ยุควสันตสารท
วสันตสารท หรือภาษาจีนว่า ชุนชิว (จีน: 春秋; พินอิน: Chūnqiū; อังกฤษ: Spring and Autumn period) เป็นชื่อยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนโบราณ อยู่ระหว่าง ประมาณ 770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช (บางข้อมูลถือ 482 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 365 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1]) เป็นยุคหนึ่งในราชวงศ์โจว ราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน นับเป็นยุคสมัยที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากในแง่ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นยุคที่นครรัฐแต่ละรัฐรบด้วยด้วยกลอุบายที่แยบยล ก่อให้เกิดเป็นตำนานและเรื่องเล่าขานมากมายจนปัจจุบัน และเป็นต้นเรื่องที่ทำให้เกิดวรรณคดีจีนเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ เลียดก๊ก ซึ่งถูกรวมไว้ด้วยกันกับยุคจ้านกว๋อ (หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อเลียดก๊ก) การรบในยุคชุนชิวนั้นหลายเรื่องได้อ้างอิงในสามก๊กที่เกิดหลังจากนี้อีกนับพันปีต่อมา
ยุควสันตสารท | |||||||||||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 春秋時代 | ||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 春秋时代 | ||||||||||||||||||||||||||||||
ฮั่นยฺหวี่พินอิน | Chūn-Qiū Shídài | ||||||||||||||||||||||||||||||
|
อีกแง่หนึ่ง เป็นยุคที่นักปราชญ์บัณฑิตแต่ละสาขาได้ถือกำเนิดและมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้แต่งตำราหรือคำสอนต่าง ๆ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ขงจื๊อ, เล่าจื๊อ, เม่งจื๊อ, ม่อจื๊อ เป็นต้น ในส่วนของปราชญ์แห่งสงคราม ก็คือ ซุนวู นั่นเอง[2]
กำเนิดยุควสันตสารท
แก้ราชวงศ์โจวปกครองด้วยกษัตริย์อย่างเข้มแข็งมากว่า 11 องค์ จนกระทั่งถึงรัชกาลของพระเจ้าโจวโยว (รัชกาลที่ 12) อำนาจของราชวงศ์โจวก็เริ่มเสื่อมถอย เพราะพระเจ้าโจวโยวมัวแต่หมกมุ่นกับสุราและนารี จนกระทั่งถูกข้าศึกจับกุมตัวไป
7 ปีต่อมา กองทัพผสมของอ๋องต่าง ๆ ในแต่ละรัฐได้รวมตัวกันขับไล่ข้าศึกออกไป และอัญเชิญโอรสของโจวอิวหวางขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า พระเจ้าโจวผิง ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองเฮ่าจิง มาอยู่ที่ลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก ยุคนี้ต่อมานักประวัติศาสตร์จึงได้เรียกว่า ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก (Eastern Zhou) หรือ ยุควสันตสารท นั่นเอง (ที่เรียกว่า วสันตสารท ที่หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงนั้นมาจากชื่อคัมภีร์ของขงจื๊อที่บันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในยุคนี้ ที่ชื่อ บันทึกแห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง หรือ วสันตสารท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของขงจื๊อด้วย ผู้คนจึงเรียกชื่อยุคนี้ตามคัมภีร์ และคัมภีร์เล่มนี้ก็นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วสันตสารท เช่นกัน โดยใช้คำว่า วสันตสารท เป็นการเปรียบเปรยเหมือนกับนครรัฐต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและดับไปเหมือนดั่งใบไม้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง[3]) ซึ่งยุคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุคใหญ่ต่อเนื่องกัน ๆ คือ
- ยุควสันตสารท (770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
- ยุครณรัฐ หรือยุคจ้านกว๋อ (477 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 222 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ซึ่งในยุควสันตสารทนั้น นครรัฐต่าง ๆ ที่เคยมีอย่างมากมายในยุคราชวงศ์โจวก่อนหน้านั้น เหลือเพียง 140 รัฐ จากการถูกผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐที่เข้มแข็งกว่า มีบันทึกว่า รัฐหลู่ทำลาย 58 รัฐ รัฐจิ้นทำลาย 24 รัฐ รัฐฉินทำลาย 15 รัฐ รัฐฉีทำลาย 14 รัฐ รัฐเจิ้งทำลาย 6 รัฐ รัฐอู๋ทำลาย 5 รัฐ และรัฐทั้ง 140 รัฐนี้ มีรัฐที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีอำนาจที่แท้จริงไม่ถึง 10 รัฐ
รัฐใหญ่เหล่านี้ มีผู้ปกครองเรียกว่า "อ๋อง" มเหสีเรียกว่า "ฮองเฮา" และอัครมหาเสนาบดีเรียกว่า "ไจ่เซี่ยง" เช่นเดียวกับราชวงศ์โจว แม้กษัตริย์ของราชวงศ์โจวยังคงอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็ต้องโอนเอียงไปตามความปรารถนาของอ๋องแต่ละรัฐ นับได้ว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น
สำหรับเจ้าผู้ครองรัฐใหญ่เหล่านี้ ต่างแย่งชิงกันเป็น "ป้าจู่" (ปาอ๋อง) หมายถึง เจ้าผู้ปกครองรัฐที่มีอำนาจสูงสุด สำหรับอ๋องในยุควสันตสารทที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ปาอ๋อง อย่างแท้จริงมี 5 คน คือ ฉีหวนกง, จิ้นเหวินกง, ฉินมู่กง, ซ่งเซียงกง และ ฉู่จวงหวาง
อุบายนางงามไซซี
แก้ไซซี หรือ ซีซือ (อังกฤษ: Xi Shi; จีน: 西施; พินอิน: Xī Shī) เป็นหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน เกิดประมาณ ปี 506 ก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุควสันตสารท ที่มณฑลเจ้อเจียง ในรัฐเยว่
ไซซีได้รับฉายานามว่า "มัจฉาจมวารี" (จีน: 沉魚; พินอิน: chén yú) ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ"
ในยุคเลียดก๊กที่ แต่ละรัฐรบกันนั้น รัฐอู๋เป็นรัฐที่มีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งจึงสามารถรบชนะรัฐเยว่และจับตัว เยว่อ๋องโกวเจี้ยน และอัครเสนาบดีฟ่านหลีไปเป็นตัวประกันที่รัฐอู๋ด้วย เยว่อ๋องโกวเจี้ยนต้องการที่จะแก้แค้นเพื่อกู้ชาติแต่จำต้องยอมจงรักภักดี เพื่อให้อู๋อ๋องไว้ใจ
ครั้งหนึ่งอู๋อ๋องเกิดมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายไม่สามารถให้การรักษาได้ เยว่อ๋องโกวเจี้ยนได้ชิมอุจจาระของอู๋อ๋องต่อหน้าเสนาธิการทั้งปวง และบอกว่าอู๋อ๋องเพียงแค่มีพระวรกายที่เย็นเกินไป หากได้ดื่มสุราและทำร่างกายให้อบอุ่นขึ้นก็จะมีอาการดีขึ้นเอง และเมื่ออู๋อ๋องได้ทำตามก็หายประชวร อู๋อ๋องเห็นว่าเยว่อ๋องโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดีจึงปล่อยตัวกลับคืนสู่รัฐเยว่ เมื่อกลับสู่รัฐเยว่ เยว่อ๋องโกวเจี๋ยนก็วางแผนที่จะกู้ชาติทันที โดยมีฟ่านหลี่เป็นอำมาตย์คอยให้คำปรึกษา ฟ่านหลี่ได้เสนอแผนการสามอย่าง คือ ฝึกฝนกองกำลังทหาร พัฒนาด้านกสิกรรม และ ส่งสาวงามไปเป็นเครื่องบรรณาการ พร้อมกับเป็นสายคอยส่งข่าวภายในให้ ไซซีเป็นหญิงสาวชาวบ้าน ลูกสาวคนตัดฟืนที่เขาจู้หลัวซาน (ภาษาฮกเกี้ยน กิวล่อซัว) นางถูกพบครั้งแรกขณะซักผ้าริมลำธาร นางมีหน้าตางดงามมาก พร้อมกับนางเจิ้งตัน (แต้ตัน) ซึ่งมีความงามไม่แพ้กัน ฟ่านหลี่ (เถาจูกง) เสนาบดีรัฐเยว่เป็นผู้ดูแลอบรมนางทั้ง 2 ให้มีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง เป็นเวลานานถึง 3 ปี เพื่อที่จะไปเป็นบรรณาการให้กับรัฐอู่ เพื่อมอมเมาให้อู่อ๋องฟูซา เจ้านครรัฐอู่ ลุ่มหลงอยู่กับเสน่ห์ของนาง จนไม่บริหารบ้านเมือง ซึ่งอู๋อ๋องฟูซาหลงใหลนางไซซีมากกว่านางเจิ้งตัน ทำให้นางเจิ้งตันน้อยใจจนผูกคอตาย ขณะที่มาอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ผ่านไป 13 ปี เมื่อรัฐอู่อ่อนแอลง รัฐเยว่ก็สามารถเอาชนะได้สำเร็จในที่สุด
ภายหลังจากที่อู่อ๋องฟูซา ฆ่าตัวตายไปแล้ว นางกับอำมาตย์ฟ่านหลี่ที่ว่ากันว่า ได้ผูกสัมพันธ์ทางใจไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ก็ได้หายตัวไปพร้อมกันหลังเหตุการณ์นี้ บ้างก็ว่าทั้งคู่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ และไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่ทะเลสาบไซ้โอว (ทะเลสาบซีหู) เป็นต้น[2]
สิ้นสุดราชวงศ์โจว
แก้ราชวงศ์โจวและยุควสันตสารทยุคสุดท้าย คือ ยุครณรัฐ หรือ เลียดก๊ก ซึ่งเป็นยุคที่แต่ละรัฐรบกันอย่างต่อเนื่อง ในปี 246 ก่อนคริสต์ศักราช ฉินหวังเจิ้ง (ต่อมาคือ ฉินสื่อหวง หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกของจีน) ได้สืบราชบัลลังก์รัฐฉินต่อมา โดยมีที่ปรึกษาเช่น เว่ยเหลียว, หลี่ซือ เป็นต้น ช่วยเหลือในการรวบรวมแผ่นดิน บ้างใช้เงินทองล่อซื้อบรรดาขุนนางของ 6 รัฐที่เหลือ แทรกซึมเข้าไปก่อความวุ่นวายในการปกครองของนครรัฐทั้ง 6 บ้าง อีกทั้งส่งกองกำลังรุกเข้าประชิดดินแดนปีแล้วปีเล่า เมื่อถึงปี 230 ก่อนคริสต์ศักราช รัฐฉินโจมตีนครรัฐหานแตกพ่ายไป เมื่อถึงปี 221 ก่อนคริสต์ศักราชกำจัดรัฐฉีสำเร็จ จากนั้น 6 นครรัฐต่างก็ทยอยถูกรัฐฉินกลืนตกไป แผ่นดินจีนจึงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในยุคใหม่ คือ ราชวงศ์ฉิน[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "ยุคชุนชิว". เว็บไซต์ผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-26.
- ↑ 2.0 2.1 พีรยุทธ สุเทพคีรี. เถาจูกง เทพเจ้าแห่งการค้าขายของจีน. กรุงเทพฯ : สร้อยทอง, 2550. 141 หน้า. ISBN 9748437876
- ↑ หน้า 3, หมุดนั้น สำคัญฉะนี้. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21646: วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "Rulers of the states of Zhou", Dynasty, C text – linked to their occurrences in classical Chinese texts.
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Art of the Spring and Autumn Period