เตงงาย
เตงงาย (ค.ศ. 197 – ปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[d]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เติ้ง อ้าย (จีน: 鄧艾; พินอิน: Dèng Ài) ชื่อรอง ชื่อไจ้ (จีน: 士載; พินอิน: Shìzài) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน[7] มีชื่อเสียงอย่างมากจากบทบาทสำคัญในการพิชิตจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 เตงงายได้รับการระบุว่าเป็นข้าราชการผู้จงภักดีอย่างมากและสร้างความดีความชอบยิ่งใหญ่ให้วุยก๊ก แต่เตงงายยังถูกระบุว่าเป็นคนเย่อหยิ่งและมุทะลุ ซึ่งนำไปสู่การล่มจมและการเสียชีวิตของตัวเตงงายเอง
เตงงาย (เติ้ง อ้าย) | |
---|---|
鄧艾 | |
ภาพวาดเตงงายในยุคราชวงศ์ชิง | |
เสนาบดีกลาโหม / ทายอุ้ย[1] หรือท้ายอุ้ย[2] (太尉 ไท่เว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 – มีนาคม ค.ศ. 264 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ก่อนหน้า | โกหยิว |
ถัดไป | เฮ่งเสียง |
ขุนพลโจมตีภาคตะวันตก / เจงไสจงกุ๋น[a] (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 257 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 | |
กษัตริย์ | |
ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 256 – ค.ศ. 257 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ขุนพลสงบภาคตะวันตก / อันไสจงกุ๋น[5][6] (安西將軍 อานซีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง 9 ตุลาคม ค.ศ. 255 – ค.ศ. 256 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 197[7][b] อำเภอซินเหย่ มณฑลเหอหนาน |
เสียชีวิต | มีนาคม ค.ศ. 264[7][8] (66 ปี)[c] นครเหมียนจู๋ มณฑลเสฉวน |
บุตร |
|
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
ชื่อรอง | ชื่อไจ้ (士載) |
บรรดาศักดิ์ | เติ้งโหว (鄧侯) |
เตงงายเกิดในครอบครัวชาวนา เริ่มรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้น้อยด้านการเกษตร ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 235 และ ค.ศ. 239 เตงงายได้พบกับสุมาอี้ สุมาอี้เห็นความสามารถของเตงงายจึงตั้งให้เตงงายมีตำแหน่งที่สูงขึ้นในฝ่ายราชการพลเรือน ในช่วงเวลานี้เตงงายยังเขียนข้อเสนอเกี่ยวกับการเริ่มงานการเกษตรในภูมิภาคแถบแม่น้ำห้วย และได้รับการยกย่องอย่างมากจากแนวคิดนี้ เตงงายได้รับชื่อเสียงมากขึ้นในวุยก๊กตั้งแต่ปี ค.ศ. 249 เป็นต้นไปหลังเข้าร่วมกับกุยห้วยขุนพลวุยก๊กในการหยุดยั้งการบุกของจ๊กก๊ก เตงงายยังแนะนำผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสูในบางประเด็นปัญหา ในปี ค.ศ. 255 เตงงายเข้าร่วมในการปราบกบฏที่ก่อขึ้นโดยขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิม และได้รับการเลื่อนสถานะขึ้นเป็นขุนพลระดับสูง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 255 ถึง ค.ศ. 262 เตงงายป้องกันชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊ก (ในปัจจุบันคือมณฑลกานซู่) จากการรุกรานหลายครั้งโดยทัพจ๊กก๊กที่นำโดยขุนพลเกียงอุย
เตงงายขึ้นถึงจุดสูงสุดของการทำราชการในปี ค.ศ. 263 เมื่อเตงงายนำทัพวุยก๊กพิชิตจ๊กก๊ก โดยเตงงายใช้วิธีนำกำลังทหารเดินทัพไปตามทางลัดผ่านภูมิประเทศภูเขาที่เป็นอันตราย มาปรากฏในบริเวณใกล้เคียงกับเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก และทำให้ข้าศึกตื่นตกใจ หลังจากที่จูกัดเจี๋ยมขุนพลจ๊กก๊กพยายามหยุดยั้งเตงงายที่กิมก๊กแต่ไม่สำเร็จ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กจึงจำใจยอมจำนนต่อเตงงายและนำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐจ๊กก๊ก หลังความสำเร็จในการพิชิตจ๊กก๊ก เตงงายก็เริ่มผยองในความสำเร็จของตนและแสดงความไม่ใส่ใจต่ออำนาจของราชสำนักวุยก๊ก จงโฮยขุนพลวุยก๊กใช้ประโยชน์จากความเย่อหยิ่งของเตงงายให้เป็นประโยชน์ต่อตนอย่างมาก ในปี ค.ศ. 264 เตงงายถูกจับกุมโดยอุยก๋วนและจงโฮยภายใต้คำสั่งของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก เตงงายถูกขังในรถนักโทษและถูกคุมตัวไปยังนครหลวงลกเอี๋ยง แต่ถูกสังหารระหว่างทางโดยกลุ่มทหารที่อุยก๋วนส่งตามมา เหล่าบุตรชายของเตงงายก็ถูกสังหารเช่นกัน สมาชิกในครอบครัวที่เหลือของเตงงายถูกเนรเทศ แต่ได้รับอนุญาตให้กลับมาในปี ค.ศ. 266 หลังราชวงศ์จิ้นได้รับการก่อตั้งขึ้น
ประวัติและการรับราชการช่วงต้น
แก้เตงงายเป็นชาวอำเภอจี๋หยาง (棘陽縣 จี๋หยางเซี่ยน) เมืองงีหยง (義陽郡 อี้หยางจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณอำเภอซินเหย่ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน เตงงายเกิดในช่วงปลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและสูญเสียบิดาตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ เมื่อขุนศึกโจโฉพิชิตมณฑลเกงจิ๋วช่วงเหนือได้ในปี ค.ศ. 208 เตงงายได้ย้ายไปเมืองยีหลำ (汝南郡 หรู่หนานจฺวิ้น; อยู่ทางใต้ของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ใช้ชีวิตเป็นชาวนาและเลี้ยงโค เมื่อเตงงายอายุ 11 ปี เตงงายและมารดาเดินผ่านมาทางสุสานของเฉิน ฉือ (陳寔) ในเมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) เตงงายอ่านข้อความ 2 ประโยคที่สลักไว้บนศิลาป้ายหลุมศกของเฉิน ฉือว่า "งานเขียนเป็นแบบอย่างของร้อยแก้วอันยอดเยี่ยม ความประพฤติเป็นแบบอย่างให้กับเหล่าข้าราชการบัณฑิต" (文為世範,行為士則 เหวินเหวย์ชื่อฟ่าน สิงเหวย์ชื่อเจ๋อ) เตงงายรู้สึกประทับใจมากจนต้องการเปลี่ยนชื่อตัวเป็น ฟ่าน (範 มีความหมายว่า "แบบอย่าง") และชื่อรองเป็นชื่อเจ๋อ (士則 มีความหมายว่า "ให้เหล่าข้าราชการบัณฑิตเอาเป็นเยี่ยงอย่าง") แต่ชื่อฟ่านและชื่อชื่อเจ๋อนั้นมีการใช้โดยสมาชิกคนอื่น ๆ ในหมู่ญาติของเตงงายแล้ว เตงงายจึงไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้เพราะจะเป็นการขัดต่อข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อ[9]
ภายหลังเตงงายได้เป็นบัณฑิต (學士 เสฺวชื่อ) ในสังกัดเมืองเชงเอี๋ยง (襄城 เซียงเฉิง; ปัจจุบันคือนครเซียงเฉิง มณฑลเหอหนาน) แต่เตงงายไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากนักเพราะเตงงายมักพูดติดอ่าง เตงงายจึงเปลี่ยนหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การเกษตรทำหน้าที่ดูแลพืชผลและอาหารสัตว์ คนในท้องถิ่นสงสารเตงงายเพราะครอบครัวของเตงงายยากจน และมักให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เตงงาย ในตอนแรกเตงงายไม่ได้แสดงความขอบคุณใด ๆ ต่อคนเหล่านี้ เมื่อใดก็ตามที่เตงงายเห็นภูเขาและทะเลสาบ ก็จะเริ่มทำท่าทางและชี้ให้เห็นถึงวิธีการและตำแหน่งที่ตนเห็นว่าควรเป็นที่ตั้งค่ายทหาร แต่กลับถูกคนอื่นดูถูก ภายหลังเตงงายได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเสมียน ทำหน้าที่ดูแลบันทึกผลผลิตทางการเกษตร[สามก๊กจี่ 1]
เตงงายมีคนรู้จักชื่อโจเป๋า (石苞 ฉือ เปา) ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกันกับเตงงาย ทั้งสองค่อนข้างสนิทกับกัว เสฺวียนซิ่น (郭玄信) ซึ่งรับราชการเป็นราชทูต (謁者 เย่เจ่อ) เมื่อเกียดเป๋งผู้เป็นแพทย์หลวงเริ่มก่อกบฏในนครหลวงฮูโต๋ (許 สฺวี่; ปัจจุบันคือนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ในปี ค.ศ. 218 กัว เสฺวียนซิ่นมีส่วนพัวพันและตอนแรกถูกกักบริเวณในบ้าน จนกระทั่งมีนายทหารมาคุมตัวกัว เสฺวียนซิ่นไปนครหลวงเพื่อรับการไต่สวน เตงงายและโจเป๋าเข้าร่วมในการคุมตัวด้วย ระหว่างเดินทางมาได้ประมาณสิบลี้ กัว เสฺวียนซิ่นสนทนากับทั้งสองตลอดทางและกล่าวว่าทั้งคู่จะกลายเป็นข้าราชการผู้มีความสามารถในอนาคต ภายหลังเตงงายได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองนิคมการเกษตร (典農功曹 เตี่ยนหนงกงเฉา)[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 1]
ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 235 และ ค.ศ. 239[e] เตงงายถูกส่งในฐานะผู้นำสารไปยังลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) นครหลวงของวุยก๊ก ที่ลกเอี๋ยงเตงงายได้พบโดยบังเอิญกับสุมาอี้ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) ในราชสำนักวุยก๊ก สุมาอี้รู้สึกว่าเตงงายเป็นคนไม่ธรรมดาจึงได้รับเตงงายมาทำราชการกับตนและเลื่อนให้เตงงายมีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานสำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง)[สามก๊กจี่ 2]
โครงการการเกษตรและการชลประทาน
แก้ในช่วงเวลานั้น รัฐวุยก๊กวางแผนที่จะส่งเสริมการเกษตรและการสำรองเสบียงอาหารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรบกับรัฐอริคือจ๊กก๊กและง่อก๊ก เตงงายถูกส่งมาสำรวจที่ดินตั้งแต่ทางตะวันออกของเมืองเฉิน (陳) และฮางเสีย (項 เซี่ยง) (อยู่บริเวณนครโจวโข่ว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ไปถึงฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) และประเมินความเหมาะแก่การเกษตร เตงงายเห็นว่าที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์แต่ยังขาดความชุ่มชื้นจึงยังไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เตงงายเสนอให้ขุดทางน้ำไหลเพื่อเพิ่มความชื้นในดิน และขุดคลองใหม่สำหรับขนส่งสินค้าทางน้ำ[สามก๊กจี่ 3]
เตงงายเขียนข้อเสนอชื่อ จี้เหอลุ่น (濟河論; อภิปรายเรื่องแม่น้ำ) เพื่ออธิบายแนวคิดของตน:[สามก๊กจี่ 4]
"ระบบุถุนเถียนเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดกบฏโพกผ้าเหลือง มีเสบียงอาหารจำนวนมากเก็บไว้ในนครหลวงฮูโต๋ แม้ว่าแผ่นดินส่วนใหญ่จะสงบแล้ว แต่ดินแดนทางใต้ของแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) ยังคงถูกล้างผลาญโดยสงคราม ทุกครั้งที่มีการรบทางใต้ แรงงานประมาณครึ่งหนึ่งถูกใช้ในการขนส่งเสบียง ที่ดินระหว่างเมืองเฉินและไช่ (蔡) มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเราสามารรถลดจำนวนทุ่งนารอบฮูโต๋ และเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำไปทางตะวันออกไปยังเมืองเฉินและไช่ ในเวลานี้มีกำลงพล 20,000 นายประจำอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำห้วย และ 30,000 นายอยู่ฝั่งใต้ มีทหารประจำการประมาณ 40,000 นายที่รักษาอาณาเขตและทำนาในเวลาเดียวกัน ในสภาพอากาศที่ดี ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีมากเป็น 3 เท่าของดินแดนทางตะวันตก หลังหักจากค่าสงเคราะห์ให้ราษฎรและทหารแล้ว เราจะมีข้าวประมาณ 5 ล้านหู (斛; หน่วยปริมาตร) สำหรับใช้ทางการทหาร ภายใน 6 ถึง 7 ปี เราสามารถสะสมข้าวได้ 30 ล้านหูทางด้านต้นน้ำของแม่น้ำห้วย ข้าวจำนวนนี้สามารถเลี้ยงคน 100,000 คนได้นานถึง 15 ปี ด้วยเสบียงอาหารที่มีมากมายเช่นนี้ เราสามาารถโจมง่อและได้ชัยชนะ!"[สามก๊กจี่ 5]
สุมาอี้เห็นด้วยกับข้อเสนอของเตงงายและนำแนวคิดของเตงงายไปปฏิบัติ[สามก๊กจี่ 6]
ในปี ค.ศ. 241 โครงการการเกษตรเสร็จสมบูรณ์ เมื่อใดก็ตามที่มียุทธการทางตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างวุยก๊กและง่อก๊ก ทัพวุยก๊กสามารถล่องเรือไปตามแม่น้ำยังภูมิภาคแม่น้ำห้วยเพื่อต้านข้าศึกได้ เป็นเพราะทัพวุยก๊กมีเสบียงอาหารจำนวนมากสำรองไว้ที่ต้นน้ำและมีเส้นทางน้ำที่เป็นประโยชน์ เตงงายได้รับเกียรติจากข้อเสนอที่ตนมอบให้สุมาอี้[สามก๊กจี่ 7]
ยุทธการที่แม่น้ำเจ้าซุย
แก้ต่อมาเตงงายได้กลายเป็นที่ปรึกษาทัพของแฮเฮาเหียนขุนพลวุยก๊กและรับราชการเป็นเจ้าเมืองของเมืองลำอั๋น (南安郡 หนานอานจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอหล่งซีและอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 249 เตงงายติดตามกุยห้วยที่สืบทอดตำแหน่งถัดจากแฮเฮาเหียนในการต้านการบุกที่นำโดยเกียงอุยขุนพลของจ๊กก๊ก
กุยห้วยสั่งให้ต้านท่าย ชิจิด และเตงงายนำทัพวุยก๊กเข้าโจมตีป้อมปราการที่เขาก๊กสัน (麴山 ชฺวีชาน; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหมิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และตัดทางเสบียงและน้ำ กุอั๋น (句安 โกว อาน) และลิหิม (李歆 หลี่ ซิน) นายทหารจ๊กก๊กที่รักษาป้อมนำทหารของตนไปยั่วยุเตงงายให้เข้าโจมตีพวกตน แต่เตงงายเพิกเฉย เมื่อเวลาผ่านไป เสบียงของทั้งสองป้อมปราการก็ค่อย ๆ หมด เกียงอุยนำกองกำลังของตนจากเขางิวเทาสัน (牛頭山 หนิวโถวชาน; อยู่ทางตะวันตกของเขตเจาฮฺว่า นครกว่าง-ยฺเหวียน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เพื่อไปเสริมกำลังให้ป้อมปราการ ระหว่างก็พบเข้ากับกองกำลังของต้านท่าย ต้านท่ายกล่าวว่า "พิชัยสงครามซุนจื่อกล่าวว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการชนะศึกคือการชนะโดยไม่ต้องรบ หากเรายึดเขางิวเทาสันได้ ทางถอยของเกียงอุยก็จะถูกปิดผนึก เราก็จะจับตัวได้โดยง่าย" ต้านท่ายจึงสั่งกองกำลังของตนให้สร้างป้อมปราการต้านทัพของเกียงอุยแต่ไม่ออกโจมตีข้าศึก เวลาเดียวกันต้านท่ายยังเขียนหนังสือไปถึงกุยห้วย ขอให้ช่วยโจมตีเขางิวเทาสัน กุยห้วยทำตามนั้นและนำกองกำลังข้ามแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) เตรียมเข้าตีเขางิวเทาสัน[สามก๊กจี่ 8][จือจื้อทงเจี้ยน 1]
หลังทัพจ๊กก๊กถูกขับไล่ กุยห้วยยกล่วงไปทางตะวันตกและเข้าโจมตีชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) เตงงายเตือนกุยห้วยว่า "ข้าศึกไม่ได้ล่าถอยไปไกล อาจหันกลับมาโจมตีเราอีก เราควรแบ่งกำลังเผื่อไว้ในกรณีที่ข้าศึกโจมตีเราอีกครั้ง"[สามก๊กจี่ 9]
เตงงายยังคงรักษาการณ์อยู่ทางเหนือของอำเภอไป๋ฉุ่ย (白水; ปัจจุบันคืออำเภอชิงชฺวาน มณฑลเสฉวน) สามวันต่อมา เกียงอุยส่งเลียวฮัวนำทัพเข้าใกล้ค่ายของเตงงายจากทางใต้ของไป๋ฉุ่ย เตงงายบอกกับเหล่านายทหารว่า "เกียงอุยหันกลับมาโจมตีเรา เรามีกำลังน้อย ตามหลักแล้วเราควรข้ามแม่น้ำและไม่สร้างสะพาน ข้าเห็นว่าเกียงอุยจะต้องส่งเลียวฮัวมาขัดขวางเราเพื่อบีบให้เรายังอยู่ที่นี่ ในขณะที่เกียงอุยเข้าโจมตีเถาเฉิง (洮城; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหมิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) จากทางตะวันออก" เถาเฉิงตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำและห่างจากที่ตั้งของเตงงายราว 60 ลี้ เตงงายแบ่งกองกำลังให้เดินทัพตลอดคืนไปยังเถาเฉิงเพื่อป้องกันป้อมปราการ เกียงอุยข้ามแม่น้ำมาโจมตีเถาเฉิงตามที่เตงงายคาดการณ์ไว้ แต่ยึดป้อมปราการไม่สำเร็จเพราะเตงงายได้เสริมกำลังป้องกันไว้แล้ว จากผลงานในการทำศึก เตงงายจึงได้รับการตั้งให้บรรดาศักดิ์เป็นกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) ได้รับยศเป็นขุนพลโจมตีกบฏ (討寇將軍 เถ่าโค่วเจียงจฺวิน) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองของเมืองเฉิงหยาง (城陽郡 เฉิงหยางจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครจูเฉิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน)[สามก๊กจี่ 10]
ราชการในฐานะที่ปรึกษาทางการทหาร
แก้ในช่วงเวลานั้น หลิว เป้า (劉豹) ผู้เป็นอ๋องของชนเผ่าซฺยงหนูซึ่งเป็นประเทศราชของราชสำนักวุยก๊กแต่ในนาม ได้ร่วมชนเผ่าซฺยงหนูห้ากองพลในมณฑลเป๊งจิ๋วและสร้างกองทัพของตน เตงงายเขียนฎีกาถึงราชสำนักวุยก๊กความว่า:[สามก๊กจี่ 11]
"พวกอนารยชนมีจิตใจดั่งสัตว์ป่าและไม่อาจใช้เหตุผลด้วยได้ เมื่อพวกนั้นแข็งแกร่งก็ใช้ความรุนแรง เมื่อพวกนั้นอ่อนแอก็จะแสดงความภักดีต่อราชสำนัก นี่คือเหตุผลที่ซวนอ๋อง (宣王 เซฺวียนหวาง) แห่งราชวงศ์จิว (周 โจว) ถูกโจมตีโดยพวกอนารยชน ในขณะที่ฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) แห่งราชวงศ์ฮั่นถูกล้อมในผิงเฉิง (平城) เมื่อใดที่ซฺยงหนูแข็งแกร่งขึ้น ราชวงศ์ก่อน ๆ มักจะมองว่าพวกนี้เป็นภัยคุกคามยิ่งใหญ่ เมื่อตันอู (單于 ฉาน-ยฺหวี; ผู้ปกครองชนเผ่าซฺยงหนู) อาศัยในดินแดนอนารยชน ราชสำนักก็ไม่อาจควบคุมตันอูและผู้ติดตามได้โดยตรง แต่เมื่อตันอูถูกลวงเข้ามาในอาณาเขตของเราและกลายเป็นข้าราชบริพารของราชสำนัก ซฺยงหนูก็สูญเสียผู้นำและไม่อาจก่อปัญหาได้ ในเวลานี้ ในเมื่อตันอูอาศัยอยู่ในนครหลวงตลอดช่วงเวลานี้ ก็ถูกแยกจากผู้ติดตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ หลิว เป้าอ๋องของซฺยงหนูอยู่ที่ชายแดน มีอำนาจทางการทหารเพิ่มขึ้น และมีท่าทีเป็นภัยคุกคามต่อราชสำนัก เราควรใช้มาตรการพิเศษเพื่อต้านหลิว เป้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่ามีการก่อกบฏภายในเขตแดนของหลิว เป้า เราจึงอาจจะลองแบ่งแยกอาณาเขตของหลิว เป้า จึงจะสามารถบั่นทอนอำนาจทางการทหารของหลิว เป้าได้ ชฺวี่เปย์ (去卑) สร้างความดีความชอบให้กับราชวงศ์ก่อน แต่บุตรชาย (หลิว เหมิ่ง; 劉猛) ไม่ได้รับอนุญาตให้สืบสอดอาณาเขต เราควรประทานบรรดาศักดิ์และให้อยู่ที่ด่านเยี่ยนเหมิน (雁門關 เยี่ยนเหมินกวาน) ยุทธวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความสงบที่ชายแดนคือการแยกผู้นำอนารยชนจากอาณาเขตบ้านเกิดของตนและประทานบำเหน็จจากความดีความชอบในอดีต"[สามก๊กจี่ 12]
เตงงายยังเสนอว่า "เราควรค่อย ๆ แยกชาวฮั่นที่อาศัยอยู่กับพวกอนารยชนออกมา ปลูกฝังค่านิยมทางจริยธรรมเช่นความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อป้องกันไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย" สุมาสูผู้เป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และเพิ่งได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก ยอมรับข้อเสนอของเตงงาย สุมาสูยังแต่งตั้งให้เตงงายเป็นเจ้าเมืองยีหลำ (汝南郡 หรู่หนานจฺวิ้น; อยู่ทางใต้ของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ซึ่งเตงงายเคยอาศัยในวัยเยาว์ เมื่อเตงงายมารับตำแหน่งในเมืองยีหลำก็ตามหาชายผู้หนึ่งที่เคยช่วยเหลือบิดาด้วยความเอื้อเฟื้อ เพราะเตงงายต้องการตอบแทนความมีน้ำใจของชายผู้นั้น แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อทราบว่าชายผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว เตงงายจึงส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปเคารพหลุมศพของชายผู้นั้นแทนตน เตงงายยังมอบของขวัญจำนวนมากให้กับมารดาของชายผู้นั้นและรับบุตรชายของชายผู้นั้นมาเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของตน ในช่วงที่เตงงายดำรงตำแหน่งได้พัฒนาพื้นที่รกร้างในยีหลำ และดูแลให้ทหารและราษฎรของตนมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ครบครัน[สามก๊กจี่ 13]
เมื่อจูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กล่าถอยหลังพยายามยึดป้อมปราการที่หับป๋า (合肥 เหอเฝย์) ซึ่งเป็นของวุยก๊กแต่ไม่สำเร็จ เตงงายเข้าพบสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กและกล่าวว่า:[สามก๊กจี่ 14]
"ซุนกวนสิ้นชีพและข้าราชการง่อส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะติดตามผู้ใด ผู้สูงศักดิ์และขุนนางหลายคนของง่อมีผู้ติดตามของตนเองและมีกำลังทหารส่วนตัว และมีความสามารถที่จะยึดอำนาจปกครองง่อได้ จูกัดเก๊กอาจเพิ่งเข้ากุมอำนาจราชสำนักง่อ แต่ไม่ได้รับการหนุนหลังจากผู้ปกครอง นอกจากนี้จูกัดเก๊กไม่ค่อยสนใจเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ กลับปฏิบัติต่อผู้คนอย่างโหดร้ายและยังคงทำศึกกับเราต่อไป จูกัดเก๊กระดมกำลังชาวง่อเข้าโจมตีป้อมของเราแต่ยึดไม่สำเร็จหลังจากสูญเสียอย่างมาก นี่จะเป็นช่วงเวลาที่จูกัดเก๊กจะกลายเป็นศัตรูกับผู้คนของตนเอง ในอดีตหงอจูสู่ (伍子胥 อู๋ จื่อซฺวี), เง่าคี้ (吳起 อู๋ ฉี่), ชาง ยาง (商鞅) และงักเย/งักเง (樂毅 เยฺว่ อี้) ขึ้นมาโดดเด่นเพราะเป็นที่โปรดปรานของผู้ปกครองของตน แต่ก็ต้องประสบความล่มจมหลังการสิ้นชีพของผู้ปกครอง จูกัดเก๊กไม่เพียงไม่อาจเทียบได้กับผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่ แต่ยังไม่รู้ตัวเลยว่าตนกำลังประสบปัญหาหนักหน่วง ความล่มจมของจูกัดเก๊กกำลังใกล้เข้ามาแล้ว"[สามก๊กจี่ 15]
ต่อมาไม่นานหลังจากจูกัดเก๊กกลับมาง่อก๊ก ก็ถูกโค่นอำนาจและถูกสังหารพร้อมกับครอบครัว เป็นไปตามที่เตงงายคาดการณ์ไว้[สามก๊กจี่ 16] เตงงายได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑลของมฑณลกุนจิ๋ว (兖州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ) และได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลกระตุ้นพลานุภาพ (振威將軍 เจิ้นเวย์เจียงจฺวิน) เตงงายเขียนฎีกาถึงราชสำนักวุยก๊กว่า:[สามก๊กจี่ 17]
"นโยบายที่สำคัญทีสุดตือด้านการเกษตรและการทหาร หากรัฐมั่งคั่ง ทัพจะเข้มแข็ง หากทัพเข้มแข็ง ก็จะชนะศึก ดังนั้นกญแจสำคัญของชัยชนะอยู่ที่การเกษตร ขงจู๊ (ขงจื๊อ) เคยกล่าวว่า 'ความสมบูรณ์ของเสบียงอาหารและจำนวนกำลังพล' การมีเสบียงอาหารเหลือเฟือมีความสำคัญในการคงทัพให้เข้มแข็ง หากรัฐไม่กำหนดข้าราชการคนใดให้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษีและรวบรวมเสบียงอาหาร ก็จะไม่มีใครสะสมความมั่งคั่งจากปวงชน ในเวลานี้ระบบการให้รางวัลตามผลงานมุ่งเป้าไปที่การรวบรวมเสบียงอาหารและแจกจ่ายให้ผู้คน หากไม่เป็นเช่นนั้น รัฐจะตัดเส้นทางการค้าทั้งหมดกับโลกภายนอก รัฐที่ร่ำรวยและเจริญรุ่งเรืองก็จะโดดเดี่ยว"[สามก๊กจี่ 18]
การปราบกบฏที่ฉิวฉุนครั้งที่สอง
แก้เตงงายได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ฟางเฉิงถิงโหว (方城亭侯) หลังโจมอขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ในปี ค.ศ. 254 ในปีถัดมา บู๊ขิวเขียมและบุนขิมขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน)[10] ทั้งสองส่งคนนำสารไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อปลุกระดมผู้คนให้เข้าร่วมกับพวกตนในการก่อกบฏ เตงงายจับกุมและสังหารคนนำสารจากนั้นจึงนำกำลังพลเข้าปราบปรามกบฏ ทัพของเตงงายเข้ายึดงักแกเสีย (樂嘉 เยฺว่เจีย; อยู่ในนครเซี่ยงเฉิง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และเริ่มสร้างสะพานลอยน้ำ เมื่อทัพหลักของวุยก๊กนำโดยสุมาสูมาถึง เตงงายก็นำพลเข้าสมทบกับสุมาสูและทั้งหมดก็รุดหน้าไปฉิวฉุนด้วยกัน ตีกลุ่มกบฏแตกพ่ายในเวลาต่อมา เตงงายนำพลไล่ตามบุนขิมที่หนีไปยังชิวโถว (丘頭; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเฉิ่นชิว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) แต่บุนขิมยังคงหลบหนีต่อไปได้และแปรพักตร์เข้าด้วยง่อก๊กที่เป็นรัฐอริกับวุยก๊ก[สามก๊กจี่ 19]
ซุนจุ๋นขุนพลง่อก๊กนำกำลังพลหลายพันนายข้ามแม่น้ำแยงซีเพื่อสนับสนุนกลุ่มกบฏ จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กสั่งให้เตงงายไปต้านข้าศึกที่เฝย์หยาง (肥陽) แต่เตงงายเห็นว่าหากตนประจำกาอยู่ที่เฝย์หยางจะตกเป็นเสียเปรียบ จึงย้ายกำลังพลไปอยู่ที่หมู่บ้านใกล้เคียง จากนั้นจึงส่งจูกัดสูไปโจมตีกลุ่มกบฏที่เหลืออยู่และทัพง่อก๊กที่หมู่บ้านหลีเจียง (黎漿亭 หลีเจียงถิง; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) และสามารถเอาชนะข้าศึกได้[สามก๊กจี่ 20]
ในปีเดียวกันนั้น เตงงายได้เลื่อนขั้นเป็นนายกองพันฉางฉุ่ย (長水校尉 ฉางฉุ่ยเซี่ยวเว่ย์) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นฟางเฉิงเซียงโหว (方城鄉侯)[สามก๊กจี่ 21][11]
ป้องกันชายแดนวุยก๊ก
แก้เมื่อประมาณปี ค.ศ. 255 เกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กนำทัพเข้าโจมตีวุยก๊กและปิดล้อมอองเก๋งข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (雍州 ยงโจว) ที่เต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ราชสำนักวุยก๊กแต่งตั้งให้เตงงายเป็นขุนพลสงบภาคตะวันตก (安西將軍 อานซีเจียงจฺวิน) และนายกองพันพิทักษ์เกี๋ยงตะวันออก (護東羌校尉 ฮู่ตงเชียงเซี่ยวเว่ย์) ให้นำกำลังพลไปสลายวงล้อม ต่อมาเกียงอุยล่าถอยไปยังจงถี (鍾提; ทางใต้ของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ผู้ใต้บังคับบัญชาของเตงงายหลายคนเห็นว่าเกียงอุยอ่อนล้าและจะไม่กลับมาโจมตีเต๊กโตเสียอีก แต่เตงงายมีความเห็นที่แตกต่างและกล่าวว่า:[สามก๊กจี่ 22]
"ความพ่ายแพ้ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) ไม่ใช่การพ่ายแพ้เล็กน้อย การสูญเสียกำลังพลและนายทหาร การสูญเสียเสบียงอาหาร และการอพยพของผู้ลี้ภัยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำลายล้างที่กำลังจะเกิดขึ้น ข้าจะอธิบายสถานการณ์ให้ฟัง ข้อแรก ข้าศึกถือโอกาสจากชัยชนะ ในขณะที่เราอ่อนแอจริง ๆ ข้อสอง ทัพข้าศึกได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีและเตรียมพร้อมในการทำศึก ส่วนทัพเราเพิ่งเกณฑ์มาใหม่และยังไม่มีอาวุธครบครัน ข้อสาม ข้าศึกอ่อนล้าน้อยกว่าเราเพราะเราเดินทัพทางบกส่วนข้าศึกเดินทัพทางน้ำ ข้อสี่ ข้าศึกมุ่งเข้าโจมตีเพียงเต๊กโตเสีย ส่วนเรากระจายกำลังป้องกันใน 4 แห่งคือเต๊กโตเสีย, หลงเส (隴西 หล่งซี; อยู่บริเวณนครติ้งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน), ลำอั๋น (南安 หนานอาน; อยู่บริเวณอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ข้อห้า ลำอั๋นและหลงเสมีข้าวที่ผลิตโดยชาวเกี๋ยง และยังมีทุ่งข้าวสาลีอยู่เลยเขากิสาน ข้าศึกเจ้าเล่ห์จะต้องมาชิงข้าวสาลีเป็นแน่"[สามก๊กจี่ 23]
ต่อมาเกียงอุยนำทัพเข้าโจมตีเขากิสานตามที่เตงงายคาดการณ์ไว้ แต่เกียงอุยถูกต้านให้ถอยร่นโดยกำลังป้องกันที่เตงงายเตรียมไว้ล่วงหน้า เกียงอุยล่าถอยไปหมู่บ้านตองเต๋ง (董亭 ต่งถิง; ทางใต้ของอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ส่วนเตงงายตั้งมั่นอยู่ที่เขาบูเสียงสัน (武城山 อู่เฉิงชาน; อยู่ในเขตเฉินชาง นครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เกียงอุยพยายามเข้ายึดพื้นที่ภูเขาจากเตงงายแต่ถูกตีให้ถอยร่น คืนนั้นเกียงอุยพยายามข้ามแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) เพื่อโจมตีอำเภอเซียงเท้ง (上邽; ปัจจุบันคือนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) เตงงายยกมาสกัดเกียงอุยที่หุบเขาตวนโกะ (段谷 ตฺว้านกู่; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเอาชนะเกียงอุยได้[สามก๊กจี่ 24] ในปี ค.ศ. 256 ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการความว่า:
"เกียงอุยศัตรูเจ้าเล่ห์ยุยงชนเผ่าท้องถิ่นให้ต่อต้านราชสำนัก ทำให้เกิดความวุ่นวายในดินแดนด้านตะวันตก เตงงายวางกลยุทธ์อย่างยอดเยี่ยม แสดงความกล้าหาญและความภักดีในการศึก เอาชนะนายทหารข้าศึกหลายสิบนายและสังหารกำลังพลข้าศึกหลายพันนาย รัฐเราทำให้ภูมิภาคปา (巴) และจ๊ก (蜀 ฉู่) ตัวสั่นอย่างหวาดกลัว ในขณะที่ความอาจหาญของทัพเราระบือไปไกลโพ้นแม่น้ำทั้งหลาย จึงประกาศแต่งตั้งให้เตงงายเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) รับผิดชอบดูแลราชการทหารในหล่งโย่ว (隴右) และตั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเติ้งโหว (鄧侯) มอบศักดินา 500 ครัวเรือน ตั้งให้เตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) ผู้บุตรชายให้มีบรรดาศักดิ์เป็นเตงเฮา (亭侯 ถิงโหว; เฮาระดับหมู่บ้าน)"[สามก๊กจี่ 25]
ในปีถัดมา เกียงอุยยกทัพไปยังหมางฉุ่ย (芒水; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) พยายามจะเข้าโจมตีที่มั่นของเตงงายและสุมาปอง[12] แต่ขุนพลวุยก๊กทั้งสองนายไม่ยอมออกมาทำศึกแล้วรักษาที่มั่นไว้[12]
เตงงายเอาชนะเกียงอุยในยุทธการอีกครั้งในการรบที่อำเภอเตียงเสีย (長城 ฉางเฉิง) ทำให้เกียงอุยล่าถอยกลับจ๊กก๊ก เตงงายจึงได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) และได้รับศักดินาเพิ่มขึ้นเป็น 6,600 ครัวเรือน[13]
ในปี ค.ศ. 262 เตงงายเอาชนะเกียงอุยในยุทธการที่เฮาโห (侯和 โหวเหอ) เกียงอุยล่าถอยไปท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และตั้งมั่นรักษาการณ์อยู่ที่นั่น[สามก๊กจี่ 26]
การพิชิตจ๊กก๊ก
แก้การวางกลยุทธ์และการเปิดศึก
แก้ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 263 ราชสำนักวุยก๊กเริ่มระดมพลเพื่อเตรียมการศึกรบกับจ๊กก๊ก สุมาเจียวผู้ดูแลการศึกสั่งให้เตงงายนำกำลังพล 30,000 นาย[สามก๊กจี่ 27] ยกไปยังท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อคุกคามและโจมตีเกียงอุย ส่วนจูกัดสูข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วจะนำทัพไปสกัดทางถอยของเกียงอุยที่จะกลับไปจ๊กก๊ก[สามก๊กจี่ 28] ก่อนที่เตงงายจะยกทัพไปรบกับจ๊กก๊ก เตงงายได้ฝันว่าตนนั่งอยู่บนยอดเขาแล้วมีน้ำไหลอยู่ใกล้ตน เตงงายจึงถามนายทหารชื่อเซียวหลวน (爰邵 ยฺเหวียน เช่า) ผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์อี้จิง (易經) ให้ช่วยอธิบายความหมายของความฝัน เซียวหลวนบอกเตงงายว่าเตงงายจะพิชิตจ๊กก๊กได้สำเร็จ แต่จะไม่ได้กลับไปวุยก๊ก เตงงายได้ฟังก็รู้สึกไม่สบายใจ[สามก๊กจี่ 29]
เตงงายส่งอองกิ๋น (王頎 หวาง ฉี) ให้นำกำลังพลเข้าโจมตีค่ายของเกียงอุยโดยตรง ให้คันห่อง (牽弘 เชียน หง) นำอีกทัพแผ้วทางเส้นทาง และให้เอียวหัว (楊欣 หยาง ซิน) ยกเข้าโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของข้าศึกที่กานซง (甘松; อยู่บริเวณอำเภอซงพาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)[สามก๊กจี่ 30]
เมื่อเกียงอุยได้รับข่าวว่าทัพวุยก๊กอีกทัพนำโดยจูกัดสูได้ยึดเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) เกียงอุยจึงนำพลจากท่าจงกลับไปยังอาณาเขตของจ๊กก๊ก แต่ถูกเอียวหัวไล่ตามตีมาถึงเฉียงชฺวานโจ่ว (彊川口; จุดบรรจบของแม่น้ำไป๋หลงและแม่น้ำเจียหลิง) ที่ซึ่งเกียงอุยถูกตีแตกพ่าย เกียงอุยรู้ว่าจูกัดสูกำลังสกัดทางถอยที่สะพานในอิมเป๋ง (陰平 อินผิง; ทางตะวันตกของอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เกียงอุยจึงนำทัพยกผ่านหุบเขาข่งหาน (孔函谷 ข่งหานกู่; ทางใต้ของเขตซีกู้ นครหลานโจว มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ไปยังถนนทางเหนือเพื่อเลี่ยงที่ตั้งของจูกัดสู จูกัดสูได้ข่าวเรื่องนี้จึงล่าถอยไปประมาณ 30 ลี้ หลังจากเกียงอุยยกพลไปทางเหนือประมาณ 30 ลี้ ก็ได้ข่าวว่าจูกัสูยกเลิกการสกัดที่สะพานแล้ว เกียงอุยจึงสั่งกำลังพลให้รีบล่าถอยข้ามสะพานไป จูกัดสูพยายามจะหันกลับไปสกัดเกียงอุยอีกครั้งแต่มาถึงสะพานช้าไปหนึ่งวัน หลังเกียงอุยข้ามสะพานไปแล้วก็ยกพลไปยังด่านเกียมโก๊ะ (劒閣 เจี้ยนเก๋อ) ที่เป็นด่านภูเขาและตั้งมั่นรักษาการณ์ที่นั่น จงโฮยยกเข้าโจมตีเกียงอุยที่เกียมโก๊ะหลายครั้งแต่ไม่สามารถฝ่าแนวป้องกันไปได้[สามก๊กจี่ 31]
ยึดนครหลวงของจ๊กก๊ก
แก้เตงงายเสนอว่า:
"ข้าศึกประสบความพ่ายแพ้ เราควรใช้โอกาสจากชัยชนะนี้กดดันโจมตี จากอิมเป๋ง (陰平 อินผิง; ทางตะวันตกของอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) มีทางลัดผ่านหมู่บ้านเต๊กหยง (德陽亭 เต๋อหยางถิง; อยู่บริเวณนครเต๋อหยาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน) นำไปสู่พื้นที่ห่างไปทางตะวันตก 100 ลี้ จากเกียมโก๊ะ และห่างประมาณ 300 ลี้ จากเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) ใจกลางของจ๊กก๊ก เราสามารถส่งทัพจู่โจมไปตามเส้นทางนี้เพื่อเข้าโจมตีเซงโต๋ เมื่ออำเภอโปยเสียถูกโจมตี เกียงอุยจะส่งกำลังพลจากเกียมโก๊ะไปหนุนช่วยโปยเสียเป็นแน่ จากนั้นทัพจงโฮยก็จะสามารถเคลื่อนผ่านถนนหลักเข้าโจมตีข้าศึก หากเกียงอุยไม่ส่งกำลังเสริมจากเกียมโก๊ะไป อำเภอโปยเสียจะโดดเดี่ยว ตำราการทหารกล่าวว่า 'โจมตีข้าศึกในจุดที่ข้าศึกไม่ได้เตรียมป้องกัน และปรากฏในที่ที่คาดไม่ถึง' หากเราโจมตีข้าศึกตรงจุดอ่อนได้ เราก็จะเอาชนะได้ในที่สุด"[สามก๊กจี่ 32]
จงโฮยเห็นด้วยกับความคิดของเตงงายและสั่งให้เถียน จาง (田章) ผู้ใต้บังคับบัญชาของคนให้เข้าร่วมกับเตงงายในการเดินทัพ ในช่วงระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนและ 17 ธันวาคม ค.ศ. 263[f] เตงงายนำกองกำลังจู่โจมจากอิมเป๋งผ่านทางลัด โดยเลี่ยงไปทางตะวันตกของเกียมโก๊ะและมุ่งหน้าตรงไปยังอิวกั๋ง (江油 เจียงโหยว) ทางลัดครอบคลุมระยะทางมากกว่า 700 ลี้ และตัดข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เตงงายและทหารต้องสร้างสะพานหลายแห่งตลอดทาง ภูเขาสูงและหุบเขาลึกทำให้การเดินทัพมีความอันตรายอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นาน เตงงายและทหารก็ทิ้งห่างจากกองลำเลียงเสบียง เตงงงายใช้สักหลาดผืนใหญ่ห่อร่างกายตนเองแล้วกลิ้งลงจากภูเขา ทหารของเตงงายปีนต้นไม้และไต่หน้าผาลงมาเป็นแถว[สามก๊กจี่ 33] ระหว่างทางเตงงายและทหารปะทะกับกองกำลังซุ่ม 3 กองของจ๊กก๊ก เตงงายเข้าโจมตีกองซุ่มจนแตกพ่ายและเข้าทำลายค่ายของกองซุ่มเหล่านี้ เตงงายให้เถียน จางนำกองหน้าไปแผ้วถางเส้นทาง[สามก๊กจี่ 34] ตงงายและกองหน้าไปปรากฏที่อิวกั๋ง ม้าเชียว (馬邈 หมา เหมี่ยว) เจ้าเมืองอิวกั๋งที่จ๊กก๊กแต่งตั้งยอมจำนนต่อเตงงาย[สามก๊กจี่ 35]
จูกัดเจี๋ยมขุนพลจ๊กก๊กนำทัพจากอำเภอโปยเสียไปยังกิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) และเข้ารบกับทัพของเตงงาย เตงงายสั่งให้เตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) บุตรชายตีข้าศึกจากด้านขวา และสุเมา (師纂 ชือ จฺว่าน) ตีข้าศึกจากด้านซ้าย ทั้งเตงต๋งและสุเมาถูกจูกัดเจี๋ยมตีจนล่าถอย ทั้งสองบอกกับเตงงายว่า "ไม่อาจเอาชนะข้าศึกได้" เตงงายตอบด้วยความเข้มงวดว่า "ศึกนี้จะกำหนดว่าเราจะอยู่หรือตาย ที่พวกเจ้าพูดว่าไม่อาจเอาชนะข้าศึกนั้นหมายความว่าอย่างไร" เตงงายต้องการจะสั่งประหารชีวิตเตงต๋งและสุเมา แต่ทั้งสองก็หันกลับไปเตรียมกำลังพลเข้ารบอีกครั้ง ทั้งสองเอาชนะทัพจ๊กก๊กได้และสังหารนายทหารของข้าศึกอันได้แก่จูกัดเจี๋ยม จูกัดสง และเตียวจุ๋น[สามก๊กจี่ 36]
เตงงายนำพลยกต่อไปยังอำเภอลกเสีย (雒縣 ลั่วเซี่ยน; ทางเหนือของนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กส่งผู้แทนพระองค์ให้นำตราพระราชลัญจกรไปมอบให้เตงงายเพื่อแสดงพระประสงค์ที่จะยอมจำนน[สามก๊กจี่ 37]
การจัดการภายในจ๊กก๊กหลังสงคราม
แก้เมื่อเตงงายมาถึงเซงโต๋ เล่าเสี้ยนทรงมัดพระองค์เองและนำข้าราชบริพารมากกว่า 60 คนเข้ายอมจำนนอย่างเป็นทางการ เตงงายแก้มัดให้เล่าเสี้ยนและปฏิบัติต่อพระองค์เป็นอย่างดี เตงงายยังห้ามทหารไม่ให้ปล้นข้าวของภายในเมือง และสั่งให้กิจกรรมประจำวันภายในเมืองดำเนินต่อไปตามปกติ อดีตข้าราชการของจ๊กก๊กหลายคนประทับใจเตงงายอย่างมากจึงยอมจำนนด้วยความเต็มใจ ราษฎรในจ๊กก๊กก็ยกย่องความมีน้ำใจของเตงงาย เตงงายใช้อำนาจจากราชสำนักวุยก๊กในการแต่งตั้งให้เล่าเสี้ยนรักษาการตำแหน่งขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) และมอบตำแหน่งให้อดีตขุนนางและข้าราชการของจ๊กก๊กจำนวนมาก หลายคนกลายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเตงงาย เตงงายยังแต่งตั้งให้สุเมาเป็นข้าหลวงมณฑลของมณฑลเอ๊กจิ๋ว และมอบหมายให้คันห่องรับผิดชอบดูแลเมืองต่าง ๆ ของอดีตจ๊กก๊ก มีการสร้างอนุสรณ์สถานที่กิมก๊กเพื่อเชิดชูชัยชนะของเตงงายต่อจูกัดเจี๋ยม ทหารวุยก๊กที่เสียชีวิตในการศึกได้รับการฝังร่วมกับทหารจ๊กก๊กที่เป็นข้าศึก[สามก๊กจี่ 38]
เตงงายกลายเป็นคนเย่อหยิ่งจากความสำเร็จในการพิชิตจ๊กก๊ก ครั้งหนึ่งเตงงายโอ้อวดกับอดีตข้าราชการของจ๊กก๊กว่า "พวกท่านทุกคนโชคดีที่พบกับข้า นั่นคือเหตุผลที่พวกท่านยังอยู่ในตำแหน่งเดิมในทุกวันนี้ หากท่านพบกับคนอย่างงอฮั่น (吳漢 อู๋ ฮั่น) พวกท่านคงถูกทำลายไปแล้ว" เตงงายยังกล่าวว่า "เกียงอุยเป็นวีรชนอายุสั้น เทียบกับข้าไม่ได้เลย" บางคนเหยียดหยามเตงงายเพราะความโอ้อวดนี้[สามก๊กจี่ 39]
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการยกย่องจากความสำเร็จในการพิชิตจ๊กก๊กและเทียบเตงงายกับขุนพลที่มีชื่อเสียงอย่างแปะคี้ (白起 ไป๋ ฉี่) ฮั่นสิน (韓信 หาน ซิ่น) งอฮั่น (吳漢 อู๋ ฮั่น) และโจว หย่าฟู (周亞夫) เตงงายได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) ในราชสำนักและได้รับศักดินาเพิ่มขึ้น 20,000 ครัวเรือน บุตรชายสองคนของเตงงายได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เตงเฮา (亭侯 ถิงโหว; เฮาระดับหมู่บ้าน) และได้รับศักดินาคนละ 1,000 ครัวเรือน[สามก๊กจี่ 40]
ความล่มจมและการเสียชีวิต
แก้การติดต่อทางจดหมายระหว่างเตงงายและสุมาเจียว
แก้เตงงายเขียนจดหมายถึงสุมาเจียว เสนอว่าควรให้กำลังพลที่เหนื่อยล้าได้พักฟื้น ขณะเดียวกันก็เตรียมการสำหรับการศึกในอนาคตที่จะรบกับง่อก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊ก เตงงายยังเสนอว่าควรปฏิบัติต่อเล่าเสี้ยนด้วยความเอื้อเฟื้อ โดยการตั้งให้อ๋องและปรนเปรอด้วยความหรูหรา จุดประสงค์ก็เพื่อชักจูงให้ซุนฮิวจักรพรรดิแห่งง่อก๊กยอมจำนนต่อวุยก๊กด้วยความสมัครใจ เตงงายเขียนว่า:
"ในการศึก เรามักกล่าวถึงความสามารถของเราเกินจริงก่อนที่จะได้ลงมือปฏิบัติการทางการทหารจริง ๆ บัดนี้เราสยบจ๊กได้แล้ว เราควรใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีง่อต่อไป ชาวง่อกำลังหวาดกลัว เวลานี้เหมาะที่จะพิชิตทั้งแผ่นดิน อย่างไรก็ตามหลังศึกครั้งนี้ กำลังพลของเราเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เราจึงไม่อาจยกพลไปทำศึกอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ เราควรให้ทหารได้พักฟื้นเสียก่อน ข้าพเจ้าขอเสนอให้กำลังพล 20,000 นายในหล่งโย่ว (隴右) และอีก 20,000 นายในจ๊กไปสะสมเสบียงอาหาร สร้างเรือรบ และเตรียมการอื่น ๆ สำหรับการรบกับง่อในอนาคต เมื่อเราพร้อมแล้ว เราจะประกาศให้ชาวง่อรู้ว่าพวกตนกำลังอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม จากนั้นจึงโน้มน้าวชาวง่อให้ยอมจำนน ง่อก็ต้องยอมจำนนต่อเราเป็นแน่ หากเป็นเช่นนั้นเราจะพิชิตง่อได้โดยไม่ต้องสู้รบ ในเวลานี้เราควรปฏิบัติต่อเล่าเสี้ยนอย่างเอื้อเฟื้อ เพื่อชักจูงให้ซุนฮิวและชาวง่อให้ยอมจำนนต่อเรา หากเราส่งเล่าเสี้ยนไปลกเอี๋ยง ชาวง่อจะคิดว่าเราจับเล่าเสี้ยนเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแผนของเราในการเอาชนะง่อ ข้าพเจ้าเสนอว่าเราควรให้เล่าเสี้ยนยังคงอยู่ในจ๊กจนถึงช่วงปลายปีหน้า เมื่อถึงเวลานั้นง่อก็คงจะถูกสยบโดยสมบูรณ์แล้ว เราอาจตั้งให้เล่าเสี้ยนเป็น "อ๋องแห่งฝูเฟิง" (扶風王 ฝูเฟิงหวาง) และปรนเปรอด้วยความมั่งคั่งและความหรูหราเพื่อปล่อยให้มีชีวิตที่สำเริงสำราญ บ้านพักเดิมของตั๋งโต๊ะในฝูเฟิงสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นบ้านพักใหม่ของเล่าเสี้ยนได้ เราอาจจะมอบบรรดาศักดิ์ชั้นก๋ง (公 กง) และเฮา (侯 โหว) ให้กับเหล่าบุตรชายของเล่าเสี้ยน และมอบอำเภอต่าง ๆ ในเมืองฝูเฟิงให้เป็นที่ดินส่วนตัว ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้คนอื่น ๆ เห็นว่าผู้ที่ยอมจำนนต่อราชสำนักเราจะได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี ในเวลาเดียวกันนี้เราอาจสร้างที่ดินในเมืองกองเหลง (廣陵 กว่างหลิง) และเฉิงหยาง (城陽) เพื่อใช้รับคนจากง่อที่ยอมจำนนต่อเราได้ เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ง่อก็จะสั่นกลัวต่ออำนาจของเรา และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมจำนนต่อเรา"[สามก๊กจี่ 41]
สุมาเจียวส่งอุยก๋วนไปตอบเตงงายว่าข้อเสนอของเตงงายจะถูกนำเข้าราชสำนักวุยก๊กเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมก่อนที่จะนำไปปฏิบัติได้[สามก๊กจี่ 42] เตงงายเริ่มไม่พอใจและแย้งว่าเป็นการเสียเวลาเปล่าถ้าต้องรอคำสั่งเพิ่มเติมจากราชสำนักก่อนที่จะดำเนินการ เตงงายอ้างข้อความจากซุนสิว (春秋 ชุนชิว) และพิชัยสงครามซุนจื่อ (孫子兵法 ซุนจื่อปิงฝ่า) เพื่อบอกเป็นนัยว่าตนมีเหตุผลที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐาน และจะกระทำการด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จตราบใดที่เป็นประโยชน์ต่อวุยก๊ก เตงงายเขียนว่า:
"ข้าพเจ้าได้รับพระบัญชาจากองค์จักรพรรดิให้โจมตีจ๊ก บัดนี้ผู้นำข้าศึกยอมจำนนแล้ว ข้าพเจ้าสามารถแต่งตั้งตำแหน่งให้คนเหล่านี้ได้ภายใต้ระบบของราชสำนักเพื่อประกันความสวามิภักดิ์ของคนเหล่านี้ การกระทำของข้าพเจ้าเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน บัดนี้ทั่วทั้งจ๊กยอมจำนนแล้ว เราควบคุมดินแดนทั้งหมดที่ทอดยาวไปถึงทะเลใต้และมีชายแดนร่วมกับง่อซึ่งเราควรสยบโดยเร็วที่สุด หากเราต้องรอรับสั่งเพิ่มเติมจากองค์จักรพรรดิ เราก็จะเสียเวลาไปเปล่า ๆ เพราะเวลาที่ใช้ในการส่งรายงาน ซุนสิวกล่าวว่าขุนพลนำทัพไปแดนไกล ได้รับอนุญาตให้กระทำการด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จตราบเท่าที่การกระทำนั้น ๆ เป็นประโยชน์ต่อรัฐที่ตนรับใช้ จนบัดนี้ง่อยังไม่ถูกสยบและมีชายแดนร่วมกับจ๊ก เราจึงไม่ควรทิ้งโอกาสนี้เพียงเพราะเราต้องปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐาน พิชัยสงครามซุนจื่อยังกล่าวว่า 'ขุนพลที่เคลื่อนพลโดยไม่ละโมบชื่อเสียง สามารถล่าถอยได้โดยไม่กลัวว่าจะถูกดูหมิ่น' แม้ว่าข้าพเจ้าอาจไม่เทียบเท่าคนสมัยโบราณ ข้าพเจ้าก็จะไม่ดูถูกตนเองและทำอันตรายต่อรัฐของตน"[สามก๊กจี่ 43]
บทบาทของจงโฮยในการจับกุมเตงงาย
แก้จงโฮย, เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย), สุเมา (師纂 ซือ จฺว่าน) และคนอื่น ๆ กล่าวโทษเตงงายในข้อหาที่ไม่เคารพอำนาจของราชสำนักวุยก๊ก และอ้างว่าเตงงายมีท่าทีจะเริ่มก่อกบฏ[สามก๊กจี่ 44] ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) ระบุว่าจงโฮยมีทักษะในการลอกเลียนลายมือของผู้อื่น หลังจากจงโฮยได้รับจดหมายที่เขียนโดยเตงงายส่งถึงสุมาเจียว[g] จงโฮยก็แก้ไขเนื้อความในจดหมายให้มีสำนวนภาษาที่ดูเย่อหยิ่งและเรียกร้องมากเกินไป ในเวลาเดียวกัน จงโฮยยังทำลายจดหมายที่สุมาเจียวส่งถึงเตงงายเพื่อเพิ่มความระแวงของสุมาเจียวที่มีต่อเตงงายอีกด้วย[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 2]
ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[14] ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการสั่งให้จับกุมเตงงายและคุมตัวกลับมานครหลวงลกเอี๋ยง อุยก๋วนและจงโฮยไปที่ค่ายของเตงงาย และใช้จดหมายของสุมาเจียวในการสั่งให้ทหารของเตงงายวางอาวุธ เตงงายถูกจับกุมและถูกนำตัวใส่ในรถนักโทษเพื่อจะคุมตัวกลับไปลกเอี๋ยง[สามก๊กจี่ 45] เตงงายเมื่อถูกจับกุมได้อุทานว่า "ข้าเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ แต่กลับต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้! สิ่งที่เกิดขึ้นกับแปะคี้ (白起 ไป๋ ฉี่) ในอดีตเพิ่งเกิดขึ้นกับข้าในบัดนี้"[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 3]
การเสียชีวิต
แก้หลังจากเตงงายถูกคุมตัวไป จงโฮยเริ่มก่อกบฏต่อวุยก๊กในเซงโต๋เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 264 แต่การก่อกบฏล้มเหลวเพราะนายทหารวุยก๊กบางคนไม่เต็มใจจะเข้าร่วมในการก่อกบฏ กลับก่อการกำเริบต่อต้านจงโฮยและสังหารจงโฮยได้ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264 หลังการเสียชีวิตของจงโฮย ผู้ใต้บังคับบัญชาของเตงงายคิดการจะยกไล่ตามขบวนคุ้มกันเตงงายเพื่อจะปล่อยตัวเตงงายและพากลับเซงโต๋ เมื่ออุยก๋วนได้ยินเรื่องนี้จึงสั่งให้เตนซก (田續 เถียน ซฺวี่) นำกำลังพลไปโจมตีเตงงาย[สามก๊กจี่ 46]
เตนซกเดิมอยู่ในสังกัดของเตงงายในช่วงการศึกที่รบกับจ๊กก๊ก ในช่วงยุทธการที่อิวกั๋งก่อนหน้านี้ เตงงายต้องการประหารชีวิตเตนซกในข้อหาที่เตนซกทำให้การรุดหน้าไปรบกับข้าศึกล่าช้า เมื่ออุยก๋วนส่งเตนซกไปโจมตีเตงงาย อุยก๋วนบอกกับเตงงายว่า "บัดนี้ท่านสามารถแก้แค้นเตงงายเรื่องที่ทำให้ท่านอับอายที่อิวกั๋งได้แล้ว"[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 4]
เตนซกนำทหารเข้าสกัดเตงงายทางตะวันตกของกิมก๊ก จัดการสังหารเตงงายพร้อมกับเตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) บุตรชาย รวมถึงสุเมา[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 5] หลังการเสียชีวิตของเตงงาย บุตรชายคนอื่นของเตงงายในลกเอี๋ยงก็จับกุมมาประหารชีวิตเช่นกัน ส่วนสมาชิกในครอบครัวของเตงงายที่เหลือถูกเนรเทศไปยังภูมิภาคตะวันตก[สามก๊กจี่ 47]
เมื่อเตาอี้ขุนพลวุยก๊กได้ยินเรื่องที่อุยก๋วนบอกกับเตนซก ก็แสดงความคิดเห็นว่าอุยก๋วนเป็นผู้สถานะทางสังคมสูง ไม่ควรประพฤติอย่างใจแคบและมุ่งร้ายเช่นนี้ เมื่ออุยก๋วนได้ยินความคิดเห็นของเตาอี้ ก็ไปพบเตาอี้ทันทีเพื่อขอบคุณ[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 6]
การฟื้นฟูเกียรติยศหลังมรณกรรม
แก้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 หลังราชวงศ์จิ้นขึ้นมาแทนที่วุยก๊ก สุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ทรงออกพระราชโองการเพื่อพระราชทานอภัยโทษแก่เหล่าผู้สืบเชื้อสายของเตงงายและอนุญาตให้กลับมาจากการเนรเทศ พระองค์ตรัสว่าเตงงายถูกลงโทษอย่างยุติธรรมเพราะความเย่อหยิ่งและไร้มารยาท แต่ปัจจัยสำหรับ "การไถ่โทษ" ก็คือเตงงายไม่ขัดขืนการจับกุมและเต็มใจยอมรับชะตากรรมของตน[สามก๊กจี่ 48]
เมื่อครั้งที่เตงงายประจำการอยู่ในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว ได้เสริมการป้องกันให้กับเชิงเทินในพื้นที่และสร้างป้อมปราการบางแห่งเพื่อจุดประสงค์ในการป้องกัน ในช่วงกลางศักราชไท่ฉื่อ (泰始; ค.ศ. 265-274) ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน ชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) ในมณฑลยงจิ๋วก่อกบฏต่อต้านการปกครองของราชวงศ์จิ้นและสังหารข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว ข้าราชการและราษฎรในท้องถิ่นที่รอดชีวิตหลบอยู่อย่างปลอดภัยในป้อมปราการที่เตงงายสร้างขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งทศวรรษก่อนหน้า[สามก๊กจี่ 49]
ครอบครัวและทายาท
แก้เตงงายมีบุตรชายอย่างน้อย 2 คน มีบุตรชาย 2 คนที่ดำรงบรรดาศักดิ์เป็นเตงเฮา (亭侯 ถิงโหว; เฮาระดับหมู่บ้าน) และมีศักดินาคนละ 1,000 ครัวเรือน บุตรชายคนหนึ่งในสองคนนั้นคือเตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) เตงต๋งถูกสังหารพร้อมกับบิดา บุตรชายคนอื่นของเตงงายที่อยู่ในลกเอี๋ยงถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตภายหลังจากการเสียชีวิตของบิดา สมาชิกในครอบครัวของเตงงายที่เหลือถูกเนรเทศและได้รับอนุญาตให้กลับมาในปี ค.ศ. 266 หลังสุมาเอี๋ยนจักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้นออกพระราชโองการพระราชทานอภัยโทษ[h]
ในปี ค.ศ. 273 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงแต่งตั้งให้เติ้ง หล่าง (鄧朗) หลานปู่ของเตงงายเป็นเจ้าหน้าที่มหาดเล็กกลาง (郎中 หลางจง)[สามก๊กจี่ 50] เติ้ง หล่างรับราชการเป็นนายอำเภอของอำเภอตานฉุ่ย (丹水縣 ตานฉุ่ยเซี่ยน; อยู่บริเวณอำเภอชีชฺวาน มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และต่อมาได้เป็นนายอำเภอของอำเภอติ้งหลิง (定陵縣 ติ้งหลิงเซี่ยน; อยู่บริเวณอำเภอชิงหยาง มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) เติ้ง หล่างมีบุตรชายอย่างน้อย 1 คนคือเติ้ง เทา (鄧韜) ในช่วงศักราช หย่งเจีย (永嘉; ค.ศ. 307–313) ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นหฺวายตี้ เติ้ง หล่างได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองของเมืองซินตู (新都郡 ซินตูจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) แต่ก่อนที่เติ้ง หล่างจะเดินทางไปรับตำแหน่ง เติ้ง หล่างก็เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ในเมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) พร้อมกับมารดา ภรรยา และบุตร มีเพียงหลานชายคือเติ้ง สิง (鄧行) ซึ่งเป็นบุตรชายของเติ้ง เทาที่รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้
เติ้ง เชียนชิว (鄧千秋) หลานปู่อีกคนของเตงงาย ได้รับราชการในสังกัดของอ๋องหยงขุนนางที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์จิ้น เติ้ง เชียนชิวเสียชีวิตก่อนเติ้ง หล่าง ส่วนบุตรชาย 2 คนของเติ้ง เชียนชิวก็เสียชีวิตในเหตุเพลิงไหม้ที่ซงหยงเช่นกัน[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 7]
คำวิจารณ์
แก้ตันซิ่ว (陳壽 เฉิน โช่ว; ค.ศ. 233–297) ผู้เขียนบทชีวประวัติเตงงายในสามก๊กจี่ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเตงงายไว้ว่า "เตงงายเป็นคนซื่อตรงและแข็งแกร่ง ประสบความสำเร็จจำนวนมาก แต่ไม่อาจปกป้องตัวเองจากหลุมพลางและอันตราย เป็นผลทำให้ต้องล่มจมในที่สุด เตงงายสามารถนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับจูกัดเก๊กได้ แต่กลับไม่อาจคาดถึงชะตากรรมของตนเองได้ นี่อาจเป็นสิ่งที่คนโบราณเรียกว่า 'ขาดการตระหนักรู้ในตนเองและใจคอคับแคบ'"[สามก๊กจี่ 51]
ในปี ค.ศ. 267 ตฺว้าน จั๋ว (段灼) เขียนฎีกาถึงจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนแห่งราชวงศ์จิ้นเพื่อเรียกร้องให้เตงงาย ในฎีกาตฺว้าน จั๋วอภิปรายถึงความดีความชอบของเตงงายที่มีต่อวุยก๊กและโต้แย้งว่าเตงงายไม่มีเจตนาจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก โดยอ้างถึงอายุที่มากแล้วของเตงงาย (เตงงายมีอายุใกล้ 70 ปีเมื่อเวลาที่เสียชีวิต) เป็นเหตุผลหนึ่ง ตฺว้าน จั้วยังกล่าวว่าเตงงายถูกเข้าใจผิดอย่างมากเพราะพฤติกรรมที่หยาบคายไร้มารยาท ซึ่งทำให้คนอื่นขุ่นเคืองได้ง่าย ๆ ตฺว้าน จั๋วยังเปรียบเทียบเตงงายกับแปะคี้ (白起 ไป๋ ฉี่) และหงอจูสู่ (伍子胥 อู๋ จื่อซฺวี) ขุนพลสองคนในยุควสันตสารทที่สร้างความดีความชอบยิ่งใหญ่ให้รัฐของตนแต่กลับถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย[สามก๊กจี่ 52]
ช่วงกลางศักราชเสียนหนิง (咸寧; ค.ศ. 275–280) ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน ฝาน เจิ้น (樊震) ขุนพลผู้เคยอยู่ใต้สังกัดของเตงงายในช่วงการศึกที่วุยก๊กรบกับจ๊กก๊ก ได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนตรัสถามเรื่องเตงงาย ฝาน เจิ้นก็รู้สึกสะเทือนใจและระลึกได้ว่าเตงงายเป็นขุนนางที่จงรักภักดีต่อวุยก๊กอย่างสูง[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 8]
ในวัฒนธรรมประชานิยม
แก้เตงงายปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในภาคที่ 7ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ ในเกม เตงงายถูกระบุอย่างไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าอยู่ฝ่ายราชวงศ์จิ้น ตามประวัติศาสตร์เตงงายเสียชีวิตหนึ่งปีก่อนที่ราชวงศ์จิ้นจะก่อตั้งขึ้น
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 85 มีความช่วงหนึ่งว่า "สุมาเจียวก็ตั้งจงโฮยให้เปนที่เจงไสจงกุ๋น แปลคำไทยชื่อว่าพระยาปราบทิศตวันตก จึงให้ทหารหกหัวเมืองนั้นไปด้วยจงโฮย แล้วเขียนหนังสือฉบับหนึ่งให้ไปถึงเตงงาย ให้เปนที่เจงไสจงกุ๋นเหมือนกันกับจงโฮย"[3] ในขณะที่นวนิยายสามก๊กต้นฉบับตอนที่ 115 ระบุว่าจงโฮยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจิ้นซีเจียงจฺวิน (鎮西將軍) คือขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก ส่วนเตงงายได้รับการแต่งตั้งเป็นเจิงซีเจียงจฺวิน (征西將軍) คือขุนพลโจมตีภาคตะวันตก[4] ชื่อตำแหน่งเจงไสจงกุ๋น ("แปลคำไทยชื่อว่าพระยาปราบทิศตวันตก") ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) น่าจะหมายถึงตำแหน่งเจิงซีเจียงจฺวิน (ขุนพลโจมตีภาคตะวันตก)
- ↑ ปีเกิดของเตงงายไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนในสามก๊กจี่ แต่บทชีวประวัติเตงงายในสามก๊กจี่บันทึกว่าเตงงายมีอายุ 12 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในช่วงเวลาที่โจโฉพิชิตมณฑลเกงจิ๋วในปี ค.ศ. 208 หากเราถือว่าเตงงายมีอายุ 11 ปีในปี ค.ศ. 208 เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของเตงงายควรเป็น ค.ศ. 197
- ↑ จือจื้อทงเจี้ยนระบุอย่างชัดเจนว่าเตงงายเสียชีวิตในปี ค.ศ. 264 อย่างไรก็ตาม ปีเกิดของเตงงายได้รับการยอมรับอย่างไม่ได้ไร้ข้อโต้แย้งเสียทีเดียวว่าเป็นปี ค.ศ. 197 ดังนั้น การระบุว่าเตงงายเสียชีวิตขณะอายุ 66 ปีจะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อเราถือว่าปีเกิดของเตงงายเป็นปี ค.ศ. 197
- ↑ ทั้งสามก๊กจี่เล่มที่ 4 และจิ้นชู เล่มที่ 2 ระบุว่าเตงงายถูกจับกุมในเดือน 1 ของศักราชเสียนซี (咸熙) ปีที่ 1 เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 14 มีนาคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน จือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 78 ระบุว่าเตงงายถูกจับกุมในวันเหรินเฉิน (壬辰) ของเดือนนั้น แต่จริง ๆ แล้วไม่มีวันเหรินเฉินในเดือนนั้น วันเหรินเฉินถัดไปอยู่ในเดือน 2 และเทียบได้กับวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน ทุกแหล่งข้อมูลเห็นพ้องกันกันว่าเตงงายเสียชีวิตหลังจงโฮยผู้เสียชีวิตในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264
- ↑ จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 73–74 บันทึกว่าสุมาอี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) ในปี ค.ศ. 235 และดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งหมันทองได้ดำรงตำแหน่งแทนในปี ค.ศ. in 239 ดังนั้นเวลาที่เตงงายพบกับสุมาอี้ครั้งแรกจึงควรอยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 235–239
- ↑ บทชีวประวัติเตงงายในสามก๊กจี่บันทึกว่าเตงงายใช้ทางลัดในเดือน 10 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน[สามก๊กจี่ 33] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนและ 17 ธันวาคม ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ ไม่แน่ชัดว่าจดหมายฉบับนี้คือจดหมายฉบับใดฉบับหนึ่งในสองฉบับที่เขียนโดยเตงงายถึงสุมาเจียว หรือเป็นจดหมายฉบับอื่น
- ↑ สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวของเตงงายที่เหลือจึงกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 หรือหลังจากนั้น
อ้างอิง
แก้- อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)
- ↑ (為都尉學士,以口吃,不得作幹佐。為稻田守叢草吏。同郡吏父怜其家貧,資給甚厚,艾初不稱謝。每見高山大澤,輙規度指畫軍營處所,時人多笑焉。後將典農綱紀,上計吏, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 因使見太尉司馬宣王。宣王奇之,辟之為掾,遷尚書郎。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (時欲廣田畜糓,為滅賊資,使艾行陳、項已東至壽春。艾以為「田良水少,不足以盡地利,宜開河渠,可以引水澆溉,大積軍糧,又通運漕之道。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (乃著濟河論以喻其指。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (又以為「昔破黃巾,因為屯田,積穀於許都以制四方。今三隅已定,事在淮南,每大軍征舉,運兵過半,功費巨億,以為大役。陳、蔡之間,土下田良,可省許昌左右諸稻田,并水東下。令淮北屯二萬人,淮南三萬人,十二分休,常有四萬人,且田且守。水豐常收三倍於西,計除衆費,歲完五百萬斛以為軍資。六七年間,可積三千萬斛於淮上,此則十萬之衆五年食也。以此乘吳,無往而不克矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (宣王善之,事皆施行。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (正始二年,乃開廣漕渠,每東南有事,大軍興衆,汎舟而下,達于江、淮,資食有儲而無水害,艾所建也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (淮從泰計,使泰率討蜀護軍徐質、南安太守鄧艾等進兵圍之,斷其運道及城外流水。安等挑戰,不許,將士困窘,分糧聚雪以稽日月。維果來救,出自牛頭山,與泰相對。泰曰:「兵法貴在不戰而屈人。今絕牛頭,維無反道,則我之禽也。」勑諸軍各堅壘勿與戰,遣使白淮,欲自南渡白水,循水而東,使淮趣牛頭,截其還路,可并取維,不惟安等而已。淮善其策,進率諸軍軍洮水。維懼,遁走,安等孤縣,遂皆降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
- ↑ (出參征西軍事,遷南安太守。嘉平元年,與征西將軍郭淮拒蜀偏將軍姜維。維退,淮因西擊羌。艾曰:「賊去未遠,或能復還,宜分諸軍以備不虞。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (於是留艾屯白水北。三日,維遣廖化自白水南向艾結營。艾謂諸將曰:「維今卒還,吾軍人少,法當來渡而不作橋。此維使化持吾,令不得還。維必自東襲取洮城。」洮城在水北,去艾屯六十里。艾即夜潛軍徑到,維果來渡,而艾先至據城,得以不敗。賜爵關內侯,加討寇將軍,後遷城陽太守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (是時并州右賢王劉豹并為一部, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 艾上言曰:「戎狄獸心,不以義親,彊則侵暴,弱則內附,故周宣有玁狁之寇,漢祖有平城之困。每匈奴一盛,為前代重患。自單于在外,莫能牽制長卑。誘而致之,使來入侍。由是羌夷失統,合散無主。以單于在內,萬里順軌。今單于之尊日疏,外土之威寖重,則胡虜不可不深備也。聞劉豹部有叛胡,可因叛割為二國,以分其勢。去卑功顯前朝,而子不繼業,宜加其子顯號,使居鴈門。離國弱寇,追錄舊勳,此御邊長計也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (又陳:「羌胡與民同處者,宜以漸出之,使居民表崇廉恥之教,塞姦宄之路。」大將軍司馬景王新輔政,多納用焉。遷汝南太守,至則尋求昔所厚己吏父,乆已死,遣吏祭之,重遺其母,舉其子與計吏。艾所在,荒野開闢,軍民並豐。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (諸葛恪圍合肥新城,不克,退歸。艾言景王曰: ...) สามก๊กจี เล่มที่ 28.
- ↑ (... 「孫權已沒,大臣未附,吳名宗大族,皆有部曲,阻兵仗勢,足以建命。恪新秉國政,而內無其主,不念撫恤上下以立根基,競於外事,虐用其民,悉國之衆,頓於堅城,死者萬數,載禍而歸,此恪獲罪之日也。昔子胥、吳起、商鞅、樂毅皆見任時君,主沒而敗。况恪才非四賢,而不慮大患,其亡可待也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (恪歸,果見誅。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (遷兖州刺史,加振威將軍。上言曰: ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 「國之所急,惟農與戰,國富則兵彊,兵彊則戰勝。然農者,勝之本也。孔子曰『足食足兵』,食在兵前也。上無設爵之勸,則下無財畜之功。今使考績之賞,在於積粟富民,則交游之路絕,浮華之原塞矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (高貴鄉公即尊位,進封方城亭侯。毌丘儉作亂,遣健步齎書,欲疑惑大衆,艾斬之,兼道進軍,先趣樂嘉城,作浮橋。司馬景王至,遂據之。文欽以後大軍破敗於城下,艾追之至丘頭。欽奔吳。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (吳大將軍孫峻等號十萬衆,將渡江,鎮東將軍諸葛誕遣艾據肥陽,艾以與賊勢相遠,非要害之地,輒移屯附亭,遣泰山太守諸葛緒等於黎漿拒戰,遂走之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (其年徵拜長水校尉。以破欽等功,進封方城鄉侯,行安西將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (解雍州刺史王經圍於狄道,姜維退駐鍾提,乃以艾為安西將軍,假節、領護東羌校尉。議者多以為維力已竭,未能更出。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾曰:「洮西之敗,非小失也;破軍殺將,倉廩空虛,百姓流離,幾於危亡。今以策言之,彼有乘勝之勢,我有虛弱之實,一也。彼上下相習,五兵犀利,我將易兵新,器杖未復,二也。彼以船行,吾以陸軍,勞逸不同,三也。狄道、隴西、南安、祁山,各當有守,彼專為一,我分為四,四也。從南安、隴西,因食羌穀,若趣祁山,熟麥千頃,為之縣餌,五也。賊有黠數,其來必矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (頃之,維果向祁山,聞艾已有備,乃回從董亭趣南安,艾據武城山以相持。維與艾爭險,不克,其夜,渡渭東行,緣山趣上邽,艾與戰於段谷,大破之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (甘露元年詔曰:「逆賊姜維連年狡黠,民夷騷動,西土不寧。艾籌畫有方,忠勇奮發,斬將十數,馘首千計;國威震於巴、蜀,武聲揚於江、岷。今以艾為鎮西將軍、都督隴右諸軍事,進封鄧侯。分五百戶封子忠為亭侯。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (二年,拒姜維於長城,維退還。遷征西將軍,前後增邑凡六千六百戶。景元三年,又破維於侯和,維却保沓中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (四年秋,乃下詔使鄧艾、諸葛緒各統諸軍三萬餘人, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (四年秋,詔諸軍征蜀,大將軍司馬文王皆指授節度,使艾與維相綴連;雍州刺史諸葛緒要維,令不得歸。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (初,艾當伐蜀,夢坐山上而有流水,以問殄虜護軍爰邵。邵曰:「按易卦,山上有水曰蹇。蹇繇曰:『蹇利西南,不利東北。』孔子曰:『蹇利西南,往有功也;不利東北,其道窮也。』往必克蜀,殆不還乎!」艾憮然不樂。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾遣天水太守王頎等直攻維營,隴西太守牽弘等邀其前,金城太守楊欣等詣甘松。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (維聞鍾會諸軍已入漢中,引退還。欣等追躡於彊川口,大戰,維敗走。聞雍州已塞道屯橋頭,從孔函谷入北道,欲出雍州後。諸葛緒聞之,却還三十里。維入北道三十餘里,聞緒軍却,尋還,從橋頭過,緒趣截維,較一日不及。維遂東引,還守劒閣。鍾會攻維未能克。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾上言:「今賊摧折,宜遂乘之,從陰平由邪徑經漢德陽亭趣涪,出劒閣西百里,去成都三百餘里,奇兵衝其腹心。劒閣之守必還赴涪,則會方軌而進;劒閣之軍不還,則應涪之兵寡矣。軍志有之曰:『攻其不備,出其不意。』今掩其空虛,破之必矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 33.0 33.1 ([景元四年]冬十月,艾自陰平道行無人之地七百餘里,鑿山通道,造作橋閣。山高谷深,至為艱險,又糧運將匱,頻於危殆。艾以氊自裹,推轉而下。將士皆攀木緣崖,魚貫而進。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (鄧艾追姜維到陰平,簡選精銳,欲從漢德陽入江由、左儋道詣緜竹,趣成都,與諸葛緒共行。緒以本受節度邀姜維,西行非本詔,遂進軍前向白水,與會合。會遣將軍田章等從劒閣西,徑出江由。未至百里,章先破蜀伏兵三校,艾使章先登。遂長駈而前。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (先登至江由,蜀守將馬邈降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (蜀衞將軍諸葛瞻自涪還綿竹,列陳待艾。艾遣子惠唐亭侯忠等出其右,司馬師纂等出其左。忠、纂戰不利,並退還,曰:「賊未可擊。」艾怒曰:「存亡之分,在此一舉,何不可之有?」乃叱忠、纂等,將斬之。忠、纂馳還更戰,大破之,斬瞻及尚書張遵等首, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 進軍到雒。劉禪遣使奉皇帝璽綬,為箋詣艾請降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾至成都,禪率太子諸王及群臣六十餘人靣縛輿櫬詣軍門,艾執節解縛焚櫬,受而宥之。檢御將士,無所虜畧,綏納降附,使復舊業,蜀人稱焉。輙依鄧禹故事,承制拜禪行驃騎將軍,太子奉車、諸王駙馬都尉。蜀群司各隨高下拜為王官,或領艾官屬。以師纂領益州刺史,隴西太守牽弘等領蜀中諸郡。使於緜竹築臺以為京觀,用彰戰功。士卒死事者,皆與蜀兵同共埋藏。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾深自矜伐,謂蜀士大夫曰:「諸君賴遭某,故得有今日耳。若遇吳漢之徒,已殄滅矣。」又曰:「姜維自一時雄兒也,與某相值,故窮耳。」有識者笑之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (十二月,詔曰:「艾曜威奮武,深入虜庭,斬將搴旗,梟其鯨鯢,使僭號之主稽首係頸,歷世逋誅,一朝而平。兵不踰時,戰不終日,雲徹席卷,蕩定巴蜀。雖白起破彊楚,韓信克勁趙,吳漢禽子陽,亞夫滅七國,計功論美,不足比勳也。其以艾為太尉,增邑二萬戶,封子二人亭侯,各食邑千戶。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾言司馬文王曰:「兵有先聲而後實者,今因平蜀之勢以乘吴,吴人震恐,席卷之時也。然大舉之後,將士疲勞,不可便用,且徐緩之;留隴右兵二萬人,蜀兵二萬人,煑鹽興冶,為軍農要用,並作舟船,豫順流之事,然後發使告以利害,吴必歸化,可不征而定也。今宜厚劉禪以致孫休,安士民以來遠人,若便送禪於京都,吴以為流徙,則於向化之心不勸。宜權停留,須來年秋冬,比爾吴亦足平。以為可封禪為扶風王,錫其資財,供其左右。郡有董卓塢,為之宮舍。爵其子為公侯,食郡內縣,以顯歸命之寵。開廣陵、城陽以待吴人,則畏威懷德,望風而從矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (文王使監軍衞瓘喻艾:「事當須報,不宜輙行。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾重言曰:「銜命征行,奉指授之策,元惡旣服;至於承制拜假,以安初附,謂合權宜。今蜀舉衆歸命,地盡南海,東接吳會,宜早鎮定。若待國命,往復道途,延引日月。春秋之義,大夫出疆,有可以安社稷,利國家,專之可也。今吴未賔;勢與蜀連,不可拘常以失事機。兵法,進不求名,退不避罪,艾雖無古人之節,終不自嫌以損于國也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (鍾會、胡烈、師纂等皆白艾所作悖逆,變釁以結。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會內有異志,因鄧艾承制專事,密白艾有反狀,於是詔書檻車徵艾。司馬文王懼艾或不從命,勑會並進軍成都,監軍衞瓘在會前行,以文王手筆令宣喻艾軍,艾軍皆釋仗,遂收艾入檻車。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾父子旣囚,鍾會至成都,先送艾,然後作亂。會已死,艾本營將士追出艾檻車,迎還。瓘遣田續等討艾, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 遇於緜竹西,斬之。子忠與艾俱死,餘子在洛陽者悉誅,徙艾妻子及孫於西域。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (泰始元年,晉室踐阼,詔曰:「昔太尉王淩謀廢齊王,而王竟不足以守位。征西將軍鄧艾,矜功失節,實應大辟。然被書之日,罷遣人衆,束手受罪,比於求生遂為惡者,誠復不同。今大赦得還,若無子孫者聽使立後,令祭祀不絕。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (艾在西時,修治障塞,築起城塢。泰始中,羗虜大叛,頻殺刺史,涼州道斷。吏民安全者,皆保艾所築塢焉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (九年,詔曰:「艾有功勳,受罪不逃刑,而子孫為民隷,朕常愍之。其以嫡孫朗為郎中。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (評曰: ... 鄧艾矯然彊壯,立功立事,然闇於防患,咎敗旋至,豈遠知乎諸葛恪而不能近自見,此蓋古人所謂目論者也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (三年,議郎段灼上疏理艾曰:「艾心懷至忠而荷反逆之名,平定巴蜀而受夷滅之誅,臣竊悼之。惜哉,言艾之反也!艾性剛急,輕犯雅俗,不能恊同朋類,故莫肯理之。臣敢言艾不反之狀。 ...七十老公,反欲何求!... 赦寃魂於黃泉,收信義於後世,葬一人而天下慕其行,埋一魂而天下歸其義,所為者寡而恱者衆矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)
- ↑ (世語曰:鄧艾少為襄城典農部民,與石苞皆年十二三。謁者陽翟郭玄信,武帝監軍郭誕元弈之子。建安中,少府吉本起兵許都,玄信坐被刑在家,從典農司馬求入御,以艾、苞與御,行十餘里,與語,恱之,謂二人皆當遠至為佐相。艾後為典農功曹,奉使詣宣王,由此見知,遂被拔擢。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (世語曰:會善效人書,於劒閣要艾章表白事,皆易其言,令辭指悖傲,多自矜伐。又毀文王報書,手作以疑之也。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (魏氏春秋曰:艾仰天歎曰:「艾忠臣也,一至此乎!白起之酷,復見於今日矣。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (漢晉春秋曰:初艾之下江由也,以續不進,欲斬,旣而捨之。及瓘遣續,謂曰:「可以報江由之辱矣。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (世語曰:師纂亦與艾俱死。纂性急少恩,死之日體無完皮。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (杜預言於衆曰:「伯玉其不免乎!身為名士,位望已高,旣無德音,又不御下以正,是小人而乘君子之器,將何以堪其責乎?」瓘聞之,不俟駕而謝。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (先是以艾孫朗為丹水令,由此遷為定陵令。次孫千秋有時望,光祿大夫王戎辟為掾。永嘉中,朗為新都太守,未之官,在襄陽失火,朗及母妻子舉室燒死,惟子韜子行得免。千秋先卒,二子亦燒死。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (世語曰:咸寧中,積射將軍樊震為西戎牙門,得見辭,武帝問震所由進,震自陳曾為鄧艾伐蜀時帳下將,帝遂尋問艾,震具申艾之忠,言之流涕。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- อ้างอิงจากจือจื้อทงเจี้ยน
- ↑ (淮乃使泰率討蜀護軍徐質、南安太守鄧艾進兵圍麴城,斷其運道及城外流水。安等挑戰,不許,將士困窘,分糧聚雪以引日月。維引兵救之,出自牛頭山,與泰相對。泰曰:「兵法貴在不戰而屈人。今絕牛頭,維無反道,則我之禽也。」敕諸軍各堅壘勿與戰,遣使白淮,使淮趣牛頭截其還路。淮從之,進軍洮水。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
- อ้างอิงอื่น ๆ
- ↑ ("ครั้นสุมาเจียวได้แจ้งในหนังสือดังนั้น ก็สงสัยคิดว่าเตงงายไปตีได้เมืองเสฉวน มีนํ้าใจกำเริบหวังจะตั้งตัวอยู่เปนใหญ่มิได้กลับมา คิดขบถจะทำร้ายแก่เรา จึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่งเปนข้อรับสั่งว่า เตงงายมีใจสัตย์ซื่อภักดีต่อเจ้า อุตส่าห์ทำการมิได้คิดแก่ชีวิต ยกพลทหารมาตีได้เมืองเสฉวนครั้งนี้มีความชอบนัก ตั้งให้เตงงายเปนที่ทายอุ้ยมีศักดินาหมื่นหนึ่ง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 27, 2024.
- ↑ ("จงโฮยแจ้งดังนั้นก็คำนับตามประเพณี แล้วจึงให้หาเกียงอุยมาปรึกษาว่า บัดนี้เตงงายตีได้เมืองเสฉวนมีความชอบมาก สุมาเจียวตั้งให้เปนที่ท้ายอุ้ย แล้วมีตรารับสั่งมาตั้งเราภายหลังผู้มีความชอบน้อยนี้ให้เปนที่ชูเต๋าเล่า ชรอยจะมีความสงสัยเตงงายอยู่ จึงกลับมาตั้งแต่งเรามาทั้งนี้ปราถนาจะเอานํ้าใจ แม้ว่าเตงงายเปนขบถก็จะให้เราขัดแขงไว้ ประการหนึ่งตั้งให้อุยก๋วนเปนผู้กำกับทัพเล่า ทำทั้งนี้เพื่อจะให้ระวังเตงงายเปนมั่นคง หาตั้งแต่งโดยสุจริตไม่ ท่านจะเห็นประการใด") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 27, 2024.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 27, 2024.
- ↑ (昭遂拜鍾會為鎮西將軍,假節鉞,都督關中人馬,調遣青、徐、兗、豫、荊、揚等處;一面差人持節令鄧艾為征西將軍,都督關外隴上,使約期伐蜀。) สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 115.
- ↑ ("ฝ่ายอองเก๋งรู้ว่าเกียงอุยล่าทัพหนีไปเพราะเตงงายมาช่วย จึงให้มาเชิญเข้าไปกินโต๊ะในเมือง แล้วก็ให้แต่งหนังสือบอกความชอบเตงงายไปทูลแก่พระเจ้าโจมอ ๆ ก็ให้ตั้งเตงงายเปนอันไสจงกุ๋นคุมทหารอยู่รักษาเมืองเองจิ๋วกับต้านท่าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 27, 2024.
- ↑ ("แฮหัวป๋าจึงว่า เตงงายคนนี้เปนเด็กอยู่ก็จริง แต่ว่ามีสติปัญญาหลักแหลมนัก ครั้งนี้ก็ได้เปนที่อันไสจงกุ๋นแล้ว เห็นจะจัดแจงทแกล้วทหารรักษาบ้านเมืองแลด่านทาง ซึ่งเปนที่คับขันมั่นคงยิ่งกว่าเก่า เราอย่าดูถูกจะเสียการ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ November 27, 2024.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 de Crespigny (2007), p. 109.
- ↑ (春,正月,壬辰,詔以檻車徵鄧艾。 ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78. หมายเหตุ: ไม่มีวัน เหรินเฉิน (壬辰) ในเดือนนั้น
- ↑ Brashier, K.E. (2020). Public Memory in Early China (ebook) (general history) (ภาษาอังกฤษ). Brill. p. 90. ISBN 9781684170753. สืบค้นเมื่อ 14 January 2022.(鄧艾字士載,義陽棘陽人也。少孤,太祖破荊州,徙汝南,為農民養犢。年十二,隨母至潁川,讀故太丘長陳寔碑文,言「文為世範,行為士則」,艾遂自名範,字士則。後宗族有與同者,故改焉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ Declercq (1998), p. 175.
- ↑ Yuan (1988).
- ↑ 12.0 12.1 Michael Farmer, J. (2008). The Talent of Shu Qiao Zhou and the Intellectual World of Early Medieval Sichuan (paperback) (general history) (ภาษาอังกฤษ). State University of New York Press. p. 59. ISBN 9780791471647. สืบค้นเมื่อ 14 January 2022.
- ↑ 河南省地方志编簒委员会 (Henan Province Local Chronicle Compilation Committee) (2008). 河南年鉴 [Henan Yearbook] (ภาษาจีน). 《河南年鉴》编辑部 ("Henan Yearbook" editorial department). สืบค้นเมื่อ 1 March 2022.
鄧艾因功升任徵西將軍,前後共增食邑六千六百户。
- ↑ (春,正月,壬辰,詔以檻車徵鄧艾。 ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78. หมายเหตุ: ไม่มีวันเหรินเฉิน (壬辰) ในเดือนนั้น
บรรณานุกรม
แก้แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
แก้- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ
แก้- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- Declercq, Dominik (1998). Writing Against the State: Political Rhetorics in Third and Fourth Century China. New York: Köln Brill.
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
- Yuan, Tingdong (1988). War in Ancient China (first ed.). Chengdu: Sichuan Academy of Social Science Publishing House. ISBN 7-80524-058-2.