โฮจิ้น (มีชีวิตในช่วง ค.ศ. 190–192) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่าหู เจิ่น (จีน: 胡軫; พินอิน: Hú Zhěn) มีชื่อรองว่า เหวินไฉ (จีน: 文才; พินอิน: Wéncái) เป็นนายทหารของขุนศึกตั๋งโต๊ะในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน โฮจิ้นเป็นคนผู้ทรงอิทธิพลจากแคว้นเลียงจิ๋ว (涼州 เหลียงโจว)

โฮจิ้น (หู เจิ่น)
胡軫
ซือลี่เซี่ยวเว่ย์ (司隸校尉)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 192 (192) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เจ้าเมืองตองกุ๋น
(東郡太守)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
แคว้นเลียงจิ๋ว
เสียชีวิตไม่ปรากฏ
อาชีพนายทหาร
ชื่อรองเหวินไฉ (文才)

ประวัติ

แก้

ในปี ค.ศ. 191 โฮจิ้นถูกส่งไปหยางเหริน (陽人; เชื่อว่าปัจจุบันคืออำเภอเวินเฉฺวียน เมืองหรู่โจว มณฑลเหอหนาน) พร้อมทหาร 5,000 นายเพื่อไปต้านทานการบุกของซุนเกี๋ยนจากทางทิศใต้ โฮจิ้นไม่ถูกกันกับกับลิโป้นายทหารของตั๋งโต๊ะด้วยกันที่เป็นผู้คุมกองทหารม้า ลิโป้แพร่ข่าวลือก่อกวนกองกำลังของโฮจิ้น กองกำลังของโฮจิ้นจึงถูกซุนเกี๋ยนตีแตกพ่าย

หลังจากตั๋งโต๊ะถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 192 โฮจิ้นรับราชการสืบต่อมากับราชสำนักภายใต้การควบคุมของอ้องอุ้น แต่โฮจิ้นก็ไม่พอใจความหยิ่งยโสของอ้องอุ้น เมื่อลิฉุยและกุยกีผู้ภักดีต่อตั๋งโต๊ะได้ก่อกบฏต่อราชสำนัก อ้องอุ้นให้โฮจิ้นพร้อมด้วยหยาง ติ้ง (楊定) และซีเอ๋งไปรบหรืออาจไปเจรจาต่อรองกับฝ่ายกบฏ แต่โฮจิ้นและหยาง ติ้งกลับเข้าร่วมกับฝ่ายลิฉุยและกุยกีภายในไม่นานหลังจากซีเอ๋งถูกสังหารในการรบ

เมื่อลิฉุยและกุยกียึดได้เมืองหลวงเตียงฮันจากอ้องอุ้น โฮจิ้นได้มีตำแหน่งเป็นซือลี่เซี่ยวเว่ย์ (司隸校尉) ในสังกัดของลิฉุยและกุยกี โฮจิ้นใช้อำนาจในตำแหน่งนี้ใส่ร้ายตั้งข้อหาเท็จให้กับข้าราชการท้องถิ่นชื่อโหยว อิน (游殷) ซึ่งไม่ถูกกันกับโฮจิ้น และตัดสินโทษให้นำโหยว อินไปประหารชีวิต ไม่กี่เดือนต่อมาโฮจิ้นล้มป่วยและเสียชีวิต กล่าวกันว่าวิญญาณของโหยว อินมาหลอกหลอนโฮจิ้นจนล้มป่วย

ในนิยายสามก๊ก

แก้

ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก โฮจิ้นถูกสังหารโดยเทียเภานายทหารของซุนเกี๋ยนระหว่างทำศึกในยุทธการที่ด่านกิสุยก๋วนซึ่งเป็นสงครามสมมติในนิยาย

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  • ตันซิ่ว. จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
  • de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. ISBN 978-90-04-15605-0.
  • ล่อกวนตง. สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).
  • เผยซงจือ. อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก. (ซันกั๋วจื้อจู้).