เตียวก๊ก (เสียชีวิต ค.ศ. 184) มีชื่อในสำเนียงจีนกลางว่า จางเจวี๋ย หรือ จางเจี่ยว (จีนตัวย่อ: 张角; จีนตัวเต็ม: 張角; พินอิน: Zhāng Jué หรือ Zhāng Jiǎo) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลือง ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของประเทศจีน [1]

เตียวก๊ก
ภาพวาดเตียวก๊กสมัยราชวงศ์ชิง
ผู้นำแห่งกบฏโจรโพกผ้าเหลือง
เกิดไม่ปรากฏ
สถานที่เกิดเมืองกิลกกุ๋น
(ปัจจุบันคืออำเภอหนิงจิ้น มณฑลเหอเป่ย์)
ถึงแก่กรรมค.ศ. 184 [1]
สถานที่ถึงแก่กรรมเมืองกงจ๋ง
(ปัจจุบันคืออำเภอกว่างจง มณฑลเหอเป่ย์)
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม張角
อักษรจีนตัวย่อ张角
ยุคในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก

ชื่อในภาษาจีนกลางของเตียวก๊กคือ "จางเจวี๋ย" บางครั้งอ่านเป็น "จางเจี่ยว" เพราะตัวอักษร 角 ซึ่งเป็นชื่อตัวของเตียวก๊กสามารถอ่านได้ทั้ง "เจวี๋ย" และ "เจี่ยว" โดย "เจวี๋ย" เป็นคำอ่านแบบเก่าและ "เจี่ยว" เป็นคำอ่านแบบใหม่

กบฏโพกผ้าเหลือง แก้

ในปี ค.ศ. 184 เตียวก๊กตั้งตนเองเป็น "ปรมาจารย์" (大賢良師) ขึ้นเป็นผู้นำของกบฏโพกผ้าเหลืองพร้อมกับน้องชายคือเตียวโป้ (張寶) และเตียวเหลียง (張梁) ภายใต้การรณรงค์ที่เรียกว่า "วิถีสวรรค์" หรือ "วิถีสันติ" เตียวก๊กตั้งตนเองเป็น "ขุนพลสวรรค์" (天公將軍) ตั้งเตียวโป้เป็น "ขุนพลแผ่นดิน" (地公將軍) และตั้งเตียวเหลียงเป็น "ขุนพลมนุษย์" (人公將軍) [2] กบฏโพกผ้าเหลืองอ้างตนเป็นผู้นับถือลัทธิเต๋าและก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ฮั่น เพื่อตอบสนองต่อการเก็บภาษีอย่างหนัก การฉ้อราษฎร์บังหลวง ภาวะข้าวยากหมากแพง และอุทกภัย ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าพระเจ้าเลนเต้ได้สูญเสียอาณัติแห่งสวรรค์แล้ว

กบฏโพกผ้าเหลืองได้รับชัยชนะเป็นส่วนมากในช่วงเริ่มต้นของการก่อกบฏ แต่ภายหลังกลับไม่สามารถต้านทานกองทัพหลวงของราชวงศ์ฮั่นที่นำโดยโฮจิ๋น โลติด ตั๋งโต๊ะ ฮองฮูสง จูฮี และคนอื่น ๆ ได้ เมื่อเตียวก๊กเสียชีวิต กบฏโพกผ้าเหลืองก็อ่อนแอลงจนในที่สุดก็ถูกปราบปรามและถูกตีกระจัดกระจายไป เตียวโป้ถูกปราบปรามและถูกสังหารโดยกองทัพหลวงที่นำโดยฮองฮูสงและกัวเตี่ยน (郭典) ที่อำเภอเซี่ยชวีหยาง (下曲陽縣 เซี่ยชวีหยางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองจิ้นโจว มณฑลเหอเป่ย์) [3] ส่วนเตียวเหลียงถูกปราบปรามและถูกสังหารโดยกองทัพหลวงที่นำโดยฮองฮูสงที่อำเภอกงจ๋ง (廣宗縣 กว่างจงเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอกว่างจง มณฑลเหอเป่ย์)[4]

กลุ่มใหญ่หลายกลุ่มของกบฏโพกผ้าเหลืองยังคงร่อนเร่ไปทั่วจีนเป็นเวลาอีกหลายปีหลังกบฏถูกปราบปราม ในที่สุดส่วนใหญ่ก็ไปเข้าร่วมเป็นทหารของขุนศึกโจโฉ ซึ่งมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินคล้ายคลึงกับของเตียวก๊ก [5]

ในวรรณกรรม สามก๊ก แก้

เตียวก๊กปรากฏเป็นตัวละครในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในตอนที่ 1 ของนิยาย ตรงกับในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 ตามความดังนี้

ฝ่ายเมืองกิลกกุ๋นนั้น มีชายพี่น้องสามคน ชื่อเตียวก๊กหนึ่ง เตียวโป้หนึ่ง เตียวเหลียงหนึ่ง แลเตียวก๊กนั้นไปเที่ยวหายาบนภูเขา พบคนแก่คนหนึ่ง ผิวหน้านั้นเหมือนทารก จักษุนั้นเหลืองมือถือไม้เท้า คนนั้นพาเตียวก๊กเข้าไปในถํ้าจึงให้หนังสือตำราสามฉบับ ชื่อไทแผงเยาสุด แล้วว่าตำรานี้ท่านเอาไปช่วยทำนุบำรุงคนทั้งปวงให้อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าตัวคิดร้ายมิซื่อตรงต่อแผ่นดิน ภัยอันตรายจะถึงตัว เตียวก๊กกราบไหว้แล้วจึงถามว่าท่านนี้ชื่อใด คนแก่นั้นจึงบอกว่า เราเป็นเทวดา บอกแล้วก็เป็นลมหายไป ฝ่ายเตียวก๊กก็กลับมาบ้าน จึงเรียนตามตำราทั้งกลางวันกลางคืน ก็เรียกลมเรียกฝนได้สารพัดทุกประการ จึงตั้งตัวเป็นโต๋หยิน แปลภาษาไทยว่าพราหมณ์มีความรู้ [6]

จากนั้นเตียวก๊กจึงเริ่มการก่อการกบฏโพกผ้าเหลืองร่วมกับน้องชาย ในนิยายกล่าวถึงเตียวก๊กเพียงไม่กี่ครั้ง การเสียชีวิตของเตียวก๊กถูกกล่าวถึงในข้อความในตอนที่ 2 ของนิยาย (ตรงกับในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1) ว่า "บัดนี้ฮองฮูสงยกพลไปรบกับเตียวก๊ก เตียวก๊กตายก่อนแล้ว" [6] ในนิยาย เตียวโป้น้องชายของเตียวก๊กไม่ได้เสียชีวิตในการรบกับกองทัพหลวง แต่ถูกลอบสังหารโดยลูกน้องชื่อลำแจ้ง (嚴政) ซึ่งตัดศีรษะของเตียวโป้แล้วไปสวามิภักดิ์ต่อกองทัพหลวง [7]

ความนิยมในรูปแบบอื่น ๆ แก้

ภายหลังในปลายสมัยราชวงศ์ชิง หงซิ่วเฉวียน ซึ่งเกิดในครอบครัวชาวนา อำเภอกวนผู่ลู่ มณฑลกวางตุ้ง ได้แอบอ้างตนว่าเป็นน้องชายของพระเยซู เข้ารีตในคริสต์ศาสนา และได้ก่อตั้งลัทธิไท่ผิงขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งเชิดชูเตียวก๊กเป็นศาสดาคนแรกของลัทธิ เขาได้นำไพร่พลสาวก ก่อตั้งอาณาจักร "ไท่ผิงเทียนกั๋ว" (太平天国) หรือ อาณาจักรสวรรค์แห่งสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ สุดท้ายถูกทางราชสำนักชิงส่งกองทัพเข้าปราบปรามได้สำเร็จ หงซิ่วเฉวียนฆ่าตัวตายใน พ.ศ. 2407

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 de Crespigny (2007), p. 1058.
  2. (角稱「天公將軍」,角弟寶稱「地公將軍」,寶弟梁稱「人公將軍」, ...) โฮ่วฮันชู เล่มที่ 71.
  3. (嵩復與鉅鹿太守馮翊郭典攻角弟寶於下曲陽,又斬之。) โฮ่วฮันชู เล่มที่ 71.
  4. (嵩與角弟梁戰於廣宗。梁眾精勇,嵩不能剋。明日,乃閉營休士,以觀其變。知賊意稍懈,乃潛夜勒兵,雞鳴馳赴其陳,戰至晡時,大破之,斬梁,獲首三萬級,赴河死者五萬許人,焚燒車重三萬餘兩,悉虜其婦子,繫獲甚眾。) โฮ่วฮันชู เล่มที่ 71.
  5. Pletcher, Kenneth (2010). The History of China. New York: Rosen Publishing. ISBN 9781615301096.
  6. 6.0 6.1 สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1.
  7. (賊勢危急,賊將嚴政,刺殺張寶,獻首投降。) สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 2.