ฉิน อี๋ลู่ (จีน: 秦宜祿; พินอิน: Qín Yílù; เสียชีวิต ค.ศ. 199) เป็นนายทหารผู้รับใช้ขุนพลและขุนศึกลิโป้ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน ฉิน อี๋ลู่อาจเป็นบุคคลเดียวกันกับฉิน อี้ (จีน: 秦翊 และ 秦誼; พินอิน: Qín Yì) ซึ่งปรากฏชื่อในบันทึกต่าง ๆ[1]

ฉิน อี๋ลู่
秦宜祿
เกิดไม่ทราบ
อำเภอทัวเค่อทัว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
เสียชีวิตค.ศ. 199[1]
อำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู
อาชีพนายทหาร
คู่สมรสตู้ชื่อ
บุตรจีนล่ง

ประวัติ

แก้

ฉิน อี๋ลู่เป็นชาวเมืองยฺหวินจง (雲中郡 ยฺหวินจงจฺวิ้น; อยู่ทางตะวันตกของอำเภอทัวเค่อทัว เขตปกครองตนเองมองโกเลียในในปัจจุบัน) ฉิน อี๋ลู่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของลิโป้ผู้ซึ่งมาจากมณฑลเป๊งจิ๋วเช่นเดียวกับฉิน อี๋ลู่ ในปี ค.ศ. 192 ฉิน อี๋ลู่เป็นคนหนึ่งในสองคนที่ลิโป้มอบหมายให้ซุ่มโจมตีและลอบสังหารขุนศึกตั๋งโต๊ะในเตียงฮันโดยปลอมตัวเป็นองครักษ์ ภายหลังฉิน อี๋ลู่ติดตามลิโป้เมื่อลิโป้หนีจากเตียงฮันและเดินทางไปทั่วที่ราบภาคกลางก่อนจะเข้ายึดครองมณฑลชีจิ๋วจากขุนศึกเล่าปี่[1]

เมื่อลิโป้ถูกล้อมโดยทัพพันธมิตรของโจโฉและเล่าปี่ในยุทธการที่แห้ฝือในปี ค.ศ. 198 ลิโป้ส่งฉิน อี๋ลู่ไปขอกำลังเสริมจากขุนศึกเตียวเอี๋ยงและอ้วนสุด ตู้ชื่อ (杜氏) ภรรยาของฉิน อี๋ลู่และจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) บุตรชายของฉิน อี๋ลู่ยังคงอยู่ในแห้ฝือในขณะที่ทัพโจโฉเข้ายึดแห้ฝือได้ กวนอูขุนพลของเล่าปี่ขอกับโจโฉหลายครั้งให้ตนได้สมรสกับตู้ชื่อหลังได้ชัยชนะต่อลิโป้ โจโฉสงสัยว่าเหตุใดกวนอูจึงต้องการตู้ชื่อขนาดนั้นจึงคาดว่าตู้ชื่อคงจะงดงามมาก จึงสั่งให้คนนำตัวตู้ชื่อมาพบ ตู้ชื่อจึงกลายเป็นภรรยาน้อยของโจโฉโดยโจโฉไม่ใส่ใจต่อคำขอร้องของกวนอู และจีนล่งได้กลายเป็นบุตรบุญธรรมของโจโฉ[2][3]

ฉิน อี๋ลู่กำลังอยู่ที่ค่ายของอ้วนสุดในขณะที่แห้ฝือถูกตีแตก อ้วนสุดจึงจัดการให้ฉิน อี๋ลู่ได้สมรสกับสตรีสูงศักดิ์ผู้หนึ่งผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ฮั่นแทนที่ตู้ชื่อภรรยาคนเดิม อย่างไรก็ตาม อ้วนสุดที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิทำให้ฉิน อี๋ลู่รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องข้องเกี่ยวกับกบฏ ฉิน อี๋ลู่จึงทำตามคำแนะนำของเล่าฮกไปสวามิภักดิ์ต่อโจโฉผู้ซึ่งกุมอำนาจราชสำนักฮั่นและควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่น

ฉิน อี๋ลู่ที่อยู่ภายใต้โจโฉได้รับตำแหน่งเป็นนายอำเภอของอำเภอจื้อ (銍縣 จื้อเซี่ยน) อำเภอขนาดเล็กในราชรัฐไพก๊ก (沛國 เพ่ย์กั๋ว) เมื่อเล่าปี่ก่อกบฏต่อโจโฉและผ่านมาทางเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) เตียวหุยขุนพลของเล่าปี่เรียกฉิน อี๋ลู่มาพบและเหยียดหยามว่า "มีคนอื่นที่เอาภรรยาท่านไป แต่ท่านกลับเลือกจะเป็นนายอำเภอในสังกัดเขา! ท่านทำเรื่องโง่เขลาเช่นนี้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร! ท่านอยากจะติดตามเราหรือไม่" ฉิน อี๋ลู่ติดตามเล่าปี่เดินทางไปอีกหลายลี้่ ก่อนจะรู้สึกเสียใจและตัดสินใจจากไป เตียวหุยจึงสังหารฉิน อี๋ลู่เสีย[4]

จีนล่งบุตรชายของฉิน อี๋ลู่ได้โจโฉรับเป็นบุตรบุญธรรม และภายหลังได้กลายเป็นขุนพลคนสำคัญของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กที่ก่อตั้งโดยโจผีบุตรชายและทายาทของโจโฉ[5]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 de Crespigny (2007), p. 708.
  2. (布之被圍,關羽屢請於太祖,求以杜氏為妻,太祖疑其有色,及城陷,太祖見之,乃自納之。) อรรถาธิบายจากเซี่ยนตี้จฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  3. (初,羽隨先主從公圍呂布於濮陽,時秦宜祿為布求救於張楊。羽啟公:「妻無子,下城,乞納宜祿妻。」公許之。及至城門,復白。公疑其有色,李本作他。自納之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.
  4. (宜祿歸降,以為銍長。及劉備走小沛,張飛隨之,過謂宜祿曰:「人取汝妻,而為之長,何蚩蚩若是邪!隨我去乎?」宜祿從之數里,悔欲還,飛殺之。) อรรถาธิบายจากเซี่ยนตี้จฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  5. (朗隨母氏畜于公宮,太祖甚愛之,每坐席,謂賔客曰:「豈有人愛假子如孤者乎?」) อรรถาธิบายจากเซี่ยนตี้จฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.

บรรณานุกรม

แก้
  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • ชาง ฉฺวี (ป. ศตวรรษที่ 4). พงศาวดารหฺวาหยาง (หฺวาหยางกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Leiden: Brill. ISBN 978-90-04-15605-0.