กุยแก
กุยแก (อังกฤษ: Guo Jia; จีน: 郭嘉; พินอิน: Guō Jiā; 170-207)[a] ชื่อรอง เฟิ่งเซี่ยว (奉孝) เป็นที่ปรึกษาของโจโฉในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ตลอด 11 ปีที่เขารับใช้โจโฉ กุยแกได้ช่วยเหลือโจโฉอย่างมากด้วยความเฉลียวฉลาดและการมองการณ์ไกล และกลยุทธ์ของเขาก็มีส่วนสำคัญต่อชัยชนะของโจโฉในการเอาชนะขุนศึกคู่แข่งเช่น ลิโป้ และอ้วนเสี้ยว ตัวอย่างเช่น สี่ปีก่อนที่โจโฉจะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนืออ้วนเสี้ยว ในยุทธการที่กัวต๋อ กุยแกเล็งเห็นแล้วว่าโจโฉจะชนะเมื่อเขาชี้ให้เห็นถึงข้อดี 10 ประการของโจโฉและชี้ให้เห็นถึงข้อเสีย 10 ประการของอ้วนเสี้ยว
กุยแก | |||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() ภาพวาดของกุยแกสมัยราชวงศ์ชิง | |||||||||||||||
เสนาธิการแห่งวุยก๊ก | |||||||||||||||
เกิด | พ.ศ. 713[a] | ||||||||||||||
ถึงแก่กรรม | พ.ศ. 750[a] | ||||||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 郭嘉 | ||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 郭嘉 | ||||||||||||||
| |||||||||||||||
ชื่อรอง | เฟิ่งเซี่ยว | ||||||||||||||
ยุคในประวัติศาสตร์ | ยุคสามก๊ก |
ประวัติ
แก้กุยแกมาจากอำเภอหยางไจ๋ เมืองเองฉวน ซึ่งอยู่ในเมืองยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ในวัยเด็กเขามีชื่อเสียงในด้านความเฉลียวฉลาดและการมองการณ์ไกล ตั้งแต่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 19 ปี กุยแกได้เดินทางไปทั่วประเทศและผูกมิตรกับบัณฑิตและผู้มีความสามารถคนอื่น ๆ เมื่ออายุได้ 26 ปี เขารับราชการในราชสำนักฮั่นในฐานะขุนนางชั้นผู้น้อย
กุยแกครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปเหอเป่ยเพื่อรับใช้อ้วนเสี้ยวขุนศึกผู้มีอิทธิพลซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจีนในเวลานั้น ภายหลังเขาบอกกับซินเป๋งและกัวเต๋าซึ่งเป็นที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวว่า "ผู้มีสติปัญญาย่อมควรเลือกนายที่มีสติปัญญาเช่นกัน ท่านอ้วนเสี้ยวต้องการจะเป็นอย่างโจวกงหวังที่เลือกสรรผู้มีสติปัญญาความสามารถมารับใช้ แต่กลับไม่รู้จะใช้พวกเขาอย่างเต็มที่อย่างไร มักเชื่อมั่นและตัดสินใจทำการต่างๆ ตามใจตน ด้วยเหตุนี้ คงจะเป็นการยากยิ่งที่จะรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งและทรงอำนาจเหนือขุนศึกคนอื่น คนเช่นนี้ อยู่ด้วยไปก็มีแต่จะถดถอย " กุยแกก็ออกจากอ้วนเสี้ยว
มารับใช้โจโฉ
แก้ในช่วงเวลานั้น โจโฉมีที่ปรึกษาที่เก่งกาจชื่อ ซีจื่อไฉ (戲志才) ซึ่งเขาชื่นชมมาก แต่ซีจื่อไฉเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โจโฉบอกกับซุนฮก ที่ปรึกษาอีกคนหนึ่งว่า "ตั้งแต่ซีจื่อไฉเสียชีวิต ข้าก็ไร้คนที่จะปรึกษาเรื่องกลยุทธ์การศึก ข้าพเจ้าได้ยินมาว่ามีผู้มีสติปัญญาสามารถอยู่มากมาย จะมีใครมาแทนที่ซีจื่อไฉได้?" ซึ่งซุนฮกได้แนะนำกุยแกให้กับโจโฉ โจโฉและกุยแกปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับช่วงเวลาของพวกเขา หลังจากนั้นโจโฉก็กล่าวว่า: "คนผู้นี้จะช่วยให้ข้าสำเร็จการใหญ่ได้เป็นแน่" กุยแกกล่าวอย่างมีความสุขว่า "ข้าได้พบคนที่ควรแก่การรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว" จากนั้น กุยแกได้รับการแต่งตั้งให้เป็น จี้จิ่ว (祭酒) ในกองทัพของโจโฉซึ่งดำรงตำแหน่งในราชสำนักฮั่น
การประเมินข้อได้เปรียบของโจโฉเหนืออ้วนเสี้ยว
แก้ฟู่จื่อบันทึกการสนทนาโดยละเอียดระหว่างกุยแก และโจโฉ ซึ่งกุยแกได้ชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบที่โจโฉมีเหนืออ้วนเสี้ยวอย่างรอบคอบ โจโฉถามกุยแกว่า "เปิ่นฉู่ (อ้วนเสี้ยว) ปกครองกิจิ๋ว เฉงจิ๋ว และเปงจิ๋ว มีดินแดนกว้างใหญ่และมีไพร่พลมหาศาลใต้บังคับบัญชา ข้าใคร่จะยกไปปราบ แต่ด้วยกองกำลังของข้าไม่เพียงพอ ควรจะทำอย่างไร?"
กุยแกได้ตอบกลับ,
เราล้วนทราบเรื่องการสู้รบระหว่างหลิวปัง และเซี่ยงอวี่ หลิวปังชนะด้วยสติปัญญา เซี่ยงอวี่มีกำลังมหาศาล แต่กลับพ่ายแพ้หลิวปัง จากความคิดของข้าพเจ้า อ้วนเสี้ยวมีข้อเสียอยู่สิบประการ แม้(อ้วนเสี้ยว) มีกองกำลังเข้มแข็ง ก็ไม่น่ากลัวเลย
- อ้วนเสี้ยวเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง มากพิธีรีตอง ส่วนท่านไม่ถือเนื้อถือตัว ถืออย่างคนสามัญ
- อ้วนเสี้ยวชอบขัดคอคน และโอหัง ส่วนท่านเป็นคนประนีประนอม รู้ใจคน
- ราชวงศ์ฮั่นเสื่อมถอยลง กฏหมายบ้านเมืองถูกปล่อยปะละเลย อ้วนเสี้ยวไม่เอาการเอางาน จึงล้มเหลวในการบริหาร ท่านรักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดในหมู่บริวาร ท่านจึงดีกว่าเขาในข้อนี้
- อ้วนเสี้ยวเป็นคนหน้าซื่อใจคด ปากดีใจร้าย จะทำอะไรก็เห็นแก่ญาติพี่น้องของตัว ส่วนท่านภายนอกดูง่าย ถายในก็สะอาด รู้จักใช้คนดีมีความสามารถ
- อ้วนเสี้ยวมีอุบายมาก แต่ไม่เด็ดขาด ส่วนท่านเด็ดขาดและถูกต้อง
- อ้วนเสี้ยวนิยมแต่คนที่ชื่อเสียง มีหน้ามีตา ส่วนท่านนิยมคนดี ไม่เห็นแก่ชื่อเสียง
- อ้วนเสี้ยวเลี้ยงแต่คนใกล้ชิด ใครอยู่ห่างไม่ใส่ใจ ส่วนท่านนั้นเลี้ยงคนเท่ากัน สุดแต่ความสามารถ
- อ้วนเสี้ยวฟังแต่คำยุยง เชื่อผิดทำผิด ส่วนท่านเป็นตัวเอง ใคร่ครวญด้วยเหตุผล
- อ้วนเสี้ยวแยกผิดถูกไม่เป็น เอาผิดเป็นถูก เอาถูกเป็นผิด ส่วนท่านปฏิบัติตามกฏและระเบียบ ปกครองคนอย่างดี
- อ้วนเสี้ยวหารู้แจ้งในพิชัยสงครามและกลศึก ส่วนท่านนั้นรู้แจ้งเป็นยอดทางการรบ ต่อให้พลน้อยก็รบชนะได้
ข้อดีท่านสิบประการนี้ จะชนะอ้วนเสี้ยวหาใช่เรื่องยากเย็น
โจโฉหัวเราะแล้วพูดว่า "ถ้าสิ่งที่ท่านพูดเป็นจริง ข้ารู้สึกยินดีเป็นยิ่งนัก" กุยแกกล่าวว่า "ตอนนี้อ้วนเสี้ยวทำศึกอยู่กับกองซุนจ้านทางเหนือ เราควรมุ่งไปทางตะวันออกเพื่อกำจัดลิโป้ ถ้าเราไม่กำจัดมันก่อน เมื่ออ้วนเสี้ยวโจมตีเรา แล้วลิโป้เข้าหนุน เห็นทีพวกเราจะมีอันตรายไม่น้อย" โจโฉก็เห็นด้วยกับกุยแก
การรบระหว่างโจโฉและลิโป้
แก้บทความหลัก:ยุทธการที่แห้ฝือ
ในปี ค.ศ. 198 โจโฉได้เปิดฉากรบกับลิโป้ ในมณฑลชีจิ๋ว ซึ่งนำไปสู่ยุทธการแห้ฝือ ลิโป้พ่ายแพ้สามครั้งและล่าถอยไปยังแห้ฝือ(下邳 :ปัจจุบันคือ ปี้โจว มณฑลเจียงซู) โจโฉตั้งทัพล้อมเมืองเป็นเวลาหลายเดือนแต่ก็ยังไม่อาจยึดครองได้ เนื่องจากลิโป้และกองกำลังของเขาป้องกันอย่างแน่นหนา กองทัพโจโฉเริ่มเกิดความเหนื่อยล้าจากการต่อสู้ โจโฉจึงตั้งใจจะถอนทัพ อย่างไรก็ตาม กุยแกและซุนฮิวกล่าวกับโจโฉว่า“ลิโป้เป็นคนกล้าหาญ แต่ก็หุนหันพลันแล่น กองทัพของเขากำลังตกต่ำ เพราะแพ้ศึกมาติดกันถึงสามครั้ง ทหารต่างยึดมั่นในตัวแม่ทัพ ถ้าแม่ทัพแสดงความอ่อนแอออกมาแม้แต่น้อย จิตใจของทหารก็จะยิ่งย่ำแย่ ถึงแม้ลิโป้จะมีตันก๋งเป็นที่ปรึกษาผู้มีปัญญา แต่กลยุทธ์ของตันก๋งก็มักจะมาช้าเสมอ ดังนั้นตอนนี้คือโอกาสที่ดี เมื่อขวัญกำลังใจของกองทัพลิโป้ตกต่ำ และตันก๋งยังหาทางแก้ไม่ได้ เราควรฉวยโอกาสนี้ เปิดฉากโจมตีอย่างรุนแรง แล้วชัยชนะจะเป็นของเรา” โจโฉฟังคำแนะนำและสั่งไขแม่น้ำอี้และซีท่วมแห้ฝือ ทำให้เอาชนะลิโป้ได้สำเร็จ
ฟู่จื่อ บันทึกคำแนะนำเพิ่มเติมที่กุยแกบอกกับโจโฉระหว่างยุทธการแห้ฝือไว้ว่า “ในอดีต เซี่ยงอวี่ไม่เคยพ่ายศึกกว่าเจ็ดสิบครั้ง แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน เขาก็พบจุดจบด้วยความพินาศ นั่นเป็นเพราะเขาพึ่งพาความกล้าหาญส่วนตัวมากเกินไป และละเลยกลยุทธ์ทางการศึก ลิโป้ตอนนี้พ่ายศึกถึงสามครั้งติดต่อกัน กำลังใจของกองทัพตกต่ำ และแนวรับก็เริ่มอ่อนแอ ฤทธานุภาพของเขาก็ไม่อาจเทียบกับเซี่ยงอวี่ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น เขากำลังถูกความพ่ายแพ้และความเหนื่อยล้าครอบงำหากเราฉวยโอกาสจากชัยชนะที่ผ่านมา เดินหน้ารุกเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง เราก็จะสามารถเอาชนะเขาได้” โจโฉก็เห็นด้วย
คำแนะนำในการจัดการเล่าปี่
แก้ตามบันทึกของเว่ยซูกุยแกแนะนำโจโฉถึงวิธีการกำจัดเล่าปี่ เมื่อเล่าปี่เข้าร่วมกับโจโฉในปีค.ศ. 196 หลังจากที่ลิโป้ยึดการปกครองชีจิ๋วจากเตียวหุย ขุนพลของเล่าปี่ ด้วยการแนะนำของโจโฉ พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงแต่งตั้งเล่าปี่ให้เป็นผู้ว่าการมณฑลอิจิ๋ว(豫州) มีผู้บอกโจโฉว่า "เล่าปี่ทะเยอทะยานอย่างวีรบุรุษ หากไม่กำจัดเสียตอนนี้ นานไปจะเป็นภัยคุกคามของท่าน" โจโฉถามความเห็นของกุยแก เขาตอบว่า "จริงอย่างที่ท่านว่า แต่เมื่อครั้งท่านชูธงกองทัพธรรม ประกาศว่าจะกำจัดทรราชเพื่อผดุงความยุติธรรม ท่านจึงสามารถรวบรวมผู้มีฝีมือให้มาร่วมอุดมการณ์ ด้วยความจริงใจและคุณธรรมที่ทุกคนยอมรับ เล่าปี่ก็เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นวีรบุรุษ หากท่านสังหารเขาทั้งที่เขามาเข้าพึ่ง ย่อมถูกครหา ว่าแม้แต่คนดีมีคุณธรรม ท่านก็ยังลงมือทำร้าย คราวนั้นผู้มีความสามารถอื่นๆ จะเริ่มหวาดหวั่น ไม่แน่ว่าอาจตีจากไป แล้วใครเล่าจะช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมาย? เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านตรึกตรองให้ถี่ถ้วนว่า การทำลายชื่อเสียงเพียงเพื่อกำจัดศัตรูผู้เดียว คุ้มค่ากับสิ่งที่ท่านอาจต้องสูญเสียหรือไม่” โจโฉหัวเราะและตอบ"ข้าเข้าใจ"
อย่างไรก็ตาม ฟู่จื่อ ได้อธิบายแตกต่างไปเกี่ยวกับคำแนะนำของกุยแก กุยแกบอกกับโจโฉว่า "เล่าปี่ทะเยอทะยานและชนะใจคนทั่วหล้า กวนอูและเตียวหุยก็เป็นขุนพลที่น่าเกรงขาม พวกเขาให้คำมั่นจะรับใช้เล่าปี่แบบพลีกายถวายชีวิต จากการคาดการณ์ของข้า เล่าปี่ไม่ยอมศิโรราบโดยแท้จริงและเจตนาของเขาก็ไม่ชัดแจ้ง คำโบราณว่าไว้ 'หากปล่อยศัตรูไปในวันนี้ จะเป็นภัยในวันหน้า' ท่านควรกำจัดเล่าปี่เสียในเร็วๆนี้" เวลานั้นโจโฉใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นหุ่นเชิดในการดึงวีรบุุรุษมากมายให้มารับใช้ เขาจึงไม่สนใจคำแนะนำของกุยแก เมื่อโจโฉส่งเล่าปี่พร้อมกองทัพไปสู้รบกับอ้วนสุด กุยแกและเทียหยก เตือนโจโฉว่า "เล่าปี่จะแข็งข้อหากท่านปล่อยเขาไป" แต่จนถึงตอนนี้เล่าปี่ก็ออกไปแล้ว และเขาก็แข็งข้อต่อโจโฉจริงๆ ด้วยการยึดอำนาจการปกครองชีจิ๋วจากกีเหมา ที่ได้รับแต่งตั้งจากโจโฉ ทำให้โจโฉเสียใจที่ไม่ฟังคำแนะนำของกุยแก
เผยซงจื่อตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวในเว่ยซูแตกต่างจากบันทึกของฟู่จื่อโดยสิ้นเชิง แต่เขาไม่ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง พงศาวดารฮวาหยางบันทึกว่าหลังจากที่ลิโป้แพ้ศึกที่แห้ฝือ เทียหยกและกุยแกต่างสนับสนุนให้กำจัดเล่าปี่ แต่โจโฉปฏิเสธเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงของเขาเอง
ทำนายการตายของซุนเซ็ก
แก้ระหว่างปี ค.ศ. 194-199 ซุนเซ็กบุกยึดดินแดนกังตั๋ง และยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ได้สำเร็จ ราวปีค.ศ. 200 โจโฉได้เปิดศึกกับอ้วนเสี้ยวในยุทธการกัวต๋อ เมื่อซุนเซ็กทราบเรื่องนี้ เขาวางแผนจะยกทัพข้ามแม่น้ำแยงซีและโจมตีเมืองหลวงคือฮูโต๋(許: ปัจจุบันคือสวีชาง มณฑลเหอหนาน) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของโจโฉ คนของโจโฉที่ได้รับทราบข่าวก็หวาดกลัวและเสียขวัญ แต่กุยแกกล่าวว่า "ซุนเซ็กพึ่งพิชิตดินแดนกังตั๋งได้ไม่นาน เขาได้สังหารวีรบุรุษจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีผู้ติดตามพร้อมสละชีพเพื่อเจ้านาย อีกทั้งซุนเซ็กยังมั่นใจในตนเกินไป มิได้เตรียมการอย่างรอบคอบ แม้จะมีกองทัพนับพัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการยกทัพเดี่ยวเข้าตีดินแดนตอนกลาง หากพบมือสังหาร ย่อมต้องรับมือเพียงลำพัง ตามที่ข้าสังเกต เห็นทีเขาจะถึงคราวตายด้วยมือคนธรรมดาสามัญ" คำทำนายของกุยแกเป็นจริงเมื่อซุนเซ็กถูกลูกน้องของเค้าก๋อง(ผู้บัญชาการทหารที่เขาสังหารก่อนหน้านี้)ลอบสังหารก่อนที่จะดำเนินแผนการสำเร็จ
เผยซงจื่อแสดงความเห็นว่าการทำนายของกุยแกเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลของเขา แต่ไม่ใช้ตัวบ่งชี้ว่าเขาเฉลียวฉลาดขนาดนั้น เขาไม่สามารถทำนายได้ว่าซุนเซ็กจะเสียชีวิตปีใด แต่เป็นเรื่องบังเอิญล้วนๆที่ซุนเซ็กถูกลอบสังหารในปีเดียวกับที่เขาวางแผนบุกฮูโต๋
คำแนะนำให้โจมตีเล่าปี่ก่อนจะโจมตีอ้วนเสี้ยว
แก้ตามบันทึกของฟู่จื่อ ก่อนยุทธการกัวต๋อ โจโฉต้องการโจมตีเล่าปี่(ที่ก่อกบฏยึดชีจิ๋ว) ก่อนจะจัดการกับอ้วนเสี้ยว อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาของโจโฉบางคนมีความกังวลว่า อ้วนเสี้ยวจะใช้ประโยชน์ตรงนี้โจมตีพวกเขา ทำให้โจโฉเผชิญสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงขอความเห็นของกุยแก กุยแกแนะนำว่า "อ้วนเสี้ยวเป็นคนโลเล เขาย่อมไม่รีบเร่งเคลื่อนไหว ส่วนเล่าปี่พึ่งยึดครองมณฑลชีจิ๋ว สถานการณ์ยังไม่มั่นคง ย่อมพ่ายแพ้ได้ง่ายหากเรารุกโจมตีอย่างรุนแรงและรวดเร็ว นี่เป็นโอกาสสำคัญ จะเสียไปมิได้" โจโฉเห็นด้วยและนำทัพไปทางตะวันออกทันทีเพื่อโจมตีเล่าปี่ หลังจากพ่ายแพ้ เล่าปี่หนีไปเหอเป่ยเพื่อขออาศัยอ้วนเสี้ยว ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว อ้วนเสี้ยวไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลย
อย่างไรก็ตาม เผยซงจือให้ความเห็นว่า กุยแกไม่ใช่คนชี้ให้เห็นจุดอ่อนของอ้วนเสี้ยวและโจมตีเล่าปี่ แต่ตามในสามก๊กจี่ บทประวัติโจโฉ ระบุว่าเขาเป็นผู้คิดแผนนั้นเอง
โจโฉรบกับบุตรชายของอ้วนเสี้ยว
แก้โจโฉได้ชัยชนะขาดลอยจากอ้วนเสี้ยวในยุทธการกัวต๋อปีค.ศ. 200 อ้วนเสี้ยวจึงเสียชีวิตในอีกสองปีให้หลัง และลูกชายของเขา อ้วนถำและอ้วนซงเริ่มต่อสู้ชิงอำนาจเหนือนดินแดนของบิดา โจโฉเอาชนะทั้งสองคนในยุทธการที่ลิหยงในปี ค.ศ. 202-203 และได้ชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง เวลานั้น แม่ทัพหลายคนของโจโฉเร่งเร้าให้โจมตีพี่น้องสกุลอ้วนต่อไป แต่กุยแกกล่าวว่า "อ้วนเสี้ยวรักลูกชายทั้งสอง เป็นเหตุให้ไม่อาจตัดสินใจว่าจะตั้งใครเป็นผู้สืบทอด ด้วยที่ปรึกษาอย่าง กัวเต๋าและฮองกี๋ที่คอยช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งกัน ไม่นานก็จะปะทุ หากเรารุดหน้าโจมตี พวกเขาจะสามัคคีกัน หากเราถอนกำลัง พวกเขาจะเริ่มสู้กันเอง เราควรหันลงใต้และโจมตีเกงจิ๋วของเล่าเปียวก่อน รอจนกว่าพี่น้องสกุลอ้วนจะรบกันเองแล้วค่อยโจมตี ด้วยวิธีนี้เราจะชนะโดยง่าย โจโฉเห็นด้วยและเตรียมการรบเล่าเปียว
ต่อมาเกิดความขัดแย้งภายในระหว่างอ้วนถำและอ้วนซง ส่งผลให้อ้วนถำพ่ายแพ้แก่น้องชาย อ้วนถำล่าถอยไปเพงง่วน(平原) และส่งซินผีไปหาโจโฉเพื่อขอสวามิภักดิ์และขอความช่วยเหลือในการปราบอ้วนซง โจโฉยกทัพไปทางเหนือและเอาชนะอ้วนซงในยุทธการเงียบกุ๋นในปี ค.ศ.204 ในปี ค.ศ.205 โจโฉได้โจมตีอ้วนถำและเอาชนะได้ในยุทธการที่ลำพี้ เมื่อถึงเวลานั้น โจโฉจึงได้ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่มณฑลกิจิ๋วทางภาคเหนือ เพื่อเป็นการยกย่อง ราชสำนักฮั่นได้แต่งตั้งให้กุยแกเป็นเว่ยหยางถิงโหว(洧陽亭侯)
ยุทธการที่เป๊กลงสาน
แก้บทความหลัก:ยุทธการที่เป๊กลงสาน
ขณะที่โจโฉเตรียมกำลังทัพอีกครั้งเพื่อรบกับอ้วนซง(ซึ่งหนีไปสมทบกับพี่ชายอีกคนที่ชื่ออ้วนฮี และชนเผ่าออหวน) ผู้ใต้บัญชาหลายคนของโจโฉกังวลว่าเล่าเปียวจะส่งเล่าปี่(ซึ่งขณะนี้อยู่กับเล่าเปียว)ไปโจมตีที่มั่นของโจโฉคือฮูโต๋ อย่างไรก็ตาม กุยแกกล่าวกับโจโฉ "แม้ว่ากองทัพของท่านจะมีชื่อเสียงเกรียงไกรเพียงใด แต่เผ่าออหวนย่อมไม่เตรียมรับศึก เพราะหลงคิดว่าปลอดภัย ด้วยคิดว่าท่านอยู่ไกลเกินไป ดังนั้น หากฉวยโอกาสนี้โจมตีอย่างฉับพลัน ก็จะสามารถกำจัดพวกเขาได้ อีกทั้ง อ้วนเสี้ยวเคยปฏิบัติดีต่อชนเผ่าต่าง ๆ และพี่น้องตระกูลอ้วนยังคงมีชีวิตอยู่ บัดนี้ ประชาชนทางเหนือยอมศิโรราบต่อท่านเพราะเกรงในกำลังทหาร หาใช่ด้วยคุณธรรมแห่งการปกครอง หากท่านละทิ้งศึกนี้แล้วมุ่งลงใต้ เผ่าออหวนกับผู้ติดตามเก่าของอ้วนเสี้ยวอาจจะร่วมมือกันรวบรวมผู้คนทางเหนือ ซึ่งมีแนวโน้มจะตอบรับเสียงเรียกนั้น หากเป็นเช่นนั้น ผู้นำเผ่าออหวนอย่างเป๊กตุ้นก็อาจฉุกคิดจะโจมตีท่าน และเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจสูญเสียเฉงจิ๋วและกิจิ๋วไป ส่วนเล่าปี่นั้น อยู่กับเล่าเปียวซึ่งเป็นคนที่เอาแต่พูด ไม่ยอมลงมือทำ และยังไม่ไว้ใจเล่าปี่ด้วย เพราะเล่าปี่มีความสามารถเหนือกว่า หากมอบหมายงานใหญ่ ก็จะกลัวว่าเล่าปี่จะไม่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชา หากมอบหมายงานเล็ก เล่าปี่ก็จะไม่เต็มใจ เพราะฉะนั้น แม้ท่านจะเคลื่อนพลออกรบที่ไกล ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลอันใด" โจโฉจึงเริ่มออกรบกับพี่น้องสกุลอ้วนและเผ่าออหวน
เมื่อกองทัพโจโฉเดินทางมาถึงเมืองเอ๊ก(易) กุยแกกล่าวว่า "กองทัพที่เคลื่อนพลรวดเร็วย่อมเปี่ยมด้วยพลัง บัดนี้เรายกทัพมาไกล แบกสัมภาระหนัก จึงไม่อาจบุกจู่โจมได้อย่างฉับไว หากศัตรูรู้ตัวก็ต้องเตรียมรับมือแน่นอน เหตุใดเราไม่ทิ้งสัมภาระไว้ แล้วคัดเลือกกองทัพเบาเดินลัดตัดทาง บุกตีโดยไม่ให้ทันตั้งตัว" โจโฉนำทัพผ่านช่องทางลับที่ด่านอีหลง (盧龍塞) และมุ่งตรงไปยังฐานหลักของเผ่าออหวน ชาวออหวนตกใจเมื่อทราบข่าวว่าทัพโจโฉมาใกล้แล้ว พวกเขารีบเตรียมกองทัพ แต่ก็พ่ายแพ้โจโฉในยุทธการเป๊กลงสาน เป๊กตุ้นถูกสังหารในสนามรบ พี่น้องสกุลอ้วนต้องหนีไปยังเลียวตั๋งเพื่อขออาศัยอยู่กับกองซุนของ ซึ่งก็เป็นผู้จับตัวและประหารพวกเขา และส่งศีรษะไปให้โจโฉ
การตาย
แก้กุยแกเป็นที่รู้จักกันในเรื่องการมองการณ์ไกลอันล้ำลึก ซึ่งทำให้ทำนายผลลัพย์ของเหตุการณ์ต่างๆ ได้แม่นยำ โจโฉถึงกับเคยกล่าวว่า "มีเพียงเฟิ่งเซี่ยว(ชื่อรองของกุยแก)ผู้เดียวที่รู้ว่าข้าคิดอะไรอยู่
ตันกุ๋นเคยตำหนิว่ากุยแกเป็นผู้ประพฤติตนหละหลวมไร้กรอบอยู่หลายครั้ง แต่กุยแกก็มิได้ตอบโต้ กลับวางตนอย่างสงบนิ่ง โจโฉยังคงให้ความสำคัญกับกุยแกดังเดิม และในขณะเดียวกันก็พอใจที่ตันกุ๋นยึดมั่นในหลักการของตนเองเช่นกัน
กุยแกล้มป่วยหลังจากออกเดินทางจากเมืองหลิวเซีย(柳城 : ในมณฑลเฉาหยาง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหลียวหนิง)ในปี ค.ศ. 207 ขณะอายุได้ 38 ปี และเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังจากนั้น โจโฉเสียใจมากกับการตายของเขา เขาบอกกับซุนฮิวว่า "ข้ากับพวกท่านนั้นอายุไล่เลี่ยกัน แต่เฟิ่งเซี่ยวนั้นน้อยกว่ามาก ข้าตั้งใจจะมอบการการทั้งปวงให้เขาทำนุบำรุงต่อก่อนข้าจะตาย แต่ฟ้ากลับพรากเขาไปเร็วเช่นนี้"
โจโฉถวายฏีกาต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ว่า "กุยแก ผู้ดำรงตำแหน่งจวี้จิ่ว(軍祭酒) รับใช้ในกองทัพมาเป็นเวลากว่า 11 ปี ทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบาก ก็จะมีการปรึกษาหารือกัน และเมื่อข้าไม่อาจตัดสินใจได้ เขาเป็นผู้ช่วยให้ข้าตัดสินใจได้ถูกต้อง เขามีคุณูปการใหญ่หลวงในการสงบศึกแผ่นดิน เป็นที่น่าเสียดายที่เขาด่วนจากไปเสียก่อนที่จะได้ทำภารกิจให้ลุล่วง เราไม่ควรลืมเลือนความดีความชอบของเขา ข้าขอเสนอให้มอบครัวเรือนที่ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 800 หลังแก่ครอบครัวของเขา รวมเป็น 1,000 ครัวเรือน" เว่ยซู(魏書) ได้บันทึกไว้ยาวขึ้น โดยขอให้มีการยกย่องกุยแกมีบรรดาศักดิ์หลังเสียชีวิตว่า เจิ้นโหว(貞侯) ซึ่งแปลว่า"เจ้าพระยาบริสุทธิ์"
ในปี ค.ศ. 209 เมื่อโจโฉเดินทางกลับฮูโต๋หลังพ่ายแพ้ในยุทธนาวีผาแดง ระหว่างทางได้เกิดโรคระบาดในกองทัพ เขาสั่งให้เผาเรือและทอดถอนใจ "ถ้ากุยแกยังอยู่ ข้าคงไม่ย่อยยับเช่นนี้" โจโฉยังไว้อาลัยกุยแกอีกครั้ง เขายังเขียนจดหมายถึงซุนฮกสองครั้งเพื่อไว้อาลัยกุยแก
ตระกูล
แก้ตำแหน่งของกุยแกสืบทอดมาถึงบุตรชายคือ กุยเอ๊ก(郭奕/郭弈) ชื่อรองว่า ปั๋วอี้(伯益) เขาดำรงตำแหน่งเป็นไท่จื่อเหวินเสวี่ย(太子文學) ในวุยก๊กช่วงยุคสามก๊ก แต่อายุสั้นเช่นเดียวกับบิดา
บุตรชายของกุยเอ๊ก กวอเซิน (郭深) สืบทอดตำแหน่งจากบิดา และต่อมา กวอลี่ (郭獵) บุตรชายก็สืบทอดต่อจากเขาเมื่อเขาเสียชีวิต
กุยแกมีหลานอีกคนชื่อว่า กวอฉาง (郭敞) ชื่อรองว่า ไท่จง (泰中) เป็นที่รู้จักในเรื่องความเฉลียวฉลาด เขาเคยดำรงตำแหน่งซ่านฉี่ฉางสื้อ (散騎常侍) ในวุยก๊กช่วงยุคสามก๊ก
ในนิยายสามก๊ก
แก้กุยแกเป็นตัวละครที่ปรากฏในสามก๊กของหลอก้วนจง
ในตอนที่ 33 ของนิยาย(ตอนที่ 30 ตามฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)) กุยแกติดตามโจโฉในการรบกับพี่น้องสกุลอ้วน(อ้วนถำและอ้วนฮี) และโฮห้วน เมื่อเขาล้มป่วยเพราะปรับตัวกับสภาพอากาศไม่ได้ เขาแนะนำให้โจโฉทิ้งสัมภาระหนักไว้ และจู่โจมศัตรูอย่างรวดเร็วและได้รับชัยชนะในศึกที่เป๊กลงสาน กุยแกอยู่ที่เอ๊กจิ๋ว (易州) เพื่อพักฟื้นและไม่ได้ติดตามโจโฉไปรบแนวหน้า เมื่อโจโฉกลับมาที่เอ๊กจิ๋ว เขาเสียใจมากเมื่อทราบว่ากุยแกสิ้นชีวิตไปหลายวันก่อนแล้ว ก่อนเสียชีวิต กุยแกได้เขียนจดหมายถึงโจโฉ ซึ่งเนื้อหาในจดหมายไม่ได้ถูกเปิดเผยจนกระทั่งตอนท้าย เมื่อโจโฉได้รับทราบข่าวว่า อ้วนซงและอ้วนฮีหนีไปเลียวตั๋งเพื่อขออาศัยอยู่กับกองซุนของ เหล่าขุนศึกต่างเร่งเร้าให้เข้าตีเลียวตั๋งหรือกลับไปฮูโต๋ แต่โจโฉกล่าวว่ารอให้รอรับศีรษะของพี่น้องสกุลอ้วน ทันใดนั้น โจโฉก็ทราบข่าวว่ากองซุนของจับตัวพี่น้องสกุลอ้วนและตัดศีรษะส่งมาให้เขา เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉต่างแปลกใจ ตอนนั้นเองโจโฉจึงเปิดเผยจดหมายของกุยแกซึ่งเขียนไว้ว่า "ข้าทราบว่าอ้วนฮีและอ้วนซงหนีไปเลียวตั๋ง ท่านไม่ควรยกทัพไป ด้วยกองซุนของหวาดกลัวว่าพวกแซ่อ้วนจะชิงเมือง หากท่านยกทัพไป พวกเขาจะสามัคคีกันต่อต้าน หากท่านอยู่เฉย พวกเขาจะสู้รบกันเองแน่แท้"
ดูเพิ่มเติม
แก้- กุยแกก็แค่หมอดู
- กุยแก ผู้ช่วยมือขวาของโจโฉ เก็บถาวร 2008-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 de Crespigny (2007, p. 285). ชีวประวัติของกุยแกใน จดหมายเหตุสามก๊ก บันทึกว่าเขาล้มป่วยหลังออกจากหลิวเฉิง (柳城; เทศมณฑลเฉาหยาง, มณฑลเหลียวหนิงในปัจจุบัน) หลังจากชัยชนะของโจโฉในยุทธการที่เขาเป๊กลงสาน ในปี ค.ศ. 207. He was 38 years old (by East Asian age reckoning) at that time and he died not long later.[1] By calculation, Guo Jia's birth year should be around 170.
อ้างอิง
แก้- Chen, Shou (3rd century). Records of the Three Kingdoms (Sanguozhi).
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
- Pei, Songzhi (5th century). Annotations to Records of the Three Kingdoms (Sanguozhi zhu).
- Other citations
- ↑ (年三十八,自柳城還,疾篤,太祖問疾者交錯。及薨, ...) Sanguozhi vol. 14.
- Sima, Guang (1084). Zizhi Tongjian.
- Luo, Guanzhong (14th century). Romance of the Three Kingdoms (Sanguo Yanyi)