ซุนกวน ( ค.ศ. 183 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252)[a][5] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน เฉฺวียน (จีนตัวย่อ: 孙权; จีนตัวเต็ม: 孫權; พินอิน: Sūn Quán) ชื่อรอง จ้งโหมว (仲謀) หรือรู้จักกันในสมัญญานามว่า จักรพรรดิอู๋ต้าตี้ (吳大帝) เป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กซึ่งเป็นหนึ่งรัฐในยุคสามก๊กของจีน ซุนกวนสืบทอดระบอบการปกครองที่ถูกก่อตั้งโดยซุนเซ็กพี่ชายในปี ค.ศ. 200 ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการและปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 222 ถึง ค.ศ. 229 ในฐานะเงาอ๋อง (อ๋องแห่งง่อ) และ ค.ศ. 229 ถึง ค.ศ. 252 ในฐานะจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก แตกต่างจากคู่แข่งอย่างโจโฉและเล่าปี่ ซุนกวนมีอายุที่น้อยกว่าพวกเขามากและปกครองรัฐของตนเองโดยแบ่งแยกการเมืองและอุดมการณ์ส่วนใหญ่ บางครั้งซุนกวนถูกมองว่าวางตัวเป็นกลางเมื่อพิจารณาว่าใช้นโยบายระหว่างต่างประเทศที่ยืดหยุ่นระหว่างคู่แข่งสองฝ่ายโดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดสำหรับรัฐ

ซุนกวน (ซุน เฉฺวียน)
孫權
จักรพรรดิอู๋ต้าตี้
吳大帝
ภาพวาดซุนกวนสมัยราชวงศ์ถังโดยเหยียน ลี่เปิ่น
จักรพรรดิแห่งง่อก๊ก
ครองราชย์23 พฤษภาคม ค.ศ. 229 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252
ถัดไปซุนเหลียง
เงาอ๋อง[1] / อ๋องแห่งง่อ (吳王 อู๋หวาง)
(ในฐานะผู้ปกครองอิสระ)
ครองราชย์พฤศจิกายน ค.ศ. 222 – 23 พฤษภาคม ค.ศ. 229
เงาอ๋อง / อ๋องแห่งง่อ (吳王 อู๋หวาง)
(ในฐานะรัฐบริวารของวุยก๊ก)
ดำรงตำแหน่ง23 กันยายน ค.ศ. 221 – พฤศจิกายน ค.ศ. 222
หลำเซียงเหา[2] (南昌侯 หนานชางโหว)
(ภายใต้จักรวรรดิฮั่น)
ดำรงตำแหน่งธันวาคม ค.ศ. 219 – 23 กันยายน ค.ศ. 221
ประสูติค.ศ. 183 [a]
จักรวรรดิฮั่น
สวรรคต21 พฤษภาคม ค.ศ. 252(252-05-21) (68–69 ปี)[a]
เกียนเงียบ ง่อก๊ก
ฝังพระศพเขาจื่อจิน
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
(กับคนอื่น ๆ)
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫 ซุน)
ชื่อตัว: กวน (權 เฉฺวียน)
ชื่อรอง จ้งโหมว (仲謀)
รัชศก
พระสมัญญานาม
ไต้ฮ่องเต้[4] (大皇帝 ต้าหฺวางตี้)
วัดประจำรัชกาล
ไท่จู่ (太祖)
ราชวงศ์ง่อก๊ก
พระราชบิดาซุนเกี๋ยน
พระราชมารดางอฮูหยิน
ซุนกวน
ชื่อของซุนกวนในอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม孫權
อักษรจีนตัวย่อ孙权

ซุนกวนเกิดในขณะที่ซุนเกี๋ยนผู้บิดาทำงานเป็นปลัดเมืองแห้ฝือ ภายหลังจากที่ซุนเกี๋ยนเสียชีวิตในช่วงต้นทศวรรษที่ 190 ซุนกวนและครอบครัวอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซี จนกระทั่งซุนเซ็กผู้เป็นพี่ชายแยกตัวออกจากอ้วนสุด จัดตั้งระบอบขุนศึกขึ้นในภูมิภาคกังตั๋งในปี ค.ศ. 194 โดยการสนับสนุนจากผู้ติดตามและกลุ่มตระกูลในท้องถิ่นผู้จงรักภักดีจำนวนหนึ่ง เมื่อซุนเซ็กถูกลอบสังหารโดยผู้ติดตามของเค้าก๋อง (許貢) ในปี ค.ศ. 200 ซุนกวนขณะอายุ 18 ปีได้รับมรดกที่ดินทางตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำแยงซีจากพี่ชาย การปกครองของซุนกวนค่อนข้างมั่นคงในช่วงปีแรก ๆ โดยขุนนางอาวุโสส่วนใหญ่ของซุนเกี๋ยนและซุนเซ็ก เช่น จิวยี่ เตียวเจียว เตียวเหียน และเทียเภาสนับสนุนการสืบทอดตำแหน่ง ดังนั้นตลอดช่วงทศวรรษที่ 200 ซุนกวนภายใต้การดูแลของที่ปรึกษาที่มีความสามารถของพระองค์ยังคงสร้างความแข็งแกร่งไปตามแม่น้ำแยงซี ในต้นปี ค.ศ. 207 ในที่สุดกองกำลังของพระองค์ก็ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์เหนือหองจอ เจ้าเมืองกังแฮผู้นำทางทหารภายใต้เล่าเปียวเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว ซึ่งครองอำนาจทางตอนกลางของแม่น้ำแยงซี หองจอถูกสังหารในสนามรบ

ในช่วงฤดูหนาวของปีนั้น โจโฉนำกองทัพประมาณ 220,000 นายมุ่งหน้าลงใต้เพื่อรวมชาติให้สำเร็จ สองกลุ่มที่แตกต่างกันได้ปรากฏตัวขึ้นที่ราชสำนักของพระองค์เพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร ฝ่ายหนึ่งนำโดยเตียวเจียว เรียกร้องให้ยอมจำนน ในขณะที่อีกฝ่ายนำโดยจิวยี่และโลซกคัดค้านการยอมจำนน ในที่สุด ซุนกวนก็ตัดสินใจต่อต้านโจโฉในตอนกลางของแม่น้ำแยงซีด้วยกองกำลังทางแม่น้ำที่เหนือกว่า เป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ และใช้กลยุทธ์ร่วมกันของจิวยี่และอุยกายพวกเขาเอาชนะโจโฉอย่างเด็ดขาดในยุทธนาวีที่ผาแดง

ในปี ค.ศ. 220 หลังจากการเสียชีวิตของโจโฉ โจผีบุตรชายและผู้สืบทอดของโจโฉได้ยึดราชบัลลังก์และปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้ ประกาศตนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ สิ้นสุดการปกครองในนามของราชวงศ์ฮั่น ในตอนแรก ซุนกวนดำรงตำแหน่งขุนนางของวุยก๊กด้วยตำแหน่งเงาอ๋องที่มอบให้โดยวุยก๊ก แต่หลังจากที่โจผีเรียกร้องให้ส่งซุนเต๋งบุตรชายไปเป็นตัวประกันที่เมืองหลวงของวุยก๊กคือลกเอี๋ยง แต่ซุนกวนปฏิเสธ ในปี ค.ศ. 222 ซุนกวนประกาศเอกราชโดยเปลี่ยนชื่อศักราช แต่ยังไม่ประกาศตนเป็นจักรพรรดิ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 229 จึงสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของซุนเต๋ง องค์รัชทายาทองค์แรก สองฝ่ายคู่ขัดแย้งที่สนับสนุนทายาทที่มีศักยภาพต่างกันก็ค่อย ๆ ปรากฏตัวขึ้น เมื่อซุนโฮ ซึ่งสืบทอดตำแหน่งในฐานะองค์รัชทายาทองค์ใหม่ พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากลกซุนและจูกัดเก๊ก ในขณะที่คู่แข่งของพระองค์อย่างซุน ป้า (孫霸) ได้รับการสนับสนุนจากจวนจ๋องและเปาจิด และตระกูลของพวกเขา จากการแย่งชิงอำนาจภายในที่ยืดเยื้อ ข้าราชการจำนวนมากถูกประหารชีวิต และซุนกวนได้ตัดสินพระทัยเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายอย่างรุนแรงด้วยการปลดซุนโฮออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาทและเนรเทศ และบีบบังคับให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม ซุนกวนสวรรคตในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 795 เมื่อมีพระชนมพรรษา 70 พรรษา(ตามการคำนวณของเอเชียตะวันออก) พระองค์ทรงครองราชย์ได้ยาวนานที่สุดในบรรดาผู้ก่อตั้งสามก๊ก และซุนเหลียง พระราชโอรสองค์เล็กของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์

จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) ได้กล่าวถึงซุนกวนว่า เป็นบุรษร่างสูงที่มีตาประกายเจิดจ้า และใบหน้ารูปคางเหลี่ยม ป็นที่รู้จักกันในฐานะคนฉลาดและเข้ากับคนง่าย ชื่นชอบเล่นมุกตลกและเล่นกล เนื่องจากทักษะของเขาในการประเมินความแข็งแกร่งของผู้ใต้บังคับบัญชาและหลีกเลี่ยงข้อบกพร่อง เช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อพวกเขาประดุจดังครอบครัว ซุนกวนจึงสามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลที่มีความสามารถได้ จุดแข็งเบื้องต้นนี้ได้ให้ประโยชน์เป็นอย่างดีในการได้รับสนับสนุนจากบุคคลทั่วไปและล้อมรอบตัวพระองค์เต็มไปด้วยขุนพลที่มีความสามารถ

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

จดหมายเหตุสามก๊กกล่าวว่าซุนเกี๋ยนเป็นลูกหลานของซุนวู (เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า ซุนจื่อ) นักการทหารในช่วงยุควสันตสารทและผู้เขียนตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (ซุนจื่อปิงฝ่า - 孙子兵法) ซุนกวนเกิดใน พ.ศ. 725 ในขณะที่ซุนเกี๋ยน บิดาของเขายังเป็นข้าราชการระดับล่างของราชวงศ์ฮั่น เขาเป็นบุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยนกับงอฮูหยิน ซุนกวนมีพี่น้องสามคนคือ ซุนเซ็ก ซุนเซียง และซุนของ และน้องสาวคนสุดท้อง(ตัวตนของนางไม่ได้ถูกบันทึก)

ใน พ.ศ. 727 สองปีหลังจากซุนกวนเกิด เกิดเหตุการณ์กบฎโพกผ้าเหลืองที่นำโดยจางเจวี๋ยซึ่งลุกลามไปทั่วทั้งแผ่นดิน ซุนเกี๋ยนได้เข้าร่วมกับขุนพลนามว่า จูฮี เพื่อปราบกบฎและพาครอบครัวของเขาให้อยู่ในเมืองซิ่วซุน เมื่อซุนเซ็ก พี่ชายของซุนกวนได้พบกับจิวยี่ ใน พ.ศ. 732 ซุนเซ็กได้ตัดสินใจพางอฮูหยิน ผู้เป็นมารดาและเหล่าน้องชายไปยังอำเภอฉู่ บ้านเกิดของจิวยี่ ที่นั่น ครอบครัวตระกูลซุนจึงมีความคุ้นเคยกับจิวยี่

ภายหลังซุนเกี๋ยนเสียชีวิตใน พ.ศ. 734 ครอบครัวตระกูลซุนได้ย้ายไปยังเจียงตูอีกครั้งเพื่อไว้ทุกข์ให้กับเขา สองปีต่อมา ซุนเซ็กได้ตัดสินใจเข้าร่วมกองทัพของอ้วนสุด ดังนั้นเขาจึงสั่งให้ลิห้อมพาสมาชิกในครอบครัวของเขาไปที่บ้านของงอเก๋ง ผู้เป็นน้าญาติฝ่ายมารดาในตันหยาง อย่างไรก็ตาม เล่าอิ้ว ผู้ว่าราชการมณฑลแห่งหยางโจวรู้สึกโกรธเคือง เมื่อซุนเซ็กและอ้วนสุดสามารถเอาชนะลิกอง ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งลูเจียง ใน พ.ศ. 737 เขารู้สึกกังวลว่าพวกเขาจะโจมตีตนมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงขับไล่งอเก๋งออกจากเมืองตันหยาง เนื่องจากซุนกวนและมารดาของเขายังอยู่ในดินแดนของเล่าอิ้ว จูตีจึงส่งคนไปช่วยเหลือพวกเขา ซุนกวนและมารดาของเขาได้ย้ายไปยังฟู่หลิงในภายหลัง

เมื่อซุนเซ็กสามารถเอาชนะเล่าอิ้ว ใน พ.ศ. 738 เขาจึงสั่งให้ Chen Bao ไปพาครอบครัวกลับมาที่ตันหยาง เมื่อซุนกวนเติบโต เขาได้รับใช้พี่ชายของเขาในช่วงการพิชิตดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี เขาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอหยางเซียนใน พ.ศ. 739 เมื่อมีพระชนม์พรรษาได้ 14 พรรษา และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพี่ชายของเขาได้มอบหมายงานที่สำคัญมากขึ้น ๆ เนื่องจากเขาได้หลงใหลในการรวบรวมผู้ติดตามอย่างพัวเจี้ยงและจิวท่าย ชื่อเสียงของเขาเกือบจะเทียบเท่ากับบิดาและพี่ชายของพระเขาในไม่ช้า จูเหียนและหูซง เป็นบุรุษที่เขาได้พบกันในสมัยเรียนหนังสือด้วยกัน ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีของอู๋ตะวันออก เขาเป็นที่โปรดปรานของซุนเซ็ก พี่ชายของตนผู้ซึ่งกล่าวว่าเขาจะส่งมอบคนของเขาให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของซุนกวนในอนาคต ใน พ.ศ. 742 ซุนกวนได้รับเลื่อนยศเป็นนายทหารระดับพันเอก(校尉) และติดตามพี่ชายในการพิชิตลู่เจียงและหยูจาง ในขณะที่โจโฉพยายามที่จะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับซุนเซ็ก ทั้งซุนกวนและซุนเซียง น้องชายคนเล็กของเขาได้รับเชิญให้มาเป็นข้าราชการในซูชาง แต่พวกเขากลับปฏิเสธ

สืบทอดตำแหน่งต่อจากซุนเซ็ก

แก้

ซุนเซ็กถูกลอบสังหารใน พ.ศ. 743 ระหว่างการล่าสัตว์ ในขณะที่ใกล้จะสิ้นใจ เขาตระหนักดีว่าบุตรชายของตนเองยังเด็กเกินไปที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นทายาทที่แท้จริง ดังนั้นเขาจึงมอบความไว้วางใจแก่ซุนกวนในวัย 18 ปีกับลูกน้องที่ซื่อสัตย์ของเขาในช่วงแรก ซุนกวนรู้สึกโศกเศร้าอาลัยถึงการตายของพี่ชายจนไม่สามารถหยุดร้องไห้ไว้ได้ แต่ด้วยคำสั่งของเตียวเจียว เขาจึงสวมชุดเกราะทหารและออกเดินตรวจเยี่ยมเหล่าผู้บัญชาการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพี่ชาย ผู้ใต้บังคับบัญชาของซุนเซ็กหลายคนต่างคิดว่า ซุนกวนดูยังเด็กเกินไปที่จะรักษาดินแดนแคว้นของซุนเซ็กไว้ได้และต้องการจะตีจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Li Shu ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งลู่เจียง ได้แปรพักตร์ให้กับโจโฉ ซุนกวนได้เขียนสารไปถึงโจโฉเพื่อแจ้งการก่ออาชญากรรมของ Li Shu จากนั้นนำกองทัพไปปราบ Li Shu และยึดลู่เจียงคืน

เตียวเจียวและจิวยี่ได้มองเห็นคุณสมบัติในตัวชายหนุ่มและเลือกที่จะอยู่รับใช้ซุนกวน เตียวเหียนซึ่งก่อนหน้านี้ ซุนเซ็กได้ส่งไปเป็นผู้คอยประสานงานกับขุนศึกโจโฉ ยังเดินทางกลับมาจากดินแดนแคว้นของโจเพื่อช่วยเหลือแก่ซุนกวน ตามคำร้องของเตียวเหียน โจโฉในนามของพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งถูกควบคุมโดยโจโฉในเวลานั้น ได้แต่งตั้งให้ซุนกวนเป็นขุนพลโจมตีชนเผ่า(討虜將軍) ซึ่งเป็นชื่อที่เขาคงจะรู้จักมาเนิ่นนาน เขาตั้งใจฟังคำพูดให้กำลังใจของงอฮูหยิน ผู้เป็นมารดา และไว้วางใจแก่เตียวเจียวและเตียวเหียนอย่างมากในด้านกิจการภายใน และจิวยี่ เทียเภา และลิห้อมในด้านการทหาร ซุนกวนยังค้นหาบุรุษที่มีความสามารถเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของเขา และในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ผูกมิตรกับโลซกและจูกัดกิ๋น ซึ่งต่อมาจะมีบทบาทที่สำคัญในการบริหารของเขา นอกจากนี้ทั้งลกซุน เปาจิด โกะหยง Shi Yi เหยียมจุ้น ชีเซ่ง และจูหวนก็กลายเป็นลูกน้องของเขาเช่นกัน ตลอดช่วงเวลานี้และอีกหลายทศวรรษที่จะมาถึง ความเป็นผู้นำของซุนกวนจะมีลักษณะพิเศษคือความสามารถในการค้นหาบุคคลที่มีลักษณะนิสัยและมอบไว้วางใจในเรื่องที่สำคัญให้กับเขา และความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว

ในอีกหลายปีข้างหน้า ซุนกวนมีความสนใจอย่างมากที่จะขยายอำนาจต่อต้านชนเผ่าซานเยว่ ซึ่วเป็นชาวเขาที่ควบคุมทางตอนใต้สุดของจีน และอยู่นอกขอบเขตของรัฐบาลฮั่น เพื่อรับประกันดินแดนแคว้นของเขา วุนกวนได้เปิดฉากการทัพต่อต้านชนเผ่าซานเยว่ ใน พ.ศ. 749 เขาสามารถพิชิตป้อมปราการของชนเผ่าซานเยว่ใน Matun และ Baodun และจับกุมเชลยศึกได้มากกว่า 10,000 นาย นอกจากนี้เขาได้ค่อย ๆ พยายามคอยรังควานและทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่สำคัญของเล่าเปียวนามว่า หองจอ (ผู้ควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนแคว้นของเล่าเปียว) อ่อนแอลง - โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากหองจอได้สังหารบิดาในการรบ เขาทำสงครามกับหองจอถึงสองครั้งใน พ.ศ. 746 และ พ.ศ. 750 ใน พ.ศ. 751 ในที่สุด เขาก็สามารถเอาชนะและสังหารหองจอในการสู้รบได้ และเป็นผลให้เขาได้รับดินแดนส่วนใหญ่ของกังแฮ ภายหลังจากนั้นไม่นาน เล่าเปียวได้ถึงแก่อสัญกรรม ในขณะที่โจโฉกำลังเตรียมการทัพครั้งใหญ่เพื่อปราบปรามทั้งเล่าเปียวและซุนกวนภายใต้การควบคุมของเขา ทำให้เกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก

แก้
 
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นถึงรถม้าศึกและทหารม้าจากสุสานต้าหูถิง(打虎亭漢墓) ของช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220), ตั้งอยู่ในเจิ้งโจว, มณฑลเหอหนาน

ในช่วงปลาย พ.ศ. 751 ภายหลังจากเล่าเปียวถึงแก่อสัญกรรม เกิดศึกแย่งชิงตำแหน่งผู้ครองแคว้นเกงจิ๋วระหว่างเล่ากี๋ บุตรชายที่เกิดจากภรรยาคนแรกกับเล่าจ๋อง บุตรชายคนเล็กที่เกิดจากภรรยาคนที่สองนามว่า ซัวฮูหยิน ที่เล่าเปียวโปรดปราน ภายหลังการเสียชีวิตของหองจอ เล่ากี๋จึงได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกังแฮแทนหองจอ เล่ากี๋จึงสืบทอดตำแหน่งผู้ครองแคว้นเกงจิ๋วต่อจากบิดาหลังถึงแก่อสัญกรรมด้วยการสนับสนุนของซัวฮูหยินผู้เป็นมารดาและซัวมอ ผู้เป็นน้องชายของซัวฮูหยินและลุงของเล่าจ๋อง เมื่อเล๋ากี๋ทราบเข้าก็ไม่พอใจและคิดที่จะเข้าโจมตีน้องชายของตนเพื่อแย่งชิงตำแหน่ง แต่ก็ต้องล้มเลิกไป อย่างไรก็ตาม เล่าจ๋องเกรงกลัวที่จะต้องต่อสู้รบกับทั้งโจโฉและพี่ชายของตนในศึกสองด้าน จึงตัดสินใจยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉโดยไม่ฟังคำแนะนำของเล่าปี่ พันธมิตรคนสำคัญของเล่าเปียว เล่าปี่ไม่เต็มใจที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉจึงหนีไปทางใต้ โจโฉไล่ติดตามและบดขยี้กองกำลังของเล่าปี่ แต่เล่าปี่รอดชีวิตมาได้ เขาหนีไปยังตันหยาง โจโฉเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกงจิ๋ว และดูเหมือนใกล้จะรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

ซุนกวนรับรู้ถึงความตั้งใจของโจโฉเป็น เขาจึงจับมือเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่และเล๋ากี๋เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต้านทานโจมตีของโจโฉ โจโฉได้เขียนสารถึงซุนกวนโดยตั้งใจที่จะข่มขู่ และเผชิญหน้ากองกำลังอันมหาศาลของโจโฉ (ประเมินว่ามีกำลังพลโดยประมาณ 220,000 นาย แม้ว่าโจโฉได้กล่าวอ้างว่ามีประมาณ 800,000 นาย ปะทะกับกองทัพของซุนกวน 30,000 นาย และกองทัพเล่าปี่จำนวน 10,000 นายที่ผสมรวมกัน) เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนของซุนกวน รวมทั้งเตียวเจียวได้สนับสนุนให้ยอมสวามิภักดิ์ ซุนกวนได้ปฏิเสธภายใต้คำแนะนำของจิวยี่และโลซกว่าโจโฉจะไม่ยินยอมให้เขายอมสวามิภักดิ์อย่างแน่นอน

ซุนกวนได้มอบหมายให้จิวยี่คุมกองกำลังทหารจำนวน 30,000 นาย ซึ่งส่วนใหญ่ประจำการอยู่บนเรือรบ และจิวยี่ได้เข้าประจำตำแหน่งป้องกันร่วมกับเล่าปี่ซึ่งกองทัพของเขาตั้งมั่นอยู่บนบก ในช่วงเวลานี้ เกิดโดรคระบาดในกองทัพโจโฉซึ่งทำให้อ่อนแอลงอย่างมาก จิวยี่ได้วางแผนกลอุบายโดยเสแสร้งลงโทษอุยกาย ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา และอุยกายแสร้งทำเป็นว่าจะยอมสวามิภักดิ์จนโจโฉหลงเชื่อสนิท จากนั้นจิวยี่ได้ส่งเรือบรรทุกกองฟางซึ่งเป็นเชื้อเพลิงภายใต้คำสั่งของอุยกายให้แล่นเรือไปยังกองเรือของโจโฉโดยแสร้งว่า อุยกายจะส่งมอบเสบียงอาหารให้แก่โจโฉเพื่อเป็นการแสดงถึงการยอมสวามิภักดิ์ เมื่อเรือบรรทุกกองฟางของอุยกายเข้าใกล้กองเรือของโจโฉ พวกเขาจุดไฟเผาและแล่นเรือพุ่งชนกองเรือของโจโฉจนไฟลุกลามไปทั่ว ทำให้กองเรือของโจโฉถูกทำลายอย่างย่อยยับ โจโฉต้องนำกองกำลังส่วนหนึ่งหนีไปทางบก แต่กองกำลังส่วนใหญ่ถูกทำลายโดยกองกำลังทางบกของซุนกวนและเล่าปี่

การเป็นพันธมิตรอันขมขื่นกับเล่าปี่

แก้
 
รูปปั้นซุนกวน

ทันทีที่โจโฉล่าถอยกลับไปแล้ว ซุนกวนก็เข้ายึดพื้นที่ตอนเหนือครึ่งหนึ่งของแคว้นเกงจิ๋ว ส่วนเล่าปี่เดินทางลงใต้และเข้ายึดพื้นที่ทางตอนใต้ครึ่งหนึ่ง พันธมิตรระหว่างซุน-เล่าได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นโดยการวิวาห์สมรสระหว่างเล่าปี่กับซุนฮูหยิน ผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของซุนกวน อย่างไรก็ตาม จิวยี่เคลือบแคลงสงสัยในความตั้งใจของเล่าปี่และแนะนำให้ซุนกวนจับเล่าปี่และกักบริเวณภายในตำหนัก (แม้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี) และกองกำลังของเขาจะถูกรวมเข้ากับกองทัพของซุนกวน ซุนกวนเชื่อว่า กองกำลังของเล่าปี่จะก่อการกบฎ หากเขาทำเช่นนั้นจึงปฏิเสธ ซุนกวนเห็นด้วยกับแผนการของจิวยี่ ที่จะเข้าโจมตีเล่าเจี้ยงและเตียวฬ่อ (ที่ควบคุมพื้นที่มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เพื่อหมายจะพยายามยึดครองดินแดนของพวกเขา แต่ภายหลังจากจิวยี่ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 753 แผนการดังกล่าวได้ถูกยกเลิก อย่างไรก็ตาม ซุนกวนสามารถเกลี้ยมกล่อมขุนศึกในแคว้นเกียวจิ๋วยอมสวามิภักดิ์ต่อเขาได้ และพวกเขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแคว้นของเขา จากนั้นเขาได้มอบพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือของเกงจิ๋วให้กับเล่าปี่เช่นกัน โดยเห็นพ้องกับเล่าปี่ว่า ทางใต้คงจะไม่เพียงพอที่จะจัดหากองกำลังทหารของเขาได้ ในเวลาเดียวกัน ซุนกวนได้แต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชานามว่า เปาจิด เป็นผู้ตรวจการ(刺史)แห่งเกียวจิ๋วแทนล่ายกง ซื่อเซี่ยได้นำผู้ติดตามของตนเข้ามายอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจปกครองของเปาจิด

ใน พ.ศ. 754 ซุนกวนได้ย้ายกองบัญชาการจาก Dantu ไปยังเมืองโม่หลิง และในปีถัดมา เขาได้สร้างกำแพงขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนชื่อเมืองว่า เกี๋ยนเงียบ(เจี้ยนเยี่ย) พื้นที่แห่งใหม่นี้ทำให้เขาสามารถควบคุมแม่น้ำแยงซีได้ดีและสื่อสารกับผู้บัญชาการทหารคนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น เขายังสร้างป้อมปราการที่ปากน้ำยี่สู(Ruxu) เนื่องจากลิบองคาดการณ์ว่าโจโฉจะเข้ารุกรานจากที่นั่น

การรุกรานที่ลิบองคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น เมื่อต้นปี พ.ศ. 756 ซุนกวนนำกองทัพไปที่นั่นเป็นการส่วนตัวเพื่อต้านทางโจโฉ และอาศัยป้อมปราการอันแข็งแกร่งที่ลิบองสร้างขึ้นเพื่อให้ทหารของเขามีตำแหน่งในการป้องกันที่แข็งแกร่ง มีอยู่ช่วงหนึ่ง โจโฉพยายามส่งกองทัพเรือข้ามแม่น้ำเพื่อทำลายแนวรบของซุนกวน แต่กองเรือของซุนกวนเองได้ทำการล้อมและทำลายพวกเขา ซุนกวนขึ้นเรือใหญ่แล่นเรือเข้าใกล้ค่ายทหารของโจโฉที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำแยงซีเพื่อสังเกตการณ์ของศัตรู โจโฉรู้สึกประทับใจในระเบียบวินัยของทหารฝ่ายตรงข้ามอย่างมาก จึงกล่าวว่า มีบุตรชาย ต้องให้ได้อย่างซุนกวนและไม่ได้เปิดฉากการโจมตีในครั้งนี้ ซุนกวนได้สั่งให้มีการเล่นดนตรีบนเรือและแล่นเรือกลับไปยังค่ายของตนอย่างปลอดภัย ในที่สุด การปกป้องของลิบองยังคงยืนหยัดและซุนกวนเขียนสารไปถึงโจโฉเพื่อเตือนว่า น้ำหลากในช่วงฝนตกในฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมาในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โจโฉจำเป็นต้องรับฟังคำแนะนำและล่าถอยกลับไป

ภายหลังจากโจโฉพ่ายแพ้ที่ปากน้ำยี่สู ราษฏรจำนวนมากตามแม่น้ำแยงซีได้หนีลงใต้เพื่อเข้าร่วมกับซุนกวน ยกเว้นอำเภอฮวนเสียและพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่นี้จึงถูกทิ้งร้าง ใน พ.ศ. 757 โจโฉได้ส่งบุคคลหนึ่งนามว่า จูกวง(จูก๋ง) ด้วยคำสั่งให้ฟื้นฟูภูมิภาคและให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของโจโฉ จูกวงริเริ่มโครงการเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง และเขายังปลุกระดมกลุ่มโจรและประชาชนที่ไม่พอใจให้ก่อการกำเริบในดินแดนซุนกวน ลิบองเกรงกลัวว่าหากโครงการของจูกวงประสบความสำเร็จ จะทำให้ข้าศึกทวีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ยากเกินกว่าจะต้านทาน และเร่งเร้าให้โจมตีผลักดันออกไปโดยเร็ว ซุนกวนจึงทำตามแผนการของลิบองและใช้น้ำท่วมตามฤดูกาลเพื่อเดินทางเข้าเมืองด้วยทางเรือ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว แทนที่จะทำการปิดล้อมเป็นเวลายาวนาน ลิบอง กำเหลง และเล่งทองนำเข้าโจมตีอย่างรวดเร็วและบุกทะลวงแนวป้องกันของจูกวงและยึดเมืองไว้ได้

ภายหลังเล่าปี่พิชิตแคว้นเอ๊กจิ๋ว เขาสามารถจัดหากองกำลังของเขาด้วยตัวเองได้ ดังนั้นซุนกวนจึงส่งโลกซกเป็นทูตเพื่อทวงคืนเกงจิ๋ว แต่เล่าปี่ได้ปฏิเสธ ซุนกวนจึงส่งลิบองและเล่งทองนำกองกำลัง 20,000 นาย เข้าโจมตีเกงจิ๋วทางตอนใต้ และพวกเขาเข้ายึดสามเมือง ได้แก่ เตียงสา(Changsha) กุยเอี๋ยง(Guiyang) และเลงเหลง(Lingling) ได้สำเร็จ ในขณะที่โลซกและกำเหลงได้เข้ารุกสู่อี้หยาง (益陽) ด้วยกองกำลัง 10,000 นาย (เพื่อสกัดกั้นกวนอู) และเข้าควบคุมกองทัพที่ด่านลกเค้า(陸口) เล่าปี่ได้ไปที่อำเภอกังอั๋น และกวนอูนำกองกำลัง 30,000 นาย ไปยังอี้หยาง เมื่อสงครามทั้งหมดใกล้จะปะทุ เล่าปี่ได้รับรู้ข่าวว่าโจโฉวางแผนที่จะเข้าโจมตีฮั่นตงและเรียกร้องทำสนธิสัญญาชายแดนกับซุนกวน ในขณะที่เขามีความกังวลว่าโจโฉจะเข้ายึดฮั่นตงได้ เล่าปี่ขอให้ซุนกวนคืนเมืองเลงเหลงมาให้กับตนและให้นำกองทัพเข้าโจมตีหับป๋า(เหอเฝย์) เพื่อทำให้โจโฉไขว้เขว เล่าปี่ได้ทำการยกเมืองเตียงสาและกุยเอี๋ยงให้กับซุนกวน โดยตั้งเขตชายแดนใหม่ตามแนวแม่น้ำเซียง การโจมตีหับป๋าของซุนกวนกลายเป็นหายนะ เขาเกือบที่จะถูกจับกุมในคราวเดียว ถ้าไม่ได้เล่งทองช่วยชีวิตเอาไว้

ใน พ.ศ. 760 โจโฉนำกองทัพใหญ่เข้าโจมตีที่ปากแม่น้ำยี่สูอีกครั้ง ซุนกวนนำกองกำลัง 70,000 นายเพื่อป้องกันเมืองด้วยตนเอง แม้ว่าเขาจะมอบอำนาจสั่งการบัญชาการรบที่แท้จริงให้กับลิบองก็ตาม เป็นการทัพที่ดุเดือด และภายหลังหลายสัปดาห์ของการสู้รบอันทรหด การป้องกันของลิบองยังคงยืนหยัด และน้ำหลากในฤดูใบไม้ผลิทำให้โจโฉต้องล่าถอยกลับอีกครั้ง

ถึงกระนั้น นี่ไม่ใช่ชัยชนะที่สมบูรณ์ กองทัพส่วนใหญ่ของโจโฉยังคงอยู่ และเขามีกองกำลังขนาดใหญ่ภายใต้การนำของแฮหัวตุ้น ตั้งอยู่ทางเหนือของตำแหน่งของซุนกวน สิ่งนี้ส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ที่เข้าจนมุม ซึ่งตราบใดที่ซุนกวนยังให้กองทัพรักษาการณ์ที่ปากแม่น้ำยี่สู แฮหัวตุ้นก็ไม่สามารถบุกทะลวงเข้ามาได้ แต่เมื่อไหร่ที่ซุนกวนดึงกำลังทหารออกจากปากแม่น้ำยี่สู แฮหัวตุ้นก็จะสามารถบุกทะลวงเข้ามาได้เมื่อนั้น นอกจากนี้กองกำลังของแฮหัวตุ้นมีขนาดใหญ่มากมายและมีฐานที่มั่นที่ดีเกินไปเกินกว่าจะขับไล่ออกไปได้ ซุนกวนจึงไม่มีทางเลือกสำหรับทางทหาร ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจโดยใช้วิธีทางการทูต ใน พ.ศ. 760 ซุนกวนได้จับมือเป็นพันธมิตรกับโจโฉ โดยยอมรับว่าเขาเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของรัฐบาลส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่น แม้ว่านี่จะเป็นการยอมสวามิภักดิ์อย่างเป็นทางการ แต่โจโฉรู้ดีว่า ซุนกวนคงจะไม่พอใจที่จะต้องถูกปฏิบัติเยี่ยงลูกน้อง ดังนั้นเขาได้รับรองตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหมดที่ซุนกวนอ้างสิทธิในตนเองและควบคุมดินแดนที่เขาถือครองอย่างเป็นทางการ ซุนกวนได้รับอนุญาตให้ปกครองตนเองต่อไป แต่ปัจจุบันยังคงเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของโจโฉอย่างเป็นทางการ

การแตกหักของการเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่

แก้

ใน พ.ศ. 762 กวนอูเข้ารุกขึ้นเหนือ โจมตีเมืองอ้วนเสีย(ฝานเฉิง) สามารถเอาชนะต่อโจหยินมาได้ ใขณะที่เมืองอ้วนเสียยังไม่ถูกตีแตกในเวลานี้ กวนอูได้ทำการปิดล้อมและสถานการณ์กลับดูเลวร้ายมากพอที่โจโฉคิดที่จะย้ายเมืองหลวงออกจากนครฮูโต๋ อย่างไรก็ตาม ซุนกวนซึ่งไม่พอใจต่อกวนอูที่คอยตั้งตนเป็นศัตรูกับตนอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้(รวมทั้งยังยึดเสบียงอาหารของซุนกวนเพื่อใช้ในการทัพขึ้นเหนือ) จึงใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีตลบหลังกวนอู และกองกำลังของกวนอูถูกทำลายจนย่อยยับ กวนอูถูกจับกุมโดยลิบองและเจียวขิม กวนอูถูกประหารชีวิต แคว้นเกงจิ๋วอยู่ภายใต้การควบคุมของซุนกวน และการเป็นพันธมิตรระหว่างเล่า-ซุนได้สิ้นสุดลง

ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของโจโฉใน พ.ศ. 763 โจผี ทายาทของโจโฉบีบบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนสละราชบังลังก์และมอบให้แก่เขา เป็นสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นและก่อตั้งรัฐเฉาเว่ย์(วุยก๊ก) ซุนกวนไม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเฉาเว่ย์หรือประกาศเป็นเอกราชทันทีภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าโจผี แต่คอยดูท่าที่ไปก่อน ในทางตรงกันข้าม ในช่วงต้นปี พ.ศ. 764 เล่าปี่ได้ประกาศตั้งตนเป็นพระจักรพรรดิโดยก่อต้งรัฐฉู่ฮ่น(จ๊กก๊ก) ไม่นานนัก พระเจ้าเล่าปี่ได้วางแผนการทัพโจมตีซุนกวนเพื่อล้างแค้นให้กับกวนอู ด้วยความพยายามที่จะทำข้อตกลงสงบศึกและไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากพระเจ้าเล่าปี่ ด้วยความกลัวว่าจะถูกโจมตีจากสองฝ่าย ซุนกวนจึงกลายเป็นข้าราชบริพานของรัฐเฉาเว่ย์ เล่าหัว นักวางแผนยุทธศาสตร์ของพระเจ้าโจผีได้เสนอว่า พระเจ้าโจผีควรปฏิเสธ และในความเป็นจริง การโจมตีซุนกวนในแนวรบที่สอง เป็นการแบ่งดินแดนแคว้นของซุนกับรัฐฉู่ฮ่น และต้องการที่จะทำลายรัฐฉู่ฮั่นในที่สุดเช่นกัน พระเจ้าโจผีได้ปฏิเสธในทางเลือกระหว่างความเป็นความตายที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ดินแดนอาณาจักรของเขาถึงวาระที่จะปกครองเฉพาะทางเหนือและภาคกลางของจีน และโอกาศนี้จะไม่มีอีกแล้ว ตามคำแนะนำของเล่าหัวในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 764 พระองค์ได้แต่งตั้งให้ซุนกวนเป็นกษัตริย์แห่งอู๋และมอบสิทธิ์เก้าประการแก่เขา

ใน พ.ศ. 765 ในศึกอิเหลง ขุนพลของซุนกวนนามว่า ลกซุน สามารถเอาชนะพระเจ้าเล่าปี่จนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับจนล่าถอยกลับไป ฉู่ฮั่นไม่เป็นภัยคุกคามต่อซุนกวนอีกต่อไปนับจากนั้นเป็นต้นมา ต่อมาในปีนั้น พระเจ้าโจผีได้เรียกร้องให้ส่งซุนเต๋งไปยังลั่วหยาง เมืองหลวงของรัฐเฉาเว่ย์ในฐานะองค์ประกัน ซุนกวนได้ปฏิเสธและประกาศเอกราช(โดยเปลี่ยนนามศักราช) จึงก่อตั้งรัฐอู๋ตะวันออกเป็นรัฐอิสระ โจผีเปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ต่ออู๋ แต่ภายหลังจากเฉาเว่ย์พ่ายแพ้ในช่วง ต้นปี พ.ศ. 776 ได้ปรากฎเห็นชัดว่า รัฐอู๋ยังปลอดภัย ภายหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเล่าปี่ ในปีต่อมา จูกัดเหลียง น้องชายของจูกัดกิ๋น ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าเล่าเสี้ยน พระราชโอรสของพระเจ้าเล่าปี่ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับซุนกวนอีกครั้ง และทั้งสองรัฐยังคงเป็นพันธมิตรกันจนกระทั่งรัฐฉู่ฮ่นถูกทำลายในที่สุด ใน พ.ศ. 806

รัชสมัยช่วงต้น

แก้

วัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

ภาพยนตร์

แก้

เรื่อง สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ(Red Cliff) ทั้งสองภาค ซึ่งเล่าถึงศึกเซ็กเพ็กหรือศึกผาแดง ผู้ที่รับบทแสดงเป็นซุนกวนคือ ฉางเฉิน

ละครโทรทัศน์

แก้

ละครเรื่องสามก๊กในปี 1994 นักแสดงผู้รับบทเป็นซุนกวนคือ อู๋ เสี่ยวตง

ละครเรื่องสามก๊กในปี 2010 นักแสดงผู้รับบทเป็นซุนกวนคือ จาง ป๋อ เปิน

หมายเหตุ

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 เจี้ยนคางฉือลู่ (建康實錄) บันทึกว่า จักรพรรดิซุนกวนสวรรคตในวันอี่เว่ย์ (乙未) เดือนที่ 4 ศักราชไท่-ยฺเหวียน (太元) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252 ตามปฏิทินจูเลียน เจี้ยนคางฉือลู่ยังบันทึกว่าพระศพถูกฝังในเดือนที่ 7 ของปีเดียวกัน พระองค์ขึ้นเป็นเงาอ๋องขณะพระชนมายุ 40 พรรษา และครองราชย์ 7 ปี ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กขณะพระชนมายุ 47 พรรษาและครองราชย์ 24 ปี และสวรรคตขณะพระชนมายุ 70 พรรษา (ตามการนับอายุแบบตะวันออก)[3] ปีสวรรคตของพระองค์ตรงกับ ค.ศ. 252 ในขณะที่เดือน 7 ศักราชไท่-ยฺเหวียนปีที่ 2 เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 22 สิงหาคมถึง 20 กันยายน ค.ศ. 252 ตามปฏิทินกริกอเรียน เนื่องจากพระองค์มีพระชนมายุ 69 พรรษาขณะสวรรคตใน ค.ศ. 252 คำนวณปีพระราชสมภพได้เป็น ค.ศ. 182 ในแต่บทชีวประวัติซุนกวนในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าพระองค์มีพระชนมายุ 71 พรรษา (ตามการนับอายุแบบตะวันออก) ขณะสวรรคตเมื่อเดือน 4 ศักราชไท่-ยฺเหวียนปีที่ 2

อ้างอิง

แก้
  1. ("พระเจ้าโจผีทรงพระสรวลแล้วว่า เตียวจี๋คนนี้มีสติปัญญาดีนัก นายใช้ให้เปนทูตมา ก็เจรจาอาจหาญยกย่องสรรเสริญนายให้มีเกียรติยศดังนี้ สมควรที่จะเปนผู้ถือหนังสือ ว่าแล้วจึงสั่งให้ไทเซียงเขงถือตราไปตั้งซุนกวนให้เปนเงาอ๋องมีเครื่องยศเก้าสิ่ง") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 20, 2024.
  2. ("ซุนกวนมีความยินดีนัก จึงแต่งหนังสือไปถึงโจผีว่า ข้าพเจ้าซุนกวนเปนข้าบิดาของพระองค์ บิดาของพระองค์ก็ทรงเมตตาตั้งให้ข้าพเจ้าเปนเพี้ยวกี้จงกุ๋นหลำเซียงเหา ข้าพเจ้าเปนสุขมาช้านาน") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 20, 2024.
  3. ([太元二年]夏四月乙未,帝崩於內殿, ... 秋七月,葬蔣陵, ... 案,帝四十即吳王位,七年;四十七即帝位,二十四年,年七十崩。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 2.
  4. ("จูกัดเจ๊กกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็ให้ซุนเหลียงเสวยราชย์แทนพระบิดา พระเจ้าซุนเหลียงก็ให้แต่งการเชิญศพไปฝังที่ตำบลเตียวเหลงตามประเพณี แล้วให้จารึกอักษรว่าที่ฝังศพพระเจ้าไต้ฮ่องเต้") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 20, 2024.
  5. de Crespigny (2007), p. 772.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า ซุนกวน ถัดไป
พระเจ้าเหี้ยนเต้
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
  จักรพรรดิจีน
ง่อก๊ก

(พ.ศ. 772-795)
  ซุนเหลียง