ลิกี๋[b] หรือ ลีกี[c] (เสียชีวิต 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี่ จฺวี้ (จีน: 呂據; พินอิน: Lǚ Jù) ชื่อรอง ชื่ออี้ (จีน: 世議; พินอิน: Shìyì) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของลิห้อมขุนพลผู้รับใช้ซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก

ลิกี๋ (ลฺหวี่ จฺวี้)
呂據
ขุนพลทหารม้าทะยาน
(驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 253 (253) – 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 252 (252) – ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไมทราบ
เสียชีวิต12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256[a]
บุพการี
อาชีพขุนพล
ชื่อรองชื่ออี้ (世議)
บรรดาศักดิ์หว่านหลิงโหว (宛陵侯)

ในปี ค.ศ. 252 หลังซุนกวนสวรรคต วุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊กส่งกำลังทหารบุกง่อก๊ก นำไปสู่ยุทธการที่ตังหิน ลิกี๋เข้าร่วมรบในยุทธการร่วมกับจูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กและขุนพลเตงฮองและเอาชนะข้าศึกได้

ในปี ค.ศ. 256 ลิกี๋ขัดแย้งกับซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊ก และฆ่าตัวตายหลังถูกกองกำลังของซุนหลิมต้อนจนมุม

ประวัติช่วงต้น แก้

ลิกี๋ได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก (郎 หลาง) เพราะด้วยการส่งเสริมของลิห้อมผู้บิดา ต่อมาเมื่อลิห้อมป่วยหนัก ลิกี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกองพัน (副軍校尉 ฟู่จฺวินเซี่ยวเว่ย์) ช่วยดูแลราชการทหาร[4] หลังจากลิห้อมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 228 ลิกี๋ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์หว่านหลิงโหว (宛陵侯) และได้รับยศเป็นขุนพลราชองครักษ์สงบทัพ (安軍中郎將 อานจฺวินจงหลางเจี้ยง)[5]

สร้างผลงานทางการทหาร แก้

ลิกี๋มีผลงานในการปราบปรามชนเผ่าชานเยฺว่ (山越) หลายครั้ง ทุกครั้งสามารถเอาชนะข้าศึกได้อย่างราบคาบ ในปี ค.ศ. 231 ลิกี๋ติดตามพัวโยยผู้เป็นเสนาบดีกรมพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) ไปปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในเง้าเขเซีย (五谿 อู่ซี; แปลว่า "ห้าโตรกธาร"; หมายถึงพื้นที่บริเวณนครหฺวาย-ฮฺว่า มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และสร้างความดีความชอบอีกครั้ง[6]

ในปี ค.ศ. 241 ในช่วงที่จูเหียนผู้เป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) ของง่อก๊กโจมตีอ้วนเสีย (樊城 ฝานเฉิง) ลิกี๋ร่วมกับจูอี้นำกำลังบุกฝ่าวงล้อมของข้าศึกนอกป้อมปราการของอ้วนเสีย หลังกลับจากการทำศึก ลิกี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) เข้าแทนที่หม่า เสียน (馬閑) ในตำแหน่งแม่ทัพขวา (右部督 โย่วตูตู) และได้เลื่อนขึ้นเป็นนายกองพันทหารม้าเร็ว (越騎校尉 เยว่ฉีเซี่ยวเว่ย์)[7]

ในปี ค.ศ. 251 เกิดลมพัดแรงทำให้น้ำในแม่น้ำแยงซีไหลย้อนกลับและขึ้นท่วมผ่านประตูเมืองเข้ามา ลิกี๋จึงสั่งการให้เตรียมเรือขนาดใหญ่เพื่อรับมือภัยพิบัติ ซุนกวนจักรพรรดิแห่งง่อก๊กทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปตรวจสอบเรื่องน้ำท่วม ผู้แทนพระองค์กลับมาทูลรายงานเรื่องการรับมือของลิกี๋ ซุนกวนทรงชื่นชมลิกี๋และแต่งตั้งให้ลิกี๋เป็นขุนพลปราบวุย (盪魏將軍 ต้างเว่ย์เจียงจฺวิน)[8]

ลิกี๋เข้าร่วมพัวพันในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระโอรส 2 องค์ของซุนกวนคือซุนโฮผู้เป็นรัชทายาทและซุน ป้า (孫霸) ผู้เป็นอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) โดยลิกี๋สนับสนุนซุน ป้า เผย์ ซงจือนักประวัติศาสตร์ผู้เขียนอรรถาธิบายเสริมในจดหมายเหตุสามก๊กวิจารณ์ลิกี๋อย่างหนักในเรื่องนี้ โดยเผย์ ซงจือมีความเห็นว่าการกระทำของลิกี๋ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนี้เพียงพอที่จะลบล้างความดีความชอบของลิกี๋ในอดีตไป

ในปี ค.ศ. 252 เมื่อซุนกวนทรงพระประชวรหนัก ทรงแต่งตั้งให้ลิกี๋เป็นแม่ทัพขวาของรัชทายาท (太子右都督 ไท่จื่อโย่วตูตู)[9] หลังซุนกวนสวรรคต รัชทายาทซุนเหลียงขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ลิกี๋เป็นขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)[10] ในปีเดียวกันนั้น วุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊กส่งทัพเข้าโจมตีตังหิน (東興 ตงซิง; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ลิกี๋เข้าร่วมในยุทธการ นำกองกำลังต้านข้าศึกมีความดีความชอบ[11]

ในปี ค.ศ. 253 ซุนจุ๋นสังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จูกัดเก๊ก ตัวซุนจุ๋นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน ซุนจุ๋นเลื่อนยศให้ลิกี๋เป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) ดูแลราชการในพระราชวังตะวันตก[12]

ในปี ค.ศ. 255 ลิกี๋ได้รับมอบอาญาสิทธิ์ และติดตามซุนจุ๋นพร้อมกับคนอื่น ๆ ในการเข้าโจมตีฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) แต่โจมตีไม่สำเร็จและต้องถอยทัพกลับ ระหว่างทางได้พบกับเฉา เจิน (曹珍) ขุนพลวุยก๊ก ลิกี๋เอาชนะเฉา เจินได้ที่เกาถิง (高亭)[13]

ฆ่าตัวตาย แก้

ในปี ค.ศ. 256 ลิกี๋นำทัพเข้าโจมตีวุยก๊ก ก่อนที่ลิกี๋จะยกไปถึงแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) ก็ได้ข่าวการเสียชีวิตของซุนจุ๋น จากนั้นซุนหลิมลูกพี่ลูกน้องของซุนจุ๋นได้ขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนที่ซุนจุ๋นและปกครองอย่างเผด็จการ ลิกี๋ได้ยินเรื่องนี้จึงนำทัพกลับมาทันที หวังจะโค่นล้มซุนหลิม ซุนหลิมทราบเรื่องลิกี๋จึงส่งบุนขิม, เล่าเบา, ต๋องจู และคนอื่น ๆ ไปจับกุมลิกี๋ ซุนหลิมยังส่งซุน เซี่ยน (孫憲) ญาติผู้พี่ไปป้องกันเจียงตู (江都) ทหารใต้บังคับบัญชาของลิกี๋เห็นว่าจะต้องพ่ายแพ้เป็นแน่ จึงเสนอให้ลิกี๋ไปสวามิภักด์ต่อวุยก๊ก แต่ลิกี๋ปฏิเสธและกล่าวว่า "อับอายที่จะต้องเป็นขุนนางทรยศ" จากนั้นลิกี๋จึงฆ่าตัวตาย[d] ตระกูลของลิกี๋ถูกกวาดล้างสามชั่วโคตร[14]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. 1.0 1.1 ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าลิกี๋ถูกจับและถูกประหารชีวิตในวันซินไฮ่ (辛亥) ในเดือน 10 ของศักราชไท่ผิงปีที่ 1 ในรัชสมัยของซุนเหลียง[1] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 256 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 83[2]
  3. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 80[3]
  4. ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าลิกี๋ถูกจับตัวที่ซินโจว (新州) และถูกประหารชีวิต[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ([太平元年十月]辛亥,獲呂據於新州。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  2. ("พระเจ้าซุนฮิวจึงตวาดว่า เมื่อเตงอิ๋นกับลิกี๋แลอองตุ๋นนั้นก็อ้อนวอนขอชีวิตจะลาไปอยู่บ้านเก่าเหตุใดตัวจึงฆ่าเสียเล่า แล้วก็ให้เตียวปอเอาตัวซุนหลิมไปฆ่าเสีย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 7, 2024.
  3. ("จูกัดเก๊กจึงว่าท่านว่านี้ชอบนัก ท่านจงเปนแม่ทัพเรือคุมทหารสามพันยกไป ลีกีต๋องจูเล่าเบาทหารสามคนนี้คุมทหารคนละหมื่น เปนแม่ทัพบกยกไปเปนสามกอง ตัวข้าพเจ้าจะยกทัพหลวงหนุนไป เมื่อจะยกเข้าตีนั้นมีประทัดสัญญา ถ้าได้ยินเสียงประทัดก็ให้แม่ทัพแม่กองเร่งยกเข้าตีให้พร้อมกันทั้งบกทั้งเรือ เตงฮองก็ยกทัพเรือสามสิบลำคุมทหารสามพันยกไปเมืองตังหิน ลีกีต๋องจูเล่าเบาคุมทหารคนละหมื่นเปนทัพบกยกไปเมืองตังหิน จูกัดเจ๊กก็ยกทัพหลวงหนุนไป") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 7, 2024.
  4. (據字世議。以父任為郎,後范寢疾,拜副軍校尉,佐領軍事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  5. (范卒,遷安軍中郎將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  6. (數討山賊,諸深惡劇地,所擊皆破、隨太常潘浚討五溪,復有功。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  7. (朱然攻樊,據與朱異破城外圍,還拜偏將軍。入補馬閒右部督,遷越騎校尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  8. (太元元年,大風,江水溢流,漸淹城門,權使視水,獨見據使人取大船以備害。權嘉之,拜蕩魏將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  9. (權寢疾,以據為太子右部督。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  10. (太子即位,拜右將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  11. (魏出東興,據赴討有功。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  12. (明年,孫峻殺諸葛恪,遷據為驃騎將軍,平西宮事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  13. (五鳳二年,假節,與峻等襲壽春,還遇魏將曹珍,破之於高亭。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  14. (太平元年,帥師侵魏,未及淮,聞孫峻死,以從弟綝自代,據大怒,引軍還,欲廢綝。綝聞之,使中書奉詔,詔文欽、劉纂,唐咨等使取據,又遣從兄慮以都下兵逆據於江都。左右勸據降魏,據曰:"恥為叛臣。"遂自殺。夷三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.

บรรณานุกรม แก้