กวนอู
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
ในบทความนี้ หรือส่วนของบทความนี้ ยังคลุมเครือว่า เนื้อหาที่ใดเป็นเรื่องจริง ที่ใดเป็นเรื่องสมมุติ (เรื่องเล่าขาน, นิยาย, ภาพยนตร์ ฯลฯ) โปรดเรียบเรียงใหม่โดยแยกแยะให้ชัดเจน ตามแนวทางการแยกเรื่องจริงกับเรื่องสมมุติ |
กวนอู (เสียชีวิต เดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 220)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า กวาน ยฺหวี่ (จีน: 關羽; พินอิน: Guān Yǔ; [kwán ỳ] ( ฟังเสียง)) มีชื่อรองว่า หุนเตี๋ยง[b] หรือในภาษาจีนกลางว่า ยฺหวินฉาง (จีน: 雲長; พินอิน: Yúncháng) เป็นขุนพลชาวจีนที่รับใช้ขุนศึกเล่าปี่ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน กวนอูและเตียวหุยมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับเล่าปี่และติดตามเล่าปี่ตลอดการแสวงอำนาจในช่วงต้น กวนอูมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นสุดชของราชวงศ์ฮั่นและการสถาปนารัฐจ๊กก๊กของเล่าปี่ในยุคสามก๊ก กวนอูเป็นที่จดจำในเรื่องความจงรักภักดีต่อเล่าปี่ ขณะเดียวกันก็มีชื่อเสียงในเรื่องการตอบแทนบุญคุณของโจโฉด้วยการสังหารงันเหลียงขุนพลของอ้วนเสี้ยวคู่อริของโจโฉในยุทธการที่แปะแบ๊ หลังจากเล่าปี่ยึดมณฑลเอ๊กจิ๋วได้ในปี ค.ศ. 214 กวนอูยังคงปกครองและป้องกันมณฑลเกงจิ๋วต่อไปอีกประมาณ 7 ปี ในปี ค.ศ. 219 ระหว่างที่กวนอูไปรบกับกองทัพของโจโฉในยุทธการที่อ้วนเสีย ซุนกวนพันธมิตรของเล่าปี่ทำลายความเป็นพันธมิตรซุน-เล่าแล้วส่งขุนพลลิบองเข้ายึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว ในช่วงเวลาที่กวนอูทราบข่าวการเสียเกงจิ๋ว (หลังกวนอูพ่ายแพ้ในการรบที่อ้วนเสีย) ก็เป็นเวลาที่สายเกินแก้แล้ว ต่อมากวนอูถูกทัพของซุนกวนซุ่มโจมตีและจับตัวได้ จากนั้นจึงถูกประหารชีวิต[3]
กวนอู (กวาน ยฺหวี่) | |
---|---|
關羽 | |
ภาพวาดของกวนอูในซันไฉถูหุ่ย | |
ขุนพลหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 219 – ค.ศ. 220 | |
กษัตริย์ | เล่าปี่ (อ๋องแห่งฮันต๋ง) / พระเจ้าเหี้ยนเต้ (ราชวงศ์ฮั่น) |
ขุนพลปราบโจร (盪寇將軍 ต้างโค่วเจียงจฺวิน) (ในสังกัดของเล่าปี่) | |
ดำรงตำแหน่ง ป. ค.ศ. 211 – ค.ศ. 219 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
เจ้าเมืองซงหยง (襄陽太守 เซียงหยางไท่โฉ่ว) (ในสังกัดของเล่าปี่) | |
ดำรงตำแหน่ง ป. ค.ศ. 211 – ค.ศ. 219 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
รองขุนพล (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) (ในสังกัดของโจโฉ ต่อมาในสังกัดของเล่าปี่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 200 – ป. ค.ศ. 211 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอไก่เหลียง เมืองฮอตั๋ง จักรวรรดิฮั่น (ปัจจุบันคือเมืองยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซี) |
เสียชีวิต | มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 220[a] อำเภอหลินจฺหวี่ เมืองซงหยง จักรวรรดิฮั่น (ปัจจุบันคืออำเภอหนานจาง มณฑลหูเป่ย์) |
บุตร | |
อาชีพ | ขุนพล |
ชื่อรอง | หุนเตี๋ยง (雲長 ยฺหวินฉาง) |
สมัญญานาม | จฺวั้งโหมวโหว (壯繆侯) |
บรรดาศักดิ์ | หั้นสือแต่งเฮา (漢壽亭侯 ฮั่นโช่วถิงโหว) |
เทพนาม |
|
ชื่ออื่น ๆ |
|
กวนอู | |||||||||||||||||||||||||||||||||||
"กวนอู (กวาน ยฺหวี่)" เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 關羽 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 关羽 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||
ฮั่นยฺหวี่พินอิน | |||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
หลักฐานทางประวัติศาสตร์
แก้หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของกวนอูที่เชื่อถือได้คือ สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เขียนโดยตันซิ่วในศตวรรษที่ 3 ครั้นศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือได้เพิ่มอรรถาธิบายให้กับสามก๊กจี่ โดยได้รวบรวมข้อมูลจากหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมให้กับงานต้นฉบับของตันซิ่ว และได้เพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวไปด้วย บันทึกส่วนหนึ่งที่ใช้ในการเพิ่มอรรถาธิบายให้กับชีวประวัติของกวนอู ได้แก่ ฉู่จี้ (จดหมายเหตุจ๊กก๊ก) โดยหวัง อิ่น; เว่ย์ชู (จดหมายเหตุวุยก๊ก) โดยหวัง เฉิน, สฺวิน อี่ และ หร่วน จี๋; เจียงเปี่ยวจฺวั้น โดย ยฺหวี ผู่; ฟู่จื่อ โดย ฟู่ เสฺวียน; เตี่ยนเลฺว่ โดย ยฺหวี ฮฺว่าน; อู๋ลี่ (ประวัติศาสตร์ง่อก๊ก) โดย หู ชง; และ หฺวาหยางกั๋วจื้อ โดย ฉาง ฉฺวี
ลักษณะภายนอก
แก้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่มีข้อความที่บรรยายลักษณะภายนอกของกวนอูอย่างแน่ชัด แต่ในสามก๊กจี่ได้บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งจูกัดเหลียงได้กล่าวถึงกวนอูว่ามี "เคราที่มิมีผู้ใดเทียบ"[c]
ตามความเชื่อดั้งเดิม กวนอูถูกบรรยายลักษณะว่าเป็นนักรบใบหน้าแดงที่มีเคราดกยาว แนวคิดเรื่องหน้าแดงนี้มาจากคำบรรยายลักษณะของกวนอูในตอนที่ 1 ของนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ซึ่งประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 ตามเนื้อความต่อไปนี้:
"เหี้ยนเต๊ก (เล่าปี่) มองไปที่บุรุษนั้นผู้มีสูงเก้าฉื่อ[d] และมีเครายาวสองฉื่อ[e] ใบหน้ามีสีเหมือนผลพุทราสุก[f] ริมฝีปากแดงและอวบอิ่ม ดวงตาเหมือนกับหงส์แดง[g] คิ้วคล้ายหนอนไหม[h] มีท่าทางสง่างามองอาจ"
สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 บรรยายลักษณะของกวนอูไว้ตามเนื่อตวามต่อไปนี้[7]:
"เล่าปี่เห็นผู้นั้นสูงประมาณหกศอกหนวดยาวประมาณศอกเศษ หน้าแดงดังผลพุทราสุก ปากแดงดังชาดแต้ม คิ้วดังตัวไหม จักษุยาวดังนกการะเวก เห็นกิริยาผิดประหลาทกว่าคนทั้งปวง"
ต้นชีวิต
แก้กวนอูเป็นชาวอำเภอไก่เหลียง(解縣 เสี่ยเซี่ยน) เมืองฮอตั๋ง (河東郡 เหอตงจฺวิ้น) ซึ่งในปัจจุบันคือเมืองยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซี ชื่อรองเดิมของกวนอูคือฉางเชิง (長生).[ซานกั๋วจื้อ 2] กวนอูมีความสนใจในตำราประวัติศาสตร์ยุคโบราณจั่วจฺวั้น และสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำ[ซานกั๋วจื้อจู้ 1] กวนอูหนีออกจากบ้านเกิดด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ทราบแน่ชัด และเดินทางไปยังเมืองตุ้นก้วน (涿郡 จัวจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองจัวโจว มณฑลหูเป่ย์). เมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการขึ้นในปี ค.ศ. 184 กวนอูและเตียวหุยเข้าร่วมกองกำลังทหารอาสาที่ก่อตั้งโดยเล่าปี่ และช่วยเหลือนายพลเจาเจ้งในการปราบจลาจล [ซานกั๋วจื้อ 3][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 1]
เมื่อเล่าปี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ (相 เซียง) ของรัฐเพงงวนก๋วน (平原國 ผิงยฺเหวียนกั๋ว; ปัจจุบันคือเมืองเต๋อโจว มณฑลชานตง) กวนอูและเตียวหุยก็ได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเปี๋ยปู้ซือหม่า (别部司馬) บัญชากองทหารสองกองแยกกันภายใต้สังกัดของเล่าปี่ ทั้งสามคนเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยมีความสนิทกันเหมือนเป็นพี่น้องกัน และนอนร่วมเตียงกัน กวนอูและเตียวหุยมักยืนให้ความคุ้มครองเล่าปี่อยู่ด้านหลังเมื่อเล่าปี่พบปะกับผู้อื่น ทั้งคู่ติดตามเล่าปี่ในการตั้งตัวและช่วยปกป้องเล่าปี่จากอันตราย[ซานกั๋วจื้อ 4]
รับราชการกับโจโฉเป็นเวลาสั้น ๆ
แก้ภูมิหลัง
แก้เล่าปี่และผู้ใต้บังคับบัญชาได้ติดตามโจโฉกลับไปเมืองหลวงฮูโต๋ (許 สฺวี่; ปัจจุบันคือเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) หลังจากทำศึกชนะลิโป้ในยุทธการที่แห้ฝือในปี ค.ศ. 198 ประมาณหนึ่งปีหลังจากนั้น เล่าปี่และผู้ติดตามได้หนีออกจากเมืองฮูโต๋ โดยอ้างว่าจะช่วยโจโฉนำทหารไปโจมตีอ้วนสุด เล่าปี่ไปยังมณฑลชีจิ๋ว สังหารกีเหมา (車冑 เชอ โจ้ว) ผู้เป็นข้าหลวงมณฑล และเข้าควบคุมมณฑลชีจิ๋ว เล่าปี่ย้ายไปอยู่เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) ให้กวนอูอยู่รักษาเมืองแห้ฝือ (下邳 เซี่ยพี; ปัจจุบันคือเมืองพีโจว มณฑลเจียงซู) เมืองหลวงของมณฑลชีจิ๋ว[ซานกั๋วจื้อ 5] [ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 2][ซานกั๋วจื้อจู้ 2]
ในปี ค.ศ. 200 โจโฉยกทัพมาโจมตีเล่าปี่จนแตกพ่ายแล้วเข้ายึดมณฑลชีจิ๋วคืน เล่าปี่หนีไปทางภาคเหนือของจีนแล้วเข้าหลบภัยกับอ้วนเสี้ยวที่เป็นคู่ศึกกับโจโฉ ส่วนกวนอูถูกกองทัพของโจโฉจับตัวได้แล้วพากลับเมืองฮูโต๋ โจโฉปฏิบัติต่อกวนอูอย่างให้เกียรติ และได้ทูลขอพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้พระราชทานแต่งตั้งให้กวนอูมีตำแหน่งเพียนเจียงจฺวิน (偏將軍).[ซานกั๋วจื้อ 6][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 3]
ยุทธการที่แปะแบ๊
แก้ต่อมาในปีเดียวกัน อ้วนเสี้ยวให้ขุนพลงันเหลียงนำทหารเข้าโจมตีกองทหารรักษาการณ์ของโจโฉที่แปะแบ๊ (白馬 ปั๋วหม่า; ปัจจุบันอยู่บริเวณใกล้กับอำเภอหฺวา มณฑลเหอหนาน) ซึ่งป้องกันโดยเล่าเอี๋ยน (劉延 หลิว เหยียน) โจโฉให้เตียวเลี้ยวและกวนอูนำทหารกองหน้าไปรบกับข้าศึก ระหว่างการรบกวนอูจำสัปทนของงันเหลียงได้จึงมุ่งตรงไปหางันเหลียง ตัดศีรษะงันเหลียงได้แล้วหิ้วศีรษะนั้นกลับมา ทหารของงันเหลียงไม่สามารถต้านทานกวนอูไว้ได้ การล้อมที่แปะแบ๊จึงคลี่คลายไป โจโฉถวายคำแนะนำให้พระเจ้าเหี้ยนเต้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กวนอูเป็น "หั้นสือแต่งเฮา " (漢壽亭侯 ฮั่นโซ่วถิงโหว) [i][ซานกั๋วจื้อ 7]
ตีจากโจโฉ
แก้แม้ว่าโจโฉจะชื่นชมกวนอูเป็นอย่างมาก แต่ก็รู้สึกได้ว่ากวนอูคงไม่ตั้งใจจะรับราชการกับตนเป็นเวลานาน โจโฉได้บอกกับเตียวเลี้ยวว่า "ขอท่านจงใช้ความเป็นเพื่อนกับกวนอูไปเลียบเคียงถามถึงความต้องการของกวนอูด้วย" เมื่อเตียวเลี้ยวถามกวนอู กวนอูจึงตอบว่า "ข้าทราบดีว่าท่านโจดีต่อข้าเป็นอย่างมาก แต่ข้าก็ได้รับความกรุณาเป็นอย่างมากจากขุนพลเล่าและข้าได้สาบานว่าจะติดตามท่านไปจนสิ้นชีวิต ข้ามิอาจละคำสาบานได้ ท้ายที่สุดแล้วข้าจะจากไป ขอท่านโปรดช่วยข้านำความนี้ไปว่ากล่าวกับท่านโจด้วย" เตียวเลี้ยวนำความที่กวนอูกล่าวไปบอกกับโจโฉ โจโฉจึงยิ่งประทับใจในตัวกวนอูมากขึ้นไปอีก[ซานกั๋วจื้อ 8] ในฟู่จื่อมีรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยบันทึกไว้ว่าเตียวเลี้ยวมีความลำบากใจว่าจะนำความที่กวนอูกล่าวไปแจ้งกับโจโฉดีหรือไม่ หากนำความไปแจ้ง โจโฉอาจจะสั่งประหารกวนอู หากไม่แจ้ง โจโฉก็อาจจะปลดตนออกจากตำแหน่ง เตียวเลี้ยวถอนหายใจแล้วว่า "ท่านโจเป็นนายของข้าและเป็นเหมือนบิดาของข้า ส่วนกวนอูก็เป็นเหมือนพี่น้องของข้า" ในที่สุดเตียวเลี้ยวจึงตัดสินใจแจ้งโจโฉ โจโฉจึงว่า "ผู้ใดรับใช้นายแต่ก็ไม่ลืมรากเหง้าถือเป็นผู้ทรงธรรมโดยแท้ ท่านคิดว่าเขาจะจากไปเมื่อใดหรือ?" เตียวเลี้ยวตอบว่า "กวนอูได้รับความกรุณาจากนายท่าน เขาอาจจะจากไปหลังจากได้ตอบแทนบุญคุณท่านแล้ว"[ซานกั๋วจื้อจู้ 3]
หลังจากกวนอูสังหารงันเหลียงและสลายวงล้อมที่แปะแบ๊แล้ว โจโฉก็รู้ว่ากวนอูจะจากไปในไม่ช้าจึงมอบรางวัลให้กวนอูมากขึ้น กวนอูผนึกของขวัญทั้งหมดที่ได้รับจากโจโฉ เขียนหนังสืออำลาถึงโจโฉ และมุ่งหน้าไปยังอาณาเขตของอ้วนเสี้ยวเพื่อไปหาเล่าปี่ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉต้องการจะไล่ตามจับกวนอู แต่โจโฉห้ามไว้แล้วกล่าวว่า "เขาแค่ทำตามหน้าที่เพื่อนายของตน ไม่จำเป็นต้องไล่ตามจับ"[ซานกั๋วจื้อ 9]
เผย์ ซงจือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า "โจโฉชื่นชมกวนอูอย่างมากแม้ตนจะรู้ว่ากวนอูจะไม่อยู่เป็นลูกน้องตนอีก จึงไม่ส่งคนไปไล่ตามกวนอูเมื่อกวนอูจากไป เปิดโอกาสให้กวนอูสำเร็จผลเพื่อความจงรักภักดี (ต่อเล่าปี่) หากเขามิใช่คนใจกว้างอย่างที่ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่เป็น เขาจะปล่อยให้เกิดเหตุเช่นนี้หรือ นี่เป็นตัวอย่างของคุณธรรมของโจโฉ"[ซานกั๋วจื้อจู้ 4]
กลับไปหาเล่าปี่
แก้เมื่อโจโฉรบกับอ้วนเสี้ยวในยุทธการที่กัวต๋อในปี ค.ศ. 200 อ้วนเสี้ยวส่งเล่าปี่ไปติดต่อกับเล่าเพ็ก (劉辟 หลิว พี่) ผู้นำกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองในเมืองยีหลำ (汝南 หรู่หนาน) และช่วยเล่าเพ็กในการโจมตีเมืองหลวงฮูโต๋ (許 สฺวี่; ปัจจุบันคือเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ในขณะที่โจโฉอยู่ไกลถึงกัวต๋อ กวนอูกลับมาร่วมกับเล่าปี่ในช่วงเวลานี้ เล่าปี่และเล่าเพ็กพ่ายแพ้ให้กับโจหยินขุนพลของโจโฉ จากนั้นเล่าปี่จึงกลับไปหาอ้วนเสี้ยว เล่าปี่ลอบวางแผนจะตีจากอ้วนเสี้ยว จึงแสร้งทำเป็นเสนอให้อ้วนเสี้ยวเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียวผู้ครองมณฑลเกงจิ๋ว อ้วนเสี้ยวมอบหมายให้เล่าปี่ไปติดต่อกับก๋งเต๋า (共都/龔都 กงตู) ผู้นำกลุ่มกบฏอีกคนในยีหลำ และรวบรวมทหารได้สองสามพันคน ฝ่ายโจโฉหลังจากได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนืออ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อก็ยกทัพกลับมาโจมตีเมืองยีหลำและเอาชนะเล่าปี่ได้ เล่าปี่หนีลงทางใต้และเข้าหลบภัยกับเล่าเปียว เล่าเปียวมอบหมายให้เล่าปี่ดูแลอำเภอซินเอี๋ย (新野 ซินเหย่; ปัจจุบันตืออำเภอซินเหย่ มณฑลเหอหนาน) ที่ชายแดนทางเหนือของมณฑลเกงจิ๋ว กวนอูได้ติดตามเล่าปี่ไปอยู่ที่ซินเอี๋ย [ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 4][ซานกั๋วจื้อ 10]
ยุทธการที่ผาแดงและผลสืบเนื่อง
แก้เล่าเปียวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 208 เล่าจ๋องบุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวสืบทอดตำแหน่งแทนและต่อมาก็ยอมจำนนมอบมณฑลเกงจิ๋วให้โจโฉเมื่อโจโฉเริ่มการทำศึกเพื่อปราบปรามกองกำลังฝ่ายตรงข้ามทางตอนใต้ของจีน เล่าปี่พร้อมด้วยผู้ติดตามอพยพจากซินเอี๋ยมุ่งไปยังแฮเค้า (夏口 เซี่ยโข่ว; ปัจจุบันคือเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์) ซึ่งรักษาป้องกันโดยเล่ากี๋บุตรชายคนโตของเล่าเปียวและเป็นอิสระจากความควบคุมของโจโฉ ในการเดินทางครั้งนั้นเล่าปี่ได้แบ่งคนของตนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยกวนอูให้แล่นเรือไปตามแม่น้ำมุ่งไปยังกังเหลง (江陵 เจียงหลิง; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) อีกกลุ่มนำโดยตัวเล่าปี่เองเดินทางไปทางบก ทหารส่งทหารม้าฝีมือดี 5,000 นายให้ไล่ตามกลุ่มของเล่าปี่และไล่ตามทันทีเตียงปัน (長坂 ฉางป่าน; ปัจจุบันคือเมืองตางหยาง มณฑลหูเป่ย์) แล้วเกิดยุทธการที่สะพานเตียงปันเกี้ยวขึ้น เล่าปี่และผู้ติดตามที่เหลือหนีกองกำลังของโจโฉจนมาถึงท่าน้ำฮันจิ๋น (漢津 ฮั่นจิน) ที่ซึ่งกลุ่มของกวนอูได้ช่วยพาทั้งหมดขึ้นเรือแล้วแล่นไปแฮเค้าด้วยกัน[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 5][ซานกั๋วจื้อ 11]
ในปี ค.ศ. 208 เล่าปี่เป็นพันธมิตรกับซุนกวนและเอาชนะโจโฉได้อย่างแตกหักในยุทธการที่ผาแดง โจโฉถอยหนีขึ้นทางเหนือหลังการพ่ายแพ้และมอบหมายให้โจหยินอยู่ป้องกันมณฑลเกงจิ๋ว ในระหว่างยุทธการที่กังเหลง กวนอูได้รับมอบหมายให้แทรกซึมไปสกัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของโจหยิน กวนอูจึงนำกองกำลังพิเศษเข้าโจมตีเมืองซงหยงที่มีงักจิ้นขุนพลของโจโฉเป็นผู้รักษา งักจิ้นเอาชนะกวนอูและซู เฟย์ (蘇非) ให้ล่าถอยไปได้[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 6] หลังเล่าปี่ยึดครองได้หลายเมืองของมณฑลเกงจิ๋วใต้ เล่าปี่ได้แต่งตั้งให้กวนอูเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองซงหยงและเป็นขุนพลปราบโจร (盪寇將軍 ต้างโค่วเจียงจฺวิน) และมอบหมายให้กวนอูไปตั้งกองกำลังที่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำแยงซี.[ซานกั๋วจื้อ 12]
ภายหลังกวนอูรบกับงักจิ้นและบุนเพ่งที่สฺวินโข่ว (尋口) และพ่ายแพ้ บุนเพ่งโจมตีคลังแสงและคลังเสบียงของกวนอูที่ท่าน้ำฮันจิ๋น (漢津 ฮั่นจิน) และเผาเรือของกวนอูที่จิงเฉิง (荊城).[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 7]
รักษาเกงจิ๋ว
แก้ระหว่างปี ค.ศ. 212 ถึง ค.ศ. 214 เล่าปี่เริ่มการศึกเพื่อยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและเมืองฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากเล่าเจี้ยงที่เป็นผู้ครองมณฑล ผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ส่วนใหญ่ได้เข้าร่วมในการศึกนี้ ในขณะที่กวนอูยังคงอยู่รักษาดูแลอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว[ซานกั๋วจื้อ 13]
กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตซุน-เล่า
แก้ในช่วงกลางทศวรรษ 210 เกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างเล่าปี่และ ซุนกวนในมณฑลเกงจิ๋วใต้ ตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ เล่าปี่ได้ "ยืม" มณฑลเกงจิ๋วใต้จากซุนกวนเพื่อใช้เป็นฐานกำลังชั่วคราว เล่าปี่จะต้องคืนอาณาเขตนี้แก่ซุนกวนหลังจากได้ฐานที่มั่นอื่นแล้ว หลังจากเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว ซุนกวนได้ร้องขอต่อเล่าปี่คืนสามเมืองแต่เล่าปี่ปฏิเสธ ซุนกวนจึงให้ขุนพลลิบองนำทัพไปยึดสามเมือง เล่าปี่โต้กลับด้วยการให้กวนอูนำทัพไปหยุดลิบอง[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 8] กำเหลงหนึ่งในผู้ใต้บังคับบัญชาของลิบองได้จัดการขัดขวางกวนอูไม่ให้ข้ามธารน้ำตื้นใกล้อี้หยาง ธารน้ำตื้นนี้จึงได้ชื่อว่า 'ธารน้ำกวนอู' (關羽瀨 กวันยฺหวี่ไล่)[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 9] ภายหลังโลซก (แม่ทัพใหญ่บัญชาการกองกำลังของซุนกวนโดยรวมในมณฑลเกงจิ๋ว) ได้เชิญกวนอูมาพบเพื่อเจรจาจัดการกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขต ราวปี ค.ศ. 215 หลังจากโจโฉยึดได้เมืองฮันต๋ง เล่าปี่เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ต่อตนในมณฑลเอ๊กจิ๋ว จึงตัดสินใจสงบศึกกับซุนกวนและตกลงจะแบ่งมณฑลเกงจิ๋วใต้ส่วนหนึ่งให้ซุนกวนโดยกำหนดเขตแดนใหม่ตลอดแม่น้ำเซียง จากนั้นทั้งสองฝ่ายจึงถอนกำลังไป[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 10]
ยุทธการที่อ้วนเสีย
แก้ในปี ค.ศ. 219 เล่าปี่ได้ชัยชนะต่อโจโฉในยุทธการที่ฮันต๋ง จากนั้นเล่าปี่จึงสถาปนาตนขึ้นเป็น "ฮันต๋งอ๋อง" (漢中王 ฮั่นจงหฺวาง) เล่าปี่แต่งตั้งให้กวนอูเป็นขุนพลกองหน้า (前將軍 เฉียงเจียงจฺวิน) และประทานขวานชั้นยศ ในปีเดียวกัน กวนอูนำทัพยกไปโจมตีโจหยินที่อ้วนเสีย (樊城 ฝานเฉิง; ปัจจุบันตือเขตฝานเฉิง เมืองเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์) และเข้าล้อมป้อมปราการไว้ โจโฉให้อิกิ๋มนำกองหนุนไปช่วยโจหยิน ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิและเกิดฝนตกหนักจนแม่น้ำฮันซุยล้นตลิ่ง เกิดน้ำท่วมทำลายกองทหารเจ็ดสายของอิกิ๋ม อิกิ๋มยอมจำนนต่อกวนอู ส่วนบังเต๊กผู้ใต้บังคับบัญชาของอิกิ๋มไม่ยอมจำนนจึงถูกกวนอูสั่งประหาร กลุ่มโจรที่นำโดยเหลียง เจี๋ย (梁郟) และลู่ หุน (陸渾) ได้รับตราราชการจากกวนอูจึงมาเข้าร่วมและกลายเป็นผู้ติดตามของกวนอู ชื่อเสียงของกวนอูแพร่สะพัดไปทั่วแผ่นดิน[ซานกั๋วจื้อ 14]
ฉู่จี้ได้บันทึกว่าก่อนที่กวนอูจะเริ่มการศึกที่อ้วนเสีย กวนอูได้ฝันว่ามีหมูป่ามากัดที่เท้า กวนอูจึงบอกกวนเป๋งบุตรชายว่า "ปีนี้พ่ออ่อนแอลงมาก พ่ออาจจะไม่ได้กลับมาเป็น ๆ"[ซานกั๋วจื้อจู้ 5]
ดูถูกซุนกวน
แก้หลังจากความพ่ายแพ้ของอิกิ๋ม โจโฉคิดอ่านจะย้ายเมืองหลวงจากเมืองฮูโต๋ (許 สฺวี่; ปัจจุบันคือเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ขึ้นเหนือไปเหอเป่ย์เพื่อหลีกภัยจากกวนอู แต่สุมาอี้และเจียวเจ้ได้บอกกับโจโฉว่าซุนกวนคงต้องร้อนใจเมื่อได้ยินข่าวชัยชนะของกวนอู แล้วแนะนำให้โจโฉเป็นพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อให้ซุนกวนช่วยขัดขวางการรุกคืบของกวนอู และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนโจโฉก็ต้องยอมรับการอ้างสิทธิของซุนกวนเหนือดินแดนกังตั๋ง ด้วยแนวทางนี้การปิดล้อมที่อ้วนเสียก็จะคลี่คลายโดยอัตโนมัติ โจโฉทำตามคำแนะนำนี้ ก่อนหน้านี้ซุนกวนได้ส่งทูตไปพบกวนอูเพื่อเสนอให้มีการแต่งงานระหว่างบุตรชายของตนและบุตรสาวของกวนอู แต่กวนอูปฏิเสธข้อเสนอ ทั้งยังด่าว่าและหยามเกียรติของทูตอย่างรุนแรง ทำให้ซุนกวนโกรธมาก[ซานกั๋วจื้อ 15]
เผชิญหน้ากับซิหลง
แก้ต่อมาโจโฉให้ซิหลงนำทหารกองหนุนอีกกองไปช่วยโจหยินที่อ้วนเสีย ซิหลงบุกทะลวงผ่าวงล้อมของกวนอูในสนามรบ จึงสลายการโอบล้อมที่อ้วนเสียได้สำเร็จ [ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 11] เมื่อกวนอูเห็นว่าไม่อาจยึดอ้วนเสียได้จึงถอนทัพไป [ซานกั๋วจื้อ 16] ฉู่จี้ได้บันทึกเหตุการณ์การเผชิญหน้าของซิหลงและกวนอูในสนามรบไว้ ซิหลงเคยเป็นเพื่อนสนิทของกวนอู มักจะสนทนากันเรื่องต่าง ๆ นอกเหนือจากเรื่องการทหาร เมื่อทั้งสองได้พบกันอีกครั้งที่อ้วนเสีย ซิหลงได้ถ่ายทอดคำสั่งกับทหารของตนว่า "ใครตัดศีรษะกวนอูได้จะได้รับรางวัลเป็นทองคำ 1,000 ชั่ง" กวนอูตกใจจึงถามซิหลงว่า "พี่ท่านเหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้" ซิหลงตอบว่า "นี่เป็นเรื่องการของแผ่นดิน"[ซานกั๋วจื้อจู้ 6]
เสียเกงจิ๋ว
แก้แม้ว่ากวนอูจะเอาชนะและจับตัวอิกิ๋มได้ที่อ้วนเสีย แต่ในทัพกวนอูก็เกิดขาดแคลนเสบียง กวนอูจึงยึดข้าวสารจากยุ้งฉางแห่งหนึ่งของซุนกวนที่ด่านเซียงกฺวัน (湘關) ซุนกวนจึงลอบตกลงเป็นพันธมิตรกับโจโฉแล้วให้ลิบองและคนอื่น ๆ เข้ารุกรานมณฑลเกงจิ๋ว ตัวซุนกวนนำทัพหนุนตามไปในภายหลัง ที่ชิมเอี๋ยง (尋陽 สฺวินหยาง) ลิบองสั่งให้ทหารซ่อนตัวในเรือที่ปลอมให้เป็นเรือของพ่อค้าและพลเรือนแล่นมายังมณฑลเกงจิ๋ว ตลอดทางลิบองเข้าแทรกซึมและเข้ายึดหอสังเกตการณ์ที่กวนอูให้ตั้งไว้ตลอดริมแม่น้ำ กวนอูจึงไม่รู้เรื่องการบุกรุกครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 12]
เมื่อกวนอูเริ่มต้นการศึกที่อ้วนเสีย ได้มอบหมายให้บิฮองและเปาสูหยินอยู่ป้องกันฐานกำลังสำคัญในมณฑลเกงจิ๋วคือเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) และเมืองกังอั๋น (公安 กงอัน; ปัจจุบันคืออำเภอกงอัน มณฑลหูเป่ย์) กวนอูปฏิบัติต่อทั้งสองอย่างดูหมิ่น ระหว่างการศึก หลังจากที่บิฮองและเปาสูหยินส่งเสบียงให้ทัพกวนอูที่แนวหน้าไม่เพียงพอ กวนอูไม่พอใจจึงว่า "ข้าจะจัดการกับพวกมันเมื่อข้ากลับไป" บิฮองและเปาสูหยินรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่อซุนกวนเข้ารุกรานมณฑลเกงจิ๋ว ลิบองได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบิฮองและสามารถเกลี้ยกล่อมให้ยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ ส่วนยีหวนก็เกลี้ยกลอมเปาสูหยินได้เช่นกัน อาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋วจึงตกอยู่ใต้การควบคุมของซุนกวนหลังการยอมจำนนของบิฮองและเปาสูหยิน[ซานกั๋วจื้อ 17]
หลักฐานที่น่ากังขาจากเตี่ยนเลฺว่
แก้เตี่ยนเลฺว่ บันทึกว่า:
เมื่อกวนอูปิดล้อมอ้วนเซีย ซุนกวนได้สูงทูตไปพบกวนอูเพื่อเสนอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็ลอบสั่งทูตให้หน่วงเวลาในการเดินทาง จากนั้นจึงส่งนายทะเบียนล่วงหน้าไปพบกวนอูก่อน กวนอูไม่พอใจที่ข้อเสนอส่งมาถึงช้าเพราะขณะนั้นกวนอูจับอิกิ๋มได้แล้ว กวนอูต่อว่าทูตว่า "เจ้าพวกตัวเหอ (貉 คือจิ้งจอกแร็กคูน) บังอาจทำเช่นนี้ หากข้าครองอ้วนเซียได้ คิดหรือว่าข้าไม่อาจทำลายล้างพวกเจ้าได้" แม้ว่าซุนกวนจะรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นโดยคำตอบของกวนอู แต่ยังคงเขียนหนังสือถึงกวนอูแสร้งทำเป็นให้อภัยและอนุญาตให้กวนอูผ่านอาณาเขตของซุนกวนได้อย่างอิสระ[ซานกั๋วจื้อจู้ 7]
เผย์ ซงจือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวเนื้อความในเตี่ยนเลฺว่ว่า
แม้ว่าภายนอกเล่าปี่และซุนกวนจะดูสมัครสมานกันดี แต่แท้จริงแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน เมื่อซุนกวนโจมตีกวนอูในภายหลัง ซุนกวนได้ลอบส่งกองกำลังไปดังความที่ปราฏในชีวประวัติของลิบองว่า '[...] ทหารฝีมือดีซ่อนตัวในเรือที่แสร้งทำเป็นเรือพ่อค้าและพลเรือน' จากเหตุผลทั้งนี้ ต่อให้กวนอูไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากซุนกวน ซุนกวนก็จะไม่พูดเรื่องที่จะอนุญาตให้กวนอูผ่านทางในดินแดนของตน หากว่าทั้งสองฝ่ายต้องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจแล้ว เหตุใดทั้งสองฝ่ายจึงปิดบังการเคลื่อนไหวของตนไม่ให้อีกฝ่ายรู้เล่า [ซานกั๋วจื้อจู้ 8]
เสียชีวิต
แก้ขณะที่กวนอูถอยทัพจากเมืองอ้วนเสีย กองกำลังของซุนกวนได้เข้ายึดเมืองกังเหลง (江陵 เจียงหลิง; ปัจจุบันคืออำเภอเจียงหลิง มณฑลหูเป่ย์) และจับตัวครอบครัวของทหารกวนอูไว้ ลิบองถ่ายทอดคำสั่งให้ทหารปฏิบัติต่อราษฎรเป็นอย่างดีและให้อยู่ในความสงบปลอดภัย ทหารส่วนใหญ่ของกวนอูหมดกำลังใจรบจึงหนีทหารแล้วกลับไปเกงจิ๋วเพื่อกลับไปหาครอบครัว กวนอูรู้ว่าตนโดดเดี่ยวจึงถอยไปเมืองเป๊กเสีย (麥城 ไม่เฉิง; ปัจจุบันคือหมู่บ้านไม่เฉิง เขตเหลียงเหอ เมืองตางหยาง มณฑลหูเป่ย์) และมุ่งทางตะวันตกไปตำบลจางเซียง (漳鄉) ที่นั่นทหารที่เหลืออยู่ของกวนอูได้ทอดทิ้งกวนอูไปสวามิภักดิ์ต่อข้าศึก ซุนกวนส่งจูเหียนและพัวเจี้ยงไปสกัดทางถอยของกวนอู กวนอูพร้อมด้วยกวนเป๋งบุตรชายและเตียวลุย (趙累 จาง เล่ย์) ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกซุ่มจับเป็นโดยม้าต๋ง (馬忠 หม่า จง) รองขุนพลของพัวเจี้ยง ภายหลังกวนอูและกวนเป๋งถูกประหารชีวิตในช่วงต้นปี ค.ศ. 220 โดยกองกำลังของซุนกวนนำโดยพัวเจี้ยงในหลินจฺหวี่ (臨沮; ปัจจุบันคืออำเภอหนานจาง มณฑลหูเป่ย์)[ซานกั๋วจื้อ 18][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 13][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 14]
หลักฐานอื่น ๆ จากฉู่จี้
แก้ฉู่จี้บันทึกว่าเดิมซุนกวนต้องการจะไว้ชีวิตกวนอูและรับไว้ให้กวนอูช่วยในการรบกับเล่าปี่และโจโฉ แต่เหล่าผู้ติดตามได้คัดค้านความคิดนี้แล้วกล่าวว่า "หมาป่าไม่ควรเลี้ยงไว้เพราะอาจทำร้ายเจ้าของได้ โจโฉกระทำผิดพลาดเมื่อครั้งที่ปฏิเสธที่จะสังหารกวนอูจึงสร้างปัญหาใหญ่ให้ตัวเอง ครั้งหนึ่งถึงกับเคยคิดจะย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น เหตุใดจะต้องไว้ชีวิตกวนอูด้วย" ซุนกวนจึงสั่งให้นำตัวกวนอูไปประหารชีวิต[ซานกั๋วจื้อจู้ 9]
เผย์ ซงจือโต้แย้งความในหลักฐานนี้ตามความดังนี้:
ตามความในประวัติศาสตร์ง่อก๊ก (อู๋จี้ โดยเหว่ย์ เจา) เมื่อซุนกวนส่งพัวเจี้ยงไปสกัดทางถอยของกวนอู กวนอูถูกประหารชีวิตหลังจากถูกจับตัวได้ หลินจฺหวี่อยู่ห่างจากกังเหลงประมาณ 200 ถึง 300 ลี้ จึงเป็นไปได้หรือว่ากวนอูจะยังมีชีวิตอยู่ระหว่างที่ซุนกวนและผู้ติดตามถกกันว่าจะประหารชีวิตกวนอูหรือไม่ คำกล่าวอ้างที่ว่า 'ซุนกวนต้องการไว้ชีวิตกวนอูโดยหวังผลจะใช้กวนอูตอบโต้เล่าปี่และโจโฉ' จึงไม่สมเหตุสมผล ความทั้งนี้อาจเขียนขึ้นเพื่อปิดปากผู้มีปัญญา[ซานกั๋วจื้อจู้ 10]
เกียรติยศหลังมรณกรรม
แก้ซุนกวนส่งศีรษะของกวนอูไปให้โจโฉ โจโฉจัดพิธีศพให้กวนอูเทียบเท่าขุนนางผู้ใหญ่ และให้ฝังศีรษะของกวนอูตามธรรมเนียมโดยให้เกียรติสูงสุด[ซานกั๋วจื้อจู้ 11] ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน พ.ศ. 260 เล่าเสี้ยนพระราชทานสมัญญานามให้กวนอูเป็น "จฺวั้งโหมวโหว" (壯繆侯).[ซานกั๋วจื้อ 19][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 15] ตามหลักการตั้งสมัญญานามใน อี้โจวชู "จฺวั้งโหมว" มีความหมายถึงบุคคลผู้ผิดพลาดในการดำรงชีวิตตามชื่อเสียงแห่งตน[8]
เกร็ดประวัติ
แก้ขอภรรยาของจีนอี๋ลู่
แก้ระหว่างยุทธการที่แห้ฝือในปลายปี ค.ศ. 198 เมื่อกองกำลังร่วมของโจโฉและเล่าปี่รบกับลิโป้ กวนอูขออนุญาตโจโฉเพื่อจะขอแต่งงานกับนางตู้ชื่อ (杜氏) ภรรยาของฉิน อี๋ลู่ (秦宜祿) หลังจากชนะการศึก หลังจากโจโฉตอบตกลง กวนอูก็ยังคงเตือนโจโฉเกี่ยวกับคำสัญญาซ้ำหลายครั้งก่อนการศึกจะสิ้นสุด หลังลิโป้พ่ายแพ้และถูกประหาร โจโฉเกิดความสงสัยว่าเหตุใดกวนอูจึงอยากได้นางตู้ชื่อถึงเพียงนั้น โจโฉคาดว่านางตู้ชื่อจะต้องงดงามมากจึงให้คนนำตัวนางมาพบ ในที่สุดโจโฉจึงผิดคำสัญญากับกวนอูด้วยการรับนางตู้ชื่อเป็นภรรยาน้อยและรับเลี้ยงจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) บุตรของนางตู้ชื่อ (ที่เกิดกับฉิน อี๋ลู่) ไว้เป็นบุตรบุญธรรม[ซานกั๋วจื้อจู้ 12][ซานกั๋วจื้อจู้ 13]
แนะนำเล่าปี่
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ถามจูกัดเหลียงเกี่ยวกับม้าเฉียว
แก้ในปี ค.ศ. 214 ม้าเฉียวแปรพักตร์จากฝ่ายเตียวฬ่อมาเข้าด้วยกองทัพเล่าปี่ และช่วยเหลือเล่าปี่กดดันเล่าเจี้ยงให้ยอมจำนนแล้วยกมณฑลเอ๊กจิ๋วให้เล่าปี่ เมื่อกวนอูได้รับข่าวว่าม้าเฉียว (ซึ่งกวนอูไม่รู้จักมักคุ้น) เพิ่งมาเข้าร่วมด้วย กวนอูจึงเขียนหนังสือถึงจูกัดเหลียงในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ถามว่าใครฝีมือเทียบได้กับม้าเฉียว จูกัดเหลียงรู้ว่ากวนอูกำลังทำหน้าที่ป้องกันชายแดน (จึงไม่ควรทำให้กวนอูไม่พอใจ) จึงตอบหนังสือไปว่า "เมิ่งฉี่ (ชื่อรองของม้าเฉียว) มีความสามารถทั้งด้านการพลเรือนและการทหาร เป็นผู้กล้าหาญดุดันและเป็นผู้กล้าแห่งยุค ความสามารถเทียบได้กับหยินโป้และแพอวด อาจต่อกรกับเอ๊กเต๊ก (ชื่อรองของเตียวหุย) ได้ แต่ไม่เทียบเท่าด้วยท่านผู้มีเคราที่มิมีผู้ใดเทียบ[c][ซานกั๋วจื้อ 20]
กวนอูได้รับคำตอบของจูกัดเหลียงก็มีความยินดีเป็นอย่างมาก แล้วยอมรับม้าเฉียวในที่สุด[ซานกั๋วจื้อ 21]
บาดเจ็บที่แขน
แก้ครั้งหนึ่งกวนอูบาดเจ็บที่แขนข้างซ้ายเพราะถูกเกาทัณฑ์ยิงเข้าที่แขน แม้ว่าจะรักษาแผลจนหายแล้วแต่กวนอูก็ยังรู้สึกเจ็บในกระดูกทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก แพทย์บอกกวนอูว่า "หัวเกาทัณฑ์อาบยาพิษ แล้วพิษนั้นแทรกซึมเข้าไปในกระดูก ทางเดียวที่จะแก้ได้คือการผ่าแขนแล้วขูดพิษออกจากกระดูก" กวนอูจึงยื่นแขนบอกให้แพทย์ทำการรักษา จากนั้นกวนอูจึงเชิญผู้ใต้บังคับบัญชามากินโต๊ะทั้งขณะที่ยังผ่าตัดอยู่ เลือดไหลจากแขนของกวนอูสู่ภาชนะรองรับเบื้องล่าง ตลอดการผ่าตัด กวนอูกินโต๊ะเสพสุราและสนทนากับคนของตนเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น[ซานกั๋วจื้อ 22]
ในนิยาย สามก๊ก
แก้นิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กที่ประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 เชิดชูกวนอูโดยแสดงลักษณะนิสัยของกวนอูว่าเป็นนักรบผู้ซื่อสัตย์และรักความเป็นธรรม กวนอูเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีการปรับเปลี่ยนและขยายความมากที่สุดในนิยาย
ดูเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งที่เสริมแต่งขึ้นในนิยายสามก๊กที่เกี่ยวข้องกับกวนอูตามรายการต่อไปนี้:
- คำสาบานในสวนท้อ
- ยุทธการที่ด่านกิสุยก๋วน
- ยุทธการที่ด่านเฮาโลก๋วน
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#เงื่อนไขสามประการของกวนอู
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#กวนอูสังหารงันเหลียงและบุนทิว
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#กวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#กวนอูสังหารซัวหยงที่เก๋าเซีย
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#กวนอูปล่อยโจโฉที่เส้นทางฮัวหยง
- กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตซุน-เล่า#ในนิยายสามก๊ก
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#ฮัวโต๋รักษาแขนของกวนอู
- ลิบอง#ในนิยายสามก๊ก
- ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสามก๊ก#เหตุการณ์หลังการตายของกวนอู
ลักษณะนิสัย
แก้จากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายลักษณะนิสัยของกวนอูว่าเป็นผู้ที่มีนิสัยห้าวหาญ กิริยาท่าทางองอาจน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น กตัญญูรู้คุณคนและซื่อสัตย์เป็นเลิศ นิสัยรักความยุติธรรม มีคุณธรรมไม่รังแกผู้อ่อนแอกว่าและผู้ไร้ทางสู้ ถือสัตย์ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง หยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเอง ฝีมือเชิงยุทธ์เก่งกาจเนื่องจากชำนาญตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ชุนชิวตั้งแต่เด็ก[9] ความองอาจกล้าหาญไม่กลัวตายบวกกับฝีมือในเชิงยุทธ์ของกวนอู ความซื่อสัตย์จงรักภักดีสละแล้วซึ่งชีวิตต่อเล่าปี่รวมทั้งลักษณะที่สมเป็นชายชาติทหาร ทำให้โจโฉและซุนกวนต้องการตัวกวนอูเป็นอย่างมาก
ความสัตย์ซื่อ
แก้เมื่อคราวที่เล่าปี่ทำศึกแพ้โจโฉที่เมืองชีจิ๋วแตกแยกพลัดพรากจากกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว เตียวหุยแตกไปแย่งชิงเมืองเล็ก ๆ และตั้งซุ่มเป็นกองโจร กวนอูถูกโจโฉวางกลอุบายล้อมจับตัวได้ที่เมืองแห้ฝือ และมอบหมายให้เตียวเลี้ยวมาเจรจาเกลี้ยกล่อม กวนอูขอสัญญาสามข้อจากโจโฉคือ "เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง เราจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้ทั้งสอง แลอย่าให้ผู้ใดเข้าออกกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ได้ จะขอเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ซึ่งเคยได้รับพระราชทานนั้น มาให้แก่พี่สะใภ้เราทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าเรารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งใดตำบลใด ถึงมาตรว่าเรามิได้ลามหาอุปราชเราก็จะไปหาเล่าปี่ แม้มหาอุปราชจะห้ามเราก็ไม่ฟัง"[10] โจโฉตกลงตามสัญญาสามข้อจึงได้กวนอูไว้ตามต้องการ
โจโฉนำกวนอูไปถวายตัวต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ พยายามเลี้ยงดูกวนอูอย่างดีเพื่อให้ลืมคุณของเล่าปี่แต่หนหลัง ให้เครื่องเงินเครื่องทองแลแพรอย่างดีแก่แก่กวนอูเพื่อหวังเอาชนะใจ สามวันแต่งโต๊ะไปให้ครั้งหนึ่ง ห้าวันครั้งหนึ่ง จัดหญิงสาวรูปงามสิบคนให้ไปปฏิบัติหวังผูกน้ำใจกวนอูให้หลง แต่กวนอูกลับไม่สนใจต่อทรัพย์สินและหญิงงามที่โจโฉมอบให้ ใจมุ่งหวังแต่เพียงคิดหาทางกลับคืนไปหาเล่าปี่ โจโฉเห็นเสื้อผ้ากวนอูเก่าและขาดจึงมอบเสื้อใหม่ให้ กวนอูจึงนำเสื้อเก่าสวมทับเสื้อใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า "เสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้ บัดนี้เล่าปี่จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่ ครั้นจะเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นนอก คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า"[11]
โจโฉเห็นม้าที่กวนอูขี่ผ่ายผอมเพราะทานน้ำหนักกวนอูไม่ไหวจึงมอบม้าเซ็กเธาว์ของลิโป้ให้ สร้างความดีใจให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับคุกเข่าคำนับโจโฉหลายครั้งจนโจโฉสงสัยถามว่า "เราให้ทองสิ่งของแก่ท่านมาเป็นอันมากก็ไม่ยินดี ท่านไม่ว่าชอบใจและมีความยินดีเหมือนเราให้ม้าตัวนี้ เหตุไฉนท่านจึงรักม้าอันเป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าทรัพย์สินอีกเล่า"[12] [13] กวนอูจึงตอบด้วยเหตุผลว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าม้าเซ็กเธาว์ตัวนี้มีกำลังมาก เดินทางได้วันละหมื่นเส้น แม้ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ถึงมาตรว่าไกลก็จะไปหาได้โดยเร็ว เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ขอบคุณมหาอุปราชมากกว่าให้สิ่งของทั้งปวง"[12] [13]
ความถือคุณธรรม
แก้ภายหลังจากเตียวเลี้ยวเจรจาเกลี้ยกล่อมกวนอูได้สำเร็จ โจโฉสั่งทหารเปิดทางให้กวนอูเข้าเมืองและจัดให้อยู่ร่วมเรือนเดียวกับพี่สะใภ้ทั้งสองคือกำฮูหยินและบิฮูหยิน หวังให้กวนอูคิดทำร้ายจะได้แตกน้ำใจจากเล่าปี่ โจโฉจะได้ครอบครองกวนอูไว้เป็นสิทธ์แก่ตัว แต่กวนอูให้พี่สะใภ้ทั้งสองนอนห้องด้านในและนั่งจุดเทียนดูหนังสือรักษาพี่สะใภ้อยู่นอกประตู เป็นการทรมานตนเองจนรุ่งเช้าในระหว่างเดินทางกลับฮูโต๋ เมื่อโจโฉรู้ดังนั้นก็เกรงใจกวนอูด้วยว่า "มีความสัตย์และกตัญญูต่อเล่าปี่"[14]
ความกตัญญูรู้คุณ
แก้ในคราวศึกที่ตำบลแปะแบ๊ อ้วนเสี้ยวนำทัพหมายบุกโจมตียึดครองฮูโต๋ โจโฉจัดทหารสิบห้าหมื่นแยกออกเป็นสามกองเข้ารับมือกับอ้วนเสี้ยว ในการทำศึกโจโฉสูญเสียซงเหียน งุยซกและไพร่พลจำนวนมาก ซิหลงเสนอให้เรียกกวนอูออกรบ โจโฉกลัวกวนอูออกรบแล้วจะเป็นการแทนคุณตนเองและจากไปแต่ซิหลงแย้งว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าเล่าปี่ไปอาศัยอ้วนเสี้ยวอยู่ แม้กวนอูฆ่าทหารอ้วนเสี้ยวคนนี้เสียได้ อ้วนเสี้ยวรู้ก็จะฆ่าเล่าปี่ เมื่อเล่าปี่ตายแล้วกวนอูก็จะเป็นสิทธิ์อยู่แก่ท่าน"[15] โจโฉเห็นชอบด้วยความคิดซิหลงกวนอูจึงถูกเรียกตัวออกศึก โจโฉพากวนอูขึ้นไปบนเนินเขาและชี้ให้ดูตัวงันเหลียง กวนอูจึงว่า "งันเหลียงคนนี้หรือ ข้าพเจ้าพอจะสู้ได้ ท่านอย่าวิตกเลย ข้าพเจ้าจะตัดศีรษะงันเหลียงมาให้ท่านจงได้"[15] และได้ตัดคอบุนทิวและงันเหลียง สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวดั่งคำสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาไว้ แม้จะไม่ยอมเป็นข้ารับใช้โจโฉแต่ก็ยอมพลีกายถวายชีวิตในการทำศึกสงครามให้แก่โจโฉ เป็นชายชาติทหารเต็มตัว ช่วยทำศึกให้แก่โจโฉด้วยความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณเพื่อเป็นการทดแทนคุณโจโฉที่ได้เลี้ยงดูและปูนบำเหน็จรางวัลต่าง ๆ ให้มากมาย
นับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ฝีมือง้าวในการทำศึกของกวนอูก็เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานและรู้จักกันทั่วทั้งแผ่นดิน ในคราวที่โจโฉนำกำลังบุกลงใต้หวังยึดครองกังตั๋ง จิวยี่แม่ทัพของซุนกวนวางแผนการลอบฆ่าเล่าปี่โดยเชิญมากินโต๊ะ เล่าปี่หลงเชื่อถ้อยคำจิวยี่พาซื่อพาทหารไปกังตั๋งเพียงแค่ 20 คน นั่งดื่มเหล้ากับจิวยี่จนเมาในค่าย จิวยี่นัดแนะกับทหารไว้เมื่อเห็นตนเองทิ้งจอกเหล้าให้สัญญาณก็ให้ทหารที่เตรียมซุ่มไว้ออกมาฆ่าเล่าปี่ ระหว่างกินโต๊ะจิวยี่เห็นกวนอูยืนถือกระบี่อยู่ด้านหลังของเล่าปี่จึงถามว่าเป็นใคร เมื่อเล่าปี่ตอบว่า "กวนอูเป็นน้องข้าพเจ้าเอง"[16] จิวยี่ก็ตกใจจนเหงื่อกาฬไหลโทรมกาย เกรงกลัวฝีมือของกวนอูจนล้มเลิกแผนการฆ่าเล่าปี่
ในคราวศึกเซ็กเพ็ก ภายหลังจากขงเบ้งทำพิธีเรียกลมอาคเนย์ให้แก่จิวยี่และลอบหลบหนีด้วยแผนกลยุทธ์หลบหนีจากการถูกปองร้ายของจิวยี่ เดินทางกลับยังแฮเค้าพร้อมกับจูล่ง ขงเบ้งมอบหมายให้จูล่งคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่ตำบลฮัวหลิม ให้เตียวหุยคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่เนินเขาปากทางตำบลโฮโลก๊ก ให้บิต๊กและบิฮองคุมทหารไปดักรออยู่ตามชายทะเลคอยดักจับทหารโจโฉที่หลบหนีมา ให้เล่ากี๋คุมเรือรบไปตั้งอยู่ที่ตำบลฮูเชียงและให้เล่าปี่คุมทหารไปคอยดูแผนการเผาทัพเรือโจโฉของจิวยี่อยู่บนเนินเขา ขงเบ้งจงใจไม่เลือกใช้กวนอูทำให้กวนอูน้อยใจจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ตัวข้าพเจ้านี้มาอยู่กับเล่าปี่ช้านานแล้ว แลเล่าปี่จะทำการสิ่งใดก็ย่อมใช้สอยข้าพเจ้าให้อาสาไปทำการก่อนทุกแห่ง ครั้งนี้ท่านแคลงข้าพเจ้าสิ่งใดหรือ จึงไม่ใช้ไปทำการเหมือนคนทั้งปวง"[17] ขงเบ้งจึงมอบหมายให้กวนอูคุมทหารห้าร้อยไปตั้งสกัดอยู่ทางฮัวหยง แต่ก็เกิดความคลางแคลงกวนอู ด้วยความเป็นคนสัตย์รู้จักคุณคน เกรงกวนอูจะนึกถึงคุณโจโฉที่เคยเอ็นดูทำนุบำรุงมาแต่ก่อนจึงไม่ฆ่าเสียและปล่อยให้หลุดรอดไป กวนอูจึงยอมทำทัณฑ์บนแก่ขงเบ้งด้วยศีรษะของตนเองถ้าไปดักรอโจโฉที่เส้นทางฮัวหยงแล้วปล่อยให้หลบหนีไปได้
โจโฉแตกทัพไปตามเส้นทางที่ขงเบ้งคาดการณ์ไว้จนถึงฮัวหยง พบกวนอูขี่ม้าถือง้าวคุมทหารออกมายืนสกัดขวางทางไว้ โจโฉเกิดมานะฮึกเฮิมจะต่อสู้แต่เรี่ยวแรงและกำลังของทหารที่ติดตามมานั้นอ่อนแรง เทียหยกจึงกล่าวแก่โจโฉว่า "จะหนีจะสู้นั้นก็ไม่ได้ อันน้ำใจกวนอูเป็นทหารนั้นก็จริง ถ้าเห็นผู้ใดไม่สู้รบแล้วก็มิได้ทำอันตราย ประการหนึ่งเป็นผู้มีความสัตย์ ทั้งรู้จักคุณคนนักด้วย แล้วท่านก็ได้เลี้ยงดูมีคุณไว้ต่อกวนอูเป็นอันมาก แม้ท่านเข้าไปว่ากล่าวโดยดี เห็นกวนอูจะไม่ทำอันตรายท่าน""[18] โจโฉเห็นชอบด้วยจึงว่ากล่าวตักเตือนกวนอูให้ระลึกถึงบุญคุณแต่ครั้งเก่าคราวที่กวนอูหักด่านถึง 5 ตำบล ฆ่า 6 ขุนพลและทหารเป็นจำนวนมาก ขอให้กวนอูเปิดทางให้หลบหนีไป กวนอูนั้นเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน ได้ฟังโจโฉว่ากล่าวก็สงสารนึกถึงคุณโจโฉซึ่งมีมาแต่หนหลัง จึงยอมเปิดทางให้โจโฉหลบหนีไปโดยตนเองเลือกยอมรับโทษประหารตามที่ได้ลั่นวาจาสัตย์และทำทัณฑ์บนไว้แก่ขงเบ้ง
ความกล้าหาญ
แก้เมื่อคราวเล่าปี่ตั้งตนเป็นใหญ่ในเสฉวนและสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของเสฉวน แต่เดิมเกงจิ๋วเป็นของซุนกวน โลซกรับเป็นนายประกันให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วโดยสัญญาว่าเมื่อได้เสฉวนจะคืนเกงจิ๋วให้ แต่เมื่อเล่าปี่ได้เสฉวนกลับไม่ยอมคืนเกงจิ๋วให้ตามสัญญา ซุนกวนให้จูกัดกิ๋นพี่ชายขงเบ้งเป็นทูตไปเจรจาขอคืน แต่เล่าปี่ก็แสร้งบิดพลิ้วไม่ยอมคืนแต่จะยกเมืองเตียงสา เมืองเลงเหลงและเมืองฮุยเอี๋ยวให้แทน โดยให้ไปเจรจาขอเกงจิ๋วคืนแก่กวนอูผู้เป็นเจ้าเมือง โลซกจึงวางแผนการชิงเกงจิ๋วคืนด้วยการเชิญกวนอูมากินโต๊ะ ณ ปากน้ำลกเค้า ถ้าเจรจาขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอูไม่สำเร็จจะใช้กำลังเข้าแย่งชิงโดยให้กำเหลงและลิบองคุมทหารซุ่มรออยู่รอบด้าน[ต้องการอ้างอิง]
กวนอูรับคำเชิญของโลซกแต่กวนเป๋งเกรงกวนอูจะได้รับอันตรายหากไปกินโต๊ะตามคำเชิญ กวนอูจึงให้เหตุผลว่า "เหตุทั้งนี้เพราะจูกัดกิ๋นไปบอกซุนกวน โลซกจึงคิดกลอุบายให้เราไปกินโต๊ะแล้วจะได้ทวงเอาเมืองเกงจิ๋วคืนไปไว้เป็นกรรมสิทธิ์ซุนกวน ครั้นเราจะไม่ไปชาวเมืองกังตั๋งจะดูหมิ่นเราว่ากลัว พรุ่งนี้เราจะพาทหารแต่ยี่สิบคนลงเรือเร็วไปกินโต๊ะ จะดูท่วงทีโลซกจะเกรงง้าวที่เราถือหรือไม่"[19] แต่กวนเป๋งเกรงเล่าปี่จะตำหนิถ้าหากปล่อยให้กวนอูไปกังตั๋ง มิใยกวนเป๋งและม้าเลี้ยงจะห้ามปราม กวนอูก็ยืนยันคำเดิมตามที่ได้ลั่นวาจาไว้พร้อมกับกล่าวว่า "เจ้าอย่าวิตกเลย อันบิดานี้ก็มีฝีมือเลื่องลืออยู่ แต่ทหารโจโฉเป็นอันมากนับตั้งแสน บิดากับม้าตัวเดียวก็ยังไม่ต้องเกาทัณฑ์แลอาวุธทั้งปวง ขับม้ารบพุ่งรวดเร็วเป็นหลายกลับ อุปมาเหมือนเข้าดงไม้อ้อแลออกจากพงแขม จะกลัวอะไรแก่ทหารเมืองกังตั๋งเพียงนี้ดังหนูอันหาสง่าไม่ ได้ออกปากว่าจะไปแล้วจะให้เสียวาจาไย"[19]
กวนอูข้ามฟากไปกินโต๊ะตามคำเชิญของโลซกโดยลงเรือเร็ว มีนายท้ายกะลาสีประมาณยี่สิบคนพร้อมธงแดงสำหรับกวนอู แต่งกายโอ่โถงใส่เสื้อแพรสีม่วง โพกแพรสีเขียวปราศจากเกราะป้องกัน มีจิวฉองแบกง้าวนั่งเคียงข้าง มีทหารฝีมือเยี่ยมติดตามมาด้วยประมาณเจ็ดแปดคน บุกเดี่ยวไปยังดินแดนกังตั๋งด้วยความองอาจกล้าหาญมิเกรงกลัวต่อความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ในต่างแดน โลซกเห็นกวนอูแต่งกายมีสง่าน่าเกรงขามก็เกิดความหวาดกลัว เกรงจะเจรจาขอเกงจิ๋วคืนไม่สำเร็จ ครั่นคร้ามกวนอูขนาดเสพย์สุราก็มิอาจเงยหน้าขึ้นดูกวนอู[20] ไม่กล้าเอ่ยปากเจรจาขอเกงจิ๋วคืน รอจนกวนอูใกล้เมาจึงเอ่ยปากขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอู
แต่แผนการของโลซกไม่ประสบความสำเร็จ กวนอูบอกปัดไม่ยอมคืนเกงจิ๋วโดยให้ไปเจรจาต่อเล่าปี่ แสร้งทำเป็นเมามายไม่ได้สติและฉวยง้าวจากจิวฉองที่ถือยืนคอยอยู่มาแกว่งไว้ในมือ อีกมือหนึ่งยึดเอามือโลซกไว้แล้วจูงมือเดินออกมานอกค่ายแล้วกล่าวว่า "ท่านหามากินโต๊ะนี้ก็ขอบใจแล้ว แต่เหตุใดจึงเอาการเมืองเกงจิ๋วมาว่าด้วยเล่า บัดนี้เราก็เมาสุราอยู่ แม้ไม่คิดถึงว่าได้รักกันมาแต่ก่อนก็จะขัดเคืองกันเสีย เราจึงอุตส่าห์ระงับโทสะไว้ เราจะลาท่านไปก่อนต่อวันอื่นเราจะเชิญท่านไปกินโต๊ะที่เมืองเกงจิ๋วบ้าง"[20] แล้วก็ลงเรือชักใบกลับเกงจิ๋วโดยอาศัยความกล้าหาญที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวเอง ทำลายแผนการของโลซกที่จะทวงเอาเกงจิ๋วคืนได้สำเร็จจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน
เมื่อคราวกวนอูนำกำลังทหารบุกโจมตียึดเมืองซงหยงและจับตัวอิกิ๋มกลับไปเกงจิ๋ว จึงแบ่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่ตำบลเกียบแฮซึ่งเป็นทางเข้าของเมืองอ้วยเซียเพื่อยึดครองตามคำสั่งขงเบ้ง แต่กวนอูเสียทีถูกทหารโจหยินยิงด้วยเกาทัณฑ์อาบยาพิษที่ไหล่จนตกจากหลังม้า กวนเป๋งเป็นผู้ช่วยเหลือนำกวนอูกลับยังค่าย ลูกเกาทัณฑ์ที่ไหล่กวนอูนั้นอาบด้วยยาพิษซึมซาบเข้าไปในกระดูกสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากจนไม่อาจเคลื่อนไหวได้ กวนเป๋งได้เชิญฮัวโต๋ซึ่งเป็นหมอเอกชาวเมืองเกาจุ๋นมาช่วยรักษาบาดแผลจากพิษเกาทัณฑ์ให้แก่กวนอู
กวนอูได้รับความเจ็บปวดจากพิษเกาทัณฑ์ แต่เกรงทหารทั้งหมดจะเสียน้ำใจจึงสู้อุตส่าห์ระงับความเจ็บปวดและแสร้งทำเป็นปกติไม่มีอาการเจ็บปวดแม้แต่น้อย เรียกม้าเลี้ยงให้มาเล่นหมากรุกเพื่อหวังให้ทหารทั้งหมดมีน้ำใจ ฮัวโต๋มาทำการรักษาอาการบาดเจ็บให้แก่กวนอูและว่า "แผลเกาทัณฑ์อาบด้วยยาพิษซาบเข้าไปในกระดูก ถ้ามิเร่งรักษานานไปไหล่จะเสีย"[21] และให้ทำปลอกรัดกวนอูไหวกับเสาเพื่อป้องกันไม่ให้ไหวตัว แต่กวนอูปฏิเสธและบอกว่า "อย่าพักเอาปลอกรัดเลย ท่านจะทำประการใดก็ตามแต่จะทำเถิด เราจะนิ่งให้ทำ"[21] และเอียงไหล่ให้ฮัวโต๋เอามีดเชือดเนื้อร้ายออก ใส่ยาและเอาเข็มเย็บบาดแผลไว้ เมื่อรักษาเสร็จกวนอูจึงว่า "เราหาเจ็บไม่ หายแล้ว"[21] และกล่าวสรรเสริญฮัวโต๋ประหนึ่งเป็นเทพดา ฮัวโต๋จึงว่า "แต่ข้าพเจ้ารักษาคนป่วยมานี้ก็มากอยู่แล้ว หาเหมือนท่านไม่ อันท่านนี้มีน้ำใจทนทานต่อความเจ็บไม่สะดุ้งสะเทือนเลยดีนัก"[21]
ความหยิ่งทรนง
แก้แม้กวนอูจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและมีความกล้าหาญ แต่ถ้าพิจารณาจากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรื่องราวชีวิตของกวนอูตั้งแต่เริ่มพบกับเล่าปี่และเตียวหุย จนถึงการจบชีวิตพร้อมกับกวนเป๋งเมื่อคราวเสียเกงจิ๋ว ก็อาจกล่าวได้ว่ากวนอูนั้นเป็นผู้ที่เหมาะสมและคู่ควรแก่การเป็นยอดวีรบุรุษ เป็นผู้กล้าที่กอปรไปด้วยสติปัญญาอันหลักแหลม เป็นยอดขุนพลผู้มีฝีมือล้ำเลิศจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว สามารถกุมชัยชนะในการต่อสู้ทำศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายกวนอูก็พลาดท่าเสียทีให้แก่ขุนพลผู้เยาว์วัยเช่นลกซุน และต้องแลกเกงจิ๋วกับความผิดพลาดของตนเองด้วยชีวิต
ข้อเสียอันร้ายแรงของกวนอูคือความเย่อหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเองมากจนเกินไป ไม่เชื่อถือผู้ใดนอกจากตนเอง เมื่อคราวที่เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งจากเขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาในการทำราชการแผ่นดิน กวนอูไม่ยอมรับฟังคำสั่งของขงเบ้งด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่าตนเอง เตียวหุยและเล่าปี่ รวมทั้งเมื่อเล่าปี่ให้ความเคารพนับถือขงเบ้งประดุจอาจารย์ กวนอูยิ่งเกิดความน้อยใจในตนเองเป็นอย่างยิ่งจึงกล่าวว่า "ขงเบ้งนั้นอายุยี่สิบเจ็ดปีอ่อนกว่าท่านอีก แล้วก็ยังมิได้ปรากฏปัญญาแลความคิดมาก่อน เหตุใดท่านจึงมาคำนับขงเบ้งดังอาจารย์ฉะนี้"[22] และด้วยนิสัยที่ไม่ยอมอ่อนต่อผู้อื่น กวนอูจึงถูกขงเบ้งดัดนิสัยในคราวศึกทุ่งพกบ๋องด้วยการขอกระบี่และอาญาสิทธิ์ของเล่าปี่ไว้ในครอบครองเพื่อสั่งการแก่กวนอู
ขงเบ้งมอบหมายให้กวนอูคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ เขาอีสัน ให้เตียวหุยคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ ป่าอันหลิม ให้จูล่งคุมทหารยกไปเป็นกองหน้าและให้เล่าปี่คุมกำลังทหารไปเป็นกองหนุนจูล่ง กวนอูจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ท่านจัดแจงเราทั้งปวงให้ยกไปทำการ ทั้งนี้ก็เห็นชอบอยู่แล้ว แลตัวท่านนั้นจะทำเป็นประการใดเล่า"[23] แต่เมื่อแผนการเผาทัพแฮหัวตุ้นของขงเบ้งประสบความสำเร็จ กองทัพของแฮหัวตุ้นสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากที่ทุ่งพกบ๋อง ทำให้กวนอูยอมรับในสติปัญญาของขงเบ้งและยอมเชื่อฟังคำสั่งของขงเบ้งมาโดยตลอด
ภายหลังเล่าปี่ตั้งตนเองเป็นใหญ่ในเสฉวน สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้มอบหมายให้บิสีถือตรามาแต่งตั้งให้กวนอูเป็นทหารเสือที่เอกของเล่าปี่ โดยเหล่าทหารเสือประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียวและฮองตง เมื่อกวนอูได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า "เตียวหุยก็เป็นน้องของเรา จูล่งเล่าก็ได้ติดตามพี่เรามาช้านานแล้ว ก็เหมือนหนึ่งเป็นน้องของเรา ฝ่ายม้าเฉียวเล่าก็เป็นชาติเชื้อตระกูลอยู่ แต่ฮองตงคนนี้เป็นแต่เชื้อพลทหารชาติต่ำ เป็นคนแก่ชราหาควรจะตั้งให้เสมอเราด้วยไม่ ซึ่งมีตรามาดังนี้หายังหายอมไม่ก่อน"[24]
ก่อนที่กวนอูจะเสียเกงจิ๋วและพ่ายแพ้จนถูกประหารชีวิต ซุนกวนได้ส่งจูกัดกิ๋นเป็นเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอบุตรสาวของกวนอูเพื่อแต่งงานกับบุตรชายของซุนกวน แต่กวนอูปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลผู้สืบทอดแซ่ซุนมาสามชั่วอายุคนนั้น ถึงแม้จะยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ด้วยตนเองจึงไม่นิยมและนับถือซุนกวน ถือคติตีราคาค่าของตนเองยิ่งใหญ่กว่าซุนกวนด้วยถ้อยคำปฏิเสธการสู่ขอว่า "บุตรของเรานี้ชาติเชื้อเหล่าเสือ ไม่สมควรจะให้แก่สุนัข ท่านว่ามาดังนี้ ถ้าเรามิคิดเห็นแก่หน้าขงเบ้งน้องของท่าน เราก็จะฆ่าท่านเสีย อย่าว่าไปเลย"[25] [26] โดยที่กวนอูไม่ทันยั้งคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่และซุนกวน ซึ่งเล่าปี่มีฐานะเป็นราชบุตรเขยของแซ่ซุน อีกทั้งการปฏิเสธซุนกวนแบบไม่มีเยื่อใยของกวนอู กลายเป็นการสร้างชนวนให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉ ทำลายยุทธศาสตร์สามก๊กของขงเบ้งจนเป็นเหตุให้กวนอูพ่ายแพ้และเสียชีวิต
และเมื่อกวนอูได้รับคำสั่งจากเล่าปี่ให้คอยรักษาเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการทำศึกสงคราม แต่ด้วยความหยิ่งทรนงและเชื่อมั่นในฝีมือตนเอง กวนอูก็มิได้ใส่ใจปฏิบัติตามคำสั่งของขงเบ้งที่กล่าวว่า "ท่านจะอยู่ภายหลังนั้น จงจัดแจงระมัดระวังตัวข้างฝ่ายเหนือคอยสู้โจโฉให้ได้ ฝ่ายใต้นั้นท่านจงทำใจดีประนอมด้วยซุนกวนโดยปรกติ เมืองเกงจิ๋วจึงจะมีความสุข"[27] จึงเป็นเหตุเสียเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวนและทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต
ครอบครัว
แก้กวนอูมีบุตรชายสองคนที่ปรากฏชื่อ ได่แก่ กวนเป๋งและกวนหิน กวนหินสืบทอดบรรดาศักดิ์ "หั้นสือแต่งเฮา" (漢壽亭侯 ฮั่นโซ่วถิงโหว) จากบิดาและรับราชการในรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก[ซานกั๋วจื้อ 23] กวนอูยังมีบุตรสาวคนหนึ่ง ครั้งหนึ่งซุนกวนเคยมาเสนอการแต่งงานระหว่างบุตรชายของตนกับบุตรสาวของกวนอู แต่กวนอูปฏิเสธการสู่ขอ ชื่อของบุตรสาวของกวนอูไม่มีการบันทึกในประวัติ แต่รู้จักกันในชื่อ "กวาน อิ๋นผิง" (關銀屏) หรือ "กวาน เฟิ่ง" (關鳳) ในนิทานพื้นบ้านและงิ้ว เล่ากันว่ากวนอูยังมีบุตรชายคนที่สามชื่อกวนสก ซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์และปรากฏเพียงในนิทานพื้นบ้านและในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก
บุตรชายกวนหินชื่อกวาน ถ่ง (關統) แต่งงานกับองค์หญิง (พระธิดาองค์หนึ่งของเล่าเสี้ยน) และรับราชการในตำแหน่งจงหลางเจี้ยง (中郎將) ในกองทหารองครักษ์ กวาน ถ่งเสียชีวิตโดยไม่มีบุตร ตำแหน่งของกวาน ถ่งจึงสืบทอดต่อมาโดยน้องชายต่างมารดาชื่อกวาน อี๋ (關彝)[ซานกั๋วจื้อ 24]
ตามที่บันทึกในฉู่จี้ หลังการล่มสลายของจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 263 บังโฮย (บุตรชายของบังเต๊ก) สังหารหมู่ครอบครัวและทายาทของกวนอูเพื่อแก้แค้นให้บิดาที่ถูกประหารโดยกวนอูหลังยุทธการที่อ้วนเสียในปี ค.ศ. 219[ซานกั๋วจื้อจู้ 14]
ในปี ค.ศ. 1719 จักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงได้พระราชทานยศ "อู๋จิงปั๋วชื่อ" (五經博士; "อาจารย์ห้าคัมภีร์") ให้กับทายาทของกวนอูที่อาศัยในเมืองลั่วหยาง ผู้ถือยศนี้ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติในสำนักฮั่นหลิน[28][29]
อาวุธ
แก้กวนอูมีอาวุธประจำกายคือง้าวรูปจันทร์เสี้ยว สร้างขึ้นเมื่อคราวเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยออกเกลี้ยกล่อมราษฎร รวบรวมกำลังไพร่พลจัดตั้งกองทัพออกต่อสู้กับโจรโพกผ้าเหลือง ได้มีพ่อค้าม้าชื่อเตียวสิเผงและเล่าสงได้ร่วมบริจาคม้าจำนวนห้าสิบ เงินห้าร้อยตำลึงและเหล็กร้อยหาบสำหรับสร้างเป็นอาวุธจำนวนมาก[30] เล่าปี่ให้ช่างตีเหล็กเป็นกระบี่คู่แบบโบราณ เตียวหุยให้ช่างตีเหล็กเป็นทวนรูปร่างลักษณะคล้ายงู
สำหรับกวนอูให้ช่างตีเหล็กเป็นง้าวขนาดใหญ่รูปจันทร์เสี้ยว ประดับลวดลายมังกรขนาดความยาว 11 ศอกหรือประมาณ 3.63 เมตร หนัก 82 ชั่งหรือประมาณ 65.6 กิโลกรัม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ชิงหลงเหยี่ยนเยฺว่เตา (จีน: 青龍偃月刀; พินอิน: qīnglóng yǎnyuèdāo) หรือง้าวมังกรเขียว (บ้างเรียกง้าวมังกรจันทร์ฉงาย) [31] ตลอดระยะเวลาในการตรากตรำทำศึกสงครามร่วมกับเล่าปี่และเตียวหุย กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวเป็นอาวุธประจำกายตลอดเวลาจนกระทั่งเสียชีวิต ในสามก๊กฉบับภาษาไทย สำนวนแปลของ "ยาขอบ" (ซึ่งยึดฉบับแปลภาษาอังกฤษ Romance of the Three kingdoms โดย C.H. Brewitt-Taylor เป็นต้นฉบับ) นั้น ครูยาขอบได้ถอดชื่อง้าวของกวนอูให้ฟังเป็นไทยๆ ว่า ง้าว "นิลนาคะ" (เทียบ - "นาคะ" คือ มังกร "นิล" หมายเอาความว่าสืเขียวแก่เกือบดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม)
เมื่อคราวโจโฉทำศึกกับตั๋งโต๊ะ กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวตัดคอฮัวหยงมาให้โจโฉที่หน้าค่ายด้วยความรวดเร็ว โดยที่ยังไม่จบเพลงรบและเหล้าที่โจโฉอุ่นมอบให้แก่กวนอูยังคงอุ่น ๆ สังหารงันเหลียงและบุนทิว สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวในคราวศึกตำบลแปะแบ๊ด้วยง้าวมังกรเขียวในเพลงเดียวเช่นกัน[32] ตลอดระยะเวลาการทำศึกกวนอูไม่เคยห่างจากง้าวมังกรเขียว เมื่อเล่าปี่ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งและจิวฉอง โดยจิวฉองรับหน้าที่ดูแลรักษาง้าวมังกรเขียวและถือแทนกวนอู เมื่อซุนกวนให้โลซกทางเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่ โลซกได้เชิญกวนอูไปกินโต๊ะที่ค่าย ณ ปากน้ำลกเค้า จิวฉองก็คอยติดตามถือง้าวมังกรเขียวเคียงข้างกวนอูตลอด
เมื่อคราวที่กวนอูพลาดท่าเสียทีลิบองและลกซุนจนถูกล้อมอยู่ที่เมืองเป๊กเสีย ก่อนจะนำกำลังทหารจำนวนร้อยคนหักตีฝ่าออกมาจนถูกจับตัวได้พร้อมกับกวนเป๋งและถูกประหารชีวิตในภายหลัง ง้าวของกวนอูถูกพัวเจี้ยงยึดเอาไปใช้ แต่กวนหินบุตรชายของกวนอูเป็นผู้สังหารพัวเจี้ยงและนำง้าวของกวนอูกลับคืนมา[33]
ความเคารพนับถือ
แก้แต่เดิมจีนโบราณให้ความเคารพนับถืองักฮุยเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ สืบต่อกันมาเป็นเวลานานในฐานะเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ด้วยคุณธรรมความดีของงักฮุยส่งผลให้ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความรักชาติและความจงรักภักดีเป็นที่กล่าวขานกันมาเป็นเวลานาน[34] แต่ปัจจุบันเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อได้เปลี่ยนมาเป็นกวนอูแทนในหลังยุคสามก๊กมานับพันปี กวนอูเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก กวนอูเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพกราบไหว้บูชาในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ[ต้องการอ้างอิง]
ไม่เพียงแต่ยกย่องให้กวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่ออย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กวนอูได้รับสมญานามให้เป็นถึง จงอี้เสินอู่กวนเสิ้งต้าตี้ (จีน: 忠義神武關聖大帝; พินอิน: Zhōngyì Shénwǔ Guān Shèngdàdì) [35] ซึ่งมีความหมายคือมหาเทพกวนผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี คุณธรรมและความกล้าหาญ[36] โดยพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงเป็นผู้แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2187 เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกเรื่องความสัตย์ซื่อและจงรักภักดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ราษฎรซึ่งคนจีนถือความสัตย์เป็นใหญ่ร่วมกับความกตัญญูรู้คุณคน ทำให้กวนอูกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วและได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์สืบต่อมาเป็นเวลานาน[37] และได้รับการเคารพในฐานะเทพอุปถัมภ์และเทพผู้ปกป้องคุ้มครองของตำรวจ นักการเมืองและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ[38]
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนโบราณ กวนอูอาจมีชีวิตก่อนงักฮุยเป็นเวลาเกือบพันปี กล่าวคือกวนอูเป็นบุคคลสำคัญในสมัยยุคสามก๊ก (พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823) แต่งักฮุยมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822) [39] กวนอูและงักฮุยเป็นวีรบุรุษที่เป็นที่กล่าวขานกันสืบต่อกันมาเป็นเวลานานในเรื่องของความสัตย์ซื่อและจงรักภักดี ในประเทศไทยชื่อเสียงและกิตติศัพท์ความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณคนของกวนอูอาจจะเป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันมากกว่างักฮุย เนื่องจากกวนอูเป็นตัวละครสำคัญในสามก๊กซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเทพบู๊ (จีน: 武圣) และมีสถานะเทียบกับเทพบุ๋น (จีน: 文圣) คือขงจื๊อ
ในอดีตบรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู (จีน: 满族) คือพวกเผ่าหนี่ว์เจิน (จีน: 女真族) หรือจิน (พ.ศ. 1658 - พ.ศ. 1777) แมนจูเป็นชนเผ่าที่เรืองอำนาจขึ้นมาในยุคสมัยเดียวกับราชวงศ์ซ่งใต้ ภายหลังจากราชวงศ์ซ่งล่มสลายลงจนถึงราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง จนกระทั่งราชวงศ์ชิงที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวแมนจู แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานหลายร้อยปี แต่การที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถืองักฮุยในฐานะวีรบุรุษต่อต้านเผ่าแมนจูหรือเผ่าจินก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งการให้การยกย่องและเคารพนับถืองักฮุยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับราษฎรทั่วไป แต่ในสายตาของขุนนางบู๊และบุ๋นภายในราชสำนักชิง การให้ความเคารพนับถือบูชางักฮุยในฐานะวีรบุรุษต้านชนเผ่าจินเป็นการเปรียบได้กับการให้ความเคารพนับถือบูชาผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงนั่นเอง ดังนั้นราชสำนักชิงจึงวางกลอุบายยกย่องกวนอูให้เป็นอีกหนึ่งวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีน เพื่อให้กวนอูกลายเป็นที่ศรัทธาเคารพบูชาของสามัญชนทั่วไปในฐานะเทพเจ้าผู้มีความสัตย์ซื่อ เพื่อเป็นการลดกระแสการเคารพนับถือและเชิดชูงักฮุยให้เบาบางลง[40]
เทพเจ้ากวนอู
แก้กวนอูเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมในด้านความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ ได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองในหลายดินแดนว่าเป็นบุคคลดีเด่นในประวัติศาสตร์และกลายมาเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชากราบไหว้ กวนอูได้รับเกียรติอย่างสูงสุดคือได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับขงจื๊อ คือได้รับการขนานนามว่า "เป็นนักบุญพฤติธรรม" และ "เทพเจ้าแห่งสงคราม"[41] ภายหลังจากกวนอูเสียชีวิต มีข่าวลือว่าศีรษะของกวนอูถูกฝังอยู่ทางตอนใต้ของเมืองลกเอี๋ยง ผู้คนที่ทราบข่าวและศรัทธาในตัวกวนอูจึงไปสร้างวัดเทพเจ้ากวนอูและวัดกวนหลินในเมืองลกเอี๋ยง เพื่อเป็นการสักการบูชากราบไหว้ในคุณความดีทั้งสี่ของกวนอูคือ "สัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและความกล้าหาญ"
ในการแสดงอุปรากรจีน หน้ากากกวนอูที่ใช้แสดงจะเป็นสีแดงล้วน มีความหมายถึงความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ รูปนัยน์ตาเรียวเล็กและวาดรูปคิ้วเหมือนหนอนไหม 2 ตัววางพาดลงมา และเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันว่ากวนอูมีหนวดเครายาวมากจึงเรียกขานนามกวนอูว่า "ขุนนางเคราเขียว" และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือกวนอู ในการแสดงอุปรากรจีนจึงไม่เลียนแบบลักษณะของกวนอูให้เหมือนทุกอย่าง หากแต่หน้ากากกวนอูจะเติมเพียงจุดดำลงบนหน้ากากด้วยหนึ่งจุด ซึ่งเป็นการแต้มจุดดำด้วยความตั้งใจของผู้แสดง[42]
ศาลเจ้ากวนอู
แก้ปัจจุบันมีวัดและศาลเจ้าของกวนอูจำนวนมากทั้งในประเทศจีน ประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กวนอูกลายเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีวัดและศาลเจ้ามากที่สุด ในเมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์ชิง ในประเทศจีนเคยมีศาลเจ้ากวนอูถึง 116 แห่ง และมีศาลเจ้ากวนอูที่ไต้หวันถึง 500 แห่ง[43] นอกจากนี้กวนอูยังเป็นเทพพิทักษ์ในด้านการค้าขายเช่น การจำนอง, ช่างทอง, ผ้าไหม และผ้าต่วน
ในประเทศจีนศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ที่ลัวหยาง ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจีน ภายในศาลเจ้าประกอบไปด้วยตำหนักสามตำหนัก ตำหนักหลักของศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ภายใน ระยะทางผ่านจากประตูใหญ่เข้าไปประมาณ 50 เมตร มีสิงโตหินจำนวน 104 ตัวเรียงรายสองข้างทาง ที่บริเวณตำหนักใหญ่ (จีน: 大殿) มีรูปปั้นกวนอูขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้คนที่เคารพนับถือสักการบูชา ตำหนักที่สอง (จีน: 二殿) หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลัวหยาง
ซึ่งตามแผนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน ตำแหน่งของเมืองกังตั๋งนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในตำหนักมีรูปปั้นกวนอูในชุดเกราะพร้อมทำการศึกสงคราม รูปปั้นกวนอูภายในตำหนักที่สองหันใบหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยลักษณะใบหน้าถมึงทึง ดุดัน ดวงตาเบิกกว้างอย่างโกรธแค้น ซึ่งการจ้องมองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกวนอู เป็นการแสดงออกถึงความโกรธแค้นของกวนอูที่มีต่อซุนกวนในการถูกสั่งประหารชีวิต[44] ภายในตำหนักที่สามมีรูปปั้นกวนอูจำนวนสององค์ โดยรูปปั้นทางด้านซ้ายมือเป็นรูปปั้นกวนอูในลักษณะของการอ่านคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว ทางด้านขวามือเป็นรูปปั้นกวนอูในอิริยาบถพักผ่อน และทางด้านหลังของตำหนักที่สาม เป็นหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่โจโฉฝังศีรษะของกวนอูอย่างสมเกียรติในฐานะเจ้าเมืองเกงจิ๋ว[ต้องการอ้างอิง]
ในประเทศไทยศาลเจ้ากวนอูที่เป็นที่รู้จักของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนมากที่สุดตั้งอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช สร้างขึ้นโดยพระยาอาชาชาติ (เจ้าพระยาคลัง) หรือเฉินอี้ซาน เพื่อสำหรับให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในสมัยนั้น ภายในศาลเจ้ากวนอูทางด้านขวามือมีระฆังทองเหลืองใบใหญ่ตั้งอยู่ ที่ผิวระฆังมีอักษรจารึกระบุสร้างขึ้นในสมัยฮ่องเต้เต๋อจงในยุคสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2435 จึงสันนิษฐานได้ว่าศาลเจ้ากวนอูสร้างขึ้นในระหว่างปีดังกล่าว[45]
กวนอูในศาสนาเต๋า
แก้กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น จักรพรรดิเทพกวน (จีน: 關聖帝君) และเป็นเทพพิทักษ์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า การบูชากวนอูเริ่มต้นในราชวงศ์ซ่ง ตามตำนานเล่าว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1220 ทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งในปัจจุบันคือเซี่ยโจว (จีน: 解州鎮) เริ่มที่จะผลิตเกลือไม่ได้ จักรพรรดิฮุยจงจึงทรงมีรับสั่งให้นักพรตจางจี้เซียน (จีน: 張繼先) ตรวจหาสาเหตุ ซึ่งได้ทรงรับรายงานว่าเป็นฝีมือของชือโหยว (จีน: 蚩尤) เทพแห่งสงคราม นักพรตจึงอัญเชิญกวนอูเข้ามาต่อสู้จนเอาชนะชือโหยวและสามารถผลิตเกลือได้ดังเดิม พระจักรพรรดิจึงพระราชทานนามให้กวนอูว่า ผู้เป็นอมตะแห่งฉงหนิง (จีน: 崇寧真君) และยกกวนอูให้เป็นเทพในเวลาต่อมา[ต้องการอ้างอิง]
ช่วงต้นราชวงศ์หมิง นักพรตจางเจิ้งฉาง (จีน: 張正常) บันทึกในหนังสือของตนเองในชื่อ ฮั่นเทียนซือซื่อเจีย (จีน: 漢天師世家) เพื่อเป็นการยืนยันตำนานนี้ ทุกวันนี้กวนอูได้รับการนับถือมากในลัทธิเต๋า หลายวัดเต๋าอุทิศเพื่อกวนอูโดยเฉพาะวัดจักรพรรดิกวนในเซี่ยโจวที่ได้รับอิทธิพลเต๋าอย่างมาก ทุกวันที่ 24 เดือน 6 ตามหลักจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันเกิดของกวนอู จะมีขบวนแห่เฉลิมฉลองแด่กวนอูอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ[ต้องการอ้างอิง]
กวนอูในศาสนาพุทธ
แก้ตามแนวคิดของชาวพุทธในจีน กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น พระสังฆารามโพธิสัตว์ (จีน: 伽藍菩薩: แคนำผู่สัก) หมายถึงผู้พิทักษ์ธรรมของชาวพุทธ โดยคำว่า สังฆาราม ในภาษาสันสกฤตหมายถึงสวน[[ชุมชน[[และหมายถึงวัด ดังนั้น พระสังฆาราม จึงหมายถึงผู้พิทักษ์พระรัตนตรัยนั่นเอง ดังนั้นกวนอูจึงเป็นตัวแทนของเทพผู้พิทักษ์ โดยวัดและสวนที่ตั้งรูปปั้นกวนอูนั้น รูปปั้นของกวนอูมักจะถูกวางไว้ ณ ส่วนไกลด้านซ้ายของพระอุโบสถ คู่กับ พระเวทโพธิสัตว์ (จีน: 韋馱菩薩: อุ่ยท้อผู่สัก, ตรงกับพระสกันทะหรือพระขันธกุมารของฮินดู)[ต้องการอ้างอิง]
ตามตำนานชาวพุทธ ในปี พ.ศ. 1135 กวนอูได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้าจื้ออี่ (จีน: 智顗) ผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริก ว่ากันว่าขณะนั้นจื้ออี่นั่งสมาธิอยู่ที่เขาจวนหยกสันยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉山) และตื่นจากสมาธิเพราะการปรากฏตัวของกวนอู กวนอูขอให้จื้ออี่สอนหลักธรรมให้ตนแล้วปวารณาตนขอรับศีลห้า จึงกลายเป็นที่กล่าวขานกันว่ากวนอูปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและเป็นผู้ช่วยเหลือจื้ออี่ก่อตั้งวัดยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉寺) จนปรากฏตราบจนทุกวันนี้[ต้องการอ้างอิง]
ในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายไว้ว่าภายหลังจากที่กวนอูเสียชีวิตได้กลายเป็นอสุรกายที่เต็มไปด้วยความพยาบาทลิบองอยู่ในภูเขา และได้ไปปรากฏร่างต่อหลวงจีนเภาเจ๋ง (จีน: 普淨) บนยอดเขาจวนหยกสัน(จีน: 玉泉山) เพื่อเรียกร้องให้นำศีรษะตนเองกลับคืนมา จากการเทศนาของหลวงจีนเภาเจ๋งที่กล่าวว่า "กงเกวียนกำเกวียน ตัวฆ่าเขาเขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า"[46] ทำให้กวนอูได้ซาบซึ้งในรสพระธรรมและปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้นอกจากกวนอูจะเป็นตัวละครจากวรรณกรรมสามก๊ก ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการกล่าวขานค่อนข้างมากจากนักอ่าน เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อที่คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชากราบไว้แล้ว ปัจจุบันได้มีสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับกวนอูอีกเป็นจำนวนมาก เช่น
ภาพยนตร์
แก้- ในภาพยนตร์ของจาง อี้โหมว เรื่อง Riding Alone for Thousands of Miles หรือเส้นทางรักพันลี้ กล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับอุปรากรจีนตอนสามพี่น้องคือ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ร่วมสัตย์สาบานในสวนท้อ โดยตัวละครหลักในเรื่องรับบทแสดงเป็นกวนอู
- ในภาพยนตร์ชวนหัวของ โจว ซิงฉือ ในปี พ.ศ. 2537 เรื่อง พยัคฆ์ไม่ร้าย คัง คัง ฉิก ในส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ โจว ซิงฉือพบว่าตนเองได้รับบาดเจ็บ มีกระสุนปืนฝังในกระดูก จึงเลือกที่จะนั่งมองดูภาพเปลือยของหญิงสาวเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความเจ็บปวดในขณะที่ผ่าตัดนำกระสุนออก และภายหลังจากการรักษา โจว ซิงฉือได้รับคำถามว่าทำไมจึงเลือกที่จะนั่งมองดูภาพเปลือยของหญิงสาว ซึ่งคำตอบที่ได้คือเป็นการทำตามแบบกวนอูที่ได้รับบาดเจ็บจากเกาทัณฑ์อาบยาพิษภายหลังจากนำกำลังทหารไปบุกเมืองอ้วนเซีย และเอียงไหล่ให้ฮูโต๋รักษาอาการบาดเจ็บพร้อมกับเล่นหมากรุกกับม้าเลี้ยง[ต้องการอ้างอิง]
- ในภาพยนตร์เรื่อง My Name Is Bruce เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณพยาบาทของกวนอูที่ได้รับการปลดปล่อยโดยบังเอิญด้วยฝีมือแก๊งวัยรุ่น ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิญญาณพยาบาทจึงไปจ้างนักแสดงชื่อ บรูส แคมเบล ซึ่งเป็นนักแสดงหนัง B-Movie ให้มาปราบ โดยบรูส แคมเบลเข้าใจว่าเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเพียงการแสดง แต่ภายหลังพบว่าทั้งหมดเป็นเหตุการณ์จริง[47]
- ในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของจีน สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร กำกับโดย แดเนียล ลี และ สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ กำกับโดยจอห์น วู ในบทภาพยนตร์ได้มีการกล่าวถึงกวนอูด้วยเช่นกัน
- ในภาพยนตร์เรื่อง สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร กวนอูรับบทโดยตี้หลุง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ กวนอูได้ไปต้านศึกโจโฉที่ทุ่งเตียงปันร่วมกับเตียวหุย ในขณะที่จูล่งไปค้นหาอาเต๊าบุตรของเล่าปี่ กวนอูยังได้ปรากฏตัวอีกครั้งในการแต่งตั้งขุนพลห้าทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก
- ในภาพยนตร์เรื่อง สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ กวนอูรับบทโดยปาเซินจาปู โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้ กวนอูปรากฏตัวครั้งแรกในตอนที่ได้ยกพลมาช่วยต้านศึกโจโฉให้กับเล่าปี่ที่กำลังอพยพราษฎรหนีทัพโจโฉ และได้มีบทบาทในการรบอีกหลายครั้ง ในสงครามระหว่างฝ่ายโจโฉและฝ่ายพันธมิตรเล่าปี่ซุนกวน ทั้งสงครามภาคพื้นดินและสงครามประชิดค่ายโจโฉ
- ภาพยนตร์ฮ่องกงอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู เป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมสามก๊กในตอนกวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล โดยตัวละครกวนอูรับบทโดย ดอนนี่ เยน
ละครโทรทัศน์
แก้- ละครโทรทัศน์เรื่อง สามก๊ก ของประเทศจีน ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องวรรณกรรมอมตะของจีนเรื่องสามก๊ก ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวของกวนอูตั้งแต่เริ่มพบกับเล่าปี่จนกระทั่งเสียชีวิต โดย ลู่ ซู่หมิง นักแสดงชาวจีนที่รับบทกวนอู
- สามก๊ก เป็นละครที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2553 แสดงเป็นกวนอูโดย อู๋ หรงกวง
วิดีโอเกม
แก้- กวนอูเป็นตัวละครแบบบังคับได้ในเกมซีรีส์ ไดนาสตีวอริเออร์ (Dynasty Warriors) ของค่ายเกมส์โคอิ
- กวนอูเป็นนายทหารในเกมซีรีส์ Romance of the Three Kingdoms ซึ่งมักจะเป็นหนึ่งในตัวละครของเกม ที่มีค่าทักษะ "สงคราม" และ "ความเป็นผู้นำ" สูงสุด ทำให้กวนอูกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ดีที่สุดของเกม
- กวนอูถูกนำมาปรากฏตัวในเกม Sango Fighter' เพียงเล็กน้อย
- เกมเมเปิลสตอรี มีอุปกรณ์ที่ใช้ในเกมมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องแต่งกายและอาวุธของกวนอู
- เกม Destiny of an Emperor กวนอูเป็นตัวละครในกลุ่มของเล่าปี่ และเป็นตัวละครที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด
- เกม Emperor: Rise of the Middle Kingdom หรือ "อาณาจักรแห่งจอมจักรพรรดิ" ของค่ายเกม Sierra กวนอูได้รับการกำหนดให้เป็นวีรบุรุษลัทธิเต๋าที่มีความรู้ในลัทธิขงจื๊อ ออกสั่งสอนประชาชนภายในเกม
- เกม "'Atlantica Online"' ได้นำกวนอูมาทำเป็น Mercenary Class A สายหอก มีชื่อ Class ว่า General
- กวนอูอยู่ในเกมที่เขาชื่อเล่น (เจียงจุน) "'For Honor"'
เกมไพ่
แก้- ในเกมไพ่ชุดเมจิกเดอะแกเธอริง ตอนชุดสามก๊ก ไพ่กวนอูกลายเป็นไพ่หายากที่สุด เนื่องจากเป็นไพ่ที่มีทักษะ "ทหารขี่ม้า"
- ในเกมไพ่ของ History Channel กวนอูเป็นไพ่ที่มีความสามารถในการเริ่มต้นของการดำเนินเกมสูง
การ์ตูน
แก้- มหาสงคราม ลูกแก้วมากะ (ญี่ปุ่น: 一騎当千) เป็นเรื่องราวของเหล่าขุนศึกสามก๊กที่กลับมาเกิดใหม่ เป็นนักเรียนมัธยมปลายสาวในญี่ปุ่นและดำเนินการต่อสู้ โดยตัวละครที่แทนกวนอูถือง้าวมังกรเขียวตามแบบฉบับของวรรณกรรมสามก๊ก
- นอกจากนี้ ในการ์ตูน SD Gundam ปี พ.ศ. 2550 เป็นการเอาวรรณกรรมสามก๊กอันโด่งดังของจีน มาทำใหม่ในรูปแบบของกันดั้ม โดยเครื่องดับเบิ้ลเซต้ากันดั้ม ถูกออกแบบให้คล้ายกับลักษณะการแต่งกายและอาวุธของกวนอู
- และสามก๊กโมเอะ
- ในการ์ตูน สามก๊ก มหาสนุก ผลงานการ์ตูนสามก๊กของหมู นินจา ได้มีการกล่าวถึงกวนอูด้วยเช่นกัน โดยกำหนดให้อาชีพดั้งเดิมของกวนอูคือพ่อค้าขายถั่วเช่นเดียวกับในสามก๊ก ฉบับละครโทรทัศน์ของประเทศจีน กวนอูในสามก๊ก มหาสนุกจะมีลักษณะที่แตกต่างกับกวนอูในการ์ตูนทั่วไปเล็กน้อย คือ มีหนวดและเคราสั้น ซึ่งในการ์ตูนสามก๊กโดยทั่วไปจะวาดให้กวนอูมีหนวดและเครายาวตามคำบรรยายลักษณะของกวนอูในวรรณกรรม เนื่องจากเป็นเอกลักษณ์สำคัญของกวนอู ลักษณะเด่นอีกอย่างกวนอูในสามก๊กมหาสนุกคือ บนผ้าโพกศีรษะจะมีอักษรไทย ก ปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงถึงแซ่ของกวนอูคือ กวน
เชิงอรรถ
แก้- ↑ 1.0 1.1 จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่ากวนอูถูกจับและถูกประหารในเดือน 12 ศักราชเจี้ยนอันปีที่ 24 ในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้[1] เดือนนี้ตรงกับช่วงระหว่างวันที่ 23 มกราคมถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 220 ในปฏิทินจูเลียนและปฏิทินก่อนเกรโกเรียน
- ↑ ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 บรรยายความถึงกวนอูเมื่อเริ่มมีบทบาทว่า "ผู้นั้นจึงบอกว่าเราชื่อกวนอู อีกชื่อหนึ่งนั้นหุนเตี๋ยง'"[2]
- ↑ 3.0 3.1 "เคราที่มิมีผู้ใดเทียบ" เป็นการกล่าวถึงกวนอู เพราะกวนอูมีเคราที่งดงาม[ซานกั๋วจื้อ 1]
- ↑ ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หนึ่งฉื่อมีความยาวประมาณ 23.1 เซนติเมคร เก้าฉื่อคือความสูงประมาณ 2.079 เมตร (6 ฟุต 9.85 นิ้ว).[4][5][6]
- ↑ ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หนึ่งฉื่อมีความยาวประมาณ 23.1 เซนติเมคร สองฉื่อคือความยาวประมาณ 46.2 เซนติเมตร (ประมาณ 18 นิ้ว)
- ↑ ใบหน้าของกวนอูมีสีแดงเข้ม เหมือนกับสีของผลพุทราสุก
- ↑ หางตาชี้ขึ้น
- ↑ คิ้วยาวและเรียว
- ↑ บรรดาศักดิ์ชั้นโหว (เฮา) ในยุคราชวงศ์ฮั่นและยุคสามก๊กถูกแบ่งเป็นสามระดับ ลำดับชั้นจากน้อยไปมากได้แก่ ถิงโหว (亭侯 โหวระดับหมู่บ้าน), เซียงโหว (郷侯; โหวระดับตำบล) และ เซี่ยนโหว (縣侯; โหวระดับอำเภอ) ของกวนอูเป็นแบบแรก
อ้างอิง
แก้อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เล่มที่ 36
แก้- ↑ (羽美鬚髯,故亮謂之髯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36
- ↑ (關羽字雲長,本字長生,河東解人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (亡命奔涿郡。先主於鄉里合徒衆,而羽與張飛為之禦侮。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (先主為平原相,以羽、飛為別部司馬,分統部曲。先主與二人寢則同牀,恩若兄弟。而稠人廣坐,侍立終日,隨先主周旋,不避艱險。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (先主之襲殺徐州刺史車冑,使羽守下邳城,行太守事,而身還小沛。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (建安五年,曹公東征,先主奔袁紹。曹公禽羽以歸,拜為偏將軍,禮之甚厚。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (紹遣大將軍顏良攻東郡太守劉延於白馬,曹公使張遼及羽為先鋒擊之。羽望見良麾蓋,策馬刺良於萬衆之中,斬其首還,紹諸將莫能當者,遂解白馬圍。曹公即表封羽為漢壽亭侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (初,曹公壯羽為人,而察其心神無乆留之意,謂張遼曰:「卿試以情問之。」旣而遼以問羽,羽歎曰:「吾極知曹公待我厚,然吾受劉將軍厚恩,誓以共死,不可背之。吾終不留,吾要當立效以報曹公乃去。」遼以羽言報曹公,曹公義之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (及羽殺顏良,曹公知其必去,重加賞賜。羽盡封其所賜,拜書告辭,而奔先主於袁軍。左右欲追之,曹公曰:「彼各為其主,勿追也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (從先主就劉表。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (表卒,曹公定荊州,先主自樊將南渡江,別遣羽乘船數百艘會江陵。曹公追至當陽長阪,先主斜趣漢津,適與羽船相值,共至夏口。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (孫權遣兵佐先主拒曹公,曹公引軍退歸。先主收江南諸郡,乃封拜元勳,以羽為襄陽太守、盪寇將軍,駐江北。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (先主西定益州,拜羽董督荊州事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (二十四年,先主為漢中王,拜羽為前將軍,假節鉞。是歲,羽率衆攻曹仁於樊。曹公遣于禁助仁。秋,大霖雨,漢水汎溢,禁所督七軍皆沒。禁降羽,羽又斬將軍龐德。梁郟、陸渾羣盜或遙受羽印號,為之支黨,羽威震華夏。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (曹公議徙許都以避其銳,司馬宣王、蔣濟以為關羽得志,孫權必不願也。可遣人勸權躡其後,許割江南以封權,則樊圍自解。曹公從之。先是,權遣使為子索羽女,羽罵辱其使,不許婚,權大怒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (而曹公遣徐晃救曹仁,羽不能克,引軍退還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (又南郡太守麋芳在江陵,將軍傅士仁屯公安,素皆嫌羽自輕己。羽之出軍,芳、仁供給軍資不悉相救。羽言「還當治之」,芳、仁咸懷懼不安。於是權陰誘芳、仁,芳、仁使人迎權。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (權已據江陵,盡虜羽士衆妻子,羽軍遂散。權遣將逆擊羽,斬羽及子平于臨沮。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (追謚羽曰壯繆侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (羽聞馬超來降,舊非故人,羽書與諸葛亮,問超人才可誰比類。亮知羽護前,乃荅之曰:「孟起兼資文武,雄烈過人,一世之傑,黥、彭之徒,當與益德並驅爭先,猶未及髯之絕倫逸羣也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (羽省書大恱,以示賔客。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (羽甞為流矢所中,貫其左臂,後創雖愈,每至陰雨,骨常疼痛,醫曰:「矢鏃有毒,毒入于骨,當破臂作創,刮骨去毒,然後此患乃除耳。」羽便伸臂令醫劈之。時羽適請諸將飲食相對,臂血流離,盈於盤器,而羽割炙引酒,言笑自若。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (子興嗣。興字安國,少有令問,丞相諸葛亮深器異之。弱冠為侍中、中監軍,數歲卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (子統嗣,尚公主,官至虎賁中郎將。卒,無子,以興庶子彝續封。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เล่มอื่น ๆ
แก้- ↑ (靈帝末,黃巾起,州郡各舉義兵,先主率其屬從校尉鄒靖討黃巾賊有功,除安喜尉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
- ↑ (先主據下邳。靈等還,先主乃殺徐州刺史車冑,留關羽守下邳,而身還小沛。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
- ↑ (五年,曹公東征先主,先主敗績。曹公盡收其衆,虜先主妻子,并禽關羽以歸。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
- ↑ (曹公與袁紹相拒於官渡,汝南黃巾劉辟等叛曹公應紹。紹遣先主將兵與辟等略許下。關羽亡歸先主。曹公遣曹仁將兵擊先主,先主還紹軍,陰欲離紹,乃說紹南連荊州牧劉表。紹遣先主將本兵復至汝南,與賊龔都等合,衆數千人。 ... 曹公旣破紹,自南擊先主。先主遣麋笁、孫乾與劉表相聞,表自郊迎,以上賔禮待之,益其兵,使屯新野。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
- ↑ (聞先主已過,曹公將精騎五千急追之,一日一夜行三百餘里,及於當陽之長坂。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
- ↑ (後從平荊州,留屯襄陽,擊關羽、蘇非等,皆走之, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
- ↑ (與樂進討關羽於尋口,有功 ... 又攻羽輜重於漢津,燒其船於荊城。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 18.
- ↑ (及羽與肅鄰界,數生狐疑,疆埸紛錯,肅常以歡好撫之。備旣定益州,權求長沙、零、桂,備不承旨,權遣呂蒙率衆進取。備聞,自還公安,遣羽爭三郡。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 54.
- ↑ (羽號有三萬人,自擇選銳士五千人,投縣上流十餘里淺瀨,云欲夜涉渡。肅與諸將議。 ... 肅便選千兵益寧,寧乃夜往。羽聞之,住不渡,而結柴營,今遂名此處為關羽瀨。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 55.
- ↑ (備遂割湘水為界,於是罷軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 54.
- ↑ (賊圍頭有屯,又別屯四冢。晃揚聲當攻圍頭屯,而密攻四冢。羽見四冢欲壞,自將步騎五千出戰,晃擊之,退走,遂追陷與俱入圍,破之,或自投沔水死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
- ↑ (羽果信之,稍撤兵以赴樊。魏使于禁救樊,羽盡禽禁等,人馬數萬,託以糧乏,擅取湘關米。權聞之,遂行,先遣蒙在前。蒙至尋陽,盡伏其精兵[][]中,使白衣搖櫓,作商賈人服,晝夜兼行,至羽所置江邊屯候,盡收縛之,是故羽不聞知。遂到南郡,士仁、麋芳皆降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 54.
- ↑ (會權尋至,羽自知孤窮,乃走麥城,西至漳鄉,衆皆委羽而降。權使朱然、潘璋斷其徑路,即父子俱獲,荊州遂定。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 54.
- ↑ (權征關羽,璋與朱然斷羽走道,到臨沮,住夾石。璋部下司馬馬忠禽羽,并羽子平、都督趙累等。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 55.
- ↑ ([景耀]三年秋九月,追謚故將軍關羽、張飛、馬超、龐統、黃忠。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)
แก้- ↑ (江表傳云:羽好左氏傳,諷誦略皆上口。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวฉฺวันในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (魏書云:以羽領徐州。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชูในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (傅子曰:遼欲白太祖,恐太祖殺羽,不白,非事君之道,乃歎曰:「公,君父也;羽,兄弟耳。」遂白之。太祖曰:「事君不忘其本,天下義士也。度何時能去?」遼曰:「羽受公恩,必立效報公而後去也。」) อรรถาธิบายจากฟู่จื่อในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (臣松之以為曹公知羽不留而心嘉其志,去不遣追以成其義,自非有王霸之度,孰能至於此乎?斯實曹氏之休美。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (蜀記曰:羽初出軍圍樊,夢豬嚙其足,語子平曰:「吾今年衰矣,然不得還!」) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (蜀記曰:羽與晃宿相愛,遙共語,但說平生,不及軍事。須臾,晃下馬宣令:「得關雲長頭,賞金千斤。」羽驚怖,謂晃曰:「大兄,是何言邪!」晃曰:「此國之事耳。」) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (典略曰:羽圍樊,權遣使求助之,勑使莫速進,又遣主簿先致命於羽。羽忿其淹遲,又自已得于禁等,乃罵曰:「狢子敢爾,如使樊城拔,吾不能滅汝邪!」權聞之,知其輕己,偽手書以謝羽,許以自往。) อรรถาธิบายจากเตี่ยนเลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (臣松之以為荊、吳雖外睦,而內相猜防,故權之襲羽,潛師密發。按呂蒙傳云:「伏精兵於[][]之中,使白衣搖櫓,作商賈服。」以此言之,羽不求助於權,權必不語羽當往也。若許相援助,何故匿其形迹乎?) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (蜀記曰:權遣將軍擊羽,獲羽及子平。權欲活羽以敵劉、曹,左右曰:「狼子不可養,後必為害。曹公不即除之,自取大患,乃議徙都。今豈可生!」乃斬之。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (臣松之桉吳書:孫權遣將潘璋逆斷羽走路,羽至即斬,且臨沮去江陵二三百里,豈容不時殺羽,方議其生死乎?又云「權欲活羽以敵劉、曹」,此之不然,可以絕智者之口。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (吳歷曰:權送羽首於曹公,以諸侯禮葬其屍骸。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (蜀記曰:曹公與劉備圍呂布於下邳,關羽啟公,布使秦宜祿行求救,乞娶其妻,公許之。臨破,又屢啟於公。公疑其有異色,先遣迎看,因自留之,羽心不自安。此與魏氏春秋所說無異也。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
- ↑ (初,羽隨先主從公圍呂布於濮陽,時秦宜祿為布求救於張楊。羽啟公:「妻無子,下城,乞納宜祿妻。」公許之。及至城門,復白。公疑其有色,李本作他。自納之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.
- ↑ (蜀記曰:龐德子會,隨鍾、鄧伐蜀,蜀破,盡滅關氏家。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
รายการอ้างอิงอื่น ๆ
แก้- ↑ ([建安二十四年]十二月,璋司馬馬忠獲羽及其子平於章鄉,斬之,遂定荊州。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 68.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ February 28, 2024.
- ↑ Perkins (1999), p. 192.
- ↑ Hulsewé (1961), pp. 206–207.
- ↑ Dubs (1938), pp. 276–280.
- ↑ Dubs (1938), p. 160.
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1
- ↑ (名與實爽曰繆。) อี้โจวชู เล่มที่ 6. บทที่ 54.
- ↑ "จอมเทพวินัยธร กวนอู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-13. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
- ↑ กวนอูขอคำมั่นสัญญาสามข้อจากโจโฉ, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 341
- ↑ โจโฉมอบเสื้อผ้าใหม่ให้แก่กวนอู, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 345
- ↑ 12.0 12.1 โจโฉมอบม้าเซ็กเธาว์ให้กวนอู, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 347
- ↑ 13.0 13.1 กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, สามก๊ก ฉบับวณิพก, ยาขอบ, สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, พ.ศ. 2529, หน้า 384
- ↑ โจโฉหวังให้กวนอูแตกน้ำใจกับเล่าปี่, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 344
- ↑ 15.0 15.1 โจโฉอุบายให้กวนอูฆ่างันเหลียงทหารเอกอ้วนเสี้ยว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 352
- ↑ จิวยี่ให้เชิญเล่าปี่มากินโต๊ะ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 608
- ↑ เล่าปี่จัดทัพดักจับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 659
- ↑ กวนอูปล่อยโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 668
- ↑ 19.0 19.1 โลซกให้เชิญกวนอูมากินโต๊ะ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 177
- ↑ 20.0 20.1 โลซกครั่นคร้ามกวนอูจนไม่กล้าเงยหน้า, โลซกให้เชิญกวนอูมากินโต๊ะ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 178
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 กวนอูถูกเกาทัณฑ์, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 292
- ↑ แฮหัวตุ้นรับอาสาไปรบเล่าปี่, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 541
- ↑ แฮหัวตุ้นรับอาสาไปรบเล่าปี่, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 543
- ↑ เล่าปี่ให้กวนอูไปตีเมืองอ้วนเซีย, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 275
- ↑ โจโฉกับซุนกวนคิดจะรวมกันรบกับเล่าปี่, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 272
- ↑ กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, ยาขอบ, สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, พ.ศ. 2529, หน้า 400
- ↑ เล่าปี่ให้ไปเชิญขงเบ้งมาจากเมืองเกงจิ๋ว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 136
- ↑ Brunnert & Hagelstrom (2013), p. 494.
- ↑ Yan (2006), p. 277.
- ↑ เริ่มกล่าวถึงเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 8
- ↑ "ง้าวมังกรเขียว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
- ↑ ถอนฟืนใต้กระทะ คอลัมน์ชักธงรบ กิเลน ประลองเชิง วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551
- ↑ กวนหินฆ่าพัวเจี้ยงชิงง้าวกวนอูกลับคืน, เล่าปี่ตีกองทัพซุนกวนแตกโดยลำดับ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 380
- ↑ "งักฮุย เทพเจ้าแห่งความจงรักภักดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-13. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
- ↑ 文昌帝君【關聖帝君】傳奇 เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้ารหัสแบบอักษรจีนตัวเต็ม Big5) (จีน)
- ↑ "จงอี้เหรินหย่งเสินต้าตี้ มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
- ↑ "เทพเจ้ากวนอู วัดพนัญเชิงวรวิหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
- ↑ "เทพเจ้ากวนอู ผู้ได้รับการเคารพในหลายบทบาท หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์-ไลฟ์สไตล์-กวนอู วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-15. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
- ↑ จากกวนอูถึงงักฮุย
- ↑ "ทำไมเทพเจ้ากวนอูจึงมีคนรู้จักมากกว่าเทพเจ้าขุนพลงักฮุย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-24.
- ↑ "ถามหา "คุณธรรม" ถามหาต้นแบบ "เทพเจ้ากวนอู"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
- ↑ ตำนานเทพเจ้ากวนอู, วิภาวัลย์ บุณยรัตนพันธ์, สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, พ.ศ. 2551, หน้า 112
- ↑ "เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
- ↑ ศาลเจ้ากวนอู ลัวหยาง
- ↑ ศาลเจ้ากวนอู เยาวราช
- ↑ อสุรกายกวนอู, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 316
- ↑ "My Name is Bruce movie trailer". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-25.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- 關聖帝君全球資訊網 เก็บถาวร 2008-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (จีน)
- กวนอู -มนุษย์ที่กลายเป็นเทพเจ้า
- ถามหา "คุณธรรม" ถามหาต้นแบบ เทพเจ้า"กวนอู" เก็บถาวร 2008-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กวนอู ไม่ผิด