ซุนฮิว (ค.ศ. 235 – 3 กันยายน ค.ศ. 264)[b] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน ซิว (จีนตัวย่อ: 孙休; จีนตัวเต็ม: 孫休; พินอิน: Sūn Xiū) ชื่อรอง จื่อเลี่ย (จีน: 子烈; พินอิน: Zǐliè) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ซุนฮิว (ซุน ซิว)
孫休
ภาพวาดซุนฮิวจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งง่อก๊ก
ครองราชย์30 พฤศจิกายน ค.ศ. 258[a] – 3 กันยายน ค.ศ. 264
ก่อนหน้าซุนเหลียง
ถัดไปซุนโฮ
อ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลังหยาหวาง)
ดำรงตำแหน่งมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 – 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 258
ประสูติค.ศ. 235[b]
สวรรคต3 กันยายน ค.ศ. 264 (29 พรรษา)[b]
มเหสีจักรพรรดินีจู
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫)
ชื่อตัว: ฮิว (休 ซิว)
ชื่อรอง: จื่อเลี่ย (子烈)
รัชศก
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิจิ่ง (景帝 จิ่งตี้)
ราชวงศ์ราชวงศ์ซุน
พระราชบิดาซุนกวน
พระราชมารดาจักรพรรดินีจิ้งหฺวาย

พระประวัติช่วงต้น

แก้

ซุนฮิวประสูติในปี ค.ศ. 235 เป็นพระโอรสของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กและสนมหวางฟูเหริน (王夫人) พระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่หกของซุนกวน[3][c] ขณะทรงพระเยาว์ พระองค์ได้รับการชื่นชมในเรื่องการพากเพียรศึกษาตำรา ราวปี ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงจัดงานอภิเษกสมรสระหว่างซุนฮิวกับจูชื่อ (朱氏) บุตรของจู จฺวี้ (朱據) กับซุน หลู่-ยฺวี่ (孫魯育) ผู้เป็นพระธิดาของซุนกวน

ใน ค.ศ. 252 ก่อนที่ซุนกวนจะสวรรคต พระองค์ทรงตั้งให้ซุนฮิวมีฐานันดรศักดิ์เป็นอ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลังหยาหวาง) พร้อมด้วยราชรัฐที่ที่ฮ่อหลิม (虎林 หู่หลิน; อยู่ในนครฉือโจว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ในปีต่อมา ภายหลังจากซุนเหลียงพระอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จูกัดเก๊กไม่ต้องการให้เหล่าอ๋องประทับอยู่ใกล้กับฐานทัพสำคัญตลอดแนวแม่น้ำแยงซี จึงย้ายซุนฮิวไปประทับที่เมืองตันเอี๋ยง (丹陽郡 ตานหยางจฺวิ้น; อยู่ในนครเซฺวียนเฉิง มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ซุนฮิวไม่ขัดขืนต่อคำสั่งย้ายของจูกัดเก๊ก ต่างจากซุน เฟิ่น (孫奮) พระเชษฐาของพระองค์ เมื่อซุนฮิวมาประทับที่เมืองตันเอี๋ยง หลี่ เหิง (李衡) เจ้าเมืองตันเอี๋ยงหาเรื่องมากลั่นแกล้งพระองค์หลายครั้ง ซุนฮิวทรงไม่อาจทนการกลั่นแกล้งของหลี่ เหิงได้ จึงทรงขอย้ายไปประทับที่อื่น ซุนเหลียงจึงมีรับสั่งให้ย้ายให้ย้ายไปประทับที่เมืองห้อยเข (會稽郡 ไค่วจีจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน)

ใน ค.ศ. 255 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซุนจุ๋นสั่งประหารชีวิตซุน หลู่-ยฺวี่พระเชษฐภคินีต่างมารดาและพระสัสสุ (แม่ภรรยา) ของซุนฮิว ตามการยุยงของกิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) พระเชษฐภคินีอีกองค์ของซุนฮิว ซุนฮิวทรงเริ่มกังวลถึงความปลอดภัยของพระองค์ จึงทรงส่งพระชายาจูชื่อกลับไปนครหลวงเกี๋ยนเงียบและทรงร้องขอการหย่ากับพระชายา แต่ซุนจุ๋นปฏิเสธคำร้องของพระองค์ และส่งพระชายาจูชื่อกลับไปหาซุนฮิว

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 258 หลังจักรพรรดิซุนเหลียงทรงพยายามก่อรัฐประหารโค่นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซุนหลิม (ลูกพี่ลูกน้องและผู้สืบทอดอำนาจของซุนจุ๋น) แต่ไม่สำเร็จ ซุนหลิมปลดซุนเหลียงจากตำแหน่งจักรพรรดิและตั้งให้ซุนฮิวเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กองค์ใหม่แทนที่

รัฐประหารโค่นล้มอำนาจซุนหลิม

แก้

หลังการขึ้นครองราชย์ ซุนฮิวมีรับสั่งให้เพิ่ม 5 อำเภอใหม่เข้าในเขตศักดินาของซุนหลิมเพื่อเอาใจซุนหลิม นอกจากนั้นยังพระราชทานบรรดาศักดิ์ระดับโหว (侯) ให้เหล่าน้องชายของซุนหลิมด้วย แต่ต่อมาไม่นานได้เกิดเหตุการณ์ค่อนข้างเล็กน้อยที่ทำให้ซุนหลิมบาดหมางกับซุนฮิว คือในวันหนึ่งซุนหลิมนำอาหารและสุราไปพระราชวังและทูลขอให้จักรพรรดิซุนฮิวเสวยพระกระยาหารร่วมตน แต่ซุนฮิวทรงปฏิเสธ จากนั้นซุนหลิมจึงไปรับประทานอาหารกับขุนพลเตียวปอแทน แล้วซุนหลิมก็พูดตามอารมณ์ว่าตนสามารถเป็นจักรพรรดิแทนซุนฮิวได้อย่างง่ายดายหากตนอยากทำ ภายหลังเตียวปอลอบทูลรายงานเรื่องความพอใจของซุนหลิมให้ซุนฮิวทรงทราบ แม้ว่าซุนฮิวจะยังคงทรงแสร้งทำเป็นมีไมตรีซุนหลิม แต่พระองค์ก็เริ่มเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันพระองค์จากซุนหลิม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนหลิมก็กังวลในเรื่องความสัมพันธ์ของตนกับซุนฮิว จึงทูลขอไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) เพื่อดูแลการป้องกันชายแดน

แม้ว่าซุนฮิวทรงอนุมัติคำทูลขอของซุนหลิม แต่พระองค์ก็ทรงระแวงว่าซุนหลิมต้องการยึดบู๊เฉียงแล้วจะก่อกบฏต่อพระองค์ งุยเปียว (魏邈 เว่ย์ เหมี่ยว) ที่เป็นขุนนางคนหนึ่งก็ทูลเตือนซุนฮิวว่าที่ซุนหลิมทูลขอไปบู๊เฉียงนั้นอาจกำลังวางแผนก่อกบฏ ในช่วงนั้นเวลานั้นมีข่าวลือแพร่สะพัดว่าซุนหลิมไม่ภักดีต่อซุนฮิว[4] ซุนฮิวจึงทรงคบคิดกับเตียวปอและขุนพลเตงฮองจะสังหารซุนหลิมในงานเลี้ยงช่วงเทศกาลล่าปา (วันที่ 8 ของเดือน 12 ตามจันทรคติ) ซุนหลิมระแคะระคายเรื่องแผนการแต่ก็ยังคงเดินทางมาร่วมงานเลี้ยงและถูกจับกุมโดยทหารเตียวปอและเตงฮอง ซุนหลิมทูลร้องขอชีวิตและขอให้เนรเทศเทษตนไปมณฑลเกาจิ๋วหรือลดสถานะลงเป็นทาส ซุนฮิวทรงปฏิเสธที่จะไว้ชีวิตซุนหลิม และตรัสกับซุนหลิมเรื่องที่ตัวซุนหลิมก็ไม่ไว้ชีวิตเตงอิ๋นและลิกี๋ขณะที่ซุนหลิมขึ้นมามีอำนาจในปี ค.ศ. 256 จากนั้นซุนฮิวจึงมีรับสั่งให้นำตัวซุนหลิมไปประหารชีวิตพร้อมกับสมาชิกในครอบครัว

รัชสมัย

แก้

ซุนฮิวในฐานะจักรพรรดิทรงเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้ทรงยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นผู้คงแก่เรียน แต่พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นจักรพรรดิที่มีความสามารถเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นด้านการทหารหรือด้านราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงมอบหมายราชการสำคัญส่วนใหญ่ให้กับเตียวปอและเอียงเหียง ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความสามารถเป็นพิเศษ ทั้งสองคนยังกระทำเรื่องทุจริตในระดับปานกลาง ราชสำนักจึงไม่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 260 ด้วยการสนับสนุนของเอียงเหียง จึงมีการริเริ่มโครงการใช้ทุนทรัพย์สูงเพื่อสร้างทะเลสาบเทียมชื่อทะเลสาบผูหลี่ (浦里塘 ผูหลี่ถาง) ซึ่งอยู่ใกล้นครเซฺวียนเฉิง มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการชลประทาน แม้ว่าข้าราชการจำนวนมากเห็นว่าโครงการนี้ใช้ทุนทรัพย์มากเกินไปและไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จ ในที่สุดโครงการก็ถูกยกเลิกไปเมื่อเป็นที่ชัดแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้

ในปีแรกของรัชสมัย ต้นแบบแรกของมหาวิทยาลัยหนานจิงได้รับการก่อตั้งขึ้น โดยเหวย์ เจา (韋昭) เป็นประธานคนแรก

ในปี ค.ศ. 260 ซุนฮิวผู้ทรงคำนึงอยู่ตลอดถึงแผนการใด ๆ ที่จะกระทำต่ออดีตจักรพรรดิซุนเหลียงพระอนุชาของพระองค์ ได้ทรงเริ่มดำเนินการหลังได้รับรายงานเท็จว่าซุนเหลียงทรงทำคุณไสย ซุนฮิวจึงลดฐานันดรศักดิ์ของซุนเหลียงจากอ๋องแห่งห้อยเขลงเป็นโฮ่วกวานโหว (候官侯) และส่งซุนเหลียงไปยังเขตศักดินาที่โฮ่วกวาน (候官; ปัจจุบันคือนครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน) ซุนเหลียงสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทาง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระองค์ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่นักประวัติศาสตร์บางส่วนก็เชื่อว่าซุนฮิวทรงใช้ยาพิษปลงพระชนม์ซุนเหลียง

ชีฮู (薛珝 เซฺว สฺวี่) ขุนนางง่อก๊กซึ่งเดินทางไปจ๊กก๊กซึ่งเป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊กในปี ค.ศ. 261 ได้ทูลอธิบายถึงสถานการณ์ของจ๊กก๊กแก่ซุนฮิวหลังเดินทางกลับมาดังนี้:

จักรพรรดิไร้ความสามารถและไม่รู้ความผิดพลาดของตนเอง เหล่าข้าราชบริพารต่างเพียงแค่พยายามหาประโยชน์โดยไม่สร้างปัญหาให้กับตนเอง เมื่อกระหม่อมไปเยี่ยมพวกเขา กนะหม่อมไม่ได้ยินคำพูดที่จริงใจ และเมื่อกระหม่อมไปเยือนชนบท ผู้คนดูหิวโหย กระหม่อมเคยได้ยินนิทานเรื่องนกนางแอ่นและนกกระจอกทำรังบนยอดคฤหาสน์และรู้สึกพอใจเพราะเชื่อว่าเป็นที่ปลอดภัยที่สุด โดยไม่รู้ว่ากองฟางและคานค้ำกำลังลุกติดไฟและหายนะกำลังมาเยือน นี่อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังเป็นอยู่

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าชีฮูไม่เพียงหมายถึงจ๊กก๊กเท่านั้น แต่ยังใช้สถานการณ์ของจ๊กก๊กเป็นอุปมานิทัศน์เพื่อทูลเตือนซุนฮิวว่าง่อก๊กก็อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซุนฮิวดูเหมือนจะไม่ทรงเข้าพระทัยถึงความหมายที่ชีฮูต้องการจะสื่อ

ใน ค.ศ. 262 ซุนฮิวทรงแต่งตั้งพระชายาจูขึ้นเป็นจักรพรรดินี พระองค์ยังทรงแต่งตั้งให้ซุนเปียน (孫𩅦 ซุน วาน) พระโอรสองค์โตเป็นรัชทายาท

ใน ค.ศ. 263 เนื่องจากการฉ้อราษฏร์บังหลวงของซุน ซฺวี (孫諝) เจ้าเมืองเกาจี (交趾 เจียวจื่อ; ปัจจุบันคือกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม) ในมณฑลเกาจิ๋ว ราษฎรชาวเมืองเกาจีจึงก่อกบฏขึ้น โดยมีราษฎรจากเมืองข้างเคียงคือจิ่วเจิน (九真; ปัจจุบันคือจังหวัดทัญฮว้า ประเทศเวียดนาม) และรื่อหนาน (日南; ปัจจุบันคือจังหวัดกว๋างจิ ประเทศเวียดนาม) มาเข้าร่วมด้วย กลุ่มกบฏยังขอการสนับสนุนด้านการทหารจากวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก (วุยก๊กและราชวงศ์จิ้นที่สืบทอดอำนาจในลำดับถัดมาช่วยสนับสนุนกลุ่มกบฏ กบฏยังไม่ถูกปราบปรามจนกระทั่งปี ค.ศ. 271 เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของซุนโฮจักรพรรดิผู้ครองราชย์ถัดจากซุนฮิว)

ใน ค.ศ. 263 เมื่อจ๊กก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรกับง่อก๊กถูกโจมตีโดยวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ จ๊กก๊กจึงขอความช่วยเหลือจากง่อก๊ก ซุนฮิวจึงทรงได้ส่งกองทัพแยกออกเป็นสองทาง ทัพหนึ่งเข้าโจมตีฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบนคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) และอีกทัพหนึ่งเข้าโจมตีเมืองฮันต๋ง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของทัพวุยก๊กและบีบให้ล่าถอยออกจากจ๊กก๊ก แต่ทั้งสองทัพที่ส่งไปทำภารกิจไม่สำเร็จ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนนต่อวุยก๊กในภายหลังในปีเดียวกันนั้น ทำให้การดำรงอยู่ของจ๊กก๊กได้สิ้นสุดลง เมื่อซุนฮิวทรงทราบว่า บรรดาเมืองบางเมืองของอดีตจ๊กก๊กต่างไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปหลังการยอมจำนนของเล่าเสี้ยน ซุนฮิวจึงส่งกำลังพลพยายามจะยึดเมืองเหล่านี้ให้เป็นของง่อก๊ก แต่หลัว เซี่ยน (羅憲) อดีตขุนพลของจ๊กก๊กที่ประจำการอยู่ที่เมืองปาตง (巴東郡 ปาตงจฺวิ้น; อยู่บริเวณเขื่อนซานเสียต้าป้าในปัจจุบัน) สามารถรักษาที่มั่นต้านทานการบุกของง่อก๊กได้ และในที่สุดก็สวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 264 ซุนฮิวทรงพระประชวรและไม่สามารถตรัสได้ แต่ยังสามารถทรงพระอักษรได้ พระองค์จึงมีพระราชโองการเรียกตัวเอียงเหียงเข้ามาที่พระราชวัง พระองค์ทรงฝากฝังรัชทายาทซุนเปียนไว้กับเอียงเหียง ซุนฮิวสวรรคตในเวลาต่อมาไม่นานหลังจากนั้น แต่เอียงเหียงไม่ทำตามพระประสงค์ก่อนสวรรคตของซุนฮิวที่จะตั้งให้ซุนเปียนเป็นจักรพรรดิ ภายหลังจากที่ปรึกษากับเตียวปอ เอียงเหียงจึงตัดสินใจจะตั้งผู้ที่มีพระชนมายุมากกว่าและมีวุฒิภาวะมากกว่าให้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ (ไม่ทราบว่าซุนเปียนมีพระชนมายุเท่าใดในช่วงเวลาที่ซุนฮิวสวรรคต แต่เพราะซุนฮิวสวรรคตขณะพระชนมายุ 29 พรรษา จึงเป็นไปได้ว่าเวลานั้นซุนเปียนยังทรงพระเยาว์อย่างมาก) เอียงเหียงและเตียวปอทำตามคำแนะนำของบั้นเฮ็ก โดยตั้งให้ซุนโฮ (ซุน เฮ่า) พระโอรสของซุนโฮ[d] (ซุน เหอ; รัชทายาทในรัชสมัยของซุนกวน) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ

สุสานที่ตั้งอยู่ในอำเภอตางถู มณฑลอานฮุย ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นสุสานของซุนฮิวและจักรพรรดินีจู[5]

พระราชวงศ์

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. วันจี๋เหม่า (己卯) ของเดือน 10 ในศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 3[1]
  2. 2.0 2.1 2.2 ชีวประวัติของซุนฮิวในสามก๊กจี่บันทึกว่าซุนฮิวสวรรคตในวันกุ่ยเว่ย์ (癸未) ในเดือนที่ 7 ของศักราชหย่งอาน (永安) ปีที่ 7 ขณะพระชนมายุ 30 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[2] วันสวรรคตเทียบได้กับวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 264 ในปฏิทินกริกอเรียน เนื่องจากพระองค์สวรรคตขณะพระชนมายุ 29 พรรษา เมื่อคำนวณแล้วพระองค์จึงประวัติเมื่อปี ค.ศ. 235
  3. ขณะเมื่อซุนฮิวประสูติ เวลานั้นซุน ลฺวี่พระเชษฐาองค์หนึ่งของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 232
  4. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เฮ่าที่เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กและเป็นบุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกับบิดา

อ้างอิง

แก้
  1. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77
  2. ([永安七年七月]癸未,休薨,時年三十, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  3. (孙休字子烈,权第六子。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  4. สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  5. "High-rank tomb of East Wu Dynasty was found in Anhui". The Institute of Archaeology, Chinese Academy of Social Sciences (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 May 2017.

บรรณานุกรม

แก้
ก่อนหน้า ซุนฮิว (ซุน ซิว) ถัดไป
ซุนเหลียง   จักรพรรดิจีน
ง่อก๊ก

(ค.ศ. 258 – 264)
  ซุนโฮ