พระราชวังฤดูร้อน

พระราชวังฤดูร้อน (อังกฤษ: Summer Palace) หรือ อี๋เหอ-ยฺเหวียน (จีนตัวย่อ: 颐和园; จีนตัวเต็ม: 頤和園; พินอิน: Yíhé Yuán; Gardens of Nurtured Harmony) เป็นพระราชวัง อยู่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังหยวนหมิงหยวน ห่างจากพระราชวังต้องห้ามไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร

พระราชวังฤดูร้อน
สวนหลวงในปักกิ่ง *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก

ประเทศธงของประเทศจีน จีน
ประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (ii) (iii)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2541 (คณะกรรมการสมัยที่ 22)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
พระราชวังฤดูร้อน
"Summer Palace" in Simplified (top) and Traditional (bottom) Chinese characters
อักษรจีนตัวย่อ颐和园
อักษรจีนตัวเต็ม頤和園
ความหมายตามตัวอักษรGarden of Preserving Harmony

อี๋เหอ-ยฺเหวียนมีพื้นที่ประมาณ 2.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,812.5 ไร่ ประกอบด้วยเนินเขาสูง 60 เมตร มีพระตำหนักอยู่บนเนิน และทะเลสาบคุนหมิง มีเนื้อที่ประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตร หรือ (1,375 ไร่) คิดเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด[1] โดยทะเลสาบนี้เกิดจากการใช้แรงงานคน ขุดดินขึ้นไปถมเป็นเนินเขา สำหรับสร้างพระตำหนัก

อี๋เหอ-ยฺเหวียนเริ่มก่อสร้างในสมัยราชวงศ์จิน (ค.ศ. 1115 – 1234) โดยจักรพรรดิไหหลิงหวัง เมื่อย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ปักกิ่ง และเป็นที่ประทับของจักรพรรดิราชวงศ์หยวน จนกระทั่งถึงรัชกาลของจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง ทรงบูรณะและสร้างพระตำหนักแห่งใหม่บนเนินเขา ในปี ค.ศ. 1749

ประวัติ แก้

ก่อนราชวงศ์ชิง แก้

ต้นกำเนิดของพระราชวังฤดูร้อนมีขึ้นในสมัยราชวงศ์จินที่ปกครองโดยชนชาติหฺนวี่เจิน (Jurchen) ในปี ค.ศ. 1153 เมื่อจักรพรรดิไหหลิงหวัง จักรพรรดิองค์ที่สี่ (รัชสมัย ค.ศ. 1150–1161) ย้ายเมืองหลวงของราชวงศ์จิน จากมณฑลฮุ่ยหนิง (ในปัจจุบันคือเมืองฮาร์บิน เฮย์หลงเจียง) ไปสู่หยานจิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) และให้สร้างพระราชวังบนเขาเซียง (香山) และเขายู่ฉฺวาน (玉泉山) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง

ราวปี ค.ศ. 1271 หลังจากที่ราชวงศ์หยวนก่อตั้งเมืองหลวงในข่านบาลิก (หรือเรียก ต้าตู ปัจจุบันคือปักกิ่ง) วิศวกร กัวโส่วจิ้ง (郭守敬) ได้ริเริ่มโครงการประปาเพื่อควบคุมน้ำจากน้ำพุเฉินชาน (神山泉) ในหมู่บ้านไป๋ฝู (白浮村) เขตชางผิง จากทะเลสาบตะวันตก (西湖) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นทะเลสาบคุนหมิง เป้าหมายของกัว คือการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำมั่นคงสำหรับพระราชวัง

ในปี ค.ศ. 1494 จักรพรรดิหงจื้อแห่งราชวงศ์หมิงได้สร้างวัดหยวนจิ้ง (圓靜寺) เพื่อรำลึกแม่นมหลัวของพระองค์ หน้าเขาเวิ่ง (瓮山) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเขาอายุวัฒนะ (万寿山 เขาว่านโช่ว) วัดนี้ถูกทิ้งร้างและทรุดโทรมเป็นเวลาหลายปี และบริเวณเขาถูกปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ ในรัชสมัยจักรพรรดิเจิ้งเต๋อ (รัชสมัย ค.ศ. 1505–1521) ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากจักรพรรดิหงจื้อ ได้สร้างพระราชวังริมฝั่งทะเลสาบตะวันตกและเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นสวนในพระองค์ และเปลี่ยนชื่อเขาเวิ่งเป็น "เขาทอง" (金山) และตั้งชื่อทะเลสาบว่า "ทะเลสีทอง" (金海) ทั้งจักรพรรดิเจิ้งเต๋อและจักรพรรดิว่านลี่ (รัชสมัย ค.ศ. 1572–1620) พอพระทัยกับการล่องเรือในทะเลสาบ ในรัชสมัยของจักรพรรดิเทียนฉี่ (รัชสมัย ค.ศ. 1620–1627) ขันทีในราชสำนัก Wei Zhongxian ได้ยึดสวนในพระองค์จักรพรรดิไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

ราชวงศ์ชิง แก้

ในช่วงต้นราชวงศ์ชิง เขาเวิ่งเป็นสถานที่สำหรับคอกเลี้ยงม้าในพระราชวัง ขันทีที่กระทำความผิดถูกส่งไปยังตัดหญ้าและวัชพืชที่นี่ ในตอนต้นของรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง (รัชสมัย ค.ศ. 1735-1796) มีการสร้างสวนในพระองค์จักรพรรดิหลายแห่งในบริเวณรอบเขตไห่เตี้ยนของปักกิ่งในปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้ปริมาณการใช้น้ำจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะนั้นน้ำส่วนใหญ่เก็บไว้ในทะเลสาบตะวันตกมาจากน้ำพุจืดธรรมชาติ (ตาน้ำ) บนเขายู่ฉฺวาน อีกส่วนหนึ่งมาจากแม่น้ำว่านฉฺวาน (万泉河) การหยุดชะงักการไหลของน้ำจากเขายู่ฉฺวานส่งผลอย่างมากต่อการขนส่งทางน้ำและระบบประปาของเมืองหลวง

ราวปี ค.ศ. 1749 จักรพรรดิเฉียนหลงตัดสินพระทัยสร้างพระราชวังในบริเวณใกล้เคียงกับเขาเวิ่ง และทะเลสาบตะวันตกเพื่อฉลองวันเกิดครบรอบชันษา 60 ปีของพระมารดาของพระองค์ จักรพรรดินีเซี่ยวเชิ่งเซี่ยน รวมทั้งโครงการปรับปรุงระบบประปาของเมืองหลวง ในการนี้พระองค์ทรงสั่งให้ขยายทะเลสาบตะวันตกออกไปทางทิศตะวันตกเพื่อสร้างทะเลสาบอีก 2 แห่ง ได้แก่ ทะเลสาบเกาสุ่ย (高水湖) และทะเลสาบย่างสุ่ย (养水湖) ทะเลสาบทั้งสามแห่งนี้ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับสวนในพระองค์จักรพรรดิเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรโดยรอบ ซึ่งเรียกรวมทะเลสาบทั้งสามว่า "ทะเลสาบคุนหมิง" ตามชื่อสระคุนหมิง (昆明池) ที่สร้างโดยจักรพรรดิฮั่นอู่(รัชสมัย 141–187 ก่อนคริสต์ศักราช) ในราชวงศ์ฮั่นเพื่อฝึกกองทัพเรือ ดินที่ขุดจากการขยายตัวของทะเลสาบคุนหมิงถูกใช้เพื่อขยายเขาเวิ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "เขาอายุวัฒนะ" (万寿山; เขาว่านโช่ว; Longevity Hill)

พระราชวังฤดูร้อนซึ่งการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2307 ด้วยมูลค่ากว่า 4.8 ล้านตำลึง ได้รับการตั้งชื่อว่า "ชิงอีหยวน" (清漪园; สวนคลื่นใส)

การออกแบบพระราชวังฤดูร้อนมีพื้นฐานมาจากตำนานเทพนิยายจีนเกี่ยวกับภูเขาศักดิ์สิทธิ์สามแห่งในทะเลตะวันออก ได้แก่ เผิงไหล (蓬萊仙島) ฟางจ้าง (方指) และหยิงโจว (瀛洲) ให้สร้างขึ้นเป็นเกาะทั้งสามในทะเลสาบคุนหมิง – เกาะหนานหู (南湖岛) ) เกาะถฺวานเฉิง (团城岛) และเกาะเฉ่าเจี้ยนถัง (草鉴堂岛) ในขณะที่ตัวทะเลสาบเองนั้นมีพื้นฐานมาจากพิมพ์เขียวของทะเลสาบตะวันตกในหางโจว นอกจากนี้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมากมายในพระราชวังยังถูกสร้างให้มีลักษณะคล้ายหรือเลียนแบบสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน ตัวอย่างเช่น ท่าเรือเฟิ่งหฺวาง (凤凰顿) เป็นตัวแทนของทะเลสาบไท่ ศาลาจิ้งหมิง (景明楼) คล้ายกับศาลาเยว่หยาง (岳阳楼) ในหูหนาน ศาลาหวางฉาน (望飯阁) ให้คล้ายศาลากระเรียนเหลือง (黄鹤楼) ถนนการค้าได้รับการออกแบบให้เลียนแบบถนนในซูโจวและหยางโจว สถาปัตยกรรมที่เป็นหัวใจของพระราชวังฤดูร้อนคือ "วัดแห่งความกตัญญูกตเวทีและอายุวัฒนะ" (大宝恩延寿寺) นอกจากนี้ยังมีทางเดินยาวกว่า 700 เมตร ซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชวังฤดูร้อนถูกออกแบบให้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการพำนักระยะยาวและการบริหารงานประจำวันของรัฐ จากบันทึกจักรพรรดิเฉียนหลงไม่เคยแปรพระราชฐานถาวรที่พระราชวังฤดูร้อน และอยู่ประทับเพียงวันเดียวในทุกการประพาส

ในช่วงขณะที่ราชวงศ์ชิงเริ่มเสื่อมถอยลง ภายหลังรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวัง พระราชวังฤดูร้อนค่อย ๆ ถูกละเลยมากขึ้น และสถาปัตยกรรมบนเกาะทั้งสามได้ถูกสั่งให้รื้อถอนเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงเกินไป

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860 ฝรั่งเศสและอังกฤษได้ปล้นพระราชวังฤดูร้อน เมื่อคราวสิ้นสุดสงครามฝิ่นครั้งที่สอง และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) กองกำลังอังกฤษได้เผาทำลายพระราชวังฤดูร้อนเดิมที่อยู่ใกล้เคียง (ยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน ในภาษาจีน) โดยคำสั่งของ ลอร์ด เอลกิน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศจีน และเป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อการทรมานและการสังหารทูตอังกฤษสองคน รวมทั้งนักข่าวของเดอะไทมส์ และคณะคุ้มกัน การทำลายพระราชวังฤดูร้อนส่วนใหญ่ยังทำให้เกิดความโกรธแค้นในจีน[2][3][4]

ระหว่างปี ค.ศ. 1884–95 ในรัชสมัยของจักรพรรดิกวังซฺวี่ (r. 1875–1908) จักรพรรดินีซูสีไทเฮาได้สั่งซื้อแท่งเงินจำนวน 22 ล้านตำลึง[5] ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้ในการปรับปรุงกองทัพเรือราชวงศ์ชิง (北洋舰队) แต่นำไปใช้ในการบูรณะและขยายพระราชวังฤดูร้อนเพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีของจักรพรรดินี ด้วยเหตุงบประมาณที่มีจำกัด งานก่อสร้างจึงมุ่งไปที่อาคารด้านหน้าเขาอายุวัฒนะ และเขื่อนกั้นรอบทะเลสาบคุนหมิง นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1888 พระราชวังฤดูร้อนยังได้รับชื่อที่ใช้จนปัจจุบัน คือ "อี้เหอหยวน" (颐和园)

ในคริสต์ทศวรรษ 1900 ก่อนการสิ้นสุดกบฏนักมวย พระราชวังฤดูร้อนได้รับความเสียหายอีกครั้งเมื่อกองกำลังพันธมิตรแปดชาติ ทำลายสวนในพระองค์จักรพรรดิและยึดศิลปกรรมจำนวนมากที่สะสมไว้ในพระราชวัง พระราชวังฤดูร้อนได้รับการบูรณะในสองปีต่อมา

หลังราชวงศ์ชิง แก้

ในปี ค.ศ. 1912 หลังจากการสละราชสมบัติของผู่อี๋ (จักรพรรดิองค์สุดท้าย) พระราชวังฤดูร้อนได้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของอดีตราชวงศ์ของจักรวรรดิชิง อีกสองปีต่อมาพระราชวังฤดูร้อนเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมและจำหน่ายตั๋วเข้าชม

ในปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) หลังจากที่ผู่อี๋ถูกขับไล่ออกจากพระราชวังต้องห้ามโดยขุนศึกเฝิง ยู่เสียง รัฐบาลเทศบาลกรุงปักกิ่งได้เข้ามาดูแลพระราชวังฤดูร้อนและเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะ

ภายหลังปี ค.ศ. 1949 พระราชวังฤดูร้อนเป็นที่ตั้งของโรงเรียนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสั้น ๆ ซึ่งคณะสหายและบุคคลากรสำคัญของเหมา เจ๋อตงหลายคนในพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น หลิ่ว ย่าจึ (柳亚子) และ เจียง ชิง ได้อาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน นับแต่ปี ค.ศ. 1953 พระราชวังฤดูร้อนได้ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงครั้งใหญ่หลายครั้ง ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวและสวนสาธารณะ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระราชวังฤดูร้อนได้รับการกำหนดให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลจีนได้เริ่มแจกจ่ายเหรียญที่ระลึกเพื่อเฉลิมฉลองพระราชวังฤดูร้อนในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของโลก


ภาพแผนผังของพระราชวังฤดูร้อน พ.ศ. 2431

มรดกโลก แก้

พระราชวังฤดูร้อนพร้อมด้วยอุทยานอี๋เหอ-ยฺเหวียนได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "พระราชวังฤดูร้อนและอุทยานในกรุงปักกิ่ง" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 22 เมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่เมืองเกียวโตะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังต่อไปนี้

  • (i) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
  • (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยะธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. พระราชวังฤดูร้อน "อี๋เหอ-ยฺเหวียน" (วังฤดูร้อน) เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศจีน
  2. E. W. R. Lumby, "Lord Elgin and the Burning of the Summer Palace." History Today (July 1960) 10#7 pp 479-48.
  3. The palace of shame that makes China angry
  4. Ringmar, Erik (2013). Liberal Barbarism: The European Destruction of the Palace of the Emperor of China. New York: Palgrave Macmillan.
  5. Zhu, Weizheng (Apr 23, 2015). Rereading Modern Chinese History. BRILL. p. 351.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

39°59′51.00″N 116°16′8.04″E / 39.9975000°N 116.2689000°E / 39.9975000; 116.2689000