โจโฉ ในภาษาฮกเกี้ยน หรือ เฉา เชา ในภาษาจีนกลาง (จีน: 曹操, ออกเสียง; ป. ค.ศ. 155 – – 15 มีนาคม ค.ศ. 220)[1] ชื่อรอง เมิ่งเต๋อ (จีน: 孟德; พินอิน: Mèng dé) เป็นรัฐบุรุษ ขุนศึก และกวีชาวจีน เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งได้เถลิงอำนาจในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในยุคสามก๊ก โจโฉได้วางรากฐานซึ่งได้ทำให้เกิดรัฐวุยก๊กขึ้นในเวลาต่อมา และได้รับการยกย่องภายหลังมรณกรรมในฐานะเป็น "จักรพรรดิอู่แห่งวุยก๊ก" แม้ว่าเขาจะไม่เคยประกาศตนเองอย่างเป็นทางการว่าเป็นจักรพรรดิจีน หรือโอรสสวรรค์ วรรณกรรมสมัยหลังมักพรรณาว่า โจโฉเป็นทรราชโหดร้ายไร้เมตตา แต่โจโฉก็ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ปกครองที่ปราดเปรื่อง เป็นอัจฉริยบุคคลด้านการทหาร มีบารมีหาที่เปรียบมิได้ ปฏิบัติต่อผู้ใต้บัญชาดุจครอบครัวของตัว[ต้องการอ้างอิง]

โจโฉ (เฉา เชา)
曹操
ภาพโจโฉจาก สมุดภาพไตรภูมิ (三才圖會) ซึ่งเผยแพร่ในราชวงศ์หมิง
วุยอ๋อง
ครองราชย์ค.ศ. 216 – 15 มีนาคม ค.ศ. 220
ถัดไปโจผี
เว่ย์กง (魏公)
ครองราชย์ค.ศ. 213–216
อัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง)
วาระค.ศ. 208 – 15 มีนาคม ค.ศ. 220
ถัดไปโจผี
เจ้ากรมโยธา (司空 ซือคง)
วาระค.ศ. 196–208
พระราชสมภพป. ค.ศ. 155
อำเภอเฉียว รัฐเพ่ย์ จักรวรรดิฮั่น
สวรรคต15 มีนาคม ค.ศ. 220(220-03-15) (64–65 ปี)
ลั่วหยาง
ฝังพระศพ11 เมษายน ค.ศ. 220
สุสานหลวงของโจโฉ
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
(กับพระองค์อื่น)
พระนามเต็ม
  • พระนามตระกูล: เฉา/โจ ()
  • พระนามส่วนพระองค์: เชา/โฉ ()
  • พระนามรอง: เมิ่งเต๋อ (孟德)
พระสมัญญานาม
อู่อ๋อง (武王) (โดยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก)
อู่หฺวังตี้ (武皇帝) (โดยวุยก๊ก)
วัดประจำรัชกาล
ไท่จู่ (太祖)
พระราชบิดาโจโก๋
พระราชมารดาติงชื่อ
โจโฉ
"โจโฉ" ในอักษรจีน
ภาษาจีน曹操

ในช่วงที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกล่มสลาย โจโฉสามารถควบคุมท้องที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือของจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุด ทั้งยังฟื้นฟูความเรียบร้อยและเศรษฐกิจเป็นผลสำเร็จในฐานะอัครมหาเสนาบดี แต่การที่โจโฉเชิดพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้น โดยตนเองบัญชาราชการแผ่นดินเบ็ดเสร็จอยู่เบื้องหลังพระองค์นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก การต่อต้านโดยตรงนั้นมาจากขุนศึกเล่าปี่กับซุนกวนซึ่งโจโฉมิอาจปราบลงได้

โจโฉยังมีความสามารถด้านกวีนิพนธ์ อักษรวิจิตร และศิลปะการต่อสู้ ทั้งได้ฝากงานเขียนมากมายในด้านการทหารเอาไว้ ซึ่งรวมถึงอรรถาธิบาย ซุนจื่อปิงฝ่า โจโฉยังเป็นที่จดจำในฐานะผู้ปกครองที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของจักรวรรดิจีน

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์

แก้

ประวัติ

แก้

ช่วงชีวิตตอนต้น

แก้

โจโฉเกิดที่เจากุ๋น (เฉียวเซี่ยน) ราชรัฐไพก๊ก (เพ่ย์กํ๋ว; ปัจจุบันคือเมืองปั๋วโจว มณฑลอานฮุย)[2] บิดาของโจโฉคือโจโก๋ (เฉา ซง) เป็นบุตรบุญธรรมของโจเท้ง (เฉา เถิง) ผู้ซึ่งกลายเป็นขันทีคนโปรดของพระเจ้าฮวนเต้ (ฮั่นหฺวันตี้) ในบางบันทึกประวัติศาสตร์ รวมถึงชีวประวัติเฉาหมัน (เฉาหมันจฺวั้น) อ้างว่า ชื่อตระกูลแต่เดิมของโจโก๋คือแฮหัว (เซี่ยโหว) และเขาเป็นญาติของแฮหัวตุ้น (เซี่ยโหว ตุน)

โจโฉเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของความเจ้าเล่ห์เพทุบายของเขาในช่วงวัยหนุ่ม ตามชีวประวัติเฉาหมันได้กล่าวว่า อาของโจโฉมักจะฟ้องกับโจโก๋ว่า โจโฉชอบออกไปเที่ยวล่าสัตว์และเล่นดนตรีกับอ้วนเสี้ยว (ยฺเหวียน เช่า) สหายของเขา จนถูกบิดาต่อว่า เพื่อเป็นการแก้เผ็ด โจโฉจึงแสร้งทำเป็นลมชักต่อหน้าอาของเขา จนต้องรีบแจ้นไปตามโจโก๋ เมื่อโจโก๋รีบมาหาบุตรชายของตน โจโฉก็ทำตัวตามปกติ เมื่อถูกบิดาถาม โจโฉบอกว่า "ข้าไม่ได้เป็นอะไรสักหน่อย แต่ท่านอาคงจะเกลียดข้าที่มักจะชอบนำเรื่องของข้าไปบอกท่านอยู่เรื่อยเลย" หลังจากนั้นโจโก๋ก็ไม่สนใจน้องชายที่มาฟ้องเรื่องของโจโฉอีกเลย และด้วยเหตุนี้ โจโฉจึงกลายเป็นคนโอ้อวดและยืนกรานในการงานที่ดื้อดึงของเขา

ในช่วงเวลานั้น มีชายผู้หนึ่งนามว่าเขาเฉียว (สฺวี่ เช่า) ชาวเมืองยีหลำ (หรู่หนาน) มีชื่อเสียงจากความสามารถของเขาทางด้านศาสตร์โหงวเฮ้งคือการมองลักษณะบนใบหน้าของบุคคลเพื่อประเมินศักยภาพและพรสวรรค์ของบุคคลคนนั้น โจโฉได้ไปเยี่ยมเขาด้วยความคาดหวังว่าจะได้รับการดูโหงวเฮ้งของตนเพื่อประเมินความสามารถที่จะช่วยเหลือในอาชีพการเมือง ในตอนแรกเขาเฉียวปฏิเสธที่บอกกล่าว อย่างไรก็ตาม ก็ถูกซักถามอย่างไม่ลดละ จนในที่สุดเขาก็ยอมบอกว่า "ในยามสงบสุข ท่านจะเป็นขุนนางที่มีความสามารถมาก ในยามกลียุค ท่านจะเป็นบุรุษที่มีความโหดเหี้ยมไร้เมตตา"[3] โจโฉก็หัวเราะชอบใจและเดินจากไป ความคิดเห็นเหล่านี้มีสองแบบในบันทึกทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการ

การรับราชการช่วงต้นและกบฏโพกผ้าเหลือง (ค.ศ. 175-188)

แก้

เมื่ออายุได้ 20 ปี โจโฉได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองทหารรักษานครในลกเอี๋ยง (ลั่วหยัง) ในช่วงที่รับตำแหน่ง เขาได้นำกระบองหลากสีมาปักไว้ด้านนอกสำนักงานของเขา และออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงโทษเฆี่ยนตีผู้ละเมิดกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงยศตำแหน่งฐานะใด ๆ ลุงของเกียนสิด (เจี่ยน ชั่ว) หนึ่งในขันทีที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจมากที่สุดภายใต้อำนาจของพระเจ้าเลนเต้ (หลิงตี้) ถูกจับกุมเพราะเดินเตร่ในเมืองซึ่งเป็นช่วงห้ามออกนอกจากเคหสถานตอนกลางคืนโดยทหารของโจโฉและถูกโบยเฆี่ยนตี สิ่งนี้ได้ทำให้เกียนสิดและผู้มีอำนาจระดับสูงคนอื่น ๆ รีบส่งเสริมให้โจโฉได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการแห่งอำเภอตุนขิว (ตุ้นชิว) ในขณะที่ได้ทำการย้ายเขาออกจากเมืองหลวง โจโฉยังคงอยู่ในตำแหน่งนี้มานานกว่าหนึ่งปี จนกระทั่งถูกปลดออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. 178 เนื่องจากครอบครัวของเขาที่อยู่ห่างไกลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจักรพรรดินีซ่ง พระมเหสีคนแรกของพระเจ้าเลนเต้ซึ่งเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติ ราวปี ค.ศ. 180 โจโฉได้กลับมายังราชสำนักในฐานะที่ปรึกษา (議郎) และนำเสนอบันทึกสองฉบับเพื่อต่อต้านอิทธิพลของขันทีในราชสำนักและการทุจริตในการปกครองในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง โดยมีผลที่จำกัด

เมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการในปี ค.ศ. 184 โจโฉได้ถูกเรียกตัวกลับมาที่ลกเอี๋ยงและแต่งตั้งให้เป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) และถูกส่งไปยังเมืองเองฉวน (อิ่งชวน) ในมณฑลอิจิ๋ว (อวี้โจว) เพื่อเข้าปราบปรามพวกกบฏ โจโฉประสบความสำเร็จในการปราบกบฏและถูกส่งไปเป็นเสนาบดี (相 เซียง) ของราชรัฐเจลำ (จี่หนัน) เพื่อขัดขวางการขยายอิทธิพลของกลุ่มโจรโพกผ้าเหลือที่นั่น ที่เจลำ โจโฉได้ประกาศบังคับสั่งห้ามลัทธินอกรีตอย่างจริงจัง ทำลายศาลเจ้า และให้การสนับสนุนลัทธิขงจื๊อ โจโฉถูกตระกูลชั้นนำในท้องถิ่นไม่พอใจในการกระทำดังกล่าว จึงลาออกโดยอ้างว่าป่วยในราวปี ค.ศ. 187 ด้วยความกลัวว่าจะทำให้ครอบครัวต้องตกอยู่ในอันตราย โจโฉได้รับเสนอตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองแห่งเมืองตงกุ๋น (東郡 ตงจฺวิ้น) แต่โจโฉปฏิเสธและเดินทางกลับบ้านที่ไพก๊ก ในช่วงเวลานั้น หวัง เฟิน (王芬) ได้พยายามชักชวนโจโฉให้เข้าร่วมในการก่อรัฐประหารเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ของพระเจ้าเลนเต้ โดยผลตอบแทนคือจะแต่งตั้งตำแหน่งยศศักดิ์ให้เป็นเหอเฟยโหฺว แต่โจโฉปฏิเสธ แผนลับได้ล้มเหลวและหวัง เฟินก็ต้องปลิดชีพตนเอง

แนวร่วมพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะ (ค.ศ. 189-191)

แก้
สรุปเหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงชีวิตของโจโฉ
ค.ศ. 155 เกิดที่อำเภอเจากุ๋น
180s นำกองทหารเข้าปราบปรามกบฏโพกผ้าเหลืองที่เมืองเองฉวน
190 เข้าร่วมกับแนวร่วมพันธมิตรต่อต้านต่งจั่ว.
196 รับเสด็จพระเจ้าเหี้ยนเต้มาประทับที่นครฮูโต๋
200 เอาชนะในยุทธการที่กัวต๋อ
208 พ่ายแพ้ในยุทธการที่ผาแดง
213 ได้รับสถาปนาเป็นวุยก๋ง และได้รับพระราชทานสิบเมืองให้ปกครอง
216 ได้รับตำแหน่งยศศักดิ์เป็นวุยอ๋อง
220 เสียชีวิตในลกเอี๋ยง
ได้รับพระราชสมัญญานามภายหลังมรกรรมในฐานะจักรพรรดิอู่

ภายหลังจากออกจากราชการเป็นเวลาสิบแปดเดือน โจโฉได้กลับมายังเมืองหลวงลกเอี๋ยงในปี ค.ศ. 188 ปีนั้น ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองผู้จัดการทัพ (典軍校尉 เตี่ยวจวินเซี่ยวเว่ยย์) หัวหน้าที่สี่ในแปดของกองทัพแห่งราชอุทยานตะวันตก ซึ่งเป็นกองทัพจักรวรรดิที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ประสิทธิภาพของกองทัพใหม่นี้ไม่เคยถูกทำการทดสอบ เนื่องจากได้ถูกยุบยกเลิกไปในปีถัดมา

ในปี ค.ศ. 189 พระเจ้าเลนเต้สวรรคตและพระราชบุตรองค์โต (จักรพรรดิฮั่นเช่า) สืบทอดราชบัลลังก์ แม้ว่าอำนาจรัฐส่วนใหญ่จะถูกควบคุมโดยโฮเฮาและที่ปรึกษาของพระนาง พี่ชายของโฮเฮาและแม่ทัพใหญ่นามว่า โฮจิ๋น(เหอจิ้น) ได้วางแผนร่วมกับอ้วนเสี้ยว ในการกำจัดสิบขันที (กลุ่มขันทีที่มีอิทธิพลในราชสำนัก) โฮจิ๋นได้เรียกตั๋งโต๊ะ (ต่งจั๋ว) ขุนพลที่ช่ำชองของมณฑลเลียงจิ๋ว (เหลียงโจว) ให้นำกองทัพเข้าสู่ลกเอี๋ยงเพื่อกดดันโฮเฮาให้มอบอำนาจ ด้วยข้อกล่าวหาที่อาจหาญของ "ความชั่วช้า" ของตั๋งโต๊ะ แต่ก่อนที่ตั๋งโต๊ะจะเดินทางมาถึง โฮจิ๋นก็ถูกลอบสังหารโดยขันทีและลกเอี๋ยงตกอยู่ในท่ามกลางความโกลาหล ในขณะที่การต่อสู้กับขันทีภายใต้การสนับสนุนของอ้วนเสี้ยว กองทัพของตั๋งโต๊ะได้กำจัดฝ่ายค้านภายในบริเวณพระราชวังอย่างง่ายดาย ภายหลังจากที่เขาได้ปลดจักรพรรดิฮั่นเช่าลงจากราชบัลลังก์ ต่งจั่วได้สถาปนาให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ (ฮั่นเซี่ยนตี้) ขึ้นครองราชบัลลังก์ในฐานะหุ่นเชิด เนื่องจากเขามองว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้มีความสามารถและชาญฉลาดมากกว่าจักรพรรดิฮั่นเช่า

ภายหลังจากได้ปฏิเสธข้อเสนอในการแต่งตั้งของตั๋งโต๊ะ โจโฉได้ออกจากลกเอี๋ยงมายังตันลิว (เฉินหลิว ทางตะวันออกของไคเฟิง มณฑลเหอหนานในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโจโฉ) ซึ่งเขาได้จัดตั้งกองทัพขึ้นมา ในปีต่อมา เหล่าขุนศึกภูมิภาคได้ก่อตั้งพันธมิตรทางทหารภายใต้การนำโดยอ้วนเสี้ยวเพื่อต่อต้านตั๋งโต๊ะ โจโฉได้เข้าร่วมด้วย กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกเพียงไม่กี่คนที่ร่วมต่อสู้อย่างแข็งขันของแนวร่วมพันธมิตร แม้ว่าเหล่าขุนศึกจะเข้าปลดปล่อยเมืองหลวงลกเอี๋ยงได้แล้ว ราชสำนักของตั๋งโต๊ะได้อพยพไปยังตะวันตกสู่เตียงฮัน (ฉางอัน) ที่เป็นเมืองหลวงเก่า โดยพาพระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จไปด้วย แนวร่วมพันธมิตรได้ล่มสลายภายหลังจากปราศจากความเคลื่อนไหวมาเป็นเวลาหลายเดือน และจีนได้เข้าสู่สงครามกลางเมือง ในขณะที่ตั๋งโต๊ะถูกสังหารโดยลิโป้ (ลฺหวี่ ปู้) ใน ค.ศ. 192

ขยายดินแดน(ค.ศ. 191-199)

แก้
 
แผนที่ได้แสดงให้เห็นถึงขุนศึกคนสำคัญของราชวงศ์ฮั่นในช่วงต้น ค.ศ. 190 รวมทั้งเฉาเชา

การพิชิตมณฑลกุนจิ๋ว (ค.ศ. 191-195)

แก้

โจโฉยังคงขยายอำนาจของตนโดยการทำสงครามระยะสั้นและระดับภูมิภาค ใน ค.ศ. 191 โจโฉได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองของเมืองตองกุ๋น (ตงจวิ้น) ในตันลิว สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เขาได้ประสบความสำเร็จในการปราบหัวหน้าโจรนามว่า ไป๋ เร่า และอ้วนเสี้ยวได้แต่งตั้งให้โจโฉเป็นเจ้าเมืองเข้ามาแทนที่หวัง หง ซึ่งไร้ความสามารถ เขาได้ขจัดซ่องโจร และเมื่อข้าหลวงมณฑลของกุนจิ๋ว (เหยี่ยนโจว) เล่าต้าย (หลิว ไต้) ได้เสียชีวิตลงในปีถัดมา โจโฉได้รับเชิญจากเปาสิ้นและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ให้เป็นเจ้ามณฑลของกุนจิ่ว และจัดการกับการก่อการกำเริบของโจกโพกผ้าเหลืองในเฉงจิ๋ว (ชิงโจว) ซึ่งเข้าโจมตีกุนจิ๋ว แม้ว่าจะพบความปราชัยหลายครั้ง โจโฉก็สามารถปราบกบฏได้ภายในสิ้นปี ค.ศ. 192 โดยผ่านทางการเจรจากับพวกเขา และได้รับทหารเพิ่มเติมจำนวนสามหมื่นนายเข้าสู่กองทัพ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 193 โจโฉและอ้วนเสี้ยวรบกับอ้วนสุด (ยฺเหวียน ซู่) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของอ้วนเสี้ยวในการรบหลายครั้ง เช่น ที่เฟิงชิว ซึ่งได้ขับไล่เขาไปที่แม่น้ำห้วย

โจโก๋ (เฉา ซง) บิดาของเฉาเชาถูกสังหารในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 193 โดยเตียวคี (จาง ไข่) ทหารของโตเกี๋ยม(เถา เชียน) เจ้ามณฑลแห่งชีจิ๋ว (สฺวีโจว) (ผู้อ้างว่าตนบริสุทธิ์ และผู้สังหารโจโก๋นั้นเดิมเป็นโจร) ด้วยความโกรธแค้น โจโฉได้ทำการสังหารหมู่พลเรือนหลายพันคนในชีจิ๋วในช่วงการทัพลงทัณฑ์สองครั้งใน ค.ศ. 193 และ ค.ศ. 194 เพื่อล้างแค้นให้กับบิดาของเขา เนื่องจากเขาได้นำกองทัพของเขาจำนวนมากมาย มายังชีจิ๋วเพื่อเอาชนะโตเกี๋ยม ดินแดนส่วนใหญ่ของเขาจึงไร้การป้องกัน เจ้าหน้าที่นายทหารที่ไม่พอใจจำนวนหนึ่งนำโดยตันก๋ง (เฉิน กง) และเตียวเถียว (จาง เชา) ได้ร่วมมือวางแผนก่อกบฏ พวกเขาได้โน้มน้าวให้เตียวเมา (จาง เหมี่ยว; พี่ชายของเตียวเถียว) ขึ้นมาเป็นผู้นำของพวกตนและขอให้ลิโป้เข้ามาเป็นการเสริมกำลัง ตันก๋งเชิญลิโป้ให้มาเป็นข้าหลวงมณฑลคนใหม่แห่งกุนจิ๋ว ลิโป้ได้ตอบรับคำเชิญนี้และนำกองกำลังทหารเข้าไปในมณฑล นับตั้งแต่กองทัพโจโฉไม่อยู่ ผู้บัญชาการท้องถิ่นหลายคนต่างคิดว่าการต่อสู้รบครั้งนี้จะต้องพ่ายแพ้และยอมจำนนต่อลิโป้ทันทีเมื่อเขาเดินทางมาถึง แต่อย่างไรก็ตาม มีเพียงสามอำเภอ ได้แก่ เอียนเสีย (เจวี้ยนเฉิง) ตองไฮ (ตงอา) และฮวนกวน (ฟ่านเซี่ยน) ยังคงจงรักภักดีต่อโจโฉ เมื่อโจโฉเดินทางกลับมาถึง เขาได้รวบรวมกองกำลังของเขาไว้ที่เอียนเสีย

ตลอดช่วงปี ค.ศ. 194 และ ค.ศ. 195 โจโฉและลิโป้ได้ต่อสู้รบกันหลายครั้งเพื่อแย่งชิงการควบคุมกุนจิ๋ว แม้ว่าในตอนแรกลิโป้จะทำได้ดีในถือครองปักเอี้ยง (ผู่หยาง) โจโฉก็เอาชนะเกือบทั้งหมดด้านนอกของปักเอี้ยง ชัยชนะที่เด็ดขาดของโจโฉเกิดขึ้นในการรบใกล้กับตงหมิง ลิโป้และตันก๋งได้นำกองทัพขนาดใหญ่เข้าโจมตีกองทัพของโจโฉ ในช่วงเวลานั้น โจโฉก็ได้ออกไปพร้อมกองกำลังขนาดเล็กเพื่อเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อเห็นลิโป้และตันก๋งเข้ามาใกล้ โจโฉก็ได้ซ่อนกองกำลังของเขาไว้ในป่าและแนวหลังเขื่อน จากนั้นเขาก็ส่งกองกำลังขนาดเล็กเข้าไปประจัญหน้ากับกองทัพของลิโป้ เมื่อกองกำลังทั้งสองได้รับมอบหมาย เขาได้ออกคำสั่งให้กองกำลังทหารที่ซ่อนตัวอยู่ให้เข้าโจมตีทันที กองทัพของลิโป้ถูกทำลายล้างจากการโจมตีครั้งนี้และทหารของเขาจำนวนมากได้หลบหนีไป

ลิโป้และตันก๋งต่างหลบหนีออกจากการสู้รบครั้งนั้น เนื่องจากชีจิ๋วในตอนนี้ได้อยู่ภายใต้บัญชาการของเล่าปี่ (หลิว เป้ย) และเล่าปี่เคยเป็นศัตรูของโจโฉมาก่อน พวกเขาจึงได้มาหลบหนีไปยังชีจิ๋วเพื่อความปลอดภัย โจโฉตัดสินใจที่จะไม่ไล่ล่าตามหาพวกเขา แต่กลับไปริเริ่มกวาดล้างผู้จงรักภักดีของลิโป้ในกุนจิ๋ว รวมทั้งการเข้ายึดครองดินแดนเหล่านั้น สิบแปดเดือนหลังการก่อกบฏได้เริ่มต้นขึ้น โจโฉได้ปราบเตียวเมาและครอบครัว และเข้ายึดครองกุนจิ๋วกลับคืนมาภายในช่วงปลายปี ค.ศ. 195

ช่วยเหลือจักรพรรดิ (ค.ศ. 196)

แก้

โจโฉได้ย้ายกองบัญชาการของเขาในช่วงต้น ค.ศ. 196 จากปักเอี้ยงไปยังนครฮูโต๋ (許 สฺวี่, ปัจจุบันคือ สฺวี่ชาง) ซึ่งเขาได้สร้างดินแดนอาณานิคมเกษตรกรรมทางทหารสำหรับการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพและจัดหาเสบียงอาหารมาให้แก่กองทัพของเขา

ราวประมาณเดือนสิงหาคม ค.ศ. 196 พระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จกลับสู่ลกเอี๋ยงภายใต้การคุ้มกันของเอียวฮองและ ตังสิน โจโฉเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 196 และโน้มน้าวให้พระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังนครฮูโต๋ตามคำแนะนำของ ซุนฮกและที่ปรึกษาคนอื่น ๆ เนื่องจากนครลกเอี๋ยงได้ถูกทำลายเสียหายโดยสงครามและเตียงฮันไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมทางทหารของโจโฉ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้ากรมโยธา (ภายหลังจากได้เจรจากับอ้วนเสี้ยว ผู้บังคับบัญชาในนามของเขา) และเจ้ากรมการไพร่ (司隸 ซือลี่) ได้รับพระราชอำนาจในเพียงนามในการควบคุมมณฑลราชธานี (ซือลี่) นอกจากนี้ โจโฉยังได้รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และยศขุนนางเป็น อู่ผิงโหฺว (武平侯) แม้ว่าทั้งสองตำแหน่งยศศักดิ์นี้ได้ถูกนำไปใช้จริงได้เพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางคนได้มองว่า จักรพรรดิเป็นหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของโจโฉ แต่โจโฉได้ยึดมั่นตามกฏเกณฑ์ส่วนบุคคลที่เข้มงวดจนกระทั่งเขาเสียชีวิต ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเขาไม่ได้ต้องการแย่งชิงราชบัลลังก์ เมื่อที่ปรึกษาของเขาได้กระซิบมาบอกเขาว่า ให้โค่นล้มราชวงศ์ฮั่นและเริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ด้วยตัวท่านเอง แต่เขาได้ตอบกลับว่า "หากฟ้าสวรรค์ได้มอบชะตาลิขิตเช่นนี้ให้กับข้า ข้าขอเป็นแบบอย่างจิวบุนอ๋อง (โจฺวเหวินหวัง) ก็พอ"

เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับอ้วนเสี้ยว ซึ่งกลายเป็นขุนศึกที่ทรงอำนาจมากที่สุดในแผ่นดินจีน เมื่อเขาได้รวบรวมสี่มณฑลทางตอนเหนือของจีนเข้าด้วยกัน โจโฉพยายามเจรจาเกลี้ยมกล่อมว่าจะแต่งตั้งให้อ้วนเสี้ยวเป็นรัฐมนตรีโยธาธิการ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ได้ส่งผลตรงกันข้าม เนื่องจากอ้วนเสี้ยวเชื่อว่าโจโฉต้องการที่จะทำให้ตนได้รับความอับอาย เนื่องจากตำแหน่งรัฐมนตรีโยธาธิการนั้นเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าแม่ทัพใหญ่ที่โจโฉดำรงตำแหน่งอยู่ ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อเสนอในการรับตำแหน่งนี้ เพื่อเป็นการปลอบใจแก่อ้วนเสี้ยว โจโฉได้เสนอตำแหน่งของตนเองให้กับเขา ในขณะที่เขาจะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีโยธาธิการเอง แม้ว่าสิ่งนี้จะแก้ไขข้อขัดแย้งได้ชั่วคราว แต่ก็เป็นตัวเร่งกระตุ้นก่อให้เกิดยุทธการที่กัวต๋อในเวลาต่อมา

การต่อสู้รบกับเตียวสิ้ว อ้วนสุด และลิโป้ (ค.ศ. 197-198)

แก้

เล่าเปียวเป็นขุมอำนาจในสมัยนั้น ซึ่งครองมณฑลเกงจิ๋วเอาไว้ทั้งหมด เกงจิ๋วมีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด แต่ที่เติบโตขึ้นมาได้เพราะมีผู้อพยพจำนวนมากที่ลี้ภัยจากสงครามทางเหนือและอพยพลงทางใต้ ดังนั้นเล่าเปียวจึงถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อโจโฉ เตียวสิ้วซึ่งบัญชาการในดินแดนของเล่าเปียวบนชายแดนติดกับอาณาเขตของโจโฉ ดังนั้นโจโฉต้องการที่จะโจมตีเขา ในช่วงต้นปี ค.ศ. 197 เตียวสิ้วได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ แต่กลับเข้าโจมตีค่ายทหารของโจโฉในตอนกลางคืน (ยุทธการที่อ้วนเซีย) ซึ่งได้คร่าชีวิตทหารจำนวนมาก รวมทั้งโจงั่งบุตรชายของเฉาเชา และโจโฉจึงต้องหลบหนีไป

ภายหลังจากใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนในการฟื้นฟู โจโฉได้หันความสนใจไปที่อ้วนสุดซึ่งได้ประกาศสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ต๋องซือ (จ้งชื่อ) ขึ้นมา ในนามของของการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น โจโฉและขุนศึกคนอื่น ๆ ได้จัดตั้งแนวร่วมพันธมิตรต่อต้านอ้วนสุด และโจโฉได้เข้ายึดครองดินแดนทั้งหมดของอ้วนสุดจากทางตอนเหนือของแม่น้ำห้วย (ไหฺว) ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 197 ในขณะที่ดินแดนที่เหลืออยู่ของอ้วนสุดได้ประสบภัยแล้งและการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดีทำให้อำนาจของเขาลดลงไปอีก

ต่อมาใน ค.ศ. 197 โจโฉได้กลับไปทางใต้เพื่อเข้าโจมตีเล่าเปียวและเตียวสิ้วอีกครั้ง ครั้งนี้ โจโฉประสบความสำเร็จอย่างมากและทำให้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อกองทัพของพวกเขา โจโฉได้เข้าโจมตีเตียวสิ้วอีกครั้งใน ค.ศ. 198 ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่หรางเฉิงและเอาชนะอีกครั้ง ในที่สุดเขาก็ต้องถอนกำลังออกจากการสู้รบในครั้งนี้เพราะเขาได้รับข่าวว่า อ้วนเสี้ยวกำลังวางแผนที่จะกรีฑาทัพไปยังนครฮูโต๋ แม้ว่าในภายหลังจะถูกพบว่าข่าวนั้นไม่เป็นความจริงก็ตาม

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 198 โจโฉได้ส่งไปปลุกระดมขุนศึกตะวันตกเพื่อเข้าโจมตีเตียงฮัน ซึ่งยังถูกควบคุมโดยลิฉุย ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากตั๋งโต๊ะ ตวยอุย (段煨 ตฺวั้น เวย์) หนึ่งในขุนพลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของลิฉุยได้ก่อกบฏและสังหารลิฉุยพร้อมกับครอบครัวของเขาในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 198 ตวนอุยได้ส่งมอบศีรษะของลิฉุยไปยังนครฮูโต๋ (เพื่อหลักฐานยืนยันในการยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ)

ในขณะเดียวกัน ลิโป้ก็กำเริบเสิบสานมากขึ้น เขาขับไล่เล่าปี่ (ซึ่งหลบหนีไปอยู่กับโจโฉ) ออกจากดินแดนของเขาเองอีกครั้งและร่วมมือกับอ้วนสุด เนื่องจากเตียวสิ้วพร้อมกับกองทัพของเขาเพิ่งจะถูกบดขยี้ เขาไม่ได้เป็นภัยคุกคามในทางใต้อีกต่อไป ดังนั้นโจโฉจึงไปทางตะวันออกเพื่อเข้าปราบปรามลิโป้

การพิชิตชีจิ๋วและอิจิ๋ว (ค.ศ. 199)

แก้

โจโฉได้เอาชนะลิโป้ในการต่อสู้รบหลายครั้งและในที่สุดก็โอบล้อมไว้ได้ที่แห้ฝือ (เซี่ยพี) ลิโป้ได้พยายามที่จะตีฝ่าออกไปแต่ทำไม่สำเร็จ ในที่สุดเจ้าหน้าที่นายทหารและทหารของเขาจำนวนมากได้แปรพักตร์ให้กับโจโฉ บางคนถูกลักพาตัวโดยผู้ทรยศ ลิโป้ริ่มรู้สึกท้อแท้และยอมจำนนต่อโจโฉ ซึ่งได้ประหารชีวิตเขา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 199 การกำจัดลิโป้ทำให้โจโฉได้ควบคุมมณฑลชีจิ๋วอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อลิโป้ได้จากไปแล้ว โจโฉได้เริ่มทำปราบปรามอ้วนสุด เขาส่งเล่าปี่และจูเหลง (จู หลิง) ไปทางใต้เพื่อเข้าโจมตีอ้วนสุด แต่อ้วนสุดเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 199 ก่อนที่เล่าปี่และคนอื่น ๆ ได้เดินทางมาถึง ซึ่งหมายความว่า โจโฉก็ไร้ซึ่งคู่ปรับที่สำคัญในภูมิภาคแม่น้ำห้วย (ชีจิ๋วและอิจิ๋ว) อีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 199 อ้วนเสี้ยวได้จบศึกกับกองซุนจ้านในยุทธการที่อี้จิง และวางแผนที่จะเคลื่อนทัพไปทางใต้เพื่อเอาชนะโจโฉ เมื่อเห็นดังนั้น โจโฉได้เริ่มเตรียมความพร้อมการป้องกัน โดยตั้งใจที่จะยืนหยัดที่กัวต๋อ ตามคำแนะนำของกาเซี่ยง เตียวสิ้วยอมสวามิภักด์ต่อโจโฉและกองทัพของเขาได้ถูกรวมเข้ากับกองทัพของโจโฉ ภายหลังจากที่พวกเขาได้ปฏิเสธทูตของอ้วนเสี้ยวเพื่อขอให้มาเป็นพันธมิตรกัน

รวบรวมทางตอนเหนือของจีน(ค.ศ. 200-207)

แก้

การทรยศและความพ่ายแพ้ของเล่าปี่

แก้

ใกล้สิ้นปี ค.ศ. 199 เล่าปี่ทรยศโจโฉและสังหารกีเหมาผู้บัญชาการทหารของโจโฉในมณฑลชีจิ๋ว อ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของมณฑล โจโฉต้องการที่จะเข้าโจมตีเล่าปี่อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กลายเป็นสงครามสองด้าน ในขณะที่บางคนในราชสำนักกังวลว่าอ้วนเสี้ยวจะเข้าโจมตีพวกเขาในไม่ช้า ถ้าหากกองทัพหลักจะเคลื่อนทัพไปทางตะวันออก กุยแกให้ความมั่นใจกับโจโฉว่า อ้วนเสี้ยวจะตอบสนองที่ล่าช้า และโจโฉสามารถจัดการเล่าปี่ได้ หากเขาจัดการได้อย่างรวดเร็ว ตามคำแนะนำของกุยแก โจโฉเข้าโจมตีเล่าปี่และเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดในชีจิ๋ว จับกุมกวนอูพร้อมกับสมาชิกครอบครัวของเล่าปี่เมื่อต้นปี ค.ศ. 200 ส่วนเล่าปี่หลบหนีไปอาศัยอยู่กับอ้วนเสี้ยว ซึ่งได้ส่งเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกองทัพของเขาเพื่อเข้าโจมตีโจโฉ การจู่โจมครั้งนี้ถูกหยุดยั้งโดยอิกิ๋มในยุทธการที่ท่าข้ามตู้ชื่อในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 200 เป็นเครื่องหมายของการปะทุของการเปิดฉากสงครามระหว่างโจโฉและอ้วนเสี้ยว

สงครามกับตระกูลอ้วน

แก้
 
การพิชิตดินแดนของโจโฉมาจากตระกูลอ้วน ตั้งแต่ ค.ศ. 200–207

การทัพกัวต๋อ

แก้

ใน ค.ศ. 200 อ้วนเสี้ยวกรีฑาทัพไปทางใต้สู่นครฮูโต๋เพื่อหมายจะให้ความช่วยเหลือแก่จักรพรรดิ เขาได้รวบรวมกองทหารจำนวนมากกว่า 110,000 นาย รวมทั้งทหารม้าหนัก 10,000 นาย ในขณะที่โจโฉรวบรวมกองทหารมาได้ประมาณ 40,000 นาย ซึ่งส่วนมากเขาได้รวมกองกำลังไว้ที่กัวต๋อซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์บนแม่น้ำฮองโห (หฺวางเหอ) กองทัพของโจโฉขับไล่การโจมตีของอ้วนเสี้ยวหลายครั้งและได้รับชับชนะทางยุทธวิธีที่ท่าข้ามตู้ชื่อ (กุมภาพันธ์) แปะเบ๊ (มีนาคม-พฤษภาคม) และท่าข้ามเหยียน (พฤษภาคม-สิงหาคม) กองทัพทั้งสองฝ่ายได้หยุดชะงักลงในยุทธการที่กัวต๋อ(กันยายน-พฤศจิกายน) เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่รุกคือต่อไปได้มากนัก การขาดแคลนกำลังคนของโจโฉทำให้เขาไม่สามารถโจมตีอย่างมีนัยสำคัญ และความภาคภูมิใจของอ้วนเสี้ยวได้บีบบังคับให้เขาต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังของโจโฉอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าเขาจะได้เปรียบทางด้านกำลังคนอย่างท่วมท้น แต่อ้วนเสี้ยวก็ไม่สามารถใช้ทรัยากรของเขาได้อย่างเต็มที่ เนื่อ เนื่องจากความเป็นผู้นำที่ลังเลเอาแน่นอนไม่ได้และตำแหน่งฐานะของเฉาเชา

นอกจากนั้นท่ามกลางสมรภูมิกัวต๋อ ยังมีสองแนวรบที่เกิดขึ้น: แนวรบด้านตะวันออกด้วยกองทัพของอ้วนเสี้ยวภายใต้การนำโดยอ้วนถำ เข้าปะทะกับกองทัพของโจโฉภายใต้การนำโดยจงป้า ซึ่งเป็นสงครามด้านหนึ่งเพื่อสนับสนุนแก่โจโฉ เนื่องจากความเป็นผู้นำที่ต่ำต้อยของอ้วนถำ ไม่คู่ควรกับความรู้ท้องถิ่นของจงป้าและกลยุทธ์แบบเข้าปะทะแล้วหนีของเขา ด้านแนวรบด้านตะวันตก โกกันหลานชายอ้วนเสี้ยวเข้าโจมตีกองทัพของโจโฉได้ดีกว่า และบีบบังคับให้เสริมกำลังหลายครั้งจากค่ายหลักของโจโฉเพื่อรักษาแนวรบด้านตะวันตก เล่าปี่ซึ่งเป็นแขกในกองทัพอ้วนเสี้ยว ได้ให้คำแนะนำในการยุยงปลุกปั่นการก่อกบฏในดินแดนของโจโฉ เนื่องจากผู้ติดตามของอ้วนเสี้ยวจำนวนมากอยู่ในดินแดนของโจโฉ กลยุทธ์นี้ได้ประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ทักษะทางการทูตของหมันทองช่วยเหลือในการแก้ไขความขัดแย้งแทบจะในทันที หมันทองได้ถูกวางตัวในฐานะเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุผลเฉพาะกิจนี้ เนื่องจากโจโฉได้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ของการก่อการกำเริบก่อนการสู้รบ โจโฉเข้าตีโฉบฉวบทำลายคลังเสบียงของอ้วนเสี้ยวที่หมู่บ้านกู้ชื่อ ทำให้อ้วนเสี้ยวต้องตั้งคลังเสบียงฉุกเฉินที่อัวเจ๋า ในที่สุดในเดือนที่ 10 เขาฮิวซึ่งเป็นผู้แปรพักตร์จากกองทัพอ้วนเสี้ยว ได้แจ้งบอกแก่โจโฉถึงที่ตั้งของคลังเสบียงแห่งใหม่ของอ้วนเสี้ยว โจโฉทำลายภาวะจนมุมโดยการส่งกองกำลังพิเศษไปที่อัวเจ๋า เพื่อทำการเผาเสบียงทั้งหมดของกองทัพอ้วนเสี้ยว ซึ่งทำให้เกิดเสียขวัญอย่างมาก อ้วนเสี้ยวได้เข้าโจมตีเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งประสบความสูญเสียและล้มเหลวในท้ายที่สุดในกัวต๋อ และเช้าวันรุ่งขึ้น โจโฉได้เปิดฉากการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวในการทำลายล้างต่อกองทัพข้าศึกที่กำลังล่าถอย ซึ่งทำให้ได้รับชัยชนะที่เด็ดขาดและดูเหมือนว่าจะเป็นชัยชนะที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในการรายงานต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ โจโฉอ้างว่าได้สังหารทหารจำนวนมากว่า 70,000 นายของกองทัพที่มีจำนวนเท่าเดิม 110,000 นายของอ้วนเสี้ยว ภายหลังเขาได้ออกคำสั่งให้นำทหารข้าศึกส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมมาได้ให้ทำการฝังทั้งเป็น ไม่กี่เดือนต่อมา ในเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน ค.ศ. 201 โจโฉได้เอาชนะอ้วนเสี้ยวอีกครั้งในยุทธการที่ซองเต๋ง ซึ่งได้กำจัดกองกำลังสุดท้ายในเวลาต่อมา ทางใต้ของแม่น้ำฮองโห

พิชิตดินแดนเหนือ

แก้

อ้วนเสี้ยวล้มป่วยได้ไม่นานหลังจากประสบความปราชัย และเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 202 ซึ่งทิ้งไว้เหลือแค่บุตรสามคน และไม่ได้มีการแต่งตั้งทายาทผู้สืบทอดอย่างเป็นทางการ แม้จะดูเหมือนว่าเขาจะเอ็นดูต่ออ้วนซงบุตรชายคนเล็กสุดท้องของเขา (ซึ่งควบคุมมณฑลกิจิ๋ว) ในฐานะทายาทของเขา อ้วนถำ บุตรชายคนโต (ผู้ว่าราชการมณฑลแห่งมณฑลเฉงจิ๋ว) ได้ท้าทายเขา และทั้งสองพี่น้องได้เข้าสู่สงครามแย่งชิงการสืบทอด ในขณะที่พวกเขาได้ต่อสู้รบกับโจโฉ โจโฉใช้ความขัดแย้งภายในตระกูลอ้วนเพื่อผลประโยชน์ของเขา และในช่วงยุทธการที่ลิหยง (ตุลาคม ค.ศ. 202 – มิถุนายน ค.ศ. 203) เขาได้ขับไล่พวกอ้วนกลับไปยังฐานที่มั่นของพวกเขาที่เงียบกุ๋น (ภายใต้การควบคุมของอ้วนซง) จากนั้นเขาก็ได้ถอนกำลัง รวบรวมดินแดนของเขาที่ได้รับมาแทนที่จะเข้าพิชิตดินแดนเอาไว้ทั้งหมด อาจเป็นไปได้ว่า ฝ่ายค้านในราชสำนักในนครสวี ต้องการหันเหความสนใจของเขา เมื่อคลายความกดดันจากโจโฉแบบชั่วคราว ความบาดหมางระหว่างพี่น้องก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น อ้วนซงโอบล้อมฐานที่มั่นของอ้วนภำที่เพงงวนก๋วน (平原 ผิงหยาง) ได้บีบบังคับในภายหลังซึ่งได้ลงเอยด้วยการสมรสพันธมิตรกับโจโฉ มณฑลกิจิ๋วได้ตกเป็นของโจโฉในฤดูร้อน ค.ศ. 204 ภายหลังจากโอบล้อมเงียบกุ๋นเป็นเวลาห้าเดือน โจโฉได้แสดงความเคารพหลุมฝังศพของอ้วนเสี้ยว ภายหลังจากการพิชิตเงียบกุ๋นมาได้ ซึ่งได้ร้องไห้อย่างขมขื่นสำหรับเพื่อนเก่าแก่ของเขาต่อหน้าผู้ติดตามของเขาและได้มอบของขวัญปลอบโยนแก่ครอบครัวของอ้วนเสี้ยวและเงินบำนาญจากรัฐบาล อ้วนซงหลบหนีไปทางเหนือเข้าหากับบุตรชายคนที่สาม ผู้ว่าราชการมณฑลอ้วนฮีแห่งมณฑลอิวจิ๋ว ในขณะที่โกกันผู้ว่าราชการมณฑลแห่งเป๊งจิ๋วแปรพักตร์เข้าด้วยโจโฉ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ค.ศ. 205 โจโฉได้หันไปเข้าโจมตีอ้วนถำที่ไม่จงรักภักดี เอาชนะและสังหารเขาในยุทธการที่ลำพี้ และพิชิตมณฑลเฉงจิ๋วไว้ได้ โกกันได้ก่อการกบฎใน ค.ศ. 205 แต่ในปี ค.ศ. 206 โจโฉได้เอาชนะและสังหารเขา ได้รวมผนวกดินแดนมณฑลเป๊งจิ๋วเอาไว้อย่างสิ้นเชิง

โจโฉได้แสร้งทำเป็นว่า ได้มีอำนาจเหนือดินแดนทางตอนเหนือของจีนเอาไว้ทั้งหมด ได้ประสบความทุกข์ทรมานจากการก่อกำเริบในท่ามกลางทหารของตน อ้วนซงและอ้วนฮีหลบหนีไปขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าชนเผ่าออหวน หัวหน้าชนเผ่าออหวนนามว่าเป๊กตุ้นให้ความช่วยเหลือแก่สองพี่น้องอ้วน และเริ่มเข้าโจมตีดินแดนของโจโฉ ใน ค.ศ. 207 โจโฉนำการทัพที่กล้าหาญในการออกนอกเขตชายแดนของจีนเพื่อทำลายล้างตระกูลอ้วนให้สิ้นไป เขาได้ต่อสู้รบกับพันธมิตรของหัวหน้าชนเผ่าออหวนในยุทธการที่เขาเป๊กลงสาน แม้ว่าจะมีกองกำลังจำนวนมากและเด็ดเดี่ยว โจโฉก็ได้รับชัยชนะ เนื่องจากได้สร้างระบบการขนส่งเสบียงอันชาญฉลาดโดยการขุดคลองสองแห่งขึ้นมาใหม่ และโจมตีขนาบข้างข้าศึก สังหารเป๊กตุ้นและบีบบังคับให้พี่น้องอ้วนต้องหลบหนีอีกครั้ง คราวนี้ พวกเขาได้ไปหากองซุนของเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่กองซุนของกลับสั่งให้ประชีวิตพวกเขา และส่งมอบศีรษะของพวกเขาไปให้แก่โจโฉ ทำให้เขาได้รับอำนาจการควบคุมในนามเหนือมณฑลอิวจิ๋ว ในขณะเดียวกัน ชนเผ่าตอนเหนือซึ่งตอนนี้ได้เกิดความหวาดกลัวต่อโจโฉ ส่วนมากของชนเผ่าออหวนที่เหลือได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเขา พร้อมกับเซียนเปย์และซฺยงหนู

การทัพผาแดงและทางใต้ (ค.ศ. 208-210)

แก้

ยึดครองเกงจิ๋วเป็นการชั่วคราว (ค.ศ. 208)

แก้
 
แผนที่ของการทัพผาแดง แสดงให้เห็นถึงการไล่ล่าติดตามเล่าปี่ของโจโฉ ยุทธการที่เตียงปัน เซ็กเพ็ก (ผาแดง) การล่าถอยของโจโฉและกังเหลง

ภายหลังความปราชัยของอ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อใน ค.ศ. 200 โจโฉบีบบังคับให้เล่าปี่หลบหนีไปหาเล่าเปียวผู้ว่าราชการมณฑลแห่งเกงจิ๋ว แล้วไปประจำการอยู่ชายแดนเหนือในอำเภอซินเอี๋ยเพื่อป้องกันโจโฉไว้ที่อ่าว การโจมตีของเโจโฉในช่วงแรกต่อเล่าปี่ได้ถูกขับไล่ในช่วงยุทธการที่ทุ่งพกบ๋อง (ค.ศ. 200) ภายหลังจากเสร็จสิ้นในการพิชิตภาคเหนือของจีนใน ค.ศ. 207 โจโฉก็หันเหความสนใจไปที่มณฑลเกงจิ๋วอย่างเต็มที่ ซึ่งที่นั้นได้เกิดข้อพิพาทเรื่องทายาทผู้สืบทอดขึ้น ภายหลังจากเล่าเปียวเสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 208 ทายาทที่ได้รับเลือกจากหลิวเปียวคือเล่าจ๋อง ลูกชายคนเล็กของเขา แต่ลูกชายคนโตของเขาคือเล่ากี๋ท้าทายเขาจากตำแหน่งผู่ว่าราชการมณฑล ในขณะที่ซุนกวนเข้าโจมตีดินแดนทางตะวันออกของเกงจิ๋ว เล่าปี่คาดหวังที่จะแย่งชิงเกงจิ๋วด้วยตัวเขาเองและโจโฉได้เคลื่อนทัพเพื่อบุกเกงจิ๋วจากทางเหนือด้วยกองทัพที่รวมตัวกันอย่างเร่งรีบในเดือนกันยายน การกระทำของโจโฉได้ปรากฏแล้วว่าเด็ดขาด เล่าจ๋องยอมจำนนต่อเขาโดยปราศจากต่อสู้ขัดขืน ในขณะที่เล่าปี่หลบหนีไปทางใต้ แต่เกิดความล่าช้าเพราะมีผู้อพยพจำนวนมาก กองกำลังทหารระดับชั้นนำจำนวน 5,000 นายของโจโฉได้ติดตามไล่ล่าเล่าปี่เพื่อหมายจะจับกุมและเอาชนะเขาได้ในยุทธการที่เตียงปัน ซึ่งเข้ายึดขบวนสัมภาระและขบวนผู้อพยพ ส่วนเล่าปี่เองหลบหนีไปทางตะวันออกได้อย่างหวุดหวิดพร้อมกับสหายผู้ร่วมเดินทางจำนวนหนึ่งได้เข้าสมทบกับเล่ากี๋ที่แฮเค้า และส่งจูกัดเหลียงเพื่อเจรจาเพื่อเป็นพันธมิตรกับซุนกวน ซึ่งในที่สุดก็ยอมตกลงที่จะเข้าร่วมกองกำลัง โจโฉได้ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำแยงซีโดยยึดฐานทัพเรือกังเหลง และออกคำสั่งให้กองทัพส่วนใหญ่ให้แล่นเรือไปตามแม่น้ำสู่เซ็กเพ็ก (ผาแดง) ในขณะที่กองทัพที่เหลือได้กรีฑาทัพทางบก เพื่อเอาชนะพันธมิตรที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วเพียงครั้งเดียว

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก

แก้

ในยุทธการที่เซ็กเพ็ก (ผาแดง) ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 208 กองทัพของโจโฉพ่ายแพ้ให้กับทัพพันธมิตรของเล่าปี่และซุนกวน (ซึ่งต่อมาได้สถาปนาจ๊กก๊กและง่อก๊กตามลำดับ กลายเป็นคู่ปรับคนสำคัญของเขาในการรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งอีกครั้ง) แม้ว่าจะมีกองทัพจำนวนมากมาย กองทัพทางเหนือก็ต้องหมดเรี่ยวแรงจากการเดินทัพ มีแนวโน้มว่าจะเจ็บป่วยในสภาพอากาศทางใต้ที่ไม่คุ้นชิน และเกิดอาการเมาเรือบนกองเรือแม่น้ำ(ซึ่งพวกเขาได้พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการผูกติดเรือเข้าด้วยกัน) ในขณะที่ฝ่ายซุนกวนโดยเฉพาะอย่างทหารที่ยังคงมีความสดใหม่และมีประสบการณ์ในการทำสงครามทางแม่น้ำ แม่ทัพฝ่ายพันธมิตร อุยกายแสร้งสวามิภักดิ์แก่ฝ่ายเหนือ แต่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่เรือของฝ่ายโจโฉถูกล่ามโซ่ติดเข้าไว้ด้วยกันเพื่อทำลายพวกเขาด้วยเรือติดไฟ ในขณะเดียวกัน การโจมตีด้วยการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรภายใต้การนำโดยจิวยี่บนเส้นทางสู่กองทัพทางบกของโจโฉที่ฮัวหลิม (烏林 อูหลิน)

ตลอดช่วง ค.ศ. 209 และ ค.ศ. 210 ผู้บัญชาการทหารของโจโฉได้มีส่วนร่วมในความพยายามป้องกันฝ่ายซุนกวน ในยุทธการที่กังเหลงและอิเหลง ผู้บัญชาการทหารของโจโฉในภาคเหนือของเกงจิ๋ว (เช่น โจหยิน) ได้ต่อสู้รบกับซุนกวน พวกเขาได้ประสบความสำเร็จแบบผสม และโจโฉสามารถรักษาอาณาเขตบางส่วนไว้ในทางเหนือของมณฑล ในเวลาเดียวกัน พวกเขาได้หยุดยั้งการโจมตีที่หับป๋าและปราบปรามการก่อจลาจลในหลู่ซึ่งกองกำลังของซุนกวนได้พยายามให้ความช่วยเหลือ ป้องกันไม่ให้ซุนกวนจากการมุ่งเข้าโจมตีที่ฉิวฉุน อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการทหารของโจโฉในทางใต้ของจเกงจิ๋ว ได้ถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของกองกำลังของโจโฉ ซึ่งได้ยอมสวามิภักดิ์แก่เล่าปี่ ในช่วงแรก เล่ากี๋ได้สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดาในฐานะผู้ตรวจการแห่งมณฑลเกงจิ๋ว แต่กลับเสียชีวิตลงใน ค.ศ. 209 ภายหลังจากนั้นซุนกวนได้แต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นผู้ว่าราชการแห่งมณฑลเกงจิ๋ว และให้เข้าพิธีวิวาท์กับซุนฮูหยิน น้องสาวของตนเพื่อประสานสัมพันธ์ความเป็นพันธมิตรร่วมกัน

การทัพในตะวันตกเฉียงเหนือ (ค.ศ. 211-220) และถึงแก่พิราลัย

แก้
 
  ดินแดนของโจโฉใน ค.ศ. 206
  ดินแดนทีถูกพิชิตโดยโจโฉ ค.ศ. 207–215
  ขุนศึกคนอื่น ๆ

ในค.ศ. 211 สถานการณ์ในทางใต้เริ่มมีเสถียรภาพและโจโฉได้ตัดสินใจที่จะบดขยี้ศัตรูที่เหลืออยู่ในภาคเหนือ ไปทางตะวันตกของเตียงฮัน(ในเมืองจั่วผิงอี้) ในเมืองฮันต๋งบนแม่น้ำฮั่นซุย ในภาคเหนือของมณฑลเอ๊กจิ๋ว เตียวฬ่อซึ่งปกครองที่นั่นในการก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ฮั่น ดำเนินการปกครองรัฐตามระบอบของตนเอง โจโฉส่งจงฮิวพร้อมทั้งกองทัพเพื่อบีบบังคับให้เตียวฬ่อยอมสวามิภักดิ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ได้รบกวนขุนศึกจำนวนหนึ่งในหุบเขาแม่น้ำอุยโห และมณฑลเลียงจิ๋วที่กว้างขวาง ซึ่งถูกรวบรวมภายใต้กำมือของหันซุยและม้าเฉียวเพื่อต้านทานโจโฉ ซึ่งเชื่อว่าการกรีฑาทัพเข้าโจมตีเตียวฬ่อของเขานั้น มีเป้าหมายมาที่พวกเขาโดยตรง โจโฉนำกองทัพด้วยตนเองในการต่อสู้รบกับพันธมิตรกลุ่มนี้ และเอาชนะด้วยกลอุบายต่อกองทัพฝ่ายกบฏในแต่ละรอบในยุทธการที่ด่านตงก๋วน พันธมิตรได้แตกแยกกันและผู้นำหลายคนถูกสังหาร โจโฉใช้เวลาหนึ่งหรือสองเดือนถัดมาในการไล่ล่าผู้นำบางคน ซึ่งมีหลายคนได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเขา เขาได้ทิ้งแฮหัวเอี๋ยนเพื่อสะสางงานในภูมิภาคและเดินทางกลับบ้านใน ค.ศ. 212 ใน ค.ศ. 213 เขาได้เปิดฉากการบุกครองในดินแดนของซุนกวนโดยข้ามแม่น้ำห้วย แต่กลับพ่ายแพ้ในยุทธการที่ยี่สู ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการควบคุมทางใต้ของซุนกวน

ใน ค.ศ. 213 โจโฉได้รับยศขุนนางเป็น "วุยก๋ง" (魏公 เว่ยกง) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เก้าขั้นและสิบหัวเมืองอยู่ในปกครอง เป็นที่รู้จักกันคือวุย (เว่ย์) ในปีเดียวกัน เขาได้กรีฑาทัพทางใต้และเข้าโจมตียี่สู ขุนพลของซุนกวนนามว่าลิบองหยุดยั้งการโจมตีได้ประมาณเดือนหนึ่ง และโจโฉก็ต้องล่าถอยไปในที่สุด ใน ค.ศ. 215 โจโฉเคลื่อนทัพและเข้ายึดครองฮันต๋ง ในปี 216 โจโฉได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าสืบตระกูล "วุยอ๋อง" (魏王 เว่ย์หวัง) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โจโฉ เล่าปี่ และซุนกวนยังคงรวบรวมอำนาจไว้ในภูมิภาคของตนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผ่านสงครามหลายครั้ง จีนได้ถูกแบ่งออกเป็นสามอำนาจ ได้แก่ วุย จ๊ก และง่อ ซึ่งได้ต่อสู้ในสมรภูมิอย่างเป็นระยะๆ โดยปราศจากการเสียสมดุลอย่างเห็นได้ชัดเจนในการสนับสนุนของใครก็ตาม ข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือกองกำลังของเล่าปี่สามารถเข้ายึดครองฮันต๋งมาจากกองทัพของโจโฉ ภายหลังจากการทัพที่ใช้เวลาสามวัน

 
จิตรกรรมฝาผนังของสุสานในลกเอี๋ยงซึ่งอยู่ในช่วงสมัยวุยก๊ก(ค.ศ. 220-266) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชายที่นั่งอยู่ซึ่งสวมฮั่นฝู ซึ่งเป็นเสื้อคลุมยาวที่ทำมาจากผ้าไหม

ในปี 220 โจโฉได้ถึงแก่พิราลัยในลกเอี๋ยง ขณะมีอายุ 66 ปี โดยไม่สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งภายใต้การปกครองของเขา ซึ่งถูกสันนิษฐานว่า "ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ" เขาได้สั่งเสียไว้ว่า ให้ฝังศพไว้ใกล้กับสุสานแห่งซีเหมินเป้าในเย่ว์ โดยปราศจากสมบัติต่าง ๆ ได้แก่ ทองและอัญมนีหยก และสั่งให้ทหารของตนที่คอยประจำการในชายแดน ให้ประจำตำแหน่งอยู่ในที่ของพวกเขาและไม่อนุญาตให้พวกเขาได้เข้าร่วมพิธีศพตามคำพูดของเขาว่า "ประเทศยังไม่มั่นคง"

โจผี ลูกชายคนโตของโจโฉ ได้สืบยศขุนนางต่อจากบิดา หลังจากนั้นหนึ่งปี โจผีบีบบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สละราชสมบัติ และประกาศตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของวุยก๊ก ในการนี้ โจโฉได้รับการเฉลิมพระยศขึ้นเป็น "วุยไท่จูอู่ฮ่องเต้" (魏太祖武皇帝)

สุสานหลวงโจโฉ

แก้

28 ธันวาคม 2009 ทางการจีนประกาศว่าได้ขุดค้นพบสุสานที่เชื่อว่าน่าจะเป็นของโจโฉ ที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน ตอนกลางของประเทศจีน โดยสุสานมีอาณาบริเวณ 740 ตารางเมตร มีโครงกระดูกของชายที่น่าจะเสียชีวิตในอายุราว 60 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นโจโฉ และโครงกระดูกของผู้หญิงอีก 2 ซึ่งน่าจะเป็นมเหสี และป้ายศิลาจารึกพระนามของโจโฉ[4]

ฐานันดรศักดิ์

แก้
  • ค.ศ. 196 : อู่ผิงฮอ (武平侯 "ท้าวพระยาอู่ผิง")
  • ค.ศ. 213 : วุยก๋ง (魏公 "เจ้าพระยาวุย")
  • ค.ศ. 216 : วุยอ๋อง (魏王 "เจ้าฟ้าวุย")
  • ค.ศ. 220 : วุยไท่จู่อู่ฮ่องเต้ (魏太祖武皇帝 "จักรพรรดิโยธินวุยไท่จู่") (เฉลิมพระยศหลังพิราลัย)

พระราชวงศ์

แก้
  • พระบิดา โจโก๋
  • พระปิตุลา โจเต๊ก
  • ภริยา
    • เต็งฮูหยิน
    • เล่าชี
    • เล่าฮูหยิน
    • พระนางเปียนซี (武宣卞皇后) มารดาของโจผี และโจเซี่ย
    • เจ้าคุณพระหลิง (丁夫人)
    • เจ้าคุณพระหลิว (劉夫人)
    • เจ้าคุณพระอัน (環夫人)
    • เจ้าคุณพระหลู (杜夫人)
    • เจ้าคุณพระฉิน (秦夫人)
    • เจ้าคุณพระซิน(尹夫人)
    • เจ้าจอมหวัง (王昭儀)
    • หม่อมซุน (孫姬)
    • หม่อมหลี่ (李姬)
    • หม่อมโซว (周姬)
    • หม่อมเล่า (劉姬)
    • หม่อมซ่ง (宋姬)
    • หม่อมโซว (趙姬)
    • นางเฉิน (陳妾)

พระราชโอรส

แก้

พระราชธิดา

แก้

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

สำนวน "speak of the devil" ในภาษาอังกฤษเทียบเท่ากับสำนวนจีนที่ใช้งานกันถึงสมัยใหม่คือ "พูดถึงโจโฉ โจโฉก็มา" (说到曹操,曹操就到)[5]

ภาพยนตร์

แก้
  • ในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของจีน สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร กำกับโดย แดเนียล ลี และ สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ กำกับโดยจอห์น วู โจโฉได้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง
    • ในภาพยนตร์เรื่อง สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร โจโฉรับบทโดยหลิวสงเหยิน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โจโฉได้ปรากฏตัวครั้งเดียวในศึกทุ่งเตียงปัน ขณะที่มองจูล่งที่กำลังฝ่าทัพของตนเพื่อช่วยเหลือลูกชายของเล่าปี่อย่างชื่นชม
    • ในภาพยนตร์เรื่อง สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ โจโฉรับบทโดยจางเฟิงอี้ โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้ โจโฉปรากฏตัวครั้งแรกในตอนที่ขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ในการปราบปรามเล่าปี่และซุนกวน โจโฉได้นำทัพไปรบกับพันธมิตรเล่า-ซุนที่ผาแดง แต่พ่ายแพ้ จึงล่าถอยหนี ระหว่างทางถูกทหารข้าศึกล้อมจะจับตัวทุกเส้นทาง แต่ในเส้นทางถอยหนีสุดท้าย แม่ทัพกวนอูได้ไว้ชีวิตให้กลับไป เพราะสำนึกในบุญคุณที่โจโฉเคยรับอุปการะเลี้ยงเลี้ยงดูไว้เป็นอย่างดี
  • ในภาพยนตร์เรื่อง สามก๊ก ตอน โจโฉ มหาอุปราชผู้หวังครองแผ่นดิน ซึ่งเคอ จุ้นสงได้รับบทนี้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวถึงชีวประวัติของโจโฉตั้งแต่ต้นจนถึงตอนเสียชีวิต
  • ภาพยนตร์เรื่อง โจโฉ The Assassins (铜雀台) นำแสดงโดย โจว เหวินฟะ ซึ่งรับบทเป็นโจโฉ และมีเนื้อหาในช่วงเหตุการณ์ที่ พระเจ้าเหี้ยนเต้กับนางฮกเฮาคิดกำจัดโจโฉ

ละครโทรทัศน์

แก้
  • สามก๊ก ฉบับละครโทรทัศน์ ของประเทศจีน ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องวรรณกรรมอมตะของจีนเรื่องสามก๊ก ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวของโจโฉตั้งแต่รับราชการเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยจนกระทั่งเสียชีวิต โดย เปากั๊วอัน นักแสดงชาวจีนที่รับบทโจโฉ
  • สามก๊ก (ละครโทรทัศน์ชุดใหม่) เป็นละครที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2553 มีการถ่ายทอดเรื่องราวของโจโฉตั้งแต่รับราชการและคิดฆ่าตั๋งโต๊ะไปจนถึงเสียชีวิต แสดงโดยเฉินเจี้ยนปิน

การ์ตูนไทย

แก้
  • ในการ์ตูน สามก๊ก มหาสนุก ผลงานการ์ตูนสามก๊กของสุชาติ พรหมรุ่งโรจน์ ได้มีการกล่าวถึงโจโฉด้วยเช่นกัน โดยโจโฉในสามก๊กมหาสนุกมีลักษณะรูปร่างเตี้ย และมักชอบพูดว่า "ความคิดอันสูงส่งมักตรงกันเสมอ"

วิดีโอเกม

แก้

โจโฉปรากฏตั้งในวิดีโอเกมชุดโรแมนซ์ออฟเดอะทรีคิงดัมส์ของโคเอทั้งหมด เขายังเป็นตัวละครที่เล่นได้ในชุด ไดนาสตีวอริเออร์ และ วอริเออร์โอโรจิ และยังปรากฏเป็นตัวละครหลักที่เล่นได้ใน เค็สเซ็ง 2 ของโคเอ

ประเภทอื่น

แก้

หมายเหตุ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. de Crespigny (2007), pp. 35, 38.
  2. de Crespigny (2010), p. 35.
  3. (治世之能臣,乱世之奸雄。) ตันซิ่ว. จดหมายเหตุสามก๊ก, เล่ม 1, ชีวประวัติโจโฉ.
  4. "จีนขุดพบสุสาน'โจโฉ'อายุ 2 พันปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-03. สืบค้นเมื่อ 2009-12-28.
  5. de Crespigny (2010), p. 200.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า โจโฉ ถัดไป
สถาปนาตำแหน่งใหม่   วุยอ๋อง (เว่ย์หวัง)
(ค.ศ. 216 – 220)
  โจผี
ว่าง
ดำรงตำแหน่งล่าสุด
ตั๋งโต๊ะ
(ในฐานะอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐ)
  อัครมหาเสนาบดี
แห่งราชวงศ์ฮั่น

(ค.ศ. 208 – 220)
  โจผี