ยุทธการที่ด่านกิสุยก๋วน

ยุทธการที่ด่านกิสุยก๋วน (จีน: 汜水關之戰) เป็นสงครามสมมติที่ปรากฏในนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊กผลงานของล่อกวนตง เป็นการสงครามระหว่างกองทัพฝ่ายตั๋งโต๊ะและฝ่ายพันธมิตรขุนศึกและขุนนางระดับภูมิภาค (รู้จักกันในนามพันธมิตรกวานตง) โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทัพปราบตั๋งโต๊ะ ในปี ค.ศ. 190 ในช่วงเหตุการณ์ที่นำไปสู่ยุคสามก๊ก สงครามครั้งนี้ไม่มีการบันทึกในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ) ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและยุคสามก๊กที่มีความน่าเชื่อถือ

ยุทธการที่ด่านกิสุยก๋วน
อักษรจีนตัวเต็ม汜水關之戰
อักษรจีนตัวย่อ汜水关之战

ภูมิหลัง แก้

ในปี ค.ศ. 190 ตั๋งโต๊ะเข้าเมืองลกเอี๋ยง เมืองหลวงของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และเข้ากุมอำนาจราชสำนัก ตั๋งโต๊ะผูกขาดอำนาจรัฐและปกครองด้วยความโหดร้ายทารุณ ภายหลังในปีเดียวกัน ขุนศึกและขุนนางระดับภูมิภาคหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งกองทัพพันธมิตรเพื่อต่อต้านตั๋งโต๊ะโดยมีอ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำ อ้วนเสี้ยวมอบหมายให้อ้วนสุดน้องชายให้รับผิดชอบเรื่องเสบียงสำหรับกองทัพพันธมิตร และแต่งตั้งให้ซุนเกี๋ยนเป็นทัพหน้าเข้าโจมตีด่านกิสุยก๋วน (汜水關 ซื่อฉุ่ยกวาน) หนึ่งในด่านภูเขาที่มุ่งสู่เมืองลกเอี๋ยง

ตั๋งโต๊ะทราบข่าวศึกก็ตื่นตกใจเป็นอย่างมาก แต่ลิโป้บุตรบุญธรรมได้เสนอตัวยกทัพด้วยตนเองไปสังหารข้าศึก ฝ่ายฮัวหยงขุนพลคนหนึ่งของตั๋งโต๊ะได้ยินดังนั้นจึงก้าวออกมาและอาสานำทัพไปรบกองทัพพันธมิตร ตั๋งโต๊ะมีความยินดีจึงแต่งตั้งฮัวหยงให้มีตำแหน่งเซียวฉีเซี่ยวเว่ย์ (驍騎校尉) ให้นำทหาร 50,000 นายไปรักษาด่านกิสุยก๋วน พร้อมให้ลิซก, โฮจิ้น และเตียวหงิมติดตามไปเป็นผู้ช่วย

สงคราม แก้

การปะทะครั้งแรก แก้

เปาสิ้น หนึ่งในผู้นำของกองทัพพันธมิตรต้องการมีความดีความชอบก่อนซุนเกี๋ยน จึงลอบสั่งให้เปาต๋งน้องชายให้นำทหาร 3,000 นายผ่านทางลัดไปยังด่านกิสุยก๋วน ฮัวหยงยกออกมาจากด่านและสังหารเปาต๋งได้ ฮัวหยงส่งศีรษะของเปาต๋งไปถึงตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะจึงเลื่อนขั้นให้กับฮัวหยง

ซุนเกี๋ยนมาถึงด่านพร้อมด้วยขุนพลคือเทียเภา, อุยกาย, ฮันต๋ง และโจเมา (祖茂 จู่ เม่า) โฮจิ้นนำทหาร 5,000 นายออกมารับมือซุนเกี๋ยน แต่ถูกเทียเภาใช้ทวนแทงเข้าอกตาย ซุนเกี๋ยนรุกเข้าประชิดด่านแต่ถูกพลเกาทัณฑ์ฝ่ายข้าศึกยิงขับไล่จนต้องล่าถอยไปไปอยู่ที่เลียงต๋ง (梁東 เหลียงตง) แล้วรายงานชัยชนะให้กับอ้วนเสี้ยว พร้อมกันนั้นก็ส่งคนมาเร่งเสบียงจากอ้วนสุด

ซุนเกี๋ยนพ่ายแพ้ แก้

อ้วนสุดไม่ทำการส่งเสบียงไปให้ซุนเกี๋ยนเพราะไม่ต้องการให้ซุนเกี๋ยนได้ความดีความชอบมากที่สุด จึงเกิดความระส่ำระสายในหมู่ทหารของซุนเกี๋ยนขึ้นเพราะขาดเสบียง สายสืบของฮัวหยงในค่ายของซุนเกี๋ยนรายงานฮัวหยงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลิซกจึงแนะนำให้ฮัวหยงใช้โอกาสนี้เข้าปล้นค่ายของซุนเกี๋ยน

ครั้นเวลาเที่ยงคืน ฮัวหยงนำทหารเข้าโจมตีทางด้านหน้าค่ายของซุนเกี๋ยน ซุนเกี๋ยนจึงยกออกมารบ กองกำลังแยกของลิซกได้ลอบไปยังหลังค่ายของซุนเกี๋ยนแล้วจุดไฟขึ้น ซุนเกี๋ยนถูกล้อมไว้จึงพยายามตีฝ่าวงล้อมไปพร้อมกับโจเมา โจเมาเห็นว่าซุนเกี๋ยนสวมผ้าโพกศีรษะสีแดงสะดุดตา จึงแนะนำให้ซุนเกี๋ยนมอบผ้าโพกศีรษะให้ตนสวม ซุนเกี๋ยนทำตามแล้วหลบหนีไปได้ ฝ่ายโจเมาใช้ผ้าโพกศีรษะของของซุนเกี๋ยนล่อให้ฮัวหยงไล่ตามมา จากนั้นโจเมาพยายามจะทำให้ฮัวหยงประมาทแต่ไม่สำเร็จ กลับเป็นฝ่ายถูกฮัวหยงสังหาร

เทียเภา, อุยกาย, ฮันต๋งกลับมารวมพลกับซุนเกี๋ยนได้ ซุนเกี๋ยนร้องไห้ให้กับการตายของโจเมาและรายงานความพ่ายแพ้ให้แก่อ้วนเสี้ยว

กวนอูสังหารฮัวหยง แก้

วันถัดมา ฮัวหยงยกไปที่ค่ายของกองทัพพันธมิตรและท้าทายให้มาสู้ตัวต่อตัว ยูสิดขุนพลของอ้วนสุดรับคำท้าของฮัวหยง แต่ถูกฆ่าตายภายในสามเพลงรบ พัวหองขุนพลของฮันฮกออกไปสู้กับฮัวหยงก็เสียทีถูกสังหารเช่นกัน

กวนอูซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงทหารขี่ม้าถือเกาทัณฑ์ของเล่าปี่ (ซึ่งเข้าร่วมกองทัพพันธมิตรโดยอยู่ในสังกัดของกองซุนจ้าน) ได้อาสาออกไปสู้กับฮัวหยง แต่กลับถูกอ้วนสุดดูถูกว่าเป็นเพียงทหารเลว แต่โจโฉแนะนำว่าควรอนุญาตให้กวนอูไปสู้ กวนอูให้คำสัตย์ว่าจะนำศีรษะของฮัวหยงมาให้ได้ หากไม่สำเร็จก็พร้อมรับโทษประหารชีวิต โจโฉนำจอกใส่สุราอุ่นยื่นให้กวนอูแต่กวนอูไม่รับบอกว่าตนจะสังหารฮัวหยงก่อนจึงกลับมาดื่ม ภายในเวลาไม่นาน กวนอูกก็กลับมาพร้อมศีรษะของฮัวหยง กวนอูรับสุราที่ยังคงอุ่นอยู่มาดื่ม เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักว่าเป็นเหตุการณ์ "สังหารฮัวหยงโดยสุรายังอุ่น" (温酒斩华雄)

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แก้

สงครามครั้งนี้ไม่มีการกล่าวถึงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นซู) และจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ) ในความเป็นจริง ด่านกิสุยก๋วนและด่านเฮาโลก๋วนหมายถึงด่านภูเขาแห่งเดียวกันใกล้เมืองเอ๊งหยง (สิงหยาง) แต่ถูกกล่าวด้วยชื่อที่แตกต่างกันสองชื่อ

อย่างไรก็ได้ ชีวประวัติของซุนเกี๋ยนในจดหมายเหตุสามก๊กได้กล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับผ้าโพกศีรษะของซุนเกี๋ยนที่คล้ายคลึงกับในนิยาย แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฮัวหยง ความว่าเมื่อซุนเกี๋ยนตั้งค่ายอยู่ที่เลียงต๋ง (梁東 เหลียงตง) ซุนเกี๋ยนได้ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากกองทหารของตั๋งโต๊ะที่นำมาโดยซีเอ๋ง[1] ซุนเกี๋ยนนำทหารม้าหลายสิบนายตีฝ่าวงล้อมออกไป ตตอนนั้นซุนเกี๋ยนสวมผ้าโพกศีรษะสีแดง จึงถอดออกแล้วมอบให้โจเมา (祖茂 จู่ เม่า) สวม ทหารตั๋งโต๊ะเห็นผ้าโพกศีรษะก็จำได้ว่าเป็นของซุนเกี๋ยนจึงไล่ตามโจเมาไป ขณะที่ซุนเกี๋ยนใช้เส้นทางอื่นหลบหนีไปได้ โจเมาเหนื่อยล้าจึงลงจากหลังม้าแล้วผูกผ้าโพกศีรษะเข้ากับเสาเรือนที่ถูกไฟไหม้ แล้วจึงซ่อนตัวในพุ่มไม้ใกล้ ๆ ทหารของตั๋งโต๊ะมาถึงเห็นผ้าโพกศีรษะที่เสาเรือนจึงเข้าล้อมไว้ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นแค่เสาเรือนถอนกำลังจากไป[2] โจเมาไม่ได้ถูกสังหารในการรบที่เลียงต๋ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโจเมาหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ โฮจิ้นไม่ได้ถูกสังหารในสงครามครั้งนั้น โฮจิ้นยังคงรับราชการกับลิฉุยและกุยกีภายหลังการเสียชีวิตของตั๋งโต๊ะ[3]

ชีวประวัติของซุนเกี๋ยนยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ซุนเกี๋ยนเอาชนะกองทหารของตั๋งโต๊ะที่หยางเหริน (陽人; เชื่อว่าปัจจุบันคืออำเภอเวินเฉฺวียน เมืองหรู่โจว มณฑลเหอหนาน) และตัดศีรษะของฮัวหยงซึ่งเป็นแม่ทัพฝ่ายตั๋งโต๊ะได้ในการรบครั้งนั้น[4][5]

วัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

ในด้านวงวรรณกรรมจีน สงครามนี้เป็นที่รู้จักว่าเป็นศึกแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กวนอู

ฉากนี้ถูกนำมาแสดงในจิงจฺวี่ (งิ้วปักกิ่ง) ในชื่อการแสดงว่า "สังหารฮัวหยง" (จีนตัวย่อ: 斩华雄; จีนตัวเต็ม: 斬華雄; พินอิน: Zhǎn Huà Xíong) ฉากเดียวกันนี้ถูกนำมาแสดงในงิ้วรูปแบบอื่นเช่นกัน

เหตุการณ์ยังปรากฏในวิดีโอเกมต่าง ๆ เช่น Sangokushi Eiketsuden, Sangokushi Sousouden และ ไดนาสตีวอริเออร์ ของค่ายเกม Koei

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. (孫堅移屯梁東,為卓將徐榮所敗,復收散卒進屯陽人。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 60.
  2. (堅移屯梁東,大為卓軍所攻,堅與數十騎潰圍而出。堅常著赤罽幘,乃脫幘令親近將祖茂著之。卓騎爭逐茂,故堅從間道得免。茂困迫,下馬,以幘冠塚閒燒柱,因伏草中。卓騎望見,圍繞數重,定近覺是柱,乃去。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 46.
  3. (傕﹑汜等以王允﹑呂布殺董卓, ... 王允聞之,乃遣卓故將胡軫﹑徐榮擊之於新豐。榮戰死,軫以觿降。 ...) โฮ่วฮั่นซู เล่มที่ 72.
  4. (堅復相收兵,合戰於陽人,大破卓軍,梟其都督華雄等。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 46.
  5. (卓遣東郡太守胡軫督步騎五千擊之,以呂布為騎督。軫與布不相得,堅出擊,大破之,梟其都督華雄。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 60.