ซุนโฮ (ซุน เหอ)
ซุนโฮ[1] (ค.ศ. 224[b] – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253[c]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน เหอ (จีน: 孫和; พินอิน: Sūn Hé) ชื่อรอง จื่อเซี่ยว (จีน: 子孝; พินอิน: Zǐxiào) เป็นเจ้าชายของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 3 ของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐวุยก๊ก ในปี ค.ศ. 242 ซุนโฮขึ้นเป็นรัชทายาทหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐาคือซุนเต๋งซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตและรัชทายาทพระองค์แรกของซุนกวน ในช่วงทศวรรษ 240 เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้าซึ่งเป็นพระอนุชา (พระโอรสพระองค์ที่ 4 ของซุนกวน) ในเรื่องการสืบราชบัลลังก์ถัดจากพระบิดา ความขัดแย้งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 250 เมื่อซุนกวนทรงบังคับซุน ป้าให้ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม ทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท และตั้งให้ซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้องของพระองค์ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ในปี ค.ศ. 252 ในรัชสมัยของซุนเหลียง ซุนจุ๋นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลดสถานะซุนโฮลงเป็นสามัญชนและบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ในปี ค.ศ. 264 ซุนโฮ[a] (孫皓 ซุน เฮ่า) บุตรชายคนหนึ่งของซุนโฮได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของง่อก๊ก หลังซุนโฮ (ซุน เฮ่า) ขึ้นครองราชย์ พระองค์พระราชทานสมัญญานามแด่พระบิดาว่า เหวินตี้ (จีน: 文帝; พินอิน: Wéndì)
ซุนโฮ (ซุน เหอ) 孫和 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อ๋องแห่งลำหยง (南陽王 หนานหยางหวาง) | |||||||||
ดำรงตำแหน่ง | มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 – 253 | ||||||||
รัชทายาทแห่งง่อก๊ก | |||||||||
ดำรงตำแหน่ง | กุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 242 – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 | ||||||||
ก่อนหน้า | ซุนเต๋ง | ||||||||
ถัดไป | ซุนเหลียง | ||||||||
ประสูติ | ค.ศ. 224 | ||||||||
สวรรคต | ค.ศ. 253 (29 ปี) อำเภออี มณฑลอานฮุย | ||||||||
คู่อภิเษก |
| ||||||||
พระราชบุตร | |||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ซุน | ||||||||
พระราชบิดา | ซุนกวน | ||||||||
พระราชมารดา | ฮองฮูหยิน |
ประวัติช่วงต้น
แก้ซุนโฮเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของซุนกวนขุนศึกในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊ก ซุนโฮมีพี่ชาย 2 คนคือซุนเต๋งและซุน ลฺวี่ (孫慮) มารดาของซุนโฮคือฮองฮูหยิน (王夫人 หวางฟูเหริน) สนมคนหนึ่งของซุนกวน ฮองฮูหยินได้รับสมัญญานามหลังมรณกรรมว่า "จักรพรรดินีต้าอี้" (大懿皇后 ต้าอี้หฺวางโฮ่ว) ในปี ค.ศ 264 ในเวลานั้นฮองฮูหยินเป็นสนมคนโปรดของซุนกวน ซุนโฮจึงได้เป็นพระโอรสคนโปรดของซุนกวนด้วย ในปี ค.ศ. 237 เมื่อซุนโฮมีพระชนมายุ 13 พรรษา ซุนกวนตั้งให้ข้าราชการบางคนไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ของซุนโฮ และมีรับสั่งถึงงำเต๊กหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการให้เป็นราชครูส่วนพระองค์ของซุนโฮ ซุนโฮขณะทรงอยู่ในวัยรุ่นมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ขยันเล่าเรียนและน่านับถือ ข้าราชการที่เข้าเฝ้าพระองค์ต่างยกย่องพระองค์[4]
ในปี ค.ศ. 241 ซุนเต๋งพระโอรสองค์โตและรัชทายาทของซุนกวนสิ้นพระชนม์ด้วยอาการประชวร หนึ่งปีต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 242[5] ซุนกวนทรงแต่งตั้งให้ซุนโฮซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 18 พรรษา[d] และเป็นพระโอรสองค์โตที่สุดที่ยังทรงพระชนม์อยู่[e] ให้ขึ้นเป็นรัชทายาทพระองค์ใหม่แทนที่ซุนเต๋ง ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนกวนยังยังเลื่อนขั้นให้งำเต๊กเป็นราชครูประจำองค์รัชทายาท (太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่) แต่งตั้งให้ซีหองเป็นราชครูรองประจำองค์รัชทายาท (太子少傅 ไท่จื๋อเฉ่าฟู่) และมีรับสั่งให้ไช่ อิง (蔡穎), จาง ฉุน (張純), เฟิง ฝู่ (封俌), เหยียน เหวย์ (嚴維) และคนอื่น ๆ ให้ทำหน้าที่เป็นข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ขององค์รัชทายาท[8]
ในฐานะรัชทายาท
แก้ซุนโฮเป็นผู้เฉลียวฉลาด ซุนกวนจึงโปรดซุนโฮและมักให้ซุนโฮอยู่ข้างพระองค์ ซุนกวนยังทรงปฏิบัติต่อซุนโฮอย่างดีเป็นพิเศษ พระองค์พระราชทานฉลองพระองค์ เครื่องประดับ ของเล่น และของพระราชทานอื่น ๆ ให้กับซุนโฮ แต่ไม่ได้ทรงทำเช่นเดียวกันนี้กับพระโอรสองค์อื่น ๆ ข้าราชบริพารของซุนกวนยังยกย่องซุนโฮเป็นอย่างสูง เพราะพระองค์ไม่เพียงเฉลียวฉลาดและรอบรู้ด้านวรรณกรรม การทรงม้าและยิงเกาทัณฑ์ แต่ยังทรงให้ความเคารพและสุภาพอ่อนโน้มต่อราชครูและขุนนางผู้อาวุโสด้วย ซุนโฮสนพระทัยจะทำความรู้จักกับผู้คนด้วยพระทัยจริง ในปี ค.ศ. 247 ซุนกวนมีรับส่งให้จูเก่อ อี (諸葛壹) แสร้งแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก และลวงให้จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเข้าสู่กับดัก เมื่อซุนกวนทรงนำทัพง่อก๊กด้วยพระองค์เองเข้าโจมตีจูกัดเอี๋ยน ซุนโฮทรงรู้สึกเป็นห่วงพระบิดาอย่างมากถึงขั้นไม่อาจทรงพักผ่อนและเสวยพระกระยาหารอย่างสงบพระทัย พระองค์ทูลเตือนพระบิดาหลายครั้งให้ระมัดระวังและหวังให้พระบิดามีชัยในยุทธการ ซุนโฮโล่งพระทัยเมื่อเห็นว่าพระบิดาเสด็จกลับมาง่อก๊กอย่างปลอดภัย[9]
ในรัชสมัยของซุนกวน ข้าราชการของง่อก๊กบางคนใช้ระบบราชการในทางมิชอบและแสวงประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบราชการเพื่อจับผิดผู้อื่น ซุนโฮทรงเห็นว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงได้หากเหล่าข้าราชการยังใช้ระบบราชการในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน (เช่นเพื่อแก้แค้นข้าราชการคนอื่น ๆ ด้วยเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ) พระองค์จึงทรงเขียนฎีกาถึงราชสำนักเพื่อเสนอให้ดำเนินการกีดกันและขจัดการกระทำที่เป็นภัยเช่นนี้[10] ครั้งหนึ่งมีข้าราชการ 2 คนชื่อหลิว เป่า (劉寶) และติง เยี่ยน (丁晏) ต่างกล่าวโทษกันและกัน ซุนโฮทรงตรัสกับติง เยี่ยนว่า "เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะแสวงหาผู้มีความสามารถทั้งในฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร หากทุกคนเริ่มโจมตีกันเองด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเราจะคาดหวังความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร" จากนั้นจึงทรงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและช่วยแก้ไขกรณีพิพาทได้สำเร็จ[11]
ซุนโฮทรงได้ยินว่าไช่ อิ่ง (蔡穎) ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ชื่นชอบการเล่นหมากล้อม (圍棋 เหวย์ฉี) และผู้ใต้บังคับบัญชาของไช่ อิ่งหลายคนก็มักเล่นหมากล้อมและใช้เวลามากในการเล่น ซุนโฮทรงเห็นว่าหมากล้อมเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์คือเป็นเพียงงานอดิเรกหรือกิจกรรมฆ่าเวลา พระองค์จึงทรงกังวลว่าไช่ อิ่งและคนอื่น ๆ จะชะล่าใจและละเลยหน้าที่ของตนจากการเล่นหมากล้อมมากเกินไป พระองค์จึงมีความคิดจะที่ตักเตือนและแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชา พระองค์ทรงเรียกประชุมและให้ข้าราชการเหล่านั้นอภิปรายกันในเรื่องข้อดีและข้อเสียของการเล่นหมากล้อม ข้าราชการคนหนึ่งชื่อเหวย์ เย่า (韋曜) กลับไปบ้านและเขียนความเรียงเกี่ยวกับประเด็นนี้และนำเสนอต่อซุนโฮ ซุนโฮจึงทรงให้คัดลอกความเรียงนี้และแจกจ่ายให้กับคณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์[12]
การต่อสู้ชิงอำนาจกับซุน ป้า และการถูกปลดจากตำแหน่งรัชทายาท
แก้ฮองฮูหยินพระมารดาของซุนโฮไม่ถูกกันกับกิมก๋งจู๋[f] ซึ่งเป็นพระธิดาองค์โตของซุนกวน เป็นผลทำให้กิมก๋งจู๋ทรงไม่ชอบซุนโฮที่เป็นพระอนุชาต่างมารดาด้วย ครั้งหนึ่งซุนกวนไม่สามารถไปร่วมพระราชพิธีที่ศาลบูรพกษัตริย์เพราะพระองค์ทรงพระประชวร จึงทรงมีรับสั่งให้ซุนโฮเสด็จไปพระราชพิธีแทนพระองค์ เตียวหิว (張休 จาง ซิว) อาของจางเฟย์ (張妃) พระชายาของซุนโฮอาศัยอยู่ใกล้ศาลบูรพกษัตริย์ เตียวหิวจึงทูลเชิญซุนโฮมาประทับในบ้านของตนในช่วงเวลานั้น กิมก๋งจู๋ส่งคนรับใช้ไปสอดแนมซุนโฮและไปทูลรายงานซุนกวนพระบิดาว่าซุนโฮไม่ได้อยู่ในศาลบูรพกษัตริย์ แต่ไปอยู่บ้านเตียวหิวที่เป็นพระญาติฝ่ายพระชายาแทนและวางแผนบางอย่าง กิมก๋งจู๋ยังใช้โอกาสนี้ใส่ร้ายฮองฮูหยินที่เป็นพระมารดาของซุนโฮและไม่ถูกกันกับกิมก๋งจู๋ โดยทูลซุนกวนว่าฮองฮูหยินแสดงความรู้สึกยินดีเมื่อได้ยินว่าซุนกวนทรงพระประชวร ซุนกวนทรงเชื่อพระธิดาของตนและกริ้วฮองฮูหยิน ภายหลังฮองฮูหยินเสียชีวิตด้วยความทุกข์ใจ ด้วยเหตุนี้ตัวซุนโฮเองก็เสียความโปรดปรานจากพระบิดา พระองค์ทรงเริ่มกังวลว่าพระบิดาจะปลดพระองค์จากตำแหน่งรัชทายาท[13]
ในช่วงทศวรรษ 240 ซุนโฮเข้าสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับซุน ป้า (孫霸) พระอนุชาองค์ที่ 4 และอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) ผู้ต้องการจะชิงตำแหน่งรัชทายาทจากซุนโฮ ในความเป็นจริงแล้ว ตัวซุนกวนเองเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งระหว่างพระโอรสองค์ที่ 3 (ซุนโฮ) และองค์ที่ 4 (ซุน ป้า) ของพระองค์ แม้ว่าซุนกวนจะทรงแต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 แล้ว แต่พระองค์ก็ปฏิบัติต่อซุน ป้าอย่างดีเป็นพิเศษ ขุนนางบางคนได้หารือกันแล้วทูลโน้มน้าวซุนกวนให้ปฏิบัติและยึดถือตามหลักความถูกต้องเหมาะสมตามคำสอนในลัทธิขงจื๊อ ยกตัวอย่างเช่นซุนโฮควรได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์มากกว่าซุน ป้า เพราะซุนโฮอยู่ในฐานะรัชทายาทที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าเจ้าชายองค์อื่น ๆ แต่ซุนกวนทรงล้มเหลวในแยกแยะวิธีปฏิบัติต่อพระโอรสแต่ละพระองค์ให้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป การต่อสู้แย่งชิงอำนาจก็ยิงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อซุนโฮและซุน ป้าต่างก็เริ่มช่วงชิงความโปรดปรานและความสนพระทัยของพระบิดา เหล่าข้าราชบริพารของซุนกวนก็แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยลกซุน, จูกัดเก๊ก, กู้ ถาน (顧譚), จู จฺวี้ (朱據), เตงอิ๋น, ชือ จี (施績), ติง มี่ (丁密) และงอซัน ซึ่งมีความเห็นว่าซุนโฮทรงเป็นทายาทโดยชอบธรรมจึงสนับสนุนซุนโฮ อีกฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยเปาจิด, ลิต้าย, จวนจ๋อง, ลิกี๋, ซุน หง (孫弘), เฉฺวียน จี้ (全寄), หยาง จู๋ (楊笁), อู๋ อาน (吳安) และซุน ฉี (孫奇) สนับสนุนซุน ป้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฉฺวียน จี้และหยาง จู๋มักพูดเรื่องในแง่ลบเกี่ยวกับซุนโฮต่อพระพักตร์ของซุนกวน ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซุนกวนทรงเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในเรื่องนี้จึงตรัสกับซุนจุ๋นว่าพระองค์ทรงกังวลว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจะลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นระหว่างบุตรชายของอ้วนเสี้ยว[14] พระองค์ทรงต้องการจะยุติการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและแต่งตั้งรัชทายาทองค์ใหม่ จึงทรงเริ่มดำเนินการกับขุนนางบางคนดังต่อไปนี้ งอซันถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในภายหลัง กู้ ถานถูกเนรเทศไปมณฑลเกาจิ๋ว หยาง จู๋ถูกประหารชีวิตและศพถูกทิ้งลงแม่น้ำ เฉฺวียน จี้, อู๋ อาน และซุน ฉีถูกประหารชีวิต[15][16]
เผย์ ซงจือนักประวัติศาสตร์ผู้เขียนอรรถาธิบายของชีวประวัติซุนโฮในจดหมายเหตุสามก๊ก ได้เปรียบเทียบการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้ากับความขัดแย้งอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างบุตรชายของอ้วนเสี้ยว และความขัดแย้งระหว่างบุตรชายของเล่าเปียว เผย์ ซงจือแสดงความคิดเห็นว่าซุนกวนแย่กว่าอ้วนเสี้ยวและเล่าเปียว เพราะต่างจากอ้วนเสี้ยวและเล่าเปียวที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานดั้งเดิมในการตั้งผู้สืบทอด และแสดงออกอย่างชัดเจนว่าตนต้องการให้บุตรชายคนเล็กเป็นผู้สิบทอด ในขณะที่ซุนกวนแสดงออกอย่างคลุมเครือและไม่แน่นอนเมื่อโปรดปรานซุน ป้าแม้ว่าได้แต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาทแล้ว เผย์ ซงจือวิพากษ์วิจารณ์เปาจิด, ลิต้าย และจวนจ๋องที่สนับสนุนซุน ป้า เพราะเผย์ ซงจือเห็นว่าการอ้างตนเป็นผู้สืบทอดของซุน ป้านั้นผิดจารีต นอกจากนี้เผย์ ซงจือยังตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบด้านลบอย่างมากต่อเปาจิดโดยเฉพาะ เพราะแต่เดิมเปาจิดมีชื่อเสียงในฐานะผู้มีคุณธรรมและมีน้ำใจกว้างขวาง[17]
หลังซุนกวนทรงพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงทรงมีรับสั่งให้กักบริเวณซุนโฮ เมื่อจู จฺวี้, ชฺวี หฺว่าง (屈晃) และขุนนางคนอื่น ๆ บางคนได้ยินเรื่องนี้ จึงใช้โคลนละเลงศีรษะตน ใช้เชือกมัดตัวเอง และมาทูลขอร้องให้ซุนกวนทรงปล่อยตัวซุนโฮ ซุนกวนทรงเห็นดังนั้นก็กริ้วและตรัสตำหนิขุนนางเหล่านั้นที่ก่อเรื่องวุ่นวาย ภายหลังซุนกวนทรงตั้งพระทัยที่จะปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชสมัยและแต่งตั้งซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้องขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ขุนนางสองคนชื่อเฉิน เจิ้ง (陳正) และเฉิน เซี่ยง (陳象) เขียนฎีกาถวายซุนกวน ยกอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับซินเสง (申生 เชิน เชิง) และฮีเจ้ (奚齊 ซีฉี) เพื่อทูลเตือนซุนกวนว่าการเปลี่ยนรัชทายาทอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองในอนาคต จู จฺวี้และชฺวี หฺว่างยังทูลโน้มน้าวหลายครั้งให้ซุนกวนพระราชทานอภัยโทษให้ซุนโฮ ซุนกวนทรงรู้สึกรำคาญจึงทรงมีรับสั่งให้ประหารชีิวตเฉิน เจิ้งและเฉิน เซี่ยง และให้โบยจู จฺวี้และชฺวี หฺว่างคนละ 100 ครั้ง[18] ภายหลังชฺวี หฺว่างถูกปลดจากราชการและส่งตัวกลับไปอยู่บ้านเกิด ส่วนจู จฺวี้ถูกขั้นและภายหลังถูกซุน หง (孫弘) ผู้สนับสนุนของซุน ป้าหลอกให้ฆ่าตัวตาย[19] จาง ฉุน (張純) ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของซุนโฮทูลขอร้องซุนกวนหลายครั้งให้ทรงไว้ชีวิตซุนโฮ จึงถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา[20]
ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาทและย้ายให้ไปประทับในอำเภอกู้จาง (故鄣縣 กู้จางเซี่ยน; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภออานจี๋ มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ซุนกวนยังทรงบังคับให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม คณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ของซุนโฮจำนวนหลายสิบคนต้องเผชิญกับชะตากรรมที่แตกต่างกัน บ้างก็ถูกประหารชีวิต บ้างก็ถูกเนรเทศหรือถูกปลดออกจากราชการ หลายคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความอยุติธรรมอย่างร้ายแรงต่อซุนโฮและคณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์[21] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 250 หรือมกราคม ค.ศ. 251 ซุนกวนทรงแต่งตั้งซุนเหลียงพระโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาทองค์ใหม่แทนที่ซุนโฮ[22]
ประวัติหลังถูกปลดจากตำแหน่งรัชทายาท
แก้เมื่อซุนกวนทรงพระประชวรหนักอย่างหนักระหว่างปี ค.ศ. 250 ถึง ค.ศ. 252 พระองค์ทรงโทมนัสที่ตัดสินพระทัยปลดซุนโฮออกและมีพระดำริจะให้ซุนโฮกลับมาเป็นรัชทายาท แต่กิมก๋งจู๋, ซุนจุ๋น, ซุน หง (孫弘) และคนอื่น ๆ ทูลคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักแน่น ซุนกวนจึงทรงล้มเลิกพระดำรินี้[23]
ปลายเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 ซุนกวนทรงแต่งตั้งให้ซุนโฮเป็นอ๋องแห่งลำหยง (南陽王 หนานหยางหวาง) โดยตั้งให้เมืองเตียงสา (長沙郡 ฉางชาจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครฉางชา มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) เป็นราชรัฐของซุนโฮ[24][25] ระหว่างที่ซุนโฮเสด็จจากอำเภอกู้จางไปยังเมืองเตียงสา พระองค์ทอดพระเนตรเห็นรังนกกางเขนบนผนัง บางคนตีความว่าเป็นลางร้ายที่จะเกิดขึ้นกับซุนโฮ ส่วนคนอื่น ๆ เห็นว่านิมิตมงคลเพราะซุนโฮได้รับการฟื้นฟูสถานะหลังถูกปลดจากตำแหน่งรัชทายาท[26]
หลังการสวรรคตของซุนกวนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 252 ซุนเหลียงพระโอรสองค์เล็กขึ้นสืบราชบัลลังก์ในฐานะจักรพรรดิองค์ใหม่ โดยจูกัดเก๊กดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะจักรพรรดิยังทรงพระเยาว์ในเวลานั้น จูกัดเก๊กเป็นเป็นลุงหรือน้าของจางเฟย์ชายาของซุนโฮ จางชื่อส่งผู้นำสารชื่อเฉิน เชียน (陳遷) มายังนครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เพื่อพบจูกัดเก๊ก ก่อนที่เฉิน เชียนจะกลับไป จูกัดเก๊กบอกกับเฉิน เชียนว่า "โปรดทูลพระนางด้วยว่าในอีกไม่นานข้าจะทำให้พระนางยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น" มีข่าวลือว่าจูกัดเก๊กต้องการจะปลดซุนเหลียงและตั้งซุนโฮขึ้นครองราชย์ พฤติกรรมของจูกัดเก๊กเป็นที่น่ากังขามากขึ้นเมื่อจูกัดเก๊กเสนอความคิดที่จะย้ายนครหลวงจากเกี๋ยนเงียบไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์)[27]
ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253 หลังจากจูกัดเก๊กถูกโค่นล้มและถูกลอบสังหารในการก่อรัฐประหาร ซุนจุ๋นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ของซุนเหลียง ซุนจุ๋นลดสถานะของซุนโฮลงเป็นสามัญชนและย้ายให้ไปอาศัยในเมืองซินตู (新都郡 ซินตูจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภออี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จากนั้นจึงสั่งผู้แทนพระองค์ไปบังคับให้ซุนโฮกระทำอัตวินิบาตกรรม ขณะเมื่อซุนโฮบอกลาจางเฟย์ภรรยาก่อนจะปลิดชีวิตตนเอง จางเฟย์พูดว่า "หม่อมฉันติดตามพระองค์ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด หม่อมฉันจะไม่ใช้ชีวิตตามลำพัง" แล้วจึงกระทำอัตวินิบาตกรรมตามซุนโฮไป[28] เหอจี (何姬) อนุภรรยาของซุนโฮกล่าวว่า "หากเราตายกันหมด แล้วใครจะดูแลลูก ๆ เล่า" จึงไม่ได้ปลิดชีวิตตนเองและใช้ชีวิตต่อไปเพื่อเลี้ยงดูซุนโฮ[a] (孫皓 ซุน เฮ่า; บุตรชายของซุนโฮกับเหอจี) และน้องชาย 3 คน[29]
เกียรติยศหลังมรณกรรม
แก้ในปี ค.ศ. 264 หลังซุนโฮ (ซุน เฮ่า) บุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของง่อก๊ก พระองค์สถาปนาย้อนหลังให้พระบิดาเป็น "จักรพรรดิเหวิน" (文皇帝 เหวินหฺวางตี้) และให้ย้ายพระศพของพระบิดามาฝังที่สุสานหมิงหลิง (明陵) พระราชทานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยครอบครัว 200 ครัวเรือนให้ทำหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาสุสาน ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 266 จักรพรรดิซุนโฮทรงแบ่ง 9 อำเภอจากเมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) และตันเอี๋ยง (丹楊郡 ตานหยางจฺวิ้น) เพื่อตั้งเป็นเมืองใหม่ชื่ออู๋ซิง (吳興郡 อู๋ซิงจฺวิ้น) โดยมีอำเภอเอกคืออำเภออูเฉิง (烏程縣 อูเฉิงเซี่ยน; อยู่ทางใต้ของนครหูโจว มณฑลเจ้อเจียง) พระองค์แต่งตั้งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ให้ปกครองเมืองอู๋ซิง และให้รับผิดชอบในการจัดพระราชพิธีเพื่อเป็นเกียรติแก่พระบิดาทุกฤดูกาล[30]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 267 จักรพรรดิซุนโฮทรงทำตามคำทูลเสนอของขุนนางคนหนึ่งให้สร้างศาลในนครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบิดา จากนั้นพระองค์จึงทรงมอบหมายชีฮู (薛珝 เซฺว สฺวี่) ให้ดูแลการก่อสร้างศาลที่ได้รับการตั้งชื่อว่า "ชิงเมี่ยว" (清廟) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 268 พระองค์มีรับสั่งถึงที่ปรึกษาหลวงเมิ่ง เหริน (孟仁)[g] และเสนาบดีพิธีการเหยา ซิ่น (姚信) ให้นำทหาร 2,000 นายไปยังสุสานหมิงหลิงในฐานะส่วนหนึ่งของคณะผู้ติดตามเพื่อ "ถวายการอารักขา" แก่วิญญาณของซุนโฮ (ซุน เหอ) จากสุสานไปยังศาล[31] เมื่อคณะผู้ติดตามมาถึงเกี๋ยนเงียบ จักรพรรดิซุนโฮก็ถามนักพรตที่ทำพิธีเกี่ยวกับลักษณะของวิญญาณของพระบิดา นักพรตทูลตอบว่าพระบิดาทรงมีลักษณะเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ จักรพรรดิซุนโฮจึงทรงหลั่งพระอัสสุชล (น้ำตา) ทั้งด้วยความโทมนัสและโสมนัส ภายหลังจึงพระราชทานรางวัลแก่เหล่าข้าราชบริพาร[32] จักรพรรดิซุนโฮยังทรงมีรับสั่งถึงอัครมหาเสนาบดีลู่ ข่าย (陸凱) ให้กำกับดูแลการสังเวยสัตว์ในหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อถวายแก่วิญญาณของพระบิดา คืนนั้นจักรพรรดิซุนโฮบรรทมนอกนครหลวงเกี๋ยนเงียบ วันถัดมาจักรพรรดิซุนโฮดูทรงโทมนัสเมื่อวิญญาณของพระบิดาได้รับการบูชาในศาล ในช่วงวันถัด ๆ มา พระองค์ยังคงเสด็จมาเยือนศาล พระองค์มา 3 ครั้งภายใน 7 วันเพื่อสักการะวิญญาณของพระบิดา ถึงขั้นมีรับสั่งให้นักร้องและนักระบำแสดงถวายความบันเทิงแก่วิญญาณของพระบิดาทั้งวันทั้งคืน พระองค์ทรงหยุดการกระทำเหล่านี้เมื่อมีขุนนางคนหนึ่งทูลว่าพิธีทั้งหมดจะสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์หากกระทำมากเกินไป[33]
ครอบครัว
แก้ซุนโฮทรงมีพระโอรสอย่างน้อย 4 พระองค์ ได้แก่ ซุน จฺวิ้น (孫俊), ซุนโฮ[a] (孫皓 ซุน เฮ่า), ซุน เต๋อ (孫德) และซุน เชียน (孫謙) ซุน จฺวิ้นเกิดจากพระชายาจางเฟย์ (張妃; บุตรสาวของจาง เฉิง)[34] ส่วนซุนโฮ (ซุน เฮ่า) เกิดจากพระสนมเหอจี (何姬)[35] ไม่ทราบแน่ชัดว่ามารดาของซุน เต๋อและซุน เชียนเป็นใคร อาจเป็นพระสนมของซุนโฮ
ในปี ค.ศ. 258 หลังจากซุนฮิวพระโอรสองค์ที่ 6 ของซุนกวนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิง่อก๊กองค์ใหม่แทนซุนเหลียง พระองค์พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ซุนโฮ (ซุน เฮ่า) เป็นโหวแห่งอูเฉิงโหว (烏程侯) มีเขตศักดินาในเมืองซินตู (新都郡 ซินตูจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภออี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน)[36] ซุนฮิวยังทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ซุน เต๋อและซุน เชียนเป็นเฉียนถางโหว (錢唐侯) และหย่งอานโหว (永安侯) ตามลำดับ และแต่งตั้งซุน จฺวิ้นให้เป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์)[37] ในปี ค.ศ. 264 หลังการสวรรคตของซุนฮิว ซุนโฮ (ซุน เฮ่า) ขึ้นสืบราชบัลลังก์ในฐานะจักรพรรดิง่อก๊กลำดับที่ 4
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เฮ่าที่เป็นบุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกับบิดา
- ↑ ชีวประวัติซุนกวนและซุนโฮในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าซุนโฮมีพระชนมายุ 19 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เพื่อพระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทในเดือน 1 ของศักราชชื่ออูปีที่ 5 ในรัชสมัยของซุนกวน (เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ถึง 18 มีนาคม ค.ศ. 242 ในปฏิทินจูเลียน) ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้วปีที่ซุนโฮทรงพระราชสมภพจึงควรเป็นปี ค.ศ. 224
- ↑ ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าจูกัดเก๊กเสียชีวิตในเดือน 10 ของศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 2 ในรัชสมัยของซุนเหลียง[2] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายนถึง 7 ธันวาคม ค.ศ. 253 ในปฏิทินกริโกเรียน ในชีวประวัติซุนโฮบันทึกว่าซุนโฮสิ้นพระชนม์ในเวลาไม่นานหลังการเสียชีวิตของจูกัดเก๊ก[3]
- ↑ ชีวประวัติซุนโฮในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าซุนโฮมีพระชนมายุ 19 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะเมื่อพระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาท [6]
- ↑ ซุน ลฺวี่ (孫慮) พระโอรสองค์ที่ 2 ของซุนกวนสิ้นพระชนม์แล้วก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 232[7] ดังนั้นซุนโฮซึ่งเป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ของซุนกวนจึงกลายเป็นพระโอรสองค์โตที่สุดในหมู่พระโอรสของซุนกวนหลังการสิ้นพระชนม์ของซุนเต๋งในปี ค.ศ. 241
- ↑ "กิมก๋งจู๋" หรือ "เฉฺวียนกงจู่" (全公主; แปลว่า "เจ้าหญิงเฉฺวียน") เป็นอีกพระนามหนึ่งของซุน หลู่ปาน (孫魯班) เพราะสมรสกับจวนจ๋องหรือเฉฺวียน ฉง (全琮)
- ↑ เมิ่ง เหริน (孟仁) เดิมชื่อเบ้งจ๋อง (孟宗 เมิ่ง จง) เป็นหนึ่งในยี่สิบสี่ยอดกตัญญู
อ้างอิง
แก้- ↑ ("ฝ่ายพระเจ้าซุนกวนอยู่ณเมืองกังตั๋ง ตั้งให้ซุนเต๋งบุตรนางซีฮูหยิน เปนไทจู๋ ครั้นซุนเต๋งตายแล้วตั้งซุนโฮบุตรนางฮองฮูหยินเปนที่ไทจู๋ อยู่นานมาซุนโฮวิวาทกับนางกิมก๋งจู๋ผู้เปนพี่สาว นางกิมก๋งจู๋จึงเข้าไปทูลยุยงบิดาให้โกรธถอดซุนโฮเสียจากที ซุนโฮได้ความแค้นเคืองเจ็บอายก็ตรอมใจเปนไข้ตาย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ April 22, 2024.
- ↑ ([建興二年]冬十月,大饗。武衞將軍孫峻伏兵殺恪於殿堂。 ... 十一月, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
- ↑ (及恪被诛,孙峻因此夺和玺绶,徙新都,又遣使者赐死。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59
- ↑ (孫和字子孝,慮弟也。少以母王有寵見愛,年十四,為置宮衞,使中書令闞澤教以書藝。好學下士,甚見稱述。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ ([赤烏]五年春正月,立子和為太子, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
- ↑ (赤乌五年,立为太子,时年十九。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (嘉禾元年春正月,建昌侯慮卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
- ↑ (赤烏五年,立為太子,時年十九。闞澤為太傅,薛綜為少傅,而蔡穎、張純、封俌、嚴維等皆從容侍從。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (吳書曰:和少岐嶷有智意,故權尤愛幸,常在左右,衣服禮秩雕玩珍異之賜,諸子莫得比焉。好文學,善騎射,承師涉學,精識聦敏,尊敬師傅,愛好人物。穎等每朝見進賀,和常降意,歡以待之。講校經義,綜察是非,及訪諮朝臣,考績行能,以知優劣,各有條貫。後諸葛壹偽叛以誘魏將諸葛誕,權潛軍待之。和以權暴露外次,又戰者凶事,常憂勞憯怛,不復會同飲食,數上諫,戒令持重,務在全勝,權還,然後敢安。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (是時有司頗以條書問事,和以為姦妄之人,將因事錯意,以生禍心,不可長也,表宜絕之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (又都督劉寶白庶子丁晏,晏亦白寶,和謂晏曰:「文武在事,當能幾人,因隙構簿,圖相危害,豈有福哉?」遂兩釋之,使之從厚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (常言當世士人宜講脩術學,校習射御,以周世務,而但交游博弈以妨事業,非進取之謂。後羣寮侍宴,言及博弈,以為妨事費日而無益於用,勞精損思而終無所成,非所以進德脩業,積累功緒者也。且志士愛日惜力,君子慕其大者,高山景行,恥非其次。夫以天地長乆,而人居其間,有白駒過隙之喻,年齒一暮,榮華不再。凡所患者,在於人情所不能絕,誠能絕無益之欲以奉德義之塗,棄不急之務以脩功業之基,其於名行,豈不善哉?夫人情猶不能無嬉娛,嬉娛之好,亦在於飲宴琴書射御之間,何必博弈,然後為歡。乃命侍坐者八人,各著論以矯之。於是中庶子韋曜退而論奏,和以示賔客。時蔡穎好弈,直事在署者頗斆焉,故以此諷之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (是後王夫人與全公主有隙。權嘗寢疾,和祠祭於廟,和妃叔父張休居近廟,邀和過所居。全公主使人覘視,因言太子不在廟中,專就妃家計議;又言王夫人見上寢疾,有喜色。權由是發怒,夫人憂死,而和寵稍損,懼於廢黜。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (殷基通語曰:初權旣立和為太子,而封霸為魯王,初拜猶同宮室,禮秩未分。羣公之議,以為太子、國王上下有序,禮秩宜異,於是分宮別僚,而隙端開矣。自侍御賔客造為二端,仇黨疑貳,滋延大臣。丞相陸遜、大將軍諸葛恪、太常顧譚、驃騎將軍朱據、會稽太守滕胤、大都督施績、尚書丁密等奉禮而行,宗事太子,驃騎將軍步隲、鎮南將軍呂岱、大司馬全琮、左將軍呂據、中書令孫弘等附魯王,中外官僚將軍大臣舉國中分。權患之,謂侍中孫峻曰:「子弟不睦,臣下分部,將有袁氏之敗,為天下笑。一人立者,安得不亂?」於是有改嗣之規矣。) อรรถาธิบายจากทง-ยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (魯王霸覬覦滋甚,陸遜、吾粲、顧譚等數陳適庶之義,理不可奪,全寄、楊笁為魯王霸支黨,譖愬日興。粲遂下獄誅,譚徙交州。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (時全寄、吳安、孫奇、楊笁等陰共附霸,圖危太子。譖毀旣行,太子以敗,霸亦賜死。流笁屍于江,兄穆以數諫戒笁,得免大辟,猶徙南州。霸賜死後,又誅寄、安、奇等,咸以黨霸搆和故也。) จดหมายเหตุสามก๊ก 59.
- ↑ (臣松之以為袁紹、劉表謂尚、琮為賢,本有傳後之意,異於孫權旣以立和而復寵霸,坐生亂階,自構家禍,方之袁、劉,昏悖甚矣。步隲以德度著稱,為吳良臣,而阿附於霸,事同楊笁,何哉?和旣正位,適庶分定,就使才德不殊,猶將義不黨庶,況霸實無聞,而和為令嗣乎?夫邪僻之人,豈其舉體無善,但一為不善,衆美皆亡耳。隲若果有此事,則其餘不足觀矣!呂岱、全琮之徒,蓋所不足論耳。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (權沈吟者歷年,後遂幽閉和。於是驃騎將軍朱據、尚書僕射屈晃率諸將吏泥頭自縛,連日詣闕請和。權登白爵觀見,甚惡之,勑據、晃等無事忩忩。權欲廢和立亮,無難督陳正、五營督陳象上書,稱引晉獻公殺申生,立奚齊,晉國擾亂,又據、晃固諫不止。權大怒,族誅正、象,據、晃牽入殿,杖一百, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (吳歷曰:晃入,口諫曰:「太子仁明,顯聞四海。今三方鼎跱,實不宜搖動太子,以生衆心。願陛下少垂聖慮,老臣雖死,猶生之年。」叩頭流血,辭氣不撓。權不納晃言,斥還田里。孫皓即位,詔曰:「故僕射屈晃,志匡社稷,忠諫亡身。封晃子緒為東陽亭侯,弟幹、恭為立義都尉。」緒後亦至尚書僕射。晃,汝南人,見胡沖荅問。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (吳書曰:張純亦盡言極諫,權幽之,遂棄市。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (... 竟徙和於故鄣,羣司坐諫誅放者十數。衆咸冤之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ ([赤烏]十三年 ... 八月, ... 廢太子和,處故鄣。魯王霸賜死。冬十月, ... 十一月,立子亮為太子。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
- ↑ (吳書曰:權寢疾,意頗感寤,欲徵和還立之,全公主及孫峻、孫弘等固爭之,乃止。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (太元二年正月,封和為南陽王,遣之長沙。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (二年春正月,立故太子和為南陽王,居長沙; ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
- ↑ (吳書曰:和之長沙,行過蕪湖,有鵲巢于帆檣,故官寮聞之皆憂慘,以為檣末傾危,非乆安之象。或言鵲巢之詩有「積行累功以致爵位」之言,今王至德茂行,復受國土,儻神靈以此告寤人意乎?) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (四月,權薨,諸葛恪秉政。恪即和妃張之舅也。妃使黃門陳遷之建業上疏中宮,并致問於恪。臨去,恪謂遷曰:「為我達妃,期當使勝他人。」此言頗泄。又恪有徙都意,使治武昌宮,民間或言欲迎和。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (及恪被誅,孫峻因此奪和璽綬,徙新都,又遣使者賜死。和與妃張辭別,張曰:「吉凶當相隨,終不獨生活也。」亦自殺,舉邦傷焉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (何姬曰:「若皆從死,誰當養孤?」遂拊育皓,及其三弟。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
- ↑ (休薨,皓即阼,其年追謚父和曰文皇帝,改葬明陵,置園邑二百家,令、丞奉守。後年正月,又分吳郡、丹楊九縣為吳興郡,治烏程,置太守,四時奉祠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (有司奏言,宜立廟京邑。寶鼎二年七月,使守大匠薛珝營立寢堂,號曰清廟。十二月,遣守丞相孟仁、太常姚信等備官寮中軍步騎二千人,以靈輿法駕,東迎神於明陵。皓引見仁,親拜送於庭。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (吳書曰:比仁還,中使手詔,日夜相繼,奉問神靈起居動止。巫覡言見和被服,顏色如平生日,皓悲喜涕淚,悉召公卿尚書詣闕門下受賜。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (靈輿當至,使丞相陸凱奉三牲祭於近郊,皓於金城外露宿。明日,望拜於東門之外。其翌日,拜廟薦祭,歔欷悲感。比七日三祭,倡技晝夜娛樂。有司奏言「祭不欲數,數則黷,宜以禮斷情」,然後止。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (俊,張承外孫, ...) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (孫和何姬, ... 生男,權喜,名之曰彭祖,即皓也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
- ↑ (孫休立,封和子皓為烏程侯,自新都之本國。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
- ↑ (吳歷曰:和四子:皓、德、謙、俊。孫休即位,封德錢唐侯,謙永安侯,俊拜騎都尉。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).