ฮองฮูหยิน[2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หวางฟูเหริน (จีน: 王夫人; พินอิน: Wáng Fūrén) เป็นพระสนมของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีนและเป็นพระมารดาของรัชทายาทซุนโฮ ภายหลังฮองฮูหยินสูญเสียความโปรดปรานจากซุนกวนเพราะถูกผู้อื่นใส่ร้ายและเสียชีวิต[3][4] ต่อมาได้รับสมัญญานามย้อนหลังว่าจักรพรรดินีต้าอี้ (จีน: 大懿皇后; พินอิน: Dàyì Huánghòu)

ฮองฮูหยิน (หวางฟูเหริน)
王夫人
ประสูติไม่ทราบ[a]
สวรรคตไม่ทราบ
คู่อภิเษกซุนกวน
พระราชบุตรซุนโฮ
พระมรณนาม
จักรพรรดินีต้าอี้ (大懿皇后 ต้าอี้หฺวางโฮ่ว)
พระราชบิดาหวาง หลูจิ่ว[1]

ประวัติ แก้

ฮองฮูหยินเป็นชาวเมืองลองเอี๋ย (琅邪 หลางหยา; ปัจจุบันคือนครหลินอี๋ มณฑลชานตง) และถูกเรียกด้วยชื่อว่าฮองฮูหยิน (หวางฟูเหริน) แห่งลองเอี๋ย เพื่อแยกความแตกต่างจากหวางฟูเหรินแห่งลำหยง (รู้จักในสมัญญานามว่าจิ้งหฺวายหฺวางโฮ่ว เป็นพระสนมอีกคนของซุนกวนที่มีชื่อสกุลเดียวกันกับฮองฮูหยิน)[5] ฮองฮูหยินเป็นบุตรสาวของหวาง หลูจิ่ว (王盧九)[1] และมีบันทึกว่าฮองฮูหยินมีน้องชาย 3 คน[6] ฮองฮูหยินเข้าเป็นพระสนมของซุนกวนในช่วงศักราชหฺวางอู่ (ค.ศ. 222-229) อาจเป็นก่อนปี ค.ศ. 224 ซึ่งเป็นปีที่ฮองฮูหยินให้กำเนิดซุนโฮ โดยทั่วไปฮองฮูหยินเป็นพระสนมคนโปรดของซุนกวนเป็นอันดับ 2 รองจากปู้ เลี่ยนชือ เมื่อรัชทายาทซุนเต๋งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 241[4] ซุนโฮได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท ซุนกวนทรงตั้งพระทัยจะตั้งฮองฮูหยินเป็นจักรพรรดินีโดยให้ย้ายพระสนมคนโปรดคนอื่น ๆ อย่างหวางฟูเหรินแห่งลำหยงออกจากพระราชวัง[7] อย่างไรก็ตาม กิมก๋งจู๋[b] พระธิดาของซุนกวนที่ประสูติกับปู้ เลี่ยนชือเป็นผู้สนับสนุนซุน ป้า (孫霸) ที่ต้องการชิงตำแหน่งรัชทายาทจากซุนโฮ[4][8] กิมก๋งจู๋มักตรัสให้ร้ายฮองฮูหยินอยู่บ่อยครั้ง[4] ครั้งหนึ่งซุนกวนไม่สามารถไปร่วมพระราชพิธีที่ศาลบูรพกษัตริย์เพราะพระองค์ทรงพระประชวร จึงทรงมีรับสั่งให้ซุนโฮเสด็จไปพระราชพิธีแทนพระองค์ เตียวหิว (張休 จาง ซิว) อาของจางเฟย์ (張妃) พระชายาของซุนโฮอาศัยอยู่ใกล้ศาลบูรพกษัตริย์ เตียวหิวจึงทูลเชิญซุนโฮมาประทับในบ้านของตนในช่วงเวลานั้น กิมก๋งจู๋ส่งคนรับใช้ไปสอดแนมซุนโฮและไปทูลรายงานซุนกวนพระบิดาว่าซุนโฮไม่ได้อยู่ในศาลบูรพกษัตริย์ แต่ไปอยู่บ้านเตียวหิวที่เป็นพระญาติฝ่ายพระชายาแทนและวางแผนบางอย่าง กิมก๋งจู๋ยังใช้โอกาสนี้ใส่ร้ายฮองฮูหยินที่เป็นพระมารดาของซุนโฮและไม่ถูกกันกับกิมก๋งจู๋ โดยทูลซุนกวนว่าฮองฮูหยินแสดงความรู้สึกยินดีเมื่อได้ยินว่าซุนกวนทรงพระประชวร[8] ซุนกวนทรงเชื่อพระธิดาของตนและกริ้วฮองฮูหยิน ภายหลังฮองฮูหยินเสียชีวิตด้วยความทุกข์ใจ[9]

ครอบครัวและญาติ แก้

ฐานะของซุนโฮอ่อนลงแล้วซุนโฮก็ทรงถูกเนรเทศในช่วงที่มีเหตุอื้อฉาวทางการเมืองจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกับซุน ป้าในปี ค.ศ. 250 ซุนโฮถูกบังคับให้กระทำอัตวินิบาติกรรมในช่วงปลายปี ค.ศ. 253 ในรัชสมัยของซุนเหลียง เชื้อสายของซุนโฮยังคงสืบต่อมาโดยซุนโฮ[c] (孫皓 ซุน เฮ่า) ผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 264 เมื่อถึงช่วงเวลานั้น ฮองฮูหยินได้รับการสถาปนาย้อนหลังขึ้นเป็นจักรพรรดินีต้าอี้ (大懿皇后 ต้าอี้หฺวางโฮ่ว; "จักรพรรดินีผู้เป็นแบบอย่างยิ่งใหญ่") น้องชาย 3 คนของฮองฮูหยินได้รับบรรดาศักดิ์ระดับโหว[6]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ไม่มีการบันทึกถึงปีเกิดของฮองฮูหยิน ส่วนซุนโฮซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์ทรงพระราชสมภพในปี ค.ศ. 224 ปีเกิดของฮองฮูหยินจึงน่าจะเป็นปี ค.ศ. 211 หรือก่อนหน้านั้น
  2. "กิมก๋งจู๋" หรือ "เฉฺวียนกงจู่" (全公主; แปลว่า "เจ้าหญิงเฉฺวียน") เป็นอีกพระนามหนึ่งของซุน หลู่ปาน (孫魯班) เพราะสมรสกับจวนจ๋องหรือเฉฺวียน ฉง (全琮)
  3. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เฮ่าที่เป็นบุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกับบิดา

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 (《吳書》曰:夫人父名盧九。〉) ซานกั๋วจื้อจู้ เล่มที่ 50.
  2. (ฝ่ายพระเจ้าซุนกวนอยู่ณเมืองกังตั๋ง ตั้งให้ซุนเต๋งบุตรนางซีฮูหยิน เปนไทจู๋ ครั้นซุนเต๋งตายแล้วตั้งซุนโฮบุตรนางฮองฮูหยินเปนที่ไทจู๋) "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ April 5, 2024.
  3. Joe Cutter, Robert; Gordon Crowell, William (1999). Empresses and Consorts: Selections from Chen Shou's Records of the Three States with Pei Songzhi's commentary (ภาษาEnglish). Honolulu: University of Hawaii Press. pp. 127–128. ISBN 9780824819453.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  5. (吳主權王夫人,琅邪人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  6. 6.0 6.1 (和子皓立,追尊夫人曰大懿皇后,封三弟皆列侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  7. (以選人宮,嘉禾中得幸,生(孫)休。及和為太子,和母貴重,諸姬有寵者,皆出居外。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.
  8. 8.0 8.1 Joe Cutter, Robert; Gordon Crowell, William (1999). Empresses and Consorts: Selectios from Chen Shou's Records of the Three States with Pei Songzhi's Commentary (ภาษาEnglish). Honolulu: University of Hawaii Press. p. 219. ISBN 9780824819453.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  9. (夫人以選入宮,黃武中得幸,生(孫)和,寵次步氏。步氏薨後,和立為太子,權將立夫人為后,而全公主素憎夫人,稍稍譖毀。及權寢疾。言有喜色,由是權深責怒,以憂死。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 50.

บรรณานุกรม แก้