กลยุทธ์หลบหนี
กลยุทธ์หลบหนี หรือ โจ่วเหวยซ่าง (อังกฤษ: If everything else fails, retreat; จีนตัวย่อ: 走为上; จีนตัวเต็ม: 走為上; พินอิน: Zǒu wéi shàng) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก เป็นกลยุทธ์ที่หมายความถึงเมื่อทำการศึกสงครามกับศัตรู หากศัตรูมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็ง มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ชำนาญภูมิศาสตร์ เป็นต่อในทุก ๆ ด้านไม่มีช่องโหว่ให้พลิกเอาชัยชนะแม้แต่น้อย ขืนนำกำลังเข้าต่อสู้ก็มีแต่สูญเสีย การถอยหนีย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ภาพแสดงกลุ่ม "กลยุทธ์ยามพ่าย" | |
ผู้วางกลศึก | จูกัดเหลียง |
---|---|
ผู้ต้องกลศึก | จิวยี่ |
ผู้ร่วมกลศึก | เล่าปี่, จูล่ง, เตงฮอง, ชีเซ่ง |
ประเภท | กลยุทธ์ยามพ่าย |
หลักการ | ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยแห่งสงคราม |
สาเหตุ | จิวยี่หวาดกลัวในสติปัญญาอันหลักแหลมและการหยั่งรู้ฟ้าดินมหาสมุทรของจูกัดเหลียง เกรงปล่อยไว้จะเป็นภัยแก่กังตั๋งในภายหน้า |
สถานที่ | ลำเขาปินสาน |
ผลลัพธ์ | จูกัดเหลียงลอบหลบหนี จากการปองร้ายของจิวยี่กลับคืนสู่กังแฮอย่างปลอดภัย |
กลศึกก่อนหน้า | กลยุทธ์ลูกโซ่ |
คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยแห่งสงคราม" ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามนั้นมิใช่ความผิดผลาด หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการทำศึกที่มักจะพบเห็นเสมอ นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวว่า "การพ่ายแพ้หมายถึงความล้มเหลวในทุก ๆ ด้าน การยอมสงบศึกหมายถึงการล้มเหลวในบางด้าน แต่การหนีมิได้หมายความว่าล้มเหลวเลย"[1] ดังนั้นการถอยหนีเป็นการถอยเพื่อหาหนทางหลีกเลี่ยงความเสียหาย แลหาโอกาสชิงตอบโต้ในภายหลัง มิใช่เป็นการถอยหนีอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์หลบหนีไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ลอบหลบหนีจิวยี่ภายหลังจากทำพิธีเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ที่ลำเขาลำปินสานเพื่อใช้ไฟเผากองทัพเรือโจโฉในคราวศึกเซ็กเพ็ก[2]
ตัวอย่างกลยุทธ์
แก้เมื่อคราวศึกเซ็กเพ็กระหว่างโจโฉ ซุนกวนและเล่าปี่ จิวยี่ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพของกังตั๋งในการทำศึกสงคราม ได้เตรียมแผนการโดยใช้ไฟเผาทัพเรือโจโฉร่วมกับจูกัดเหลียงแต่ติดขัดด้วยวิธีการ อุยกายซึ่งเป็นแม่ทัพอาวุโสยอมใช้กลยุทธ์ทุกข์กายให้จิวยี่โบยตีเพื่อลวงโจโฉให้หลงเชื่อและทำทีของสวามิภักดิ์ ก่อนลอบนำเรือเร็วเผาทัพเรือให้วอดวาย จิวยี่ออกตรวจตราความพร้อมของกองทัพร่วมกับโลซกและถูกชายธงศึกสะบัดใส่ใบหน้า ทำให้รู้ว่าในขณะนี้เป็นฤดูหนาว จึงมีเพียงแต่ลมพัดจากตะวันตกเฉียงเหนือพัดเท่านั้นที่พัดผ่าน แผนการเผาทัพเรือโจโฉจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะถ้าใช้ไฟก็เท่ากับเป็นการเผาทำลายทัพของตนเอง จะดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ได้ต้องอาศัยลมตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวช่วยเท่านั้น
จิวยี่เกิดความวิตกกังวลจนไอเป็นเลือดและล้มป่วยลง จูกัดเหลียงจึงทำทีมาเยี่ยมเยียนและสอบถามอาการป่วยของจิวยี่พร้อมกับโลกซก และเมื่อทราบสาเหตุอาการป่วยของจิวยี่จึงเขียนอักษรสิบหกตัวมอบให้ใจความว่า "ซึ่งจะคิดกำจัดโจโฉนั้นก็ได้จัดแจงการไว้ทุกสิ่งเสร็จแล้ว เพื่อหวังจะเอาเพลิงเผากองทัพโจโฉเสีย ยังขาดอยู่แต่ลมสลาตันซึ่งมิได้พัดมาสมความคิดท่านเท่านั้น"[3] รวมทั้งรับอาสารักษาอาการป่วยของจิวยี่ให้หายเป็นปกติด้วยการเป็นผู้เรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ให้ ซึ่งความเป็นจริงจูกัดเหลียงไม่มีพลังอำนาจในการเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นเพราะเรียนรู้หลักการทางดาราศาสตร์ สภาพลมฟ้าอากาศ เรียนรู้จากตำราว่าในเดือนอ้ายแรมห้าค่ำ ซึ่งเหลือเวลาอีกสามวันจะเกิดลมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน และเพื่อให้จิวยี่เกิดความเกรงกลัวจึงกล่าวอวดอ้างว่าสามารถเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ได้ และขอให้สร้างแท่นบูชาดาวทั้งเจ็ดที่ลำเขาปินสานสำหรับทำพิธี
จูกัดเหลียงเตรียมหาช่องทางสำหรับหลบหนีจากการลอบทำร้ายของจิวยี่ โดยได้นัดแนะกับเล่าปี่ไว้ให้จูล่งนำเรือมารอรับในคราวที่จิวยี่เชิญมากินโต๊ะเพื่อหวังฆ่าให้ตาย แต่แผนการไม่สำเร็จเนื่องจากกวนอูติดตามมาด้วย ก่อนจะเตรียมการทำพิธีเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ให้แก่จิวยี่เพื่อใช้เผาทำลายทัพเรือโจโฉ โดยขออาญาสิทธิ์จากจิวยี่เพื่อให้ทำการได้สะดวก รวมทั้งสั่งการแก่ทหารทั้งหมดภายในแท่นพิธีบูชาว่า "บัดนี้เราจะทำการใหญ่ แต่บรรดาทหารซึ่งเราจัดไว้นี้ถ้าเห็นเราทำประการใด ก็อย่าให้พูดจาเดินไปมาจากที่ ให้นิ่งปกติอยู่จนกว่าเราจะสำเร็จ แม้ผู้ใดไม่ฟังเราจะเอากระบี่อาญาสิทธิ์ซึ่งจิวยี่ให้มานี้ตัดศีรษะเสีย"[4] จากนั้นจึงแต่งกายในชุดลัทธิเต๋า ปล่อยผมยาวสยาย ถือกระบี่สำหรับใช้ทำพิธีเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้และทำทีเป็นร่ายรำกระบี่และอ่านมนตรา จิวยี่เฝ้ารอคอยลมตะวันออกเฉียงใต้ตามคำบอกกล่าวของจูกัดเหลียงด้วยความหวัง แม้ภายในจิตใจจะไม่เชื่อตามคำอวดอ้างที่จูกัดเหลียงสามารถเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูหนาวได้
จนกระทั่งคืนวันที่สามภายหลังจากทำพีธีเรียกลม จึงเกิดกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่านสร้างความตื่นเต้นดีใจให้แก่จิวยี่เป็นอย่างยิ่ง เมื่อเรียกลมตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จตามที่รับปากแก่จิวยี่แล้ว จูกัดเหลียงก็ลอบหลบหนีจากแท่นบูชาไปลงเรือตามที่ได้นัดแนะไว้กับเล่าปี่โดยที่ทหารจิวยี่ที่รายล้อมแท่นบูชาไม่อาจทำอะไรได้ จิวยี่เมื่อเห็นกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมาในฤดูหนาวตามคำอวดอ้าง ก็นึกหวาดกลัวในสติปัญญาอันหลักแหลมและการหยั่งรู้ฟ้าดินมหาสมุทรของจูกัดเหลียง เกรงปล่อยไว้จะเป็นภัยแก่กังตั๋งในภายหน้า จึงสั่งการให้เตงฮองคุมทหารร้อยคนไปยังแท่นพิธีบูชาที่ลำเขาปินสานเพื่อฆ่าจูกัดเหลียงให้ตายและตัดศีรษะมามอบให้ และให้ชีเซ่งคุมทหารร้อยคนไปดักสกัดจับจูกัดเหลียงอยู่บริเวณชายทะเล ครั้นเตงฮองนำกำลังทหารไปถึงก็ไม่พบตัวจูกัดเหลียง จึงออกติดตามไปจนพบชีเซ่งและทันเรือของจูล่งที่มารอรับ ชีเซ่งร้องเรียกให้จูกัดเหลียงหยุดรอก่อนเพื่อบอกกล่าวถ้อยคำของจิวยี่ตามที่ได้รับมา
แต่จูกัดเหลียงให้ชีเซ่งกลับไปบอกกล่าวแก่จิวยี่ว่า "ท่านจงกลับไปบอกจิวยี่เถิดว่าบัดนี้ลมก็มีมาแล้ว ให้เร่งจัดแจงทำการกับโจโฉจงดี อันตัวเรานี้จะลากับไปเมืองกังแฮก่อน ต่อวันอื่นจึงจะกลับมาเยี่ยมจิวยี่"[5] จูล่งที่อยู่ในเรือร้องบอกแก่ชีเซ่งไม่ให้ติดตามมาพร้อมกับยิงเกาฑัณฑ์ขู่โดยไม่คิดทำร้ายแต่เพื่อให้ชีเซ่งประจักษ์ในฝีมือ โดยจูล่งเลือกยิงสายลดใบเรือให้ขาดตกลงมา ทำให้ชีเซ่งและทหารเกรงกลัวในฝีมือเชิงยุทธ์ของจูล่งไม่กล้านำทัพติดตามไป กลยุทธ์หลบหนีหรือโจ่วเหวยซ่างของจูกัดเหลียง ก็ประสบความสำเร็จในการเอาหลบหนีเอาตัวรอดจากการถูกปองร้ายของจิวยี่ และเดินทางกลับไปหาเล่าปี่พร้อมกับจูล่งที่กังแฮได้อย่างงดงาม
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- 36 กลยุทธ์ :: หนีคือยอดกลยุทธ์ เก็บถาวร 2008-09-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
แก้- ↑ หนีคือสุดยอดกลยุทธ์, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
- ↑ โจ่วเหวยซ่าง กลยุทธ์หลบหนี, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 251, ISBN 978-974-690-595-4
- ↑ จูกัดเหลียงออกอุบายให้จิวยี่เตรียมทัพแล้วหนีไป, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 652
- ↑ จูกัดเหลียงออกอุบายให้จิวยี่เตรียมทัพแล้วหนีไป, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 653
- ↑ จูกัดเหลียงออกอุบายให้จิวยี่เตรียมทัพแล้วหนีไป, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 656