โจโฉห่วงหน้าพวงหลัง ซีชีจึงลาโจโฉกลับไปพิทักษ์ฮูโต๋ว แล้วปล่อยให้ทัพนาวีของโจโฉแตกพินาศ เช่นนี้แล้วแม้โจโฉจะได้ที่ปรึกษาที่เก่งกาจมีความรู้เหมือนจูกัดเหลียงและบังทองแต่ด้วยวิธีการของโจโฉ แม้ซีชีจะยอมเข้าร่วมแต่ก็ไม่สามารถทำให้ซีชีจะเต็มใจช่วยเหลือโจโฉได้
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ตัวละครหลัก
แก้- โจโฉ
- โจโฉ (จีน: 曹操 เฉาเชา) มีชื่อรองเม่งเต๊กหรือเมิ่งเต๋อ เรียกชื่อเต็มว่า "โจเม่งเต๊กโฉ" เป็นลูกบุญธรรมของขันทีในวังหลวง แต่เดิมอยู่ในตระกูลแฮหัวและคาดว่าน่าจะเกิดจากความแตกแยกในตระกูล ทำให้แยกออกมาเป็นตระกูลโจ รูปร่างสูงใหญ่(บางตำราบอกว่าสูง 160 ซม.) คิ้วเล็ก หนวดยาว สติปัญญาเฉลียวฉลาด ชำนาญด้านอักษรศาสตร์และตำราพิชัยสงคราม ในวัยเด็กมีนิสัยเกเร ชอบเอาชนะผู้อื่นและตั้งตนเป็นหัวหน้าเสมอ มีหมอดูเคยทำนายโชคชะตะของโจโฉว่า "โจโฉจะสามารถครอบครองโลกได้ แต่โลกก็จะลุกเป็นไฟเพราะความฉลาดปราดเปรื่องของตนเอง" โจโฉอาศัยสถานการณ์ความวุ่นวายในแผ่นดินทำให้ผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ได้โดยการเข้าไปโอบอุ้มพระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำให้ตนเองได้ครองตำแหน่งสมุหนายกอันเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร กุมอำนาจเหนือจักรพรรดิ และยังแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนภาคกลางและเหนือของจีนไว้ได้จนหมด โจโฉมีความสามารถในการบัญชาการศึกมาก สามารถปราบปรามขุนศึกก๊กต่าง ๆ ตั้งแต่ ลิโป้ เตียวซิ่ว อ้วนสุด อ้วนเสี้ยว เล่าเปียว ม้าเท้ง เตียวลู่ ทำให้กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แม้ว่าต่อมาจะพ่ายแพ้ให้แก่เล่าปี่และซุนกวนในศึกที่ผาแดง แต่ก็ยังสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งวุยอ๋อง และวางรากฐานให้ลูกหลานของตนเข้าแย่งชิงบัลลังก์ของราชวงศ์ฮั่นในภายหลัง โจโฉเสียชีวิตเมื่ออายุ 60 ปี โจผีบุตรชายถวายพระนามย้อนหลังให้เป็น พระเจ้าเว่ยหวู่ตี้ (Wei Wudi)
- เล่าปี่
- เล่าปี่ (จีน: 劉備 หลิวเป้ย) มีชื่อรองเสวียนเต๋อแปลว่าผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐ เรียกชื่อเต็มว่า "ห้วนจงกุ๋นยี่เซงเตงเฮาเล่าปี่" รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขาว ใจคอกว้างขวาง นิสัยสุภาพเรียบร้อย เยือกเย็นและมีความกตัญญูสูง พูดน้อยยิ้มยาก ไม่แสดงความรู้สึกออกทางสีหน้า เชี่ยวชาญในการใช้กระบี่คู่ เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก มีฐานะยากจนต้องยังชีพด้วยการทอเสื่อขาย ภายหลังได้พบกับกวนอูและเตียวหุยและสาบานตนเป็นพี่น้องกันร่วมออกปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง เล่าปี่ไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดชีวิตจนได้จูกัดเหลียงมาเป็นที่ปรึกษา สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ที่เสฉวนครอบครองอาณาจักรจ๊กก๊ก แต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิทรงพระนามจักรพรรดิเจาเลี่ยแห่งราชวงศ์ฮั่น เมื่อกวนอูและเตียวหุยถูกฆ่าตาย จึงยกทัพไปแก้แค้นซุนกวนแต่ถูกตีย่อยยับกลับมาและประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 766 ที่มณฑลเสฉวน รวมพระชนมายุ 63 ชันษา
- กวนอู
- กวนอู (จีน: 關羽 กวนอวี่) เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง มีชื่อรองหวินฉาง รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี หนวดเครางามถึงอก มีง้าวยาว 11 ศอกหนัก 82 ชั่งเป็นอาวุธคู่กาย เรียกว่าง้าวมังกรเขียว กำเนิดในครอบครัวนักปราชญ์ ชอบอ่านตำราประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว เก่งกาจวิทยายุทธ และซื่อสัตย์เป็นเลิศ ภายหลังได้พลั้งมือฆ่าปลัดอำเภอและน้าชายตายจนต้องหลบหนีและพบกับเล่าปี่และเตียวหุยจนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ครองเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมและจิวฉอง เมื่อเล่าปี่ประกาศตนขึ้นเป็นฮั่นตงอ๋อง กวนอูก็นำกองทัพจากเกงจิ๋วรุกขึ้นเหนือโจมตีวุยก๊ก และปะทะกับทัพโจหยินในการศึกที่ปราสาทฟ่าน กวนอูได้สร้างวีรกรรมไขน้ำท่วมถล่มกองทัพเจ็ดทัพของอิกิ๋มและสังหารบังเต๊ก สร้างความหวาดหวั่นให้แก่กองทัพของโจโฉอย่างมาก ชื่อเสียงระบือไปทั่วแผ่นดิน แต่ภายหลังถูกแผนกลยุทธของลกซุนและลิบอง เข้าตลบหลังจนเสียเมืองเกงจิ๋ว กวนอูคับแค้นใจที่เสียทีลกซุนและลิบองจึงนำทัพไปตีเกงจิ๋วเพื่อแย่งคืน แต่ต้องหลุมพลางและถูกจับได้พร้อมกวนเป๋งที่เขาเจาสันและถูกประหารในปี พ.ศ. 762 รวมอายุได้ 59 ปี
- เตียวหุย
- เตียวหุย (จีน: 張飛 จางเฟย) เป็นชาวเมืองตุ้นกวน มณฑลเหอเป่ย รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าดำ ศีรษะโต นัยน์ตาพอง เสียงดังเหมือนฟ้าผ่า มีฝีมือในการรบสูงแต่มีจุดอ่อนที่นิสัยใจร้อน วู่วาม เสียการงานเพราะสุราบ่อยครั้ง มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ต่อพี่น้อง ชำนาญการใช้ทวนที่มีลักษณะคล้ายกริช เดิมเป็นคนฆ่าหมูขาย ภายหลังได้พบกับเล่าปี่และกวนอูจนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ อายุน้อยกว่าเล่าปี่ 6 ปี น้อยกว่ากวนอู 5 ปี สร้างวีรกรรมในการศึกมากมาย เมื่อครั้งทัพโจโฉไล่ตามตีเล่าปี่ที่เนินเตียงปัน เตียวหุยแต่ผู้เดียวยืนเฝ้ารักษาสะพานข้ามแม่น้ำ ทำให้ทัพของโจโฉไม่กล้าเข้าโจมตี ภายหลังยังใช้ปัญญาวางอุบายเล่นงานเตียวคับแม่ทัพคนสำคัญของโจโฉจนพ่ายแพ้ในศึกที่ฮั่นจง ภายหลังเมื่อกวนอูถูกฆ่าตาย เตียวหุยโกรธแค้นมาก ทวงสัญญาที่สาบานไว้ในสวนท้อและรบเร้าให้เล่าปี่ยกทัพไปตีซุนกวน แต่จูกัดเหลียงห้ามปรามไว้ ต่อมาได้สั่งลงโทษทหารสองคนคือฮอมเกียงและเตียวตัดโทษฐานเตรียมการไม่ทันและคาดโทษหนักถึงตาย เตียวหุยเสพสุราและเมาหลับในค่าย ทหารทั้งสองย้อนกลับมาฆ่าและตัดหัวก่อนไปสวามิภักดิ์ต่อง่อก๊ก รวมอายุได้ 54 ปี
- จูกัดเหลียง
- จูกัดเหลียง (จีน: 諸葛亮 จูเก๋อเลี่ยง) มีชื่อรองคือขงเบ้ง (孔明) เกิดในปี พ.ศ. 724 ปีเดียวกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นชาวตำบลหยางตู เมืองหลางเยีย มณฑลซานตง สูง 6 ศอก ใบหน้าขาวเหมือนหยก มักถือพัดขนนกคู่กายตลอดเวลา ได้รับการยกย่องถึงการเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ฉายาฮกหลงหรือมังกรหลับ รักความถูกต้องยุติธรรม ชอบสันโดษ สติปัญญาเฉียบแหลม ชำนาญตำราพิชัยสงคราม รอบรู้สภาพภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศ เล่าปี่ได้เชิญให้ไปช่วยทำราชการถึงสามครั้ง และเป็นผู้เสนอแผนหลงจงเตวัย แบ่งแยกแผ่นดินจีนออกเป็นสามก๊กเพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกัน รับใช้ราชวงศ์ฮั่นถึงสองรุ่น จูกัดเหลียงได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชแห่งอาณาจักรจก หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ จูกัดเหลียงได้ดูแลอาณาจักรจกเป็นอย่างดี พร้อมยังกรีธาทัพขึ้นเหนือตีอาณาจักรวุ่ย 5 ครั้ง แต่เสียดายนักที่ความฝันของเขาก็ไปได้แค่ครึ่งทางในการกรีธาทัพครั้งที่6 จูกัดเหลียงเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 54 ปี ภายหลังจากตรากตรำการศึกสงครามมาตลอดชีวิต ขงเบ้งมีผลงานทางพิชัยสงครามที่สำคัญคือตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง 24 บท ซึ่งเกียงอุยรับสืบทอดต่อ
- เตียวหยุน
- เตียวหยุน (จีน: 趙雲) มีชื่อรองคือจูล่ง (子龍) เป็นชาวตำบลเจวินติ้ง เมืองฉางชาน มณฑลเหอเป่ย รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขาว บุคลิกนิสัยกล้าหาญ ซื่อสัตย์ภักดี มักสวมเกราะเงินและชำนาญการใช้ทวนเป็นอาวุธ แต่เดิมจูล่งเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่ทนกับนิสัยไม่มีสัจจะของอ้วนเสี้ยวไม่ได้จึงไปอยู่กับกองซุนจ้าน ภายหลังได้พบกับเล่าปี่และซาบซึ้งในคุณธรรมและความมีน้ำใจ เมื่อกองซุนจ้านตายจึงไปทำราชการด้วย จูล่งเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่และเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกสงครามเกือบทุกครั้ง วีรกรรมสำคัญของจูล่งคือเมื่อเล่าปี่พ่ายแพ้โจโฉที่ฉางปั่น ครอบครัวเล่าปี่เกิดพลัดหลงในขณะหลบหนีไปทางใต้ จูล่งได้บุกตะลุยตีฝ่ากองทัพของโจโฉเพื่อค้นหาครอบครัวของเล่าปี่ และช่วยชีวิตอาเต๊าด้วยการนำมาใส่ไว้ในเกราะเสื้อที่บริเวณหน้าอก อาศัยกำลังตัวคนเดียวตีฝ่าตะลุยกองทัพ5แสนของโจโฉและนำอาเต๊ามาคืนให้แก่เล่าปี่ได้สำเร็จ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานไปทั่วแผ่นดินจนถึงปัจจุบัน เล่าปี่ยกย่องในความกล้าหาญและสัตย์ซื่อมาก ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือ จูล่งเป็นขุนศึกนักรบตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา ออกรบโดยไม่เคยพ่ายแพ้ ก่อนพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ ได้สั่งเสียให้จูล่งช่วยดูแลเล่าเสี้ยนและครอบครัวของตนต่อไป จากนั้นจึงคอยช่วยเหลือขงเบ้งปราบภาคใต้และภาคเหนือ เป็นนักรบชื่อดังไม่กี่คนในสามก๊กที่ได้นอนตายอย่างสงบที่บ้าน เมื่อรู้ว่าจูล่งตายแล้ว ขงเบ้งถึงกับร้องไห้หนักว่าเหมือนดั่งแขนซ้ายของตนเองขาด จูล่งเสียชีวิตในปีศักราชเจี้ยนซิ่ง ปีที่ 18 รวมอายุได้ 72 ปี
- โจผี
- โจผี (จีน: 曹丕 เฉาพี) พระนามรอง จื่อหวน เป็นพระโอรสองค์รองในพระเจ้าโจโฉ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรวุ่ย พระเจ้าโจผีทรงพระอัฉริยะภาพวิชาศิลปะวิทยาและวิชาการสงคราม พระองค์ทรงต่อสู้เคียงคู่พระบิดาแต่ยุคแรกเริ่ม หลังจากโจโฉเสียชีวิต พระเจ้าโจผีได้กลายเป็นผู้นำของทัพของโจโฉ เข้ายึดอำนาจของพระเจ้าเหี้ยนเต้พร้อมบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละบัลลังก์ และปราบดาภิเษกตนเป็นปฐมกษัติรย์แห่งอาณาจักรวุ่ยในที่สุด
- สุมาอี้
- สุมาอี้ (จีน: 司馬懿 ซือหม่าอี้) มีชื่อรองว่า ชงต๊ะ มีลักษณะ แววตาแหลมเล็กคล้ายตาเหยี่ยว สุมาอี้เป็นคนเฉลียวฉลาด ชำนาญตำราพิชัยสงคราม ใจคอหนักแน่นแต่ก็เด็ดขาดในการตัดสินใจ สุมาอี้รับราชการมาตั้งแต่สมัยโจโฉ และกลายเป็นอาจารย์ของโจผี ไต่เต้าเรื่อยมาจนกลายเป็นแม่ทัพใหญ่ในสมัยโจยอย และเป็นไจเซี่ยง ผู้สำเร็จราชการในสมัยโจฮอง สุมาอี้จึงเป็นขุนนางสำคัญของอาณาจักรวุยถึง 4 สมัย ทั้งนี้สุมาอี้เป็นคู่ปรับคนสำคัญของจูกัดเหลียงและสู้รบปรบมือกับจูกัดเหลียงได้ผลผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่ถึง 5 ครั้ง และเผด็จศึกจูกัดเหลียงอย่างเด็ดขาดได้ในศึกครั้งที่ 6 แล้วจูกัดเหลียงเสียชีวิต ต่อมาสุมาอี้ทำรัฐประหาร โค่นอำนาจของผู้สำเร็จราชการโจซอง และวางรากฐานให้ลูกหลานโค่นล้มสกุลโจในภายหลัง ต่อมาเมื่อสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์และสถาปนาราชวงศ์จิ้น ได้ถวายพระนามย้อนหลังให้สุมาอี้เป็นพระเจ้าจิ้นซวนตี้ (Jin Xuandi)
- ซุนกวน
- ซุนกวน (จีน: 孫權 ซุนเฉวียน) มีชื่อรองจ้งโหมว เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นกังตั๋ง บุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยน น้องชายซุนเซ็ก ซุนกวนครองเมืองกังตั๋งต่อจากซุนเซ็กด้วยอายุเพียง 18 ปี ไม่ชำนาญการศึกสงคราม แต่มีฝีมือในการปกครองคนสูง มีขุนนางและทหารฝีมือดีไว้ในครอบครองเช่น จิวยี่ โลซก ลกซุน ลิบอง เตียวเจียวและขุนนางเหล่าทหารฝีมือดีอีกเป็นจำนวนมาก ซุนกวนร่วมมือกับเล่าปี่ทำสงครามกับโจโฉในศึกผาแดง แต่ภายหลังไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ เมื่อโจผีขึ้นครองราชสมบัติต่อจากโจโฉได้แต่งตั้งซุนกวนเป็นเงาอ๋อง แต่มาถูกตัดความสัมพันธ์ในสมัยพระเจ้าโจยอย ซุนกวนแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิในปี พ.ศ. 771 ทรงพระนามพระเจ้าตงอู๋ ครองราชสมบัตินานถึง 24 ปี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 795 รวมพระชนมายุ 71 ชันษา
- จิวยี่
- จิวยี่ (จีน: 周瑜 โจวยวี๋) ชื่อรองกงจิ๋น แม่ทัพเรือที่เก่งที่สุดในยุคสามก๊ก มีบุคลิกหน้าตาหล่อเหลา สติปัญญาหลักแหลม ภักดีต่อตระกูลซุนถึงสามรุ่น จิวยี่เป็นพี่น้องร่วมสาบานและที่ปรึกษาของซุนเซ็กพระเชษฐาของพระเจ้าซุนกวน ครั้นก่อนซุนเซ็กจะเสียชีวิตก็ได้สั่งเสียจิวยี่ให้ดูแลอาณาจักรง่อก๊กและซุนกวน ต่อมาในสมรภูมิผาแดงจิวยี่ได้จับมือร่วมรบกับจูกัดเหลียง เอาชนะทัพหลวงของโจโฉได้สำเร็จ กล่าวกันนักว่าจิวยี่ริษยาจูกัดเหลียง เมื่อจิวยี่ก่อนเสียชีวิตได้รำพันออกมาว่า "เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย" แต่ข้อเท็จจริงจิวยี่และจูกัดเหลียงมิได้มีอคติแก่กันเลย
- ลกซุน
- ลกซุน (จีน: 陸遜 ลู่ซวิ่น) ชื่อรองป้อเอี๋ยน แม่ทัพหนุ่มอัจฉริยะแห่งอาณาจักรง่อ มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถเอาชนะขุนศึกที่มีประสบการณ์อย่างกวนอูและพระเจ้าเล่าปี่ ทำให้ทั้งกวนอูเสียชีวิตและเล่าปี่เสียชีวิตและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาตามลำดับ ซุนกวนไว้วางใจและยกย่องมาก ลกซุนทำหน้าที่ดูแลกิจการกองทัพทั้งหมดหลังจากซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ แต่ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งเพราะขัดแย้งกับพระเจ้าซุนกวนในเรื่องของการแต่งตั้งอุปราช ตรอมใจจนเสียชีวิตในที่สุด ลกซุนได้รับการยอมรับว่ามีสติปัญญาและความสามารถเทียบเท่ากับขงเบ้งและสุมาอี้
- ตั๋งโต๊ะ
- ตั๋งโต๊ะ (จีน: 董卓 ต่งจั๋ว) ชื่อรองจ้งหยิ่ง อุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่นในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ หลังจากการปราบปราม10ขันที ตั๋งโต๊ะก็ก้าวสู่การเป็นทรราชผู้ยิ่งใหญ่จนแผ่นดินเดือดเป็นไฟในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดเขาก็ถูกสังหารโดยลิโป้เนื่องด้วยอุบายของเตียวเสี้ยนและอ้องอุ้น และทำให้โจโฉได้รับความชอบธรรมเป็นอุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่นในเวลาต่อมา
- ลิโป้
- ลิโป้ (จีน: 吕布 ลวี่ปู้) ชื่อรองเฟย์เสียง เป็นสุดยอดขุนพลของตั๋งโต๊ะและเป็นที่เกรงขามไปทั่วแผ่นดิน ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบที่เก่งที่สุดในยุคสามก๊ก แต่มีนิสัยละโมบ เนรคุณต่อคนอื่น ลิโป้ออกรบโดยถูกเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยรุมที่ด่านเฮาโลก๋วน ก็ยังเอาตัวรอดได้ แม้ว่าลิโป้จะเป็นที่เกรงขามไปทั่วแผ่นดินแต่ลิโป้เป็นคนอกตัญญูฆ่าผู้มีพระคุณมากมายรวมทั้งตั๋งโต๊ะด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดยอดขุนพลลิโป้ผู้นี้ต้องพ่ายแพ้ให้แก่โจโฉและเล่าปี่ คราวที่ต้องประหารลิโป้ ลิโป้ได้ขอชีวิตแก่เล่าปี่ แต่เล่าปี่ก็ยืนยันให้โจโฉประหารเพราะความอกตัญญูของลิโป้เอง
- เตียวเสี้ยน
- เตียวเสี้ยน (จีน: 貂蝉 เตียวฉาน) บุตรสาวบุญธรรมของอ้องอุ้น เตียวเสี้ยนเป็นคนกตัญญูกตเวทีต่ออ้องอุ้นและแผ่นดิน อ้องอุ้นจึงให้อุบายนางไปยุยั่วให้ลิโป้และตั๋งโต๊ะแตกกันจนนางได้เป็นภรรยาของตั๋งโต๊ะและลิโป้ ต่อมาแผนการของอ้องอุ้นสำเร็จและตั๋งโต๊ะเสียชีวิตจากการถูกลิโป้สังหาร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านางหายสาบสูญไปไหน กล่าวกันว่านางน่าจะเสียชีวิตพร้อมกับอ้องอุ้นเมื่อครั้งที่ข้ารับใช้ของตั๋งโต๊ะบุกเข้าลกเอี้ยง แต่บางบันทึกก็กล่าวไว้ว่า นางเป็นเพียงตัวละครที่หลัวกวั้นจงสร้างขึ้นมาไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
การแปลเป็นภาษาต่าง ๆ
แก้การแปลสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ นั้น ในหนังสือ "ตำนานสามก๊ก" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงรวบรวมประวัติการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ จนถึง พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นปีที่ทรงพระนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ดังนี้[17]
ภาษา | ปีพุทธศักราช |
---|---|
ภาษาญี่ปุ่น | ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2235 |
ภาษาไทย | แปลเมื่อ พ.ศ. 2345 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2408 |
ภาษาสเปน | ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2373 |
ภาษาฝรั่งเศส | ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2388 |
ภาษาเกาหลี | ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2402 |
ภาษาญวน | ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2452 |
ภาษาอังกฤษ | ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469 ก่อนหน้านี้มีการแปลสามก๊กเป็นภาษาอังกฤษในบางตอนแล้ว แต่ฉบับที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2469 เป็นการแปลตลอดทั้งเรื่อง ผลงานของบริวิต เทเลอร์ |
ภาษาเขมร | ไม่ทราบปีที่แปลอย่างชัดเจน และยังไม่มีการตีพิมพ์สามก๊กฉบับภาษาเขมรในขณะที่ทรงนิพนธ์ เชื่อได้ว่าการแปลสามก๊กเป็นภาษาเขมรนั้น ได้ต้นฉบับจากสามก๊กภาคภาษาไทย[18] |
ภาษามลายู | พิมพ์เมื่อใดไม่มีข้อมูล (พิมพ์ที่สิงคโปร์) |
ภาษาละติน | ไม่ทราบปีที่แปลอย่างชัดเจน แต่มีต้นฉบับอยู่ที่รอยัลอาเซียติคโซไซเอตี (Royal Asiatic Society) โดยมีบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบิชอปอยู่ในประเทศจีนเป็นผู้แปล |
นอกจากนี้ยังทรงเชื่อว่ายังมีสามก๊กที่แปลในภาษาอื่นที่ยังสืบความไม่ได้ เช่นภาษามองโกล เป็นต้น[18]
ในประเทศไทย สามก๊กได้รับการแปลและเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วในปี พ.ศ. 2345 โดยซินแสผู้รู้ภาษาจีนได้แปลออกมาให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งก่อนทำการตีพิมพ์ ดังนั้นเมื่อนำสามก๊กของหลัว กวั้นจงซึ่งเป็นต้นฉบับ นำมาเปรียบเทียบเคียงกับภาษาไทยที่แปลโดย สังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นการแปลออกมาในรูปแบบของตำราพิชัยสงคราม หรือสามก๊ก ฉบับวณิพกของยาขอบ หรือฉบับสามก๊ก ฉบับภาษาอังกฤษของบริวิต เทเลอร์ จะเห็นว่าเนื้อและความหมายของบทประพันธ์ในหลายตอนมีคลาดเคลื่อนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการคลาดเคลื่อนของความหมายในสามก๊กนั้นเกิดจากผู้แปลโดยตรง[19] อย่างไรก็ดี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วรรณคดีสโมสร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ได้ตัดสินให้ "สามก๊ก" เป็นวรรณคดีประเภทเรียงความยอดเยี่ยมประเภทนิทาน เสมอกับเรื่องราชาธิราช เนื่องจากมีการใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและทอดแทรกแฝงแง่คิดต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยถือว่าสามก๊กนั้น เป็นตำราสำหรับใช้ในการศึกษากลยุทธ์ในการทำสงครามและประวัติศาสตร์ของจีนได้เป็นอย่างดี[20]
ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
แก้สามก๊กฉบับหลัว กวั้นจงได้มีการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2345 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดแปลพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ไซ่ฮั่น และแปลพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช เพื่อให้คนไทยได้ใช้ศึกษาเป็นตำราพิชัยสงคราม โดยมอบหมายให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลสามก๊ก มีความยาวทั้งสิ้น 95 เล่มสมุดไทย ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ได้แปลสามก๊กจากต้นฉบับทั้งหมด เนื่องจากการใช้สำนวน ภาษา และรูปแบบการแปลในตอนท้ายเรื่องเป็นคนละสำนวนกับตอนต้นเรื่อง สามก๊กฉบับนี้ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือแบบฝรั่งครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเล มีจำนวน 4 เล่มจบ เมื่อปี พ.ศ. 2408 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[21] ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีกล่าวถึงในบทละครนอกเรื่องคาวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ว่า
"เมื่อนั้น | ไวยทัตหุนหันมาทันตรึก |
อวดรู้อวดหลักฮักฮึก | ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก |
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน | เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก |
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก | ได้เรียนไว้ในอกสารพัด |
ย้ายกลับไปทูลพระเจ้าป้า | ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด |
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด | จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา |
บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องคาวี[22] |
เนื้อหาในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่มีการกล่าวถึงตำราพิชัยสงครามและสามก๊ก นับเป็นหลักฐานการยืนยันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความคุ้นเคยของชาวไทยที่มีต่อสามก๊ก และได้มีการค้นพบจดหมายเหตุในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งโปรดปรานบทร้อยแก้วของสามก๊กที่เป็นการแปลฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มีพระราชดำริรับสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เพื่อสำหรับนำไปใช้ในการบริหารราชการบ้านเมืองสืบต่อไป[23]
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาชำระสอบทานต้นฉบับ แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือพระราชทานในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ต่อมาโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรได้ขอประทานอนุญาตจัดพิมพ์จำหน่าย ในชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" ในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งสามก๊กที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายหลังจากนั้น พิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภามาโดยตลอด จนกระทั่งมีการตรวจสอบและชำระสอบทานต้นฉบับอีกครั้งด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ดอกหญ้ากับหอสมุดแห่งชาติ[24]
ฉบับวรรณไว พัธโนทัย
แก้แปลโดย นายวรรณไว พัธโนทัย เป็นสามก๊กฉบับแรกที่พยายามแปลจากต้นฉบับสามก๊กภาษาจีนของ หลอก้วนจง ทำให้เป็นสามก๊กฉบับแปลไทยฉบับแรกที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับฉบับภาษาจีนและภาษาอังกฤษของ บริเวตต์ เทย์เลอร์ สามก๊กฉบับวรรณไว พัธโนทัย ยังเป็นฉบับที่ถือว่าแปลตามลักษณะของนิยายตะวันตกคือแปลคำต่อคำ โดยไม่ได้ดัดแปลงสำนวนภาษาแต่อย่างใด จึงค่อนข้างอ่านง่าย สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้มีรสทางวรรณกรรมเทียบเท่ากับสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งใช้สำนวนเป็นภาษาชาววังโบราณ ส่วนฉบับนี้ภาษาที่ใช้ก็เป็นสำนวนปกติทั่วไป[25] อีกจุดหนึ่งที่สามก๊กฉบับนี้ยังคงไว้จากต้นฉบับคือ บทร้อยกรองต่าง ๆ และเนื้อหาของฎีกาหรือข้อความบรรยายบางจุดที่ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตัดออก ในฉบับนี้ก็ยังมีอยู่ครบ แต่กระนั้นก็ยังมีบางจุดที่แปลผิดพลาดอยู่บ้าง[26]
ฉบับวณิพก (ยาขอบ)
แก้สามก๊กฉบับวณิพก ผลงานการประพันธ์ของยาขอบ เป็นการเล่าเรื่องสามก๊กใหม่ในแบบฉบับของตนเอง และเน้นตัวละครเป็นตัวไป เช่น เล่าปี่ผู้พนมมือแด่ชนทุกชั้น, โจโฉผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ, จิวยี่ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า, ตั๋งโต๊ะผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ, ลิโป้อัศวินหัวสิงห์, จูกัดเหลียงผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน, เตียวหุยคนชั่วช้าที่น่ารัก, กวนอูเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, จูล่งวีรบุรุษแห่งเสียงสาน, ยี่เอ๋งผู้เปลือยกายตีกลอง เป็นต้น อีกทั้งยังได้เพิ่มสำนวนและการวิเคราะห์ส่วนตัวเข้าไปด้วย โดยอาศัยสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิต เทเลอร์มาประกอบร่วมกับสามก๊กฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ในปี พ.ศ. 2529 จำนวน 2 เล่ม และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 - 2540 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้าในรูปแบบของหนังสือชุดจำนวน 8 เล่ม และตีพิมพ์เป็นเครื่องระลึกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของยาขอบโดยสำนักพิมพ์แสงดาว ในปี พ.ศ. 2551 จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งสองเล่ม
ฉบับตำราพิชัยสงคราม (สังข์ พัธโนทัย)
แก้สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย สังข์ พัธโนทัย ลักษณะการแปลเป็นการรวบรวมเอาตัวละครเด่น ๆ ของเรื่อง มาสรุปเป็นตัว ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่จุดเสื่อมราชวงศ์ฮั่น ตั๋งโต๊ะยึดอำนาจ ฯลฯ ไปจนถึงอวสานยุคสามก๊กและมีการอ้างอิงตัวละครทั้งหมดในท้ายเล่ม มีการเทียบเสียงจีนกลาง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบรายชื่อตัวละครและสถานที่สำคัญในเนื้อเรื่อง นอกจากนี้สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม ยังเได้รับยอมรับว่า เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผู้คิดเริ่มอ่านสามก๊ก ควรอ่านก่อนสามก๊กฉบับอื่น ๆ เพราะอ่านง่ายและสรุปเรื่องได้ดี[ต้องการอ้างอิง] ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประดู่ลาย
ฉบับคนขายชาติ
แก้เรียบเรียงโดย เรืองวิทยาคม มีทั้งสิ้น 655 ตอน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ในเครือผู้จัดการ เหตุในการเรียบเรียงสามก๊กฉบับนี้ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมด้วยปัญหาทางการเมืองควบคู่กัน จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเรียบเรียงสามก๊กฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งในเนื้อหาเจตนาผู้เขียนมิได้กระทบกระเทียบเสียดสีผู้ใดในบ้านเมือง[27][28]
ความนิยม
แก้นิยายสามก๊กของหลัว กวั้นจง ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างยิ่งในยุคของราชวงศ์หมิง ที่ครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หยวน โดยมีการนำไปเล่นเป็นงิ้ว อันเป็นการแสดงที่เข้าถึงผู้คนทั่วทุกหัวระแหง และมีการแต่งตั้งให้กวนอูเป็น "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" ที่เป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมากแทนที่งักฮุยหรือเยี่ยเฟย กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็นถึง "จงอี้เหรินหย่งเสินต้าตี้" ซึ่งมีความหมายคือ มหาเทพบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี คุณธรรมและความกล้าหาญ
ศาลเจ้าสามก๊ก
แก้ศาลเจ้าสามก๊ก ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่วัดอู่โหวซื่อ ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน สร้างขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์จิ้นตะวันตก ด้านหลังของวัดเป็นที่ตั้งสุสานของพระเจ้าเล่าปี่และจูกัดเหลียง ซึ่งเป็นตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงในสามก๊ก ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีน เรื่องราวต่าง ๆ ในสามก๊กเริ่มต้นในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของพระเจ้าเหี้ยนเต้ เนื่องจากในขณะนั้นเล่าปี่ปกครองและแต่งตั้งเสฉวนเป็นราชธานี โดยมีจูกัดเหลียงเป็นที่ปรึกษา ราษฏรใช้ชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข แต่เมื่อเล่าปี่สวรรคตแล้ว ประชาชนต่างให้การยอมรับและนับถือจูกัดเหลียงมากกว่า จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นมาเพื่อเป็นที่เคารพบูชา แต่ไม่นานทางรัฐบาลจีนเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมีคำสั่งให้สร้างศาลเล่าปี่ขึ้น รวมทั้งให้มีรูปปั้นขุนนาง 14 ท่านภายในศาลเจ้า
ศาลเจ้าสามก๊ก ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 766 หรือเมื่อประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สามก๊กในสมัย พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 สร้างขึ้นโดยพระบัญชาของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรเฉิงปลายราชวงศ์จิ๋น ในอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางเมตร สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในศาลเจ้าสามก๊ก เป็นผลงานการก่อสร้างที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นในปีที่ 11 ของจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง และได้รับการยกย่องเป็นโบราณสถานแห่งชาติของจีนในปี พ.ศ. 2504 ต่อมาได้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2527
ภายในศาลมีการแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งมีการแยกศาลต่าง ๆ ออกเป็นเฉพาะบุคคลคือศาลเล่าปี่ จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กและราชวงศ์ฮั่น ศาลเจ้ากวนอูที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของ 5 ทหารเสือฝ่ายบู๊ กวนอูเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์และกตัญญู จนได้รับการยกย่องจากชาวจีนให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และโชคลาภ ศาลเจ้าจูกัดเหลียงที่มีความโด่งดังในด้านของสติปัญญาและความฉลาดเฉลียว ภายในศาลมีรูปปั้นจูกัดเหลียงขนาดใหญ่มีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี ชาวจีนเรียกกันว่า "ทาสอุ้มทรัพย์" ตามความเชื่อต่อ ๆ กันของชาวจีน ถ้าผู้ใดได้ลูบที่รูปปั้นจูกัดเหลียงแล้วจะมีโชคลาภ จูกัดเหลียงได้ชื่อว่าเป็นกุนซือหรือที่ปรึกษาคนสำคัญของเล่าปี่ที่มีความเฉลียวฉลาด วางแผนการรบและกลศึกต่าง ๆ ที่มีความสลับซับซ้อน ชาวจีนส่วนใหญ่จะนับถือจูกัดเหลียงมากกว่าศาลเจ้าเล่าปี่และศาลเจ้ากวนอู จนมีการเรียกศาลเจ้าสามก๊กเป็นศาลเจ้าจูกัดเหลียงแทน นอกจากศาลเจ้าเล่าปี่ กวนอูและจูกัดเหลียงแล้ว ภายในบริเวณศาลยังมีรูปปั้นประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญในสมัยราชวงศ์สู่ เรื่องราวต่าง ๆ จากตำนานอันยิ่งใหญ่ของสามก๊กของบุคคลอื่น ๆ อีกเช่น โจโฉ เตียวหุย และอีก 14 เสนาธิการทหารเอก
แต่เดิมสุสานของพระเจ้าเล่าปี่และจูกัดเหลียงไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ได้มีการย้ายศาลจูกัดเหลียงจากเมืองเซ่าเฉิงมาอยู่ในบริเวณใกล้กันในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ในราวปี พ.ศ. 963 - พ.ศ. 1132 จนถึงยุคราชวงศ์หมิงจึงรวมสุสานและศาลเล่าปี่กับจูกัดเหลียงเข้าด้วยกัน และได้พัฒนาศาลเจ้าดังกล่าวโดยสร้างรูปปั้นขนาดใหญ่ของเล่าปี่ จูกัดเหลียง กวนอู และเตียวหุย เป็นประธานอยู่ในห้องโถงกลาง ด้านข้างมีรูปปั้นตัวละครและขุนศึกต่าง ๆ ในยุคสามก๊กประดับเรียงรายตลอดทางระเบียงเป็นที่สำหรับให้ประชาชนมาเคารพสักการะ ในเวลาต่อมาวัดอู่โหวซื่อก็กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อศาลจูกัดเหลียงหรือศาลเจ้าสามก๊ก และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองเฉิงตูในปัจจุบัน[29]
อุทยานสามก๊ก
แก้อุทยานสามก๊ก ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในอาณาเขตพื้นที่กว่า 36 ไร่ มีการจัดวางรูปแบบตามหลักฮวงจุ้ยของจีน พื้นที่ทั้งหมดของอุทยานสามก๊กประกอบไปด้วยต้นไม้และสถาปัตยกรรมแบบจีนเป็นจำนวนมาก มีหยินและหยางตามแบบฉบับปรัชญาแห่งความสมดุลของจีน สร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ออกแบบโดย อาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย และอาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ สถาปนิกแห่งกรมศิลปากร เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและจีนได้อย่างลงตัว[30]
พื้นที่ตั้งของอุทยานสามก๊กเป็นพื้นที่ลาดต่ำไปทางทิศใต้ มีภูเขาขนาดย่อมทอดตัวอยู่ทางทิศเหนือ มีลักษณะการยกระดับขึ้นไปเป็นระยะ ๆ จนเชื่อมต่อกับบันไดทางขึ้น บริเวณโดยรอบวางผังแบบรูปทรงเรขาคณิต ตามหลักการวางผังบริเวณที่เป็นมงคลมาแต่โบราณทั้งของไทยและจีน มีซุ้มประตูทางเข้าวางเป็นตัวกั้นแบ่งพื้นที่ส่วนอนุสรณ์สถานที่อยู่ทางทิศเหนือกับส่วนบริการทางทิศใต้ วางแนวแกนตะวันออก-ตะวันตกเพื่อเป็นที่ตั้งของอาคารศาลเจ้าแม่กวนอิมกับอาคารอเนกประสงค์ โดยมีระเบียงโค้งแบบจันทร์เสี้ยวเป็นตัวเชื่อมต่อและโอบล้อมอาคารทั้ง 3 หลังเป็นหนึ่งเดียวกัน มีสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีนที่เรียกว่าเก๋ง จำนวน 3 อาคาร
อาคารกลางหรืออาคารประธานมีความสูงที่สุด มีทั้งหมด 4 ชั้น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งสื่อถึงท้องทะเลและท้องฟ้า มีการประดับรูปประติมากรรมเพื่อความเป็นมงคลตามหลักความเชื่อดั้งเดิมของจีนเช่น คนชราขี่สัตว์รูปร่างคล้ายไก่หรือเซียนเหญิน, มังกรสี่ขาท่านั่ง รูปร่างคล้ายสัตว์จตุบาท เรียกอีกอย่างว่า "จตุบาทพันธุ์มังกร" เป็น 1 ในบุตรชายทั้ง 9 ของพญามังกร , หงส์ สัตว์จตุบาทรูปลักษณะหงส์ ซึ่งแต่เดิมนั้นหงส์จัดเป็นส่วนประดับหลักของอุทยานสามก๊ก แต่เนื่องจากจักรพรรดิเทียบเท่าได้กับมังกร หงส์ซึ่งหมายถึงฝ่ายหญิงหรือฮองเฮา
ชั้นที่ 2 เป็นภาพวาดประวัติศาสตร์สีน้ำมัน เป็นการบันทึกเรื่องราวและชีวประวัติทั้งหมดของจูกัดเหลียง มีทั้งหมด 8 ตอนด้วยกัน และชั้นที่ 3 เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวของจูกัดเหลียงในช่วงที่ 2 เป็นภาพเขียนฝาผนังยาว 100 เมตร ทั้งหมด 8 ตอน โดยฝีมือของจิตรกรชาวจีน ใช้ระยะเวลาในการเขียนภาพฝาผนังเป็นเวลานานถึง 5 ปี ชั้นที่ 4 เป็นหอแก้วสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ค้นพบที่ถ้ำแห่งหนึ่งในลำพูน โดย ดร.วรภัทร ภู่เจริญ เป็นผู้มอบให้แก่อุทยานสามก๊กเพื่อเป็นที่สักการบูชา หันหน้าออกทางทะเลตามหลักฮวงจุ้ย พร้อมรูปปั้นพระสังกัจจายน์และพระถังซำจั๋ง
ภายในอุทยานสามก๊ก มีระเบียงจิตรกรรมบนกระเบื้องกังไสจีน เป็นการจัดแสดงฉากจากพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก จำนวน 56 ตอน ความยาว 240 เมตร เป็นการคัดย่อวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กเฉพาะในส่วนตอนที่สำคัญตั้งแต่ตอนต้นเรื่องคือเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย สามวีรบุรุษร่วมสาบานในสวนท้อ กระทั่งถึงตอนสุดท้ายที่สุมาเอี๋ยนได้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ถือได้ว่านอกจากอุทยานสามก๊กจะได้ย่อตำนานพงศาวดารจีนที่มีความยาวเป็นอย่างมากไว้ภายในอุทยานแล้ว ยังได้นำเสนอเรื่องราวของสามก๊กผ่านระเบียงจิตรกรรม นอกจากนั้นยังมีตัวละครเอกในรูปแบบของรูปปั้นกังไสกระเบื้องประดับภายในอุทยานอีกด้วย ซึ่งอุทยานสามก๊กจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้นำเอาศิลปะความเป็นจีน นำเสนอผ่านทางรูปแบบของสถาปัตยกรรมจีนร่วมสมัยอีกด้วย
สามก๊กในปัจจุบัน
แก้สามก๊กเป็นวรรณกรรมจีนที่เป็นอมตะ ได้รับการกล่าวขานถึงการเป็นสุดยอดวรรณกรรมจีนที่ให้แง่คิดในเรื่องต่าง ๆ แม้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายยุคสมัย แต่ชื่อของตัวละคร สถานที่หรือลักษณะท่าทางต่าง ๆ ยังเป็นที่จดจำและกล่าวขานต่อ ๆ กันมาทุกยุคสมัย ในปัจจุบันสามก๊กกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยมาโดยตลอดและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสามก๊กออกมาตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นอย่างมาก เช่นหนังสือ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ รวมทั้งเกมวางแผน ซึ่งได้หยิบยกเรื่องราวและตอนสำคัญบางส่วนของสามก๊กนำมาทำเป็นเกมจำนวนมาก ซึ่งกล่าวได้ว่าสามก๊กนั้นเป็นสิ่งที่สืบทอดต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบัน
หนังสือ
แก้สามก๊ก เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีผู้นำไปตีความในแง่มุมต่าง ๆ เกิดเป็นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับสามก๊กอีกมากมาย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนหนังสือชุด "สามก๊ก ฉบับนายทุน" ขึ้นเป็นทำนองล้อเลียนฉบับวณิพกของยาขอบ โดยตีความเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊กไปในทางตรงกันข้าม ด้วยสมมุติฐานว่าผู้เขียนเรื่องสามก๊กตั้งใจจะยกย่องฝ่ายเล่าปี่เป็นสำคัญ หากผู้เขียนเป็นฝ่ายโจโฉเรื่องก็อาจบิดผันไปอีกทางหนึ่ง งานเขียนที่สืบเนื่องจากสามก๊กของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้แก่ โจโฉนายกตลอดกาลและ เบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็น ซึ่งในหนังสือเล่มหลังนี้นำเสนอแนวคิดว่าแท้จริงแล้วเบ้งเฮ็กอาจจะเป็นบรรพบุรุษของคนไทยที่อพยพหนีลงมาจากสงครามก็ได้
นอกจากนี้ยังมีงานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับสามก๊กอีกมากมายเช่น สามก๊กฉบับคนเดินดินของเล่าชวนหัว สามก๊กฉบับคนขายชาติของเรืองวิทยาคม เจาะลึกสามก๊กฉบับวิจารณ์ของวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ CEO ในสามก๊กของเปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป เป็นต้น
ละครโทรทัศน์
แก้ละครโทรทัศน์ชุด สามก๊ก เป็นละครที่ผลิตขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเป็นการเชิดชูวรรณกรรมอมตะของจีน โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ด้วยความร่วมมือกับทางประเทศญี่ปุ่น ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 84 ตอน ความยาวตอนละ 44 นาที สามก๊กในแบบฉบับละครโทรทัศน์ได้รับการนำเข้ามาออกอากาศครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อกลางปี พ.ศ. 2537 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยบริษัทมีเดียส์ ออฟ มีเดีย จำกัด เวลาประมาณ 22.00 น. และออกอากาศซ้ำอีกครั้งทางช่องเอ็มวีทีวีวาไรตี้แชนแนล เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551
ปัจจุบันได้นำสามก๊กฉบับละครโทรทัศน์มาออกอากาศอีกครั้งทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ - อาทิตย์ เวลา 22.30 น. - 23.23 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 และได้มีการปรับช่วงเวลาในการการออกอากาศเป็นเวลา 22.00 น. - 22.53 น. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน ลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายวีดิทัศน์ของละครโทรทัศน์ชุดนี้ในประเทศไทย เป็นของบริษัทมูฟวี่โฮมวิดีโอ จำกัด ในรูปแบบวีซีดีและดีวีดี
สามก๊ก ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้ง โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และออกฉายทางโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่องเจียงซู ช่องอันฮุย ช่องฉงชิ่ง และช่องเทียนจิน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 โดยละครชุดสามก๊ก ชุดใหม่นี้มีทั้งหมด 95 ตอน กำกับโดย เกาซีซี
ภาพยนตร์
แก้วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จำนวน 3 เรื่องคือสามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร (อังกฤษ: Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon; จีน: 三國之見龍卸甲) สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ (อังกฤษ: Red Cliff, The Battle of Red Cliff; จีน: 赤壁) และ สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู (อังกฤษ: The Lost Bladesman; จีน: 關雲長)
สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกรนำแสดงโดย หลิวเต๋อหัว, แม็กกี้ คิว, หงจินเป่า, แวนเนส วู, แอนดี้ อัง, ตี้หลุง กำกับการแสดงโดย แดเนียล ลี ความยาว 102 นาที ออกฉายเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551 ในประเทศไทยฉายวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกรได้รับเสียงวิจารณ์ไปทางลบเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เป็นการเจาะเฉพาะตัวละครเอกของเรื่องคือจูล่งเพียงคนเดียว โดยเป็นการเล่าเรื่องราวประวัติของจูล่งตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา รวมทั้งเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ก็ไม่ได้เป็นไปตามวรรณกรรมอีกด้วย และมีตัวละครหลายตัวที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะเช่น โจอิง หรือ หลอผิงอัน เป็นต้น และอีกหลายส่วนในเรื่องก็ไม่เป็นไปตามวรรณกรรมเช่นชุดเกราะของจูล่งที่ในวรรณกรรมระบุว่าสวมเกราะสีเงิน แต่ในภาพยนตร์กลับสวมเกราะที่มีลักษณะคล้ายเกราะของซามูไรมากกว่า จึงทำให้ในเว็บไซต์ IMDb ให้เครดิตภาพยนตร์เรื่องนี้เพียง 5.7 ดาว จาก 10 ดาวเท่านั้น
สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ขนาดยาวที่ร่วมทุนสร้างระหว่างจีนและฮ่องกง ออกฉายพร้อมกันทั่วทวีปเอเชียในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เพื่อต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน สร้างจากวรรณกรรมชิ้นเอกของจีนเรื่อง สามก๊ก ในตอน โจโฉ แตกทัพเรือหรือศึกผาแดง อำนวยการสร้างและกำกับโดย จอห์น วู ด้วยทุนสร้างกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์เอเชีย โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ ด้วยกันเฉพาะในเอเชีย ส่วนประเทศอื่น ๆ จะฉายในตอนเดียวจบในระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง นำแสดงโดยเหลียงเฉาเหว่ย, ทาเคชิ คาเนชิโร่, หลินจื้อหลิง, จางเฟิงอี้, ฉางเฉิน, เจ้า เวย, ฮูจุนและชิโด นากามูระ
สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู เป็นภาพยนตร์ฮ่องกงอิงประวัติศาสตร์ ดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก ในตอนที่กวนอูพาภรรยาของเล่าปี่ฝ่าด่าน 5 ด่านและสังหารขุนพลของโจโฉ 6 นาย นำแสดงโดยดอนนี่ เยน กำกับโดยอลัน มัก และเฟลิกซ์ ชอง ออกฉายเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 และฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
การ์ตูนและเกม
แก้วรรณกรรมสามก๊ก ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของการ์ตูนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเช่น การ์ตูนเรื่องสามก๊ก (ญี่ปุ่น: 横山光輝 三国志; โรมาจิ: Yokoyama Mitsuteru Sangokushi) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องยาว ที่แปลมาจากวรรณกรรรมอมตะของจีนเรื่องสามก๊ก วาดภาพโดยมิตสึเทรุ โยโกยามะ ต่อมาได้ถูกสร้างเป็นอนิเมะ ในปี พ.ศ. 2534 ออกอากาศทางสถานีทีวีโตเกียวและสร้างเป็นเกมสำหรับเครื่องนินเทนโดดีเอส ในปี พ.ศ. 2550
เนื้อเรื่องในการ์ตูนสามก๊กฉบับการ์ตูนญี่ปุ่นแปลมาจากหนังสือสามก๊กฉบับภาษาญี่ปุ่นของเออิจิ โยชิคาวะ ซึ่งมีความแตกต่างจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบเล็กน้อย สามก๊กเป็นนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยแผนการรบและกลอุบาย จนมีคำกล่าวว่า อ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้ ในประเทศไทย สำนักพิมพ์จัมโบ้เป็นผู้จัดพิมพ์การ์ตูนสามก๊กเป็นเล่มใหญ่ โดยแบ่งเป็น 15 เล่มจบ
หงสาจอมราชันย์ เป็นการ์ตูนฮ่องกง เรื่องโดยเฉินเหมา นักเขียนการ์ตูนชาวฮ่องกง ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เรื่องราวหยิบยกเอาเหตุการณ์ในสามก๊ก จากทั้งวรรณกรรมและพงศาวดารมาเป็นโครงเรื่อง ซึ่งบางส่วนมีการตีความลักษณะของตัวละครขึ้นมาใหม่จากความคิดของเฉินเหมาเอง โดยมีสุมาอี้และเหลี่ยวหยวนหว่อหรือจูล่งเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก ปัจจุบันนอกจากฮ่องกงกับไต้หวันแล้ว หงสาจอมราชันย์ยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปตีพิมพ์ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย
สามก๊ก มหาสนุก เป็นงานเขียนการ์ตูนเรื่องสามก๊ก เรื่องและภาพโดยหมู นินจา ตีพิมพ์ในนิตยสารมหาสนุกตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2550 ภายหลังได้มีการตีพิมพ์รวมเล่มเป็นการ์ตูนสีรวมทั้งหมด 45 เล่ม และบริษัทวิธิตาได้นำเรื่องสามก๊กมาสร้างเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นจำนวน 2 ภาค ล่าสุดได้รับการแปลเป็นภาษาเกาหลี จัดจำหน่ายโดย บริษัท พีเอ็มจี โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ซัมซุง บุ๊ค พับลิเชอร์[31]
Dynasty Warriors (ญี่ปุ่น: 真・三國無双; โรมาจิ: Shin Sangokumusō; ทับศัพท์: lit. "True - Unrivaled Three Kingdoms") เป็นเกมต่อสู้จัดทำและพัฒนาโดย Koei วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ในเพลย์สเตชัน Dynasty Warriors เป็นเกมที่จำลองวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง, อาวุธ, ลักษณะท่าทางและตัวละครที่ปรากฏในเกมล้วนแล้วมาจากเรื่องสามก๊กทั้งสิ้น
ในประเทศญี่ปุ่นเกมนี้ใช้ชื่อว่า Sangokumusō ซึ่งภายหลังได้มีการจำหน่าย Dynasty Warriors 2 ที่ดัดแปลงจากภาค 1 ให้มีภาพที่สวยงามและเล่นสนุกขึ้น ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้ให้ชื่อ Dynasty Warriors 2 ไว้ว่า Shin Sangokumusō ในปัจจุบัน Dynasty Warriors เป็นเกมที่มีผู้เล่นเยอะมากที่สุดเกมหนึ่งของโลก และมีวางออกจำหน่ายแล้วถึง 12 ภาคด้วยกัน
เชิงอรรถ
แก้- ↑ ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ (ภาษาจีน) หรือ
สามก๊กเอี้ยนหงี (ภาษาฮกเกี้ยน)
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ การแปลสามก๊กในปัจจุบัน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 20
- ↑ "สามก๊ก นิยายจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มแรกในไทย". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-07-15. สืบค้นเมื่อ 2004-07-15.
- ↑ คำนำอินไซด์สามก๊ก (ฉบับอ่านสามก๊กอย่างไรให้แตกฉาน) , ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2500, หน้า 3
- ↑ ความเป็นมาของสามก๊ก, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 9
- ↑ "แนะนำสามก๊ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-13. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
- ↑ บันทึกประวัติศาสตร์ สามก๊กจี่หรือซันกั๋วจวื้อ, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 12
- ↑ ซันกั๋วจือผิงฮว่า สามก๊กฉบับนิทาน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 14
- ↑ ไป่ซ่งจี๋ บัณฑิตผู้ชำระซันกั๋วจือ, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 14
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจี่ยซิง, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 15
- ↑ ซันกั๋วหยั่นอี้ สามก๊กฉบับปรับปรุง, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 16
- ↑ ราชวงศ์วุย, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 58
- ↑ ราชวงศ์ฮั่น, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 52
- ↑ ราชวงศ์ซุน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 58
- ↑ บันทึกจดหมายเหตุประเทศจีน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 23
- ↑ Luo, Guanzhong, attributed to, translated from the Chinese with afterword and notes by Moss Roberts (1991). Three Kingdoms: A Historical Novel. Berkeley; Beijing: University of California Press; Foreign Languages Press.
- ↑ 16.0 16.1 กลศึกสามก๊ก ตำราพิชัยสงครามรูปธรรมที่มีชีวิต,หลี่ปิ่งเอี้ยน ซุนจิ้ง ผู้ค้นคว้า, บุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2543, ISBN 974-7736-93-4
- ↑ การแปลสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารพิมพ์, พ.ศ. 2544, หน้า 7
- ↑ 18.0 18.1 ตำนานสามก๊ก พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- ↑ การแปลสามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)[ลิงก์เสีย]
- ↑ การศึกษากลยุทธ์ในการทำสงครามในสามก๊ก, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 20
- ↑ การตีพิมพ์สามก๊กในสมัยรัชกาลที่ 4[ลิงก์เสีย]
- ↑ การกล่าวถึงสามก๊กในสมัยรัชกาลที่ 2, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 19
- ↑ จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 2, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 19
- ↑ สามก๊ก วรรณกรรมอมตะของจีน[ลิงก์เสีย]
- ↑ ถาวร สิกขโกศล. มองสามก๊กจากต้นฉบับภาษาจีน. บทความวารสารเอเชียตะวันออกศึกษา ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
- ↑ ดูสามก๊กฉบับวรรณไว เทียบเนื้อความกับสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และฉบับวิจารณ์ของวิวัฒน์ประชาเรืองวิทย์ ชื่อตัวละครและสถานที่มีจุดผิดพลาด เช่น ในตอนสุดท้ายหน้า 1764 สุมาเอี๋ยนกล่าวเสียดายที่เอียวเก๋าไม่ได้มาร่วมงานฉลองการปราบง่อก๊ก (เพราะเสียชีวิตไปแล้ว) แต่ฉบับวรรณไวกลับแปลว่า กล่าวเสียดายองโยยแทน หรือในหน้า 1554 ฉบับวรรณไวกล่าวถึงการขึ้นเป็นวุยอ๋องของโจโฉว่าบังอาจใช้รถม้าหลวงซึ่งมีระฆังติดไว้เพื่อไล่คนขวางหน้า แต่ฉบับวิวัฒน์ไม่ได้กล่าวว่าเป็นการบังอาจหรือละเมิดธรรมเนียม เพียงบอกว่าใช้เส้นทางเดียวกับฮ่องเต้ซึ่งโดยธรรมเนียมจีนราชวงศ์ฮั่นแล้ว อ๋องนั้นก็มีศักดิ์ที่จะผ่านทางของฮ่องเต้ได้หรือไม่โดยไม่เป็นการบังอาจก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ฉบับวรรณไวตัดสินแล้วว่าเป็นการล่วงละเมิด
- ↑ เรียบเรียงโดย เรืองวิทยาคม มีทั้งสิ้น 655 ตอน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ในเครือผู้จัดการ
- ↑ สามก๊กฉบับคนขายชาติ ฐานข้อมูลจาก สามก๊กวิกิ
- ↑ ศาลเจ้าสามก๊ก หลักฐานตำนานอันโด่งดัง
- ↑ "อุทยานสามก๊ก สถาปัตยกรรมจีนในไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-21. สืบค้นเมื่อ 2008-08-19.
- ↑ สามก๊กฉบับมหาสนุก โดยหมูนินจา
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ตำนานหนังสือสามก๊ก โดย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ